อาจไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป สำหรับซูเปอร์คาร์สัญชาติไทย เมื่อหนุ่มน้อยวัย 15 ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์บนถนนยนตรกรรม ออกแบบโมเดลซูเปอร์คาร์ Aston Martin DB11 และ Koenigsegg Legera โชว์ชาวต่างชาติ และผลงานของเขาอย่างรถ Utagera ก็เรียกเสียงฮือฮาในศักยภาพเด็กไทย หลังจากแสดงโชว์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งล่าสุด
“ภูภู-เจนณรงค์ มุ่งทวีพงษา” คือเด็กไทยคนดังกล่าว...
เขาเริ่มต้นมาด้วยความรักและหลงใหลในยนตรกรรม 4 ล้อ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แล้วพากเพียรเรียนรู้ด้วยตนเอง กระทั่งสามารถสร้างโมเดลต้นแบบรถยนต์ได้แล้วมากกว่า 200 คัน ก่อนประกาศฝัน ว่าเขาจะเป็นคนไทยคนแรกที่สร้างรถสปอร์ตสัญชาติไทยให้สำเร็จ
แม้วันนี้อาจจะยังไม่เห็นชัด
ซูเปอร์คาร์สัญชาติไทยยังไม่ได้ออกไปโลดแล่นบนเลนถนน
แต่เราเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า เด็กไทยที่มุ่งมั่นฝันใหญ่ขนาดนี้
ถ้าเป็นรถ ก็ควรเป็นรถแบบ “ซูเปอร์” หรือ “ซูเปอร์คาร์”
อย่างที่เขาหลงรักและปรารถนาจะสรรค์สร้าง...
• จุดเริ่มต้นของการเข้ามาสู่ถนนสายออกแบบรถซูเปอร์คาร์เกิดขึ้นได้อย่างไร
จริงๆ ผมศึกษาหมดไม่ใช่แค่เฉพาะรถซูเปอร์คาร์เพียงอย่างเดียว แต่ที่เห็นเปิดตัวเป็นซูเปอร์คาร์ช่วงนี้ก็เพราะว่าเป็นการตลาดโฆษณา คือสมมุติว่าผมทำออกแบบเป็นรถบ้านอีโคคาร์ธรรมดาขึ้นมาก็จะไม่มีความสนใจเท่า และอีกอย่างหนึ่งคือว่าช่วงนี้ผมอยู่ในช่วงการศึกษาดีไซด์ Utagera และ Aston Martin DB11 ทำมาเพื่อหาเอกลักษณ์ แล้วก็ศึกษาส่วนอื่น เช่น แอร์โรไดนามิก อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทำให้รถที่จะทำของตัวเองอีกไม่นานนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ของผมครับ อันนี้คือเรื่องส่วนของการออกแบบรถ
ส่วนเรื่องการที่ผมสนใจทางด้านนี้ ผมเริ่มสนใจอย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ ตั้งแต่ตอน 6 ขวบ คือตอนนั้นผมเรียนอนุบาลอยู่ที่อเมริกาแล้วผมไปห้องสมุดในโรงเรียน บังเอิญไปเจอหนังสือที่มันเกี่ยวกับรถคันหนึ่งชื่อ Mclaren F1 แล้วผมก็ชอบ ตั้งแต่นั้นมาชอบรถมาตลอด (ยิ้ม) เพราะการเห็นรถคันนั้นแล้วก็หนังสือเล่มนั้น แล้วผมก็บอกตัวเองว่าวันหนึ่งผมจะทำรถให้ดีเท่าหรือดีกว่าคันนั้นให้ได้ แล้วก็ศึกษาเองเรื่อยมาหลังจากกลับมาประเทศไทย
• ไม่ได้เรียนเฉพาะเจาะจงหรือเสริมทางด้านนี้มาโดยเฉพาะ เรียนรู้เองหมด?
