xs
xsm
sm
md
lg

พม.ร่วมยูเอ็นจัดงาน “อาเซียนร่วมใจ ไร้ความรุนแรง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2558 ด้าน พม. ร่วมกับ UN จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมงาน “อาเซียนร่วมใจ ไร้ความรุนแรง” รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2558 เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้เป็นวันสากลเพื่อขจัดความรุนแรงต่อสตรี พร้อมประทานโมบายล์กระดิ่งสัญลักษณ์ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ให้ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคสื่อมวลชน และภาคธุรกิจ โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เฝ้ารับเสด็จ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางกานดา วัชราภัย ผู้แทนประเทศไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและเด็ก นางโรเบอร์ต้า คล้าก ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนในประเทศไทย UN Women ร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงในเด็กและสตรีสากลด้วย

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และองค์การสหประชาชาติ ได้จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด “อาเซียนร่วมใจ...ไร้ความรุนแรง” เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและนำไปสู่การรวมพลังของทุกภาคส่วนในการยุติความรุนแรงในประเทศไทยและประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งมีการรณรงค์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยความร่วมมือกับคณะทำงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของผู้หญิง ภายใต้กลไกการประสานงานระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แห่งสหประชาชาติ โดยใช้แนวคิด “เอเชียแปซิฟิกร่วมใจยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ภายในปี พ.ศ. 2563 และใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์”
กำลังโหลดความคิดเห็น