xs
xsm
sm
md
lg

‘อาหลอง ทองทั้งชาติ’ ชายคนแรกผู้พาหนังไทยไปตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพยนตร์เรื่อง “ทอง” ได้ออกสู่สายตาผู้ชมในปี พ.ศ.2516 พร้อมเนื้อหาที่ฉูดฉาดด้วยฉากแอ็กชั่นระเบิดภูเขาเผากระท่อม ยิงระห่ำ และบู๊สะบั้นหั่นแหลก เป็นความแปลกใหม่ในยุคสมัยดังกล่าว และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ทั้งในและนอกประเทศ

และด้วยเหตุนี้ จึงมี “ทอง” ตามมาอีกหลายภาค กระทั่งว่า “ทอง” ได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของผู้กำกับคนนี้ที่หลานคนเรียกขานอย่างรู้จักมักคุ้นในผลงาน ด้วยฉายา “อาหลอง ทองทั้งชาติ”

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้อาจจะเรียกได้ว่า เป็นก้าวแรกของภาพยนตร์ไทย ที่ลืมตาอ้าปากไปสู่วงการแผ่นฟิล์มโลก จนทำให้หนังไทยเรื่องต่างๆ ได้ไปสู่ระดับนานาชาติ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กว่า 60 ปี ที่ผ่านมา “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ได้สร้างคุณูปการให้กับวงการภาพยนตร์และละครไทยอย่างเปี่ยมล้น จนสามารถกล่าวได้ว่า พลิกจากหน้ามือเป็นมือก็เป็นได้ จนสร้างมิติและสีสันให้กับวงการเรื่อยมา

ในขณะเดียวกัน ด้วยวิธีการนำเสนอที่ยังคงความคลาสสิกในแบบของเขานั่นเอง อาจทำให้หลายคนมองด้วยสายตาขบขัน กระนั้นก็ตาม คำเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะทำอะไรเขาได้เลย กลับกลายเป็นแรงผลักดัน ที่ให้เขามีแรงผลักดันสร้างสรรค์ผลงานต่อๆ มา ได้อย่างไม่หยุดหย่อน มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยผลงานทั้งหมดที่ผ่านมา ย่อมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘คุณภาพของงาน’ ได้พูดแทนคำตอบของชายเจ้าของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2556 ทั้งหมดแล้ว...

ช่วงเวลานั้น ทำไมถึงมีความคิดที่จะนำภาพยนตร์ไทยไปสู่ตลาดโลกละครับ

ในยุคนั้นวงการหนังทั่วโลกเขาดูถูกหนังในบ้านเรา โดยเฉพาะคำว่า ภาพยนตร์ไทยสร้างไม่ได้มาตรฐานบ้าง อะไรบ้าง ผมเลยทำโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง ทอง ออกมา โดยเรื่องนี้ผมได้นำ เกร็ก มอร์ริส (Greg Morris) ที่กำลังโด่งดังจากซีรี่ย์เรื่อง Mission : Impossible มาแสดงในเรื่อง แล้วปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

ซึ่งผมก็นำหนังเรื่องนี้ไปประกวดที่ไต้หวัน ก็ได้รับรางวัลเป๋าติง พร้อมกับกรุง ศรีวิไล ที่ได้รางวัลนักแสดงนำชาย จนบริษัท โกลเด้น ฮาร์เวสต์ ของ เรย์มอนต์ เชาว์ มาขอซื้อไปฉายต่อ ตรงนี้คือจุดประกายแรก ที่หนังไทยออกสู่ตลาดโลก จากนั้นผมก็ทำเรื่อยมา คือมันเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เวลาที่เราไปติดต่อดาราที่ฮอลลีวูด เขาก็จำได้ว่า ‘อ้าว คนนี้สร้างเรื่องทอง นี่’ และก็มาร่วมงานกับเรา

