มูลนิธิเสียงธรรมฯ แจ้งความ สน.บงซื่อ ดำเนินคดี กสทช.ทั้งชุด พร้อมยื่นหนังสือถึง รมว.มหาดไทย ลงโทษให้ถึงที่สุด ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำผิด พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กรณีไม่ดำเนินการกับคลื่นวิทยุที่ทำผิด ไม่เปิดเผยข้อมูลสัมปทานสถานีวิทยุรายเดิม ไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บท กสท. ปิดกั้นการเกิดสถานีใหม่ในความถี่ที่ยังว่าง
วานนี้(29 ต.ค.) เวลาประมาณ 11.00 น. ตัวแทนมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งดำเนินงานโดย คณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญานสัมปันโน ทั้งพระและฆราวาสได้เดินทางเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุดต่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 10 คน และคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จำนวน 5 คน พันเอกนที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการสำนัก สำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง (ปส.1) ในข้อหาละเว้น หรือ จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชิบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง พ.ศ.2551
พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 มูลนิธิเสียงธรรมได้มีกาประชุมตกลงกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายทหาร ฝ่าย กสทช. และฝ่ายคณะสงฆ์ ที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เกี่ยวกับกรณีปัญหาสถานีวิทยุธรรมะในเครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรมฯ ต้องได้รับการคุ้มครองจาก กสทช.โดยใช้หลักรัฐศาสตร์ เนื่องจากคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นธรรมะ ที่ไม่มีการใช้เพื่อหาประโยชน์ทางการโฆษณา ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ กสทช. เขต 11 จังหวัดภูเก็ต ได้เข้าจับกุมผู้ดูแลคลื่นวิทยุเสียงธรรมฯ (จ.กระบี่) พร้อมกับยึดอุปกรณ์การกระจายเสียงของสถานีวิทยุ และดำเนินคดีในข้อหาใช้เครื่องและคลื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทางมูลนิธิเสียงธรรมได้ยื่นขออนุญาตแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธจากสำนักงานใหญ่ กสทช. ผู้แจ้งจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองกระบี่ รายละเอียดตามบันทึกประจำวันข้อ 10 วันที่ เวลา 16.00 น.ของวันที่ 21 ตุลาคม 2558 วันนี้ผู้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี กับพวกรวม 18 คน ในฐานะนิติบุคคลและบุคคล เพื่อให้รับโทษทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้แจ้งได้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า 1.ผู้ถูกกล่าวโทษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แม้ทราบว่าคลื่นวิทยุสถานีอื่นกระจายเสียงด้วยกำลังส่งเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย
2.ผู้ถูกกล่าวโทษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับสถานีวิทยุประเภทบริการธุรกิจ
3.ผู้ถูกกล่าวโทษ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา ของสถานีวิทยุรายเดิม
4.ผู้ถูกกล่าวโทษ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตอบหนังสือที่ขอความอนุเคราะห์ให้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน ให้ทันภายในกรอบเวลาที่กฎหมายบัญญัติ และจงใจเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวไม่ออกประกาศฉบับนี้
5.ไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งมีผลผูกพัน กสทช.และหน่วยงานอื่นตามกฎหมาย กำหนดให้ กสทช. ต้องออกใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงให้ได้ภายใน 3 ปี คือ ภายในวันที่ 5 เมษายน 2558 แต่ กสทช.ยังไม่ปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
6.กสทช.ปิดกั้นการเกิดของสถานีใหม่ในคลื่นความถี่ที่ยังว่างอยู่ ขัดต่อมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และ ขัดต่อแผนแม่บทกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ ฉบับที่ 1
พนักงานสอบสวนได้รับเรื่องไว้ และได้สอบปากคำผู้กล่าวหาไว้เรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เนื่องจากเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการดำเนินการต่อไป
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ตัวแทนมูลนิธิเสียงธรรมทั้งพระและฆราวาสได้เดินทางไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ขอความอนุเคราะห์พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ และกำหนดบทลงโทษแก่ กสทช. ให้ถึงที่สุด
ข้อความในการแจ้งความกล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
กรณี กสทช. และคณะ จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการเลือกปฏิบัติ
ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการกระจายเสียง
และขัดต่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑
(พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙)
ข้าพเจ้า ผู้รับมอบอำนาจจาก มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และเป็นองค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ ๘๒๙ ตามประกาศกระทรวงการคลัง มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ๓๐๙/๑ หมู่ ๑ ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
ขอแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด ต่อบุคคลดังรายชื่อต่อไปนี้
(๑) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แก่
๑.๑ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการ
๑.๒ พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ
๑.๓ พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธานกรรมการ
๑.๔ พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ
๑.๕ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการ
๑.๖ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ
๑.๗ ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ
๑.๘ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ
๑.๙ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ
๑.๑๐ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ
(๒) คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้แก่
๒.๑ พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.
๒.๒ พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ
๒.๓ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการ
๒.๔ ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ
๒.๕ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ
(๓) พันเอก นที ศุกลรัตน์ ตำแหน่ง ประธาน กสท.
(๔) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช.
