xs
xsm
sm
md
lg

“อสุกะ111” นักวาดภาพประกอบชาวไทย ที่คว้ารางวัลระดับทวีป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแข่งขัน Manga Drawing Battle ในงาน Anime Festival Asia 2014 ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หากคนทั่วไปในบ้านเราได้รับข่าวสาร ก็อาจจะเป็นเพียงแค่ข่าวคราวในวงการการ์ตูนธรรมดาๆ ข่าวหนึ่ง และคงจะพูดถึงกันในเฉพาะกลุ่ม แต่ทว่าผู้ชนะเลิศของรายการนี้ กลายเป็นหนึ่งเดียวจากประเทศไทยที่มีนามปากกาว่า Asuka111 หรือ “อัส-ปฏิพัทธ์ อัศวเสนา” นักวาดภาพประกอบของวงการการ์ตูนอีกคนหนึ่งของบ้านเรา

จากเด็กที่เติบโตมาจากการ์ตูนทางโทรทัศน์เหมือนปกติ จนมาพบกับการ์ตูนเรื่อง เอวาเกเลียน (Avagelion) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเขาคนนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ อันเนื่องจากคำว่า “ศิลปินไส้แห้ง” แต่ปฎิพัทธ์ยังคงมุ่งมั่นกับทางที่ตนเองเลือกไว้มาตั้งแต่ต้น และฝึกปรือตนเองเรื่อยมา
มาจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลาเกือบสิบปีบนเส้นทางสายการ์ตูน ปฎิพัทธ์เป็นที่ยอมรับจากทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบัน คำว่า “ศิลปินไส้แห้ง” จะยังเป็นคำศักดิ์สิทธิ์และเป็นดั่งสิ่งต้องห้าม สำหรับบรรดาเหล่าพ่อแม่ที่ห่วงใยถึงอนาคตบุตรหลาน แต่เขาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ฝ่าอุปสรรคคำนั้น จนสามารถดำรงอาชีพเป็นนักวาดการ์ตูนอาชีพได้อย่างมั่นคงและมั่นใจได้

และนั่นคือตัวอย่างของคนที่รักในสิ่งที่ตนเองสนใจ จนสามารถเอาชนะสิ่งที่ก่อกวนจิตใจ และยืนหยัดในสิ่งที่ตนเองเลือกเดินบนเส้นทางสายลายเส้นน้ำหมึกสายนี้..
ผลงาน เมอร์ไลอ้อน ที่ให้ Asuka111 คว้ารางวัลชนะเลิศ
• ถูกเชิญให้ไปแข่งขันในรายการนี้ ทั้งๆ ที่ ขัดกับลักษณะการทำงานของตนเอง

ส่วนตัวก็ไม่ค่อยได้ลงแข่งในลักษณะนี้อยู่แล้วครับ เพราะเวลาวาดรูปจะต้องมีสมาธิมาก และที่เคยแข่งมา จะเป็นการส่งผลงานไปมากกว่า ตอนแรกก็มีบ่ายเบี่ยง ไม่ค่อยอยากลงแข่งเท่าไหร่ แต่สุดท้ายใจอ่อน ก็เลยได้มาแข่งครับ

โดยปกติ ผมไปงานประเภทคอนเวนชันเกี่ยวกับการ์ตูนอยู่แล้ว แล้วทีนี้ งานแข่งครั้งนี้เป็นงานแรกที่มีการวาดครั้งแรก ก็เลยมาเชิญผม และกลายเป็นตัวแทนของประเทศไทยเลย