ถือว่าเป็นความกล้าและต้องการให้หนังไทยไปที่จุดนั้น

อาจจะเรียกว่าความกล้าอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะ ประการแรก เราต้องการอะไรสำหรับภาพยนตร์ไทย เราอยากให้หนังไทยได้ไปฉายที่ต่างประเทศและได้กลับมาฉายในเมืองไทย เลยตัดสินใจนำดาราฮอลลิวู้ดเข้ามาร่วมแสดงกับดาราไทย ซึ่งจะเป็นสะพานก้าวแรกที่จะนำหนังของเราออกสู่ตลาดโลกได้

แล้วอีกอย่างเราก็ต้องการงานกลิ่นอายไปทางตะวันออกแบบไทยๆ ออกสู่ตลาดโลก ให้คนต่างชาติที่ดูถูกหนังไทย รู้ว่าเราคนไทยก็สามารถทำได้ และทำแบบมีมาตรฐานด้วย พอเอางานไปให้พวกเขาชทม เขาก็มีตกตะลึงกับบางฉากที่เรานำเสนอ ซึ่งเราก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอประมาณ กับการพยายามในครั้งนี้

แต่การเป็นผู้บุกเบิกให้กับหนังไทยครั้งนี้ ก็ต้องยอมเสียสละในบางเรื่อง

ในเรื่องของการจัดจำหน่ายในตอนนั้น คือเราผู้บุกเบิก เราอาจจะต้องยอมเสียสละ ประมาณว่าขาย 100 แต่ได้กลับมาแค่ 60 ซึ่งเราก็ยอม เพื่อให้หนังของเราได้สู่ตลาดโลก ก็กลายเป็นว่า เราเป็นต้นทางกับผู้บุกเบิกให้คนรุ่นหลังได้สานต่อกันไป (หัวเราะ) ซึ่งเดี๋ยวนี้ หนังไทยถือว่าเจริญก้าวหน้ามาก มีการได้ไปตั้งบูทโชว์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือ ทำพรีโปรดักชั่นขายตัวอย่างไปนำเสนอให้คนในวงการหนังดูและให้คนได้ซื้อ ก็มีหลายเทศกาลนะ ทั้งเมืองคานส์ ทั้ง American festival เยอะ ที่ญี่ปุ่น เกาหลี แม้แต่เมืองไทยก็มี ก็พัฒนากันไปเยอะทีเดียว

ในความรู้สึกของเรา ก็ดีใจด้วย ที่ปัจจุบันนี้ หนังไทยสามารถออกสู่ตลาดโลกได้ ด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งต่อไป มันจะต้องสร้างภาพยนตร์ให้ดี แบบมาตรฐานสากล แต่เราอาจจะไปแข่งกับฝรั่งเกี่ยวกับ เรื่องโจรสลัด หรือ แบบไซไฟ ไม่ได้ อย่าไปทำแข่งกับมัน เพราะเทคนิคเขาสูงมาก เปรียบเทียบกันแล้ว หนังไทยเรายังด้อยในเรื่องนี้อยู่ เราต้องฉีกแนวไป อย่างเรื่อง พี่มาก...พระโขนง ผมว่ามันสนุกนะ มันฉีกแนวไปเลย เพราะฉะนั้น เราจงภูมิใจในเอกลักษณ์ของเราดีกว่า

จากผลงานที่ผ่านมา คิดว่าเราดื้อหรือทำงานแบบอินดี้ไหม

มันอยู่ที่เราศึกษาครับ บางทีเราก็ไม่ใช่คนดื้อนะ เราก็ฟังข้อคิดของคนอื่นเขา หลายๆ คน แล้วเราก็มารวบรวม ว่าเราจะทำยังไง กับความคิดเห็นนั้นๆ ต้องมีการรวบรวมกันอีกครั้ง บางทีคนนี้ก็มีเหตุผลแบบหนึ่ง หรือ บางทีคนนี้ก็มีเหตุผลอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเหตุผลมันไม่พอเราก็ต้องมารวบรวม แล้วก็รับทราบเหตุผลว่า เราต้องฟังความคิดเห็นก่อน แต่เราต้องฟังอยู่เสมอ

