xs
xsm
sm
md
lg

ร็อกเกอร์รุ่นจิ๋ว ที่คนไทยต้องภาคภูมิ! The Talento

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสียงปรบมือดังก้องเวทีประกวด Asia's Got Talent เมื่อบทเพลง "Highway Star" ของร็อกเกอร์สุดเก๋า "Deep Purple" ถูกบรรเลงโดยเด็กชายชาวไทยวัย 10-11 ขวบทั้ง 5 คน ได้รับ 4 ผ่าน รวมไปถึงคำชื่นชมจาก "David Foster" ปรมาจารย์นักดนตรีคนหนึ่งของโลก...

เด็กชายห้าคนที่ว่านั้น คือสมาชิกแห่งวง "The talento" ที่กลายเป็นตัวแทนจากเวทีการประกวด Thailand Got Talent ประเทศไทย สู่ Asia's Got Talent ที่ประเทศสิงคโปร์

เขาทั้งห้าเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม เด็กชายสุภณัฐ พรวรวาณิช (แมค) ตำแหน่งกลอง เด็กชายเสฏฐนันท์ พรวรวาณิช (มิค) ตำแหน่งกีตาร์ เด็กชายปภังกร เดชาวงศ์ภาคิน (พร้อม) ตำแหน่งเบส เด็กชายจิรพัฒน์ กนกวิไลรัตน์ (ริว) ตำแหน่งร้องนำ และเด็กชายธันวา เนตรไทย (พรู) ตำแหน่งคีย์บอร์ด

ด้วยฝีมืออันน่าชื่นชมนี้ ทำให้เราเดินทางไปพบกับพวกเขา พร้อมทั้ง คุณแม่ทิพธารินี พรวรวาณิช คุณแม่ฐิรัฏฐ์มน เดชาวงศ์ภาคิน คุณแม่ปราณี กนกวิไลรัตน์ คุณแม่วัชรินทร์ เนตรไท และ มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ ผู้เปรียบเสมือนลมใต้ปีกสำหรับการเดินทางบนถนนสายดนตรีของเด็กๆ กลุ่มนี้ ทั้งหมดจะมาบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้น ตัวตน และเบื้องหลังของความสำเร็จ อันนับเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ประเทศไทยของเรา

• จุดเริ่มต้นของการเริ่มเล่นของดนตรีแต่ละคนเป็นอย่างไร

มิค : แรกๆ เลยนะครับ คุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุนให้เราเรียนเปียโนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก แล้วหลังจากนั้นต่างคนก็ต่างแยกออกไปเล่นเครื่องดนตรีที่ตัวเองชอบครับ

• แล้วแต่ละคนไปชอบเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นกันได้อย่างไร

มิค : ก็หลังจากเรียนเปียโนตอน 6 ขวบ พอตอนอายุ 9 ขวบผมก็ไปเห็นกีตาร์ แล้วพอได้ฟังเสียงเท่านั้น มันก็ชอบ (ยิ้ม) ก็เลยขอไปเรียนกีตาร์เป็นเครื่องดนตรีชิ้นที่สอง

แมค : คือตอนแรกก็เล่นเปียโนเหมือนมิค (มือกีตาร์) แล้วหลังๆ ผมเห็นอะไรก็ไม่รู้เสียงดังๆ ผมก็ไม่รู้ว่าคือกลอง แต่ผมชอบเสียงดังๆ ผมก็เลยขอเปลี่ยนมาเรียนกลองตอน 9 ขวบ

พร้อม : ผมรู้จักเบสครั้งแรกตอน ป.3 ก็เห็นว่ามันเสียงดึ่มดึ๊มดี (หัวเราะ) ก็เลยชอบ ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามันหนักด้วย

