xs
xsm
sm
md
lg

ช่างภาพสุดฮิปผู้มาก่อนฮิปสเตอร์ “ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประโยคที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพ บ่งบอกได้ล้านความหมาย” น่าจะแทนความหมายอาชีพช่างภาพได้เป็นอย่างดี เพราะการถูกรังสรรค์ด้วยกล้องเล็กๆ แต่ทรงพลังชิ้นนี้นั้น อาจจะหมายความถึงความรู้สึก ณ ขณะถ่าย ทั้งจากผู้กดปุ่มกล้องกับผู้ถูกถ่ายภาพ และนั่น คือผลลัพธ์ของอารมณ์ในภาพที่จะสะท้อนถึงภาพหนึ่งใบได้อย่างครบถ้วนและมีความหมาย แตกต่างตามวาระไป

แต่สำหรับ ตอง-ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ หนึ่งในช่างภาพของนิตยสารที่ถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก อย่าง “อะเดย์” และเจ้าของผลงานหนังสือรวมภาพอย่าง ทัศนlศึกษา และ Walking on The Sun ทุกๆ วันบนดวงอาทิตย์ กลับไม่คิดอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เพราะด้วยสไตล์ของภาพถ่ายของเขา บวกกับการมีแนวคิดที่แปลกประหลาดในการจัดวาง และการใส่ใจรายละเอียดขององค์ประกอบศิลป์อย่างครบถ้วน ผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้ภาพของเขา มีลายเซ็นที่อันเป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างพอสมควร

และจากการสนทนาโดยรวมครั้งนี้ ชนพัฒน์ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นฮิปสเตอร์ผู้มาก่อนกาล ได้ย้ำถึงความเห็นถึงการถ่ายภาพของนักถ่ายทั้งอาชีพและมือสมัครเล่นได้อย่างน่าสนใจด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการถ่าย ก็คือ “ความเป็นเอกลักษณ์ในตัวตน” เพราะนั่น อาจจะทำให้กลายเป็นจุดสำคัญที่ถูกจดจำในตัวตน มากกว่ารูปแบบที่ทำตามๆ กันมา จนเหมือนกันหมดแทบไม่แตกต่างอะไรเลย

• คุณเริ่มสนใจการถ่ายภาพอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 (สาขาวิชาประชาสัมพันธ์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) มันเริ่มจากการที่เราเห็นคนรอบข้างทั้งที่รู้จักเป็นการส่วนตัวหรือคนที่เป็นใครสักคนรอบๆตัวตายไป แล้วเรารู้สึกว่า พอเวลาผ่านไปสักพัก คนเหล่านี้จะถูกลืมหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเขาเคยเกิดมา แล้วมีคนจำได้ระยะหนึ่ง จนพอเวลาผ่านไปสัก 30-40 ปี คนคนนั้นก็เหมือนจะไม่เคยมีตัวตนอยู่ในโลก แต่ก็มีบางคนที่ตายไปแล้วเป็นร้อยปี อย่างลีโอนาร์โด ดาวินชี่ หรือคนดังทั้งหลายแหล่ ทำไมชื่อของเขายังอยู่ในโลกปัจจุบัน ทำไมคนสมัยนี้ถึงรู้ว่าเคยมีคนคนนั้นอยู่บนโลก ซึ่งก็เป็นเพราะผลงานทั้งหลายของพวกเขา เรารู้จักคนเหล่านี้ผ่านผลงานของพวกเขา นั่นคือจุดแรกๆ ที่ทำให้เราเลยรู้สึกว่า ถ้าเกิดมาแล้ว เราก็ไม่อยากตายไปเฉยๆ แบบมีช่วงชีวิต 60 ปีแล้วจบ พอหมื่นปีข้างหน้าไม่มีใครรู้จักเราอีกเลย เราอยากปักป้ายไว้ว่า เราเองก็เคยอยู่บนโลกใบนี้เช่นกัน