• ทีนี้พอมาดูรูปแบบการแข่งขัน ถือว่าเป็นความท้าทายส่วนตัวเลยก็ว่าได้

มากเลยครับ คือปกติผมทำรูปหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งรูปสเกตช์คร่าวๆ ก็ปาไปหนึ่งวันเต็มๆ แล้ว แต่พอมีเวลาแค่ 45 นาที และโจทย์ในแต่ละรอบก็ไม่เหมือนกันด้วย อย่างรอบแรกก็วาดในไอแพด แต่ว่ามันได้ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อน มันจะมีปากกามาให้ที่หัวแหลมๆ หน่อย แล้วก็มีแอปฯที่ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ ก็ถือว่าท้าทาย เพราะในไอแพดนี่ อย่างที่รู้กันว่ามันยากอยู่แล้ว แถมเวลายังจำกัดอีก ก็รู้สึกว่าเครียดเหมือนกัน ถึงขั้นเป็นโรคกระเพาะเลย (หัวเราะ) เพราะเวลาน้อย และผมเป็นคนทำงานช้าด้วย
• แต่เราก็สามารถฝ่าฟันมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศและคว้าแชมป์กลับมาจนได้

คือรอบแรกวาดในไอแพด ก็จะเป็นมาสคอตของงาน afa ชื่อเซก้าครับ รอบสองใช้โคปิก ซึ่งเป็นปากกามาร์กเกอร์ระบายสี แล้วก็จะมีเป็นธีมให้ ให้วาดตัวละครของกรรมการคนหนึ่ง ชื่อ “มิไร” หัวส้มๆ ครับ แล้วก็รอบสาม เป็นตัวเมอร์ไลอ้อน อย่างที่ได้เห็นตามข่าวน่ะครับ คือให้โจทย์มาก่อนแข่ง ให้เตรียมตัว

สำหรับโจทย์ในรอบชิง กลับคิดว่า สบายใจกว่าสองรอบแรก เพราะเหมือนกับว่าเราดีไซน์ได้เต็มที่เลย ก็เลยไปหาข้อมูลก่อนแข่งว่าตัวเมอร์ไลอ้อนมันมีเรื่องราวยังไง เราก็เลยดีไซน์ออกมา อย่างที่เห็นเลยครับ ว่ามีเรื่องราว มีคาแรกเตอร์ เราก็ไปหาข้อมูลมาว่าเมอร์ไลอ้อนเคยโดนฟ้าผ่ามาก่อนที่ศีรษะ จนต้องปิดซ่อมและเป็นข่าว ก็เลยเอาเรื่องนี้มาใส่ในคาแรกเตอร์ว่าเคยโดนฟ้าผ่าที่หัวนะ แล้วมีพลาสเตอร์แปะ และสายฟ้า คือพอมาถึงรอบชิงนี้ ถือว่ามั่นใจ เพราะเราสามารถใส่ตามที่เราอยากจะใส่ได้หมด ก็รู้สึกอึ้งๆ เหมือนกัน ได้รับรางวัลกลับมา

• คุณเริ่มสนใจการ์ตูนตั้งแต่เมื่อไหร่

จะเรียกได้ว่าโตมากับหนังสือการ์ตูนก็ได้ หรืออย่างตอนเรียน เพื่อนก็เอามาอ่าน เอามาให้ยืมอ่านบ้าง หรือเหมือนเด็กไทยส่วนใหญ่ทั่วไปที่ดูการ์ตูนทางทีวีช่อง 9 พวกโดราเอมอน ดรากอนบอล เซเลอร์มูน แต่ว่าจุดที่จริงจังในการวาดขึ้นมาก็คือ ยุคที่การ์ตูน Evangelion เข้ามาครับ ประมาณ ม.3-ม.4 เป็นอะนิเมะที่ดังมากเลยในยุคนั้น ยุค 1990 และนามปากกาผมก็มาจากตัวละครในเรื่องนี่แหละ หลังจากดูเรื่องนี้ ถึงขั้นคลั่งไคล้ประมาณนึงเลย
 
