xs
xsm
sm
md
lg

วันวานยังเท่อยู่ 'ThreeBrothers BarberShop' ร้านตัดผมโคตรแนว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ใช่ 'หมอ' หรือ 'แพทย์' ด้านความสวยความงาม แต่ใครต่อใครก็พร้อมจะฝากศีรษะไว้กับพวกเขา และก็ไม่ใช่ 'ผู้หลักผู้ใหญ่' แต่ใครๆ ก็ยอมให้ลูบจับเส้นผมโดยไม่ปริปากร้องหรือถือสาว่าความ

แนะนำกันอย่างนี้คงจะมีหลายคนเดาออกแล้วว่าพวกเขาเหล่านี้คือ 'ช่างตัดผม'
และหากคุณได้รู้จักหรือสัมผัสร้านตัดผมที่มีนามว่า "ThreeBrothersBarberShop"แล้วไซร้ คุณอาจจะนึกสนุกอยากให้เส้นผมยาวไวๆ เพื่อจะได้เดินเข้าไปหากรรไกรของช่างร้านนี้

"ThreeBrothersBarberShop" คือร้านตัดผมของสามหนุ่ม "โอกุ้ย-อุดมเกียรติ ธงรัตน", "คิว-สุมาณชัย มานะชนม์"และ "แบงค์-อภิสิทธิ์ เชาวฉัตร" ซึ่งณ ปัจจุบัน ตั้งแต่คนไทยไปจนถึงชาวต่างชาติ หรือตั้งแต่เด็กหนุ่มผู้หลงรักสไตล์วินเทจย้อนยุคไปจนถึงคนรุ่นใหญ่วัยร็อกแอนด์โรลล์ต่างหลงมนต์เสน่ห์ปัตตาเลี่ยนและกรรไกรร้านนี้แถมยกให้เป็นร้านตัดผมวินเทจเบอร์ต้นๆ หรือนัมเบอร์วันในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

..."มันเป็นความชอบตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วล่ะครับ เพราะเวลาตัดผมมันทำให้ผมรู้สึกว่าผ่อนคลายดี" โอกุ้ย ช่างหนุ่มหนวดงามวัย 26 ปี เริ่มต้นสนทนาถึงที่มาที่ไปซึ่งทำให้เส้นทางชีวิตแนบชิดสนิทสนมกับกรรไกรและปัตตาเลี่ยนและเขาคนนี้ก็คือตัวตั้งตัวตีในการก่อร่างตั้งร้านขึ้นมา

"คือปกติผมเป็นคนคิดเยอะ ชอบคิดตลอดเวลา แต่พอเวลาได้ตัดผมมันทำให้เราหยุดคิดทุกสิ่งอย่าง เหมือนเวลานั้นมันมีแค่เรากับเส้นผมเท่านั้นเองผมเลยชอบที่จะตัดผม"

เริ่มตั้งแต่สมัยหัวเกรียนช่วงมัธยมต้น โอกุ้ยยิ้มบางๆ พลางเล่าว่าด้วยความเป็นคนที่ชอบแต่งตัว ชอบสรรหาแฟชั่นล้ำๆ ประดับกาย เติบโตมากับวัฒนธรรมดนตรีร็อกสากลในยุคปลายปี90 ที่กระแส 'นูเมลทัล' เบ่งบาน ก็เลยไล่ขอไถปัตตาเลี่ยนเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน

"แรกๆ ก็มั่ว (หัวเราะ) ตัดทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจเลย ก็แค่รู้สึกว่าชอบแฟชั่นชอบอะไรอย่างนี้ เพื่อนมันเห็นเราแต่งตัวเยอะๆ มันก็ยอมให้เราตัด ก็เลยได้เพื่อนเป็นที่ทดลอง
"ตอนนั้นมันก็อารมณ์แบบเปิดข้าง เรามีปัตตาเลี่ยนตัวหนึ่ง ก็ไถๆ ไปสมัยนั้นไม่รู้เขาเรียกว่าทรงหรือเปล่านะ แต่ถ้าเปรียบในตอนนี้ก็น่าจะเป็นฟีลอารมณ์ประมาณอันเดอร์คัต เพราะเราเติบโตมาในยุคนั้น เราเห็นนักร้องฝรั่งในช่องเอ็มทีวีช่องแชนแนลวีคือในยุคนั้นมันจะเป็นประมาณนี้หมดถ้าเป็นวงไทยก็วงซิลลี่ ฟูลส์ ยุคนั้นจะแบบฮาร์ดคอร์หน่อยๆ อย่างพวกวงสลิปน็อต วงลิงคินพาร์กวงลิมบิสกิต ถัดมาก็เป็นยุคป๊อบพังค์พังค์สเก็ตเข้ามาแฟชั่นยุคนั้นก็จะเป็นทรงโมฮ็อก ทรงเปิดข้าง เราก็ไล่ไปเรื่อย"
โอกุ้ย-อุดมเกียรติ ธงรัตน
เช่นเดียวกับคิวและแบงค์ ช่างประจำร้านอีก 2 คน ที่เริ่มต้นรักชอบการตัดผมในช่วงชีวิตไล่เลี่ยกัน และที่สำคัญคือทั้งหมดต่างมีดนตรีเป็นตัวเชื่อมและครูคือ 'พ้องเพื่อน'
คิวเริ่มต้นเล่าด้วยรอยยิ้มให้ฟังว่า แรกๆ ไม่กล้าเอ่ยปากบอกเรื่องนี้กับใคร เหตุเพราะกลัวจะถูกมองเข้าใจผิดคิดว่าเบี่ยงเบน แต่เพราะพ่อจ้างให้ไปเรียนก็เลยต้องจำใจเรียนจนในที่สุดก็หลงเสน่ห์เส้นทางสายนี้

"ตอนนั้นอายุประมาณ17เรียนอยู่ม.5 ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมพ่อถึงอุตส่าห์จ้าง 200 บาทให้เราไปเรียนตัดผม แต่มาคิดๆ ดูก็เหมือนกับว่าคุณพ่อเป็นอาจารย์แล้วก็เป็นช่างไฟฟ้าด้วย ท่านก็เลยคงอยากให้เราเป็นอะไรก็ได้ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า 'ช่าง' (หัวเราะ)

"เราก็ทำตามที่เขาบอกไป ก็ไม่ได้คิดหรือไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นช่างตัดผมเลย คือตอนนั้นเรายังไม่รู้ตัว แต่เวลาเราไปตัดผมที่ร้าน เราจะชอบที่จะยืนคุยกับช่าง ชอบสั่ง หรือบอกให้เพื่อนตัดอย่างโน่นอย่างนี้ ยุให้ไว้เฉพาะผมข้างบนแบบเด็กสเก็ตแบบชาวร็อกเพลงร็อกที่ฟัง มันก็เหมือนกับว่ามันแอบปูมาแล้วในชีวิต เพียงแต่ว่าเรายังไม่รู้ตัว

“จนกระทั่งวันหนึ่ง (หัวเราะ) ตอนนั้นเริ่มรู้สึกอยากมองหาอนาคต เพราะเรียนมหา’ลัยปีหนึ่งแล้วเห็นเพื่อนๆ ไปทำงานพิเศษ เราก็มาคุยกันว่าหาตังค์หาเงินอย่างโน้นอย่างนี้ ก็มองตัวเอง นี่เราทำอะไรอยู่วะ ไม่มีอะไรทำเลย เรียนเสร็จวันๆ กลับบ้านเล่นเกม มันก็ดูเหมือนไม่มีอนาคต บังเอิญเดินผ่านร้านตัดผมแถวทองหล่อ เราก็นึกขึ้นได้ว่าเราเรียนตัดผมมานี่หว่า ก็เลยลอง อันนั้นแหละครับที่ทำให้เริ่มต้นอย่างจริงจัง”

"คือเหมือนกับต่างคนต่างมีพื้นกันมาก่อน อย่างผมกับแบงค์ก็เคยอยู่ร้านเดียวกัน" คิวว่าเสริมทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างคนมีฝันร่วมกัน ก่อนจะให้แบงค์น้องคนเล็กสุดในร้านเล่าถึงที่มาของตัวเอง
คิว-สุมาณชัย มานะชนม์และ แบงค์-อภิสิทธิ์ เชาวฉัตร
"ผมเริ่มต้นจากที่บ้านเป็นร้านตัดผมก่อน คือที่บ้านจะเป็นครอบครัวตัดผมอยู่แล้ว เราก็เลยเริ่มจากการดู การเห็นพ่อตัดทุกวัน ก็เลยเกิดความชอบบวกกับตอนนั้นพอได้ขึ้นม.1 เวลาเพื่อนๆ โดนกล้อนผมให้แหว่งพอรู้ว่าผมตัดผมได้ เขาก็ให้ผมเป็นคนตัดแก้ทรง มันก็ซึมซับมาจากตรงนั้น

