คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.“ในหลวง” พระปัปผาสะอักเสบทุเลาลง เสวยพระกระยาหารได้ แต่แพทย์ยังถวายพระกระยาหารทางหลอดพระโลหิต!
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 16 โดยระบุว่า ตามที่คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช และเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ข้างขวาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คณะแพทย์ฯ ได้ถวายออกซิเจนถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิต และพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ก.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปรอท (ไข้) สูงขึ้นอีก ร่วมกับมีระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสพระโลหิตลดลง ความดันพระโลหิตปรกติ พระชีพจรมีอัตราเร็วขึ้นเล็กน้อย ผลการตรวจพระโลหิตพบมีลักษณะการติดเชื้อขึ้นอีก ผลตรวจเอกซเรย์พระอุระ (อก) พบมีการอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ข้างซ้ายส่วนล่าง ผลการเพาะเชื้อจากพระเขฬะ (น้ำลาย) ของหลอดพระวาโย (หลอดลม) ด้านขวา เมื่อวันที่ 3 ก.ย. พบเชื้อแบคทีเรียหลายประเภท บ่งชี้สาเหตุการอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ทั้งข้างขวา และข้างซ้าย น่าจะเกิดจากการสำลัก (Aspirated pneumonitis) คณะแพทย์ได้ปรับพระโอสถปฏิชีวนะ และถวายพระกระยาหารทางหลอดพระโลหิต ถวายออกซิเจนเพื่อให้ระดับออกซิเจนในกระแสพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ ร่วมกับการถวายกายภาพบำบัด เพื่อช่วยขยายพระปัปผาสะ (ปอด) และขับพระเขฬะ (น้ำลาย) ทั้งนี้ พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ยังคงมีพระปรอท (ไข้) ความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ เสวยพระสุธารส (น้ำ) ได้บ้าง
ต่อมาวันที่ 16 ก.ย. สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 17 ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระปรอท (ไข้) มาตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ก.ย. พระชีพจรและความดันพระโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปรกติ อัตราการหายพระทัยและระดับออกซิเจนในกระแสพระโลหิตกลับสู่ภาวะปรกติ ผลการตรวจพระโลหิตปรากฏว่าการอักเสบลดลง ผลการตรวจเอกซเรย์พระอุระ (อก) พบว่า การอักเสบของพระปัปผาสะ (ปอด) ทุเลาลงอย่างมาก เสวยพระกระยาหารได้ แต่คณะแพทย์ฯ ยังคงถวายพระกระยาหารทางหลอดพระโลหิตต่อไปอีกระยะหนึ่ง ร่วมกับการถวายออกซิเจนและกายภาพบำบัดต่อไป
ทั้งนี้ วันเดียวกัน(16 ก.ย.) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการทำงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มู ลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี(พอ.สว.) ที่โรงเรียนซับนกแก้ววิทยา อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โอกาสนี้ มีรับสั่งถึงพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ข้าพเจ้าบินกลับกรุงเทพฯ เพราะเป็นห่วงพระองค์ เมื่อวานได้ไปเฝ้า ดีใจเหลือเกินที่ทราบว่าไข้พระองค์ลดแล้ว ปอดที่ดูจากเอกซเรย์ก็ดีขึ้นมาก เกือบจะเป็นปกติแล้ว และทรงพระสำราญขึ้น รู้เลยว่าพระองค์ไม่มีไข้ เพราะว่าข้าพเจ้าได้เอื้อมมือไปสัมผัสพระหัตถ์ของพระองค์และจับแขน รู้สึกว่าพระองค์ไม่ร้อน ดีใจที่ว่าทรงกำลังอยู่ในโพรเซสของการจะหาย คือดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างไร ข้าพเจ้ายังอยากให้พวกเราสวดมนต์บทโพชฌังคปริตร” จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงนำสมาชิก พอ.สว.จังหวัดสระแก้วสวดบทโพชฌังคปริตร
สำหรับบทสวดโพชฌังคปริตร เป็นบทสวดที่ชาวพุทธเชื่อว่า สวดแล้วจะช่วยให้หายจากโรค เนื่องจากพระไตรปิฎกบอกว่า โพชฌงค์เป็นธรรมเกี่ยวกับปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง ทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงสอนแสดงสัมโพชฌังค์ ทำให้พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ หายจากอาพาธ และเมื่อพระพุทธองค์อาพาธ ได้ให้พระจุนทะแสดงโพชฌงค์ถวาย
2.ศาล พิพากษาจำคุกแกนนำ นปก. “วีระกานต์-ณัฐวุฒิ-วิภูแถลง-นพ.เหวง” 4 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีบุกบ้าน “ป๋าเปรม” !
