xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องยุ่งๆเมื่อแรกมีไปรษณีย์ ยังไม่มีทั้งนามสกุล-บ้านเลขที่ แล้วจะส่งกันได้ยังไง!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

บุรุษไปรษณีย์สมัย ร.๕
โลกทุกวันนี้แคบนิดเดียว ถ้าอยากจะคุยกับคนที่อยู่คนละซีกโลกก็เพียงแค่ยกโทรศัพท์หรือกดอินเตอร์เนทเท่านั้น

ในสมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์หรืออินเตอร์เนท ก็ต้องใช้วิธีเขียนจดหมายส่งไปทางไปรษณีย์ หรือโทรเลข แม้จะใช้เวลามากหน่อย อาจเป็นเดือน ก็ยังส่งข่าวคราวถึงกันได้

แต่ในสมัยที่ยังไม่มีไปรษณีย์ โลกนับว่าอ้างว้างหว้าเหว่สุดจะกล่าว จะรู้ข่าวคราวกันก็ต้องเดินทางไปหากันเท่านั้น ถ้าอยู่ไกลกันมากก็หมดปัญญา

คนไทยเราสมัยก่อนอยู่มาในสภาพนี้ก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร อย่างดีก็แค่ถามไถ่ข่าวคราวต่อๆกันไป แต่คนยุโรปพอมาอยู่เมืองไทยก็เกิดความอึดอัดเหมือนหลุดโลก จะส่งข่าวคราวถึงทางบ้านก็ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ สถานกงสุลอังกฤษจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีไปรษณีย์ จึงเปิดบริการส่งจดหมายไปต่างประเทศขึ้น โดยฝากเรือสินค้าของอังกฤษไปส่งให้ที่ทำการไปรษณีย์ของสิงคโปร์ แล้วไปรษณีย์สิงคโปร์จึงส่งต่อไปปลายทาง

ส่วนแสตมป์ก็ใช้แสตมป์สหพันธรัฐมลายูที่อังกฤษยึดครองเช่นเดียวกับสิงคโปร์ โดยพิมพ์ตัว “B” แทนคำว่า “Bangkok” ทับลงไป

การเริ่มงานไปรษณีย์ของสถานกงสุลอังกฤษนี้เป็นที่สนใจของคนไทย โดยเฉพาะในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง เอาแบบอย่างไปทำบ้าง แต่ก็ส่งกันเฉพาะในพระบรมมหาราชวังและเขตพระนครชั้นในเท่านั้น

ต่อมาในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๘ มีพระบรมวงศานุวงศ์ ๑๑ พระองค์โดยการนำของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่งในชื่อ “ข่าวราชการ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Court” เพื่อแจ้งข่าวราชการ ข่าวสารของราชสำนัก เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯและบอกกล่าวกันในหมู่เจ้านาย แต่ก็มีผู้สนใจต้องการมากจึงต้องมีการพิมพ์เพิ่มและขายในราคาทุน เดิมสมาชิกผู้ชื้อต้องไปรับหนังสือเองที่สำนักงานในพระบรมมหาราชวังทุกวัน แต่พอไม่ว่างไปรับจึงมีหนังสือตกค้างอยู่ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯจึงทรงคิดให้มีคนเดินส่งหนังสือถึงสมาชิกเรียกว่า “โปสต์แมน” และให้พิมพ์ตั๋ว “แสตมป์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในราคา ๑ อัฐ โดยคิดค่าส่งเพิ่มจากค่าหนังสือ ถ้าส่งภายในกำแพงเมืองก็ปิดดวงเดียว ถ้านอกกำแพงเมืองก็ต้องปิด ๒ ดวงเป็นราคา ๒ อัฐ

ครั้นต่อมาในราว พ.ศ.๒๔๒๓-๒๔๒๔ เจ้าหมื่นเสมอใจ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง) ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ขอให้ทรงพระราชดำริจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย แต่ทรงเห็นว่าเป็นงานใหญ่ต้องใช้ทุนรอนสูง หากพลาดพลั้งจะเสียหายมาก ควรจะศึกษาให้ถ้วนถี่ก่อน จึงโปรดฯให้เจ้าหมื่นเสมอใจไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น เมื่อกลับมาจึงให้ร่วมกับเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ที่มีประสบการณ์จากการส่งหนังสือ “ข่าวราชการ” ให้สมาชิก จัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้น

