xs
xsm
sm
md
lg

หัวหมู่ทะลวงฟันพันธุ์ครีเอท : อายดรอปเปอร์ ฟีลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ด้านภาพเคลื่อนไหว ที่ไม่เพียงผลิตเอ็มวีให้แก่นักร้องดังหลายต่อหลายคน หากแต่ผลงานของพวกเขาหลายชิ้น ยังบินไปโชว์ที่เมืองนอกหลายประเทศ ในนามของ “อายดรอปเปอร์ ฟิลล์” หยดยาชะล้างฝุ่นฝ้าในดวงตา ทำให้จักษุสว่างจ้า แลเห็นหนทางแห่งความกล้าในการสร้างสรรค์

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2008 พวกเขาเหล่า “อายดรอปเปอร์ ฟิลล์” สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการสร้างภาพวิชวลประกอบงานคอนเสิร์ตซึ่งแสดงความบ้าพลังให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการทำคลิปวิชวลประกอบเพลงเพลงเดียวถึง 50-60 คลิป จนคนดูรู้สึกทึ่งในความอลังอย่างว่า แต่เมื่องานวิชวลคอนเสิร์ตถึงจุดอิ่มตัว จึงขยับสู่โลกแห่งการผลิตเอ็มวีให้แก่เพลงของศิลปินดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “ของขวัญ” ของวง Musketeer, เพลง “บาด” ของ Lomosonic หรือแม้กระทั่งเพลง “หวาน” ของ Lula ฯลฯ และหลังจากนั้น เมื่อรู้สึกว่างานของตัวเองกำลังถูกจองจำด้วยความ “หวาน” ตามความต้องการของลูกค้า พวกเขาจึง “หักดิบ” อีกครั้ง ด้วยแนวคิดว่าอยากทำอะไรใหม่ๆ ด้วยแรงปลุกเร้าด้านลึกที่อยากจะทำงานด้านครีเอทีฟให้เต็มที่ เป็นศิลปินให้เต็มตัว ใช่เพียงแค่ทำตามใบสั่ง

แม้สมาชิกตั้งแต่ยุคก่อตั้ง จะแยกย้ายกันไป จากสี่คนเหลือสองคน คือ “เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย” และนัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล” แต่เส้นทางศิลปินที่พวกเขาหมายมุ่ง ดูเหมือนไม่เคยหม่นมอด และเพียงสร้างเพื่อพิสูจน์ตัวเองเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่รางวี่รางวัล รวมทั้งการได้ไปแสดงโชว์ที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา ตลอดจนเสียงชื่นชมจากคนในแวดวง ยิ่งส่งอานิสงส์ให้พวกเขายืนอยู่ในฐานะไอดอลแห่งงานนี้ของวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย

แต่เส้นทางสายนี้ ฝ่าอะไรมาบ้าง
เบสท์กับนัท พร้อมจะสนทนา...

• ก่อนที่จะทำงานสร้างสรรค์กันอย่างเป็นจริงเป็นจังอย่างทุกวันนี้ มีมุมมองต่องานศิลปะมาก่อนอย่างไรบ้าง

เบสท์ : พ่อของผมมักจะบอกเสมอครับว่า อย่าเรียนศิลปะ เพราะศิลปินจะไส้แห้ง คำคำนี้ติดอยู่ในหัวเลย ผมเรียนจบสายวิทย์มาแกอยากให้เป็นนักวิจัยอาหาร ตอนนั้นเป็นเด็กไม่ค่อยเรียนแต่มีสิ่งเดียวที่ดื้อดึงกับพ่อว่าถึงจะไม่ติดมหา'ลัยรัฐยังไงก็ขอให้ได้ เรียนสถาปัตย์ต่อสู้กันมากเพราะเมื่อติดแล้วผมขอย้ายภาคไปนิเทศศิลป์อีก เราตั้งใจเรียนมาก เพราะกว่าจะได้เรียน ต่อสู้กันหลายปีกับพ่อ