เพราะในยุคนั้นจะเป็นการ์ตูนแนวหุ่นยนต์ จะมีแบบนักเรียน แล้วก็มีหุ่นยนต์ออกมาจากโรงเรียน รวมร่างกัน แล้วตอนนั้นมันเกร่อเต็มไปหมด พอมีเรื่องนี้เข้ามาคือแหวกแนวเลย เป็นแนวกึ่งๆ ไซไฟ สู้อย่างจริงจัง และมีดราม่า ซึ่งแปลกกว่าในยุคนั้น ทั้งสไตล์การกำกับ ทั้งเนื้อเรื่อง มันดูจริงจังกว่า และดีไซน์มันล้ำมากเลย คือถ้ามาดูในตอนนี้ มันก็ยังไม่เชย แล้วก็ชอบดีไซน์ ชอบตัวละคร แล้วก็เป็นเรื่องแรกที่ดูแบบเสียงญี่ปุ่นด้วย จึงทำให้ชอบเลย
• สนใจในการ์ตูนขนาดนี้ แต่เลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มันดูขัดแย้งยังไงชอบกล

เมื่อก่อนเรายังมีความคิดฝังหัวอยู่ว่า เขียนการ์ตูนอาจจะไม่รอด ไส้แห้ง และเป็นปัญหาคลาสสิกมาก ซึ่งตอนนั้นถือว่ามืดแปดด้าน และไม่รู้ว่ามันจะรอดหรือเปล่า แต่เพราะความชอบ เราก็เลยทำมาเรื่อยๆ ตอนที่เราเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ค่อยชัวร์เท่าไหร่ แถมที่บ้านก็มากดดันนิดนึง ประมาณ 'เรียนการ์ตูนไม่น่าจะรอด' แต่เค้าก็ไม่ได้ห้ามนะ เราก็ไม่รู้เรื่อง เครียด ก็เลือกเรียนวิศวะไป

พอถึงช่วงฝึกงานประมาณปีสาม มันเหมือนกับถึงขีดสุดแล้ว แบบเราต้องมาเจอทุกวัน ก็ทำให้รู้ว่าเราไม่ชอบวิศวะอย่างแรง แล้วพอรู้ว่าไม่ชอบ เราก็เลยเรียนเอาให้แค่พอจบ ยอมรับเลยว่าทรมานมาก เพราะมันรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่ก็เหมือนว่าทนๆ ไป จนกระทั่งเรียนจบ มันจะมีพวกสอบใบอนุญาต เราก็ไม่สอบ ทิ้งทุกอย่างเลย แล้วไปตายเอาดาบหน้า แต่โชคดีตรงที่...ตรงที่เราทิ้ง เรามีงานสะสมอยู่ แล้วเอามาต่อยอดได้ แล้วก็ไปสมัครงานเขียนการ์ตูน

• ก่อนหน้านี้ เคยส่งผลงานไปที่ไหนบ้างหรือเปล่า เพราะเห็นบอกว่าก็เขียนการ์ตูนอยู่บ้างแล้ว

ไม่เคยเสนอผลงานเลย คือต้องบอกเลยว่า ในช่วงแรกเขียนการ์ตูนไม่เป็นเลย แต่ว่าจะเป็นแบบเขียนเป็นภาพประกอบมากกว่า ถ้าเขียนการ์ตูนแบบจริงจังเลย ก็ตอนมาเขียนกับเพื่อน ให้เพื่อนแต่งเรื่องให้ แล้วเราเขียนภาพมากกว่า แล้วยุคนั้น อินเทอร์เน็ตก็เริ่มเข้ามาแล้ว มีเล่นเว็บบอร์ดบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ เขียนภาพเอาไปโพสต์ให้คนอื่นเห็น ช่วงไหนที่คึกคักหน่อย ก็อาทิตย์ละครั้ง