พรู : ผมชอบเมโลดี้ของเปียโนอยู่แล้ว พอเข้ามาวงก็เลยอยากเล่นคีย์บอร์ด

ริว : ผมชอบร้องเพลงตั้งแต่ 2 ขวบแล้ว แต่ว่าร้องแค่เป็นโน้ต (ยิ้ม) ยังไม่ได้ร้องเป็นเพลง แล้วพอ 2 ขวบครึ่งถึงได้ร้องเป็นเพลง เพลงแรกที่ร้องเป็นเพลงของพี่ดา เอ็นโดรฟิน หลังจากนั้นก็มาเรียนเปียโนเพื่อการร้องเพลงที่ถูกต้องครับ แล้วพอขึ้น ป.1 ผมก็เป็นนักร้องประสานเสียง และพอเห็นเขาประกาศรับเข้าชมรม ผมก็เลยสมัครเข้ามา

• คือวงเราไม่ได้เริ่มจากการเป็นเพื่อนกันมาก่อนใช่ไหม

แมค : ไม่ครับ...เป็นเพื่อนร่วมชั้นกัน ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ยกเว้นแม็กกับมิคที่เป็นพี่น้องฝาแฝดกัน แล้วพวกเราก็มีความสนใจ เพราะเห็นรุ่นพี่ๆ เขาเท่ดี เวลาเล่นดนตรีก็มีคนมากระโดด มันๆ ก็เลยมาสมัครเข้าชมรมดนตรีของโรงเรียน

ริว : อาจารย์ของเราก็คือ มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ ครับ

• มิน่าล่ะ...ตอนประกวด Asia's Got Talent เราถึงได้โยกหัวทุกคน

พรู : มันเป็นฟีลิ่งครับ (หัวเราะ)

พร้อม : จริงๆ บางทีก็ถูกบล็อกให้โยกบ้าง เพราะเวลาไปแข่งขันก็จะต้องมีส่วนร่วมกับคนดู แต่ส่วนใหญ่ก็โยกเองครับ ที่บอกให้ทำๆ ก็ลืมหมดเลย มันมาเอง ใช้อารมณ์อย่างเดียวเลย

• คือเราก็เข้าใจความหมายของเพลง การสื่ออารมณ์ของเพลง แม้ว่าเราจะอายุเพียงเท่านี้

มิค : ครับ อย่างของผมกีตาร์ เวลาฟังก็เน้นว่าไดนามิคเพลงจะเหมือนเกี่ยวกับข้อมือเยอะ หรือไม่ก็ผ่านไลน์กีตาร์โซโล หรือไม่ก็ดูอย่างอื่นที่บ่งบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงเศร้าๆ เพลงนี้เพลงมันให้คนกระโดด อันนี้ก็จะตามไลน์เมโลดี้ของเพลง

แมค : ก็อาศัยดูคอนเสิร์ตที่คุณพ่อคุณแม่พาไปดูบ้าง เพราะเราอยากดูฟีลิ่งของเขา อยากดูเทคนิค เวลาเขาเล่นคอนเสิร์ตเขาจะทำอย่างไร หรือไม่ก็ซื้อแผ่นมาเปิดที่บ้าน อย่างกลอง เราก็จะดูว่าเขาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร ถ้าเกิดไม้ตีหักต้องทำอย่างไร ฉาบแตก ต้องทำอย่างไร ก็จะเปลี่ยน เราก็ต้องพกไปด้วย มิคก็ต้องพกกีตาร์ไปสองตัวอยู่แล้ว อย่างเช่นไปออกรายการสด เคยมีสายกีตาร์ขาดตอนซาวด์เช็ค ก็ต้องรีบเอากีตาร์สำรองมาจากรถเลย ต้องรีบวิ่ง ก็ดีนะที่มิคเผื่อไป (หัวเราะ)

พร้อม : แต่ถ้าขาดตอนเล่นเวทีจริงก็ตามเวรตามกรรมครับ (หัวเราะ) คือก็ใช้สายอื่นทดแทน ทำเสียงตามสายที่ขาดไป หรือบางทีสปริงข้างหลังมันถูกดึงไปเยอะ เพราะว่าสายที่ดึงไว้มันขาด เราก็ต้องกดสปริงข้างหลัง แล้วไปเล่นเมโลดี้ที่มีเสียงมันไม่ถึง เพราะว่าเราก็ต้องไปดูพวกมืออาชีพเล่น เวลาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต้องทำอย่างไร