จากจุดนั้น เราจึงหันกลับมาถามตัวเองว่าเราน่าจะทำอะไรได้บ้าง เขียนหนังสือ วาดรูป หรือทำงานวิทยาศาสตร์ ทำงานวิจัยมั้ย ซึ่งพอคิดไปคิดมา มันก็มาทางศิลปะ เพราะถ้าทำงานวิจัยดวงดาวหรือหาสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ก็คงยากไปสำหรับเรา แล้วพอคิดว่าเป็นศิลปะ ก็ถามตัวเองต่อไปว่าทำอะไรได้บ้าง วาดรูปหรือทำงานปั้นไม่ได้แน่ๆ ทำกราฟฟิกไม่เก่ง เขียนหนังสือพอได้นะ แต่พอขึ้นปีสองก็ยังไม่ได้เขียนหนังสืออะไรหรอก ลองจับกล้องลองถ่ายรูปดู พอเข้าชมรมถ่ายภาพ อาจารย์ก็ชมว่า “พอมีแวว” เราก็ตื่นเต้น ก็ตัดสินใจเลยว่า ถ้าจะอยู่บนโลกนี้ เราจะประกาศถึงการมีชีวิตโดยหารูปดีๆ แปะลงไปบนโลกใบนี้ ให้คนในอีก 400 ปีข้างหน้าจำให้ได้ว่านี่คือรูปของเรา ซึ่งในทุกวันนี้มันก็ยังไม่ได้มีนะไอ้รูปใบที่ว่าน่ะ(หัวเราะ) แต่ก็พยายามทำอยู่

• พอรู้ว่าอยากเป็นช่างภาพแล้วยังไงต่อ

ก็หัดถ่ายภาพ ไม่ได้แบบเจออะไรก็ถ่าย เพราะตอนนั้นถ่ายดะไม่ได้ เนื่องจากช่วงนั้นกล้องถ่ายรูปยังใช้ฟิล์มกันอยู่ ซึ่งฟิล์มม้วนหนึ่งก็ราคาตั้งร้อยกว่าบาท ยังไม่รวมค่าล้างและค่าอัดอีก มีแค่ 36 รูป ต้องคิดก่อนถ่ายด้วย จะถ่ายรูปนี้เพราะต้องการสื่อสารอะไร แล้วตอนนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตอลออกขายด้วยไง จะถ่ายแต่ละทีก็คิดแล้วคิดอีก เรารู้สึกว่าพอได้ฝึกกับฟิล์มมา ทำให้ได้รู้จักมองโลกให้ละเอียดขึ้นก่อนกดชัตเตอร์

•เล่าให้ฟังหน่อยว่า เส้นทางการเป็นช่างภาพของคุณ เริ่มต้นที่จุดไหนจริงๆ

เราเรียนเอกการประชาสัมพันธ์แถมเรียนวิชาโทภาษาไทยอีก เน้นเรียนการเขียนมาทั้งนั้น พอเรียนจบก็เลยไปสมัครงานหนังสือวัยรุ่นเล่มหนึ่ง ไปเป็นกองบรรณาธิการ เป็นคนสัมภาษณ์ เป็นนักเขียน จนมาวันหนึ่ง ช่างภาพลาออกไป แล้วเราก็ขอเนียนถ่ายรูป แล้วบังเอิญเราเนียนแบบถ่ายได้ เราก็เลยเปลี่ยนมาเป็นช่างภาพเลย เพราะว่าเราเบื่อที่จะถอดเทปแล้ว คือสัมภาษณ์มาเสร็จแล้วต้องมานั่งใส่หูฟังกรอเทปไปมา พิมพ์ตามในเทป แล้วมันพิมพ์ไม่ทัน ไม่ได้เป็นคนเก่งที่แบบนิ้วสัมผัสอะไรขนาดนั้น อันนี้ไม่เท่าไหร่ แต่ปัญหาจริงๆคือวันเสาร์-อาทิตย์เราเหมือนไม่ได้หยุด ต้องคิดคำถามเตรียมสัมภาษณ์คนอื่นๆอีก ต้องคิดคำเปิดเรื่องหรือคำปิดบทสัมภาษณ์อีก ส่วนงานช่างภาพมันจบที่หน้างาน ถ่ายปุ๊บ จบ คือมันแค่นั้น เสาร์อาทิตย์กูว่างเลย (หัวเราะ) ก็เลยเลือกแบบนี้ดีกว่า

