xs
xsm
sm
md
lg

ที่นั่งเล็กๆ วิวหลักล้าน! SkyDeck ดีไซน์ใหม่เก้าอี้บนเครื่องบินในอนาคต [ชมคลิป]

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี – บริษัทในสหรัฐฯ เปิดตัวไอเดียใหม่ “สกายเดค” ที่นั่งเหนือลำตัวเครื่องบินแบบเอ็กซคลูซีฟสุดๆ ให้ผู้โดยสารดื่มด่ำกับบรรยากาศท้องฟ้าได้แบบเต็มอิ่ม 360 องศา ภายใต้โดมใส ติดตั้งได้ทั้งในเครื่องบินส่วนตัวและเครื่องบินพาณิชย์ ทั้งเป็นการลดความน่าเบื่อหน่าย เพิ่มรายได้ให้สายการบิน

สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีทางการบินของสหรัฐฯ นามวินด์สปีด (Windspeed) เปิดตัวที่นั่งดีไซน์ใหม่ที่เรียกว่า สกายเดค (Skydeck) ซึ่งสามารถติดตั้งทั้งในเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็ก ไปจนถึงเครื่องบินเชิงพาณิชย์ลำตัวกว้างขนาดใหญ่ โดยที่นั่งดังกล่าวนั้นจะอยู่บริเวณบนสุดกลางลำตัวของเครื่อง ครอบไว้ด้วยหลังคาใส ซึ่งจะทำให้มองเห็นท้องฟ้าได้แบบ 360 องศา

จากวิดีโอตัวอย่างที่วินด์สปีดเผยแพร่ ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงที่นั่งดังกล่าวผ่านลิฟท์หรือบันไดก็ได้ โดยเมื่อขึ้นไปแล้วที่นั่งซึ่งถูกออกแบบให้เป็นที่นั่งเดี่ยว หรือที่นั่งคู่จะสามารถหมุนได้โดยรอบ เพื่อให้ผู้โดยสารดื่มด่ำกับบรรยากาศของท้องฟ้าได้อย่างเต็มอิ่ม

“ณ ตอนนี้ถือว่าระบบความบันเทิงในห้องโดยสารเครื่องบินไม่ได้มีความก้าวหน้าอะไรมากนักเทียบกับช่วงสิบปีก่อนหน้านี้” บ.วินด์สปีดระบุ “ดังนั้นเราจึงคิดค้นสินค้าที่สามารถนำเสนอกิจกรรมที่ตอบสนองความบันเทิงได้ดียิ่งขึ้น เพื่อลดความเบื่อหน่ายระหว่างการเดินทางไกล”

ทั้งนี้บริษัทเจ้าของไอเดียระบุว่า สกายเดคอาจติดตั้งในเครื่องบินส่วนตัวของวีไอพี หรืออาจจะใช้เป็นช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติมสำหรับสายการบินผ่านระบบเก็บค่าบัตรเข้าชม (pay-per-view) ก็ได้

ตอนนี้สกายเดคยังอยู่ในขั้นของการขอจดสิทธิบัตร และยังไม่ได้มีการทดสอบในเครื่องบินจริงๆ อย่างไรก็ตามวินด์สปีดยืนยันว่าการออกแบบนี้สามารถทำได้จริงและจะไม่กระทบอะไรกับการบังคับเครื่องบินแม้แต่น้อย โดยวัสดุที่ใช้สร้างโดมใสนั้นจะเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้ในเครื่องบินขับไล่ ซึ่งจะทนทานต่อการพุ่งชนของนกและการกระทบกระทั่งอื่นๆ ในขณะเดียวกันรูปร่างคล้ายหยดน้ำของโดมก็ถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์

นอกจากนี้โดมใสดังกล่าวจะเคลือบไว้ด้วยฟิล์มที่จะป้องกันฝ้าที่จะมาเกาะ ขณะเดียวกันก็จะมีการเคลือบไว้ด้วยฟิล์มป้องกันยูวี เพื่อมิให้ผู้โดยสารถูกแสงแดดแผดเผา อย่างก็ตาม คงต้องรอให้สกายเดคได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางการบินเสียก่อน หลังจากนั้นเชื่อว่าอีกไม่นานคงมีให้ได้ใช้บริการกันแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น