• อันนี้คือเราศึกษาเองใช่ไหม

ริว : ครับ ส่วนหนึ่งมาสเตอร์ก็สอน อีกส่วนเราก็ดูจากคอนเสิร์ตจริง คุณพ่อคุณแม่ซื้อให้บ้าง เก็บเงินซื้อเองบ้าง

พรู : จากที่รอบแรกเขิน อาย ตื่นเต้น ไม่กล้าขึ้นเวที พอได้ดู เราก็ปล่อยแบบเขา ก็มีความกล้ามากขึ้นในการที่จะไปโชว์ให้สาธารณะชนดู

มิค : จากมั่วหมดเลย (หัวเราะ) อย่างรายการแรกบนเวที เดอะแบรนด์ ไทยแลนด์ ขอแค่รอดพอ เราก็ได้ 4 เลื่อน ได้เข้ารอบ แต่รอบต่อไป เขาเห็นว่ามั่วก็เลยตกรอบ (หัวเราะ)

• เสียใจไหมเวทีแรกเราก็ไม่ได้รางวัลแล้ว

แมค : ครั้งแรกก็เสียใจนิดหน่อยครับ แต่ไม่ถึงสองนาที เราก็หายเสียใจแล้ว ก็คือพอกล้องถ่ายเราก็ ฮือๆ (ทำท่าร้องไห้) แต่พอหันไป ก็หัวเราะแล้ว

มิค : การแพ้บ่อยๆ ก็ทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น แพ้ชนะมันเรื่องเป็นธรรมดา พวกเราไม่กลัว เราอายุขนาดนี้ขึ้นเวทีขนาดนี้ก็ดีใจสุดๆ แล้ว พวกเราก็ทำเต็มที่ทุกครั้ง เวลาตกรอบเสียใจไหม ก็เสียใจ แต่ว่าพวกเราคิดในแง่บวกให้มันเป็นแรงผลักดัน ทำให้พวกเรามีฝึกซ้อมฝีมือให้เก่งๆ มากขึ้น

มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ : คือพลาดได้ แต่ไม่ได้มาแบนกัน เรามาแก้ไขร่วมกัน เพราะทุกคนก็ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดเวลาแข่งหรือโชว์ ก็อยากจะทำให้ดีที่สุด แต่บางครั้งอุบัติเหตุมันก็เกิดขึ้นได้ ก็ไม่ว่ากัน ไม่ตำหนิกัน ให้อภัยกันแล้วมาเริ่มใหม่ เด็กๆ เขาก็เข้าใจตรงนี้กันดี

คุณแม่ ทิพธารินี : ก็พูดกันก่อนแข่งเสมอว่าทำให้เต็มที่ที่สุด ผลจะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่เราทำให้เต็มที่ เราจะได้ไม่เสียใจ ถ้ามันเกิดพลาดขึ้นมา เราก็ไม่ทับถมกัน ก็ต้องให้มันผ่านไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ เขาก็จะทำได้ดีกว่าตอนที่ซ้อม ในวันแข่งหลายๆ เวที เพราะจิตใจเขาเข้มแข็งกว่าพ่อแม่เสียอีก (หัวเราะ) คือเหมือนเขามีความฝันความหวังของเขาในการเล่นแต่ละครั้งที่ไปแข่งหรือไปโชว์ เขาก็เต็มที่ในทุกความรู้สึก เขาทำตามที่ซ้อมแล้วก็ดีกว่าซ่อมอย่างนี้ เขาตั้งใจมาก

• เราให้ฟังหน่วยว่าหลักๆ เราซ้อมกันอย่างไรบ้าง

พรู : ก็ซ้อมช่วงกลางวัน เย็น วันละ 1 ชั่วโมง นอกจากใกล้แข่งก็อาจจะเป็น 2-3 ชั่วโมง แล้วแต่ครับ

ริว : ส่วนของผมก็มีตอนเช้าที่ต้องซ้อมร้องประสานเสียงเพิ่มด้วยครับ แต่ถ้าเป็นช่วงใกล้สอบ มาสเตอร์ก็จะให้หยุดก่อน 2 สัปดาห์

