xs
xsm
sm
md
lg

ชมกันสนั่นจอ...“นิพันธ์ จ้าวเจริญพร" หนุ่มวัย 26 เจ้าของหนังไซไฟสุดล้ำ The Deepest

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลายเป็นกระแสที่แชร์ส่งต่ออย่างกว้างขว้างถึงผลงานการทำหนังสั้นแนว Sci-fi ที่ชื่อว่า “The Deepest” (ลึกสุดห้วง) ที่ถูกสร้างขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ โดย “Nipan Studio” เพราะทันทีที่ออกสู่สายตาประชาชน เรียกได้ว่าทุกคนต่างตะลึงและทึ่งชื่นชมในความสมจริงของสเปเชียลเอฟเฟคต์อันอลังการละลานตา...

ใครสักคนที่เป็นหนึ่งในทีมงานหนังหุ่นยนต์ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราอย่างเรื่อง “แชปปี้” (Chappie) พูดเอาไว้ได้น่าสนใจมากว่า โลกยุคใหม่ที่เราเหยียบยืนอยู่หรือความล้ำสมัยที่เราใช้สอย ส่วนใหญ่มาจากเด็กหนุ่มที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากโรงรถ...ถ้าเช่นนั้นแล้ว ถึงแม้เราจะไม่กล้ากล่าวว่า นี่คือพัฒนาการอีกหนึ่งขั้นของวงการซีจีบ้านเราที่เกิดมาจากเด็กหนุ่มนิรนามคนหนึ่ง แต่ใครล่ะจะกล้าปฏิเสธว่า นี่ไม่ใช่ความน่าตื่นตาตื่นใจ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า มันคือความสามารถที่อยู่บนฐานค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งพันบาท

“นิพันธ์ จ้าวเจริญพร” คือเด็กหนุ่มคนนั้นที่เรากำลังกล่าวถึง เขาคือเจ้าของผลงาน “The Deepest” และคลุกคลีตีโมงอยู่กับแวดวงการงานด้าน Video Production and Post production และอย่างไม่รอช้า เราขอเวลาสนทนากับเขา...เด็กหนุ่มเมืองเชียงใหม่ เจ้าของผลงานไซไฟที่หลายคนส่งเสียงชมว่า “สุดล้ำ”...

• แนะนำหน่อยว่าเราเป็นใครมาจากไหน

คือต้องย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของผมก่อน ผมไม่ได้เรียน แต่ฝึกเอง คือผมรักในการทำงานพวกตัดต่อ พวกวิชวลเอฟเฟคต์เล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้วตั้งแต่สมัยเรียน แล้วช่วงมัธยมปลายก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา แต่ไปเรียนทางสายศิลป์ ไฟน์อาร์ต ก็ไม่ได้เน้นพวกนี้ เน้นศิลปะทั่วไป ทีนี้พอจบไฮสคูลก็กลับมาประเทศไทยแล้วก็ได้มาเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นงานในส่วนของการตัดต่อวิดีโอทั่วไป ก็ยังไม่ได้ลงลึกในส่วนของวิชวลเอฟเฟคต์เท่าไหร่ จากนั้นก็ฝึกฝนทำผลงาน สร้างหนังสั้น กำกับเองบ้าง แสดงเองบ้าง แล้วก็มีคนโน่นคนนี้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำ ที่มาก็เลยจุดประกายจากการสร้างหนังสั้น พอได้ทำเรื่อยๆ มีผลงานเรื่อยๆ ก็เริ่มให้ความสนใจในเรื่องของวิชวลเอฟเฟคต์ เพราะมันเกี่ยวข้องกับงานของเรามากขึ้น เราก็เลยศึกษาเรียนรู้เอง ผ่านอินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ยูทูป ตอนนั้นก็ประมาณ 4-5 ปี ที่จริงจัง

• คือฝีมือทั้งหมดเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ใช่ครับ...แล้วหลังจากนั้นก็อย่างที่บอกพอทำพวกผลงานวิดีโอพวกนี้ออกมา เราก็โพสต์ลงยูทูป โซเชียลมิเดีย ก็มีคนให้ความสนใจ เขาก็อยากรู้ว่าเอฟเฟคต์พวกนี้ทำอย่างไร เราก็ทำสอนในชาแนลยูทูปใช้ชื่อ “nipanartofmedia” เอฟเฟคต์ตัวนั้นตัวนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้คนทั่วไป เด็กๆ ที่สนใจทางด้านนี้ ตรงนี้ก็ทำให้เราได้ฝึกฝีมือ เพราะเราก็ต้องสร้างผลงานเราให้เขาเห็นด้วย ว่าเราจะทำเอฟเฟคต์นี้ คล้ายการันตีฝีมือ ใครอยากจะทำอยากจะเรียนรู้ ก็เข้ามาเรียนกัน เป็นการแบ่งปั่นความรูปในรูปแบบวิทยาทาน