การวางรูปแบบการไปรษณีย์ในประเทศไทยเป็นเรื่องไม่ยากเท่าใดนัก เพราะได้ศึกษาดูงานมาแล้ว แต่ความยุ่งยากอยู่ที่เมืองไทยยังไม่มีเลขที่บ้าน ทั้งคนไทยยังไม่มีนามสกุล การจ่าหน้าซองแต่เพียงชื่อคงต้องควานหากันทั่วกรุงและไม่รู้ว่าเป็นคนไหน ชื่อคนไทยก็ซ้ำๆกัน ด้วยเหตุนี้เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ จึงทรงจัดทำบ้านเลขที่เป็นอันดับแรก และทำความเข้าใจกับราษฎรโดยมี “ประกาศการไปรสณีย์ คือการส่งหนังสือฝาก ที่ ๑” มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“...ทรงพระราชดำริเห็นว่าการค้าขายในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองซึ่งเปนพระราชอาณาเขตสยามนั้น มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก การสิ่งใดซึ่งเปนการเจริญเปนประโยชน์ในการค้าขาย แลเปนทางที่จะให้ราษฎรมีความสุขความเจริญประการใด แลเปนการรุ่งเรืองกับแผ่นดินนั้น ก็ทรงหวังพระราชหฤทัยหมายจะอุดหนุนการค้าขาย แลความสุขราษฎรให้เจริญทวียิ่งขึ้นไปทุกที บัดนี้ทรงพระราชดำริห์เหนว่าการซึ่งส่งหนังสือไปมาถึงกันนี้ ในเมืองต่างประเทศเล็กใหญ่ทุกเมือง เขาก็ได้จัดหนังสือไปมาโดยสะดวกเปนการเรียบร้อยมีประโยชน์ ราษฎรได้ความสุขเปนที่เจริญกับการค้าขายมาก แต่ในพระราชอาณาเขตสยามนี้ยังหามีทางที่จะส่งหนังสือไปมาถึงกันได้โดยสะดวกไม่ ราษฎรพ่อค้าผู้ซึ่งจะส่งหนังสือถึงกันในกิจทุกข์สุขต่างๆ ก็ดี ในการสินค้าการค้าขายก็ดี ยังเปนที่ขัดขวางลำบากอยู่ จึ่งทรงพระราชดำริห์โปรดเกล้าฯ จะให้มีเจ้าพนักงานจัดการส่งหนังสือไปมาให้เปนการเจริญแก่บ้านเมือง แลเปนประโยชน์ในการค้าขายต่อไป แต่การส่งหนังสือนี้จะต้องรู้ตำบลบ้านแลชื่อเจ้าของบ้านผู้ที่จะรับหนังสือ มีบัญชีสารบาญชื่อบ้านราษฎรซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตสยามนั้น ถ้าแลเจ้าพนักงานจะไปจดชื่อบ้านชื่อคน ฤาถามชื่อบิดามารดาประการใด ก็ให้ราษฎรเจ้าของบ้านบอกโดยเร็วโดยจริงแก่เจ้าพนักงานผู้ที่ถาม อย่าให้ราษฎรมีความตกใจครั่นคร้ามกลัวเกรงประการใดเลย จะถามพอรู้ตำบลที่จะส่งหนังสือเท่านั้น

อนึ่งการซึ่งจะส่งหนังสือถึงกันนี้ จะต้องมีที่หมายบ้านเรือนของราษฎรไว้ให้ทั่ว ตามกำหนดเลขเป็นจำนวน ตรอก ถนน ตำบล บ้าน คลอง บาง ถ้าแลเจ้าพนักงานจะทำป้ายเลขไปติดตามหน้าบ้านผู้หนึ่งผู้ใด ก็ให้ราษฎรเจ้าของบ้านนั้นดูแลรักษาเหมือนกับของๆตน อย่าเปนอันตรายสูญหายเสียได้ เมื่อจะจัดการส่งหนังสือเมื่อใด จึ่งจะประกาศแจ้งความมาให้ราษฎรทราบต่อครั้งหลัง ประกาศมา ณ วันพุธ เดือนเก้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะเสงตรีศก ๑๒๔๓”