พร้อม : แต่เราก็จะมีการบ้านดนตรีอยู่แล้ว ทุกคนก็จะฝึกหลังจากกลับไปบ้านทำการบ้านเสร็จแล้ว

• ทั้งการบ้านโรงเรียนและการบ้านดนตรี ถามจริงๆ เราเบื่อบ้างไหม

มิค : ไม่เบื่อเลย ก็สนุกดี อย่างกีตาร์เริ่มแรกก็เจ็บนิ้ว แต่ตอนนี้นิ้วด้านแล้วครับ (หัวเราะ)

พร้อม : สมมุติว่าเราเบื่อเพลงที่จะไปแข่ง เราก็จะเล่นเพลงไร้สาระ อย่างเช่นเพลงที่เราชอบ จากยูทูป ก็จะมีแนวญี่ปุ่น J-pop ที่มือคีย์บอร์ดชอบ

แมค : ไม่ก็แนวร็อกช้าๆ อย่าง I Don't Want to Miss a Thing ของ Aerosmith หรือไม่ก็คลาสสิกหน่อย

ริว : เราก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะว่าเราแบ่งเวลามาซ้อมดนตรีด้วย ทำให้พวกเรากระตุ้น และต้องตั้งใจมากขึ้น ไม่งั้นเดี๋ยวสอบตก แล้วก็โดนแม่ด่าครับ (หัวเราะ)

พรู : เพราะเราดังแล้วด้วย ถ้าใครรู้ว่าสอบตก อายเขาตายเลย

• ฟังดูแล้วแรกๆ เราไม่ค่อยจะตั้งใจเรียนกันเท่าไหร่เลยนะ จนมาเล่นดนตรี

มิค : ใช่ครับ (หัวเราะ) อย่างตอนนั้นผมอยู่ ป.1 ผมขอไปเข้าห้องน้ำก็ไม่รู้ว่านานแค่ไหน ก็ดูบาสจนจบแมตช์ ครูเขาก็เขียนในสมุดการบ้านมาบอกแม่ ผมก็จะฉีกหน้านั้นไปทิ้งถังขยะ

คุณแม่ จิรัฏฐ์มน : คือจริงๆ แล้วกิจกรรมดนตรีตรงนี้ก็ไม่ได้เบียดบังอะไรการเรียน เพราะช่วงพักกลางวัน แทนที่จะไปเล่น เขาก็มาซ้อม ตอนเลิกเรียนที่เด็กๆ คนอื่นอาจจะไปเรียนพิเศษวิชาการ ก็มาซ้อม คือก็จะฝึกความรับผิดชอบของเขา เพราะเราก็บอกเขาว่า ถ้าไม่มีเวลาอ่านหนังสือหรือทำการบ้านอย่างคนอื่นเขา ฉะนั้นเวลาเรียนในห้องต้องตั้งใจมากกว่าเดิม ทีนี้ก็เหมือนกับสมาธิเขาเพิ่มขึ้น สังเกตได้เลยจากพฤติกรรม พอหลังจากมาเล่นดนตรีแล้วพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป การเรียนก็ดีขึ้น

แมค : คือเวลาเรียนเราก็ต้องรับผิดชอบ แต่ว่าเวลาเล่นก็เล่นตามเพื่อน

• อันนี้คือแนวทางเราทั้งหมดใช่ไหม

ริว : ใช่ครับ (หัวเราะ) ก็เป็นร็อกสไตล์ทะเล้น ไม่ได้ร็อกขนาดเฮฟวี่เมทัลจนหัวจะหลุด แต่ก็ให้ความเอนเตอร์เทนสนุกสนานกับคนดู แล้วเราก็มันเองด้วย

พร้อม : ง่ายๆ สนุกและตื่นเต้นครับ

• จะบอกว่าชื่อวง The Talento ที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งให้เป็นภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า "พรสวรรค์" แท้จริงแล้วคือมาจากความทะเล้นของเรามากกว่าใช่ไหม

