xs
xsm
sm
md
lg

กู้ชีพวัยเยาว์ “หมออิ่ม เจ้าหมอน้อย” ตัวกระจ้อยร่อย แต่แรงใจไม่กระจิริด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เชื่อว่าคนที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานหรือคนที่อยู่แวดวงการ “อาสาสมัครกู้ชีพ” กระทั่งผู้คนทั่วไปที่เคยได้รับการพยาบาลจากเขา ย่อมรู้และประจักษ์ชัดถึงชื่อ "เจ้าหมอน้อย" หรือ “อิ่มปี้-ณัฐวรรธน์ สุนทรวัฒน์” เด็กชายวัย 5 ขวบผู้นี้เป็นอย่างดี

เพราะนอกจากจะเชี่ยวชาญวิชาทำแผลที่เรียกได้ว่าเบาราวขนนกชนิดหมอรุ่นใหญ่ยังต้องชิดซ้าย และแค่เพียงหลังใส่ตัว “ยา” แล้วเป่าเพี้ยงเดียว อาการเจ็บก็พลันหายเปลี่ยนเป็น “รอยยิ้ม”

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ “จิตใจ” ที่มุ่งมั่นทำความดีฟรีๆ ไม่คิดเงินสักบาทเดียว และถึงแม้ตนเองจะต้องเผชิญกับโรคประจำตัวหอบหืด ทำให้เคลื่อนไหวไปมาหรือทำอะไรหนักๆ ไม่ค่อยไหว แต่ก็ไม่ย่อท้อหวั่นไหวแต่อย่างใด

อะไรที่ทำให้ “เจ้าหมอน้อย” เป็นอย่างนี้ คิดทำอย่างนี้?
การเดินทางไปทำความรู้จักเบื้องหลังตัวตนผู้อบรมเลี้ยงดูคงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด และเข้าถึงหัวใจดวงน้อยๆ ของหมอเด็กน้อยจิตอาสาที่โด่งดังจนเป็นแรงบันดาลใจใครต่อใคร ไม่เว้นกระทั่งเด็ก สตรี ผู้ใหญ่ คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรังให้ลุกขึ้นมาสู้ทำความดี...

น้อยก็น้อยแต่ตัว
แต่พลังหัวใจ ไม่ใช่น้อยๆ

“เพราะว่าอิ่มปี้ทำแผลแล้วไม่เจ็บ” นั่นคือคำอธิบายสั้นๆ ด้วยวัยอันใสซื่อเท่าที่ตัวเองจะจับใจความได้ของ “เจ้าหมออิ่ม” อิ่มปี้เด็กน้อยวัย 5 ขวบ ถึงเหตุผลที่ทำให้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่บาดเจ็บตามจุดต่างๆ เท่าที่เขาจะพบเจอ จนกระทั่งถึงตอนนี้ หากนับระยะเวลาก็ร่วมสองปีกว่า ที่เด็กน้อยกลายมาเป็นอาสาหน่วยจักรยานคันที่ 8 สังกัดกู้ชีพวชิรพยาบาล

“ก็เคยถามน้องตรงๆ เหมือนกันว่าทำไม เขาก็บอกว่าเพราะเขาเห็นคนเจ็บ เขาสงสาร คือที่เขาพูดอย่างนั้นก็เพราะว่าเขาเปรียบเทียบกับตัวเอง เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ที่เขาป่วยเป็นโรคหอบหืดและเส้นเลือดอุดตัน น้องก็เลยต้องไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล โดนจับเจาะเลือด แทงเข็ม คือต้องมีขั้นเจ็บๆ บ่อย อย่างที่เขาเจอ แต่ถ้าเขารักษา ไม่เจ็บแน่นอน แค่ติดพลาสเตอร์ เป่าเพี้ยงก็หายแล้ว" การณชา สุนทรวัฒน์ หรือ “คุณแม่เก๋” ผู้เป็นมารดาของคุณหมอตัวเล็ก อธิบายเสริมถึงเรื่องราวข้างต้น ขณะที่ลูกชายยิ้มเขินอาย พลางพูด "น้องอิ่มชอบรักษาคนครับ...”