ครับ ผมไม่เคยเรียนทางด้านนี้เลยพอกลับมาเมืองไทย ผมก็ศึกษาเอง คือผมเป็นคนที่นิสัยชอบลองผิด ลองถูก ด้วยตัวเอง ความรู้สึกส่วนตัวของผม จริงๆ ผมก็ไม่อยากพูดในเชิงพาดพิงคนอื่น คือถ้าใครเก่งจริงต้องเรียนเองได้ ไม่ต้องให้คนอื่นสอนหรือไปนั่งเรียน คนที่เก่งจริงต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างถ้าไปเปรียบเทียบดูกับคุณ สตีฟ จ็อบส์ หรือ คุณ บิลเกตส์ เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาไม่เคยเรียนทางด้านนี้มาก่อน แต่เขาสามารถทำเองได้ เขาเก่งจริง
• แล้วขั้นตอนลองเรียนรู้ศึกษาเองของเราเป็นอย่างไร บ้านเราไม่ได้มีสื่อหรือผู้เชี่ยวชาญให้ศึกษา
ก็ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ใช้อินเทอร์เน็ต เสิร์ชหาข่าวรถอ่านทุกวันด้วย แล้วบางทีก็ไปหาว่าอันนี้ทำอย่างไร เป็นอย่างไร อย่างแรกๆ ก็เริ่มจากวาดสเกตช์ในกระดาษเหมือนคนอื่นๆ ผมก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอวิธีขั้นตอนการทำทรีโมเดล ไปเจอวิธีการผลิต ประมาณนั้น หรือไม่บางทีก็ไปดูวิกิพีเดียบ้าง และเรื่องไหนที่สำคัญๆ เราไปศึกษาอ่านลึกเลย ไปอ่านหนังสื่อ Research Paper อะไรพวกนี้
คือในส่วนนี้คุณพ่อคุณแม่ครอบครัวก็สนับสนุนเรามาตลอด และก็ช่วยมาจนถึงตอนนี้ ทุกวันนี้คุณพ่อก็เป็นเมเนเจอร์ผมคอยดูแล แล้วช่วงหลังๆ ก็มีคุณลุงเป็นผู้ที่ช่วยก่อตั้งบริษัท เพราะท่านมีความรู้ความสามารถท่านเป็นผู้บริหาร Warner Brothers Thailand
• ใช้ชื่อเดียวกับ "วานาติเคิล ดีไซน์" เว็บไซต์ของเรา
ยังไม่ได้ระบุครับ ตอนนี้ก็กำลังจะอยู่ในการทำการวางแผนอนาคตตั้งบริษัท แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปด้านไหนชัวร์ อาจจะไปทำงานที่ต่างประเทศหรืออาจจะตั้งเป็นส่วนตัวของตัวเองก็ยังไม่ชัวร์เท่าไหร่ ส่วนเว็บไซต์ผมที่ vanaticaldesign.com อีกไม่นานจะไปจดทะเบียนครับ
ส่วนการสร้างรถซูเปอร์คาร์ผมยังตอบไม่ได้ ตอนนั้นที่มีสื่อมาสัมภาษณ์แล้วผมบอกว่าจะสร้าง ตอนนั้นก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าผมผิดพลาดเรื่องกำหนดเดดไลน์ เพราะตอนนั้นทำกับอีกคนหนึ่ง แต่ว่าเขาออกไปแล้ว ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคันนั้นจะออกมาอย่างไร แต่ตัวต้นแบบยังอยู่กับผม แต่ตอนนี้ก็มีติดต่อเข้ามาเยอะ มีประเทศสหรัฐอเมริกา มี N2A Motors จาก แคลิฟอร์เนีย โมเดลรถ Utagera ที่เปิดตัวไปนานแล้ว ผลิตตอนไหนก็ยังบอกไม่ได้เหมือนกัน แต่ผมก็ทำ Venture เองด้วย ตอนนี้ก็ทำอยู่คันหนึ่ง
• ในเรื่องของขั้นตอนการสร้างผลิตโมเดลรถแต่ละครั้งต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