และพอเราทำตรงนี้ขึ้นมา เราก็มีชื่อขึ้นมานิดหน่อย ทำให้มีงานตัดต่อ งานถ่ายทำ ข้างนอกมาให้เราทำ และก็มีเชิญเราไปเป็นวิทยากรบ้าง เป็นอาจารย์สอนพิเศษบ้าง อย่าง ไปเป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ เป็นครูสอนโปรแกรมเฉพาะ ที่ Inde : Innovative Design & Education เชียงใหม่ นอกจากนี้ก็จะมีพวกสื่อในส่วนของดีวีดีเป็นเซตที่เราสอนโปรแกรมการทำต่างๆ ขายผ่านออนไลน์

• มาจนถึง “The Deepest” (ลึกสุดห้วง) ตรงนี้มีอะไรเป็นแรงผลักให้ผลิตงานชิ้นนี้ออกมา

มันก็เหมือนเป็นการสะสมประสบการณ์เข้ามาเรื่อยๆ จุดประสงค์การทำงานเราเริ่มด้วยใจรัก ดังนั้น จุดประสงค์ของการทำงานของเราเลยคือเราไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ ไม่หวังผลกำไร เป็นเหมือนการสร้างผลงานของตัวเองให้คนอื่นดูเท่านั้น เรื่องนี้ก็เหมืนกัน ถ้าใครได้ดูในตอนต้น เราจะบอกอยู่แล้วว่าเราสร้างโดยไม่ใช้ทุนสูง เพราะเราไม่คิดค่าอุปกรณ์ ค่าของที่เรามีอยู่แล้ว คือเราอยากจะให้นักศึกษาหรือใครคนอื่นๆ ที่สนใจ ที่เขามีความตั้งใจรู้สึกว่ามีกำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจ เขาก็สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทุนเยอะก็ได้ เขาก็สามารถมีผลงาน

ขณะเดียวกัน ความคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมอยากจะสร้างผลงานที่คนไทยไม่เคยทำมาก่อน ก็เลยตีโจทย์ออกมาได้ “อวกาศ” นั้นเอง พวกหนังไซไฟ คนไทยเราไม่เคยมีเลยจริงๆ แล้วมันเป็นที่น่าสนใจ ก็เลยเป็นที่มาของโปรเจ็คต์นี้ ก็ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน เรื่องเทคนิค เรื่องเขียนพล็อต องค์ประกอบโครงเรื่อง ตัวละคร  ตั้งแต่เริ่มจนจบ เพราะมันมีหลายขบวนการเหมือนกันที่ล่าช้า แต่เราไม่ได้ทำเป็นเชิงพาณิชย์หรือเพื่อการค้า ดังนั้น เราไม่มีเส้นตาย ก็ค่อยๆ เรื่อยๆ

• จากทุน 1 พันบาทที่เราแสดงฝีมือไว้ ส่วนตัวเรามองแวดวงซีจีบ้านเราอย่างไร

ในส่วนตรงนี้ต้องเข้าใจกันก่อนว่าในงานด้านนี้เนี่ย เราอยากให้เรามองเป็น 2ด้านแยกกัน คือในด้านของผมที่ผมทำโดยไม่หาไม่หวังผลกำไร แต่ในด้านของแวดวงนั้นเขาทำในเชิงของธุรกิจ ดังนั้นแล้วมันจะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ที่ว่าผมมีใช้แค่ทุน 1 พันบาท ก็ทำได้ขนาดนี้ คือถ้าเขามีเงิน 1 ล้าน จะทำได้ขนาดไหน คือเขาทำงานในเชิงพาณิชย์ เขามีกรอบมีข้อจำกัดมากกว่า เรียกว่าไม่ข้ามเส้นกัน เพราะว่าอย่างที่บอกในตัววิดีโอเราคำข้างต้น มันค่อนข้างจะชัดเจนทั้งหมดแล้ว เราไม่ได้คิดค่าแรง ไม่มีค่าต้นทุน ไม่นับในส่วนของทรัพยากร คอมพิวเตอร์ กล้อง โปรแกรม ที่เรามีอยู่แล้ว ในส่วนตัวนี้ มันก็จะเคลียร์เงินตรงนั้น ที่ 1 พันบาทเป็นเรื่องของค่าทรัพยากรที่เราไม่มี อย่างถุงมือก่อสร้าง ยานอวกาศของเล่นจำลอง ไม่ใช่ค่าทั้งหมดของการทำซีจีคอมพิวเตอร์กราฟฟิก