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำและแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) หรือชื่อใหม่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) 7 คนเป็นจำเลย ประกอบด้วย 1.นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล 2.นายวีระศักดิ์ เหมธุริน 3.นายวันชัย นาพุทธา 4.นายวีระกานต์(ชื่อเดิม วีระ) มุสิกพงศ์ 5.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 6.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย 7.นพ.เหวง โตจิราการ ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยมีมีดดาบ มีดดายหญ้า มีดปลายแหลม มีดพกหลายเล่มเป็นอาวุธ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีจำเลยกับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเป็นหัวหน้าและมีหน้าที่สั่งการ ใช้ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ , เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิก แล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรค 2 , 215 , 216 ประกอบมาตรา 33 , 83 และ 91 จากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำและแนวร่วม นปก.นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนจากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่จากสนามหลวงไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อถึงเวลาที่ศาลนัด ปรากฏว่า มีจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาแค่ 6 คน คือจำเลยที่ 1-3 และ 5-7 ส่วนนายวีระกานต์ จำเลยที่ 4 ไม่ได้เดินทางมา โดยให้ผู้แทนนำใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจมายื่นต่อศาล เพื่อขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป เนื่องจากมีอาการป่วยเลือดออกในลำไส้ ด้านศาลสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 4 ออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ย.เวลา 09.00 น. และให้อ่านคำพิพากษาของจำเลยที่เหลือในวันดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปก.เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และแกนนำได้พูดชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเคลื่อนขบวนเข้าไปที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม แม้ตำรวจจะได้เจรจาเพื่อไม่ให้เคลื่อนขบวนเข้าไปก็ตาม แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้เลิกแล้ว แต่ไม่เลิก โดยนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 5 ยังคงชักชวนให้ผู้ชุมนุมฝ่าด่านสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแย่งรั้วเหล็กกั้นและผลักเจ้าหน้าที่ให้ถอยออก การที่จำเลยที่ 4-7 สู้คดีว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมให้ผู้ชุมนุมรื้อรั้วกันเอง โดยเจ้าหน้าที่จะไม่ขัดขวางนั้น จำเลยไม่มีพยานที่มีน้ำหนักพอมาหักล้างได้ จำเลยที่ 4-7 มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้าสั่งการ ก่อให้เกิดความวุ่นวายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ส่วนจำเลยที่ 1-3 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมชุมนุมมาตั้งแต่ต้น แม้จำเลยที่ 3 จะยอมรับว่า ได้รับการว่าจ้างให้ขับรถปราศรัย ซึ่งก็ทำไปตามหน้าที่ โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้าง จึงมีเหตุอันควรสงสัยพอสมควรว่า จำเลยที่ 1-3 มีส่วนกับการชุมนุมหรือไม่ จึงยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1-3