(๕) นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก สำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง (ปส. ๑)
อยู่ที่ ๘๗ ถนน พหลโยธิน ซอย ๘ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
ผู้แจ้งความกล่าวโทษ คือ มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา โดยเฉพาะในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมและการดำเนินงานสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามหลักพระพุทธศาสนา ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา วัฒนธรรมไทย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมิได้มุ่งหากำไรมาแบ่งปันกันปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการจัดตั้งมูลนิธิ
ผู้ถูกกล่าวโทษ คือ กสทช. และ กสท. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ และ กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุการจายเสียง และกฎหมายวิทยุคมนาคม
ส่วน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ เช่น มาตรา ๕๗, ๖๐ ฯลฯ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ รวมถึง มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔ วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ และ ยังเป็น เลขานุการ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยังเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. โดยขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ ตามมาตรา ๖๐ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ อีกด้วย
สาเหตุของการแจ้งความกล่าวโทษ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวโทษปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์กฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และรักษาสถาบันหลักทั้งสามให้มั่นคง โดยได้ใช้ข้อความว่า “ขอความอนุเคราะห์” บ้าง และอื่นๆ บ้าง อาจจะถือว่า เป็นมาตรการทักท้วงให้ผู้ถูกกล่าวโทษปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งได้กระทำทั้งโดยวาจา ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านหนังสือที่ยื่นต่อผู้ถูกกล่าวโทษ และยังเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านศาลปกครอง อีกด้วย จนในที่สุด จึงได้มีข้อตกลง ๓ ฝ่ายที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อนุเคราะห์ให้จัดประชุมขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ วัดป่าบ้านตาด
แต่เมื่อ กสทช.ได้ฝ่าฝืนข้อตกลง ๓ ฝ่าย และยังมีกระบวนการปล่อยข่าวว่า วิทยุเสียงธรรมเป็นภัยต่อความมั่นคง คณะสงฆ์ตัวแทนมูลนิธิเสียงธรรมฯ และวัดป่าบ้านตาด จึงได้ขอเข้าพบเพื่อประชุมหารือกับ ผบ.ร ๑๕ พัน ๑ โดยมี ร.อ.เกรียงไกร ดำรัสการ ตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองร้อย ได้ออกมาให้การต้อนรับคณะสงฆ์ฯ และฆราวาส แทน ผบ.ร ๑๕ พัน ๑
โดยตัวแทนคณะสงฆ์ได้กล่าวถึงข้อตกลง ๓ ฝ่ายเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ระหว่างทหารซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้มาประชุม ฝ่ายกสทช.นำโดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. และ ฝ่ายคณะสงฆ์ตัวแทนมูลนิธิเสียงธรรมฯ ซึ่งมีข้อตกลงที่มีสาระสำคัญว่า “ที่ประชุมตกลงยอมรับให้วิทยุฝ่ายทหารและวิทยุเสียงธรรม ดำเนินการต่อไปตามปกติ โดยยึดหลักรัฐศาสตร์ เพื่อความมั่นคงทางทหาร และความมั่นคงของพระศาสนาอันเป็นเสาหลักของชาติ” แต่กลับปรากฎว่า กสทช.ฝ่าฝืนกฎหมาย และละเมิดข้อตกลง ๓ ฝ่าย โดย กสทช.ได้แจ้งไปยังหน่วยทหาร ขอกำลังสนับสนุน อ้างว่า สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ กระบี่ กระทำผิดกฎหมายและอาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงคือ สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ กระบี่ ได้ยุติการออกอากาศมานานแล้ว แต่เมื่อนายฐากรฯ ได้ตกลงให้เปิดออกอากาศได้ โดยมีเงื่อนไขหากสั่งให้ปิดก็ขอให้ปิด แล้วจึงเปิดใหม่ได้ สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ กระบี่ จึงได้กลับมาออกอากาศ แต่กลับถูก กสทช.จับกุมดำเนินคดี
คณะสงฆ์ฯ ได้อธิบายต่อหน่วยทหาร ซึ่ง ร.อ.เกรียงไกร ดำรัสการ ตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองร้อย ว่า
“เราจะบังคับใช้กฎหมายต้องเท่าเทียมกันหมด ถูกมั้ย ทำไมไม่จับ ถ้าเราจะรักความยุติธรรมจริงๆ น่ะ!! ถ้าในเมื่อ(ฝ่ายทหาร)บอกว่า ที่โน่น(FM 94)ใช้หลักรัฐศาสตร์ได้ ทำไมที่นี่(สถานีเสียงธรรมฯ กระบี่) ใช้หลักรัฐศาสตร์ไม่ได้ ถ้าเราต้องการจะรักแผ่นดินไทยด้วยกันน่ะ"
โดย ร.อ.เกรียงไกรฯ ได้กล่าวตอบด้วยความจริงใจว่า "ส่วนถ้า..จะแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีวิทยุอื่นๆ นะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารนะครับที่กระทำผิดในข้อหาเดียวกัน ท่านอาจารย์ก็ดำเนินการได้"
(ซีดีบันทึกภาพและเสียง และถอดเทปการประชุมเป็นหลักฐานตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑)
จากคำกล่าวของนายทหารข้างต้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงพิจารณาเห็นว่า หากไม่ แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิด อาจจะทำให้ความเข้าใจของสังคมกลับตาลปัตร เข้าใจกลับถูกเป็นผิด กลับขาวเป็นดำ ไปได้ ซึ่งแม้แต่หน่วยทหารเองก็ยังไม่คัดค้านในการแจ้งความดำเนินคดีกับสถานีวิทยุอื่น ๆ ทุกราย รวมถึงสถานีวิทยุของทหารด้วย
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเสียงธรรมฯ พิจารณาเห็นว่า ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทุกรายต่างต้องการจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ถูกกล่าวโทษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเลือกปฏิบัติ ไม่ดำเนินคดีหรือ แม้กระทั่งมาตรการทางปกครองนับตั้งแต่ตักเตือนต่อผู้กระทำผิดซึ่งใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ
เพื่อให้คลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้มีการใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวโทษยังอนุญาตให้ผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียงบางรายครอบครองเครื่องส่งวิทยุสำรองที่มีกำลังส่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย ในขณะที่สถานีวิทยุของประชาชนตาดำ ๆ กลับถูกผู้ถูกกล่าวโทษใช้มาตรการเข้มงวดกวดขัน ไม่เว้นแม้แต่สถานีวิทยุที่ดำเนินการอย่างเปิดเผย ถูกต้องตามกฎหมายมาตลอด และยังเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะด้านศาสนา
การที่ผู้ถูกกล่าวโทษ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม นอกจากจะกระทบกระเทือนทำให้ผู้ประกอบกิจการและประชาชนทั่วไป เข้าใจถึงข้อกฎหมายอย่างผิด ๆ แล้ว ยังอาจจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียมาสู่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข้ง ในการปกปักรักษาสถาบันหลักของชาติ ตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้แล้ว
ด้วยสาเหตุโดยสังเขปข้างต้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จำเป็นต้องแจ้งความกล่าวโทษ เพื่อให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด ดังต่อไปนี้คือ
ข้อ ๑. ผู้ถูกกล่าวโทษ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แม้จะทราบแล้วว่า สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ออกอากาศกระจายเสียงด้วยกำลังส่งเกินกว่าที่ จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย แต่ยังไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แม้จะดำเนินการในขั้นตักเตือน ผู้ถูกกล่าวโทษก็ไม่กระทำ
๑.๑ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ กุฎิหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชามอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กรุณาแจ้งประสานงานทำให้เกิดข้อตกลง ๓ ฝ่าย คือ ระหว่างฝ่ายทหารตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี, ฝ่าย กสทช.นำโดยเลขาธิการ กสทช., และฝ่ายคณะสงฆ์ศิษยานุศิษย์ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน การประชุม ๓ ฝ่ายจัดขึ้น ณ กุฎิหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด โดยมีฆราวาสญาติโยมจำนวนมาก รับฟังการประชุมโดยรอบกุฎิ และมูลนิธิเสียงธรรมฯ ได้ทำการบันทึกภาพและเสียงของการประชุมไว้อย่างเปิดเผย นอกจากนี้มูลนิธิเสียงธรรมฯ ยังได้จัดทำเป็นหนังสือลับที่สุดถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยได้ส่งบันทึกภายในของมูลนิธิ สรุปผลการประชุม ๓ ฝ่าย ตามเอกสาร สำเนาหนังสือลับที่สุด ที่ มธป ๑๐๒๔/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘ เรื่อง ขออนุโมทนาสาธุการในความอนุเคราะห์ทำนุบำรุงพระศาสนา ทำให้เกิดข้อตกลง ๓ ฝ่าย ๑ สักขีพยาน เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๒)
๑.๒ ในที่ประชุม ๓ ฝ่าย ตัวแทนทหารฝ่ายความมั่นคง คือ พลเอกภุชพงศ์ พงษ์ศิริ (ขณะนั้นยศพลโท) ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาต่อหน้า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการ กสทช. โดยมีพยานที่ได้รับฟังเป็นจำนวนมาก ว่า สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ออกอากาศด้วยกำลังส่งเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย ปรากฏหลักฐานตาม แผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง ข้อตกลง ๓ ฝ่ายเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ กุฎิหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๓)
แต่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย แม้จะรับทราบถึงการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่กลับมิได้ดำเนินการตามกฎหมายใด ๆ ต่อ สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม.