ดังนั้น ถ้าในมุมมองคนไทย ตอบได้เลยครับว่าทำได้ แต่เหตุผลที่เรามักจะไม่ค่อยเห็นกัน ก็น่าจะเป็นเรื่องของการตลาดมากกว่า คือถ้าทำแนวนี้มันอาจจะขายไม่ออกหรืออาจจะขาดทุน เพราะมันลงทุนสูง การจะจ้างคนทำซีจีดีๆ ทีมงานซีจี อย่างส่วนมากที่เราเห็นๆ ก็จะเป็นหนังผี หนังรัก หนังตลก ประมาณนี้ ดังนั้นแล้วมันแทบจะไม่มีช่องว่างในส่วนไหนเลยที่จะดึงซีจีให้มันเด่นได้ มันก็เลยเหมือนเป็นการตีกรอบที่ว่าซีจีจะมีอยู่แค่นี้ นิดๆ หน่อยๆ มันเป็นปัจจัยในส่วนตรงนั้นมากกว่า คือถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องเชิงพาณิชย์ ถามว่าถ้าเขามีทุน 1 ล้าน หรือ 10 ล้าน ในด้านของวิชวลเอฟเฟคต์เขาทำได้ไหม แน่นอนเขาทำได้ เพียงแต่ว่าที่เรายังไม่ค่อยเห็น ไม่ใช่มันไม่มีหรือว่ามันไม่ดี มันดี เพราะฝีมือก็ยอมรับ รู้จักหลายๆ คนเหมืนกันคนไทยที่มีฝีมือดี แต่เขาก็ไปทำให้ฮอลลีวูดไปเลย ปัจจัยคร่าวๆ อีกอย่างหนึ่งก็เรื่องค่าตอบแทน ก็เลยทำให้กลุ่มคนทำซีจีดีๆ เหล่านี้ไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เราก็เลยไม่เห็น

• ทั้งๆ ที่คนไทยเรามีฝีมือ แต่ด้วยเหตุนี้เรื่องเกี่ยวกับซีจีคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ของบ้านเราเหมือนก้าวอยู่กับที่ไม่ไปไหน

ผมสนใจประเด็นนี้เหมือนกัน และนั่นก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ผมผลิตงานนี้ออกมา คือไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก่อนหน้านั้นก็ทำออกมาหลายเรื่องที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของคนไทย เพราะเราต้องการไม่อยากให้มองว่าหนังที่ดีจะต้องไปพึ่งเงินเยอะแยะในด้านของการทำวิชวลเอฟเฟคต์ แต่มันเหมือนอยู่ที่ใจเรามากกว่าที่เราอยากจะสร้างผลงานให้มันออกมาได้ดี แล้วก็มีคุณภาพ เรื่องที่จะหยิบมุมองที่เรายังไม่เคยเห็นในหนังตลาดมาทำ อันนี้ก็เป็นตัวที่แสดงให้เห็นศักยภาพของตัวเราเอง และก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้พรีเซนต์อย่างที่เราชอบพูดกันว่า คนไทยก็ทำได้นะ

ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องเชิงพาณิชย์ เราพูดถึงเรื่องทำเล่นเอง มันก็อยู่ที่กระบวนการคิดและการใส่ใจในการทำงานเรามากกว่า เพราะถ้าเราคิดแค่ว่าเราทำหนังสั้น เราจะทำแค่แบบเล่นๆ ก็ทำให้มันออกมาแบบห่วยๆ หน่อย หรือแย่ๆ หน่อย มันก็จะได้แค่นั้นไง ถึงพยายามที่จะสื่อแล้วก็พิสูจน์ให้เห็นผ่านผลงานชิ้นนี้ เราต้องมีการทำงานอะไรที่ใหม่ สำหรับผู้คนบ้าง ก็อย่างที่บอกที่ผมตีโจทย์นี้ ผมอยากทำอะไรที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นก็เหมือนเราตอบโจทย์ตั้งแต่แรกโดยการทำหนังไซไฟ เป็นหนังแนวอวกาศไปเลย ให้มันหลุดโลกไปเลย แล้วแต่ละอย่างมันก็จะค่อยๆ ตอบโจทย์มาอีกทีว่าวิชวลเอฟเฟคต์เราจะทำอย่างไร พล็อตจะทำอย่างไร ถ่ายทำจะทำอย่างไร พูดตามตรงก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลายเรื่องเหมือนกันของฮอลลีวูด แต่เราไม่ได้ต้องการจะเอาหนังของเราไปเทียบเคียงกับหนังฮอลลีวูดนะ เพราะมันคนละเรื่องกัน มันเทียบกันไม่ได้ เราแค่ต้องการทำเพื่อให้ออกมาให้เห็นในมุมมองของคนไทยเท่านั้น