คันเต็ม... เริ่มต้นต้องดูด้วยว่าเราจะสร้างรถยนต์ประเภทไหน สมมุติถ้าเป็นรถบ้านอีโคคาร์ ก็ต้องเริ่มจากชิ้นส่วน เพราะรถประเภทอีโคคาร์ที่เราเห็นบนท้องถนน วัสดุชิ้นส่วนบางตัวจะใช้รุ่นของเดิมบ้าง อย่างแชสซีที่มีอยู่แล้วบ้างมาประกอบใหม่ คือรถที่เขาขายการดีไซน์ภายนอกหลังสุด แล้วก็ดีไซน์จากข้างในออกมาข้างนอก
ส่วนรถประเภทซูเปอร์คาร์จะตรงข้ามกันเลย ส่วนใหญ่จะดีไซน์จากข้างนอกมาข้างใน เพราะเขาเน้นหน้าตา คือสังเกตดูจากการตลาดคนที่ซื้อรถซูเปอร์คาร์ เขาซื้อที่หน้าตาก่อน มีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ซื้อเพราะเครื่องบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะหน้าตาเกือบหมด ก็ต้องมองสร้างจากรูปลักษณ์ แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ทั้งหมดในส่วนของตรงนี้ เพราะอย่างไรก็ดีต้องไปด้วยกัน สมมุติว่าเครื่อง ผมออกแบบทำช่วงตรงห้องเครื่องเล็กไป แต่เครื่องที่จะใช้มันใหญ่กว่านั้น เราก็ต้องไปออกแบบห้องเครื่องใหม่ให้ห้องเครื่องใหญ่ขึ้น ไม่ใช่การไปทำเครื่องเล็กลง ต้องออกแบบให้ห้องเครื่องใหญ่ขึ้นตามตัวเครื่อง หรือแชสซีมาแล้วยาวกว่าตัวรถที่เราออกแบบ เราก็ต้องทำรถให้ยาวกว่าไม่ใช่ทำให้แชสซีสั้นลง
เพราะหลักการสร้างรถทุกอย่างทุกชนิดต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้และถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดเป็นสำคัญ ไม่ใช่ว่าดีไซน์อย่างเดียว การใช้งานมาก่อนความสวยงามครับ
• เราถึงต้องศึกษาให้รู้หมดกระทั่งทั้งกระบวนการผลิต แล้วอย่างนี้ในการดีไซน์เอกลักษณ์ อย่างทำหน้าตาของเราเป็นอย่างไร
ก็มีเอกลักษณ์ของผมอยู่ เช่น โคลีเซต ถ้าดูไปดูมา ถ้าเอามาโยงดีๆ ทุกคนจะเห็นอย่างหนึ่งที่เป็นหน้าตาของผม แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเรียกจุดเด่นของผมชื่อว่าอะไร คือเห็นเพื่อนผมที่ทำ เขาเรียกว่า 'ดาร์กเฮล' เพราะถ้าดูจากมุมเฉียงตะแคง ตูดจะแหลมเห็นสปอยเลอร์ เห็นชัดเช่น แอสตัน มาร์ติน แวนเทจ มันจะแหลมขึ้นมา หรืออย่าง เฟอร์รารี่ แต่ของผมดูจากมุมนี้จะเห็นชี้ออกกมา แล้วก็ถ้าดูในอีกมุมจะเหมือนมันเข้าไปในล้อแล้วก็ออกมา
ก็ค้นหาจุดเอกลักษณ์ของเรายากมากๆ คือการที่เราจะแตกออกมาให้มันคงมีความเป็นเราในด้านลึกยากมาก เช่นคัน Utagera ที่ผมทำมาคันนั้นไม่ได้ก้อปใคร มาจากหัวใหม่หมดเลย แต่ทุกคนก็หาว่าผมก้อปปี้เฟอร์รารี่ เพราะว่าสมัยนี้มันมีรถเยอะมาก ทุกปี ทุกวันนี้มีรถใหม่เข้ามา มันก็ทำให้คนอย่างผม ดีไซเนอร์ งานยากขึ้น คือว่ามีรถอีกคันที่จะออกดีไซน์นี้ อาจจะทำใหม่แต่ใกล้เคียงคนก็หาว่าเราก้อปปี้แล้ว คล้ายๆ วงการเพลง เพลงออกมาใหม่ๆ มันก็แบบ ทำนองนี้ใช้ไปแล้ว ทำนองโน้นใช้ไปแล้ว ความเป็นไปได้ที่จะมีทำนองใหม่มามันก็ยากขึ้นๆ
• แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถเรา
ไม่เกินครับ...แต่ก็ยากขึ้นจริงๆ (ยิ้ม) ผมทำตรงนี้มาถ้านับตั้งแต่ตอนที่รู้ว่ารักและชอบทางนี้ตอน 6 ขวบ จนตอนนี้อายุ 15 ย่าง 16 ก็นับรวม 10 ปี ก็ผ่านอุปสรรคมาเยอะ เจอมานานแล้วด้วย อย่างด้วยความที่บ้านเรายังไม่สามารถผลิตรถซูเปอร์คาร์ได้ ความฝันของผมที่อยากจะสร้างรถซูเปอร์คาร์สัญญาชาติไทยขึ้นมา ก็โดนดูแคลนไม่น้อย หรือมีคนเคยบอกผมว่าคนเราถ้าไม่ศรัทธาเชื่อในศาสนาจะเป็นคนที่ไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ ผมก็ใช้เป็นกำลังใจให้ทำต่อให้สำเร็จเพื่อพิสูจน์ให้เห็นตลอด
คือผมเชื่อในความมุ่งมั่น อย่างถ้าหลายคนอาจจะคิดว่าแค่ความรักความชอบสามารถพาผมมาขนาดนี้ได้เลยหรือ ก็เพราะความมุ่งมั่น แล้วอีกอย่างการที่ว่าคนไทยจะทำซูเปอร์คาร์ไม่ได้แท้จริงแล้ว เพราะว่าการทำซูเปอร์คาร์การทำอะไรแบบนี้ คนเชื่อว่าทำลำบาก แล้วก็ในไทยการตลาดมันก็ไม่ใหญ่ขนาดนั้น คนไทยเรามีฝีมือ แต่ด้านการผลิตผมว่าหายากมากที่ทำได้ระดับดีเท่ายุโรป เรื่องอุปกรณ์คือสำคัญสุดเลยมันไม่มีตลาดสำหรับไทย มันไม่มีใครที่เป็นหัวธุรกิจที่ดีพอที่ทำได้ เพราะว่าการที่ทำแบบนี้ได้ มันไม่ใช่แค่เก่งด้านดีไซน์อย่างเดียว มันต้องมีหัวธุรกิจด้วย
เพราะถ้าเราเก่งด้านดีไซน์อย่างเดียวไปต่างประเทศ ไปทำงานให้บริษัทรถ ดีไซเนอร์ธรรมดาเราก็ไม่มีชื่อเสียงตรงนี้ขึ้นมา แต่ถ้าทำแบบผมที่ทำส่วนตัวนั้นต้องมีหัวทางธุรกิจถึงจะสามารถต่อยอดได้ ซึ่งผมก็ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ก็ได้เรียนรู้ด้านการตลาดเยอะมาก แล้วก็การธุรกิจ เพราะคันนี้ผมเขียนแผนธุรกิจเองทั้งหมดทุกอย่าง ผมก็ได้รู้เรื่องเยอะมาก แต่ผมก็เป็นคนที่บอกตัวเองมาตลอดว่าถ้าอยากจะประสบความสำเร็จนี้ ถ้าเรารู้เรื่องการดีไซน์อย่างเดียว เราคงทำอันนี้ไม่ได้ ต้องไปเป็นลูกจ้างดีไซน์บริษัท แต่ถ้าเกิดอยากทำบริษัทตัวเอง ก็ต้องรู้เรื่องธุรกิจ
• อย่างนี้เราแบ่งเวลาการศึกษาค้นคว้าส่วนตัวกับชีวิตนักเรียนของเราอย่างไร เพราะทราบมาเบื้องต้นว่ามีแพลนจะไปศึกษาต่อทางด้านนี้กับสถาบันชั้นนำต่างประเทศ