ต่อจากนั้นอีกเดือนเศษ หลังจากเจ้าพนักงานออกทำบัญชีติดบ้านเลขที่แล้ว ปรากฏว่าราษฎรมีความคิดเห็นกันไปต่างๆนานา มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ บางคนกลับเห็นว่าเป็นการกดขี่ข่มเหงราษฎร บ้างก็กลัวว่าทำเลขที่บ้านไว้เพื่อจะเก็บภาษี ร้ายยิ่งไปกว่านั้นมีคนถือโอกาสแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานออกรีดไถหาผลประโยชน์ จึงทรงมีประกาศการไปรษณีย์อีกเป็นฉบับที่ ๒ ย้ำขอความร่วมมือในเรื่องจัดทำเลขที่บ้าน เพราะจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรเองในการส่งหนังสือไปหากันโดยไม่ต้องจ้างคนไปส่งให้เปลืองเงิน แต่ถ้าจะจ้างคนไปส่งเองก็ไม่ห้าม เพียงแต่ห้ามตั้งเป็นบริษัทมารับส่งจดหมายแข่งกับไปรษณีย์หลวง

ในการสำรวจทำบัญชีชื่อคนที่อยู่ในบ้านนั้น ที่สำคัญจะต้องถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครด้วย เพื่อจะได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครเป็นใคร ตามข้อความในประกาศฉบับที่ ๒ ที่ว่า

“.....การซึ่งถามชื่อบิดานั้น เพราะธรรมเนียมไทยไม่เหมือนกับธรรมเนียมจีน ธรรมเนียมยุโรป ธรรมเนียมจีนนั้นเขาใช้ชื่อมีแส้กำกับด้วย เหมือนกับชื่อตัว ชื่อหยง แส้ตัน เขาก็เรียกชื่อว่า จีนตันหยง มีชื่อตัวแลแส้กำกับอยู่ดั่งนี้ ธรรมเนียมยุโรปนั้นเหมือนกับ ชื่อวิเลียม บิดาชื่อยอด เขาก็เรียกชื่อคนนั้นว่า วิเลียมยอด มีชื่อบิดากำกับด้วยดั่งนี้ ชื่อคนจึ่งไม่ซ้ำกันได้ เพราะมีชื่อบิดาแลแส้กำกับดั่งนี้ แต่ธรรมเนียมไทยนั้น หาได้ใช้ชื่อบิดาแลแส้กำกับด้วยไม่ ชื่อจึงซ้ำกันมาก เหมือนดังชื่อ อิน จัน มั่น คง เป็นต้น ถ้าไม่จดชื่อบิดากำกับด้วย ก็ไม่ทราบว่า อิน จัน มั่น คงคนใด จึ่งต้องถามชื่อบิดาด้วย จะได้ลงชื่อบิดากำกับไม่ใช้ชื่อซ้ำกัน เหมือนดั่งชื่อธรรมเนียมจีน ธรรมเนียมยุโรปประเทศอื่นๆนั้น เหมือนกับ นายอินบุตรนายอ้น นายจันบุตรนายจร นายมั่นบุตรนายม่วง นายคงบุตรนายคำ ดั่งนี้เป็นต้นก็จะง่ายเหมือนประเทศอื่น”

เมื่อถามชื่อตัวและชื่อพ่อแล้วก็ยังไม่พอ เพราะอาจจะมีคนที่ชื่อตัวซ้ำกันอีกทั้งชื่อพ่อซ้ำกันก็ได้ จึงต้องถามอาชีพเพื่อยืนยันให้ชัดขึ้นอีก ทั้งยังได้ประโยชน์เมื่อทำบัญชีประกาศออกไป จะได้รู้กันว่าใครมีอาชีพใด ค้าขายอะไร เหมือนสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองไปเลย โดยข้อความในประกาศกล่าวว่า

“การซึ่งถามถึงสังกัจและทำมาค้าขายนั้นก็เหมือนกัน พอให้เปนที่มั่นคงเครื่องหมายที่จะให้ผิดชื่อกันเท่านั้น แลจะได้ทราบว่าผู้นั้นมีวิชาการสิ่งไรและทำมาค้าขายสิ่งอันใด เพราะเพื่อราษฎรลูกค้าพานิชชาวต่างประเทศจะมีความประสงค์ในการวิชาของผู้นั้น ฤามีธุระเกี่ยวข้องในการวิชาแลการค้าขายสิ่งใดก็ดี ก็จะได้ทราบว่าผู้นั้นเปนคนอย่างไรแลทำมาค้าขายสิ่งอันใด ราษฎรลูกค้าพานิชจะได้ซื้อส่งสินค้าได้คล่องแคล่ว แลหนังสือไปถึงกันได้โดยสะดวกไม่ว่าต่างเมืองทางไกลแลใกล้”