“คือ ตอนนั้นกำลังทำงานอยู่ แล้วเราก็เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก คือน้องก็ใกล้ครบกำหนดคลอดแล้วล่ะ ได้ 36 สัปดาห์ ประมาณ 8 เดือนกว่าๆ แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติแล้ว ก็โทร.บอกคุณพ่อว่าเป็นอะไรไม่รู้ ก็ยังไม่เอะใจอะไร จนเรากลับมาบ้าน นอนพักผ่อนแต่ก็ไม่ดีขึ้น เห็นท่าไม่ดี ด้วยความที่คุณพ่อเป็นพยาบาล ก็พอมีเครื่องไม้เครื่องมือ ก็วัดความดัน ปรากฏว่าอยู่ที่ 149 แล้วก็เอาสเต็ตโทสโคปมาฟังว่าน้องมีอาการผิดปกติหรือเปล่า ก็พบว่าเสียงหัวใจมีการเต้นที่ผิดจังหวะและเหมือนจะช้าลงเรื่อยๆ ก็เลยรีบไปโรงพยาบาล

“ผลสรุปปรากฏว่าครรภ์เราเป็นพิษอย่างรุนแรง” แม่ของหมออิ่ม สีหน้าจริงจังเมื่อเอ่ยถึงเรื่องราวนี้ เพราะวินาทีที่รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร แต่ยังไม่ทันได้ตระเตรียมใจหรือซักถามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อลูกน้อยในครรภ์ ก็ต้องรีบทำการผ่าตัดคลอดอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทั้งคู่

“คือ ต้องเลือกระหว่างแม่กับลูก เพราะรุนแรงมาก เราต้องผ่าคัดทำคลอดภายในชั่วโมงนั้น ไม่งั้นอาจจะมีภาวะเสี่ยงเสียชีวิตของทั้งคุณแม่และลูก” ชัยญากรณ์ สุนทรวัฒน์ คุณพ่อผู้รับหน้าที่ตัดสินใจเลือก เนื่องจากตอนนั้น คุณแม่เริ่มง่วงซึมลงจากฤทธิ์ของยาลดความดันและยากันชัก

“คุณหมอก็บอกว่าถ้าต้องเลือกก็ต้องเลือกคนที่มีชีวิตอยู่ก่อน เพราะตอนที่ไปถึงโรงพยาบาล คุณแม่มีความดันประมาณ 210 ซึ่งถือว่าสูงมาก ก็ต้องให้ยาลดความดัน เพราะไม่อย่างนั้นก็จะมีภาวะเส้นเลือดในสมองแตกได้ แต่ยาพวกนี้ก็จะมีปัญหากับน้องที่อยู่ในครรภ์อยู่แล้วเรื่องระบบการหายใจ เพราะเมื่อให้คุณแม่หลับ มันก็จะไปทำให้น้องหลับด้วย ซึ่งด้วยผลของยากันชักและยาลดความดันที่ใช้ในการช่วยชีวิตคุณแม่ มันส่งผลไปกดการหายใจของน้อง น้องก็เลยไม่สามารถหายใจได้ ก็เลยเหมือนหยุดหายใจทันทีตอนเกิด”

และแว่วเสียงร้องแรกเกิดเพียงชั่วอึดใจเดียวยังไม่ทันจะหมดลม คุณพ่อเล่าว่าหลังจากนั้นน้องอิ่มก็แน่นิ่ง ตัวเขียว แต่จากการที่ทีมแพทย์ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือก่อนหน้านี้ หนูน้อยของเราจึงได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและปั๊มหัวใจช่วยเหลือไว้ได้อย่างทันท่วงที...

“คือคุณหมอเขาก็ทราบ เขาก็ประเมินไว้แล้วว่าต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ต้องเข้าห้องฉุกเฉินเด็กแน่นอน เพราะเรารู้แล้วว่าจะเป็นอย่างไร พอเข้าไปก็ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ เพราะผลเอกซเรย์ปอดออกมา ปอดเขาไม่ทำงาน ก็ใส่ท่ออยู่สักระยะหนึ่ง เขาก็ตอบสนองขึ้นมาบ้าง แล้วจากนั้นก็ไปติดเชื้อต่างๆ ติดเชื้อจากการสำลักน้ำคร่ำ เสมหะเป็นสีดำๆ ปนน้ำตาล คือภาวะรุนแรงหลายอย่าง”

ในระหว่างที่พักฟื้นคลอด ไม่สามารถไปดูน้องอิ่มที่เพิ่งเกิดได้ มีเพียงคุณพ่อที่แบกรับภาพความกันดันนั้นไว้ เวลาที่ใครต่อใครหรือรวมไปถึงคุณหมอมาตรวจเช็กอาการ คุณแม่เล่าว่าไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าน้องจะ “ปลอดภัย”
ในใจจึงได้แต่ภาวนาขอให้ไม่มีอันตรายใดๆ เกิดกับลูกน้อย...

