xs
xsm
sm
md
lg

ราชสกุล “รังสิต” ชนะคดีฟ้องร้องพินัยกรรมหมื่นล้านของมหารานีอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มหารานี คยาตรี เทวี (ภาพจาก BBC)
“บีบีซี” ตีข่าวศาลฎีกาของอินเดียตัดสินให้ “เทพราช - ลลิตยา” สองพี่น้องราชสกุล “รังสิต” ผู้เป็นทายาทของ “มหาราชจกัต ซิงห์” ได้รับชัยชนะในการยื่นคัดค้านพินัยกรรมของ “มหารานี คยาตรี เทวี” ผู้ทรงเป็นท่านย่า โดยสมบัติมูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท

วันที่ (25 ก.ย.) สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ และเว็บไซต์แคทช์นิวส์ของอินเดีย รายงานถึงผลการตัดสินคดีฟ้องร้องอ้างสิทธิในมรดกของมหาราชจกัต ซิงห์ แห่งราชวงศ์ชัยปุระ ในรัฐราชสถานของอินเดีย ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี 2540 โดยศาลฎีกาของอินเดีย ตัดสินให้นายเทพราช ซิงห์ และ น.ส.ลลิตยา กุมารี สองพี่น้องผู้เป็นทายาทของมหาราชจกัต ซิงห์ กับอดีตพระชายาราชนิกุลไทย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ธิดาคนเล็กของ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สายพระโลหิตในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับชัยชนะในการยื่นคัดค้านพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี พระชายาองค์ที่ 3 ในมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 แห่งราชวงศ์ชัยปุระ พระราชมารดาในมหาราชจกัต ซิงห์ ผู้ทรงเป็นท่านย่าของนายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา เมื่อวันที่ 23 ก.ย.

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดีย ได้ตัดสินยืนคำพิพากษาของศาลกรุงนิวเดลี ซึ่งระบุว่า นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา มีสิทธิ์ในสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ รวมถึงส่วนแบ่งในพระราชวังชัย มาฮาล และพระราชวังรามบักห์ ในเมืองชัยปุระ ถูกดัดแปลงเป็นกิจการโรงแรมหรูในปัจจุบัน ตลอดจนกิจการอื่น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 200 - 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,000 - 14,000 ล้านบาท ขณะที่ นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ยื่นฟ้องศาลคัดค้านพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี ที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2552 ขณะมีพระชนมายุ 90 พรรษา

เนื้อหาในพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี ได้มอบสิทธิ ในการจัดการสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ ให้แก่คณะกรรมการบริหารบริษัท ราม-บักห์ พาเลซ โฮเต็ล พีวีที จำกัด รวมถึงบริษัทอื่น ๆ รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สมบัติที่สืบทอดมาจากมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 ขณะที่นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ซึ่งยื่นฟ้องร่วมกัน ระบุว่า มหารานี คยาตรี เทวี ทรงทำพินัยกรรมในขณะที่ทรงมีพระชนมายุมาก ทั้งยังมีสุขภาพอ่อนแอ จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพูด จึงอาจถูกแทรกแซง โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายเทพราช ซิงห์ ระบุว่า ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งตนและน้องสาว เพียงแต่ต้องการทวงถามถึงส่วนแบ่งในกิจการของตระกูล ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของมหาราชจกัต ซิงห์ ผู้เป็นบิดา แต่ไม่เคยเรียกร้องอะไรนอกเหนือไปจากนั้น ในที่สุดได้มีโอกาสก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ที่มีต่อผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษได้

สำหรับมหารานี คยาตรี เทวี เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “สตรีที่สวยที่สุดในโลก” จากการจัดอันดับของนิตยสารโว้ค สื่อด้านแฟชั่นและความงามในโลกตะวันตก ยุคหลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490 แม้ว่าการปกครองในระบอบกษัตริย์และมหาราชาผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ในอินเดียจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่การใช้ชีวิตอย่างหรูหรามีระดับของมหารานี คยาตรี เทวี ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้พระองค์ได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอย่างมาก ในแวดวงสังคมระดับโลก ทั้งยังมีการพบปะกับบุคคลสำคัญระดับโลกอีกหลายราย ทั้งราชนิกุลในราชวงศ์อังกฤษ และสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น

นอกจากนี้ มหารานี คยาตรี เทวี ยังได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนสิทธิสตรีด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสตรีในแคว้นชัยปุระ ปัจจุบันกลายเป็นเมืองชัยปุระ เมืองเอกของรัฐราชสถาน ทางภาคตะวันตกของอินเดีย ทั้งยังเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอินเดีย เพราะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดียในปี 2502 และได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีก 2 สมัยซ้อนด้วย

ส่วน ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ผู้เป็นมารดาของผู้ยื่นฟ้องร้องทั้ง 2 เป็นธิดาคนเล็กของ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สืบสายพระโลหิตในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ทั้งนี้ นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ได้ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยตามมารดา หลังจาก ม.ร.ว.ปรียนันทนาได้หย่าร้างกับมหาราชจกัต ซิงห์ ในปี 2530 พร้อมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2551 จากการสรรหา โดยมาจากภาคส่วนอื่น ๆ (ประธานมูลนิธิวิภาวดีรังสิต) และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว. มีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา
นางสาวลลิตยา กุมารี (ซ้าย ) ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต (กลาง) นายเทพราช ซิงห์ (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น