นิสิตศิลปากรผู้ได้รับคำแนะนำจาก “ถวัลย์ ดัชนี” ว่าให้ศึกษางานของศิลปินชาวดัดซ์คนหนึ่งให้ลึกซึ้งและแตกฉาน ปัจจุบัน “ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ” คือสมาชิกของ California Art Club คลับที่รวบรวมศิลปินวาดภาพชื่อก้องที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี, เชาชนะเลิศประเภทวาดเส้นจากนิตยสาร American Artist Magazine ฉบับครบรอบ 70 ปี, เป็น 1 ใน 7 ศิลปินร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ Painting from the Past ที่จัดโดย The Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ว่าจะได้รับการยอมรับจากเวทีนานาชาติมาพอสมควร แต่ชูศิษฐ์ก็ยังบอกกับเราว่าผลงานสร้างชื่อทั้งหมดเป็นแค่จุดเริ่มต้นบนเส้นทางนี้เท่านั้น เพราะเป้าหมายต่อไปสำหรับเขา คือการสร้างผลงานวาดภาพชิ้นระดับมาสเตอร์พีซให้ได้สักชุด เหมือนศิลปินระดับโลกและเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นต่อไป
เพราะชีวิตจิตวิญญาณ
ผูกพันกับงานศิลป์
“ผมรู้ตัวเองว่าชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ชอบปั้นดินน้ำมันวาดรูป เขียนสีดินสอ ทางบ้านจะรู้ว่าของโปรดของผมก็คืออุปกรณ์วาดรูป สมุดดรอว์อิ้ง ดินสอสี มันบอกไม่ได้ว่าชอบเพราะอะไร คืออาจจะมาจากส่วนลึกนะ บางคนชอบเล่นกีฬา แต่ของเราจะชอบดูงานศิลปะ คือเกิดมา เราก็ผูกพันกับการวาดรูปแล้ว ซึ่งหลุดแตกต่างเลย เพราะในบ้านไม่มีใครชอบงานศิลปะ คุณพ่อรับราชการ ส่วนคุณแม่ก็ค้าขาย ไม่มีท่านไหนที่เป็นศิลปินมาก่อน แต่คนรอบข้างก็จะบอกกับเราว่า เด็กคนนี้มีพรสวรรค์ วาดรูปเก่ง แล้ววิชาที่เราเรียนได้ดีก็คือวิชาศิลปะ ได้เกรด 4 ตลอด
“คุณแม่ก็เป็นห่วงนะครับว่า ถ้าโตขึ้นไปเป็นจิตรกรไส้แห้งแน่ๆ ช่วงจะเข้าเรียนมัธยม แม่เราถึงกับเข้าไปพบอาจารย์ที่โรงเรียน ซึ่งอาจารย์แนะแนวได้บอกว่า เด็กมีพรสวรรค์ ก็ปล่อยให้เขาได้เรียนในสิ่งที่เขารักเถอะ ตอนนั้นผมก็นั่งข้างคุณแม่ที่กำลังทำหน้ากลุ้มใจและถามอาจารย์ว่าเขาจะไปรอดหรือ ไปแล้วลำบากมั้ย อาจารย์ก็บอกว่าไม่หรอก ให้เด็กทำในสิ่งที่ตัวเองรักดีกว่า คุณแม่ก็เลยปล่อยและส่งเสริมให้เข้าสายศิลป์”
“เมื่อเป็นอย่างนั้น ผมก็คิดว่าผมจะทำยังไงให้ทางบ้านไม่เป็นห่วง ก็มีวิธีเดียวคือต้องทำให้สำเร็จ เราต้องพยายามสอบเข้าโรงเรียนที่ดีทางด้านศิลปะเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ผมรัก พอผมตั้งใจเรียนและได้คะแนนดีๆ ก็เป็นการบอกว่าเราทำสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว แต่ก็ต้องพิสูจน์ต่อไป ผมก็สอบเข้าศึกษาไปเรื่อยๆ จนสามารถสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา และมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามลำดับ
“การเข้ามาเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ศึกษากับครูบาอาจารย์เก่งๆ ทุกท่าน จำได้เลยว่าตอนเข้าไปสอบสัมภาษณ์เราดีใจมากเลย เพราะสมัยก่อน สอบแต่ละครั้งจะยากมาก ในแต่ละปีรับเข้าเรียนได้ 50 คน แต่มีคนสมัครเป็นพัน แล้วแต่ละคนที่เข้ามานั้น การวาดดรอว์อิ้งของเขาจะแม่นมาก แต่เราก็พยายามฝึกฝนจนสอบเอนทรานซ์ติด ทีนี้มันมีคำถามหนึ่งจาก ศ.ปรีชา เถาทอง ถามผมว่าเรียนจบแล้วอยากเป็นอะไร ผมก็ตอบว่า “ผมอยากเป็นศิลปินวาดรูปและอยากทำงานศิลปะครับ” อาจารย์ก็พูดกลับมาว่า ก็เห็นพูดอย่างงี้ทุกคน แต่จบไปแล้วก็มีไม่กี่คนที่สามารถจะทำได้ ซึ่งมันก็เป็นความจริง”
เมื่อก้าวสู่การเรียนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว นับได้ว่าได้เปิดโลกทัศน์ทางศิลปะกับชูศิษฐ์ให้ก้าวไปอีกขั้น เพราะนอกจากร่ำเรียนกับอาจารย์ทางด้านศิลปะ เขายังได้พบกับศิลปินชาวเยอรมันท่านหนึ่งที่เข้ามาเป็นอาจารย์ในคณะ และครูท่านนี้เอง ที่ทำให้เขาได้พบกับเทคนิคโบราณที่หายสาบสูญไปกว่าร้อยปี ให้ได้กลายเป็นความรู้ใหม่ให้กับตัวชูศิษฐ์ในเวลานั้น
“ในระหว่างที่เรียน ก็ถือว่าเรียนหนักมาก การบ้านเยอะ แต่มันก็เป็นการสอนให้เราเข้มแข็ง ขยัน และปรับตัว และได้เรียนกับอาจารย์เก่งๆ เช่น ศ.ชลูต นิ่มเสมอ, ศ.ประหยัด พงษ์ดำ, อ.ปรีชา เถาทอง, อ.ปัญญา วิจินธนสาร และท่านอื่นๆ ซึ่งทุกท่านจะเก่งๆ ทั้งนั้นเลย จนถึงช่วงปีสอง รุ่นผมจะเน้นทำงานแนว abstract และ Modern Art กันหมด เพราะเป็นกระแสในช่วงนั้น แต่ผมจะชอบวาดภาพเหมือน เหมือนเราฝึกฟิกเกอร์ ดรอว์อิ้ง ซึ่งกว่าจะวาดได้ มันก็ยาก แล้วเราก็ได้มามองหาว่า จริงๆ แล้วตัวตนของเรานั้นชอบอะไร เพราะว่าทุกคนที่เข้าไป ก็จะมองหาความเป็นตัวเองในการทำงานศิลปะ และเราก็ยืนยันในใจแล้วว่า ชอบวาดภาพบุคคล เรียกว่า figurative คือวาดแบบคนเหมือน คนนิ่ง ซึ่งเราก็อยากจะศึกษาแบบลึกซึ้ง
“จนกระทั่งได้เรียนกับอาจารย์ชาวเยอรมันท่านหนึ่ง ท่านก็มาสอนเทคนิคโบราณเป็นมาสเตอร์เทคนิคที่ต้องมาทำการต้มตุ๋น รองพื้น ลงกาว กระดูกกระต่าย เรียกว่า Rabbit Skin Glue ตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลย ผมรู้สึกประทับใจมาก มันทำให้งานมีมิติ ลึกซึ้งทำให้ผมสนใจอยากค้นหา เหมือนเราค้นรหัสลับดาวินชี่ เพราะว่าการค้นหาศิลปินย้อนยุคโบราณที่เป็นตำนาน หรือเทคนิคที่หายสาบสูญไปแล้ว มันเป็นเรื่องยากนะ คือมันมี 2 แขนง หนึ่งคือทุกคนค้นหาเทคนิคใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน แต่ของผมจะชื่นชอบค้นหาเทคนิคที่หายไปแล้ว และดึงเทคนิคเหล่านั้นมาพัฒนาหลอมรวมเป็นตัวเรา”
สู่เส้นทาง “ศิลปินวาดภาพ”
เมื่อสั่งสมประสบการณ์ทางศิลปะบวกกับการได้ทำงานที่หลากหลายในช่วงสมัยเรียน หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ชูศิษฐ์ได้รับทุนให้ไปศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะใน 4 ประเทศของทวีปยุโรป ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชูศิษฐ์มีความคิดที่จะพัฒนาผลงานศิลปะให้ขึ้นมาอีกขั้น