โดยพลเอกภุชพงศ์ พงษ์ศิริ (ขณะนั้นยศพลโท) ได้กล่าวยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า
“วิทยุ FM 94 ที่มีปัญหาที่ลพบุรีนี่นะครับ เป็นคลื่นแรกที่กองทัพบกได้ตั้งขึ้นมา และกำลังส่งนี่ค่อนข้างจะสูง... สูง ดังนั้นนี่ในตอนนั้นเราคิดถึงความมั่นคงเป็นหลัก ตั้งมาก่อนสมัยก่อนผมเกิดเหมือนกัน และหลากหลายคนที่อยู่ในที่นี้ยังไม่เกิดทั้งสิ้นล่ะครับ ผมกล้ายืนยัน และก็ออกกระจายเสียงเรื่อยมา ซึ่งกำลังส่งสูงมาก สูงมากนะครับ อันนี้ยอมรับเลยนะครับ อาจจะมีกินในพื้นที่ของจังหวัดลพบุรีบ้าง”
๑.๓ แผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ. เอ็ม. ของประเทศ (ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๘) (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๔) ได้กำหนดเงื่อนไขทางเทคนิคสำหรับสถานีวิทยุรายเดิมที่ได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขจำนวน ๑๑๔ คลื่นความถี่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางเทคนิคตามกฎหมายที่สถานีวิทยุหลัก หรือสถานีวิทยุรายเดิมรวมถึง สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ที่จดทะเบียนไว้กับกรมไปรษณีย์โทรเลขต้องปฏิบัติตาม
โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลปกครองแต่งตั้งในคดีหมายเลขดำที่ ๓๑๓๘/๒๕๕๕ ได้ให้คำชี้แจงต่อศาลยืนยันในข้อนี้ว่า “สถานีวิทยุหลักก็ยังถูกกำกับดูแลเงื่อนไขการใช้ความถี่ให้เป็นไปตามแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ. เอ็ม. ของประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว” (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๕)
๑.๔ จากแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ. เอ็ม. ของประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๘ พบว่า แม้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายด้วยกำลังส่ง ๑ กิโลวัตต์ (คือ ๑,๐๐๐ วัตต์) แต่ก็ยังฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการออกอากาศจริงด้วยกำลังส่งมากถึง ๑๐ กิโลวัตต์ (คือ ๑๐,๐๐๐ วัตต์)
และในปัจจุบัน พบว่า สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. สามารถออกอากาศไปไกลถึงจังหวัดลพบุรี คิดเป็นระยะทางไกลเกือบ ๒๕๐ กิโลเมตร จึงแสดงว่า กำลังส่งมิใช่ ๑๐,๐๐๐ วัตต์ โดยเมื่อตรวจสอบดัวย Spectrum Analyzer ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ กสทช.ใช้ในการปฏิบัติงานเฝ้าระวังคลื่นความถี่
โดยเปรียบเทียบกำลังส่งของสถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94.0 Mhz.กทม. กับกำลังส่งของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่นความถี่ FM92.5 Mhz.กทม. ซึ่งออกอากาศด้วยกำลังส่ง ๑๐,๐๐๐ วัตต์ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๖)
สรุปได้ว่า สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ออกอากาศด้วยกำลังส่งที่สูงไม่น้อยกว่า ๒๐,๐๐๐กิโลวัตต์ อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการยืนยันคำพูดของ พลเอกภุชพงศ์ พงษ์ศิริ ที่ยอมรับต่อที่ประชุม ๓ ฝ่ายว่า สถานีวิทยุทหารบก FM94.0 Mhz.กทม. ออกอากาศด้วยกำลังส่งสูง สูงมากจริง ๆ
๑.๕ กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ส่งสัญญาณกระจายเสียงฟุ้งกระจายเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ ITU กำหนด (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๗)
ตัวอย่างเช่น มาตรฐาน ITU-R SM.1268-2 กำหนด MPX Deviation หรือค่าเบี่ยงเบนความถี่ ต้องไม่เกิน 75.00 kHz. แต่สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม.มีค่าเบี่ยงเบนความถี่ สูงถึง 107.479 kHz. รวมถึงไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ITU-R SM.1268-1 และเมื่อพิจารณาค่าเบี่ยงเบนความถี่ต่อ dBr จะพบว่า สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ส่งสัญญาณฟุ้งกระจายเกินกว่าค่ามาตรฐานถึง ๑๐๐ %
๑.๖ การที่ทหารฝ่ายความมั่นคงได้ยอมรับต่อหน้าเลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า สถานีวิทยุทหารบก FM94 กทม.ซึ่งได้ให้สัมปทานแก่ธุรกิจค่ายเพลง ได้ฝ่าฝืนกฎหมายโดยใช้กำลังส่งกระจายเสียงเกินกว่าที่จดทะเบียนตามกฎหมาย อันเป็นการยอมรับต่อหน้า เลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า ฝ่ายทหารจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ที่ประชุมตกลงยอมรับให้วิทยุฝ่ายทหารและวิทยุเสียงธรรม ดำเนินการออกอากาศต่อไปตามปกติ ด้วยกำลังส่งและเสาสูงจริง โดยยึดหลักรัฐศาสตร์ เพื่อความมั่นคงทางทหาร และความมั่นคงของพระศาสนาอันเป็นเสาหลักของชาติ
แต่กลับปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวโทษฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยปล่อยให้ สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. ยังคงออกอากาศด้วยกำลังส่งเกินกว่าที่จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย
นอกจากนี้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔ วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ และยังเป็น เลขานุการ กสทช. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ จึงเป็นเหตุอันเชื่อได้ว่า กสทช. และ กสท.รับทราบถึงการกระทำความผิดของสถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. แล้ว ประกอบกับมีสำนักงาน กสทช.ภาคและสำนักงาน กสทช.เขตควบคุมการใช้คลื่นความถี่ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเครื่องมือการใช้ตรวจวัดค่าทางเทคนิคของการกระจายเสียง ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้ใช้อ้างอิงในการ ดำเนินการตามกฎหมาย เป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวโทษจะอ้างว่า ไม่ทราบว่ามีการกระทำความผิด ไม่ได้
ข้อ ๒. ผู้ถูกกล่าวโทษฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับสถานีวิทยุประเภทบริการธุรกิจ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๔๑ วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ความว่า
“ในกรณีที่เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการประกอบกิจการทางธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้ใช้วิธีคัดเลือกโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งในระดับชาติระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยให้แยกกันประมูลในแต่ละระดับ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด” |
ในเมื่อ การอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง คือ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง ดังนั้น หากเป็นการประกอบกิจการธุรกิจ ผู้ถูกกล่าวโทษฯ จะต้องดำเนินการคัดเลือกโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยให้แยกกันประมูลในแต่ละระดับ
