ในราวปี พ.ศ.๒๓๐๑ ขณะที่ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาขึ้นครองราชย์ คืนหนึ่งได้เกิดโกลาหลขึ้นที่โรงช้าง ทำให้ช้างหลวงทั้งโขลงแตกตื่นกันจนโรงแตก ต่างกระเจิดกระเจิงไปเชือกละทิศละทาง ควาญช้างก็ไม่สามารถควบคุมไว้ได้ ต่างต้องหนีเอาตัวรอดจากเส้นทางที่ช้างตื่นมา
เมื่อเหตุการณ์สงบลง บรรดาควาญช้างได้ตั้งหลักกันใหม่ ออกติดตามช้างที่เตลิดหนี และสามารถตามกลับมาได้เกือบทั้งหมด นอกจากเพียงเชือกเดียวและเป็นเชือกสำคัญที่สุดเสียด้วย คือช้างเผือกคู่พระบารมีพระเจ้าแผ่นดิน
ความวิตกในเรื่องนี้ทำให้ข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักต้องลงมาติดตามเรื่องด้วยตัวเอง ในที่สุดก็ลงมติที่จะหาคนออกติดตามช้างเผือกคู่พระบารมีกลับมาให้ได้ และจากการประชุมพิจารณา ภาระติดตามนี้ก็ตกเป็นของมหาดเล็ก ๒ พี่น้อง ทองด้วง และ บุญมา ในวัยเพิ่ง ๒๐ เศษๆ แต่ก็กำลังเป็นดาวเด่น มีความรู้เชี่ยวชาญในงานหลายแขนงจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
สองพี่น้องคุมกองคาราวาน ๓๐ คนออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งไปทางทิศตะวันออกสู่สระบุรี และสอบหาเรื่อยไป ผ่านดงพญาไฟจนถึงนครราชสีมา พวกหมอช้างที่พิมายได้แนะนำให้ไปหาพวกส่วย ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เป็นจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องช้างเป็นอย่างดี
ในตอนนั้น ดินแดนแถบนี้ส่วนใหญ่ยังรกร้าง มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกส่วยอพยพมาจากเมืองอัตตะบือ จำปาศักดิ์ โดยพวก ๑ มาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่บ้านสังขละ มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ พวกที่ ๒ ตั้งที่บ้านที มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม พวกที่ ๓ อยู่ที่บ้านเมืองลุง มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง พวกที่ ๔ อยู่ที่บ้านกุดหวาย มีหัวหน้าชื่อ เชียงสี พวกที่ ๕ ตั้งที่บ้านลำดวน หัวหน้าชื่อ เชียงขัน ส่วนพวกที่ ๖ มาตั้งที่บ้านจารพัด หัวหน้าชื่อ เชียงชัย
สองพี่น้องได้ไปที่บ้านกุดหวาย ก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากเชียงสี ซึ่งได้ติดต่อสืบถามจากพวกส่วยกลุ่มต่างๆ และร่วมกับเชียงฆะ เชียงปุม เชียงชัย พาสองพี่น้องออกตระเวนดูตามโขลงช้างในป่า อีกทางก็ส่งคนออกค้นหา จนได้ข่าวว่าช้างเผือกเข้าไปรวมอยู่กับโขลงช้างป่าที่บ้านหนองโชค
สองพี่น้องได้ร่วมกับบรรดาหัวหน้าส่วยไปทำห้างบนต้นไม้ตั้งแต่เช้าตรู่ ตรงหนองน้ำที่ช้างโขลงนี้ลงเล่นน้ำเป็นประจำ พอตกบ่ายก็เห็นโขลงช้างมุ่งมาที่หนองน้ำ มีช้างเผือกเชือกที่หนีมาอยู่ในโขลงด้วยจริงๆ ทำให้สองพี่น้องดีใจเป็นที่สุด และทำพิธีสะกดช้างตามตำหรับหลวงของกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ก้อนอิฐ ๘ ก้อนที่นำใส่ย่ามมาเสกเวทย์มนต์ แล้วปาไปยังโขลงช้างทั้ง ๘ ทิศ
ปรากฏว่าโขลงช้างป่าแตกตื่นเตลิดหนีเข้าป่าไป เหลือแต่ช้างเผือกยังเล่นน้ำอยู่อย่างสงบ สองพี่น้องจึงลงจากห้างไปขึ้นหลังช้างเผือกได้โดยง่าย
เมื่อได้ช้างเผือกคู่บารมีพระเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงนำช้างกลับกรุงศรีอยุธยา โดยมี ๔ หัวหน้าส่วยที่พาตระเวนดูโขลงช้างป่าช่วยคุมช้างมาส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย
สองพี่น้องได้นำตัวหัวหน้าส่วยทั้ง ๔ เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าส่วยทั้ง ๔
เชียงสีได้เป็น หลวงศรีนครเตาท้าวเธอ
เชียงฆะ ได้เป็น หลวงสังฆะบุรีศรีอจจะ
เชียงปุม ได้เป็น หลวงสุรินทร์เสน่หา
เชียงชัย ได้เป็น ขุนชัยสุริยวงศ์
ทั้ง ๔ ขึ้นต่อเมืองพิมาย ซึ่งเท่ากับกรุงศรีอยุธยาได้เข้าควบคุมอาณาบริเวณที่ยังห่างไกลการปกครองได้เข้ามาสู่ระบบการปกครอง นอกเหนือจากที่ได้ช้างเผือกกลับคืนมาอีกด้วย
ต่อมาในแผ่นดินกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) และ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ทหารเอก ๒ พี่น้องของพระเจ้าตากสิน ต่างก็ชำนาญพื้นที่ทางภาคอีสาน ได้แผ่อิทธิพลข้ามไปถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจนยึดได้เวียงจันทน์ หลวงพระบาง มาเป็นของไทย
และใครจะคิดว่า มหาดเล็ก ๒ พี่น้องของพระเจ้าเอกทัศน์ที่ออกติดตามช้างเผือกที่หายนั้น ต่อมาผู้พี่ก็คือ มหาราชต้นราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนผู้น้องก็คือ กรมพระราชวังบวร ผู้พิชิตศึกจนศัตรูครั่นคร้ามไปทั้ง ๑๐ ทิศ พม่าได้ให้สมญาว่า “พระยาเสือ”