xs
xsm
sm
md
lg

เธอทำให้ฉันรู้สึกเหมือนตอน 80s อีกครั้ง : โพลีแคท จัดให้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถ้าพูดถึง คริสต์ทศวรรษที่ 1980 แล้ว ภาพแรกสุดที่พอให้นึกถึงคืออะไร บางคนนึกถึงเครื่องเล่นเกม 8 บิต ที่ได้สัมผัสคราใด ก็จะสนุกกับมันไปเสมอ บางคนนึกถึงทรงผมแอฟโร่อันโก้เก๋ที่เวลาเดินไปที่ใด สายตาทุกคู่ก็พร้อมหันมาจับจ้องทันที ยามที่ออกมาจากบ้านหรือบางคนก็นึกถึงเครื่องเล่นซาวด์อะเบาต์ ที่เมื่อพกพาไปที่ใด ก็จะดูสุดคูล เหมือนกับย่อโลกแห่งเสียงเพลงให้มาอยู่แค่ในมือ

หากลงรายละเอียดปลีกย่อยในด้านของ ‘เพลงและซาวนด์ดนตรี’ แห่งยุคสมัย ดนตรีป็อปที่มีส่วนประกอบของซินธ์และดรัมแมชชีนนี่แหละ ที่กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งเสียงดนตรี จนกลายเป็นความทรงจำหนึ่งของคนร่วมสมัย ที่หากหยิบขึ้นมาฟังครั้งใด ก็ต้องมีอมยิ้มอยู่บ้าง หากเสียงเพลงบรรเลงมาให้ได้ยินอีกครั้ง

แต่ 3 ชายหนุ่มผู้หลงใหลในเสียงแมวที่ตนเองชอบ นาม โพลีแคท (Polycat) ได้แก่ นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ (ร้องนำ/กีตาร์), เพียว วาตานาเบะ (เบสกีตาร์) และโต้ง-พลากร กันจินะ (ทรัมเป็ต/ซินธิไซเซอร์/แซมพลิง) ก็ทำให้โลกแห่งทศวรรษ 1980 กลับมาสู่โลกปัจจุบันได้ ด้วย 3 ซิงเกิล คือ ‘เพื่อนไม่จริง’, ‘เวลาเธอยิ้ม’ และ ‘พบกันใหม่’ ซึ่งซิงเกิลหลังนี่เอง ที่กลายเป็นเพลงฮิตในช่วงเวลานี้ จนวงถูกพูดถึงในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และล่าสุด พวกเขาทั้ง 3 ก็มีซิงเกิลคัฟเวอร์เพลงใหม่ อย่าง 'องศาที่ต่างกัน' เพลงฮิตชื่อก้องของ 'เดอะ มัส' ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง '2538 อัลเทอร์มาจีบ' อีกด้วย 

จากกลุ่มดนตรีจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีจุดเปลี่ยนทางดนตรีจากการได้ไปร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Hangover ภาคแรก (ฉากที่มี ไมค์ ไทสัน มาร้องเพลงในตอนจบนั่นแหละ) ให้แปรเปลี่ยนจาก Ska เป็นแนว Synth-Pop จนมี 1 สตูดิโออัลบัม (05.57 (2011)) และมีชื่อเสียงในหมู่คนฟังเพลงนอกกระแสอยู่ประมาณหนึ่ง มาในวันนี้ ด้วยเพลงฮิตที่มีคำว่า ‘เย่ห์’ เป็นโค้ดลับ พวกเขาพร้อมแล้วที่จะมอบกับนักฟังเพลงทั่วไป ได้รู้จักตัวตนของพวกเขาผ่านเสียงเพลงแห่งช่วงเวลาทศวรรษที่ 1980 ให้เพลิดเพลินกับเสียงดนตรีแห่งความทรงจำในปัจจุบัน ค.ศ. 2015 นี้...