"หลังจากนั้นก็อยากที่จะต่อยอด พอรู้สึกว่าวิชาที่บ้านให้เราไม่ได้แล้ว เราอยากแกะลาย เราก็ต้องออกไปเจอโลกต้องออกไปหาร้านทำ ไปเจอเพื่อนร่วมงาน ตอนนั้นผมมีพอร์ตโฟลิโอแฟ้มผลงานที่ตัดแล้วถ่ายเก็บไว้ไปยื่นตามร้าน แต่เขาก็ยังไม่มีใครรับเพราะว่าเราเรียนอยู่แค่ม.4ตัวเล็กกว่านี้มาก

เราก็กลับไปหาในโซเชียล เพราะว่ามันไปได้ไกลกว่า ก็เริ่มโพสต์ๆ ไป ไม่กี่วันก็มีพี่เขาติดต่อมา ก็เลยได้เข้ามาวงการเต็มตัว และก็บังเอิญได้อยู่ร้านเดียวกับคิว ทีนี้พอร้านนั้นขยายสาขา ผมกับคิวก็เป็นช่างล็อตนั้นพอดี ก็เลยถูกย้ายไปแถวสยามด้วยกัน แล้วก็ได้เจอพี่กุ้ย"

แบงค์เล่าอย่างรวบรัดถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทั้ง 3 คนมาประสบพบเจอและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ "ThreeBrothersBarberShop"ที่พี่ใหญ่ของร้านตั้งชื่อวาดฝันไว้เล่นๆ ตอนสมัยเรียนอยู่ศูนย์ฝึกอาชีพบ่อนไก่กับเพื่อนๆ ครบองค์ประชุม

"จริงๆ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความชอบ แม้เราจะอายุต่างกันแต่คือเราชอบอะไรประมาณเดียวกัน มีทิศทางมุมมอง ความเป็นไปของแนวทางมันใกล้ๆ กัน" ช่างกุ้ยเผย

"ก็ไม่ได้คิดฝันว่าจะมาถึงขั้นเปิดร้านหรือใช้ชื่อนี้ เพราะตอนนั้นที่เรียนตัดผมเราก็ยังเรียนมหา’ลัยอยู่ด้วย เราก็เลยเลือกจะเป็นสตรีทบาร์เบอร์แทน ทีนี้พอเรียนจบแม่ก็ถามว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิตช่วงนั้นรู้จักกับคิวและแบงค์แล้ว คิวบอกว่าลองเปิดร้านดูก็ไม่เสียหลาย ถ้าไม่ดีก็คิดกันอีกทีแต่พอได้เปิดได้คุยกัน คอนเซ็ปต์มันก็อยู่กันแบบพี่น้อง คุยกันแบบเพื่อนจริงๆ"

นอกเหนือจากคอนเซ็ปต์ “พี่น้อง-พ้องเพื่อน” สัมผัสแรกที่ย่างก้าวเข้าไปในร้านนั้นชวนให้ระลึกนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ สไตล์ 'บาร์เบอร์' ในวันวานที่มีทั้งกลิ่นแป้งฝุ่นตลบอบอวล แข่งกับกลิ่นน้ำมันเครื่องและเสียงปัตตาเลี่ยน

"ทุกอย่างมันเป็นไปเอง มันไม่ได้เกิดจากการคิดคอนเซ็ปต์หรือมีร่างภาพไว้ก่อนว่าร้านจะต้องเป็นแบบนี้ ผมก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงผมไม่ได้มองเรื่องบรรยากาศร้านตัดผมในอดีตที่เราเคยเข้าสมัยวัยเด็ก ไม่ได้คิดถึงตรงนั้น แต่มันออกของมันมาเอง มันคงออกมาจากการหล่อหลอมตัวของมันเอง" ช่างกุ้ยบอกถึงสภาพร้านที่นอกจากจะใช้คำว่า 'บาร์เบอร์' ซึ่งชวนให้นึกถึงคืนเก่าอันวันก่อนของร้านตัดผมชายที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน การตกแต่งร้าน เก้าอี้ โต๊ะเครื่องแป้ง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ไม่ได้ผ่านการคิดว่าต้องทำให้ย้อนยุคแต่อย่างใด มันเพียงแต่เป็นการรวมสไตล์ของแต่ละคนเข้าด้วยกัน