ซึ่งในส่วนตรงนี้ก็ได้ยินจากระทู้หรือคอมเมนท์ต่างๆ มันค่อนข้างจะถูกเบี่ยงเบนไปเยอะเหมือนกัน ที่เอาหนังเราไปเทียบกับหนังฮอลลีวูดหนังต่างชาติ มันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือเราสร้างให้มันเป็นในมุมมองของคนไทยที่ว่า ถ้าเราพูดกันจริงๆ แล้วหนังไทย คุณเคยเห็นอย่างนี้ไหม แน่นอนก็ต้องตอบว่าไม่เคยเห็น แล้วถ้าถามว่าดีไหมในฐานะของการที่เป็นคนไทยและทรัพยากรเท่านี้จากที่กล่าวมาทั้งหมดเนี่ย ก็ต้องตอบว่าทำได้ดีในจุดหนึ่ง เราก็ไม่ได้บอกว่าเราเป็นมืออาชีพที่แบบไม่มีข้อผิดพลาด เราก็ยังเปรียบเสมือนมือสมัครเล่นที่เราพยายามที่จะพัฒนาตัวเอง แล้วก็ก้าวไปจุดๆ นั้น เหมือนกัน

• ส่วนตัวรู้สึกอย่างไรกับผลงานชิ้นนี้

ก็รู้สึกยินดีครับ ยินดีกับสิ่งที่เราได้รับมา มันคือเป็นเครดิตสำหรับของเราทีมงานทั้งหมด ทั้งนักแสดงโน่นนี่นั่น ทั้งหมดเลย ทีมงานดนตรีประกอบเพื่อนๆ ชาวอังกฤษ “Bradley Lewin”,”Ezra Sittan” ที่มาอาสาทำเพลงให้ ก็คือมันเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ เราต้องการให้คนไทยเราเองมีความรู้สึกชื่นชมยินดีกับคนไทยเราเอง ที่เราสามารถสร้างผลงานอย่างนี้ออกมาให้ได้เห็นกัน แม้จะไม่ใช่เป็นหนังใหญ่หรือหนังตลาดก็ตาม แต่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง อยู่ที่เราที่พยายามจะสื่อแล้วก็ทำให้คนเนี่ยสามารถเห็นอีกมุมมองหนึ่งของหนังไทยได้หรือศักยภาพของคนไทย

• จากกระแสตอบรับผลงาน มีวางแผนคิดล่วงหน้าอนาคตไว้บ้างไหมว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหนังใหญ่ ภาพยนตร์ฉายโรง

ในส่วนตรงนั้น ก็คิด ก็เป็นสิ่งที่เราสนใจมานานแล้วครับ เราก็รอโอกาสที่มันจะมาหาเราบ้าง พูดง่ายๆ เหมือนพวกนายทุนหรือใครที่อยากจะเสนอให้เราได้กำกับหนังสั้น หนังดีๆ หรือที่เกี่ยวกับวิชวลเอฟเฟคต์ แต่โดยส่วนตัวที่เราไม่ก้าวไปอยู่ตรงนั้น เพราะว่าเรามาทำในสิ่งที่เราเองค่อนข้างโอเค และเราก็ยึดติดนิดหนึ่งกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนเชียงใหม่ที่เราชอบ มันก็ทำให้เราห่างไกล คือถ้าหากว่า “โอกาส” มันมาถึง เราก็ยินดีที่จะรับและพิจารณา เพื่อที่จะต่อยอดต่อ

• ในขณะที่ผลงานชิ้นนี้ทำให้คนลุกขึ้นมารู้ฝีมือของคนไทยในด้านซีจีและก็หันมาชอบ คิดว่าอนาคตข้างหน้าทิศทางในเรื่องนี้คนจะสนใจมากน้อยแค่ไหน

ในส่วนตรงนี้มันไม่ได้อยู่ในส่วนของกลุ่มคนที่ทำซีจีเท่านั้น แต่มันอยู่ทั้งกระบวนหนังการเลย คือถ้าในมุมมองของผมแน่นอนว่ามันจะเป็นก้าวใหม่ ที่มันหลุดออกจากวงการเก่าๆ หลุดออกมาจากจุดเดิมเลย แล้วก็ทำให้คนเริ่มหันมา เป็นเหมือนการสร้างกระแสให้คนรู้จักบริโภคสิ่งใหม่ ที่มันอยู่ในระดับสากลของฮอลลีวูดได้ แต่ก็ไม่ได้ไปเทียบเท่า เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าฮอลลีวูดเขาเป็นเจ้าภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดจริงๆ ดังนั้นแล้วเนี่ยการที่คนไทยเราดูหนังฮอลลีวูดอยู่แล้ว เสพหนังฮอลลีวูดอยู่แล้วเนี่ย มันก็เป็นไปได้ ถ้าเราสร้างหนังไทยให้มันออกมาสไตล์รูปแบบสากลของเขา มันก็น่าจะสร้างกระแสที่ตอบรับได้ดีเช่นกัน

เพราะว่าส่วนหนึ่งหลังจากเรื่องนี้ออกไป ก็มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลายคนที่เขาเข้ามาทัก เขาบอกว่า “เราทำได้ 1 พันบาท เดียวเขาจะเอาบ้าง” ก็เหมือนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา แล้วเขาก็มีใจที่อยากจะทำเหมือนกัน นั่นแหละจุดประสงค์หลักๆ เลยที่เราสร้างผลงานตัวนี้มา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนดูหรือคนที่อยากทำ คนที่สนใจในทางด้านนี้มากกว่าสิ่งใด เพราะบางคนเขามักจะคิดทำหนังอย่างนี้ต้องมีทุนหลายแสน ต้องมีคนโน้น ต้องมีกองถ่ายเยอะๆ ต้องมีทีมงาน พอเขาคิดอย่างนั้นปุ๊บ มันเหมือนเป็นการฆ่าตัวตายไปแล้ว เราไม่มีก็คือจบกัน การสร้างผลงานแบบนี้ด้วยงบประมาณที่น้อยที่สุดและมันกลายเป็นสิ่งที่จุดประกาย จุดไฟ ให้คนที่รักการสร้างหนังสั้นหรือภาพยนตร์ด้วยตัวเองมันออกมา ก็อยากจะเน้นตรงจุดนี้ว่าเราไม่ได้จะไปพาดพิงหรืออ้างอิงถึงรูปแบบเชิงพาณิชย์ เพราะมันคนละอย่างกันอย่างที่บอก เขามีข้อจำกัดหลายอย่างที่เราต้องเข้าใจ แต่เราไม่มีข้อจำกัดตรงนั้น เร็วๆ นี้ก็จะมีผลงานเบื้องหลังมาให้ได้ชมว่าเราทำงานกันอย่างไร

• แต่ก็ส่งให้ไปถึงเมื่อคานส์ได้ ตรงนี้เราไปมาอย่างไร

ในส่วนตรงนี้ต้องให้เข้าใจก่อนว่า เราไม่ได้ส่งประกวด เราส่งเพื่อเข้าร่วมในงานเท่านั้น แล้วระบบของเทศกาลหนังเมืองคานส์เนี่ย คือใครก็สามารถส่งผลงานเข้าร่วมได้ แต่ว่าเขาจะมีระบบในการคัดเลือกภาพยนตร์ที่จะเข้าร่วมของเขาอีกที นั่นคือหมายความว่าต้องผ่านเกณฑ์การตัดสินของเขาก่อน นั่นก็เป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่เราส่งไปแล้วเขาคัดเลือกเข้าไปในงานของเขาเรียบร้อย แต่จะฉายหรือไม่นั้น อันนั้นก็ขึ้นอยู่กับเขา เพราะว่าเทศกาลหนังเมืองคานส์ยังไม่ปิดรับผลงาน ปิดเสร็จก็คัดเลือก 50 เรื่องที่จะเข้าฉายในงาน ถึงตรงนั้นแหละที่จะเป็นอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราได้เข้าฉาย

ในตอนนี้ ผลงานเราก็แค่ได้เข้าร่วมแต่ก็รู้สึกดี แม้จะไม่ได้รางวัล เพราะเราไม่ได้ส่งเพื่อวัตถุประสงค์อย่างนั้น เราต้องการส่งเพื่อจะเป็นส่วนร่วมในตัวงานเท่านั้น และก็ถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่เราได้ส่งเข้าไป เพราะก่อนนี้ เราก็ไม่เคยส่งเข้าไป มันก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน สร้างความภูมิใจให้คนไทยเราเอง ได้ทำในฐานะที่เราเป็นคนไทยด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น