“พอถึงช่วงปี 4 ผมได้รับรางวัลชนะเลิศจากสมาคมอัญมณีและสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะไทย พอเรียนจบ รับปริญญาเรียบร้อย ผมก็ได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ยุโรป ถือว่าได้รับความรู้อย่างมากจากการไปครั้งนั้น ได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ดังๆ ไปทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และฮอลแลนด์ เข้าแต่พิพิธภัณฑ์ วนเวียนอยู่อย่างนั้น (หัวเราะเบาๆ) แล้วมันเกิดคำถามในใจอย่างหนึ่งว่างานศิลปะของเรา ทำไมมันไม่ยิ่งใหญ่ ไม่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง เท่ากับงานที่เราไปเห็นในพิพิธภัณฑ์ระดับโลก แล้วเราจะทำยังไงให้ผลงานของเราเป็นแบบนั้นบ้าง”
แม้จะได้รับมุมมองใหม่จากการเดินทางครั้งนั้น แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ ชูศิษฐ์ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่อเมริกา New York Academy of Art และทำให้เขาได้พบกับ อ.ถวัลย์ ดัชนี
“ท่านไปแสดงงานที่ลอสแอนเจลิส กับกลุ่มศิลปินแห่งชาติ ผมก็ไปดู พอเจอท่านก็เอาผลงานไปให้ท่านดู คือโดยส่วนตัว ผมชื่นชมผลงานของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต เรื่องกลิ่นอายความหวาน ความละเอียดลออ อ.จักรพันธุ์จะเนี้ยบมาก ทีนี้ อ.ถวัลย์ก็บอกว่า เรื่องรายละเอียดแทบจะไม่มีที่ติแล้ว แต่ท่านอยากจะให้ไปเพิ่มเติมเรื่องความมีพลัง ความมีชีวิต อย่าง Rembrandt ศิลปินชาวดัชต์ ผลงานเขามีพลังและมีชีวิต จากนั้นท่านก็อวยพรให้ผมมีชื่อเสียงโด่งดังไปในระดับโลกภายใน 30 ปี ถ้าแกยังไม่ตายซะก่อน แล้วแกก็หัวเราะ เราก็ก้มกราบเท้าแก
“จากนั้น ผมก็เริ่มส่งผลงานประกวดที่เมืองนอก ตอนนั้นมีคลับศิลปะที่ดังมาก คือ Calofornia Art Club ซึ่งมีมาร้อยกว่าปี รวมศิลปินจากทั่วโลก รุ่นเก่ารุ่นใหม่มีหมด แต่ว่าจะเปิดสมัครนานๆ ครั้ง ก็เลยให้พี่ชายช่วยค้นหา แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่เคยมีการรับสมัครเลย โทรไปถามก็ไม่มีเปิด จนวันหนึ่ง พี่สาวผมที่เป็นนางพยาบาล ก็เป็นห่วงว่าจะยังไงต่อ บังเอิญไปเจอคนไข้คนหนึ่งที่เป็นศิลปินชาวฟิลิปปินส์ แต่เขาอยู่อเมริกานานแล้ว เขาบอกพี่สาวว่าพาเราไปเจอเขาหน่อย ซึ่งตัวเขาก็เป็นศิลปินที่วาดรูปบุคคลสำคัญของฟิลิปปินส์มาก่อน ต่อมาได้พบกัน เขาก็พูดกับเราสองอย่าง ก็คือ หนึ่ง คุณต้องติดที่นี่นะ สอง คุณต้องส่งผลงานประกวดที่นี่ให้ได้ แต่ข้อแรกมันยากมาก เพราะอย่างเขาสมัครมาสามครั้งยังไม่ติดเลย เพราะที่นี่จะคัดคนซึ่งมีฝีมือจริงๆ เขาไม่ดูโปรไฟล์ และทางคลับจะเน้นเรื่อง LANDSCAPE ฉะนั้น ด้านฟิกเกอร์อาจจะยากหน่อย พอได้รับคำแนะนำจากเขาแล้ว จังหวะที่จะเดินออกจากบ้าน เขาก็นึกขึ้นได้ว่ามีใบสมัครอยู่ เขาเลยให้ผมมา ผมก็ไปสมัคร”
“ระหว่างรอผลก็คิดว่าไม่ติดแน่ๆ ปรากฏพี่ชายโทรมาว่าแกติดคลับนี้นะ ผู้สมัครทั้งหมดประมาณ 300 คนในปีนั้น ได้รับการคัดเลือกประมาณ 10 คน คือเขาก็ไม่ได้บอกนะครับว่าติดเพราะอะไร แต่ส่งจดหมายมาว่าแสดงความยินดี คิดว่าน่าจะเป็นคนไทยคนแรกนะครับที่ได้รับคัดเลือกเข้าไปในคลับนี้”