จากหน้าที่ กอง บ.ก. แล้วกระโดดมาเป็นช่างภาพเลย มันเหมือนว่าเราดื้อหรือเปล่า

เราไม่ได้ดื้อ คือเราโตมาจากอาจารย์ชมรมที่เป็นช่างภาพสายประกวด ประมาณถ่ายพระ ถ่ายช้าง ถ่ายเณรอุ้มบาตรตอนเช้า ภาพแบบแนวๆ นั้น แถมงานที่ทำก็เป็นแบบแนววัยรุ่น ภาพมันต้องสนุกสนาน แล้วก็ชัดๆเป๊ะๆหน้าตาผ่องๆ แต่เราก็ถ่ายเก็บในแนวที่ชอบด้วย เพราะตอนนั้นที่ผมเรียนอยู่ปีหนึ่ง อะเดย์ก็เพิ่งเปิดตัว แล้วเราชอบภาพสไตล์พี่ปิงปอง (นิติพัฒน์ สุขสวย - หนึ่งในผู้บริหารนิตยสารอะเดย์ในปัจจุบัน) คือคนอะไรถ่ายภาพเบลอก็สวย ไม่ต้องให้โพสท์ถ่ายกับเก้าอี้หรูๆ หรือยืนตรงกอดอกในทำงานห้องใหญ่ๆ คือเมื่อก่อน โลกของช่างภาพแบบเรารู้จักแต่หนังสือแพรว หรือ GM คือรูปแบบจะเป็นในห้องทำงานหรูๆ บ้านใหญ่ๆ เก้าอี้หลุยส์ ต้องเป๊ะเวอร์ ยืนเกาะโต๊ะไรแบบนี้ แล้วพอพี่ปิงปองเข้ามาในชีวิต เราก็แบบหลุดไปเลย มันกลายเป็นว่า มันมีอย่างงี้ด้วยเหรอวะ ทำลายกรอบเราไปเลย แบบรูปครูเล็ก ภัทราวดี (มีชูธน) ทำปากจู๋ เราก็แบบว่า เอ้อ ทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เมื่อก่อนนี้ หนังสือไทยไม่มีนะ ติดตาเรามาก

ดังนั้น พอเรียนจบมา นอกจากเราจะถ่ายตามคำสั่ง และถ่ายรูปดาราตามที่หนังสือชอบแล้ว ก็ขอดาราเหล่านั้นถ่ายเก็บไว้ในรูปแบบที่อะเดย์ถ่าย เล่นอารมณ์กับใบหน้า นั่นคือหลังจากงานเสร็จ ขอถ่ายเพิ่มนิดหน่อย คิดรูปแบบตามหนังสือ สมมุติว่าจะถ่ายน้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา) หลังจากถ่ายทะเล้นๆตามคาแรคเตอร์แกเสร็จ ก็คิดต่อ ว่าจะถ่ายยังไงให้ถ่ายแบบดูเท่ๆ ได้แบบอะเดย์ แล้วพอเราถ่ายเก็บเรื่อยมา จนเราไปสมัครงานที่อื่น สมัครที่นิตยสารสุดสัปดาห์ ช่วงนั้นเขาก็ชอบแนวนั้นพอดี ก็ทำงานที่นั่นประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะไปสมัครที่อะเดย์ แล้วเขาก็รับเราจริงๆ