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น การที่ผู้ชุมนุมใช้อิฐตัวหนอนขว้างปาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้จับกุมจำเลยที่ 4-7 โดยจำเลยที่ 4-7 ได้พูดชักชวนให้ผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยนำสืบว่า ไม่ได้พูดปลุกระดม แต่ความวุ่นวายเกิดจากเจ้าหน้าที่จะเข้ามา ผู้ชุมนุมจึงใช้วัสดุใกล้ตัวมาป้องกันตัวนั้น ศาลเห็นว่า การจับกุมเป็นหน้าที่ของตำรวจที่สามารถจับกุมได้เมื่อเห็นการกระทำผิดซึ่งหน้า และตามพยานหลักฐานที่เป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ พบว่า จำเลยที่ 4-7 พูดปราศรัยขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแกนนำ นปก. โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เก้าอี้พลาสติกและก้อนอิฐตัวหนอนขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่การป้องกันตัวตามที่จำเลยอ้าง ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ได้ปราศรัยไม่ให้ผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่นั้น ศาลเห็นว่า หากพิจารณาพฤติการณ์ตั้งแต่ต้นเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นว่าคำพูดดังกล่าวของจำเลยพูดปนกับการเร้าให้ผู้ชุมนุมต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้มีเจตนาห้ามปรามอย่างจริงจัง จึงมีความผิดฐานยุยงให้ผู้อื่นต่อสู้ขัดขวาง ในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น มีเจ้าพนักงานที่กำลังปฏิบัติการจับกุม เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ใช้อิฐขว้างใส่เจ้าหน้าที่และใช้ไม้เสาธงปัดแกว่งไปมา ระหว่างที่ดึงตัวลงจากรถ จำเลยที่ 1 ใช้เข่ากระแทกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจนมือขวาหัก ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะที่จำเลยที่ 2-3 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานในฐานความผิดนี้
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ให้จำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ โดยกระทำความผิดในฐานะเป็นหัวหน้า ให้จำคุกคนละ 3 ปี , ฐานเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิก แต่ไม่เลิก จำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี และฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน รวมเป็น 6 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม คำให้การเป็นประโยขน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน และให้จำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน และยกฟ้องจำเลยที่ 2-3
ต่อมา ทนายความและญาติของจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 5 แสนบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ด้านศาลอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
สำหรับคดีแกนนำ นปก.นำผู้ชุมนุมบุกก่อจลาจลที่หน้าบ้าน พล.อ.เปรม แยกออกเป็น 2 สำนวน สำนวนที่ศาลเพิ่งพิพากษาไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย. เป็นสำนวนแรก มีจำเลย 7 คน ส่วนสำนวนที่สอง มีผู้ต้องหา 8 คน ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ , นายจรัล ดิษฐาอภิชัย , นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ , นายบรรธง สมคำ , ม.ล.วีระยุทธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา หรือนายวิชิต เพียโคตร , นายศราวุธ หลงเส็ง , พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เสียชีวิตแล้ว และนายจักรภพ เพ็ญแข หลบหนีอยู่ต่างประเทศ โดยศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่จำเลยเดินทางมาศาลไม่ครบ มีเพียงนายจตุพรและนายศราวุธที่เดินทางมา อัยการโจทก์และฝ่ายจำเลยจึงได้แถลงต่อศาล ขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไป ซึ่งอัยการได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ติดตามตัวผู้ต้องหาที่เหลือมาศาล โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 21 ต.ค.2558 เวลา 09.00 น.
3.สะพัด “มีชัย ฤชุพันธุ์” ตอบรับนั่งประธาน กรธ.แล้ว แต่ “บิ๊กตู่” บอกยังไม่ได้ทาบ ด้าน “ปชป.” เปิดทางสมาชิกร่วมเป็น สปท. ขณะที่ นปช.ลั่น ไม่ร่วม!
ความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จำนวน 21 คน เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และการตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จำนวน 200 คน แทน สปช.ที่สิ้นสภาพไป ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้การตั้ง สปท.200 คนและ กรธ.21 คนต้องเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุก่อนหน้านี้ว่า การตั้ง กรธ.และ สปท.จะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 23 ก.ย. เนื่องจากตนต้องเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 23 ก.ย. โดยวันที่ 22 ก.ย. จะประชุมร่วม ครม.-คสช.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวนั้น
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาดักคอกรณีที่อาจมีผู้พยายามวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เป็น กรธ.หรือ สปท.ว่า “วันนี้ไม่ต้องมาวิ่งเต้น ใครวิ่งเต้นขอเป็น สปท.และ กรธ.จะขีดชื่อทิ้งก่อน วันนี้เยอะมาก” ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้ฝ่ายกฎหมายหาทางลดระยะเวลาโรดแมปลง จากเดิมที่ประเมินว่า ต้องใช้เวลาอีก 20 เดือนจึงจะมีการเลือกตั้ง นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อทาบทามผู้ที่จะมาเป็น สปท.บ้างแล้ว ทั้งกลุ่มข้าราชการ อดีตข้าราชการ พรรคการเมือง ส่วนกลุ่มการเมือง หากใครสนใจเป็น สปท.ก็ให้สมัครเข้ามา และว่า ต้องมีกลุ่มของ สปช.เดิมมาเป็น สปท.ด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้นตอนการตั้ง กรธ.และ สปท.ใช้เวลากี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ก่อนวันที่ 5 ต.ค. แต่รายชื่อรอบแรกก่อนที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาต้องมีรายชื่อออกมาแล้ว และจะกลับมาตัดสินอีกทีเมื่อเดินทางกลับมา
มีรายงานว่า คสช.ได้จัดโควต้า สปท.200 คนไว้ดังนี้ 1.กลุ่ม สปช.เก่า 60 คน 2.กลุ่มอดีตข้าราชการ 20 คน 3.กลุ่มข้าราชการประจำ 20 คน 4.กลุ่มข้าราชการทหาร 50 คน 5.กลุ่มนักกฎหมาย 10 คน 6.กลุ่มนักวิชาการ 10 คน 7.กลุ่มนักธุรกิจ 10 คน และ 8.อื่นๆ อีก 20 คน
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้ลดเวลาโรดแมปเลือกตั้งตามสูตร 6-4-6-4 ให้น้อยกว่า 20 เดือนว่า สามารถลดให้เหลือ 18 เดือนได้ไม่ยาก โดย 6 เดือนแรกที่เป็นการร่างรัฐธรรมนูญและรับฟังความเห็น ลดเหลือ 5 เดือนได้ ส่วน 4 เดือนถัดไป คือการทำประชามติ เชื่อว่าลดเวลาลงได้ครึ่งเดือน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำกฎหมายลูกใช้เวลา 6 เดือน คือยกร่างกฎหมาย 2 เดือน เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 3 เดือน และส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ 1 เดือน คิดว่ากระบวนการนี้อาจลดเหลือ 5 เดือนได้
ส่วนท่าทีของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่อการเข้าไปร่วมเป็น สปท.นั้น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ย้ำจุดยืนของ นปช.ว่า จะไม่สมัครเข้าไปเป็น สปท. หากแนวร่วม นปช.คนใดไปเป็น สปท.จะถือว่าไม่ใช่ นปช. และคิดว่า สปท.ไม่ควรมีคนจากพรรคการเมืองเข้าไปนั่ง เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าได้ประโยชน์
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ จะเชิญพรรคการเมืองให้ส่งตัวแทนเป็น สปท.ว่า หัวหน้าพรรคได้บอกแล้วว่า ยินดีให้ความร่วมมือ โดยในพรรคมีหลายคนแสดงความสนใจจะไปทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อทราบว่าหากเข้าไปเป็น สปท.แล้ว จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้าไม่ได้ ทำให้ต้องถอนตัว ดังนั้นผู้ที่จะเข้าไปเป็น สปท.ต้องเป็นคนที่ไม่คิดลงสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว ซึ่งขณะนี้มีอดีต ส.ส.ของพรรคหลายคนที่มีความอาวุโสและแสดงความจำนงไม่ลงเลือกตั้งประมาณ 11 คน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ดังนั้นคนที่จะไปเป็น สปท.อาจเป็นคนเหล่านี้ก็ได้
ส่วนเรื่องตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น มีรายงานว่า น่าจะเป็นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.และอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 โดยมีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คสช.พยายามร้องขอให้นายมีชัย มาทำหน้าที่นี้ เนื่องจากมีความเหมาะสม เชี่ยวชาญกฎหมาย ที่สำคัญทำงานกับ คสช.มาโดยตลอด เข้าใจเจตนารมณ์ดี ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายมีชัย ซึ่งอยู่ระหว่างไปต่างประเทศและจะเดินทางกลับมาช่วงวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ได้ตอบตกลงที่จะมาทำหน้าที่ประธาน กรธ.แล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า นายมีชัยตอบรับเป็นประธาน กรธ.แล้วว่า “ผมยังไม่ได้ติดต่อท่านเลย แต่ใครติดต่อผมไม่ทราบ และผมยังไม่ได้ติดต่อใครสักคน... สุขภาพท่านแข็งแรงรึเปล่า ต้องดูสุขภาพของท่านด้วย”
4.อียู ผ่อนผันไทยแก้ปัญหาประมงต่อ แต่กำหนดเงื่อนไขให้ไทยทำ 3 เรื่องสำคัญให้เห็นผลภายใน ต.ค.นี้!