สำหรับผมก็เอางานมาก่อนตลอด การเรียนทีหลัง ก็มีคนถามผมเหมือนกันว่าถ้าผมมีงานทางด้านนี้แล้ว ผมจะมาเรียนต่อเพราะอะไร แต่ที่ผมกลับมาเรียนเพราะว่า สมมุติในอนาคตไปมาผมสร้างของผมสำเร็จแต่ผมจบแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาจะมองอย่างไร เขาก็อาจจะมองเราไม่ดี แล้วอีกอ่างหนึ่งผมก็อยากมีชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ก็ไม่อยากทิ้งช่วงเวลาตรงนี้ ก็พยายามมาเรียนทุกวัน ผมก็บอกเพื่อนๆ ผมว่าอย่ามองผมเป็นคนโต เป็นนักธุรกิจ ให้มองผมเพื่อนเป็นรุ่นเดียวกันธรรมดา เพราะว่าก่อนหน้านี้ 2-3 เดือนก่อน ไม่เคยบอกเพื่อน เพื่อนเขาไม่รู้ เขาก็มองผมเป็นเพื่อนธรรมดามาตอลอด แต่พึ่งมารู้ที่หลังตอนที่ส่งผลงานร่วมประกวดดีไซน์รถชิงทุนไปดูงานที่ประเภทอิตาลี ของคุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานสื่อสากล พอรู้จักกันก็ได้รับเชิญให้มาสัมภาษณ์ที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งล่าสุดที่ผ่าน เพื่อนก็เลยรู้ทีนี้เขาก็เริ่มมองผมสูงขึ้น
แต่ตรงนี้ก็มีขอดีคือทำให้มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น เพื่อนก็เจอหน้าบอกขอรถหน่อย (ยิ้ม) คนที่เคยจากชอบแกล้งเราก็มาเป็นเพื่อนหมดเลย ก็มีข้อดีตรงนี้ ตอนไปดูงานที่ประเทศอิตาลีก็คล้ายกันทำให้ผมได้พบเพื่อนดีไซเนอร์หลายคนที่มีความสามารถ เช่น Chris Bangle คนนี้เขาเคยทำออกแบบให้ BMW ตอนนี้มาทำ Samsung, Filippo Perini จาก Lamborghini, Flavio Manzoni จาก เฟอร์รารี่ แล้วก็อีกเยอะ อีกคนก็ Giugiaro
ส่วนแพลนที่ว่าจะไปศึกษาต่อ อันนั้นที่มหาวิทยาลัย โคโรที่ เป็นมหาวิทยาลัยที่ดังระดับโลกทางด้านดีไซเนอร์รถ ตอนนั้นผมสมัครไปแล้วอายุไม่ถึง ต้องอายุ 17 ปีก่อน แต่ในเรื่องฝีมือการออกแบบเราผ่าน
• ศึกษาเรื่องการทำรถสปอร์ตคาร์และทดทำมานานตรงนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างไหม
สำหรับผม ผมก็มีอะไรที่ยังต้องให้เรียนรู้อีกเยอะมากครับ ยังไม่ถึง ผมว่าถ้าผมทำเองผมยังทำคันเต็มไม่ได้ ผมก็ให้คนอื่นมาช่วยเหลือ อย่างที่ผมเรียนมาเยอะ ผมก็ไปถามคนที่เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เขาก็ให้การช่วยเหลือ ผมก็ได้รู้ว่าเขาทำอย่างไร แบบรถโชว์ที่งานต่าง เอวิเกร่า ก็ผลิตโดยตัวเอง ผมก็ดูว่าเขาผลิตอย่างไร แล้วก็ดูวิธีการผลิตต่างๆ แล้วก็ศึกษา ไม่ใช่ว่าคิดแค่โมเดล จะแต่งอย่างไรก็ได้ ต้องคำนึงถึงทุกอย่าง
ผมสร้างรถต้นแบบมา 200 กว่าคันอัพ ก็ค่อยๆ ศึกษาต่อยอดมาเรื่อยๆ ที่จริงจังซีเรียสจริงๆ ก็ช่วงคันที่ 12-13-14 แล้วหลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็พัฒนาเป็น 180 คัน แต่ก็ไม่ได้ลึกอย่างช่วงหลังต้นปีที่แล้ว ผมก็พยายามจะทำให้มีคอนเซ็ปต์คาร์เต็มไซซ์คันหนึ่งภายใน 2 ปี แต่ยังไม่คอนเฟิร์มร้อยเปอร์เซ็นต์
• นอกจากบริษัทที่กำลังทำรวมไปถึงรถซูเปอร์คาร์สัญชาติไทยที่เรายังคงมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ ส่วนตัวเรามีวางแผนการอนาคตข้างหน้าไว้เพิ่มอย่างไรอีกบ้างไหม