กฎหมายได้คำนึงถึงการประมูลไว้หลายแบบที่สามารถช่วยผู้ประกอบการธุรกิจในทุกระดับไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ อย่างเป็นธรรม แต่ผู้ถูกกล่าวโทษกลับพยายามเลี่ยงกฎหมายเพียงเพื่อหวังเพียงอุ้มวิทยุธุรกิจ ทำให้สัดส่วนวิทยุธุรกิจในขณะนี้ใช้คลื่นอย่างอีลุ่ยฉุยแฉกฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นขัดต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้านคลื่นความถี่ มิหนำซ้ำยังส่งผลให้เกิดการเบียดบังรุกล้ำทั้งพื้นที่และสัดส่วนของวิทยุภาคประชาชนที่ไม่มีโฆษณาซึ่งอุตส่าห์เสียสละใช้สื่อเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้ต้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงอีกด้วย
ปรากฏหลักฐานดังกล่าวจากซีดีบันทึกเสียงบันทึกการประชุมสัมมนา เรื่อง “กสทช. กับนโยบายการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน : กรณีสื่อวิทยุ” ที่จัดโดย กสทช. เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๘
ตัวแทนของกสทช.ได้แจ้งต่อที่ประชุมสัมมนาในช่วงท้ายก่อนปิดการสัมมนา แสดงเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดแจ้งโดยตัวแทน กสทช. (นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์) ได้กล่าวว่า
“การให้ใบอนุญาตธุรกิจ กฎหมายบอกว่า เราต้องประมูล
เราไม่ได้จะเลี่ยงบาลีหรือซื้อเวลา แต่ถ้าเราให้ใบอนุญาต โดยไม่ได้ประมูล
กฎหมายบอกว่าต้องประมูล เราถึงเลี่ยงว่าทดลองประกอบกิจการ
เพื่อให้ทุกคนได้ทำธุรกิจอยู่ได้”
นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานสำคัญคือ ตั้งแต่ ผู้ถูกกล่าวโทษปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า ๔ ปีแล้ว ยังไม่เคยจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ใช้ในการประกอบกิจการทางธุรกิจ แม้แต่ครั้งเดียว
ข้อ ๓. ผู้ถูกกล่าวโทษ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา ของ สถานีวิทยุรายเดิม รวมทั้งสถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘๒ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
๓.๑ สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม. และสถานีวิทยุหลายสถานี ที่ได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นสถานีวิทยุที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียง ก่อนวันที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ ใช้บังคับ เรียกกันว่า วิทยุรายเดิม
๓.๒ แต่เดิมกรมไปรษณีย์โทรเลข มีหน้าที่เป็นผู้ให้อนุญาตประกอบกิจการแก่สถานีวิทยุซึ่งทั้งหมดเป็นสถานีวิทยุภาครัฐ หรือที่เรียกกันว่า “วิทยุรายเดิม” แต่กฎหมายว่าด้วยการกระจายเสียงที่บังคับใช้ในปัจจุบัน บัญญัติให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยกำหนดกสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมาย ในการตรวจสอบสถานีวิทยุรายเดิมคือ ๑. จะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญานั้น ๒. เปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบ
ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๒ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ ดังนี้
มาตรา ๘๒ เมื่อมีการแต่งตั้ง กสทช. แล้ว ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีหน้าที่แจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา รวมถึงอายุสัญญาและค่าสัมปทานหรือค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กสทช. กำหนด และให้ กสทช. ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญานั้น พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบ |
๓.๓ กฎหมายกำหนดให้ กสทช.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา ๘๒ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕
แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๙) ซึ่งมีผลผูกพัน กสทช.และหน่วยงานอื่น ตามกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๔๙ วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓ ได้กำหนดกรอบเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.ตามกฎหมายไว้ว่า
“กสทช.จะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี นับตั้งแต่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงฯ มีผลบังคับใช้”
แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงฯ มีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ ดังนั้น กสทช.จะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา ของ สถานีวิทยุรายเดิม รวมถึง สถานีวิทยุทหารบก คลี่นความถี่ FM94 Mhz.กทม.ให้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘ หรือเกือบ ๗ เดือนที่ผ่านมาแล้ว
๓.๔ กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้ากว่าที่กำหนดตามกฎหมาย
มาตรา ๓๐ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติเกี่ยวกับกรอบเวลาในการปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจนว่า หากไม่มีกำหนดระยะเวลา จะต้องกำหนดและประกาศให้ประชาชนทราบ แต่หากมิได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. กสท. กทค. คณะกรรมการอื่น และคณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการพิจารณาคำขอหรือคำร้องเรียนที่ประชาชนยื่นตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ หรือสัญญาที่ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ทำกับเอกชน หากกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประกาศ หรือสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะให้ กสทช.กำหนดระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป เรื่องใดที่มิได้กำหนดระยะเวลาไว้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง |
จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ถ้า กสทช.มิได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ กสทช.กำหนดระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป
แต่ในกรณีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา นั้นได้มีกำหนดกรอบเวลาไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ชัดเจน คือภายใน ๓ ปี เมื่อผ่านพ้นมานานแล้ว หากยังไม่แล้วเสร็จ อย่างน้อยที่สุด กสทช./ กสท./ เลขาธิการ กสทช./ ผ.อ.สำนักการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง จะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ โดยนัยแห่งกฎหมาย มาตรา ๓๐ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ในเมื่อ ผู้ถูกกล่าวโทษฯ ไม่เปิดเผยข้อมูลและผลการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญา ของ สถานีวิทยุรายเดิม รวมถึงสถานีวิทยุทหารบก คลี่น ความถี่ FM94 Mhz.กทม. และไม่แจ้งให้ประชาชนทราบ จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จงใจจะปิดบังอำพรางข้อมูลที่ต้องเปิดเผย ไม่ให้ประชาชนทราบได้ สถานีวิทยุแห่งใดหมดอายุสัญญา สัมปทาน ต้องคืนคลื่นความถี่ หรือหากสถานีใดแอบต่ออายุสัญญา สัมปทานแบบผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีทันที
การที่ผู้ถูกกล่าวโทษไม่ปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๘๒ วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