การออกบ้านเลขที่ทั่วกรุงและทำบัญชีรายชื่อคนในแต่ละบ้านนี้ คงจะเป็นงานยากลำบากพอสมควร จนในเดือนมิถุนายน ๒๔๒๖ แม้สถานที่ทำการและเครื่องมือใช้สอยต่างๆเสร็จแล้ว การไปรษณีย์สยามก็ยังไม่สามารถเปิดขึ้นได้ ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นห่วง จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ตอนหนึ่งว่า

“ถึงท่านเล็ก ด้วยฉันมีความร้อนใจด้วยการซึ่งเปนหน้าที่ของเธอนัก ดูเนือยอยู่อย่างไร เหนเปนเปิดประตูต่อการเสียทั้งสองประการ คือเสียในกระบวนราชการอย่างหนึ่ง เสียในการเปลืองเงินอย่างหนึ่ง...”

แต่เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอกราบทูลให้ทรงทราบถึงปัญหา อีกทั้งเจ้าหมื่นเสมอใจก็ป่วยด้วยวัณโรค จึงทรงพระกรุณาช่วยแก้ปัญหาให้ โดยทรงแนะนำให้ชักชวนนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ มาช่วยงานด้วยอีกคน

นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ผู้นี้ เป็นชาวอังกฤษ ถูกส่งเข้ามาเรียนภาษาไทยใน พ.ศ. ๒๓๙๙ สมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อจะกลับไปเป็นล่ามให้ราชการอังกฤษ แต่พอรู้ภาษาไทยดีแล้วก็เข้าทำงานในสถานกงสุลอังกฤษ ต่อมาเกิดขัดแย้งกับกงสุลอังกฤษเอง เลยกลับไปลอนดอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕ ก็กลับเข้ามาใหม่ แต่ขอรับราชการกับไทย เป็นผู้มีความรู้หลายแขนง ทำประโยชน์ให้เมืองไทยไว้มาก และยึดเมืองไทยเป็นเรือนตาย เป็นต้นสกุล “เศวตศิลา”

นายเฮนรีรับงานหนักอยู่แล้วในตอนนั้น เลยเจียดเวลาให้ได้เพียงวันละ ๒ ชั่วโมง แต่ก็ทำให้งานไปรษณีย์รุดหน้าไปมาก จนเปิดดำเนินการได้ในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีกฎหมายสำหรับการไปรษณีย์ขึ้น ซึ่งมีใจความสรุปได้ว่า

ให้จัดทำตราไปรษณียากรขึ้นใช้ ใครปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย

กรมไปรษณีย์และพนักงานไม่ต้องรับผิดชอบ หากจดหมายสูญหาย ส่งช้า หรือส่งผิด

ใครเอาของสกปรกหรืออันตรายใส่ในตู้ไปรษณีย์มีความผิดตามกฎหมาย

ห้ามจับกุมคุมขังบุรุษไปรษณีย์ขณะส่งจดหมาย

หากมีการจับกุมคนหรือปิดร้านไปรษณีย์ ห้ามแตะต้องตู้ไปรษณีย์และจดหมายในตู้ไปรษณีย์

ทางกรมพระนครบาลได้ท้วงติงข้อที่ห้ามจับกุมคุมขังบุรุษไปรษณีย์ เกรงว่าจะขัดต่อกระบวนการกฎหมายที่ใช้อยู่ เพราะไม่เคยมีบทกำหนดให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ เรียบเรียงข้อบังคับที่จะให้กรมพระนครบาลปฏิบัติต่อบุรุษไปรษณีย์ และนำขึ้นทูลเกล้าเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๒๖ มีใจความสรุปได้ว่า

จดหมายที่ผนึกตราไปรษณียากรแล้ว แม้จะมีราคาเพียงเล็กน้อยก็ต้องถือว่าสำคัญ เพราะเกี่ยวกับความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน หากมีเหตุทำให้ล่าช้าก็จะทำให้เกิดขาดความเชื่อถือได้ จึงขอกำหนดข้อบังคับสำหรับกรมพระนครบาลปฏิบัติต่อบุรุษไปรษณีย์ ดังนี้