• การที่วงของคุณนำเสนอเพลงที่มีท่วงทำนองในช่วง 1980 ซึ่งค่อนข้างสวนกระแสกับวงร่วมรุ่นทั่วไป มันเริ่มมาจากไอเดียความคิดแบบไหน

นะ : คือก่อนที่จะออกอัลบัมแรก จะมีวงร่วมรุ่นใหม่ๆ ออกมาเต็มเลย เอาซาวนนด์ดนตรี 1980 มาพัฒนา ก็จะเป็นแบบนั้น ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่เวลาต่อมา พอทำมาเรื่อยๆ เริ่มเพลงชุดใหม่ เราก็ยังยืนพื้นที่ซาวนด์ดนตรี 1980 ครับ แต่คราวนี้เราไม่พัฒนาแล้ว เราก็เล่น 1980 ไปเลย ย้อนไปหาต้นกำเนิดมันเลย

• จากการเผยแพร่ 3 เพลงออกมา แล้วได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด ทางวงคิดว่าเป็นเพราะอะไร

นะ : ผมคิดว่าเพลงน่าจะถูกต้องขึ้นด้วยครับ เพราะในส่วนของเนื้อร้อง ก็ต้องยอมรับด้วยว่าดีกว่าเดิมเยอะอยู่แล้วครับ เรื่องของเพลงก็คิดว่าน่าจะพิถีพิถันขึ้น และมันอาจจะไปโดนใจคนฟังพอดี บวกกับช่วงเวลาที่เราทำเพลงชุดแรก มีหลายวงที่ทำมาแล้วเหมือนกัน เป็นเทรนด์ที่มาในตอนนั้นพอดี ซึ่ง 3 ซิงเกิลของเรา มันไม่มีในซีนนั้นพอดีด้วยครับ ก็เลยเป็นโอกาสของพวกเราที่มีที่ยืนพอดี

โต้ง : ภาพชัดขึ้น

เพียว : ผมคิดว่าคนไทยน่าจะชอบเพลงที่ฟังได้เรื่อยๆ แล้วบังเอิญเพลงเราก็เป็นเพลงที่ฟังได้เรื่อยๆ เหมือนกัน ก็เลยอาจจะถูกจริตคนไทยพอดีครับ (ยิ้ม)

• เหมือนกับเราถูกรางวัลที่ 1 มั้ย

เพียว : เอาสักเลขท้าย 3 ตัวก็พอครับ ไม่ได้ถูกรางวัลใหญ่ขนาดนั้น (หัวเราะ) แต่ผมว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญด้วย คือเราซื้อเลขนี้มาตลอด 2 ปี แล้วเพิ่งมาถูกในปีนี้ (ยิ้ม)

นะ : แต่ความบังเอิญในที่นี้ มันทำให้เรารู้แล้วว่า เฮ้ย มันมาถูกทาง คือเหมือนกับเริ่มจุดติดแล้ว

• แล้วเสน่ห์ของยุคในช่วง 1980 นี่คืออยู่ที่ตรงไหน

นะ : ผมคิดว่าน่าจะเป็นความเชย เชยที่ว่าตอนนั้นเขาคิดว่ามันเก่ามากๆ แล้ว แต่มันล้ำสมัยมากๆ ในตอนนั้นนะ แล้วพอมาอยู่ในตอนนี้ ความคิดนั้นมันกลายเป็นว่า เป็นชุดความคิดที่มันล้าสมัยแล้ว แต่มันทำให้เรารู้สึกถึงความเชยที่มีเสน่ห์ได้

