xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 4-10 ต.ค.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.คสช.เคาะรายชื่อ 21 กรธ.-200 สปท.แล้ว “มีชัย” ตอบรับนั่งประธาน กรธ.เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน!
(บน) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.(ล่าง) นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่ 1 และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธาน กรธ.คนที่ 2
ความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 21 คน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) 200 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ทาบทามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ปี 2549 เพื่อขอให้รับตำแหน่งประธาน กรธ.เมื่อวันที่ 2 ต.ค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำรายชื่อ กรธ.20 คนให้นายมีชัยดู เพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย ซึ่งนายมีชัย ขอให้คำตอบในวันที่ 5 ต.ค.นั้น

เมื่อถึงกำหนด(5 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานการประชุม คสช.เพื่อคัดเลือกรายชื่อ กรธ. 21 คน และ สปท. 200 คน หลังประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์แต่งตั้ง กรธ.21 คน ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย 1.นางกีระณา สุมาวงศ์ 2.นางจุรี วิจิตรวาทการ 3.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ 4.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง 5.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 6.นายเธียรชัย ณ นคร 7.นายนรชิต สิงหเสนี 8.พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ 9.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ 10.นายประพันธ์ นัยโกวิท

11.นายภัทระ คำพิทักษ์ 12.นายภุมรัตน ทักษาดิพงษ์ 13.พล.ต.วิระ โรจนวาศ 14.นายศุภชัย ยาวะประภาษ 15.นายสุพจน์ ไข่มุกด์ 16.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ 17.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ 18.นายอุดม รัฐอมฤต 19.นายอัชพร จารุจินดา 20.พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช ซึ่งหลังจาก กรธ.ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ประชุมได้เลือกนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นรองประธาน กรธ.คนที่ 1 และนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เป็นเลขานุการคนที่ 1 และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็นเลขานุการคนที่ 2 ส่วนโฆษก กรธ.มี 2 คน คือ นายนรชิต สิงหเสนี และนายอมร วาณิชวิวัฒน์

ส่วนผู้ได้รับเลือกเป็น สปท.200 คน มีที่มาหลากหลาย เช่น อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้แก่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นางถวิลวดี บุรีกุล, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ฯลฯ อดีต สปช.ได้แก่ นายอลงกรณ์ พลบุตร, นายคุรุจิต นาครทรรพ, พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์, นายประมนต์ สุธีวงศ์, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป, นายวันชัย สอนศิริ, พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา, นายสังศิต พิริยะรังสรรค์, นายเสรี สุวรรณภานนท์, พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย, พล.อ.วิชิต ยาทิพย์, นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ฯลฯ

ส่วน สปท.ที่มาจากพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ นายกษิต ภิรมย์, พรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร จำนง, พรรคภูมิใจไทย นายชัย ชิดชอบ, พรรคชาติพัฒนา พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, พรรคเพื่อไทย นายสุชน ชาลีเครือ, พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และนายสมพงษ์ สระกวี ซึ่งนายสมพงษ์ เป็นทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ส่วนกลุ่มการเมือง ได้แก่ กลุ่ม กปสส.นายวิทยา แก้วภราดัย, กลุ่มพันธมิตรฯ นายศิริชัย ไม้งาม แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2

สำหรับกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ได้รับเลือกเป็น สปท.ได้แก่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์, นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน, พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ฯลฯ

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เผยเหตุผลที่ตอบรับเป็นประธาน กรธ.ว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรียืนยันว่ามีความจำเป็นต้องให้ตนมาทำหน้าที่นี้ เมื่อนายกฯ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดและเป็นผู้ที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้ลุล่วงไปยืนยันว่ามีความจำเป็น ตนก็ต้องเชื่อในดุลพินิจของท่าน ในฐานะที่ตนเป็นคนไทยคนหนึ่ง จึงไม่อาจเห็นแก่ความสุขความสบาย และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ ไม่เช่นนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพวกที่ไม่รู้จักทดแทนคุณของแผ่นดิน