“หลังจากถูกคัดเลือก ผมก็ได้ร่วมแสดงงานในคลับ ได้พบเจอกับนักสะสมงานศิลปะ มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน แนะนำตัวเองสู่สากล เราก็เริ่มมีกำลังใจ หลังจากนั้น ผมได้กลับไปเรียนวิชา Life drawing และได้วาดรูปชิ้นหนึ่งขึ้นมา คืออาจารย์เขาให้วาดรูปอะไรก็ได้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวี บทเพลง บทประพันธ์ต่างๆ แล้วก็นำมาครีเอท พอดีมีเพื่อนผู้หญิงในชั้นเรียนคนหนึ่งชื่อ autumn ที่แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง สวยมาก เปรียบเสมือนนางในตำนานศิลปะยุคพรีราฟาเอลไลฟ์ ของอังกฤษ เป็นนางแบบผมทอง เลยขอเขามาเป็นนางแบบและวาดสีน้ำมันและดรอว์อิ้งเขาอย่างละชิ้น ต่อมาส่งไปประกวดในหนังสือ American Artist Magazine ซึ่งเขาฉลองครบ 70 ปี ปรากฏว่าได้รับรางวัลที่ 1 มา ถือว่าเป็นก้าวแรกของตัวเองที่ไปได้รางวัลในต่างชาติ ส่วนอีกชิ้นที่เป็นสีน้ำมัน เราส่งไปร่วมแสดงใน California Art Club คือถึงแม้เราได้เป็นสมาชิกแล้ว แต่เราต้องส่งงานเข้าไป เป็นผลงานสีน้ำมันและได้รับคัดเลือกเข้าไปแสดงร่วมกับศิลปินชาวต่างชาติที่นั่น”
เป็นที่ยอมรับในเวทีศิลปะโลก
หลังจากฉายแววทางศิลปะในอเมริกาแล้ว ชูศิษฐ์ก็ได้ต่อยอดการทำงานของตนเองต่อ พร้อมทั้งศึกษาในระดับปริญญาโททางด้านจิตรกรรมให้สำเร็จ และเมื่อกลับมาเรียนต่อ ชูศิษฐ์ก็ได้รับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการได้เข้าไปวาดภาพเหมือนของศิลปินชั้นนำของโลกอย่าง Rambrant ในวิชาเรียนของหลักสูตร
“มันมีเรื่องของวิชาเลือกให้เราเลือกลง ซึ่งเป็นวิชาที่ลงยากมาก เพราะว่าคนจะแย่งกันลงเรียน ชื่อ painting & drawing on the met คือวิชานี้ นักศึกษาจะต้องแบกอุปกรณ์เข้าไปในพิพิธภัณฑ์และวิจัย ซึ่งผมคุ้นเคยดี เพราะว่าเราทำมาตั้งแต่อยู่เมืองไทย ก่อนเราจะวาดภาพ เราก็ต้องไปนั่งอยู่ในโบสถ์ในวัดต่างๆ คือเราต้องไปศึกษาวิถีชีวิต ต้นกำเนิดรากเหง้าของการทำงานนี้เป็นยังไง ซึ่งผมชอบ แล้วพอมีวิชานี้เปิดมา ก็ไม่ลังเลเลยที่จะลงเรียน พอเข้าเรียนก็ต้องจับสลากและเลือกวิจัยว่าจะทำการศึกษารูปไหน ทุกคนก็ไปเลือกรูปที่ตัวเองชอบ แล้วถ้าคนไปเลือกรูปในห้องเดียวกัน ถ้าขาตั้งไม่สามารถตั้งคู่กันได้ คุณก็จะไม่ได้ที่ตรงนั้น และต้องให้คนอื่นได้ไปแทน ผมจับฉลากได้คนที่ 10 จาก 12 คน แต่ผมยังจำคำของ อ. ถวัลย์ ที่เคยบอกไว้ เราก็เลือกผลงานของ Rembrandt มาทั้งหมดเลย แล้วบังเอิญรูปที่ผมเลือกมันไม่มีคนเลือก เลยทำให้ได้ศึกษาภาพที่ตัวเองสนใจในที่สุด”