“กว่าเราจะมาดูเขาได้ ก็วันที่ 3 เข้าวันที่ 4 แล้ว เพราะอาการเราก็หนักเหมือนกัน ความดันสูงจนคุณหมอบอกว่ายังลงไปไม่ได้นะ คืออีกมือหนึ่งรับยา อีกมือหนึ่งวัดความดัน เราก็อดใจรอจนกว่าครบยา ถึงได้ลงไป พอลงไปปุ๊บ น้ำตาไหลเลย เพราะเครื่องไม้เครื่องมือเต็มตู้ ใส่ท่อหายใจ เจาะสะดือให้อาหาร แล้วที่ปากก็อีก คือทุกอย่างโยงเต็มไปหมด”

เมื่อการเต้นของหัวใจเป็นจังหวะปกติ ลมหายใจสามารถสูดอากาศแห่งชีวิตได้เอง ชีวิตกว่า 30 วันที่ต้องอยู่ในพื้นที่ กลิ่นโรงพยาบาลดูเหมือนจะจางหายไป เพราะเพียงชั่วเวลาข้ามขวบปีไม่ถึง 2 ขวบ อาการที่คุณหมอให้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือรอ ก็เริ่มแสดงพิษสงออกอาการ

“น้องเป็นหอบหืด วิ่งไม่ได้ เล่นกับเพื่อนไม่ได้ จะมีอาการอาเจียน ไอ แล้วก็หายใจไม่ทันขั้นรุนแรงก็ต้องพ่นยา ช่วงแรกเกิดถึงหนึ่งขวบ น้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ไปพบปะใคร ก็ไม่ได้มีปัญหา แต่พอเข้าขวบที่ 2 เริ่มแล้ว เริ่มได้เล่นกับเด็กคนอื่น เริ่มได้ไปที่ต่างๆ เราก็เริ่มรู้สึกเกิดคำถามว่า ลูกเราทำไมไม่ค่อยวิ่ง วิ่งแป๊บเดียวก็เหนื่อย ตอนนั้นเขาก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองเป็นอย่างไร แต่เราสังเกตจากตัวเขา เพราะเขาจะเหนื่อยง่าย ก็ยังไม่อยากจะคิดว่าจะเป็นหอบหืดอย่างที่คุณหมอบอก แต่ลึกๆ ถ้าถามจริงๆ ก็ไม่มั่นใจเท่าไหร่แล้ว จนขวบที่ 2 มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือน้องจะไปไหนมาไหนไม่ได้เลย อุ้มที่สาธารณะ ไปห้างสรรพสินค้า กลับมาไม่ทันข้ามวัน น้องจะมีอาการเป็นไข้ เราก็จะสามารถรู้ทันทีว่าเป็นอะไร

“ช่วงนั้นก็เข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก เพราะมีครั้งหนึ่ง เราชะล่าใจรอดูอาการ ปรากฏว่าพอไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอบอกว่า ถ้ามาช้ากว่านี้ก็คงไม่ทัน หลังจากนั้น พอมีอาการ เราก็จะรีบพาไปโรงพยาบาลเลย คือบอกตรงๆ ว่าต่อให้ประกันเบิกจนเบิกไม่ได้ เดือนหนึ่งต้องมีสักหนที่เข้าแอดมิดโรงพยาบาล เดือนหนึ่งต้องมีไปเพราะอาการกำเริบ เนื่องจากมันเป็นอาการตายตัวที่พอเกิดอาการเหนื่อยหรือว่าอาเจียน จะทำให้ไอติดๆ กัน ทำให้หายใจไม่ทัน หลอดลมตีบตันที่น้องเป็นก็จะกำเริบตามมา ก็เลยต้องรีบไปโรงพยาบาล เพราะเราไม่อยากให้เขาทรมาน”

"เขาก็จะจำความรู้สึกที่เจ็บป่วยได้ เพราะมันบ่อยจนเขารู้สึก ทั้งเจาะเลือด เจาะน้ำเกลือ จะเป็นอะไรที่เครียดมากตอนนั้น คือทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจก็เสีย" เรื่องนี้คุณแม่กับคุณพ่อพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในวันเวลานั้นที่น้องรักษาเท่าไหร่ อาการก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ขณะที่จำนวนเม็ดยาก็ทวีเพิ่มเป็นหลายเท่าตัว จนน้องอิ่มต้องปลีกตัวเองไปเล่นคนเดียวในสวนหลังหมู่บ้าน เพื่อให้ห่างไกลภาพเพื่อนๆ กลายเป็นคนเก็บตัวไม่ชอบสังคม

“รู้ไหมว่าเราไม่ค่อยสบายบ่อย” เราหันไปถามความรู้สึกนึกคิดของเจ้าตัว หลังจากกลับมาพักหายเหนื่อย พร้อมจักรยานคู่ชีพที่ออกตระเวนปั่นทั่วหมู่บ้าน คล้ายเข้าประจำเวรตรวจตราของกู้ชีพรุ่นใหญ่

“รู้ครับ...น้องอิ่มจะเหนื่อยง่าย แล้วก็หอบ ก็เลยต้องไปออกกำลังกาย ไปปั่นจักรยาน" เด็กน้อยตอบเร็ว ก่อนจะวิ่งไปที่จักรยานคู่ชีพอีกครั้ง พลางยิ้มหัวเราะพูดด้วยความดีใจว่า "มีกล่องเหมือนพี่ปาวด้วย”