หากผู้ถูกกล่าวโทษ อ้างว่า แล้วเสร็จล่าช้าแต่ยังไม่แจ้งให้สาธารณชนหรือประชาชนทราบ เป็นความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามนัยแห่งกฎหมาย มาตรา ๓๐ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ แสดงให้เห็นเจตนาว่า ต้องการปิดบังอำพรางอย่างจงใจที่สุด
๔. ผู้ถูกกล่าวโทษ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตอบหนังสือที่ขอความอนุเคราะห์ให้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน (Community Radio of Interest) ให้ทันภายในกรอบเวลาที่กฎหมายบัญญัติ และจงใจเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวไม่ออกประกาศฉบับนี้
เจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า วิทยุประเภทบริการชุมชน ซึ่งเป็นวิทยุภาคประชาชนที่แสวงหากำไรในทางธุรกิจนั้น คำว่าชุมชน ให้หมายรวมถึงทั้งชุมชนเชิงพื้นที่และชุมชนเชิงความสนใจหรือชุมชนในเชิงประเด็น ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนจึงสามารถประกอบกิจการได้ทั้งระดับชาติ ภูมิภาค หรือท้องถิ่น (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๐)
แต่ กสท. กลับมีมติ กสท.ที่ ๓๘/๒๕๕๖ ที่ขัดต่อกฎหมาย ปฏิเสธการดำรงอยู่ในทางกฎหมายของวิทยุชุมชนเชิงความสนใจอย่างสิ้นเชิง ตามหนังสือที่ สทช.๔๐๐๙/๓๓๖๘๓ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๑)
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๒๒/๒๕๕๕ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๐๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘ วินิจฉัยให้ กสทช.จะต้องดำเนินการออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน (Community Radio of Interest) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วิทยุประเภทบริการชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน (Community Radio of Interest) มีอยู่จริง
มูลนิธิเสียงธรรมฯ จึงได้ยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. เลขที่ ม.ธ.ป.๑๐๘๔/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ พิจารณาออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน (Community Radio of Interest) ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๒๒/๒๕๕๕ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๐๑/๒๕๕๘ (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๒) โดยก่อนหน้าที่ได้ยื่นหนังสือเร่งรัดให้ออกประกาศวิทยุชุมชนเชิงความสนใจร่วมกัน หรือวิทยุเชิงประเด็นหลายฉบับ ตัวอย่างตามเอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๓ และ ๑๔
แต่ กสทช.กลับเพิกเฉย ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธคำขอ โดยปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปถึงกว่า ๒ เดือน จึงแสดงให้เห็นว่า กสทช.จงใจเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวไม่ดำเนินการใด ๆ ในการออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนที่ครอบคลุมกลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน (Community Radio of Interest) แม้จะเป็นที่เข้าใจได้ว่า จะต้องรอให้มีแผนความถี่วิทยุเสียก่อน แต่อย่างน้อยที่สุด กสทช.จะต้องริเริ่มให้มีการศึกษา หรือระดมความเห็น ฯลฯ
นอกจากนี้ การที่ปล่อยปละละเลยไม่ตอบหนังสือเกินกว่า ๑๕ วันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ แสดงว่า กสทช.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติอีกด้วย
๕. แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ซึ่งมีผลผูกพัน กสทช.และหน่วยงานอื่นตามกฎหมาย กำหนดให้ กสทช. ต้องออกใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงให้ได้ภายใน ๓ ปี คือ ภายในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘ แต่ กสทช.ยังไม่ปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ กสทช.ได้ให้การต่อศาลว่า ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.๒๕๕๕ เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ในการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การออกใบอนุญาตกิจการกระจายเสียง
การที่ กสทช.จะต้องออกใบอนุญาตตามกฎหมายให้แก่ผู้ประกอบการฯ ตั้งแต่เกือบ ๗ เดือนที่แล้ว แต่ กสทช.กลับไม่มีท่าทีใด ๆ แม้กระทั่งจะริเริ่มกระบวนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จึงมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่
๖. กสทช.ปิดกั้นการเกิดของสถานีใหม่ในคลื่นความถี่ที่ยังว่างอยู่
ขัดต่อกฎหมาย มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง และ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. ๒๕๕๓ และ
ขัดต่อแผนแม่บทกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ ฉบับที่ ๑ (วัตถุประสงค์ข้อ ๒ ของแผนยุทธศาสตร์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) และ ขัดต่อแผนแม่บทกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ ฉบับที่ ๑ ในหัวข้อมาตรการจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการบริการชุมชน ที่จะต้องส่งเสริมภาคประชาชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชน ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐
๖.๑ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓
บัญญัติไว้ว่า “โดยในส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการ”
จากเอกสารสืบค้นเจตนารมณ์กฎหมายพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ ของรัฐสภาหน้า ๓๙ ได้อธิบายคำว่า “ภาคประชาชน” ให้หมายความรวมถึง
“ผู้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตมีโอกาสได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการด้วย”
และในหน้า ๔๐ ของเอกสารสืบค้นเจตนารมณ์กฎหมาย ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “ภาคประชาชน” มีความหมายถึงผู้ประกอบกิจการจากภาคประชาชนที่ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ โดยภาคประชาชนสามารถประกอบกิจการได้ทั้งบริการสาธารณะและบริการชุมชน ..... และหมายความรวมถึงบุคคลใดก็ได้ที่ยังไม่ได้เข้ามาสู่กระบวนการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ ก็ย่อมมีสิทธิในการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคลื่นความถี่ตามที่กฎหมายกำหนด
ในเมื่อในพื้นที่การกระจายเสียง ยังมีวิทยุเพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจไม่ถึงร้อยละยี่สิบ และมีคลื่นความถี่ที่ยังว่างอยู่ การกีดกันสถานีวิทยุเกิดใหม่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การอ้างกรอบเวลาซึ่ง กสทช.เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง ในประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย ในการที่ กสทช.ปฏิเสธสิทธิ์ยื่นคำขอ ทั้ง ๆ ที่ข้อ ๘ วรรคท้ายในประกาศ กสทช.ฉบับเดียวกัน ได้เปิดให้ กสทช.สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยื่นคำขอได้ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น หาก กสทช. หรือ กสท.ไม่นำประเด็นเรื่องเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้พิจารณา จะเป็นการจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ขัดต่อพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓
กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและ กฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙)
๖.๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓
บัญญัติไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ประเภทบริการชุมชน การหารายได้ และการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ”
กฎหมายกำหนดให้ส่งเสริมให้ “ชุมชนที่มีความพร้อม” ให้ได้รับใบอนุญาตฯ แต่ กสทช.กลับอ้างเอาข้อ ๗ ตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.๒๕๕๕ ใช้กีดกันไม่ให้ภาคประชาชนที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ โดย กสทช.แจ้งว่า ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งการยื่นคำขอรับอนุญาต
ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจนที่สุด แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ซึ่งผูกพัน กสทช.ตามกฎหมาย ก็ได้มีข้อกำหนดรองรับข้อกฎหมายอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กสทช.ต้องส่งเสริมการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ และส่งเสริมให้ “ชุมชนที่มีความพร้อม” ให้ได้รับใบอนุญาต
ดังนั้น หากที่ใดมีคลื่นความถี่ที่ว่าง กสทช.จะต้องส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยมิใช่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ แต่ต้องให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ
ผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ จึงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในการไม่ออกใบอนุญาต เพื่ออนุญาตให้สถานีวิทยุเสียงธรรมฯ กระบี่ได้ใช้คลื่นความถี่ที่ว่างอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ
๗. กสทช.ทราบเป็นอย่างดีว่า ต้องออกแผนความถี่วิทยุและมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่มีความเป็นธรรมระหว่างคลื่นรายเดิมและคลื่นรายใหม่ แต่ กสทช.กลับจงใจร่างแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็ม โดยจงใจให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิมจำนวนร้อยกว่าหรือไม่กี่ร้อยสถานี ได้กรรมสิทธิ์ครอบครองคลื่นถึงร้อยละ ๘๐ และผลักให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทั้งประเภทบริการสาธารณะ บริการชุมชน และวิทยุธุรกิจหลายพันสถานี ใช้คลื่นเพียงร้อยละ ๒๐ ทำให้ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ กลายเป็นรายจิ๋ว
๗.๑ เป็นร่างแผนความถี่ฯ ที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา ๔๙ แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ เนื่องจากไม่จัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจในการประกอบกิจการบริการชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของคลื่นความถี่ในแต่ละพื้นที่ของการอนุญาตประกอบกิจการ
แต่ กสทช. กลับจัดสรรให้ "ผู้ทดลองประกอบกิจการ" ทั้งหมดทุกประเภทไม่ว่าบริการสาธารณะ บริการชุมชน และธุรกิจ ใช้ช่วงคลื่นความถี่ได้เพียง ๒๐% ส่วนช่วงความถี่ที่กว้างถึง ๘๐% กลับเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลแก่นายทุนที่ผูกขาดสมบัติของชาติไว้กับคลื่นของรัฐรายเดิม การกระทำเช่นนี้ยังส่งผลให้ "สถานีวิทยุประเภทบริการชุมชน" จะได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรืออาจไม่ได้รับการจัดสรรเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะสัดส่วน ๒๐% ได้ถูกสถานีวิทยุประเภทบริการสาธารณะและธุรกิจแย่งชิงไปเสียจนหมดสิ้น
๗.๒ เป็นร่างแผนความถี่วิทยุฯ ที่ขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากเป็นการจับจองคลื่นไว้เพื่อ "วิทยุรายเดิม" โดยมิได้รองรับสถานีวิทยุทั้ง ๓ ประเภทด้วยมาตรฐานทางเทคนิคที่มีความเสมอภาค และมิได้เข้าสู่ระบบโดยพร้อมเพรียงกันด้วยหลักเกณฑ์เดียวกัน และยังมิใช่แผนความถี่ที่เกิดจากการเรียกคืนความถี่เพื่อจัดสรรใหม่อีกด้วย จึงผิดกฎหมายโดยประการทั้งปวงในทุกขั้นตอน
ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติให้ กสทช. จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ แต่เพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อสัญญา สัมปทานที่ภาครัฐได้ทำไว้แล้ว กฎหมายจึงได้คุ้มครองการประกอบกิจการของวิทยุเอฟเอ็ม รายเดิมไปก่อน จนกว่าสัญญาสัมปทานที่ได้ทำไว้จะสิ้นสุดลง หรือภายในเงื่อนเวลาเส้นตายที่ กสทช. กำหนดไว้ว่าจะต้องคืนคลื่น อย่างไรก็ตาม กสทช.จะต้องทำการตรวจสอบความชอบด้วยสัญญาสัมปทานและการอนุญาตแก่สถานีทั้ง ๓๑๔ แห่ง และต้องแจ้งผลของการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาสัมปทานการอนุญาตนั้นต่อสาธารณชน และต้องเรียกคืนความถี่มาเพื่อนำไปจัดสรรใหม่ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตรา ๘๒ และมาตรา ๘๓ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ กสทช.ได้ใช้อ้างต่อศาลหลายครั้งว่า ต้องรอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาสัมปทานนั้นให้แล้วเสร็จก่อน ทั้งๆ ที่ขณะนี้ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดเวลาในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาสัมปทานการอนุญาตของคลื่นวิทยุรายเดิมอันเป็นการขัดแย้งกับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙) มานานหลายเดือนแล้ว
นอกจาก กสทช. จะไม่เรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อเริ่มทำการจัดสรรใหม่โดยพร้อมเพรียงกันด้วยหลักเกณฑ์เดียวกันแล้ว กสทช.ยังจับจองคลื่นไว้วิทยุรายเดิมก่อนและยังเพิ่มกำลังส่งตามอำเภอใจให้แก่วิทยุรายเดิมอีกหลายสถานีจากเดิมที่เคยขออนุญาตไว้ในแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ. เอ็ม. ของประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๘ อีกด้วย โดยไม่มีเหตุผลใดที่จะอธิบายต่อสาธารณชนได้ว่า ทำไม กสทช.จึงเพิ่มกำลังส่งให้แก่วิทยุรายเดิม โดยไม่มีกฎหมายรองรับ และยังไม่มีหลักประกันด้วยว่าวิทยุรายเดิมเหล่านั้นจะประกอบกิจการด้วยตนเองจริงหรือไม่ หรือยังจะใช้ระบบเดิมที่ให้สัมปทาน สัญญา หรือใบอนุญาตแก่เอกชนได้ ซึ่งย่อมผิดกฎหมาย
แม้การเป็นเพียงร่างแผนความถี่ฯ จะยังไม่ได้บังคับใช้ ด้วยประชาชนคัดค้านอย่างกว้างขวาง และนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาต่อเรื่องนี้ โดยสั่งให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมาย (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๕) แต่การที่ร่างแผนความถี่ฯ ที่บิดเบี้ยวถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง มีผลกระทบให้กระบวนการออกใบอนุญาตต่าง ๆ ต้องถูกชะลอไปด้วย จึงเป็นที่สรุปได้โดยไม่ต้องสงสัยว่า กสทช.หวังเล็งเห็นผล ให้การออกแผนความถี่วิทยุต้องเนิ่นช้าออกไป เพื่อจะให้กระบวนการออกใบอนุญาตต้องชะลอออกไปอีก
๘. ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) ได้กำหนดให้ กสทช.ต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลภายใน ๓ ปี คือ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๑๕๕๘ หรือเกือบ ๗ เดือนที่ผ่านมา