“แล้วพอผมรู้ว่าอาจารย์ให้เราเลือกรูปนี้ได้ และมีโอกาสได้ทำงานชิ้นนี้ได้แล้ว เราก็ศึกษาว่าจะใช้อุปกรณ์ยังไง ผมก็ไปค้นให้หมดว่าจะใช้สีอะไร ก็ไปหาจากตำราและปรึกษาอาจารย์ เพราะสมัยโบราณจะมีสีไม่กี่ชนิด สีฟ้ามันไม่ได้มีเป็น 100 เฉดแบบสมัยนี้ เขาใช้สีอะไรไม่รู้ลงไปในผิว เหมือนกับว่าเราไปขุดสุสานฟาโรห์ขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้น เราต้องทำการพิสูจน์ หาข้อมูล หรือลองผสมสีเพื่อให้ออกมาใกล้เคียงที่สุด ผมก็ลองทำอย่างดีที่สุด ซึ่งก็ภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้ เพราะเราเริ่มต้นจากการไม่รู้เรื่องเลย และเขาจะไม่ให้นำผลงานออกมาจากพิพิธภัณฑ์ อุปกรณ์ก็ต้องฝากในห้องเก็บส่วนตัว ออกมาแต่ตัว ถ้าคุณจะเอากลับ ต้องทำเรื่องขออนุญาตอีก คือเขามีระบบรักษาความปลอดภัย เพราะผลงานเขาล้ำค่ามาก ทุกชิ้นมีมูลค่าเป็นพันๆ ล้าน ระบบเขาแข็งแรงมาก ห้ามอยู่ใกล้กับรูปจริง ต้องกั้นแล้วกั้นอีก คือยามจะต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา
“ถือว่าเป็นการทำงานที่ยากมาก แล้วยังมีผู้คนที่มารายล้อมเราอีกนับไม่ถ้วน บางคนก็ซุบซิบเราต่างๆ นานา เช่น “วาดยังไง” “ทำไมถึงวาดได้ขนาดนั้น” แล้วเวลาฝรั่งเขาเห็นงาน เขาก็จะวิจารณ์ตรงๆ เลย คือเราจะต้องโดนตรงนั้น เพื่อนผมโดนถึงขนาดต้องใส่หูฟังเลย
“บางคนบอกว่าเป็นการคัดลอก แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น ลองมองในมุมกลับกัน อย่าง อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านเข้าไปคัดลอกผลงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดระฆัง แล้วผลงานชิ้นนั้นมีค่ามากกว่าผลงานทั่วไปอีก เพราะว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นการแสดงฝีมือชั้นครูของท่านด้วย พอผมทำตรงนี้ ผมถึงสัมผัสได้ว่า ตอนแรก เราเห็นผลงานคัดลอก เราเห็นจิตรกรรมฝาผนังโบราณ เราอาจจะคิดว่าไม่มีคุณค่า แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าการทำงานมันยากกว่าหลายเท่า
“จำได้ว่า ตอนที่เราวาด คนจะสนใจมาก บางคนมาถามเราว่าทำได้ยังไง เหมือนมากเลย หรือบางคนก็มาเสนอให้ทุนเราตรงนั้นเลยก็มี แต่เราบอกไม่เป็นไร และก็มีแกลอรี่จากญี่ปุ่นและในนิวยอร์กให้นามบัตรทิ้งไว้ พอทำงานเสร็จ เราจะกลับบ้านตอนปิดเทอม ก็มีอาจารย์มาทาบทามเราอีกว่า ทาง The Metropolitan Museum of Art จะจัดการแสดง และจะเชิญแค่ 7 คน และผมก็เป็น 1 ใน 7 คนนั้นที่ถูกคัดเลือก โดยเป็นนักศึกษาปริญญาโท ปี 1 คนเดียวที่ได้แสดงงานร่วมกับศิษย์เก่าและอาจารย์ของสถาบันนั้นซึ่งถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดสำหรับผม
"ต่อมา ผมก็กลับไปเรียนต่อเพื่อจะย้ำตัวนี้ให้แน่นกว่าเดิม ปรากฏว่ารูปที่ผมทำงานในพิพิธภัณฑ์นั้น เขาทำเป็นเอกสารแจกสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาที่แห่งนั้น เลยกลายเป็นดังไปทั่วเลย เป็นความภูมิใจมาก และที่สำคัญกว่านั้น หลักสูตรที่นั่น เขาจะมีเส้นทางหลากหลายให้เลือก ให้ศิลปินได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาชมศิลปินชาวจีน เพราะเคยมีอาจารย์ชาวจีน จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชื่อดังด้านศิลปะของจีน ซึ่งเคยมาร่วมโปรแกรมนี้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทุกปี จะได้รับคำชมว่าเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ผมฟังแล้วคิดในใจว่า “เดี๋ยวก่อน” (หัวเราะ) ซึ่งพอเขาได้มีโอกาสเห็นฝีมือคนไทย เขาก็ทราบแล้วว่ายังคงมี ศิลปินชาวไทยที่มีฝีมือไม่แพ้ชาติไหนในโลก เช่นกัน”