"มันอยู่ที่เราโตมาอย่างไรมากกว่า คือที่นี่ ผมให้ร้านมันเป็นผนังเปล่าๆ ที่ใครอยากจะแปะอะไรก็แปะ อย่างหมวกในร้านเราก็ไม่ได้ตั้งใจซื้อมาแขวนหรือคิดว่าแขวนแล้วมันจะสวย เพียงแต่เราไม่รู้จะเอามันไว้ไหนก็เลยแขวน เก้าอี้นั่งตัดผมที่มันเป็นสีน้ำตาลก็เพราะคิดว่าเวลาลูกค้านั่งสีน้ำตาลมันน่าจะแมตช์เข้ากับชุดลูกค้ามากที่สุด
"หรือกรรไกร โปสเตอร์ รูปนั้นรูปนี้ เสื้อ เราก็แค่แปะๆ แขวนๆ เพราะมันไม่มีที่ไว้ แค่นั้นเองไม่ได้คิดว่ามันจะต้องออกมาเป็นบรรยากาศบาร์เบอร์ร้านตัดผมอย่างที่เข้าใจ เพราะผมไม่ได้ทำร้านขึ้นมาเพื่อตามกระแส"

"ฮืม...มันเป็นเรื่องของยุคด้วย คือภาพนี้ก็จะเป็นแบบนั้นถ้ามันผ่านไปอีก 30 ปี"แบงค์เสริมขึ้น ก่อนจะเล่าถึงความเป็นบาร์เบอร์ในอดีตที่อาจจะทำให้ใครหลายคนมองว่าคล้ายกับร้านตัวเองในวันนี้
"อย่างที่บ้านผม ถ้าเอามาเปรียบเทียบกับตอนนี้ ก็คือลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาตัดเพราะว่าต้องการมาตัดผม แต่เพราะต้องการจะมาคุยกับพ่อ ก็จะเหมือนกันแต่แค่คุยกันคนละเรื่องเฉยๆ"

"มันเป็นที่ที่แบบ...ผู้ชายมาคุยกัน ผมว่ามันเป็นอย่างนั้น" โอกุ้ยกล่าวแซมเสริมขึ้น "ผมเองยังอยากมีที่ที่มันใหญ่กว่านี้แล้วก็รีแล็กซ์กว่านี้ คือไม่ต้องมาตัดผมก็ได้ เดินมาอ่านหนังสือ มาคุย มาแลกเปลี่ยนความชอบ อย่างผมชอบมอเตอร์ไซค์ก็มาจอดคุยกันหน้าร้าน มาแลกกันดูรถ ถ้าชอบสเก็ตบอร์ดก็มาคุยกับคิว หรืออย่างเวลามีเด็กวัยรุ่นมาตัดผมแล้วอยู่ในช่วงกำลังตามหาฝัน ก็ให้คุยกับแบงค์ เพราะแบงค์เขาอายุแค่ 20 แต่เขาทำได้แล้วในระดับนี้ เด็กอายุเท่าแบงค์ 21-22 บางคนยังเรียนอยู่แต่แบงค์เขาทำงานแล้ว บางทีตัดไปคุยไปมันก็จะได้ไอเดีย มันก็จะเป็นอีกมุมหนึ่ง"