แม้ กสทช.จะเริ่มจัดให้มีการประชาพิจารณ์ แต่กลับส่ง พลโทพีระพงศ์ มานะกิจ ออกไปเป็นประธานการรับฟังความเห็นที่ไร้ความเป็นกลาง มุ่งแต่ตั้งคำถามว่า “อยากจะให้มีหรือไม่อยากให้มีวิทยุระบบดิจิตอล” (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๖) ทั้งที่ทราบดีว่า หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ล่าช้ากว่ากำหนดไปมาก และทีมงานเจ้าหน้าที่ กสทช.ได้ศึกษาวิทยุระบบดิจิตอลมาเนิ่นนานเพียงพอแล้ว นอกจากนี้ ภายในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๙ กสทช.จะต้องเริ่มส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทฯ ที่กำหนดไว้
การที่ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว จึงส่อให้เห็นว่า จงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙)
๙. “ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กสทช. ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา” (มาตรา ๗๔ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.๒๕๕๓) ซึ่งรัฐบาลทุกชุดล้วนมีนโยบายอย่างชัดเจนในการทะนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อน ได้มีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ กระทรวงวัฒนธรรม (เอกสารแนบท้ายหมายเลข ๑๗) ที่กำหนดให้ กสทช.ต้องปรับปรุงแก้ไขประกาศ กสทช.ฯ หรือออกประกาศใหม่เพิ่มเติม โดยยกเว้นให้สถานีวิทยุกระจายเสียงทางพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ ที่ทางราชการรับรองที่มีอยู่แล้ว สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ตามเดิม โดยไม่ต้องถูกลิดรอนลดทอนอุปกรณ์และประสิทธิภาพในการกระจายเสียง และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากจะมีนโยบายในการทะนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาแล้ว ยัง “สนับสนุน” ให้องค์กรทางศาสนามีการปลูกฝังคุณธรรมอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการกระจายเสียงธรรมะของมูลนิธิเสียงธรรมฯ เป็นอย่างยิ่ง
แต่ กสทช.กลับไม่ปรับปรุงแก้ไขประกาศ กสทช.ฯ หรือออกประกาศใหม่ โดยยกเว้นให้สถานีวิทยุกระจายเสียงทางพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ ที่ทางราชการรับรองที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ตามเดิม โดยไม่ต้องถูกลิดรอนลดทอนอุปกรณ์และประสิทธิภาพในการกระจายเสียง การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.จึงมิใช่การทำนุบำรุงพระศาสนาตามนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดในฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จึงขอแจ้งความกล่าวโทษ เพื่อขอให้ดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวโทษจนคดีถึงที่สุด เพื่อสร้างให้สังคมไทยอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม และทำให้คลื่นความถี่กลับเป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งชาติอย่างแท้จริง
----------------------------------
หนังสืิอถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย
ด่วนที่สุด
เลขที่ ม.ธ.ป.xxxxxxxx/๒๕๕๘
มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ
สำนักงานใหญ่ ๓๐๙/๑ หมู่ ๑
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘
เรื่องขอความอนุเคราะห์พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ และกำหนดบทลงโทษแก่ กสทช. ให้ถึงที่สุด
เจริญพรพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑.สำเนาการแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกระบี่ และที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรุงเทพฯ
๒.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๖ รับรองแนวนโยบายของรัฐที่ได้แถลงต่อรัฐสภาว่าด้วยการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
๓.เอกสารราชการของรัฐสภาว่าด้วยบันทึกเจตนารมณ์การร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ร่วมกับประชาชน ๔๔๔,๓๒๐ คน ขออนุโมทนาขอบคุณท่านที่ให้ความกรุณาโทรศัพท์แจ้งวัดป่าบ้านตาด เพื่อนัดหมายให้เกิดการวันประชุม ๓ ฝ่าย ในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ระหว่างฝ่ายทหาร ฝ่าย กสทช. และฝ่ายคณะสงฆ์กรรมฐาน โดยครั้งนั้นท่านได้แจ้งทางวัดให้เล่ารายละเอียดปัญหาของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ในทุกกรณีให้ กสทช. ได้เข้าใจเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขหรือเอื้อเฟื้อในส่วนที่ขัดข้องให้สามารถรองรับประโยชน์สาธารณะอันเกิดจากงานเผยแผ่ธรรมะสร้างจิตสำนึกรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ของมูลนิธิเสียงธรรมฯ ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ยังความผาสุกเย็นใจไปสู่ประชาชนผู้สนใจใฝ่ธรรมที่รับฟังธรรมะอยู่ทั่วประเทศ
โดยที่ท่านให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในนามคณะรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ให้หลักเกณฑ์ที่สำคัญสอดคล้องกับกรณีปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ อยู่ในขณะนี้ สรุปได้ว่า “รัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่เก่ง แต่ยืนยันว่า ไม่โกง ... เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นต้องช่วยกันดูแล ปลุกเร้าให้เป็นคนดี คนเก่ง อยู่ในกระบวนการยุติธรรม .. กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทุกส่วนต้องช่วยดูแล ...” คำสัมภาษณ์ดังกล่าวสร้างขวัญกำลังใจอย่างยิ่งแก่มูลนิธิเสียงธรรมฯ และประชาชนผู้สนใจฟังธรรมจำนวนมากว่ากระทรวงมหาดไทยจะเข้าใจความทุกข์ยากและจะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนได้ ความรู้สึกเดิมที่เสมือนหนึ่งเป็น “ลูกกำพร้า” ซึ่งถูก กสทช. ใช้อำนาจบาตรใหญ่กดขี่ข่มเหงรังแกอย่างไร้มนุษยธรรมมาโดยตลอด ได้ผ่อนคลายลงไปเหมือนมี “พี่เบิ้ม” ที่รักความเป็นธรรมพร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้จริง
ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจาก กสทช. ได้กระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายเลือกปฏิบัติจนส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อมูลนิธิเสียงธรรมฯ และส่วนรวมรุนแรงที่สุดกว่าครั้งใดๆ จนเป็นเหตุให้มูลนิธิเสียงธรรมฯ และผู้แทนประชาชนจากทุกภาคต้องเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อ กสทช. ที่สภ.เมืองกระบี่และสน.บางซื่อ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย.....) สรุปได้ดังนี้
๑)ปิดกั้นการเกิดสถานีใหม่ในคลื่นความถี่ที่ว่างอยู่ ทั้งที่ กสทช. ทราบบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมายดีว่า ต้องส่งเสริมให้สถานีที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจได้ใช้คลื่นความถี่ และต้องส่งเสริมให้รายใหม่ได้เข้าสู่ระบบใบอนุญาต การปิดกั้นสถานีใหม่จึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น การดำเนินคดีกับผู้ใช้คลื่นความถี่ที่ว่างอยู่ยิ่งเป็นการกระทำที่มีเจตนากลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายอย่างไร้มนุษยธรรมที่สุด