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ผู้แทนรัฐบาลไทยที่เดินทางไปให้ข้อมูลเรื่องความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายกับสหภาพยุโรป(อียู) ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้รายงานผลการเจรจาล่าสุดว่า ทางอียูได้ผ่อนผันระยะเวลาให้ไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป จากเดิมที่ขีดเส้นตายไว้ที่ 6 เดือน นับจากได้รับใบเหลืองเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2558 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ภายในเดือน ต.ค.นี้ อียูขอให้ไทยดำเนินการเรื่องสำคัญอย่างน้อย 3 เรื่องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.การประกาศใช้กฎหมายประมงใหม่ 2.การประกาศใช้แผนบริหารจัดการประมงทะเล และ 3.การประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าอียูมีความเข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น
พล.ต.สรรเสริญ บอกด้วยว่า “นายกฯ รู้สึกยินดีที่อียูเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาล และยินยอมผ่อนผันให้ไทยแก้ปัญหาต่อไป เพราะที่ผ่านมา ไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาและมีความคืบหน้าในหลายเรื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำประมง และยกระดับมาตรฐานการส่งออกอาหารทะเล ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก”
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำให้มาตรการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายของไทยเป็นไปตามหลักสากล ยกระดับการทำประมงในประเทศให้ดีขึ้น โดยต้องป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น อวนรุน อวนลาก จะต้องไม่ให้ทำได้ และต้องช่วยเหลือการประกอบอาชีพอื่น รวมถึงการพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งอียูให้เราพัฒนากฎหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ส่วนเรื่องการค้ามนุษย์ ก็เร่งแก้ไข หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด “วันที่ 12 ต.ค. เจ้าหน้าที่ของอียูจะเข้ามาสังเกตการณ์การแก้ปัญหาของประเทศไทย และวันที่ 19-23 ต.ค. ผู้บริหารระดับสูงจะเดินทางเข้ามาดูอีกครั้ง ซึ่งเรามีความพร้อม หากไม่พร้อมก็ต้องไปเล่นงานเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ไม่พร้อม ถ้าเราไม่ทำ ต่อไปจะมีปัญหา หาปลาก็ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร”
5.ศาล ออกหมายจับ “อับดุล ทาวับ” ชาวปากีสถาน เอี่ยวบึ้มกรุง ด้านทหารมอบ 3 พยานให้ ตร.สอบ มีทั้งหญิง-ชายไทย และชายปากีสถาน!