เพียว : ส่วนของผม เป็นด้านดนตรี ที่แบบเป็นยุคทองของ ซินธิไซเซอร์ เสน่ห์ของมันคืออยู่ที่ เครื่องสังเคราะห์เสียงต่างๆ ซึ่งมันก็เป็นของในยุคนั้นน่ะครับ พอเราเอากลับมาใช้ในยุคนี้ มันเกิดข้อผิดพลาดในยุคนี้ เหมือนรถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจนมีความผิดพลาดน้อยสุด แต่เราก็ยังอยากกลับไปหาข้อผิดพลาดนั้น คือเป็นข้อผิดพลาดที่มีเสน่ห์ สมมติว่าเวลาขับไปแล้วจอดข้างทาง แล้วคนอื่นมอง แต่เรารู้สึกดี (หัวเราะ) หรืออย่างเพื่อนผมขี่เวสป้า รถก็จะชอบดับ พอรถดับปุ๊บ รู้สึกเท่จัง อารมณ์ old school (หัวเราะอีกครั้ง)

• คล้ายๆ กับเราถวิลหาอดีตมั้ย

เพียว : สำหรับผม อาจจะไม่ใช่อารมณ์นั้น แต่มันเป็นเรื่องใหม่ในชีวิตเลย เหมือนเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ เพราะปัจจุบันเราก็อยู่กับซอฟต์แวร์ในการทำงาน แต่เราเดินทางใหม่ เราเดินทางกลับไปหาฮาร์ดแวร์

นะ : เพราะว่าตอนนี้เราไม่ค่อยได้ใช้ฮาร์ดแวร์แล้ว พอสิ่งเก่าที่ไม่เคยได้ทำบ้าง แล้วกลับมาทำใหม่ ก็กลายเป็นของใหม่ไปเลย อย่างเหมือนเด็กในยุคนี้ที่ไม่เคยฟังเทปคาสเซตต์ พอเขามาฟัง พวกเขาก็คิดว่าอันนี้คือสิ่งใหม่

• คือหาความสมดุลระหว่างยุคเก่าและใหม่ให้มันลงตัว?

เพียว : คือย้อนไปได้ หมายถึงว่า ถ้าเราเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 1 สิ่งที่เราทำได้คือโหลดโปรแกรมมาแล้วเล่น คือความรู้สึกก็ประมาณนั้น แต่ความรู้สึกของพวกเรา เราจะแบบไปตามหาเครื่องเพลย์ 1 แล้วเอามาเสียบเล่นเลยดีกว่า คือรุ่นแบบ pocket นี่ก็ไม่เอาแล้วนะ มันไม่เท่ ต้องเอาแบบรุ่นแรกเลย ต้องไม่เป็นจอยสั่นด้วย จอยรุ่นแรกเท่านั้น คือรายละเอียดคล้ายกัน แต่ขอเท่กว่า

• จะบอกว่า เราสามารถอยู่กับทั้งสองช่วงเวลา คือ ยุคเก่าเราก็สามารถเล่นได้ แล้วก็อยู่ในยุคปัจจุบันได้ด้วย

นะ : ใช่ครับ ผมคิดว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่เราสามารถเลือกที่จะอยู่ในยุคใดก็ได้ เช่น ปี 2000 สมมติว่าเด็กที่เกิดในยุคนั้น เขายังเข้าไม่ถึง 80 เพราะเทปคาสเซตต์ก็หมดไปแล้ว ไวนิลก็ยังไม่กลับมาเลย คือเขาก็จะอยู่ในยุคนั้น แต่พอถึงยุค 2010 เป็นต้นมา ไวนิลและคาสเซตต์ก็กลับมา และมีวง 80 กลับมาเต็มไปหมด เขาก็สามารถรีเลตได้ถึงเมื่อก่อน ไม่เหมือนกับ 10 ปีก่อน ตอนนี้เราสามารถเลือกได้เลยว่าจะอยู่ยุคไหน

เพียว : ถ้าจะยกกรณีตัวอย่าง ผมมีกลุ่มเพื่อนสนิท คนแรกก็เป็นฮิปฮอป ยุค 1990 คนที่สองก็เป็นดีเจยุค 2010 อีกคนก็เป็นนูเมทัลปี 2000 หรืออีกคนก็เป็นฮิปปี้ยุค 1970 คือแต่ละคนก็มีความชอบไม่เหมือนกัน แล้วพออยู่ในยุคนี้ ก็สามารถเลือกได้จริงๆ เลยว่า เราจะย้อนไปไหน หรือเราจะเลือกอยู่ในปัจจุบันก็ได้ครับ