พอเป็นอย่างนี้ จึงทำให้เราพยายาม ทำงานศิลปะในแบบที่คนสามารถมีปฎิสัมพันธ์กับมันได้ เพื่อเชื่อมโยงทัศนคติบางอย่างกับคนดู ไม่ใช่งานเพนติ้ง (Painting) ที่ตั้งอยู่ในแกลเลอรีแล้วคนไปยืนมอง ผมอยากให้ผลงานนั้นไปอยู่บนถนน เคลื่อนไหวได้ ดึงดูดคนดูได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยลูกล่อลูกชนเพื่อให้คนดู รู้สึกตื่นเต้น และนอกเหนือจากตื่นเต้น คือทำอย่างไรให้เขาได้ซึมซับประสบการณ์ให้เขา ได้วิธีคิดอะไรบางอย่างกลับไปในตัวเขาด้วย ซึ่งงานหลังๆ ที่ทำ ผมจะเน้นไปในทางสร้างการปฏิสัมพันธ์กับคนดู

นัท : จริงๆ แล้ว ผมก็เรียนมาด้วยกันกับเบสท์นี่ล่ะครับ และตอนทำงานก็ปรึกษากันประมาณหนึ่งว่าจะรักษาบาลานซ์อย่างไร ระหว่างการออกแบบที่เป็นศิลปะ กับการพาณิชย์ (Commercial) ทีแรก็เหมือนว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้เลย แต่ตอนตัดสินใจเปิดบริษัท เราก็ตกลงกันว่าอยากทำให้ 2 อย่างนี้มารวมกันได้ แล้วมันมีค่ามากกว่าแบบใด แบบหนึ่งเต็มๆ หนึ่งบวกหนึ่งมันเท่ากับสอง ราคามันต้องเยอะกว่าอันเดียว

• อะไรที่ถือเป็นแรงผลักสำคัญเลยสำหรับเราในตอนนั้น

นัท : ผมรู้สึกแค่ว่าในภาพรวม ตัวเลือกมันน้อยเกินไป คือคนไม่มีตัวเลือก และเมื่อเราเองก็มี Know How ที่จะทำ เราก็มาเป็นอีกตัวเลือกให้ละกัน แต่เราไม่ได้ว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีนะ มันดีอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็เสพมาตลอด ยังอยู่ได้ มีชีวิตปกติ แต่เราแค่จะบอกว่ามันยังมีอย่างอื่นได้กว่านั้นอีกนะ ไม่ได้บอกว่าคนตอนนี้โง่ แต่เขาอาจจะชินกับแบบเดิมซึ่งมีทางเดียว มีแบบนี้ก็จะกินอย่างนี้แหละ แต่พอมีรสใหม่ๆ เข้ามา เขาก็จะรู้สึกว่า เขามีทางเลือกแล้ว เขาเลือกได้แล้ว แล้วก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นในแง่ที่ว่า ฉันเลือกอย่างนี้เพราะอะไร เริ่มมีเหตุผลและเข้าใจในการออกแบบมากขึ้น รู้แล้วว่าการออกแบบไม่ได้มีแค่เก้าอี้ โต๊ะ แต่มันมีมากกว่านั้นและมันก็สนุกได้

• เท่าที่แสดงผลงานมา เกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้างในฝั่งของคนดูผู้เสพ

นัท : ก็ยังมีที่เขาไม่เข้าใจงานประเภทนี้อยู่ครับ ทั้งๆ ที่มันมีมูลค่ามาก ซึ่งจริงๆ เราก็อยากจะโฟกัสคนไทยก่อน อยากจะคุยกับคนไทยให้รู้เรื่องก่อน อยากจะแข็งตั้งแต่ในบ้านเราก่อน แบบว่า...อย่างน้อย ฉันก็คุยกับคนในบ้านรู้เรื่องแล้วนะ เพราะเรารู้สึกว่า เวลาที่คนไทยกำลังจะทำอะไร ชอบเอาต่างชาติมาทำตามแบบเด๊ะๆ เลย (หัวเราะ) เหมือนทำเพื่อให้ต่างชาติดู แล้วคนไทยก็ต้องไปตามดูสิ่งนี้ ความโมเดิร์นหรือความเดิร์นของเขาเนี่ย มีความเป็นต่างชาติสุดทางไปเลย พอหลังจากนั้นมันก็เป็นค่านิยมน่ะครับว่า โอ๊ยของไทย ไม่เอา ไม่ดู แต่พวกเราอยากทำให้คนไทยได้ดูก่อน