มิค : ครับ คุณแม่คุณพ่อบอกว่ามันพ้องกันพอดี ฟังแล้วมันก็เหมาะกับวงที่สุด (หัวเราะ)

คุณแม่ วัชรินทร์ : คือคนข้างนอกจะงงมาก อย่าให้หยุดเล่นดนตรีเชียว นี่แหละตัวจริง (ยิ้ม) เพราะพลังงานเขาเยอะด้วยเด็กวัยนี้ เราก็เลยต้องหากิจกรรมเบิร์นเขาให้เหลือน้อย คือมาสเตอร์ต้องคอยหาเพลงที่เขาใช้พลังงานสูงๆ เพื่อที่กลับบ้านแล้วเขาจะได้สลบเข้านอนเลย

• นี่จึงเป็นที่มาของวงร็อกวงนี้

มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ : คือจริงๆ เพลง High way Star วง Deep Purple ในการประกวดโชว์ของรายการ ASIA's Got Talent ที่สิงคโปร์ปีนี้ เราก็ทำมาทุกรุ่น เพราะเพลงนี้เหมือนเป็นเพลงวัดว่าเขาจะอดทนได้ไหม แล้วเขาก็สามารถโชว์ความสามารถได้ครบทุกชิ้นเครื่องดนตรี แต่เราก็ถามความสมัครใจเขาก่อนนะว่าเขาจะเล่นหรือเปล่า ถ้าเขาอยากเล่นเขาก็ต้องอดทน เพราะเป็นเพลงที่ยาก ต้องต่อกันเกือบ 2 เดือน เราก็เห็นเขามีฝีมือแล้วเขาก็อดทน ก็จัดให้

คุณแม่ วัชรินทร์ : อย่างที่มาสเตอร์บอก เราไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นร็อก ตอนแรกๆ มาสเตอร์ก็ให้เล่นเพลงง่ายๆ เพื่อให้เขาไม่ท้อที่จะเล่นเพลงยาก คือให้เขามีเพลงสะสมไปเรื่อยๆ เล่นทั้งป๊อบ ลูกทุ่ง เล่นหมด แต่ว่าเวลาที่เราจะไปประกวด เราก็มีเพลงพวกนี้อยู่ แล้วถ้าเข้ากับเวทีที่ต้องการ มาสเตอร์ก็เลยจะอัดเพลงพวกนี้เข้าไป แล้วก็ฝึกเขา เดี๋ยวเขาจะบอกว่าวงเราเด็กๆ ไป

• เราเห็นแววอะไรในตัวเขาถึงได้จับมารวมกลุ่มทำวงดนตรี

มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ : คือเขาก็มาสมัคร มันเป็นชมรม เขามาสมัคร เราก็มีออดิชั่นไปเรื่อยๆ คัดไปเรื่อยๆ คือรุ่นเขามีเข้ามาด้วยกันทั้งหมด 60 กว่าคน เราก็ให้เวลาประมาณ 3 เดือนก็วัดใจกันไปเรื่อยๆ ใครไม่สู้ก็ถอยไป ตั้งแต่ ป.3 จนตกตะกอนแล้วก็เหลือแค่นี้ คุณพ่อคุณแม่เขาสนับสนุนเยอะมาก ให้เรียนเพิ่มช่วยกันอีกต่างหาก

คุณแม่ ทิพธารินี : อีกเหตุผลหนึ่งที่เราสนับสนุนทางดนตรี เพราะว่าตอนนั้นเขาซนมาก แล้วคุณหมอก็แนะนำว่าไปเรียนดนตรีแล้วจะทำให้นิ่งขึ้น

• ไม่ใช่ว่าดนตรีร็อกจะทำให้รุนแรงและก้าวร้าว

คุณแม่ ปราณี : ไม่ค่ะ เพราะดนตรีร็อกมันก็มีหลายสไตล์หลายแนว คือพอเขาเล่นเสร็จ เขาก็จะเป็นตัวของเขาเลย เด็กก็คือเด็ก เขาจะสวมวิญญาณเฉพาะตรงนั้นบนเวที แต่พอลงมาเกือบจะยังไม่ทันก้าวแรก หันหลังก็เป็นลิงแทนร็อกแล้ว (หัวเราะ)