ความคืบหน้าคดีระเบิดศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทร หลังเจ้าหน้าที่จับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดได้แล้ว 2 คน คือนายอาเดม คาราดัค หรือนายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด ชาวตุรกี และนายยูซุฟู มีไรลี ชาวซินเจียง ประเทศจีน และออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 11 คน โดยใน 11 คน มีหญิงไทยด้วย คือ น.ส.วรรณา สวนสัน หรือนางไมซาเราะห์ และนายเอ็มระห์ ดาวูโตกลู ชาวตุรกี สามี น.ส.วรรณา
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ตำรวจและทหารได้เข้าค้นหอพักสตรีอู๊ด ย่านดินแดง หลังจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ได้เข้าตรวจค้นจุฑาแมนชั่น ตั้งอยู่ระหว่างซอยอ่อนนุช 44 และ 46 ถ.สุขุมวิท 44 แล้วไม่พบผู้ต้องสงสัยที่เชื่อว่าเกี่ยวพันเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมและท่าเรือสาทร เพราะไหวตัวทัน หลบหนีไปก่อน ทั้งนี้ หลังตรวจค้นหอพักสตรีอู๊ด ห้อง 104 ได้ควบคุมตัวหญิงสาวที่พักอยู่ห้องดังกล่าว 3 คนไปสอบสวน เพื่อสเกตช์ภาพหาคนที่นำของมาฝากไว้ที่ห้องดังกล่าว สำหรับหญิงสาวดังกล่าว เป็นนักศึกษา 2 คน ชื่อ น.ส.ขวัญจิรา (สงวนนามสกุล) , น.ส.รัฐษนันท์ (สงวนนามสกุล) ส่วนอีกคนเป็นหญิงวัยกลางคนที่แม่ของ 1 ใน 2 นักศึกษาฝากให้มาพักอาศัยด้วย คือ น.ส.ปณิฐ์สรา ชาลีรัฐรมย์
มีรายงานว่า ชุดสืบสวนพบข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า มีชาย 3 คนนำของกลางมาฝากไว้ที่ห้องดังกล่าว โดยชายทั้ง 3 คนอาจจะหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า น.ส.ปณิฐ์สรา ที่มาร่วมพักอาศัยที่ห้องดังกล่าว เป็นภรรยาของนายอับดุล ทาวับ และเป็นคนนำกระเป๋าของใช้ส่วนตัวของนายอับดุล และนายอาเร๊ะ ไม่ทราบนามสกุล ที่ก่อนหน้านี้พักอยู่ที่จุฑาแมนชั่น ย่านอ่อนนุช มาฝากไว้ที่ห้องดังกล่าว เบื้องต้นจากการสอบปากคำ พบว่า 2 นักศึกษาไม่มีส่วนรู้เห็นกับขบวนการวางระเบิด จึงปล่อยตัวไป ส่วน น.ส.ปณิฐ์สรา ถูกควบคุมตัวไว้สอบเพิ่ม โดยพบว่า น.ส.ปณิฐ์สรา เป็นคนเรียกแท็กซี่ให้ชายเสื้อฟ้าที่วางระเบิดท่าเรือสาทรด้วย
ซึ่งต่อมา(17 ก.ย.) ตำรวจได้ขอศาลมีนบุรีออกหมายจับนายอับดุล ทาวับ อายุ 30 ปี สัญชาติปากีสถาน สามี น.ส.ปณิฐ์สรา แล้ว ข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยการออกหมายจับครั้งนี้มีขึ้นหลังเจ้าหน้าที่พบหลักฐานเป็นหนังสือเดินทางของผู้ต้องหาในห้องพัก เลขที่ 412 และ 414 ของพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ย่านหนองจอก ที่เดียวกับนายยูซุฟู มีไรลี และนายอาเดม คาราดัค หรือนายบิลาเติร์ก มูฮัมหมัด ที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ โดยมีพยานเห็นผู้ต้องหาอาศัยอยู่ห้องพักดังกล่าว
ล่าสุด(18 ก.ย.) ทหารได้ควบคุมตัวพยาน 3 คนในคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร ประกอบด้วย นายจาเวด อิคบาล ชาวปากีสถาน อายุ 59 ปี นางปณิฐ์สรา ชาลีรัฐรมย์ อายุ 40 ปี ภรรยานายอับดุล ทาวับ และนายชอบ สกุลทอง อายุ 54 ปี คนขับรถแท็กซี่ มาส่งให้ตำรวจนครบาลสอบสวนต่อ เนื่องจากคาดว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุระเบิด โดยมีรายงานว่า นายชอบเป็นคนขับแท็กซี่พาชายเสื้อฟ้าหรือนายซูแบร์ อับดุลลา มือระเบิดท่าเรือสาทร และชายไม่ทราบชื่ออีกคน จากห้างสรรพสินค้าย่านบางกะปิไปส่งที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กาลิด อาบู บาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย เปิดแถลงว่า ทางการมาเลเซียได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 3 คน และกำลังสอบปากคำว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ หรือไม่ เป็นชายชาวปากีสถาน 1 คน และชาย-หญิงชาวมาเลเซีย ซึ่งภายหลัง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. นำทีมเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อประสานขอความชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นพบว่า ผู้ต้องหา 3 คนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงในมาเลเซีย ในฐานะผู้สนับสนุน แต่ต้องตรวจสอบต่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในไทยหรือไม่
6.ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนประหารชีวิต “ไอ้เกม” คดีฆ่าข่มขืน “น้องแก้ม” บนรถไฟ!