อีกอย่าง การเขียนส่งสำนักพิมพ์ มันต้องคิดอะไรหลายอย่าง ตอนนั้นไม่ได้คิดเลย อยากเขียนเพราะชอบ เรื่องเรียนก็ถือว่ามีส่วนด้วย เพราะก็หนักมาก จริงๆ ก็กังวลหมดนะ ฝีมือก็ไม่เก่ง เนื่องจากเราก็ไม่ได้เรียนมาด้วย เราฝึกเอง หาทางอินเทอร์เน็ตด้วย แล้วเราก็เรียนหนักด้วย ทำให้เราไม่สามารถทำเป็นการ์ตูนไปเสนอได้ ส่วนใหญ่ก็เขียนเป็นภาพๆ มากกว่า

• พอมาทำงานสายการ์ตูนอย่างจริงจัง ได้อะไรจากการทำงานบ้าง

ตอนอยู่ที่แรก เราได้ทักษะ การใช้โปรแกรม วิธีประหยัดเวลาและการทำงานเร็ว แต่ต่อมาเราได้เรื่องการออกแบบ ว่าดีไซน์ยังไง วิธีมองงาน วิธีทำให้งานดูน่าสนใจ ก็เป็นอีกระดับนึง คือเค้าจะสอน Principle of design น่ะครับ ประมาณนั้น บวกกับได้ไปเจอเพื่อนศิลปิน และคนเก่งหลายๆ คน ก็ซึมซับพวกเทคนิคต่างๆ และอัปเกรดเราไปสู่อีกขั้นหนึ่ง
• เรียกได้ว่า ลายเส้นค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว

ถือว่าเปลี่ยนเร็วมาก คือไม่รู้นะ แต่ส่วนตัวคิดว่าจะเปลี่ยนเร็วมาก เอามาเรียงกันเนี่ย แทบจะไม่ซ้ำเลย คือสไตล์ด้วยที่เราอาจจะมาจากมังงะ แล้วศึกษาพวกตะวันตกน่ะครับ พวกวิชาวาดเส้น ดรอว์อิ้ง งานของเราก็เลยดูไม่มังงะเท่าไหร่ ก็จะดูสมจริงนิดนึง สไตล์ก็เลยค่อนข้างแกว่งเหมือนกัน ซึ่งสไตล์เราก็อาจจะอยู่ในแนวกึ่งๆ งานเกาหลีมั้ง ที่มันจะดูหน้าคล้ายญี่ปุ่น แล้วบิดไปทางตะวันตกหน่อย อะไรประมาณนั้น ก็คือเป็นคนที่วาดได้หลายสไตล์

• แล้วที่เอาตัวเองเป็นแบบนี่คือยังไง

คือเวลาวาดรูป มันจะมีบางท่าหรือบางมุมที่มันวาดไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่สไตล์นี้ที่ผมเห็น มันจะมีแบบที่มีอยู่แล้ว วาดแล้วมันจะดูซ้ำๆ คือผมอยากวาดได้ทุกมุมน่ะ ประมาณนั้น ซึ่งบางมุม เราไม่เคยวาดไง คือมายังงี้ บางทีมันก็ยากเกินไป เลยต้องมี reference นิดนึง อีกอย่างคือไม่มีตังค์จ้างนางแบบครับ (หัวเราะ) เราก็เลยหาอุปกรณ์เท่าที่มี แล้วโพสท่าเองเลย แต่มันเอาไปใช้เลยไม่ได้ไง เราต้องดัดแปลงนิดนึง คือเอาท่าแบบนั้นไปไง ดัดสัดส่วน เพิ่มตรงนู้น เติมตรงนี้เข้าไป

• เนื้อหาหลักที่เรานำเสนอออกมาจะเป็นในลักษณะใด

ส่วนใหญ่จะคิดธีมของเรื่องก่อน คืออยากเขียนอะไรก็เขียนวางไว้ เช่น อย่างหนังสือแฟนอาร์ตเล่มล่าสุด (Korsong) เราอยากทำชุดนักเรียนญี่ปุ่น ในการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องแล้ว วาดชุดนักเรียนไทยแบบน่ารักๆ แบบแฟนตาซีบ้าง แล้วค่อยไปคิดในแต่ละภาพว่าเป็นยังไง แล้วปีหน้า ธีมก็ไปอีกแบบนึงเลย อาจจะเป็นชุดนิสิตก็ได้ แต่หลักๆ ก็แล้วแต่ครับว่าอยากจะเขียนอะไร แล้วพอเราได้ธีมมาแล้วเนี่ย ก็พยายามคิดดีไซน์ให้มันตามธีม