โต้ง : ก็อยู่ที่เราจะเลือกครับ

เหมือนกับว่า ยุคสมัยในปัจจุบัน มันน่าเบื่อหรือเปล่า เราถึงไปถวิลหาอดีตกัน

เพียว : ผมว่ามันไวมากกว่าครับ คือเราไม่ต้องเดินไปหอสมุดแห่งชาติ เราไม่ต้องไปร้านดีวีดีที่ใหญ่ที่สุดในตัวจังหวัดแล้ว แค่เราอยู่ที่บ้านเราก็ไปไหนก็ได้ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เราเสพตามสิ่งที่มันมี คือมีรายการนี้ออกมา เราก็เสพรายการนี้แหละ เราเป็นแฟนรายการนี้ ที่จะย้อนยุคเข้าไปและเสนอเพลงสากล และเราต้องตามแต่รายการนี้ แต่ปัจจุบันมันคือครอบจักรวาลมากเลย กลายเป็นว่าการถวิลหา มันเป็นการหาตัวเองมากกว่า ว่าเราชอบอะไร

นะ : ผมว่าอะไรที่มันมีมากๆ ปุ๊บ เราจะเข้าใจมัน พอมันไวมากๆ คนก็กลับไปหาความช้า เหมือนกับชีวิตตอนนี้ที่มันเร็วมากๆ คนก็มักจะไปนั่งใช้ชีวิตช้าๆ นั่งอยู่ตามชนบท หรือตามร้านกาแฟ พอสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา แล้วเราไปเจออย่างยุค 1980 ปุ๊บ จากเดิมที่เคยเล่นเกมในมือถือ โหลดเกมมาเล่นอย่างรวดเร็ว แต่พอไปเจอเครื่องที่แบบมีอยู่เกมเดียวในเครื่องนั้น เช่น Donkie Kong เครื่องแรกๆ พอได้จับปุ๊บถึงความช้า ซึ่งพอเราเข้าใจมันจริงๆ มันก็กลับไปหาสิ่งนั้น เหมือนกับตอนนี้ที่เพลงมันเป็นแนว EDM มากๆ คือมันเร็วแรงและเต้น คนก็มักจะเข้าใจมัน ซึ่งก็เป็นอิสระพอเช่นกัน แต่เราก็ถือว่า เราก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง การถวิลหาอดีต ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง

โต้ง : อยู่ที่ช่วงวัยอายุคนครับ เมื่อก่อนอาจจะแบบตามหาสิ่งใหม่ๆ แต่พอโตไป บางทีก็อยากกลับไปหาสิ่งเก่าๆ เดิมๆ คลาสสิกๆ มากกว่า

ในช่วงฟอร์มวงใหม่ๆ มันเหมือนกับว่าเราอยู่ในยุคแสวงหาใช่หรือเปล่า

เพียว : ใช่ครับ คือทุกๆ อย่างเลยครับ เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่า ซาวด์เอ็นจิเนียร์คืออะไร หรือเทคนิเชียนคืออะไร อันนี้คือพูดถึงการทำงาน ในการเล่นสดเลย เราแสวงหาในทุกแง่ครับ ในการจัดการกับเพจเฟซบุ๊กหรือทุกๆ อย่าง แล้วอัลบัมแรก มันคือการเริ่มต้นทุกอย่างจริงๆ ครับ

นะ : คือตอนแรกเราก็อยากทำให้โชว์มันสนุก หรือทุกคนต้องกระโดด ตอนนั้นเราก็แสวงหาว่ายังไงดี เราจะต้องไดรฟ์มั้ย ต้องเป็นแบบตะโกนบิลด์มั้ย หรือว่าอะไรอย่างงี้ครับ ซึ่งเราก็ลองมาทุกอย่าง