ห้ามจับกุมบุรุษไปรษณีย์ขณะนำส่งหนังสือในความผิดเล็กน้อย แต่หากความผิดอุฉกรรจ์ให้จับกุมได้โดยแจ้งให้กรมไปรษณีย์ทราบทันที

ถ้ามีเหตุต้องจับกุมคนในร้านไปรษณีย์ ปิดหรืออายัดร้านไปรษณีย์ที่มีตู้ไปรษณีย์หรือจดหมายที่ผนึกตราไปรษณียากร ให้เจ้าหน้าที่นครบาลรักษาจดหมายและตู้ไปรษณีย์นั้นไว้อย่างดี รอพนักงานไปรษณีย์มารับ

ถ้าเจ้าหน้าที่นครบาลหรือผู้ใดมีเหตุต้องจับต้องตัวบุรุษไปรษณีย์ ห้ามจับต้องกระเป๋าใส่จดหมายหรือจดหมายนั้นๆ

นับว่ากฎหมายไปรษณีย์ได้ให้ความสำคัญกับจดหมายอย่างมาก

ก่อนหน้านั้นไม่นาน สถานกงสุลอังกฤษที่เปิดส่งจดหมายอยู่ มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๒๖ อ้างว่าข้าหลวงใหญ่สิงคโปร์ให้สอบถามรัฐบาลไทยเรื่องสิงคโปร์มลายูขอจัดตั้งไปรษณีย์สาขาของอังกฤษขึ้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งขอผูกขาดในการจำหน่ายตราไปรษณียากรและรับฝากจดหมายติดต่อกับต่างประเทศทั้งหมด โดยนายนิวแมนรักษาการณ์แทนกงสุลอังกฤษอ้างว่านายบัลเดรฟ กงสุลอังกฤษได้เจรจากับรัฐบาลไทยหลายครั้งแล้ว

รัฐบาลไทยได้มีหนังสือตอบลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๒๖ ว่า ไม่เคยเจรจากับนายบัลเดรฟเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย และไม่อนุญาตให้รัฐบาลสิงคโปร์มลายูจัดตั้งไปรษณีย์สาขาขึ้นในประเทศไทย เพราะไทยกำลังจะเปิดไปรษณีย์ขึ้นเองแล้ว และจะสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ด้วย

การไปรษณีย์เมื่อเริ่มต้นนั้น จัดส่งได้เฉพาะกรุงเทพฯ คือ ด้านเหนือถึงสามเสน ด้านตะวันออกถึงสระปทุม ด้านใต้ถึงบางคอแหลม และด้านตะวันตกถึงตลาดพลู ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนมาก เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๑ กันยายน ๒๔๒๖หลังจากเปิดไปรษณีย์ได้เพียงเดือนเศษ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ได้มีพระราชดำรัสแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและบรรดาทูตานุทูต ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาว่า

“การไปรษณีย์ซึ่งได้เปิดใช้โดยส่งหนังสือในแขวงกรุงเทพฯเสมอนั้น ก็เปนที่แปลกใจของเรา ที่ไม่คิดว่าคนไทยจะใช้หนังสือกันถึงเพียงนี้ ทำให้เรามีความประสงค์ที่จะจัดการให้ได้ส่งหนังสือไปมาให้ได้ตลอดพระราชอาณาจักรสยามได้โดยเร็ว จะเปนประโยชน์ในการค้าขายแลทางราชการมาก แล้วภายหลังเราหวังใจว่าคงจะทำตามคำเชิญของท่านผู้จัดการไปรษณีย์ใหญ่ในกรุงเยอรมนี ให้กรุงสยามเข้าจัดการส่งหนังสือไปมาได้ทั่วโลก คือเข้าในหมู่พวกไปรษณีย์อันรวมกัน”