คุณแม่ จิรัฏฐ์มน : บนเวทีเขาก็เต็มที่ของเขา เขาก็มีความรับผิดชอบ แต่ที่ทำให้เขาเปลี่ยนคือความรับผิดชอบของตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการฝึกซ้อม ต้องมาซ้อมทั้งกลางวัน เย็น เสียสละเวลาเล่นกับเพื่อนๆ เขาก็ไม่เคยบ่น เขาก็ไม่เคยบอกว่า "ทำไมเขาไม่ได้เล่นอย่างเพื่อน" ตรงนี้ก็ไม่มี คือเขาชอบที่ฝึกซ้อม มันก็มีระเบียบของเขาเพิ่มขึ้น เขาอาจจะเป็นเด็ก แต่เราก็ไม่ได้ให้เขารับผิดชอบอะไรมากมาย แล้วก็ไม่ได้เรียนพิเศษเหมือนเด็กอื่นๆ วิชาการ ก็จะมามุ่งตรงนี้เลย

• ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะให้ลูกๆ เน้นหนักไปที่วิชาการมากกว่าสันทนาการ

คุณแม่ ทิพธารินี : คือส่วนตัวแม่ไม่ได้ทำงานอื่น เพราะฉะนั้นก็ค่อนข้างมีเวลาทุกรายละเอียดว่าวันนี้ กินอะไร คือทุกอย่างก็ดูแล การบ้านอะไรก็ดูให้เสร็จ และเราเห็นว่าเขาไม่เรียนตกเลยสักคน เกรดเฉลี่ยทุกคน 3-4 คือพอเขามาตรงนี้ยิ่งทำให้เขามีการเรียนดีขึ้นไปอีก

มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ : อันนี้ขอบอกตรงๆ เลยนะ ผมทำประวัติตั้งแต่รุ่น 1 หมอ วิศวะ สถาปัตย์ เป็นส่วนใหญ่ นักดนตรีที่มาฝึกเรียนกับผม แล้วก็จะมีนักดนตรีอยู่ค่ายใหญ่ๆ ก็เยอะ แต่ว่าส่วนใหญ่ทุกคนในแต่ละรุ่นจะมีคนเรียนต่อหมอ 1-2 คน รุ่นปีนี้ที่จะไปต่อมหาวิทยาลัยก็มีหมอสี่คน มีมือคีย์บอร์ด เปียโน กีตาร์ กลอง ส่วนกีตาร์อีกคนก็วิศวกรรมเครื่องกล

คือผมจะบอกว่า คนที่เล่นดนตรีทุกคนมันไม่จำเป็นที่ร็อกแล้วต้องไม่เรียน ผมก็ให้เล่น Highway Star กันทั้งนั้น ทุกรุ่น แต่ว่าเขาก็เอาวิธีการมากกว่านะ เรื่องของความอดทน เรื่องของการตรงต่อเวลา ระเบียบวินัย เอาไปปรับใช้ในการเรียนของเขา

• อยากขอถามเคล็ดลับการเลี้ยงลูกของคุณแม่หน่อยครับ

คุณแม่ ปราณี : ฮืม...อันดับแรกเลย ส่วนตัวคิดกันว่าถ้าเรามีลูก อย่างน้อยๆ ต้องให้เวลากับเขา ไม่พ่อก็แม่ต้องมีเวลาให้ลูก หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่มีเวลา อย่างน้อยในทุกวันก็ต้องถามเขาว่าวันนี้มีอะไรๆ คือต้องให้มีกิจกรรม ต้องให้ปรึกษา ไม่ให้เกิดช่องว่าง ต้องใกล้ชิดทุกๆ เรื่อง แล้วก็ต้องใส่ใจ อย่างถ้าเขาทำกิจกรรม เราก็พร้อมที่จะมาดูแลเขา ส่งเสริมเขา