• พอมาทำงานที่อะเดย์สมความตั้งใจ แล้วทำไมถึงได้ลาออกจากอะเดย์ในครั้งแรก

ช่วงปี 2010 มันเบื่อการทำงาน เบื่ออาชีพ คือรู้สึกตื่นมาทำทุกวันเลย เราไม่ได้เกลียดการเป็นช่างภาพนะ แต่แบบตื่นมาปุ๊บ ถ่ายอีกแล้ว พรุ่งนี้ก็ถ่ายอีก คือมันมีอยู่แค่นี้ แล้วเราก็คิดถึงอนาคตภายภาคหน้าด้วยว่า นี่จะเป็นช่างภาพตลอดไปเหรอ เราก็เลยแบบว่าลองไปหาตัวเองอีกรอบดีกว่า ว่านอกจากการเป็นช่างภาพแล้ว เราสามารถที่จะทำอะไรได้อีกบ้าง คือเหมือนทิ้งทุกอย่างตรงนี้ แล้วก็ไปเดินหาใหม่ ว่าเรามีความสามารถอะไรอีกบ้าง

แล้วอีกอย่างก็คือ ตั้งใจว่าจะไปเรียนถ่ายรูปจริงจังด้วย เพราะเราเป็นช่างภาพมา แต่ไม่เคยเรียนมันจริงจังเลย เรารู้สึกว่าถ้าเราไปเรียนสายตรงๆ แล้วรู้จักทฤษฎีมันจริงๆ เราอาจจะชอบความเป็นช่างภาพมากขึ้นกว่านี้ก็ได้ อาจจะสนุกขึ้น ในการเป็นช่างภาพอีกครั้ง คือในตอนนั้นเราตอบไม่ได้ว่า เราจะทิ้งช่างภาพไปเลยหรือเปล่า

• เมืองแห่งการถ่ายภาพทั่วโลกมีมากมาย แต่ทำไมถึงไปประเทศญี่ปุ่น

ไม่เก่งภาษาอังกฤษน่ะ (ตอบทันที) แต่ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ได้ว่าเก่งนะ คือเราไม่เก่งอังกฤษ แต่ถ้าให้เราเริ่มภาษาอังกฤษใหม่นี่ ไม่สนุกแล้ว มีคนเก่งกว่าเราเยอะมาก มีคู่แข่งเยอะ ยังไง เราก็ไม่สามารถเก่งกว่าใครๆ ได้แล้ว ซึ่งไหนๆ ถ้าจะเรียนสักภาษาหนึ่ง ขอเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นดีกว่า เพราะคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นยังน้อย แล้วเรารู้สึกว่า ถ้าเราจะไปเรียนถ่ายรูปที่นั่นด้วยก็ยิ่งดีเลย เพราะทั่วไปคนที่จะเรียนต่อด้านถ่ายรูป มักจะเลือกไปเรียนนิวยอร์กหรือฝรั่งเศส แล้วรูปมักจะมาเป็นแนวเดียวกันหมด นิวยอร์กก็จะแบบมีสีประมาณนึง ฝรั่งเศสก็จะมาอีกแนวนึง แต่ญี่ปุ่นมันค่อยไม่มีใครไปเรียนไง แล้วก่อนหน้านี้เราเปิดดูหนังสือญี่ปุ่นบ่อยๆ เห็นรูปคนยืนนิ่งๆ เฉยๆ แต่เรารู้สึกได้ว่าเขาเศร้า บางทีก็รูปเหมือนเดิม แต่ทำไมมีความหวังในดวงตา บางทีก็ไม่ต้องโพสท่าโพสอะไรมากมาย เพราะเขามาจากข้างในจริงๆ ก็เลยอยากรู้ว่าเค้าทำกันยังไง

• การเดินทางไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นครั้งนั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่คุณอย่างไรบ้าง