• ผลงานล่าสุด เราก็เน้นเรื่องความเป็นไทยมากขึ้น เหมือนกับว่า ถึงเวลาแล้วที่ความเป็นไทยจะเผยแพร่แล้วซะที

ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้นครับ จริงๆ ก็คือชุดนักเรียนมันน่ารัก แค่นั้นเอง แล้วความเป็นไทยมันตามมาทีหลัง เราไม่ได้ตั้งใจที่จะใส่อยู่แล้ว ถ้าตั้งใจจะใส่ มันจะดูเป็นยัดเยียด คือชุดนักเรียนมันน่ารักจะตาย เราอยากจะวาดชุดนักเรียนไทย แบบที่ไม่เคยเห็นบ้าง คือถ้าดูโดยรวม เราจะเห็นแบบหัวสีรุ้ง นักเรียนไทยไว้ผมอย่างงั้นไมใด้ แล้วผลงานเรามันทำได้ไง ก็เขียนเลย แค่นั้นเอง แต่คนดูก็จะเก็ตว่า นี่มันชุดนักเรียนไทยนี่
• แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีเสียงวิจารณ์อยู่ว่า “ไม่ไทยเบย” อย่างงี้ ส่วนตัวคิดเห็นยังไง

อย่างคนที่ชอบว่า เราต้องเอาลายไทยมาใส่ คือบางทีมันก็ไม่เวิร์กอ่ะ ซึ่งพอมาใส่มันก็ขัดไปหมดอ่ะ มันดูฝืดมากเลย ซึ่งไม่ใส่จะดีกว่า คือเรามาดูเนื้อหาด้วยว่าใส่แล้วมันเวิร์กมั้ย ถ้าไม่เวิร์กก็ไม่ต้องฝืนก็ได้ แค่นั้นเอง แต่พวกลายไทยลายกนกมาอยู่ในลายศิลป์สมัยใหม่ได้มั้ย ผมว่าได้ แล้วแต่เราจะหยิบมาใช้ มาดัดแปลง ทีนี้มันก็จะมีประเด็นอีกว่า ถ้าหยิบมาดัดแปลง แล้วไม่เคารพครูบาอาจารย์ ลบหลู่บ้าง ซึ่งผมว่ามันไร้สาระมากเลย ถ้าทำอย่างงั้นเนี่ย คิดว่า ซักพักเดี๋ยวก็ตาย มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือคนบางคนก็ชอบสตัฟฟ์ไว้แต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมให้เข้ากับร่วมสมัย ซึ่งยุคมันเปลี่ยนไปแล้ว มันก็ควรจะมีการดัดแปลงบ้าง แต่ขอแค่ว่ามันมีที่มายังไง

พวกคำวิจารณ์ เราควรจะเลือกบางส่วน บางทีเขาพูดอะไรมาเราก็ฟังๆ ไป บางทีอาจจะไม่ต้องคิดมากก็ได้ แต่คนไหนที่ให้คำคอมเมนต์ที่ดี ก็ควรเก็บมาคิดนิดนึง แต่ถ้าพวกแบบ “ไม่ไทยเบย” ช่างมันเหอะ (หัวเราะ) คือทำไมต้องแคร์วะ ไม่สนใจ ถ้าเอามาคิดมาก งานเราก็ได้รับผลกระทบอีก วาดแบบนี้ดีแล้ว ก็ไม่สนใจ เดี๋ยวพอยุคสมัยเปลี่ยน ก็คงหายไปเอง