ในเรื่องรถสปอร์ตคาร์ก็คงไม่ใช่คันที่แสดง เพราะกลับไปดูก็เห็นว่ามีข้อผิดพลาดอีกที่สามารถเพิ่มทำได้ดีกว่า ที่พูดได้ว่าผมอยากทำจริงๆ ก็คือคอนเซ็ปต์คาร์เต็มคัน ผมก็อยู่ในช่วงการปรับปรุงออกแบบคันนั้น เพราะผมทำอย่างไรก็ได้ให้คันนั้นเป็นคันที่ชาวโลกมองได้ว่าเป็นรถที่อลังการมากๆ ผมก็ใช้เวลามาหลายเดือนแล้ว
• ขอวกกลับไปในเรื่องธุรกิจของเรารูปแผนการสร้างตัวตนของเราเป็นอย่างไร
ส่วนตัวเราก็ต้องรู้จักการตลาดการโฆษณา เพราะว่าถ้าเราไม่โฆษณาตัวเองไม่มีใครมา ผมถือคำที่เขาพูดกันว่า "อย่าไปหาเขา ทำอย่างไรก็ได้ให้เขามาหาเรา" เพราะถ้าเราไปหาเขา เขาไม่มาหาเรา ก็แปลว่า เรายังไม่ดีพอ แต่ถ้าเราดีพอจริง เขาก็จะมาหาเรา ผมสร้างความฝันผมให้คนรู้จักได้ถึงได้บอกว่านี้คือการตลาด
• แสดงว่าถ้าเกิดเราก่อตั้งสร้างสำเร็จในตรงนี้เราจะเป็นคนไทยคนแรก
ไม่ใช่คนแรกครับ... มีหลายคน คุณพ่อเคยเล่าให้ฟัง จริงๆ ก็เคยมีสปอร์ตคาร์ไทยมาหลายคัน ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ก็พยายาม ก็ล้มไป ผมก็ไปดูๆ มา ผมก็ไปศึกษา คือผมเป็นคนชอบศึกษาจากสิ่งที่ทำแล้วผิด ก็ไปดูทำผิดอย่างไร ดูเรื่องคุณภาพของเขา เขาเน้นหนักไปที่อะไร เครื่องหรือบอดี้ คือถ้าจะทำบริษัทให้ดีต้องทำสไตล์แอปเปิล แอปเปิลเขาเน้นแบรนด์เราต้องดี แล้วก็โปรดักต์ทุกอย่างต้องเฟอร์เฟคให้ได้ ถ้าทำไม่เฟอร์เฟคก็ไม่ใช่แอปเปิล แล้วสมมุติตอนนี้แอปเปิลทำไอโฟนรุ่นใหม่ออกมา อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่มันก็ติดนิสัยคนไปแล้วว่ามันดีอยู่แล้วอย่างนั้น อีกตัวอย่างหนึ่งรถยนต์ยี่ห้อ BMW ถ้าพูดว่าขับ BMW ดูคนนั้นมีเงิน ก็ดูเหมือนเขาตั้งกฎไว้ว่าเขาจะไม่ทำรถที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท
ส่วนในสไตล์ของผม ผมก็ดูมานานแล้ว ในการโฆษณาก็จะเป็น อยากให้เด็กไทยคนหนึ่งที่ได้ทำในสิ่งที่ความรัก ก็อยากจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่น คือใครที่รักมุ่งชอบอย่างให้มุ่งมั่น อย่าให้อย่างอื่นมาขัดขวาง หลายคนอาจจะบอกว่าปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้อ เช่นทัศนคติ ทุน เราก็ต้องทุมเทหาทางของเรา อย่าให้มีอะไรขัดข้อง ต้องสละอย่างอื่นเพื่อให้ความฝันเราเป็นจริง ผมเองก็ยอมสละการเรียนยอมได้เกรดศูนย์ ได้เกรดเอฟนี้มีไม่น้อยเพราะไม่ได้เข้าเรียนเป็นเดือน เนื่องจากไปทำงานนี้ ถ้าถามว่าคุ้มไหมในการแลกผมคิดว่าคุ้มค่ามาก เราได้ทำในสิ่งที่เรารักและทำตามฝันให้เป็นจริง
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วชิร สายจำปา