พี่ปาวที่ว่านี้ หมายถึง “ภาณุพงศ์ ลาภเสถียร” อาสาสมัครจักรยานกู้ชีพคันแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นไอดอลและแรงบันดาลใจให้น้องอิ่มโมดิฟายจักรยานตัวเองเป็น “2 ล้อกู้ชีพ”

“คือ 2 - 3 ขวบนี้ ออกอาการเต็มที่เลย เราก็กังวลเพราะคุณหมอบอกว่าถ้า 4 ขวบไม่หาย น้องก็จะเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต แต่ด้วยความที่พ่อก็เป็นพยาบาล มีความรู้ เราก็พยายามศึกษา หมั่นปรึกษาคุณหมอ คุณหมอก็แนะนำบอกว่ามีสองวิธี หนึ่ง รักษาโดยแช่บ่อเกลือ หรือสอง รักษาด้วยโอโซน ให้ไปอยู่ที่อากาศบริสุทธิ์ อาจจะต้องไปอยู่ต่างจังหวัด หรืออาจจะต้องไปสวนสาธารณะเช้าๆ คิดดูแล้ว น้องสามารถทำอย่างหลังได้ เราก็เลยเลือกวิธีออกกำลังกาย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นทั้งหมดของเรื่อง" คุณแม่กล่าวเสริมด้วยรอยยิ้มเต็มดวงหน้าเมื่อเห็นลูกน้อยวิ่งเทียวเข้าเทียวออกด้วยความซน ผิดจากเมื่อครั้งกระโน้นที่ได้แต่เซื่องซึม ไม่เข้าสังคม ใครจะเข้าใกล้ก็ถอยหนี เพราะกลัวเขาจะติดโรค กลัวเป็นแล้วต้องไปโรงพยาบาลเจอหมอ

“เรากลัว เรากลัวมาตลอด เรากลัวขนาดจากคนที่มีความรู้กลายเป็นคนไม่มีความรู้ไปเลย คือเวลาหมอสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น ซึ่งเราก็เรียนมา เรามีความรู้ว่าโรคนี้มันเป็นแบบนี้ ต้องทำอย่างนี้ แต่พอเจอกับตัวเอง มันก็ทำใจลำบาก เพราะเราไม่รู้ว่าเขาต้องฝืนแค่ไหน” คุณพ่อเผยเหตุการณ์ที่ต้องพาน้องอิ่มไปสวนสาธารณะทุกเช้าเย็นเพื่อออกกำลังกาย ต้องซื้อจักรยานตามคำขอ แม้ไม่รู้ว่าการรักษาครั้งนี้จะมีผลสัมฤทธิ์หรือไม่

“คือตอนนั้น เราก็แอดมิดเข้าโรงพยาบาลตลอดอย่างที่บอก ก็หมดเงินไปเยอะแล้ว มารักษาต่ออีก ตรงนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะหายหรือไม่ เพราะมันมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงเรื่อยๆ ก็เลยเลือกวิธีนี้ แต่ว่าเราต้องมีวินัย เพราะหมอบอกว่าสวนสาธารณะ ช่วงใกล้ๆ แดดจะออกประมาณ 6 - 8 โมงเข้า ไม่เกิน 10 โมง ช่วงนี้ในสวนสาธารณะระดับโอโซนมันจะเยอะ ลองให้น้องไปอยู่อย่างนั้นดู แต่ต้องมีวินัย ตรงต่อเวลาทุกวัน

“คือตอนนั้นก็ต้องทำทุกวัน ต้องอดทนตื่น ก็ดีขึ้น ไปได้อาทิตย์เดียว เราเห็นความแตกต่างเลย ลูกเราไม่หอบ จากปกติวิ่งปุ๊บ เขาจะไอ เขาจะอาเจียน สังเกตเวลาเขาวิ่ง เขาก็ไม่หอบ แล้วน้องเขาก็แฮปปี้ เราก็ดีใจ ก็เลยเหมือนเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงขับให้เราพยายามตรงต่อเวลา ตื่นไปทุกวัน ได้เดือนกว่าๆ อาการหอบก็ไม่มี

“ไม่หอบเลย (ลากเสียง) แต่ไม่ถึงกับขนาดวิ่งแรงๆ อย่างนั้นยังเป็นอยู่ เราก็ยังไม่อนุญาต หลังๆ เขาอยากซื้อจักรยาน เราก็เลยซื้อให้เขา ก็หัด ก็ปั่นกันไป จนไปเจอพี่ๆ อาสาแถวนั้นบ่อยๆ เข้า เขาก็คุ้นชินกับสิ่งที่พี่ๆ เขาทำ ยิ่งพอมาเจอคลิปพี่ปาว มันเลยเหมือนปลั๊กที่เข้ากัน”

นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราพบเห็นหนูน้อยกับจักรยานที่เบาะหลังเต็มไปด้วยกล่องบรรจุภัณฑ์ จำพวกพลาสเตอร์ สำลี ผ้ากอซ น้ำเกลือ แอมโมเนีย ยาพ่นรักษาทางเดินหายใจ ฯลฯ คอยเที่ยววิ่งรักษา ยามเมื่อพบผู้บาดเจ็บในงานกิจกรรมเดิน วิ่งมาราธอน งานปั่นจักรยานต่างๆ นานา หรือกระทั่งม็อบชุมนุม

“ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้สอนเรื่องนี้ให้เขา แต่เราคิดว่าเป็นเพราะการที่เขาเติบโตมาในสวน คือช่วงนั้นเราก็ไปสวนรถไฟบ้าง ไปสนามหลวงบ้าง เช้า 6 โมงถึง 4 โมงเช้า เย็น 5 โมงถึง 6 โมงเย็น น้องก็ได้รับเรื่องราวเหล่านี้จากพี่ๆ ที่เขาไปพบเห็น พี่จิตอาสาแถวนั้น เรื่องของจิตอาสาก็คงจะปลูกฝังมาตั้งแต่ตอนนั้น

“เหมือนกับที่เด็กคนอื่นไปเห็นทหารแล้วก็เลยชอบทหาร น้องไปเห็นจิตอาสาเข้า เขาก็เลยอยากเป็นจิตอาสา เราก็ไม่ได้ห้าม เพราะคิดว่าถ้าเขาทำแล้วเขามีความสุข ไม่หอบ ไม่ป่วย เราก็ปล่อยเขา ไม่เห็นว่าเป็นอันตราย เวลาน้องมา เขาก็จะตะโกนเรียก “เจ้าหมอน้อยมาแล้ว” ปรบมือ ต้อนรับ

“ทีนี้พอได้ช่วยคน คนขอบคุณเขา เขาก็มีความสุข รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เพราะก่อนหน้านั้นเขาจะรู้สึกว่าเป็นภาระตลอด จะทำอะไรก็อาย ต้องให้อุ้มตลอด ไม่กล้าเจอสังคม เจอคนเขาไอก็กลัวติดไอจากเขา ปั่นจักรยานก็ต้องคอยหลบเข้าข้างทาง มันก็เลยเหมือนพลิกชีวิตกลายเป็นคนที่คอยช่วยคน กลายเป็นตัวเองมีคุณค่าขึ้นมา”

“เราก็ภูมิใจในตัวเขาที่เขาคิดของเขาเองได้อย่างนั้น แต่จริงๆ เราก็คิดว่ามันเป็นการเล่นอย่างหนึ่ง แต่ว่าการเล่นของเขามันทำให้เราดีใจเรื่องที่เขาหายป่วย การเล่นของเขามันทำให้เขามีพลัง ลืมโรคตัวเอง แล้วก็มีพลังปั่น ซ้อม ออกกำลังกายของตัวเอง ทำให้เขาแข็งแรงมากขึ้น เรามีความรู้สึกว่าเราได้ตรงนั้นมากกว่า คือหัวอกคนเป็นพ่อแม่ เห็นแบบนี้มันมีความสุขเหนือสิ่งอื่นใด”

เหนื่อย แต่คุ้มค่า
เพราะเจ้าคือแก้วตาดวงใจ

นอกจากเจ้าหมอน้อยวัย 5 ขวบจะหายจากโรคหอบหืดได้สำเร็จจนไม่ต้องพึ่งยาและเข้าโรงพยาบาลรักษาตัวอีกต่อไปในเวลานี้ เพราะสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นจากการออกกำลังกาย อีกสิ่งหนึ่งซึ่งครอบครัว “สุนทรวัฒน์” ได้รับคือพลังทางใจที่ผสานไปกับความสุขที่ยากจะหาใดเปรียบปาน

“คือกว่าจะมีวันนี้ได้ แรกๆ ก็เหนื่อยกัน เพราะคุณพ่อต้องเข้าเวรทำงาน พอเสร็จงานโรงพยาบาลก็ต้องพาน้องอิ่มไปสวน ไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาอยากไปอีก อย่างวันนี้เข้างานตอน 7 โมงเช้าเมื่อวาน จนตอนนี้บ่ายกว่าๆ ก็เพิ่งกลับจากพาเขาไปงานที่บางขุนเทียนชายทะเล ก็ยังไม่ได้พัก” คุณแม่เผยด้วยรอยยิ้ม พลางหันไปมองคู่ชีวิตซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว

“คุณแม่เขาก็เหนื่อย เพราะจริงๆ ก่อนหน้านั้นคุณแม่เขาก็ทำงาน งานเขาก็เป็นงานต้องไปต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไปค้าง คือไม่เช้าเย็นกลับ แล้วก็ต้องกลับมาดูแลน้องอีก แต่ทีนี้ที่ออกก็เพราะว่า พอกลับบ้านดึกๆ เจอน้องรอในขณะที่มือยังถือสิ่งประดิษฐ์จากโรงเรียนเพื่อเอามาอวดเรา เราทั้งคู่ก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องมีใครสักคนอยู่ดูแลเขา”

“ก็เหนื่อยไม่แพ้กัน...แต่เราก็ไม่ท้อ ที่ต่อให้ตอนนี้ยิ่งเขาหายดีเป็นปกติแล้วจะยิ่งเหนื่อยกว่าเก่าขึ้นก็ตาม เพราะตั้งแต่เริ่มจนถึงวันนี้ แม้เขาไม่ได้พูดให้เราฟังชัดเจน แม้เขาจะมีงอแงบ้างตามประสาเด็ก ไม่อยากไปหาหมอบ้าง แต่เขาไม่ดื้อ เขาไม่แสดงอาการท้อให้เราเห็น อย่างเรื่องตัวต่อโดมิโนไม้ เขาก็พยายามต่อจนสูงถึงโคมไฟที่บ้าน คือไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่า แล้วไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ด้วย แต่เขาก็จะพยายามทำเรื่อยๆ ล้มลงกี่ครั้งต่อกี่ครั้งเขาก็พยายามต่อขึ้นใหม่จนสำเร็จ"

“เรารู้สึกได้ว่าเขาสู้ เขาไม่ยอมแพ้” คุณแม่ว่าเสริม “แต่ทุกคนต้องทนร้อนนะ (หัวเราะ) เพราะการต่อโดมิโนแต่ละครั้ง เราต้องปิดพัดลมปิดประตูหน้าต่าง ไม่ให้ลมเข้าและห้ามส่งเสียงดังรบกวนด้วย”

ท่ามกลางเสียงหัวเราะรอยยิ้มเมื่อนึกย้อนถึงเหตุการณ์วุ่นๆ แต่ชวนหัว และให้ขบคิดจิตสำนึก วีรกรรม “ส่งการบ้าน” ที่ทำให้ใครต่อใครหลายคนยิ่งรู้จักหมอน้อยผู้นี้เข้าไปอีกคงจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้

“คือหลังจากที่พี่ปาวได้มอบเข็มกลัดรูปสมเด็จพระเทพฯ ที่เขาได้รับพระราชทานให้น้องเป็นของที่ระลึก แล้วพี่ปาวบอกว่า “น้องอิ่มก็เป็นเหมือนพี่ปาวแล้วนะ เป็นคุณหมอของสมเด็จพระเทพฯ" เท่านั้น น้องก็อยากนำรูปที่เราถ่ายเก็บน้องตอนไปทำแผล ไปช่วยเหลือคน เพื่อที่จะบอกให้เขาภูมิใจในตัวเอง ในการทำดีของตัวเอง เขาก็อยากจะนำเรื่องราวความดีเหล่านี้ไปถวายสมเด็จพระเทพฯ”

“แต่คือเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การขอเข้าเฝ้าฯ แรกๆ เราก็เลยอิดออดออกอุบายหาวิธีไว้ก่อน โดยการบอกว่าถ้าจะไปหาท่านสมเด็จพระเทพฯ น้องอิ่มต้องออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงก่อน ต้องปั่นจักรยานให้ได้ 5 กิโลเมตรนะ”

“เราก็ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ เพราะแรกๆ ก่อนปั่นเขาก็ยังถามเราอยู่เลยว่า 5 กิโลเมตรคืออะไร” คุณพ่อเผยความเดียงสา “เราก็เลยเอาโทรศัพท์มาโหลดแอปพลิเคชันวัดระยะทางติดใส่หน้ารถเขา แล้วก็ให้เขาปั่น ปั่นขึ้นถึงเลข 5 นั้นล่ะ คือ 5 กิโลเมตร สักพักระหว่างนั่งรอ เราก็อ้าวเฮ้ย! ตกใจเลย น้องทำได้จริง ก็เพิ่มเป็น 8 กิโลเมตรก็แล้ว 10 กิโลเมตรก็แล้ว 15 กิโลเมตรก็ยังได้ คือปั่นแบบไม่หยุดเลยนะ ก็ทำอย่างนี้ทุกวัน จนได้เกือบ 20 กิโล เรายังไม่พาไปสักที น้องเขาก็เริ่มร้องไห้ บอกว่าถ้าไม่พาไปน้องจะปั่นไปเอง”