การไปรษณีย์เมื่อเริ่มเปิดนั้น แม้จะมีความนิยมใช้มากแต่ก็ยังขาดทุน เมื่อก่อนเริ่มดำเนินการ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯได้คำนวณไว้ว่า ถ้ามีจดหมายส่งถึงวันละ ๔๐๐ ฉบับก็จะคุ้มทุน ส่งมากกว่านั้นก็เป็นกำไร แต่ตัวเลขในระยะ ๘ เดือนแรก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๔๒๖ ถึงเดือนมีนาคม ๒๔๒๗ ปรากกว่ามีสิ่งของฝากส่งประมาณวันละ ๑๒๗ ฉบับ รวม ๘ เดือน ๓๐,๐๑๓ ฉบับ มีรายได้ ๓,๗๘๓ บาท ๕๒ อัฐ แต่มีรายจ่าย ๑๓,๒๔๙บาท ๘ อัฐ ขาดทุน ๙,๔๕๕ บาท ๒๐ อัฐ

การไปรษณีย์ไทยได้ปรับปรุงและขยายออกตามลำดับโดยเปิดที่สมุทรปราการและนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๒๘ ทั้งได้ทบทวนกฎหมายไปรษณีย์ใหม่ในปีนั้นเพื่อให้สมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติกรมไปรษณีย์สยาม จุลศักราช ๑๒๔๗” ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๒๘

ในการประชุมใหญ่ของสหภาพสากลไปรษณีย์ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในเดือนมีนาคม ๒๔๒๘ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วย และมีโอกาสปราศรัยต่อที่ประชุมใหญ่นั้น ทั้งยังขอข้าราชการไปรษณีย์ของเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสหภาพไปรษณีย์ ซึ่งเยอรมันก็ได้ให้ยืมตัว นายปัง เกา ผู้ตรวจการไปรษณีย์เมืองฮัมบรูกมา ๑ ปี จนไทยเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๒๘ ทำให้ประเทศต่างๆยอมรับการไปรษณีย์ของไทย สถานกงสุลอังกฤษซึ่งเปิดรับส่งจดหมายทำกิจการไปรษณีย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เลยต้องเลิกล้มกิจการลง

กิจการไปรษณีย์ไทยเติบโตด้วยดี แต่ภายในก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ตอนที่ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ไปทำงานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ปารีส เป็นเวลา ๑๕ ปี ได้เข้าไปค้นเอกสารที่สุมอยู่ใต้ถุนสถานทูตไทยกรุงปารีส ได้พบเอกสารเขียนด้วยลายมือของพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดชในเรื่องเกี่ยวกับไปรษณีย์ ถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์รวม ๓๐๙ หน้า ซึ่งนับว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก จึงได้รู้ว่าเบื้องหลังของการตั้งกิจการไปรษณีย์และโทรเลขในเมืองไทยนั้น มีเรื่องยุ่งยากอยู่มาก

ในตอนนั้นคนไทยยังไม่มีความรู้ในเรื่องไปรษณีย์และโทรเลข จึงต้องจ้างฝรั่งมาทำ และฝรั่งที่นิยมอยู่ในเมืองไทยขณะนั้นก็คืออังกฤษกับฝรั่งเศส แต่ก็เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้น นอกจากจะเรียกเงินเดือนแพงโดยอ้างว่าเมืองไทยยังไม่เจริญ เรียกค่าเสี่ยงภัยสูงแล้ว ลูกจ้างพวกนี้ไม่ยอมฟังคำสั่งของนายจ้างไทย ไม่พอใจอะไรขึ้นมาก็ฟ้องให้กงสุลของตัวเข้ามาแทรกแซง อย่างนายมาเรเบิลที่ให้กำกับทางด้านกาญจนบุรี ปรากฏว่าขี้เกียจไม่ทำงาน เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯถึงกับเขียนในจดหมายที่มีถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า “เสียข้าวสุก” ไม่อยากได้คนอังกฤษอีก พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงเข้าเฝ้าเอ็มเปอเรอแห่งออสเตรีย-ฮังการี ขอคนไปช่วย แต่เอ็มเปอเรอก็ไม่กล้าให้กลัวจะขัดแย้งกับอังกฤษ จึงต้องหันเข้าหาเยอรมัน แต่ก็ถูกรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสเรียกตัวไปประท้วงที่ไม่ใช้คนฝรั่งเศส