๒)ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวนโยบายรัฐที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ทั้งที่ กสทช. ทราบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๖ ที่รับรองมติที่ประชุม ๑๑ องค์กรภาครัฐโดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ ซึ่ง กสทช. ก็ได้เข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย มีมติให้ กสทช. ห้ามลิดรอนลดทอนประสิทธิภาพกระจายเสียงแก่สถานีวิทยุที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่มีโฆษณาแอบแฝง ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและศาสนาที่ราชการรับรอง ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒. การที่ กสทช. ฝ่าฝืนและเหยียบย่ำกฎหมายในข้อนี้ทั้งที่ทราบดีว่าได้บัญญัติไว้ จึงเป็นพฤติการณ์ที่ไร้ยางอายอย่างที่สุด
๓) กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่าคลื่นวิทยุของทหาร FM 94 กทม. กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้กำลังส่งกระจายเสียงเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นการรับสารภาพแบบซึ่งหน้าของพลเอกภุชพงศ์ พงศ์ศิริ ต่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ในฐานะเจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ ที่ประชุมวัดป่าบ้านตาด แต่ เลขาธิการ กสทช. และเจ้าหน้าที่ทุกคน กลับจงใจละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดีกับคลื่นทหารแห่งนี้
๔)กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่า ต้องรีบดำเนินการตรวจสอบใบอนุญาต สัญญา สัมปทาน ของเอกชนที่ใช้คลื่นความถี่ในสถานีวิทยุของรัฐ ๓๑๔ สถานี หากสถานีใดสิ้นอายุก็ต้องคืนคลื่นความถี่ในทันที หรือหากสถานีใดแอบต่ออายุแบบผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีในทันที ทั้งนี้กฎหมายบัญญัติให้ กสทช. ต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน แต่จนกระทั่งบัดนี้ กสทช. ก็หาได้กระทำหน้าที่ตามกฎหมายใดๆ ไม่ แม้ประชาชนจำนวนมากจะยื่นหนังสือทวงถามในเรื่องนี้หลายครั้งทั้งต่อ กสทช. และต่อศาลปกครอง หากแต่ กสทช. ก็เพิกเฉยตลอดมาจัดว่าเป็นการกระทำของอสัตย์บุรุษ
๕) กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่า ต้องจัดให้มีการประมูลแก่สถานีวิทยุที่มีโฆษณา ไม่อาจปล่อยให้สถานีที่มีโฆษณาทุกแห่งสามารถใช้คลื่นความถี่ของชาติได้ทุกรายไป เนื่องจากจะเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐาน ITU เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยสาธารณะและยังเป็นเหตุให้เกิดการรบกวนคลื่นซึ่งกันและกัน เฉพาะอย่างยิ่ง คลื่นธุรกิจเหล่านี้แพร่คลื่นฟุ้งรบกวนคลื่นธรรมะที่เกิดขึ้นก่อน เป็นการเบียดบังการสร้างคุณภาพชีวิตของชนในชาติอย่างเลวร้ายที่สุด การปล่อยปละละเลยเช่นนี้เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายของ กสทช. ที่เลวร้ายขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างยิ่ง
๖)กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่า ต้องออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตวิทยุภาคประชาชนตามความสนใจร่วมกัน (Community Radio of Interest) ซึ่งมีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ๔ ภาค ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว หากแต่ กสทช. กลับจงใจหน่วงเหนี่ยวไม่ออกหลักเกณฑ์ จนเป็นเหตุให้สถานีวิทยุที่มีสถานภาพตรงกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องถูกดำเนินคดี นับเป็นการกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายอย่างเล็งเห็นผลที่ไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด
๗)กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่า ต้องออกแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงที่มีความเที่ยงธรรมเสมอภาคระหว่างคลื่นรายเดิมและรายใหม่ ต้องมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในมาตรฐานเทคนิคและสถานภาพทางกฎหมาย แต่พฤติการณ์ที่ผ่านมานั้น กสทช. ได้ร่างแผนความถี่ฯ โดยจงใจให้คลื่นรายเดิม ๓๑๔ รายได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล ในขณะที่คลื่นรายใหม่กลายเป็นสถานีวิทยุขนาดจิ๋ว การกระทำเช่นนี้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนกว่า ๔ แสนรายว่า กสทช. มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย หวังเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลแก่นายทุนสื่อให้ผูกขาดคลื่นของรัฐไว้แบบเป็นการถาวรตลอดกาล พฤติการณ์ของ กสทช. ในครั้งนี้จัดว่าหิริโอตตัปปะอย่างยิ่ง
๘)กสทช. ทราบเป็นอย่างดีว่า จะต้องออกใบอนุญาต “วิทยุดิจิตอล” ตามแผนแม่บทวิทยุกระจายเสียงฯ ที่ตนประกาศบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะต้องออกหลักเกณฑ์การอนุญาตและพิจารณาออกใบอนุญาตตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๘ แต่จนกระทั่งบัดนี้ กสทช. ก็หาได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ตนกำหนดไว้ไม่ นอกจากนี้ยังส่ง พล.ท.พีรพงษ์ มานะกิจ ออกไปเป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ไร้ความเป็นกลาง หากแต่เต็มไปด้วยอคติทั้ง ๔ อย่างไม่มีผู้ดีคนใดกล้ากระทำ ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นการเกิดขึ้นของ “วิทยุดิจิตอล” อันเป็นการกระทำที่ทำลายพัฒนาการทางสื่อวิทยุกระจายเสียงของชาติอย่างน่าละอายเป็นที่สุดเปรียบได้กับการ “ถ่มน้ำลายรดหน้าตนเอง” ฉะนั้น ประการสำคัญ การฝ่าฝืนแผนแม่บทที่ตนประกาศบังคับใช้แล้วถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ดังนั้น ด้วยคำให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนของท่านในฐานะ “พี่เบิ้ม” ที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนและถือหลักกฎหมายโดยเคร่งครัด จึงขอความอนุเคราะห์จากท่านโปรดดำเนินการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดแก่ กสทช.ทุกระดับชั้น มูลนิธิเสียงธรรมฯ และประชาชนผู้ฟังธรรม เชื่อมั่นว่าท่านเป็นผู้ปกครองและผู้บริหารบ้านเมืองที่มีคุณธรรมและจะรักษาสัตยาบันตามที่ได้กล่าวไว้อย่างเคร่งครัดและรวดเร็วทันการณ์ ทั้งนี้หากท่านให้ความเป็นธรรมด้วยการลงโทษ กสทช. ให้ถึงที่สุดสมกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายประการ และหาก “วิทยุธรรมะ” ได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้นใหม่ได้ทันทีในคลื่นความถี่ที่ว่างโดยไม่ได้รบกวนงบประมาณของรัฐแม้แต่บาทเดียว ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน ยังความจิรังถาวรมาสู่สถาบันหลักทั้ง ๓ ของชาติสืบไป การในครั้งนี้จะสำเร็จลงได้หรือไม่เพียงใดอยู่ที่ท่านเท่านั้นที่จะพิสูจน์สัจจะวาจาของตัวท่านเองในนาม “คณะรัฐบาล” ที่ได้กล่าวยืนยันไว้อย่างชัดเจนแล้วต่อสาธารณชน
จึงเจริญพรมาเพื่อขอความอนุเคราะห์จากท่านโดยด่วนที่สุดด้วย จักอนุโมทนาขอบคุณยิ่ง
ขอเจริญพรมาพร้อมหนังสือนี้
(พระมนฑน์จิตต์เกษม ธัมมธโร)
กรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน
ทำการแทนประธานมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนฯ