ไม่ได้มโน แล้วก็ไม่ได้โม้ แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ ไทยเราสร้างเครื่องบินรบเองถึง ๒๐๐ กว่าเครื่อง ส่งทะยานขึ้นฟ้าเข้าทำสงครามเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยคู่ต่อสู้มีตำแหน่งถึงจ้าวเวหาของยุโรป คือ ฝรั่งเศส
เรียกว่าขึ้นสังเวียนครั้งแรก ก็ชนกับแชมป์โลกเลย
ในการการรบ แม้สมรรถภาพของเครื่องบินที่ไทยสร้างจะด้อยกว่าของฝรั่งเศส แต่อาศัยที่ใจเหนือกว่า ขนาดลำเดียวยังกล้าสู้กับข้าศึกเป็นฝูง เพราะรบเพื่อชาติ ตายก็ไม่เสียดายชีวิต คนที่ถูกส่งมาข่มขู่ชาวบ้านเลยถอดใจ เสี่ยงชีวิตไปก็ตายเปล่า
ผลของสงคราม ฝรั่งเศสต้องไปขอให้ญี่ปุ่นมาช่วยเจรจาสงบศึก ยอมคืนดินแดนที่ยึดจากไทยไป ..แบบนี้ใครแพ้ใครชนะก็ลองคิดดู
ความจริงไทยเราเริ่มสร้างเครื่องบินรบใช้เองมาตั้งแต่ปี ๒๔๕๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แล้ว และสร้างจนเป็นชาติที่มีเครื่องบินรบมากที่สุดในเอเชีย รวมทั้งมีนักบินมากที่สุดด้วย
ประวัติศาสตร์การบินของไทยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๕๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ นายแวน เดอบอร์น ชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินปีก ๒ ชั้นแบบเออร์วิลไรท์ มาบินโชว์ที่สนามม้าปทุมวัน ซึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และ สมเด็จเจ้าฟ้าจักพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงสนพระทัย ทดลองขึ้นบินทั้งสองพระองค์
ทรงเล็งเห็น ว่าเครื่องบินจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านกิจการทหารและพลเรือน จึงได้ส่ง นายพันตรี หลวงศักดาศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ต่อมาคือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ กับ นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินสุข) ต่อมาคือ นายพันเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ต่อมาคือ นายพันเอก พระยาทยานพิฆาต ไปเรียนการบินที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศผู้นำการบินของยุโรปในขณะนั้น
เมื่อนักบินทั้ง ๓ กลับมา ไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ ปีก ๒ ชั้น ซึ่งเป็นเครื่องที่ศิษย์การบินไทยใช้ฝึกบินที่ฝรั่งเศสมา ๓ เครื่องในปี ๒๔๕๖ ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้ซื้อให้อีก ๑ เครื่อง รวมเป็น ๔ เครื่อง
เมื่อซื้อเครื่องบินมาศึกษาได้ ๒ ปี ไทยก็แสดงฝีมือทันที โดยในปี ๒๔๕๘ สมัยรัชกาลที่ ๖ กองโรงงาน กองบินทหารบก ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีทหารอากาศ ก็สร้างเครื่องบินแบบเบรเกต์นี้ขึ้นเองเป็นเครื่องแรก โดยสั่งเครื่องยนต์มา แล้วสร้างปีกกับลำตัวเอง ใบพัดนั้นทำด้วยไม้โมกมัน ให้ชื่อว่า “ขัติยะนารี ๑” ซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ในสภาพดี เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ และเปิดให้ประชาชนชมทุกวัน
ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐ ไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยประกาศสงครามกับเยอรมัน ออสเตรียฮังการี เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และส่งทหาร ๔๐๐ นายไปร่วมรบที่ยุโรป ในจำนวนนี้ได้รับการคัดเลือก ๑๒๐ คนให้เข้ารับการฝึกบินในโรงเรียนการบินต่างๆของฝรั่งเศส มีทั้งฝึกบินฝึกทิ้งระเบิด และฝึกบินผาดโผน เมื่อสงครามสงบ นักบินเหล่านี้บางคนก็เข้าเรียนการบินชั้นสูงต่อไป และกลับมาเป็นครูฝึก สร้างนักบินให้กองทัพไทย
ต่อมาในปี ๒๔๗๐ นายพันโท หลวงเวชยันตร์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) ซึ่งเป็นผู้บังคับฝูงของโรงงาน กรมอากาศยาน ได้ออกแบบเครื่องบินเองแบบหนึ่ง แล้วสร้างขึ้น ใช้เครื่องจูปิเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า ความเร็ว ๑๕๗ ไมล์ต่อชั่วโมง ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๗ ว่า “บริพัตร” ตามพระนาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นเครื่องบินลำแรกที่ออกแบบโดยคนไทย และได้บินไปโชว์ตัวถึงเมืองเดลฮีในปี ๒๔๗๒ ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย และบินไปไซ่ง่อนในปี ๒๔๗๓ ตามคำเชิญของรัฐบาลอินโดจีน ซึ่งตอนนี้ “บริพัตร” เครื่องนี้ก็ยังอยู่ในสภาพดีที่พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศเช่นกัน
ในปี ๒๔๗๒ ไทยได้ออกแบบและสร้างเครื่องบินขับไล่ขึ้นมาอีกลำหนึ่ง ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๗ ว่า “ประชาธิปก” ตามพระนามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี ๒๔๗๗ ไทยได้สั่งเครื่องบินแบบคอร์แซร์ ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบตรวจการและทิ้งระเบิดของอเมริกามา ๑๒ เครื่อง จากนั้น ๒ ปีต่อมา ในปี ๒๔๗๙ ก็ขอสิทธิ์มาสร้างเอง ซื้อแต่เครื่องยนต์มา และสร้างอย่างเป็นล่ำเป็นสันถึง ๑๕๐ เครื่อง
ในปีเดียวกันนี้ ยังได้สร้างเครื่องบินแบบฮอล์ค ๓ ของอเมริกาขึ้นมาอีก ๕๐ เครื่อง โดยขอขอซื้อสิทธิ์เช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบนี้มาศึกษา ๑๒ เครื่องในปี ๒๔๗๘
ในขณะนี้ ทั้งคอร์แซร์และฮอร์ค ๓ เหลืออยู่เพียงแบบละ ๑ เครื่อง เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ ซึ่งต่างก็เป็นหนึ่งเดียวในโลก ที่อเมริกาไม่เหลือเลย สถาบันสมิตโซเนียนของอเมริกาซึ่งสะสมเครื่องบินแบบต่างๆไว้มากมาย อยากซื้อเอาไปโชว์เหลือเกิน แต่กองทัพอากาศไทยก็ไม่สามารถขายให้ได้