ตอนที่จ้างคนเยอรมันนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ตั้งเงื่อนไขในสัญญาว่าต้องเชื่อฟังคำสั่งของอธิบดีอย่างเด็ดขาด จะร้องทุกข์ต่อไปไม่ได้ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯทรงพอพระทัยมาก ตรัสว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เก่งมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำสัญญาให้ฝรั่งมาอยู่ในบังคับบัญชาของไทยได้ แต่พอเยอรมันรู้เรื่องนี้เข้าก็ประท้วงไปยังสถานทูตไทยที่กรุงปารีสว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ เพราะขัดกับสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่างสยามกับเยอรมัน แต่เลขานุการสถานทูตไทยอ้างว่าเป็นคนละเรื่องกัน นี่เป็นสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่สัญญาระหว่างประเทศสยามกับประเทศเยอรมัน เรื่องจึงเงียบไป

ด้านพื้นที่ไปรษณีย์ก็เช่นกัน ใน ร.ศ.๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบแหกด่านเข้าจอดถึงหน้าสถานกงสุลในกรุงเทพฯ ข่มขู่จนไทยต้องยกประเทศลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสทั้งหมด แต่ฝั่งขวาตั้งแต่เชียงแสนเรื่อยลงมาจนจรดนครจำปาศักดิ์ยังเป็นของไทย และมีสัญญาภายในเขต ๒๕ กม.จากฝั่งโขงให้เป็นเขตปลอดทหาร แต่ฝรั่งเศสกลับตีความหมายเอาเองว่าห้ามเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปในพื้นที่นี้ทั้งหมด นายไปรษณีย์ที่เชียงแสน เชียงของ และนครจำปาศักด์ถูกฝรั่งเศสไล่ออกมาให้พ้นเขต ๒๕ กม. ทั้งนี้ก็เพื่อให้ไทยขาดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามริมฝั่งโขง เพื่อฝรั่งเศสจะได้ส่งสินค้าเข้ามาขายให้คนพื้นเมืองและคืบคลานเข้ามาปกครอง เมื่อพระยาพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงประจำเมืองน่าน จะเข้าไปตรวจราชการที่เชียงของ ม.ปาวี ทูตฝรั่งเศสซึ่งเป็นอดีตลูกจ้างของรัฐบาลสยาม รู้ข่าวก็ส่งม้าเร็วมาสกัดไม่ยอมให้เข้า จนพระยาพรหมสุรินทร์ต้องเดินทางกลับ

นี่ก็เป็นฤทธิ์เดชของหมาป่ากับลูกแกะในประวัติศาสตร์ที่จะต้องจดจำกัน คุณธรรมและความถูกต้องไม่มีอยู่ในจิตใจของคนที่มีกำลังเหนือกว่า ซึ่งกระหายในผลประโยชน์อย่างไม่รู้สึกกระดากอาย ถึงวันนี้ก็เถอะ เห็นๆกันอยู่

ถึงอย่างไร วันนี้การไปรษณีย์โทรเลขของไทยที่แปรรูปเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ก้าวหน้ายืนเคียงบ่าเคียงไหล่มีสายสัมพันธ์ติดต่อกับประเทศต่างๆทั่วโลก โดยไม่มีข้อแตกต่างกันแต่อย่างใด จดหมายจากเมืองไทยลื่นไหลไปถึงทุกส่วนของโลกได้อย่างรวดเร็ว ที่เคยดีใจว่าจดหมายไปถึงเชียงใหม่ได้ภายใน ๑๕ วันนั้น เดี๋ยวนี้ อีเอ็มเอส.ส่งไปประเทศในกลุ่มอาเซียนวันเดียวยังถึง หรือจะพูดคุยกับใครก็ได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก และไม่ต้องตะโกนด้วย เพราะใช้โทรศัพท์ คนที่อยู่ในยุโรป อเมริกา อาฟริกา เอเชีย กดเฟชบุ๊คคุยในกลุ่มพร้อมกัน เหมือนอยู่บ้านเดียวกันก็ยังได้ โลกอะไรก็ไม่แคบเท่าโลกสื่อสารในวันนี้
ที่ทำการไปรษณีย์เมื่อแรกเริ่มที่ปากคลองโอ่งอ่าง
บุรุษไปรษณีย์สมัย ร.๕
แสตมป์ที่สถานกงสุลอังกฤษนำมาใช้
แสตมป์โสฬศ แสตมป์ดวงแรกของไทย ออกใช้เมื่อ ๔ สิงหาตม ๒๔๒๖
กำลังโหลดความคิดเห็น