เบสท์ : เรื่องของนอกกับของไทยอย่างที่นัทพูด มันเลยเป็นข้อเสียตรงที่คนมักจะรู้สึกว่า ของไทยมันราคาถูกอ่ะ ฉันสามารถเห็นแก้วนี้ใกล้ตัวได้ ฉันก็ทำได้ เอาแสงไปยิง ก็จบ ซึ่งจริงๆ นั่นก็เป็นปัญหาของพวกเราเองแหละ ไม่ใช่ปัญหาของใครหรอก ที่จะทำยังไงให้ไปต่อได้ (นัท - เราแค่อยากใส่อะไรลงไปด้วยความหวังดีประมาณหนึ่ง) บางทีเราก็ไม่รู้ว่าการที่ทำแบบนี้ มันก็เป็นมีดที่กลับมาแทงเราเหมือนกัน คือต้องพัฒนากันต่อ



• แต่เท่าที่เห็นงานของคุณก็สร้างความฮือฮาในหมู่คนรุ่นใหม่ได้เยอะเหมือนกันนะ

เบสท์ : แต่มันก็เป็นมายาคติให้กับเด็กรุ่นหลังเหมือนกันนะว่า ทำแบบนี้แล้วเท่ ซึ่งถ้าให้เรียกมาคุยกันจริงๆ เราก็จะ...น้อง ที่เอ็งเห็นว่าเท่นั้นมันคือยังไง คุยกันไปสักสองสามชั่วโมงแล้วอาจจะรู้ว่ามันไม่เท่เลยก็ได้นะ คือเด็กเขาอาจจะมองอะไรที่มันสำเร็จรูป แล้วเขาก็อยากจะเป็นตาม แต่ปัญหาก็คือเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองคืออะไร คือมันไม่จำเป็นต้องเท่ก็ได้ แต่แค่ว่าคุณรู้จักตัวคุณเองหรือเปล่า ฉะนั้น ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นมายาคติอย่างหนึ่ง

อย่างเช่น เวลาที่ใครสักคนให้สัมภาษณ์พูดบางอย่างออกไป เด็กก็จะแบบ...มันอินสไปร์ว่ะ มันเจ๋งว่ะ แต่คุณไม่รู้เลยว่าโรงเรียนดีไซน์มันไม่ได้สอน อย่างเรื่องธุรกิจ มันอยู่นอกโรงเรียน อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังต้องเรียนรู้เพิ่ม พูดจริงๆ นะครับ แม้แต่การที่พวกผมให้สัมภาษณ์นี้ ก็ยังคุยกันก่อนหน้านี้ว่าจะให้สัมภาษณ์ดีหรือเปล่า เราเชื่อคำพูดตัวเองได้จริงๆ ไหม ผมก็เลยรู้สึกว่าถ้าน้องรุ่นใหม่ได้อ่าน เกิดความรู้สึกดีงาม อยากทำงาน ก็ดีครับ แต่อยากให้เขารู้ด้วยว่า มันไม่ง่าย ขณะเดียวกัน เราเองก็ถือว่ายังไม่เก่งครับ เราต้องเรียนรู้อีกเยอะสุดๆ

มันเหมือนกับวงดนตรี ออกชุดแรก ชอบมากเลย แต่พอมาชุดสอง ทำไมทำอย่างนี้ ไม่ชอบเลย เขียนด่าเลย ชอบชุดแรกมากกว่า คือผมเข้าใจเลยว่าคนทำงานต้องมีการเติบโต สมมติว่าบอดี้สแลม เขาต้องเล่นเพลงชุดแรกเป็นหมื่นรอบ เขาก็คงไม่อยากทำชุดใหม่ให้เหมือนชุดแรกแล้ว ทีนี้มันก็มีความเสี่ยงที่ว่าขณะที่เขาโตนั้น คนดูจะโตไปกับเขาด้วยหรือเปล่า ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิ์ของคนดูเพราะเอาเข้าจริงตอนนี้มีหลายอย่างให้ติดตาม แค่เงินที่จะเลี้ยงปากท้องในแต่ละวันก็ลำบากแล้ว งานศิลปะสำหรับคนไทยคงยังเป็นสิ่งท้ายๆและจำกัดในวงแคบอยู่