“ร้านอื่นผมไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ร้านอื่นอาจจะมีเจ้าของร้านที่ไม่ใช่ช่างตัดผมก็ได้ แต่สำหรับผม มันเป็นที่ผมมารีแล็กซ์ ผมแค่อยากมาพูดคุย มันมีลูกค้าที่เข้ามาแล้วก็ผ่านไปเยอะแยะ แต่สุดท้ายจะมีลูกค้าลุ่มหนึ่งที่อยู่กับเราตลอด อย่างทุกวันนี้ก็มีเพื่อนที่ผมตัดให้ 5-6 ปีที่แล้ว ก็ยังมาตัดที่ร้านนี้อยู่ ตัดทีไรก็คุยกันเรื่องเดิมๆ ผมก็คิดภาพว่าเอ๊ย! ถ้าไอ้นี่มันตัดกับเราอีก 20-30 ปีวันข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร คือการได้เห็นชีวิตคนๆ หนึ่งโตพร้อมกับเราไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นสเต็ปคนตั้งแต่เขายังไม่มีอะไรเหมือนกัน สร้างมาทุกอย่างเหมือนเรา มันก็สนุกดี ถึงวันหนึ่งต่อให้เราตัดไม่ไหวแล้ว หง่อมแล้ว ตัดไม่สวยแล้ว แต่เขาก็ยังอยากตัดกับเรา เพราะเขาแค่อยากคุยเรา"

"คือลูกค้าที่เข้ามาเขาจะเหมือนกับว่า ลูกค้าเลือกเรา เราไม่ได้เลือกลูกค้า"ทั้งสามคนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกัน


และไม่ใช่เรื่องความทันสมัยที่หากจะตัดทรงร็อกอะบิลลี่ต้อง "โอกุ้ย" แห่ง "ThreeBrothersBarberShop" หนึ่งเดียวคนนี้ หรือกระทั่งหากอยากได้ผมเท่ๆ ล้ำๆ ไม่ซ้ำแบบใครสไตล์เด็กสเก็ตหรือเด็กแนวต้องช่างคิวกับช่างแบงค์เช่นกัน เพราะนอกจากช่างทั้งสามจะบอกกล่าวว่ามันก็เหมือนๆ ตามภาพตามเทรนด์ที่ให้ต้นแบบ ซึ่งนั่นก็ทำให้คำถามที่ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคา 450 บาท ทั้งตัด-สระ-เซ็ต-โกนหนวดเครา อะไรที่เป็นปัจจัยเป็นราคาที่ทำให้ใครต่อใครต่างพร้อมใจกันจ่ายชนิดต้องโทรจองคิวล่วงหน้าก็ยอม

"คือราคานี้ผมคิดขึ้นมาจากการคำนวณเม็ดเงินในแต่ละอาทิตย์บวกกับจำนวนที่ผมตัด วันหนึ่ง 7 หัว มันก็แค่เป็นราคาที่ผมพอใจและผมอยู่ได้สำหรับพวกผม มันก็เหมือนกับการที่บาร์เบอร์อื่นๆ ตัดราคา70บาท เพราะเขาอาจจะเกิดและโตมาในยุคนั้น ซึ่งยุคนั้นอาจจะถือว่าระดับนี้ที่สุดแล้ว ลูกค้าที่เข้ามาก็คุยกันถูกคอมันเป็นไลฟ์สไตล์ของเขา เขาดูมวย ฟังเพลงลูกกรุงลูกทุ่ง เขาก็จะไม่เข้าใจฟีลเรา ให้เขามาตัด 450บาท เขาอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ เพราะลูกค้าคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

"จริงๆ ถ้าผ่านยุคสมัยไปอีก 10-20 ปี ข้างหน้า ผมว่าจริงๆ บาร์เบอร์ มันอาจจะราคา 200-300 หมดเลย ก็ได้นะเพราะด้วยค่าเงินมันสูงขึ้น น้ำมันมันแพงขึ้น แต่ตอนนี้ที่เขายังตัดที่ราคา70 บาท อาจเพราะเขาเกิดมาในยุคนั้น โตมาในยุคนั้น ราคามันเป็นอย่างนั้น แค่นั้นเอง จริงๆ มันอาจจะไม่ได้พิเศษ ผมว่าความพิเศษมันน่าเบื่อไว ความคลาสสิคมันคงทน ความเรียบง่ายมันอยู่นาน"