แต่จริงๆ เราก็ไม่ได้หวังรางวัลหรอกนะ แต่คือว่าให้เขามีประสบการณ์มากกว่า อยากให้แบบว่าขึ้นเวทีแล้วเขามั่นใจ ไม่ตื่นเต้น เพราะครั้งแรกๆ ที่เด็กๆ ไปขึ้นเวทีที่ห้าง คนดูเยอะๆ เขาตื่นกันหมด ยังจำได้เลยวันนั้นครั้งแรก (หัวเราะ) ก็ผ่านศึกมาเยอะแล้ว จะ 3 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังต้องมีเขียนสคริปต์ให้บ้าง ก็มีครูมาช่วยสอนท่าทางเพิ่ม ให้ไปท่องให้ไปพูดไปฝึกกันทุกอย่างหน้ากระจกที่บ้าน คือทุกคนต้องทำการบ้าน แล้วก็ฝึกในห้องนี้ ทำให้เหมือนจริง แล้วก็ออกไปอย่างนั้น คือต้องทำทุกอย่าง ซ้อมหมด พอเด็กมีความรู้สึกว่าทำได้แล้ว เขาก็จะไม่เกร็งที่จะทำ แต่ถ้าซ้อมแล้วยังไม่ได้ ก็จะพะวง เพราะก็ยังเล่นไม่ค่อยได้ มันก็จะไม่มั่นใจ ใช่ไหม วงนี้ก็เลยจะซ้อมหนัก ซ้อมเยอะมาก เผลอๆ มากกว่าผู้ใหญ่ด้วยในบ้างครั้ง

• อะไรคือวัตถุประสงค์ของการตั้งวงดนตรีวงนี้

มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ : ผมก็อยากให้แค่ว่า เขามีกิจกรรมทำน่ะครับ แล้วโดยหลักการที่ผมสอนเด็กมาทุกรุ่น ผมไม่ได้สอนให้ยึดมั่นว่าเด็กจะต้องไปเป็นศิลปิน คืออยากให้เขาเอาหลักการและวิธีการเรียนรู้ตรงนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า คือ 1.ตรงต่อเวลา 2.ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองในเครื่องมือของตัวเอง และ 3.สามารถเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ถ้าใครสามารถไปเป็นนักดนตรีได้ก็ยินดี ดีใจด้วยว่าไปสายศิลปินไปเป็นนักดนตรี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเยอะ เขาก็เอาวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ แล้วก็เรื่องสมาธิ เรื่องความรับผิดชอบมันจะตามมาเอง นี่คือจุดประสงค์ที่ผมทำวงดนตรี

คุณแม่ วัชรินทร์ : เราก็ไม่ได้คาดหวัง คือทุกวันนี้ให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แล้วตอนนี้ก็แบบว่าให้เขาฝึกซ้อมเยอะๆ พอเป็นแบบนี้ก็เป็นของขวัญของเขาที่เขาได้ทุ่มเททุกอย่าง คือเราก็สนับสนุนเขาทำเต็มที่ ได้เท่าไหนก็ไม่เคยเครียด

ส่วนเรื่องอนาคตทางดนตรีก็แล้วแต่เขา เพราะตอนนี้เราคิดว่าเขายังเด็กอยู่ วัยประถมยังไม่มีอะไรเยอะ ก็อาจจะสัก ม.3 แล้วค่อยว่ากัน คือถ้าเขาไม่เอาดนตรีแล้วเราก็ไม่บังคับเขา เพราะเด็กถ้าให้เขาทำอะไรที่เขาสนใจมันก็จะดีกับตัวเขามากกว่าที่เราจะไปบังคับ อย่างการได้เข้าไปแข่งขัน Asia's Got Talent ที่สิงคโปร์ ถามว่าเราตื่นเต้นไหม เราก็ตื่นเต้น น้ำตาไหลเพราะความปลื้ม เราก็ไปกันหมด ไปนั่งหน้าเวทีเลย มันเป็นเหมือนอะไรที่เราไม่คาดคิดมาก่อน มันก็เป็นรางวัลของขวัญพวกเขาที่พวกเขามุ่งมั่น ที่คณะกรรมการระดับโลกเขาคอมเมนต์ชม และมีคนประทับใจ