นัท : เหมือนคนไม่ได้ชอบเพลงมากนัก แต่รู้ว่าพี่คนนี้จะต้องทำอะไรสักอย่างให้ฉันติดตามอีกแล้ว นั่นแหละคือการติดตามของจริงนะครับ ไม่ใช่แค่ว่าเปลี่ยนเนื้อร้องแล้วทำนองเหมือนเดิม ก็โอเคแล้ว เปลี่ยนคอร์ดจากเดิม จากเพลงช้าเป็นเพลงเร็ว ก็โอเคแล้วนะ อย่าเปลี่ยนไปนะ ไม่งั้นฉันจะไม่ชอบ

• คิดยังไงกับคำว่า “เท่ แต่กินไม่ได้’ ครับ

เบสท์ : ในบางครั้งมันเป็นอย่างงั้นจริงๆ แต่ตอนนี้ผมกำลังจะสู้อยู่ ผมพยายามจะทำให้ทั้งเท่และกินได้ด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าได้จริงมั้ยเพราะทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าไม่ได้ ผมเองไม่อยากจะรีบเชื่อ ผมขอลองก่อนว่าเป็นยังไง พอผมมานั่งมองว่าเราโตมายังไง โตมาแบบไหน อยู่ในโรงเรียนรัฐบาลเป็นยังไง มันส่งผลหมดเลย เพราะว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งในประเทศนี้ แล้วยิ่งทำอย่างนี้ ยิ่งสำเหนียกตัวเองเรื่อยๆ ว่าประเทศนี้เป็นอย่างงนี้ ผมเริ่มเจอความโหดร้ายขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากที่มหา’ลัยเขาปลูกฝังให้เราอยู่ในโลกอุดมคติสุดๆ เลยว่า นี่ศิลปะมีคุณค่า มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอออกมาเจอโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้เราได้พบว่าประเทศไทยเป็นอย่างงี้นะ แต่ว่าผมก็ยังไม่อยากทิ้งความคิดนั้นโดยเร็ววัน

ทุกวันนี้ งานที่เข้ามาในบริษัทมันก็ดีขึ้นหมายถึงทั้งประเภทงานลูกค้าและจำนวนเงิน ซึ่งมันก็ทำให้เราแปลกใจว่าคำว่าเท่แต่กินไม่ได้ มันก็ไม่ได้เป็นแบบนี้เสมอไป แปลกดีที่คนเริ่มเรียกร้องที่จะดูงานแบบที่เราทำมากขึ้นคนดูฉลาดมากขึ้นในการบริโภคโดยเฉพาะในโลกที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกคน อะไรใหม่ๆเป็นที่ต้องการ ในตลาดอาจจะแค่ช่วงนี้มันอยู่ในช่วงเริ่มต้น สื่อทุกอย่างมันเริ่มเปลี่ยน คนเบื่อกับการดูไวรัลและอยากเห็นอะไรที่แปลกตาทั้งภาพและคอนเทนต์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เราแค่ต้องทำงานหนักและสมดุลกับมัน ทุกวันนี้เราก็รับงานที่ขายสินค้าถ่ายโฆษณาตามเดิม แค่ผลลัพธ์ในชิ้นงานจบอาจจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของมีเดียอื่นก็เท่านั้น เรายังพอเห็นความหวังอยู่บ้างซึ่งมันก็อาจจะเป็นไปได้

• ถ้ามองพ้นออกไปจากที่ว่า “กินได้” หรือ “มีกินไม่มีกิน” คิดว่าการทำงานสร้างสรรค์แบบนี้ให้อะไรแก่เราบ้าง