"ทุกคนก็มีวิถีทางของตัวเอง ที่ผมทำผมไม่ได้คิดว่ามันจะต้องปฏิวัติวงการบาร์เบอร์ไทย คือเราแม่งไม่ได้เจ๋งขนาดนั้น เราแค่ทำในวิถีทางของเรา ทุกวันนี้ร้านที่ผมเคยไปฝึกตอนตัดผมยังไม่ค่อยเป็น หรือพี่ที่สอนผมตัดผม ยืนข้างผมในวันที่ตัดยังไม่เป็น เขาก็ยังตัด 70 บาท เขาก็ยังดูมีความสุขของเขา เขาก็ไม่ได้มานั่งถาม ไม่ได้มาเรียกร้องให้พามาอยู่ด้วย เขาก็มีความสุขของเขา เขาก็คงคิดเหมือนผมที่คิดแค่ว่าเห็นภาพตัวเองในอนาคตเมื่อแก่ลงเรายังได้ตัดผม ได้ทำในสิ่งที่รักอยู่เท่านั้นก็มีความสุขแล้ว"

และคงจะเป็นอย่างที่เขาว่าเพราะหลังสิ้นเสียง หนุ่มนักธุรกิจมาดเนี้ยบไปทั้งตัว ยกเว้นเสียแต่ทรงผมเสยมันวาวเหมือนโก๋นักเลงหลังวังในยุคอดีตสาวเท้าก้าวเข้ามาพร้อมกับรอยยิ้มก่อนเวลานัดอย่างใจจดใจจ่อ ขณะที่คุณลุงวัยเกือบแซยิดกำลังเพ่งมองตัวเองในกระจกพลางปรึกษากับช่างหนุ่มถึงเรื่องทรงและเรื่องเพลงในอดีต
นั่นคงเป็นภาพความสุขอย่างที่เขาว่า...

"เราคิดอะไรง่ายๆ สั้นๆ ไม่ต้องคิดยาว แล้วมันจะยืนยาวเองคือคนอื่นอาจจะมองว่ามันเป็นกระแสย้อนยุคสำหรับผมไม่ใช่ ผมว่ามันจะอยู่ต่อไปตลอด เพราะความรู้สึกของผมบาร์เบอร์มันอยู่มาตลอด บาร์เบอร์สมัยก่อนตอนนั้นอาจจะฮิตก็ได้ แล้วมันก็หมดไปตามยุคสมัย อย่างของผมเมื่อถึงเวลามันก็ต้องโรยไป คือเหมือนวัฏจักรแฟชั่นมันก็จะวนไปอย่างนั้น

“ลึกๆ ส่วนตัวผมก็อยากเห็นร้านบาร์เบอร์เปิดเยอะๆ แต่ทุกร้านมีช่างที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง แล้วก็ตกแต่งร้านในสไตล์ของตัวเอง เหมือนที่สมัยก่อนเราจะเห็นร้านบาร์เบอร์ตัดผมจะอยู่ติดๆ กัน เขาก็จะมีลูกค้าของเขาชัดเจน อย่างที่เราเห็นในเมืองนอกที่จะเป็นมู้ดแอนด์โทนเดียวกัน คือมีร้านเบอร์เกอร์ ร้านกาแฟ แต่ต้องไม่ฟิกมันขึ้นมาให้มันเกิดขึ้นของมันเองมันจะเป็นมนต์เสน่ห์ที่ฝันมากๆ"

ภาพเด็กๆ วิ่งเล่นไล่กันไปร้านตัดผมช่วงวันหยุดปลายสัปดาห์ ภาพลุงชรากลิ่นคุ้งยาเส้นใบจาก ในขณะที่กลุ่มเด็กผู้หญิงผมเปียยืนกระโดดยางอยู่ร้านอาหารข้างๆ พลันเกิดขึ้นทันทีที่ก้าวเท้าออกจากร้านหลังเสร็จสิ้นภารกิจพูดคุย หากคุณคือหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้น เชื่อว่าสักครั้งต้องมาลองสัมผัสดูแล้วจะรู้ในคำบอกเล่านี้











ThreeBrothers BarberShop & Schorem Haarsnijder En Barbier
บรรยากาศงาน workshop และ party ปีที่ผ่านมา
ขอบคุณสถานที่ : ร้าน ThreeBrothersBarberShop
MRT Chatujak Metro Mall (สถานีรถไฟใต้ดินสวนจัตตุจักร)
โทรศัพท์ 080-970-0216 (ช่างแบงค์) 086-321-7248 (ช่างคิว)

เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ: ศิวกร เสนสอน

กำลังโหลดความคิดเห็น