• ในฐานะนักเขียนการ์ตูน มองวงการการ์ตูนไทยในปัจจุบันนี้ว่าเป็นยังไงบ้าง

ผมว่าดีขึ้นนะ อย่างมีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์การ์ตูนไทยขาย เช่น การ์ตูนไทยสตูดิโอ นักเขียนเก่งๆ ก็หลายคน เด็กสนใจวาดรูปก็มากขึ้น แล้วเด็กสมัยนี้เก่งมากเลย ขอบอก รุ่นพี่ๆ ถือว่าซวยกันเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเก่งเร็วขึ้น ผมว่าอินเทอร์เน็ตนี่แหละ เข้าถึงข้อมูลมากกว่า แล้วสมัยนี้ เสิร์ชจากยูทูปก็ได้ จากเมื่อก่อนที่มานั่งอ่านหลายๆ หน้า คือพัฒนาจากยุคที่เราเริ่มมาก เมื่อก่อนผมมีหนังสือสอนวาดโง่ๆ 2 เล่ม แปลก็ผิด ประมาณนั้น แล้วสมัยนี้แบบพิมพ์กูเกิลก็เจอ ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น

• จากการไปร่วมงานการ์ตูนที่ต่างประเทศ มองเห็นความแตกต่างระหว่างเขากับเรา ตรงส่วนไหนบ้าง

การไปงานแบบนี้ ก็ถือว่าเปิดหูเปิดตาเหมือนกัน เพราะว่าเมื่อก่อนผมจะไปแค่งานการ์ตูนในไทย แบบคนรู้จักกันก็จัดกันเอง งานก็จะเล็กๆ หน่อย แต่ว่างานแรกที่ไป เป็นระดับคอนเวนชัน มันคนละรูปแบบกัน ซึ่งเราไม่เคยไป และเราต้องทำยังไงบ้าง แต่พอไปถึงแล้ว ทำให้เรารู้ว่างานการ์ตูนมันมีหลายรูปแบบ ไปครั้งต่อๆ ไป ก็พยายามจะจัดบูทของตัวเอง เมื่อก่อนไม่เคยคิดเลยนะ แค่เอาผ้าไปปู จบ แต่ว่าถ้าไปต่างประเทศ ก็คือต้องแต่งบูท ต้องโชว์งาน และก็ต้องขายของด้วย คิดเยอะเหมือนกัน แต่ชอบ เพราะว่าทำให้รู้จักคนเยอะแยะมากมาย เช่น ศิลปินในอาเซียน ก็เก่งๆ หลายคน

แล้วตลาดในเมืองนอก เขาจะจัดใหญ่ อย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ค่อนข้างใหญ่มาก คือถ้าไม่เคยไปงานแบบนี้ ก็คงจินตนาการยาก แต่ผมว่าอย่างมาเลเซีย วงการศิลปะของเขาก็ถือว่าเฟื่องฟูทีเดียว คือเขาสามารถจัดงานเหมือนกับงานประจำปีของเขา จัดปีละครั้งเท่านั้น แล้วเป็นบูทศิลปิน เกินครึ่งงาน แล้วลองคิดงานการ์ตูนของพวกเรา ที่เอาโต๊ะมาต่อๆ กัน แต่นี่มันคืองานแบบเดียวกัน แต่จัดในอิมแพ็ค เมืองทองธานี ใหญ่มาก
• ถ้าเปรียบตัวเองในเส้นทางการ์ตูน คิดว่าตัวเองเป็นอะไร

เคยมียุคหนึ่งที่ผมเล่นเว็บบอร์ดเว็บนึง มันจะจำลองว่าเหมือนเป็นโรงเรียน แต่ว่าเราตั้งชื่อของตัวเราในเว็บบอร์ด แล้วมันจะมีอาชีพ ก็เคยคิดว่าอาชีพนี้น่าจะเหมาะกับเราที่สุดก็คือนักเรียน ผมคิดว่าที่ผ่านมาทั้งหมด ผมคิดว่าผมเป็นนักเรียนที่ดีนะ เหมือนกับเราไม่หยุดนิ่ง ศึกษามาเรื่อยๆ