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ศาลจังหวัดหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีที่อัยการจังหวัดหัวหิน เป็นโจทก์ และนางลักขณา ทองพัฒน์ โจทก์ร่วม ฟ้องนายวันชัย หรือเกมส์ แสงขาว อายุ 21 ปี พนักงานบริการบนรถไฟขบวนนครศรีธรรมราช – กรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 1 ข้อหากระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ปกปิดการกระทำผิดซ่อนเร้นอำพรางศพ หลังก่อเหตุฆ่าข่มขืน ด.ญ.กชกร พิทักษ์จำนงค์ หรือ “น้องแก้ม” อายุ 13 ปี บนขบวนรถเร็วที่ 174 ระหว่างนครศรีธรรมราช -กรุงเทพฯ จากนั้นโยนศพทิ้งทางหน้าต่างรถไฟที่บริเวณ ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหตุเกิดเมื่อกลางดึกวันที่ 6 ก.ค.57
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตนายวันชัย เนื่องจากมีพฤติกรรมเหี้ยมโหด แม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพทุกข้อหา และอ้างว่าสำนึกผิดแล้ว ที่ทำไปเพราะความคึกคะนอง ขาดความยั้งคิด ทั้งยังให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงขอให้ศาลปรานีบรรเทาโทษและลงโทษสถานเบาก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุบรรเทาโทษ เนื่องจากจำเลยจำนนต่อหลักฐาน
หลังฟังคำพิพากษา นายวันชัย ยังคงมีสีหน้าเรียบเฉย จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวกลับไปคุมขังที่เรือนจำบางขวางต่อไป ขณะที่นายพัฒนชัย ธานินทร์พงศ์ ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของน้องแก้ม ซึ่งมาร่วมฟังคำพิพากษา กล่าวว่า ทุกวันนี้แม่น้องแก้มยังทำใจไม่ได้ ยังเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหมั่นทำบุญให้น้องแก้มเสมอ และว่า รู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ นายพัฒนชัย เผยด้วยว่า จนถึงขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เยียวยาให้แล้วจำนวน 8.5 ล้านบาท
ด้านนายสมเจตน์ อำนวยสวัสดิ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักอัยการภาค 7 กล่าวว่า แม้ทางศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนให้ประหารชีวิตนายวันชัย แต่จำเลยยังมีสิทธิ์ยื่นฎีกาตามกฎหมายภายใน 1 เดือน และว่า หากมีการโต้แย้งอะไร ก็แก้ฎีกากันต่อไป
ขณะที่นายสุทิน ชิตชอบ ผู้บัญชาการเรือนจำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า สำหรับนายณัฐกรณ์หรือหนึ่ง ชำนาญ จำเลยที่ 2 ในคดีเดียวกับนายวันชัย แสงขาว ซึ่งศาลจังหวัดหัวหิน มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 ให้จำคุก 6 ปี แต่จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 ปีนั้น ที่ผ่านมานายณัฐกรณ์ไม่ยื่นอุทธรณ์คดี โดยยอมรับโทษจำคุก 4 ปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำประจวบคีรีขันธ์ โดยมีสุขภาพแข็งแรง มีความประพฤติเรียบร้อย สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ถูกคุมขังรายอื่นได้ตามปกติ