“จนวันนั้นก็เลยพาเขาไปปั่น แต่ก็ยังคิดในใจถ้าไม่ไหวก็เอาขึ้นรถกลับ แต่ทำไปทำมา น้องปั่นได้ 21.6 กิโลเมตร จากบ้านไปถึงคลองสระประทุม เว้นช่วงแยกถนนข้ามจรัญสนิทวงศ์ที่รถเยอะเท่านั้น”

หากใครได้ดูคลิปดังกล่าว จะรู้ว่าน้องอิ่มนั้นหยุดพักเพื่อดื่มน้ำดับกระหายเพียงหนึ่งครั้ง และแม้ว่าจะบอกกับเราว่า “เหนื่อย” แต่น้องก็ “ดีใจ” ที่ได้ถวายสมุดการบ้านและได้ถวายพระพรขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ

และแม้ใครจะมีภารกิจสำคัญอย่างไร แต่สำหรับน้องอิ่มปีนี้ก็ไม่พลาดที่จะไปถวายอัลบัมสมุดการบ้านชุดที่ 2

“นี่คือ สิ่งที่น้องให้กับเราโดยที่เขาไม่รู้ตัว จนถึงวันนี้เรียกว่าชีวิตพลิกเลยก็ว่าได้ คือทุกวันนี้เราก็มีแรงก็เพราะเขา เขาเป็นเด็ก เขายังไหว ยังกระตือรือร้น จริงๆ ไม่ต้องมองเรื่องไกลๆ เลย เอาง่ายๆ เรื่องครั้งแรกก่อนที่เขาจะมาช่วยคน เขาเห็นคนเจ็บแล้วเขาถามเราว่าทำไมเราไม่ช่วย "คือคุณพ่อเป็นพยาบาลคุณพ่อทำไมไม่ช่วย” เราก็อึ้งโดนแทงใจ ชัยญากรณ์ สารภาพ หลังจากนั้นก็เข้าร่วมอาสาสมัครกู้ชีพจักรยานเป็นคันลำดับที่ 9 ต่อจากลูกชาย

หรือเรื่อง “ค่าของเงิน” ในรายจ่ายอุปกรณ์ค่าหยูกยาที่ใช้แจกใช้ทำแผล ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการบริจาคของพี่ๆ เหล่าอาสา น้องอิ่มก็รับจ้างล้างจาน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ กระทั่งเก็บขวดพลาสติกขายเองแทบทั้งสิ้น

"คือเราไม่ได้ซื้อให้เขา แรกๆ เราแค่แนะเขาว่าถ้าอยากได้ต้องทำงานแลก เขาก็ยินดีมาช่วยล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ได้เงิน 5-10 บาท เราก็จะพาเขาไปซื้อสำลี ผ้ากอซ พลาสเตอร์ แต่หลังๆ เขาก็มาขอไปเก็บขวดขาย เพราะเห็นลูกๆ คนงานในแคมป์เขาทำแล้วได้เงิน เขาก็ไม่อาย เราก็เลยปล่อยให้ไปทำแล้วก็คอยดูห่างๆ พอได้ก็พาเขาไปขายมาซื้ออุปกรณ์ กระเป๋าที่ติดข้างรถเขาก็ทุบกระปุกออกมาซื้อด้วยเงินตัวเอง

“เรื่องเงิน เวลามีญาติผู้ใหญ่มา ก็ให้น้อง น้องก็จะเอามาให้เราต่อ คุณแม่ก็ไม่ได้บอกให้เขาต้องทำอย่างนี้นะ ทีนี้พอทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเขาเป็นอย่างนั้นไปจริงๆ เราก็ได้อะไรจากเขา ได้แรงขับตรงนี้”

“ต้องตั้งใจเรียน เรียนหนังสือให้เก่งๆ จะได้เก็บเงินเยอะๆ ซื้อรถ ซื้อบ้าน ให้แม่” อาจจะเป็นคำเจื้อยแจ้วของเด็กไร้เดียงสาคนหนึ่ง แต่นั่นก็ทำให้คนเป็นแม่เป็นพ่อรู้สึกตื้นตันในหัวใจ โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ

คือ “ลมใต้ปีก” ของลูกรัก
ไม่กักขังเส้นทางความฝัน

“ถามว่าเราวางแผนอะไรไหม จริงๆ เราไม่ได้วางแผนให้เขาเป็นอะไรเลย ก็แล้วแต่เขาชอบ เขาบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นหมอ ถ้าเขาชอบ เราก็สนับสนุน หรือถ้าวันหนึ่งเขาเกิดเลิกทำตรงนี้เราก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา ไม่กดดัน” คุณพ่อวัยกลางคน เปรยถึงเส้นทางในอนาคตของลูกน้อย