เปลี่ยนเยอะเลยครับ และได้โตขึ้นมากๆ จากที่เราเคยอยู่เมืองไทย แล้วเราได้ไปอยู่ ม.บูรพา อันนั้นได้ใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง กินอยู่เอง ควบคุมเงินเอง แต่มันก็ยังใกล้พ่อแม่ ใกล้เพื่อน แต่การไปอยู่ที่ญี่ปุ่น มันเหมือนกับถูกไปปล่อยเกาะ เราไม่สามารถจะหนีกลับเมืองไทยได้ง่ายขนาดนั้น แล้วเวลาจะทำอะไร ก็ต้องคิดแล้วคิดอีก จะกินอะไรแต่ละอย่าง ต้องคิดด้วยว่าเงินจะเหลือถึงสิ้นเดือนมั้ย หรืออะไรต่างๆ มันต้องดูแลตัวเองทุกอย่างเลย

โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ เราต้องดูแลมากกว่าเดิม เวลาเราป่วยแล้วไปโรงพยาบาล มันยากนะ เพราะถ้าเราเจ็บตรงนี้ ตรงกระดูกหู เราจะบอกหมอว่าไง หรือลูกกระเดือกต้องเรียกว่าอะไร ซึ่งถ้าเมืองไทยเราบอกได้ไงว่าเจ็บตรงไหน แต่พอไปอยู่นั่น เราจะบอกเขายังไงวะ แค่นั้นมันก็ทำให้เราต้องดูแลตัวเองพิเศษมากๆ แล้ว รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย มันเหมือนว่าได้เติบโตอีกครั้ง โดยไม่มีพ่อแม่ดูแล เป็นการเติบโตด้วยตัวเองแบบจริงๆ

• ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น ได้ทำงานถ่ายรูปบ้างไหม

ด้วยความที่เป็นวีซ่านักเรียน งานที่ให้ทำได้มีไม่มาก คือส่วนใหญ่ ถ้าคนไทยทำก็เป็นร้านอาหาร เสิร์ฟหรือทำร้านนวดไปเลย ซึ่งความจริงตามกฎหมาย เขาไม่ให้นักเรียนทำงานนวดอยู่แล้ว เพราะมันผิดกฎหมาย บวกกับการที่เราตั้งใจแล้วว่าไปญี่ปุ่นแล้วจะไม่ทำงาน เพราะเราเหนื่อยจากการทำงานที่นี่แล้ว การไปครั้งนี้คือไปพักผ่อนและเรียน เราก็ตั้งเป้าแล้วว่า ถ้ากูไม่ได้เป็นช่างภาพ หรือว่าเป็นครูสอนภาษาไทยทื่นั่นก็จะไม่ทำอย่างอื่น แล้วทางที่โรงเรียนที่เรียนจะให้ทุนนักเรียนที่เรียนดี ไม่ขาดไม่สายเลย คิดเป็นเงินไทย 2 แสนบาท เราเลยคิดว่าการไปเรียนตอนเช้า ตอนเย็นกลับมาอ่านหนังสือ แล้วสอบให้ได้คะแนนดีมันถือเป็นการทำงานของเรา สองแสนเชียวนะ ใครจะไม่เอา ซึ่งเราก็ทำได้ จะบอกว่าไม่ทำงานก็ไม่ใช่ ก็เรียนจนได้เงินน่ะ

• นอกจากการเรียนถ่ายภาพ มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่คุณอยากถ่ายทอดไหม

คือคนไทยจะชอบมองว่ายากูซ่ามันโหดร้าย ควบคุมเมือง แล้วเป็นนักเลง แต่จริงๆ แล้ว ยากูซ่าไม่ยุ่งกับคนทั่วไปนะ ไม่มีแบบยากูซ่าไถตังค์ คือยากูซ่า ถ้าจะซัดก็ซัดข้ามแก๊งกันเอง ไม่ยุ่งกับคนทั่วไป ถ้าปิดถนนก็ตีกันเอง ไม่ใช่เด็กช่างกลบ้านเรานะ ที่แบบเดินไปไถตังค์เด็กประถม คือมันเป็นศักดิ์ศรีของคนเหล่านี้มากเลยนะ เพราะว่าถ้าไม่ใช่ยากูซ่าด้วยกัน เขาจะไม่ทำคนที่ไม่มีทางสู้ และประเทศนี้ปลอดภัยมากด้วย ต่อให้เมาชิบหายแล้วนอนอยู่ข้างถนน พรุ่งนี้ตื่นมา ของก็อยู่ครบ เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกแล้ว แต่ถ้าของหาย จงมั่นใจเลยว่าคนที่เอาไปไม่ใช่คนญี่ปุ่น อาจจะเป็นชาติอื่นที่ไปอยู่นู่นแหละ

ลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นมีความซีเรียสนะ เก็บความทุกข์ไว้กับตัวเอง แล้วทำให้คนอื่นสบายใจ คนญี่ปุ่นเขาจะเก็บทุกอย่าง สิ่งที่คนอื่นเห็นจะต้องสวยงาม คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามจะต้องได้รับความสบายใจกลับไป จะไม่พูดเรื่องแย่ๆ ให้คนอื่นเก็บไปคิด ประเทศเขาเลยสะอาดน่าอยู่ไง เพราะว่าทุกคนเอาความไม่ดีเก็บทิ้งเข้าตัว แล้วเอาสิ่งดีๆ ให้คนอื่น

• พอกลับมาจากที่นั่น แล้วเป็นยังไงต่อไป

โดยส่วนตัว เรามีระเบียบขึ้นมาก ทุกวันนี้ นอกจากแยกขยะแล้ว ผมยังต้องล้างถุงอ่ะ ถุงแกง ถุงส้มตำ กินเสร็จแล้วคือเอาน้ำราดเขย่าให้มันสะอาดก่อนทิ้ง ไม่ใช่แบบมีเศษแกงติดอยู่ กะทิเลอะทั้งถุงก็ไม่ใช่ แบบถุงขยะหนึ่งถุง สามวันก็เอาไปทิ้งนอกบ้านครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเราทิ้งถุงเลอะแกงกะทิ วันสองวันมันก็เหม็นแล้ว ถุงขยะยังไม่ทันเต็มเลย ก็ต้องเอาไปทิ้ง ทั้งๆ ที่ถุงใบนั้น สามารถเอาขยะไปใส่ได้อีกเยอะมาก มันทำให้เราละเอียดมากขึ้นในการทำอย่างอื่น ทำให้เราเอาใจสิ่งสิ่งรอบตัวมากขึ้น

เราไม่ได้บอกว่า เราไปญี่ปุ่นแล้วสงบ แต่เรื่องบางเรื่องเอาความคิดของเขามาใช้ อย่างถ้าจะเครียดจะโกรธก็ได้ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่ก็ไม่ต้องตีโพยตีพายก็ได้ เครียดเหรอก็อ่านหนังสือ หรือดื่มชามั้ยล่ะ อโรมาก็ได้ คือมันได้หมดไง มันใช้วิธีของเขาได้

• เรื่องแบบนั้น มันส่งผลถึงงานของเราหรือไม่อย่างไร

เราว่างานเราสงบนิ่งขึ้นนะ ถ้าดูงานสองช่วง ระหว่างอยู่อะเดย์ครั้งแรกกับครั้งหลังสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นเลยว่ามันต่างกันมาก เพราะช่วงแรก เราจะมีพลังผีบ้าอยู่ ชอบเอาคนที่เราสัมภาษณ์ ไปยืนบนเก้าอี้ หรือนอนอยู่ใต้โต๊ะ เราก็รู้สึกแบบวัยรุ่นไงว่า แม่งสนุกในการเอาดาราหรือคนดังมาทำอย่างงั้นได้ แล้วแบบกูมีพลัง เราสามารถทำอย่างงั้นได้ ทำให้เรารู้สึกว่าเท่ จนพอเรากลับมาแล้วมาดูงานช่วงนั้น เฮ้ย มันไม่ใช่ จำเป็นต้องทำขนาดนั้นเหรอ ต้องทำให้เขาเป็นตัวตลกขนาดนั้นเลยเหรอ บางทีการนั่งนิ่งๆ เราก็สามารถสื่ออารมณ์ได้ หรือแค่มือ การวางมือ มันก็สามารถทำอารมณ์ได้แล้ว กลายเป็นว่า โพสท์ยิ่งน้อยยิ่งเท่ การเอาเก้าอี้มาสุมๆ แล้วขึ้นไปนั่ง มันกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้วนะสำหรับเรา หลังๆ เราไม่เพ้อเจ้อแล้ว

