xs
xsm
sm
md
lg

งามขนาด! ปรากฏการณ์ “เมฆสีรุ้ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บรรยากาศปรากฏการณ์ เมฆสีรุ้ง เมื่อประมาณ 5 โมงเย็นที่ผ่านมา

วันนี้ (9 มิ.ย.) เมื่อช่วงเวลา 17.00 น. บนท้องฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ได้เกิดปรากฏการณ์เมฆสีรุ้งขึ้นก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก สำหรับเมฆสีรุ้งมีลักษณะจะแตกต่างจากรุ้งกินน้ำตรงที่ไม่ได้มาเป็นแถบบนท้องฟ้า แต่จะกินพื้นที่ก้อนเมฆขนาดใหญ่ เห็นเป็นสีรุ้งทั่วท้องฟ้า หรือก้อนเมฆเป็นสีรุ้งทั้งก้อน

ทั้งนี้ เมฆสีรุ้ง (Rainbow Clouds) ภาษาทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Irisation (คำว่า irisation น่าจะมาจากคำว่า Iris ซึ่งในภาษากรีก คือ เทพธิดาแห่งรุ้ง) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากการที่แสงอาทิตย์สีขาวตกกระทบเม็ดน้ำขนาดต่างๆ ในเมฆจางๆ ซึ่งเป็นเมฆที่มีจำนวนหยดน้ำไม่หนาแน่นมากนัก เมื่อแสงตกกระทบหยดน้ำแต่ละหยด จะเกิดการหักเหเปลี่ยนทิศทางไปจากแนวเดิม แต่เนื่องจากแสงสีต่างๆ (ที่ประกอบขึ้นเป็นแสงสีขาว) หักเหได้ไม่เท่ากัน ผลก็คือ แสงสีขาวแตกออกเป็นสีรุ้ง และเนื่องจากในเมฆจางๆ ที่ว่านี้มีเม็ดน้ำขนาดต่างๆ กัน ทำให้สีรุ้งสีหนึ่ง (เช่น สีเขียว) ที่หักเหออกจากเม็ดน้ำขนาดหนึ่งๆ ซ้อนทับกับสีรุ้งอีกสีหนึ่ง (เช่น สีเหลือง) ที่มาจากเม็ดน้ำอีกขนาดหนึ่ง จึงทำให้มองเห็นสีรุ้งมีลักษณะเหลือบซ้อนทับกันอย่างสลับซับซ้อน บางทีก็ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เวลาที่สังเกตเห็นบ่อยๆ จะเป็นช่วงเวลาเย็นที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า





กำลังโหลดความคิดเห็น