ส่วนตอนช่วงที่เราเล่นแนวสกา นี่ไม่ได้คิดอะไรเลย (หัวเราะ) แค่คิดว่ามันชอบครับ คือคนฟังเขามองเราว่าเป็นสกา เราก็เลยเล่นเป็นสกา ก็ไม่ได้แบบจะแสวงหาอะไรขนาดนั้น เราก็เล่นไปตามความสนุกของเรา โดยที่ไม่สนใจว่าเป็นเมนสตรีมในช่วงเวลานั้น ไม่ได้คิดอะไรเลย

• ตอนนั้นทางวงเล่นแนวสกา แล้วอยู่ดีๆ มาเป็นแนว Synth-Pop ได้ยังไง

เพียว : ภาพยนตร์เรื่อง Hangover ภาคแรกครับ (ตอบทันที) เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้ คือเราไปออดิชันและส่งไป คือทางหนังเขาอยากได้วงที่เล่นในฉากจบ ทีนี้เขาให้เป็นเพลงยุค 1980 มาเพลงหนึ่ง ชื่อ Ireland เราก็ทำคัฟเวอร์ส่งไปแล้วก็ได้ แต่ตอนนั้นวงเราก็เป็นสกานี่แหละครับ แต่มือแซกโซโฟนคนเก่า มีเครื่อง synth อยู่ เอามากดแล้วปรากฏว่ามันเวิร์ก

นะ : อันนี้คือจุดเริ่มต้นที่เราพลิกจากสกามาเป็น synth-pop เป็นสกาที่มี synth แล้วพลิกๆ ไปจนเป็น synth-pop สกาหายไปเลย (หัวเราะ)

• ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ Ska Ranger มาจนถึง Polycat ถ้าเปรียบเหมือนการเดินทาง จะเปรียบเป็นอะไร

เพียว : ของผมเป็นลำดับขั้นจริงๆ อย่างตอนเล่นกลางคืน มันคือช่วงเรียนมัธยม-มหา’ลัย ในสายที่ตัวเองชอบ แล้วพอตอนนี้ เหมือนเราเรียนจบแล้ว แล้วเรามาทำงานตามสายที่ตัวเองชอบ โดยมีประสบการณ์จากการเรียนตรงนี้ครับ มันคือการเดินทางแบบนั้น

นะ : เป็นกัปตันเรือครับ คือแบบ ขับเรือสกา แล้วมีเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนเรือ ผมจะเป็นคนนำทางแบบต้นหน ระหว่างนั้นก็มีลูกเรือที่ผลัดกันเข้าออกไป ตอนนี้ก็เหลือลูกเรือ 3 คน แต่ผมจะเป็นกัปตันเรือที่โหดร้าย จะไม่ค่อยแวะตามเกาะต่างๆ ก็จะเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่กลัวเชื้อเพลิงหมด แต่ว่าจะฮัมเพลงไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยพัก ก็เลยเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นกัปตันที่โหดร้าย ส่วนกระแสน้ำมันก็เหมือนทางเดินเรือนะ น้ำทะเล คืออุปสรรค แต่ว่าเราจะเป็นคนเลือกเส้นทางเดินเรือ เราจะไม่ไปในที่มีเรือเยอะๆ เราจะเลือกสนามและเส้นทางวิ่งเอง

โต้ง : ผมขอเป็นลูกเรือละกันครับ จะคอยช่วยเติมเชื้อเพลิง ช่วยพี่นะ

• จากที่วงได้ทำ 3 เพลงนี้มา คิดว่า กระแสแฟชั่น 80 กำลังจะกลับมามั้ย

นะ : คิดว่าน่าจะมา แล้วจะดีมาก ถ้ามันมา เพราะตอนแรกคิดว่ามันเริ่มมาแล้วนะ แต่ว่ามันอาจจะมาด้วย ตามทาง หรือการกลับมาของไวนิล แต่วงเราจะนำเสนอตรงที่คาสเซตต์ และความเป็น 80 มากกว่าครับ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่า คนก็เริ่มเอาเทปคาสเซตต์กลับมาฟัง ทรงผมก็เริ่มแอฟโร่ หัวฟูๆ หรือการใส่สูทตัวใหญ่ๆ มันเริ่มจะมา แต่ยังเห็นไม่ชัดเท่ากับตอนที่ garage rock มาแรงมากในช่วง 2000 กว่า หรือช่วงสกา ที่ทุกคนเขียวเหลืองแดงทุกคน (หัวเราะ) อาจจะไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่พอรู้สึกได้ว่าเริ่มกลับมาแล้ว ในไลฟ์สไตล์บางอย่าง จากเด็กวัยรุ่น ในยุคปัจจุบัน ผมเริ่มเห็นคนถือซาวด์อะเบาต์แล้วนะครับ แต่ว่ายังมหาชนขนาดนั้น

• ความชอบในเพลงไทยยุค 1980 ของแต่ละคน ชอบใครบ้าง

เพียว : ผมปรึกษาพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมป์โพธิวัฒน์ - หนึ่งในผู้บริหารค่ายเพลงสมอลล์รูม) เลยว่า พี่ ผมฟังแบบนี้ แล้วคนไทยคือใครครับพี่ สมมติว่าผมฟังแกรี่ มัวร์ คนไทยก็ แหลม มอริสัน อารมณ์เดียวกันเลย พี่รุ่งก็แนะนำเลยว่า มัม ลาโคนิค ผมก็ตอนแรกไม่เชื่อ เพลงความลับนะพี่ แต่พอฟังก็สุดๆ สื่อถึงยุค 1980 จริงๆ

คือบางวงที่เราชื่นชอบในยุคนี้ครับ ถ้าเกิดเราลากลิงก์กลับไป มันไม่ใช่เรื่องของการก๊อปหรืออะไรนะ มันเป็นการพัฒนาต่อ คือถ้าเราลากย้อนไปหาอดีต มันเห็นนะ ว่ามีการพัฒนาอย่างนี้นี่เอง เขาเลยกลายมาเป็นวงนี้

นะ : ผมชอบพี่ปั่น (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) พี่ตั้ม สมประสงค์ (สิงหวนวัฒน์) แล้วก็ พี่ปานศักดิ์ (รังสิพราหมณกุล) อะไรอย่างงั้นครับ

โต้ง : พี่เพชร (โอสถานุเคราะห์) ครับ เพราะผมฟังแล้วแบบ ดนตรีมันล้ำยุคมากนะในตอนนั้น คือเหมือนกับยุคนี้ แต่เขาทำในยุคนั้น

• คิดว่าเราเป็นเด็กดื้อมั้ย จากผลงานที่เรานำเสนอออกมาในท่ามกลางวงการเพลงไทยในปัจจุบัน

นะ : เด็กยียวนดีกว่า ถ้าเด็กดื้อมันดูโหดไป คือแบบทำเพลงแบบนี้ออกมา คือนัยยะลึกๆ มันเหมือนต่อต้าน มีปฎิกิริยา อะไรซักอย่าง กับอีดีเอ็มแต่ไม่ได้พูดอะไรตรงๆ

เพียว : เหมือนกับงานที่เขาใส่เสื้อยืดกันหมด แต่เราใส่เสื้อเชิ้ต ดูเนี้ยบคนเดียวเลย มันจะเป็นอย่างงั้น (นะ พูดแทรกขึ้นมา “คือมีทีท่าว่าเราอยากจะ 80 นะ”) แต่ว่าคือตอนที่เราทำตอนนั้น ผมพยายามหาต้นตอของมันคือ ทศวรรษ 1980 ของประเทศไทย ทั้งในเพลงและงานศิลปะ ก็หายากนะ คือคนไทยรับช่วง 1970 มายาวๆ เลย แล้วพอมาอีกทีก็ 1990 เลย คือมันจะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ

• การรับสารในช่วงเวลานั้น มันเหมือนกับเรามาทุ่มกับงาน 3 เพลงนี้มั้ย

นะ : คือมันอยู่ในชีวิตเรา แต่ตอนนั้นเราไม่เห็นนะ เรายังตาบอดสีม่วงอยู่ แต่พอเราโตมาๆ ประสาทสีตรงนั้น เราเริ่มใช้ได้แล้ว แล้วพอกลับมา เรามีตะกอนสี 80 เต็มเลยนี่หว่า เราแค่นำมันกลับมาใช้

เพียว : จริงๆ ก็ลักษณะเดียวกัน ก็ไปถามรุ่นพ่อแม่เรา ก็ดีใจ พอกลับไปบ้านแล้วดูอัลบัมเก่าๆ แม่เราก็แต่งตัวเหมือนพี่ตุ๊ก จันจิรา (จูแจ้ง) เลย ผมหยิกๆ มีตุ้มหูใหญ่ๆ ใส่กางเกงยีนส์เอวสูง คือในยุคที่เราเกิดมาใหม่ๆ พ่อแม่เราก็เป็นอย่างงั้นอยู่ แต่ตอนนี้ก็เป็นคอกระเช้าแล้ว (หัวเราะ)

ผมว่าอาจจะด้วยสภาวะสังคมในปัจจุบัน ทำให้หลายๆ คนถวิลหาอดีต เหมือนในยุคประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่หนังเรื่อง แฟนฉัน บูมมาก ผมคิดว่าอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า เพลงประกอบหนังยุคปัจจุบันนี้ Remind ถึง พี่เล็ก กรีซซี่ (คาเฟ่) ก็ได้ เขาก็น่าจะพูดถึงอย่างงั้นกัน

โต้ง : จะไม่ค่อยทัน แต่จะกลับไปศึกษามากกว่า

• ก้าวต่อไปของวง คิดว่าทำยังไงให้เพลงของวงไปสู่ในวงกว้างกว่านี้

นะ : ผมคิดว่าวงเราน่าจะเป็น new 1980 วงแรกๆ ของยุคนี้ เราน่าจะเป็น เอ็กซ์ วาย แซด หรือ นูโวในยุคนี้ ที่ทำให้คนหวนรำลึกได้ อารมณ์ประมาณว่า คนมาดูวงเต็มลานโลกดนตรี ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็โคตรเจ๋งเลยครับ แล้วทำให้คนอินโลกดนตรีด้วย ทุกอย่าง ทรรศนะของทุกคน อยู่ในกรอบ 1980 ได้ ถือซาวด์อะเบาต์มา แล้ววัฒนธรรมการดู ถูกต้อง ไม่ยกมือถือขึ้นมา (หัวเราะ)

เพียว : จริงๆ ผมย้อนไปดูคอนเสิร์ตคาราบาวที่เวลโลโดรม คือสมัยก่อน การลุกขึ้นเต้น เป็นสิ่งที่ผิดมารยาทมาก พี่แอ๊ด (ยืนยง โอภากุล) พูดทุกครั้งหลังเพลงจบเลยว่า ขอให้พี่น้องนั่งลง สงสารคนข้างหลังที่ไม่ได้ดู ทั้งๆ ที่เวทีก็สูงประมาณนึงนะ แล้วถ้าเกิดกลับมาเล่นโลกดนตรีอย่างงั้น ส่วนใหญ่เวลาดูเทปโลกดนตรีในยุคนั้น ทุกคนจะนั่งหมดเลย แล้วจะมีวัยรุ่นข้างหน้าที่เต้นๆ หน่อย

โต้ง : ผมว่าเราเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ครับ ให้คนฟังเพลงเรา แล้วคิดถึงยุคนั้น











เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น