• เหมือนกับว่า ช่วงวัยรุ่น เราก็บ้าพลังเยอะเหมือนกัน

ก็ล้นแหละ แต่ต้องดูเทรนด์ด้วย คือลองไปเปิดหนังสือเมืองนอกตอนนี้สิ เขาก็ไม่ทำแบบนี้นะ แต่เมื่อก่อนช่วงเรา ตอนบ้าพลัง ในเมืองนอกมีนะ เพี้ยนๆ ไปปีนเสาไฟ หรือเดินจูงเป็ด แต่เทรนด์เดี๋ยวนี้มันไม่ขนาดนั้นแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นการถ่ายภาพพอร์เทรตแบบตัวคนมากขึ้น แล้วไม่เอาอุปกรณ์มาเสริม ยิ่งทำน้อยแล้วได้ผลมาก ยิ่งโคตรรู้สึกว่าชนะ คือช่วงแรกนั้น มันเป็นช่วงที่เราบ้าพลัง กระแสถ่ายภาพของโลกก็บ้าพลังเหมือนกัน แล้วพอมาตอนนี้ พอเราเลิกบ้าพลัง โลกก็เลิกบ้าพลังไปแล้วเช่นกัน แล้วถ้าเด็กสมัยนี้ ถ้าพยายามบ้าพลังก็ดูแปลกๆ แต่ไม่แน่ว่าทั่วโลกอาจจะกลับมาบ้าพลังอีกก็ได้ ก็ไม่ผิดนะ ถ้าจะบ้าก็บ้าไป แต่ว่าบ้าแล้วต้องมีรสนิยมหน่อยนึง (หัวเราะ)

คือเราเคยไปสอน แล้วมีเด็กทำการบ้านส่งมา งานพอร์เทรต ให้สมมุติว่าเพื่อนคือดาราใหญ่คนหนึ่ง แล้วให้ผลัดกันถ่ายส่ง ปรากฏว่าเอาโคลนไปป้ายหน้าเขา คือมันตลกเกินไปหรือเปล่า บางรูปดูสวยดี แต่ขาดความเคารพ เราต้องให้ความเคารพเขาก่อนเลยนะ ไม่ว่าใครก็ตามที่เราไปคุยหรือไปถ่ายเขา แล้วเราค่อยดึงเขาออกมา จากสิ่งที่เราเห็น

• ปัจจุบันนี้มีการถ่ายรูปหลากหลายรูปแบบมาก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ชัดๆเลย คือแบบ "ฮิปสเตอร์" ส่วนตัวของคุณคิดเห็นยังไง

จะถ่ายอะไรก็ถ่ายไป แต่มีความแตกต่างมั้ย คือต่อให้ถ่ายสวยยังไง แต่ถ้าไม่แตกต่าง ก็ไม่มีประโยชน์ คือไม่ผิดเลย ถ้าจะถ่ายเท้าหรืออาหารจากมุมบน หรือถ่ายสวยก็ถ่ายไป แต่จะมีคนจำงานของคุณได้หรือดูแตกต่างมั้ย ซึ่งมันไม่ใช่แค่ยุคนี้หรอก มันตั้งแต่อดีตแล้ว ลองนึกภาพว่า ต่อให้ถ่ายแสงเป๊ะ ถ่ายภาพเณรกำลังเดิน หรือย้อนแสง เณรกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ข้างวัด แบบที่เขาประกวดกันน่ะ สุดท้ายแล้ว จะรู้มั้ยว่าภาพนี้ภาพใคร จำไม่ได้ มันก็เหมือนกันหมด ไม่มีตัวตน ต่อให้ถ่ายสวยแค่ไหนก็ตามแต่ถ้าไม่มีเอกลักษณ์ ก็อาจจะจมหายไปกับโลกนี้ แต่ต่อให้ถ่ายรูปแล้วมันขยะหรือเบลอแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้ามีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทุกคนก็จำ