ในปี ๒๔๘๓ ไทยเกิดความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในปัญหาดินแดนในอินโดจีน จนถึงทำสงครามกัน ไทยได้ส่งคอร์แซร์และฮอล์ค ๓ ที่สร้างเองนี้เข้าสู่สมรภูมิ ซึ่งนับเป็นการทำสงครามทางอากาศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ตอนนั้นถือกันว่าฝรั่งเศสเป็นจ้าวเวหาของยุโรป มีความเชี่ยวชาญในการรบทางอากาศมาก ทั้งสมรรถภาพเครื่องบินก็เหนือกว่าไทย ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินขับไล่แบบโมรันและเครื่องบินทิ้งระเบิดฟาร์มัง ซึ่งเป็นทันสมัยทั้งคู่มาประจำในอินโดจีน แต่นักบินไทยก็สู้ด้วยหัวใจของนักรบ ที่ต้องปกป้องอธิปไตยและศักดิ์ศรีของชาติ จนได้สร้างวีรกรรมให้จดจำกันมากมายในสงครามครั้งนี้
หนึ่งในจำนวนนี้ที่คนไทยยุคนั้นรู้จักกันดี ก็คือ “ศานิต นวลมณี” ซึ่งเข้าสงครามครั้งนี้ในยศ เรืออากาศตรี และได้สร้างวีรกรรมประทับใจไว้หลายครั้ง จนได้เลื่อนยศเป็น เรืออากาศโท เรืออากาศเอก และนาวาอากาศตรี ภายในปีเดียว แต่แล้วในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีสนามบิน เวียงจันทน์ ถูกปืนกลจากพื้นดินยิงต่อต้านอย่างหนัก แต่ น.ต.ศานิต นวลมณี ก็ฝ่าห่ากระสุนเข้าไปโจมตีเป้าหมายจนสำเร็จ แม้จะถูกยิงถังน้ำมันทะลุไฟไหม้ ถูกไฟลวก และถูกกระสุนที่เข่า ก็ประคองเครื่องกลับเข้าเขตไทยได้ และกระโดดร่มชูชีพออกจากเครื่อง แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคมในขณะอายุเพิ่ง ๒๓ ปี
วีรกรรม น.ต.ศานิตในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขานและปลุกใจให้คนไทยรักชาติมาก ผู้เขียนซึ่งอยู่ในวัย ๗ ขวบ ก็ยังจำชื่อ “ศานิต นวลมณี” มาได้จนบัดนี้ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ ไทยได้ส่งฝูงบินคอร์แซร์และฮอล์ค ๓ รวม ๑๔ เครื่อง พร้อมลูกระเบิดเต็มท้อง เข้าไปถล่มฐานทัพของฝรั่งเศสที่ศรีโสภณเป็นการตอบโต้ฝรั่งเศสส่งฟาร์มังมามาบอมบ์อรัญประเทศ ฝรั่งเศสเตรียม ป.ต.อ.ไว้ต้อนรับเต็มที่ แต่เสืออากาศไทยก็หย่อนระเบิดใส่ ป.ต.อ.ฝรั่งเศสจนเงียบเสียง แล้วทำลายคลังอาวุธยับเยิน กลับมาได้ครบทั้ง ๑๔ ลำ
ฉากการรบครั้งนี้จะสนุกแค่ไหน ร.ต.ประเสริฐ สุดบรรทัด ซึ่งต่อมาเป็น ส.ส.จังหวัดสระบุรี ผู้เข้าสมรภูมิภาคพื้นดินและเห็นเหตุการณ์ด้านหนึ่ง ได้บันทึกไว้ว่า
“...ในตอนเย็น เสืออากาศไทยพาเครื่องบิน ๓ เครื่องพุ่งตรงไปศรีโสภณ พร้อมกับโปรยไข่เหล็กกระหน่ำเป้าหมายอย่างไม่หวั่นไหวในเสียงปืนต่อสู้ที่ยิงสนั่นฟ้า เครื่องบินของนักล่าเมืองขึ้นโผขึ้นเพื่อสกัดกั้น ๕ เครื่อง ๓ ต่อ ๕ พ่นกระสุนใส่กันอย่างใครดีใครอยู่ แต่ความกล้าที่เหนือกว่ากันแม้กำลังจะด้อยกว่า เครื่องหนึ่งของเราก็จิกหัวยิงในระยะต่ำเพียง ๕๐ เมตร ปล่อยระเบิดลงไปด้วย ๓ ลูก ตรงนั้นต้องเป็นคลังกระสุนของสัตรู เสียงระเบิดดังก้อง แผ่นดินสะเทือน กลุ่มควัน ป.ต.อ. ของฝรั่งเศสที่ระดมยิงนั้นรายล้อมเป็นวงๆ ราวกับถูกล้อมด้วยรัศมีระเบิด เครื่องบินของเราม้วนลงมาเหมือนนกปีกหัก เราสลดใจไปตามกันที่เห็นจุดจบของเสืออากาศ แต่ก็ยังเหลืออีก ๒ ที่ยังสู้อย่าทระนงองอาจสมชายชาตินักรบ