เบสท์ : เราต้องมานั่งตั้งคำถามว่า ทำงานแบบนี้ อย่าเพิ่งไปไกลถึงขั้นว่ามีคนเข้าใจหรือมีคนชอบ แค่จะดูก็ไม่อยากดูแล้ว เพราะว่าตัวเลือกมันเยอะ ในตอนนี้ต้องมานั่งย้อนว่า เพราะอะไรคนถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งก็ต้องย้อนกลับมาหาตัวเองว่าตอนเด็กๆ เราเป็นยังไง เราโตแบบนี้ แล้วคนไทยโตมาแบบนี้ ประเทศไทยก็โตมาแบบนี้ หมายถึง ไม่รู้ ว่าตัวเองทำอะไร ไม่รู้ว่าจะไปไหน แต่เห็นใครดีก็ทำตาม ซึ่งเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น ถ้าในห้อง เด็กที่อาจารย์รักจะเป็นเด็กเรียนเก่งเท่านั้น เด็กหลังห้องที่ฟังเพลง จะเป็นอะไร ไม่มีเพื่อนคบ ชายขอบไปเลย มันมีความเป็นเมนสตรีมและอินดี้อยู่ในสังคมอยู่แล้ว แล้วอาชีพแบบหมอหรือวิศวะคืออาชีพที่คนอยากให้ลูกเรียน ตีตราไปเลย

ผมรู้สึกว่า เราโตมาโดยที่ไม่เข้าใจตัวเอง พอไม่เข้าใจ เราไม่สามารถเคารพความเป็นตัวเอง เราไม่เหมือนกันจริงๆ ประชาธิปไตยเลยไม่มีจริงในนี้ เพราะว่าเราถูกระบบใหญ่ครอบ เหมือนโดนล้างสมอง แล้วเราก็จะไปโทษคนที่คิดไม่เหมือนเรา เพราะผมคิดว่ามันไม่เป็นปัญหาที่ประชาชนแล้ว มันเป็นปัญหาที่ยอดของสามเหลี่ยมลงมาที่ประชาชนปกติ แล้วเราเป็นแค่เบี้ยล่าง เหมือนเราเป็นแค่หมาก ประเทศนี้เป็นกระดาน แต่คนเล่นมีเยอะ ซึ่งเราจะทำยังไงกับสิ่งนี้ได้บ้าง ในฐานะที่เราทำงานแบบนี้ได้ ผมก็ทำได้แค่นี้ครับ และด้วยความคิดแบบนี้ ผมก็ต้องทำต่อ

ฉะนั้น ผมมองว่ามันเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง ผมมองไปถึงคนรุ่นหลัง ไม่หวังกับคนรุ่นโตแล้ว หวังกับเด็กๆ ลงไป การที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยก็เกิดผลบ้าง เหมือนหอยทากน่ะครับ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ต้องเกิดการก้าวข้ามก่อน พวกผมคิดอย่างนี้จริงๆ และเราทำแบบนี้ก็ไม่ใช่ไม่โดนด่านะ ที่บ้านก็ด่าเหมือนกัน แต่เขาก็เข้าใจเรา ลูกคนจีนเขาด่าเพื่อให้เราสำเหนียกและเรียนรู้