• หลักการของคุณคือสร้างความเป็นเอกลักษณ์หรือตัวตนของตัวเอง อย่างนั้นใช่ไหม

คือผมคิดว่า ถ้าเดินตามคนอื่น มันก็ไม่มีรอยเท้าตัวเอง ก็ได้แต่ย่ำตามเขาไป หาทางเดินของตัวเองดีกว่า เดินก่อน นำหน้าไปก่อน แต่ก็อย่าชิลล์เดินชมนกชมไม้มาก เดี๋ยวจะตายซะก่อนค้นพบ การถ่ายภาพ มันควรจะมาจากตัวเอง เราควรมีตัวเราเองอยู่ข้างในงาน แล้วตัวเราคืออะไร ตัวเราคือคนที่หล่อหลอมมาจากสิ่งต่างๆรอบตัว ถ้าวันๆ นั่งดูแต่ทีวี เกมโชว์ มันจะได้อะไร การจะมีตัวตนได้ มันต้องหาส่วนผสมตัวเองให้เจอ ถามตัวเองว่าต้องอ่านหนังสือหรือเปล่า ต้องออกไปดูหนังหรือเปล่า ต้องออกเดินทางหรือเปล่า คือเหมือนจานเปล่าๆ จานหนึ่ง แล้วต้องหาส่วนผสมต่างๆ มารวมกันจนคิดว่ากินแล้วอร่อย ถ้ายังมัวแต่นั่งดูทีวี มันก็ไม่ต่างอะไรจากอาหารฟาสต์ฟู้ตในศูนย์อาหาร

ดังนั้น ถ้าอยากมีตัวเองเยอะๆ อ่านหนังสือ ดึงในส่วนที่ชอบ ดึงในสิ่งที่เป็นออกมาใช้ นั่นแหละคือตัวตน แล้วนำก้อนนี้ไปรวมกับสิ่งที่อยากได้อยากเป็น แล้วถ้าชอบงานใคร ก็เอามารวมกัน แล้วทางแบบตัวของเรามันจะชัดขึ้น เออ แต่ที่ว่าๆมานี่ก็ไม่ได้จะบอกว่าผมมีเอกลักษณ์ชัดเจนอะไรนะ ทุกวันนี้ก็ยังตามหามันไปเรื่อยๆเหมือนกัน

• ที่สำคัญ ดื้อแล้วก็เคารพคนอื่นด้วยใช่ไหม

จะเรียกดื้อก็ได้นะ แต่ต้องดูบริบทด้วย ดื้อแล้วเกิดผลดีรึเปล่า หรือแค่ดื้อโชว์โง่ คืออะไรที่เขาบอกว่าไม่สวย แต่ก็ยังยืนยันว่าสวยนี่ มันไม่ใช่มั้ง หรือถ่ายรูปกองขี้หรือสมองเละๆ โอเค บางกลุ่มอาจจะมองว่าสวย แต่ถ้าทำงานให้คนส่วนใหญ่แล้ว ก็ต้องเคารพพวกเขาด้วย ถ้าคุณจะเอาเงินจากเขา ถ้าคุณจะอยู่กับมวลชน หรือจะขายงานให้เขา คุณก็ต้องทำให้เขาชอบด้วยสิ เอาง่ายๆว่าถ้าจะขายอาหาร จะทำอาหารรสอินดี้ที่มีแต่เราชอบ ไม่ฟังเสียงวิจารณ์คนกินเลย แล้วใครจะกลับมากินอาหารของเรา











ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook Fanpage : aberabbit

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ

กำลังโหลดความคิดเห็น