สำหรับคุณ อะไรคือหัวใจสำคัญในการทำงานศิลปะ
ความทุ่มเทครับ ในการทำงานทุกชิ้นผมจะทำอย่างสุดความสามารถ ผลงานทุกชิ้นต้องดีและสมบูรณ์ที่สุด งดงามที่สุด สุดความสามารถที่เราจะทำน่ะครับ และผมคิดว่าความตั้งใจเหล่านี้ก็จะโชนแสงออกมาเอง เหมือนกับความตั้งใจ ความผูกพันกับผลงานชิ้นหนึ่ง มันจะฉายรัศมีออกมาเอง โดยที่ตัวเราแทบจะไม่ต้องพูดออกมาเลย ผมว่าสิ่งนี้มันเป็นอะไรที่น่าทึ่งกว่า เพราะไม่ใช่ว่าการทำงานศิลปะจะต้องยืนพรีเซนต์ผลงานเราตลอดเวลา แต่ผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีชที่ติดอยู่บนผนังของเขาเหล่านั้นมันจะโชนแสงออกมาเอง คือผมคิดว่าผมไม่ควรจะไปอยู่เบื้องหน้า ผมอยากจะอยู่เบื้องหลังในงานศิลปะของผม อยากให้ผลงานแสดงตัวของเขาเอง เช่นเดียวกัน เราก็ไม่อยากให้คนใส่ใจกับลายเซ็นต์ แต่อยากให้ดูคุณภาพเนื้องานของเรามากกว่า
จริงๆ จากใจผมเลย ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตของเขา ในด้านจิตใจมากกว่าวัตถุ ซึ่งการทำงานบางจุดไม่ควรประเมินจากด้านวัตถุมาก ผมใช้ใจในการทำงาน ผลออกมาอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีความสำเร็จและความภูมิใจในชีวิตของเรา เกิดมาหนึ่งชีวิต ไม่ใช่แค่ได้ทำสิ่งต้องการค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสรรค์ทำความดีด้วยน่ะครับ
การทำงานของผมไม่ได้มองแค่ว่าเราจะก้าวไปอย่างนี้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จถึงที่สุด แต่เรามีความสุขในการทำงานด้วย เราได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตของเรา ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมความเจริญของเรา ไม่ใช่เงินจะตอบโจทย์ว่าชีวิตจะมีความสุข แต่การทำงานที่มีคุณค่า ก็มีความสำคัญ ต้องหาความสมดุล
อยากให้สรุปความเป็นเอกลักษณ์ของผลงานตัวเองหน่อยครับ
เรียนตามตรงครับว่าผมไม่รู้จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไร แต่รู้แค่ว่าทุกชิ้นที่ทำ ผมก็มีความรักในการทำ อย่างอาจารย์ ศิลปินชื่อดังที่นิวยอร์คที่สอนผมนั้น บอกว่าผลงานของผมจะมีความอ่อนไหวแผ่วเบาบางอย่างซึ่งหาได้ยากมาก และสิ่งนี้คือความเข้มแข็งที่สุดในผลงานของผม ได้โปรดเก็บรักษาสิ่งนี้ไว้ให้ดี การทำงานของผมจะไม่เน้นวาดให้เหมือนแต่เพียงอย่างเดียวนะ แต่วาดเพื่อให้ผลงานนั้นมีความลึกซึ้ง มีชีวิต และมีพลัง การถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมา อย่างที่บอกว่า ผลงานจะโชนแสงรองเรืองออกมาด้วยตัวเอง ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าทำด้วยความเต็มที่และจริงใจ ผลงานมันจะประจักษ์ด้วยตัวเอง ผมเชื่อแบบนั้นครับ
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วรวุฒิ ชัยกิตติกรณ์ และ ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