นายมีชัย ยอมรับด้วยว่า หลังจากได้ดูรายชื่อ กรธ.20 คนที่ คสช.และรัฐบาลได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว ตนได้ขอเปลี่ยนบางคน เพื่อให้ได้องค์ประกอบที่ครบถ้วน นายมีชัย ยังเผยกรอบการร่างรัฐธรรมนูญตามความมุ่งหมายของ คสช.ด้วยว่า มี 5 ข้อ คือ 1.ให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับนับถือของสากลและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของประเทศและคนไทย 2.ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 3.ให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชน 4.มีแนวทางขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างได้ผล และ 5.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

ทั้งนี้ นายมีชัย ส่งสัญญาณด้วยว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ควรมีการทำประชามติ โดยเกณฑ์การนับคะแนนในการทำประชามติ ต้องนับจากจำนวนผู้มาออกเสียง ใครไม่ออกเสียงถือว่าสละสิทธิ

ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.แถลงหลังประชุม กรธ.นัดแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า ที่ประชุมวางกรอบการทำงานว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2559 จากนั้นจะนำไปเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และจะนำมาปรับแก้อีกครั้งให้เหมาะสม ก่อนจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายในวันที่ 1 เม.ย.2559 เพื่อนำไปสู่การทำประชามติต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ทาบทามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 ให้มาเป็นที่ปรึกษา กรธ. แต่นายบวรศักดิ์ ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปแล้วว่า ขอไม่เข้าร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีก แต่พร้อมช่วยงานนายมีชัยเป็นการส่วนตัว โดยไม่มีตำแหน่ง ซึ่งแม้นายมีชัยจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้นายบวรศักดิ์รับตำแหน่งที่ปรึกษา กรธ. แต่นายบวรศักดิ์ยังคงปฏิเสธ และเสนอให้นายเจษฎ์ โทณวณิก อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมาช่วยงานแทน ซึ่งในเวลาต่อมา ที่ประชุม กรธ.ได้แต่งตั้งที่ปรึกษา กรธ. 3 คน โดยพิจารณาจากผู้ที่เคยเป็นเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.นายเจษฎ์ โทณวณิก แทนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ปี 2540 2.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ปี 2550 และ 3.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ปี 2558

2.ปลดฟ้าผ่า “สมชัย” พ้น ผอ.ไทยพีบีเอส เหตุทำผิดสัญญาหลายเรื่อง ด้านเจ้าตัวโวย คำสั่งเลิกจ้างไม่ชอบ เตรียมร้องศาลปกครอง!

(ซ้าย) นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส (ขวา) นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้มีมติเลิกจ้างนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. โดยมีผลทันที พร้อมให้เหตุผลที่เลิกจ้างว่า เนื่องจากนายสมชัยไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของกรรมการนโยบาย ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลงและแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน และผิดสัญญาจ้างกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรรมการนโยบายถึง 4 ครั้ง ส.ส.ท. จึงมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนใดๆ

สำหรับคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย, นางสมศรี หาญอนันทสุข, นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ, นายสมพันธ์ เตชะอธิก, นางปราณี ทินกร, นางลดาวัลย์ บัวเอี่ยม, นายธีรภัทร สงวนกชกร, น.ส.รุ่งมณี เมฆโสภณ และนายพิพัทธ์ ชนะสงคราม เป็นต้น

ในเวลาต่อมา คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้ออกประกาศเรื่องการเลิกสัญญาจ้างนายสมชัยว่า คณะกรรมการนโยบายฯ มีมติเอกฉันท์ให้เลิกสัญญาจ้างนายสมชัย เนื่องจากนายสมชัยได้กระทำผิดสัญญาจ้างเรื่องการปฏิบัติงานตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด และการจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายทุก 3 เดือน นอกจากนั้น ยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบของ ส.ส.ท. และมติของคณะกรรมการนโยบาย ทั้งยังไม่สามารถกำกับดูแลและติดตามให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างสัมฤทธิ์ผล เพื่อพร้อมรับการแข่งขันและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ประกาศดังกล่าวยังระบุอีกว่า การเลิกจ้างนายสมชัยครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.พ้นจากตำแหน่งตามผู้อำนวยการด้วย สำหรับรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ได้แก่ นายมงคล ลีลาธรรม, นายสุพจน์ จริงจิตร, นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ส่วนคณะกรรมการบริหารทั้งคณะก็พ้นจากตำแหน่งทันทีตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 พร้อมกันนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งนางพวงรัตน์ สองเมือง ผู้อำนวยการสำนักรายการ ให้รักษาการผู้อำนวยการ ส.ส.ท. จนกว่าการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่จะแล้วเสร็จ

ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ ให้สัมภาษณ์หลังทราบข่าวถูกเลิกจ้างว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม พร้อมยืนยันว่า ประเด็นที่กล่าวหาตน เช่น ไม่ทำตามระเบียบของคณะกรรมการฯ นั้น ไม่จริง ตนทำตามระเบียบทุกอย่างและรายงานต่อที่ประชุมทุก 3 เดือน และว่า เรื่องนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคณะกรรมการนโยบายฯ หรือไม่ ส่วนเรื่องเงิน 50 ล้านบาท ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสอบอยู่ ยังไม่มีบทสรุปออกมา แต่ทำไมคณะกรรมการนโยบายฯ กลับใช้เป็นประเด็นในการเลิกจ้างตน "ไม่ทราบว่าคณะกรรมการชุดนี้ มีอะไรซ่อนอยู่ภายในหรือไม่ หลังจากนี้จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมต่อไป" ซึ่งในเวลาต่อมา นายสมชัยได้โพสต์ลาพนักงานไทยพีบีเอสผ่านไลน์ โดยยืนยันว่า จะสู้ต่อ โดยจะร้องเรียนไปยังศาลปกครอง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายฯ ไม่พอใจผลงานของนายสมชัยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจุดที่รู้สึกไม่พอใจอย่างมากก็คือ กรณีระเบิดที่แยกราชประสงค์ ที่สถานีฯ ไม่ได้เกาะติดการรายงานสด แต่ตัดสลับกับรายการปกติ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นควรถือเป็นภารกิจหลักของทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ทำให้ช่องอื่นที่ยกรายการปกติเพื่อเกาะติดเรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมไป อีกทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการนโยบายฯ สั่งให้มอนิเตอร์รายการสถานีฯ เทียบกับทีวีช่องอื่น เพื่อปรับปรุงรายการที่มีอยู่ ข้อเสนอต่างๆ ก็แทบไม่ได้รับการตอบสนองจากนายสมชัย รวมถึงเมื่อนำเรตติ้งผู้ชมไปเทียบกับช่องอื่นๆ เรตติ้งก็ตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นายสมชัยถูกเลิกจ้างในที่สุด หลังเข้ารับตำแหน่งเพียงแค่ 3 ปี ทั้งที่มีวาระการดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 9 ต.ค.2559

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมีมติเลิกจ้างนายสมชัยว่า ตนไม่มีอำนาจหน้าที่ไปกำกับไทยพีบีเอส เพราะเป็นเสมือนองค์กรอิสระ เว้นแต่กรณีของบประมาณในการดำเนินการต่างๆ อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ กล่าวว่า หากนายสมชัยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองได้

3.ศาลอาญา ไม่รับฟ้องคดี “ยิ่งลักษณ์” ฟ้อง อสส.-อธิบดีอัยการกรณีสั่งฟ้องคดีทุจริตจำนำข้าว ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เตรียมอุทธรณ์!

(บน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ (ล่าง) นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ความคืบหน้ากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อเอาผิดนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) พร้อมด้วยนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ, นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ภายใน 7 วัน

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งคดีนี้ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มอบหมายให้นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายความมาฟังคำสั่งคดีแทน โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้องและข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องว่า จำเลยไม่ได้ไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นก่อนมีคำสั่งฟ้องนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริง สรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหากอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า เรื่องที่ส่งมานั้นมีข้อที่ไม่สมบูรณ์ และแจ้งข้อไม่สมบูรณ์นั้นไปยัง ป.ป.ช. ให้อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายในจำนวนที่เท่ากันเป็นคณะทำงานพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป จึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดกระบวนการทำงาน หน้าที่ของอัยการสูงสุด และอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานร่วมในการพิจารณาข้อที่ไม่สมบูรณ์ตามที่อัยการสูงสุดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เห็นชอบด้วยหรือไม่ และส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไป

ซึ่งตามฟ้อง โจทก์กล่าวเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่า ไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่ายเพื่อพิจารณาหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะส่งฟ้อง โดยโจทก์อ้างคำสัมภาษณ์ของบุคคลจากรายงานข่าวว่ายังไม่มีการประชุมของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นข้อมูลจากสื่อมวลชน ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการ และปรากฏจากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นคำแถลงข่าวของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจำเลยที่ 3 แถลงสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาหลักฐานร่วมกันแล้ว แสดงว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งฟ้องได้มีการประชุมของคณะทำงานร่วมแล้ว

ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีความเห็นส่งฟ้องโจทก์กะทันหัน ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะลงมติถอดถอนโจทก์เพียง 1 ชั่วโมงนั้น ศาลเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าจะไปกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องการถอดถอนโจทก์ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปที่ประธาน สนช. ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้ผูกพันกับผลการไต่สวนข้อเท็จจริงในความผิดทางอาญา คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นความเข้าใจของโจทก์เองว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานอัยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือมีเจตนากลั่นแกล้งฟ้องโจทก์ให้ต้องรับโทษแต่อย่างใด

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า สำนวนในคดีทุจริตจำนำข้าวเป็นการฟ้องเท็จในสาระสำคัญที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้กล่าวหาและยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ต่อศาลฎีกาฯ โดยได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของโจทก์มีมูลความผิด ซึ่งจำเลยที่ 1 บรรยายฟ้องตามข้อพิจารณาของ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นการบรรยายฟ้องอันเป็นเท็จในสาระสำคัญในคดีของป.ป.ช.แต่อย่างใด

ส่วนที่โจทก์อ้างว่า การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พวกจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานนอกสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช.ที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ได้ไต่สวนไว้ในคดีนั้น ศาลเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจาณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และจำเลยมีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้ง 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำผิดตามฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง

ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เผยว่า ได้แจ้งคำสั่งศาลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันจะใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ต่อไป โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ รู้สึกเสียดายโอกาสที่ไม่ได้นำพยานหลักฐานสำคัญๆ เสนอต่อศาลในชั้นพิจารณาคดีของศาลอาญา ซึ่งได้เตรียมไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว หากศาลรับไว้พิจารณา

4.“ในหลวง” ทรงห่วงภัยแล้ง หลังพบปี ’59 แล้งรุนแรงแน่ ด้านรัฐบาลรีบรับลูก อนุมัติงบกลางแก้ปัญหาภัยแล้ง 4,000 ล้าน!

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เตรียมแหล่งน้ำและแก้มลิงในโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมกับกองทัพบกในโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งและการจัดการทัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงสิ้นฤดูฝน เนื่องจากค่อนข้างแน่นอนว่าประเทศจะประสบกับปัญหาภัยแล้งรุนแรงในปี 2559 แม้จะมีฝนตกจากอิทธิพลของพายุมูจีแกตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการกักเก็บน้ำใน 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์-เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) แต่อย่างใด

“ฤดูฝนเหลือเพียง 27 วัน จะเอาน้ำมาจากไหน คงต้องรอปาฏิหาริย์อย่างเดียว เพราะภาคเหนือฝนใกล้หมดและเริ่มหนาวแล้ว ดังนั้นปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักที่มีแค่ 3,182 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือโชคดีก็อาจจะได้เพิ่มเป็น 3.5 ล้าน ลบ.ม. เดือดร้อนแน่ เพราะขนาดปี 2557 มีปริมาณน้ำ 6 ล้าน ลบ.ม. ยังเกิดปัญหาขาดน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาและภัยแล้ง ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงห่วงภัยแล้งและทรงให้เตรียมแหล่งน้ำและแก้มลิงในโครงการพระราชดำริไว้รองรับความเดือดร้อนของประชาชน”

ด้านรัฐบาลรีบรับลูกแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ได้มีมติอนุมัติงบกลางประจำปี 2559 จำนวน 4,071 ล้านบาท ตามกรอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงหน้าแล้ง ฤดูกาลผลิต 2559 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีทั้งหมด 8 มาตรการ ซึ่งหากรวมงบประมาณประจำปีอีก 6,752 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้รับ และงบกลางที่ได้รับการจัดสรรก่อนหน้านี้ 327 ล้านบาท จะทำให้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรภัยแล้งรวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท

สำหรับ 8 มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน และโครงการสร้างรายได้จากปศุสัตว์ในฤดูแล้ง โครงการสร้างรายได้จากประมงในฤดูแล้ง รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม 2.มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีหนี้กับสถาบันการเงิน 3.มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4.มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก 5.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ผ่านปฏิบัติการฝนหลวง การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7.มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8.มาตรการสนับสนุนอื่นๆ

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินเพื่อใช้ในโครงการภายใต้มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลเพิ่มเติม 1,830 ล้านบาท เพื่อทำให้ทุกตำบลได้งบ 5 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีการใช้งบประมาณตามโครงการทั้งสิ้น 39,740 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้จัดสรรงบลงไปยังจังหวัดแล้ว 36,749 ล้านบาท และหลังจากนี้แต่ละจังหวัดจะร่วมกับสำนักงบประมาณใน 18 เขตพื้นที่ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินลงไปยังตำบลต่อไป

5.ตำรวจกองปราบฯ ส่งฟ้องคดีโอนหุ้น “ชูวงษ์” ต่ออัยการแล้ว มั่นใจหลักฐานเอาผิด “บรรยิน-พริตตี้-โบรกเกอร์สาวพร้อมแม่” ได้!

(บน) พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ (ล่างซ้าย) น.ส.กัญฐณา หรือน้ำตาล ศิวาธนพล พริตตี้ (ล่างขวา) น.ส.อุรชา หรือป้อนข้าว วชิรกุลฑล โบรกเกอร์คนสนิทนายชูวงษ์ และนางศรีธรา พรหมา มารดา น.ส.อุรชา
ความคืบหน้าคดีนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด อายุ 50 ปี นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำขณะนั่งรถยนต์ยี่ห้อเลกซัส ที่ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ขับไปส่งนายชูวงษ์ที่บ้านพัก หลังตีกอล์ฟด้วยกัน และอ้างว่ารถเสียหลักไปชนต้นไม้ จนนายชูวงษ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ให้ 2 สาว คือพริตตี้และโบรกเกอร์มูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 ต.ค. พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการกองปราบปราม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ เผยว่า ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของสำนวนคดีแล้ว และได้ลงชื่อในสำนวนก่อนส่งฟ้องคดีต่อพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 6 ต.ค.

พ.ต.อ.ณษ เผยด้วยว่า สำนวนคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์มีความหนา 3,335 หน้า ทางพนักงานสอบสวนมีความมั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ ว่าจะสามารถเอาผิดต่อผู้ต้องหาทั้งหมดในคดีนี้ได้ ประกอบด้วย พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์, น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล หรือน้ำตาล พริตตี้, น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล หรือป้อนข้าว โบรกเกอร์ และนางศรีธรา พรหมา มารดา น.ส.อุรชา ตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยข้อกล่าวหายังคงเป็นข้อหาเดิม คือ ร่วมกันลักทรัพย์ ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือรับของโจร และว่า ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ ซึ่งหากยังมีประเด็นใดที่ต้องการข้อมูล หรือเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถประสานมายังพนักงานสอบสวนได้

ด้าน พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการกองปราบปราม(ผบก.ป.) กล่าวถึงการจำลองเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้นายชูวงษ์เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำว่า ตนได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ประเสริฐ พัฒนาดี รอง ผบก.ป.เป็นผู้ดูแลคดีในภาพรวมทั้งหมด แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์ตามขั้นตอนต่างๆ จากกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ซึ่งทาง พฐ.จะให้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์ โดยขณะนี้ผ่านไป 1 สัปดาห์แล้ว ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้เร่งรัดไปเพื่อขอผลตรวจดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้รับมาพิจารณาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากการสอบปากคำแพทย์ที่ผ่าชันสูตรศพนายชูวงษ์เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดีนี้ด้วย โดยยืนยันว่า ทางพนักงานสอบสวนดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุมที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น