“เรื่องที่ว่าพอเขาได้รางวัล ก็มีหน่วยงานติดต่อเข้ามา เราไม่ได้ส่งน้องเขาไปเรียนเอง เพราะเขาเป็นห่วงเรื่องมาตรฐาน เนื่องจากมีกระแสทางด้านลบมาบ้างเกี่ยวกับความสามารถน้อง อย่างคลิปปั๊มหัวใจ เราก็สอนเขาบ้างเบื้องต้น เราสอนเล่นกันเองในบ้าน สอนทำแผล สอนเปิดทางเดินหายใจ สอนวิธีการช่วยคนเป็นลม ช่วยคนเป็นหอบ วิธีนี้ ยานี้ ใช้กับโรคนี้ไม่ได้ๆ ก็สอนเขาหมดทุกอย่าง”

ทำ CPR ได้ ปั๊มหัวใจได้ผ่าน โดยการสอบเพียงครั้งเดียว ปฐมพยาบาลแผลเบื้องต้น “เอาน้ำเกลือใส่ เอาผ่ากอซเช็ด เอาเบตาดีนใส่ เอาผ้ากอซเช็ด เอาพลาสเตอร์แปะ” หากเป็นลมต้องใช้ "แอมโมเนีย" น้องอิ่มก็จำได้ขึ้นใจ จนได้รางวัลจาก สพฉ. (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) รางวัล Boy of the Year ของ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) รางวัลเด็กและเยาวชนผู้มีจิตอาสาด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรขอนแก่น และรางวัลสมาคมการดับเพลิงและช่วยชีวิต (FARA) จากประเทศสิงคโปร์ ในฐานะ “ครู” ผู้สอนด้านจิตวิญญาณของจิตอาสา

“หลักๆ คือเราก็แค่พยายามช่วยให้เขาทำให้มันสำเร็จ แค่นั้น ไม่ได้ไปชี้นำความคิดเขา เราปล่อยให้เขารู้สึกเองว่าอยากทำอะไร อย่างถ้าเขาอยากเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกต้นไม้ เราก็จะเปิดยูทูปวิธีการเลี้ยงให้เขาดู หาหนังสือคู่มือให้เขาศึกษา พอรู้แล้วก็ให้เขาเก็บเงินซื้อเอง เลี้ยงเอง ปลูกเอง เขาจะได้รู้สึกว่าเขาทำอะไรได้ เขาจะได้เกิดความภูมิใจเมื่อทำอะไรสำเร็จ” คุณแม่เผยถึงการปลูกฝังให้น้องอิ่มเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก

“แต่ก็ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เล่น ให้ออกกำลังกายอย่างเดียว เพราะก่อนหน้านี้น้องป่วย น้องก็จะเรียนอ่อนกว่าเพื่อน เราก็ต้องเข้มงวดบ้าง ให้อ่านหนังสือก่อนกี่ชั่วโมง วันนี้งด ห้ามเล่น น้องเขาก็จะมีต่อรองบ้าง เราก็อะลุ่มอล่วยตามเห็นสมควร”

“ก็ช่วยเหลือไม่ให้เขาขาด ทีนี้ก็ให้เขาทำหน้าที่ของเขาไป ดีไม่ดีอย่างไรเราไม่ว่า อาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ทำ เพราะถึงตรงนี้ก็นับว่าเกินคาดอย่างที่บอก คือจากจุดประสงค์แรกที่เราอยากให้เขาแข็งแรง หายป่วยเท่านั้น แต่มาถึงวันนี้เขาสู้จนหายได้ มันเริ่มจากความสุข ดังนั้น เขาอยากเป็นอะไร อยากทำอะไรในสิ่งที่เขาชอบเขารัก เราก็ไม่ปิดกั้น เรารู้ว่าเขาทำเต็มที่ในทุกๆ อย่าง ทุกๆ เรื่อง

“ดังนั้น ถ้าเขามีความสุขเราก็พร้อมสนับสนุนให้เขาประสบความสำเร็จ”

ด้วยรอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ แม้ว่าจะเหนื่อยหนักขึ้นกับการที่พลังงานร่างกายน้องอิ่มเพิ่มพูนขึ้นทุกวันๆ แต่กระนั้นก็กลับไม่เหลือความเจ็บปวดเหมือนในวันเก่าคืนก่อน
ก็คงจะเป็นเหมือนคำเขาว่า “ฟ้าหลังฝน” ที่เรามักนำมาเปรียบเปรยชีวิต
เมื่อหัวใจไม่ยอมแพ้ สักวัน เมื่อฝนหยุดตก ความสดใสก็จะมาเยือน...





เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม และเฟซบุ๊ก น้องอิ่ม “เจ้าหมอน้อย” และ น้องอิ่ม-ณัฐวรรธน์ สุนทรวัฒน์ น้องอิ่มเจ้าหมอน้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น