• เตรียมตัวกันไว้หรือยัง ว่าจะยังไงต่อไปในรอบหน้า

มาสเตอร์ ขจรพรรณ แก้วสุวรรณ์ : คือตรงนี้ก็ปรึกษากันนะ คุยกันในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ แล้วเขาก็จะมีทีมงานของ Asia's Got Talent อีกกลุ่มหนึ่งที่จะให้ไอเดียมา แล้วก็มานั่งวางกันว่าประมาณไหน เพราะว่าทุกอย่างมันต้องผ่านลิขสิทธิ์ เราจะเล่นเพลงที่เราอยากเล่นไม่ได้ ต้องเอาเพลงที่เราอยากเล่นเนี่ย เสนอเขาไปให้เขาเลือกว่าผ่านไหม ลิขสิทธิ์ผ่านไหม ถึงจะเอามาทำ มาเตรียมใหม่ มาอะเร้นจ์ใหม่

คุณแม่ ทิพธารินี : ตอนนี้ก็รอค่ะ เพราะนี่ก็ออนเทปสามแล้ว พอครบห้าเทป เทปที่หกเขาก็จะประกาศว่าใครได้เข้ารอบรองจาก 15 ประเทศทั้งหมด 800 ทีม ให้เหลือ 400 ที่ไปออดิชั่น แล้วก็คัดอีกให้เหลือ 24 เลย ก็คือถ้าเราติด มีเวลาแค่ 3-4 วัน เราก็ต้องโชว์เลย เราจึงต้องสมมุติว่าตัวเองผ่านเสมอ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะให้เราโชว์ เขาจะแก้เราอีกหรือเปล่า เราก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องเตรียมไปให้ดีที่สุด ให้เขาแก้น้อยที่สุด

ก็อยากจะขอกำลังใจ เพราะเหมือนเราเป็นตัวแทนของทีมชาติไทยเลย เพราะฉะนั้นก็คงต้องแบบว่า นอกจากพวกเราแล้ว โรงเรียนแล้ว ก็คงต้องขอแรงเชียร์ช่วยกันโหวตจากคนทั่งประเทศด้วยค่ะ

มิค : ก็เตรียมตัวแล้วครับ ตอนนี้ก็ซ้อมช่วงปิดเทอม เพราะเขาบอกให้เราต้องพร้อมทุกเวลา ก็กะว่าเลือกเพลงที่ว่ามันบ่งบอกชีวิตของพวกเราทั้ง 5 คน ก็น่าจะเอาเพลงเก่าๆ แต่ก็ไม่ได้เก่ามาก มาอะเร็นจ์ใหม่ให้เป็นของทาเลนโต้เอง ถ้าเราชนะก็ดีใจ แต่แพ้ก็ไม่เสียใจ เพราะเกินความคาดหมายของเรา ถ้าเข้ารอบต่อไปได้นี่ก็สุดยอดแล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าเราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะได้เข้าหรือเปล่า เราก็คิดให้ใหญ่แล้วไปให้ถึงครับ คือเราต้องฝันใหญ่ แล้วเราก็ต้องตั้งใจ อดทน ทำให้สุดฝีมือ เพราะว่าในหลายๆ เรื่อง เราก็ไม่ได้จะอดทนทำอะไรขนาดนั้น แต่เรื่องดนตรีโดยที่เราชอบส่วนตัวอยู่แล้ว ผมก็อยากให้มันไปถึงที่สุด ที่ความสามารถผมจะทำได้ครับ

แมค : ก็อยากจะฝากติดตามผลงานพวกเราใน www facebook .com/the talento แล้วก็อย่าลืมติดตามพวกเราในรายการ Asia's Got Talent มาลุ้นกันนะครับว่าพวกเราจะได้เข้าไปรอบ 24 ทีมหรือเปล่า ถ้าได้เข้าก็ขอแรงเชียร์จากคนไทยทุกคนด้วยนะครับ ขอบพระคุณครับ


เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น