นัท : ส่วนที่ผมคิดว่าได้ก็คือเรื่องทัศนคติ ซึ่งจริงๆ ก็มีอยู่แล้ว แต่มันเพิ่มขึ้น อย่างเมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงคนทำงานศิลปะหรือออกแบบว่าติสท์ที่ไม่เข้าใจใคร แต่จริงๆ แล้ว เขาอาศัยความเข้าใจมากๆ เลยนะ เวลาออกแบบ เช่น เก้าอี้หนึ่งตัว เขารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้นั่งได้นานที่สุด รู้ว่าความสูงเท่าไหร่ที่จะใช้กับโต๊ะ คนแบบนี้เข้าใจคนและโลกมาก ซึ่งพวกผมเองก็ได้อานิสงส์จากเรื่องพวกนี้มา พลังเราอาจจะไม่พอ แต่เราทำได้ ไม่ส่งไม้ผลัด ก็จะพยายามคุยกับคนที่พลังมากกว่าเราว่าช่วยเราด้วย ทำด้วยนะ เพิ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ช่วยทำให้มันดีขึ้น แต่เราก็ไม่บังคับเพราะเราเชื่อว่า ถ้าคนเราคิดไม่เหมือนกัน มันไม่ผิด และเราต้องรู้ก่อน ต้องเคารพคนที่เราไปคุยก่อนว่า ถ้าพี่ไม่โอเค เราก็ถอยได้ เดี๋ยวผมก็ไปหาคนมาเพิ่ม มันก็จะสร้างเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เกิดความขัดแย้งอะไร ผมก็ไม่ไปรบกับตึกใหญ่ว่า ทำไมพี่ทำแบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องมีแบบนั้น เราพยายามหาตรงกลางและเข้าใจคนที่มาจ้างงานให้มากที่สุดเพราะนั่นคือเงินของเขา ความต้องการของเขาเป็นการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันแบบนี้ งานจะออกมาดีมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ส่วนที่เรากำลังทำตอนนี้ นอกจากเงินแล้วอันดับแรกก็เป็นไปเพื่อความภูมิใจในตัวของเราเอง รวมถึงที่บ้านด้วย พ่อแม่ก็รู้แล้วว่าลูกทำอะไร แต่เขาไม่สนับสนุนเราเรื่องเงินนะครับให้แค่ความเข้าใจอย่างเดียว (หัวเราะ) เพราะเขาเองทำการค้าและต้องการที่จะให้เราได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่กว่าจะทำให้เขาพอเข้าใจได้ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่หลายปี มากเหมือนกันสำหรับเรา ถ้าพูดจากใจจริงๆ อย่างน้อยเราก็มีคุณค่าต่อสังคมอยู่บ้าง ไม่ได้แค่ตายไปแล้วฝังแค่นั้น อีกส่วนหนึ่งคือ การที่เราพยายามทำอะไรใหม่ๆ และกว้างขึ้น เพราะเราต้องการสร้างทางเลือก ขณะที่เราเองก็อยากจะโตขึ้นด้วย เราเชื่อว่าพอเราโต เสียงเราก็จะใหญ่พอและสามารถคุยกับคนได้เยอะขึ้น เราอยากจะไปถึง ณ จุดนั้น

แต่ ณ ตอนนี้เราทำอะไรได้ ผมก็จะทำไปก่อน อีกอย่างผมมองว่ามันเป็นการท้าทายตัวเองด้วย ผมรู้ว่าผมกำลังสู้กับอะไร และเราก็มีคำตอบอยู่กลายๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ มันอาจจะไม่เกิดในรุ่นเราก็ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ต้องทำ เพราะมันคือความปรารถนาของเราเอง เป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว ไม่ได้ฝืนธรรมชาติ หมายถึงว่าถ้าผมหยุดทำเรื่องแบบนี้ไป มันก็คงมีบางสิ่งบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้าง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว



        ตัวอย่างผลงาน / รางวัล

Dreamscape หนังสั้น 2015
- รางวัล BACC award ในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 19 (จัดโดยหอภาพยนตร์)
- รางวัลยอดนิยม (Popular award) ในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 19 (จัดโดยหอภาพยนตร์)
- รางวัลนกส้ม (ThaiPBS) ในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 19 (จัดโดยหอภาพยนตร์)
Screening ถูกรับเลือกไปฉายในเทศกาลต่างประเทศ
- เทศกาล LANDSCAPE_Chongqing", Chongqing China ประเทศจีน
- เทศกาล Festival Film Dokumenter/FFD ประเทศอินโดนีเซีย

Lucid Reminescence : ยามเมื่อแสงดับลา (Screening)
- เทศกาลหนังสารคดี ศาลายา ครั้งที่ 5 จัดโดย หอภาพยนตร์แห่งประเทศไทย
2009-2012

Passing through the night (screening)
- “Close but strange Asia”, Korea บูซาน เกาหลีใต้
- CFC แคนาดา
- Venice international film Fest ครั้งที่ 68
- รางวัล Nomination, VideoEx festival, Zürich, สวิตเซอร์แลนด์









เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ และเฟซบุ๊ก Eyedropper Fill

กำลังโหลดความคิดเห็น