เครื่องบินที่เราคิดว่าต้องตกมาแหลกนั้น เมื่อร่วงลงมาจะถึงยอดไม้ กลับเบนหัวตั้งหลักได้อย่างประหลาด ยิ่งกว่านั้นยังเร่งเครื่องกระหึ่มอย่างแรง เชิดหัวโยนบอมบ์เข้าไปที่จุดหนึ่งจุดใดที่เสืออากาศของเราได้เห็นแล้ว ตูมเดียวควันดำก็คลุ้มเป็นกลุ่มขึ้นไปในอากาศ เครื่องบินที่คิดว่าจะตกของเรากลับมีลูกเล่นอย่างไม่มีใครคาดฝันสักคนเดียว เสียงร้องไชโยราวกับนัดกันไว้”
ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ หลังจากที่ฝรั่งเศสขอสงบศึก คืนดินแดนให้ไทยแล้ว ญี่ปุ่นผู้เป็นทูตสันติภาพก็ลงมือเอง ยกพลขึ้นบกทางชายทะเลฝั่งตะวันออกของไทย ตั้งแต่ภาคใต้จนถึงบางปู จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากใช้ปืนกลเรือยิงกราดคุมไม่ให้เครื่องบินไทยที่กองบินอ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์เงยหัวขึ้นจากรันเวย์ได้แล้ว ยังส่งฝูงบิน ๒๕ เครื่องโจมตีสนามบินวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี ไม่ให้ไทยใช้เครื่องบินที่สนามนี้ต่อต้านญี่ปุ่นด้วย แต่เสืออากาศของไทยก็นำฮอล์ค ๓ ฝ่าระเบิดขึ้นไปได้ ๓ เครื่อง หาญสู้กับฝูงบินขับไล่โอตะซึ่งทันสมัยที่สุดของญี่ปุ่น ๒๕ เครื่อง ผลก็คือฮอล์ค ๓ ทั้ง ๓ ลำถูกยำจนร่วงหมด
เมื่อจำต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างปี ๒๔๘๔-๒๔๘๘ การสร้างเครื่องบินของไทยก็ต้องชะงักลง มาฟื้นฟูกันใหม่ในปี ๒๕๐๐ แต่ก็ตามไม่ทันเทคโนโลยีการสร้างเครื่องบินที่ไปไกลแล้ว ขืนสร้างขึ้นมาก็เอาไปรบกับใครไม่ได้ จึงหันไปศึกษาเครื่องบินแบบฝึกบิน โดยซื้อแบบจากต่างประเทศมา แล้ววิจัยสร้างแบบขึ้นมาเอง
ในปี ๒๕๑๐ ไทยเราได้สร้างเครื่องบินฝึกแบบ “จันทรา” ขึ้นมา ๑๒ เครื่อง โดยออกแบบเองทั้งหมด
ปี ๒๕๑๕ ร่วมกับบริษัทไวท์ฟลุค ซอยบาว ของเยอรมัน สร้างเครื่องแบบ “แฟรนเทรนเนอร์” ซึ่งเป็นเครื่องบินฝึกเช่นกัน จำนวน ๒๐ เครื่อง แต่ใช้ปีกเป็นโลหะ โดยไทยวิจัยสร้างขึ้นมาเอง และถือลิขสิทธิ์ปีกเครื่องบินแบบนี้ด้วย
การสร้างเครื่องบินฝึกของกองทัพอากาศ ได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน นอกจากสร้างขึ้นใช้เองแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างเครื่องบินแบบนี้ออกจำหน่ายด้วย
การเริ่มต้นการบินของไทยเรานับว่าสดใสไม่น้อย แต่ต้องชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเพราะเป็นประเทศที่ยากจน ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณศึกษาวิจัยในด้านนี้มากนัก กิจการสร้างเครื่องบินของไทยจึงล้าหลังไป แต่กระนั้นในด้านนักบิน คนไทยก็มีฝีมือเป็นนักบินเครื่องบินโดยสารของสายการบินใหญ่ๆอยู่หลายสาย ไม่น้อยหน้านักบินชาติใดในโลก
แต่อย่าเผลอไปมีลูกเล่นเหมือนตอนถล่มศรีโสภณเข้าล่ะ!