หรือถ้าเปรียบได้อีกอย่าง ผมคิดว่าผมเหมือนเกมร็อกแมน (Rockman) อย่างที่รู้คือ อาวุธของร็อกแมนคือปืนถั่วง่อยๆ แต่เวลาปราบบอสได้แล้วได้อาวุธของบอสมา เราก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ ประมาณนั้นครับ คือเราต่อสู้มาแล้วเก็บประสบการณ์มาเรื่อยๆ วันนึงมันก็ส่งผลดีต่อเรา ก็เลยเป็นเราทุกวันนี้

• อ่านจากประวัติในเว็บไซต์ ทำไมถึงเสพติดกาแฟได้ขนาดนั้น

เราชอบดื่มกาแฟมาก คือเหมือนกับพวกงานสายดีไซเนอร์นะ จะกินกาแฟเป็นน้ำเลย ประมาณว่ามันช่วยให้ไม่ต้องนอน ทำงานแล้วหัวแล่น แล้วผมก็กินบ่อย ช่วงหลังก็กินบ่อยขึ้น แต่ตอนนี้ก็พยายามลดๆ ลงแล้ว เพราะว่าเดี๋ยวจะเป็นโรคกระเพาะ อย่างเวลาผมกินกาแฟเงี้ย ไม่ได้กินอย่างเดียว ก็ศึกษามันด้วยว่า คือไปสตาร์บัคส์ แล้วมันมีโค้ดสั่งว่ายังไง ไปหยิบแผ่นพับมาอ่าน แบบ คาปูชิโน่มีสัดส่วนนมกับกาแฟเท่าไหร่ หรือ ม็อคค่า มีส่วนผสมของโกโก้กับกาแฟยังไงบ้าง เหมือนกับประดับความรู้ไว้ เผื่อได้ใช้ซักวัน

เหมือนกับไอเดียเราเติมได้เรื่อยๆ ครับ แล้วส่วนตัวเราชอบแบบเวลาไปเรียนรู้อะไรมา ไม่ใช่จำแค่วิธีใช้ เราอยากรู้ว่าเขียนอย่างนี้ มันมีที่มายังไง ถ้าเปรียบง่ายๆ ก็คือหนังสือฮาวทูของญี่ปุ่นจะเขียนแบบภาพสำเร็จรูปมาแล้ว แต่ภาพเบื้องหลังมันคืออะไร สุดท้ายมันก็จะพาเราไปสู่อนาโตมี กล้ามเนื้อเชื่อมยังไง กระดูกเชื่อมยังไง ประมาณนั้น แล้วพอเรารู้ถึงต้นตอจริงๆ มันก็ทำให้เราสามารถประยุกต์ความรู้ของเราได้หลากหลาย

• เป้าหมายต่อไปของ Asuka111

อย่างปีหน้าก็ไปงานคอนเวนชันเพิ่ม ก็ทำพวก personal project ตั้งใจว่า ปีนึงจะทำให้ได้หนึ่งโปรเจกต์ แล้วก็อยากทำแอนิเมชันมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่เชี่ยวชาญเท่าไหร่ มันเป็นอีกแบบนึงเลย มันไม่ใช่แบบวาดการ์ตูน หรือวาดภาพ ซึ่งเคยพยายามทำแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ อาจจะมองหาทางอื่นที่แบบทำแอนิเมชันซักเรื่อง แบบขำๆ personal project ก็อาจจะเป็น comics หรือรวมเล่มประมาณนั้นครับ





เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพประกอบจาก : facebook Fanpage : Asuka111 Art

กำลังโหลดความคิดเห็น