ส่วนการทำงานที่บอกว่าอินดี้นั้น ผมก็ทำไปตามแนวของเรา ถือว่าเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ชมไป สำคัญที่สุดคือทำยังไงให้ประชาชน ติดตามเรื่องนั้นๆ ที่เราทำตลอด อันนี้สำคัญมาก การวางโครงเรื่องตั้งแต่ต้น กลาง ขมวดปม แล้วก็จบยังไง

คือการทำงาน ทุกวันนี้ก็ยังศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่

มันเป็นงานศิลปะที่ท้าทายความสามารถ เป็นงานที่ต้องใช้ความพยายาม ความอดทน ทุนทรัพย์ ความรู้ ประสบการณ์มาเป็นเวลายาวนาน และมันเป็นงานสุนทรียศาสตร์ที่เรียนรู้ไม่รู้จบ ทุกวันนี้ ผมรับนิตยสาร American Cinematographer มาอ่านทุกเดือน เพื่อที่จะรู้ข่าวคราวเคลื่อนไหวของฮอลลิวู้ดว่า เขาก้าวไปถึงไหนแล้ว ก็คือว่าศึกษาตลอด มันหยุดนิ่งไม่ได้ มันเป็นศาสตร์ที่ไม่รู้จบ
 
อย่างหนังเรื่อง avatar ผมอ่านเบื้องหลังเขา แล้วทราบว่า เขาพรีโปรดักชั่นถึง 4 ปี แล้วถ่ายทำ 6 ปี กว่าจะออกมาเป็นภาพให้คนดูได้ นั่นก็เป็นความพยายาม ความสามารถ ความรู้ที่เค้าสะสมมา เพราะทีมงานต้องเก่งมาก แล้วมันทำให้เราจะต้องพัฒนาต่อไปอีก

คิดว่าการสร้างหนังกับละคร แตกต่างกันไหม

คือการสร้างภาพยนตร์กับการสร้างละครโทรทัศน์มันต่างกัน การสร้างภาพยนตร์เป็นงานท้าทาย ทำยังไงถึงจะให้คนดูออกมาจากบ้านแล้วมาดูหนัง ต้องเสียเงินดูด้วย อันนี้สำคัญมาก เรียกว่าเป็นสงครามบนแผ่นฟิล์ม ตั้งแต่เริ่มสร้าง

ส่วนละครโทรทัศน์ เป็นสงครามกดปุ่ม (หัวเราะ) ดูช่องนี้ เอ๊ะ ภาพไม่ดีแล้ว อืดอาดยืดยาด ก็กดไปอีกช่องหนึ่ง อันนี้คือสงครามจิตวิทยา ทำยังไงเราสร้างละครโทรทัศน์ต้องให้ผู้ชมตรึงอยู่กับที่ เวลาโฆษณาไม่ไปไหน กลัวจะกลับมาไม่ทัน นั่นแหละคือชัยชนะของผู้สร้างละครโทรทัศน์

เปรียบเสมือนว่า เราคือนักรบผู้นำ ที่จะทำยังไงให้ลูกน้องเชื่อใจในตัวเราได้

เพราะเราทุ่มเททุกอย่าง มันถูกสร้าง สมอง ทีมงาน แล้วเราต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชน เปรียบเหมือนงานวัด งานวัดปกติมันจะมีร้านรวงอะไรต่างๆ มีชิงช้าสวรรค์ มีอะไรมากมาย แล้วคนเป็นร้อยๆ ถ้าจัดแบบก๋องแก๋ง บางคนก็ลงทุนนิดหน่อย คน 20-30 คน มันจะไม่ได้ มันไม่สมจริง ฉะนั้นผลงานของเราต้องจริงใจ อันนี้คือหัวใจสำคัญ ซึ่งสำคัญมากครับ ถ้าไม่ดีไม่ได้ ต้องทำใหม่ รีเทค (หัวเราะเบาๆ)

เราสร้างงานแต่ละชิ้น เพื่อทำให้คนดูคุ้มค่ากับเงินบาทที่เขาเสียเงินมาดูกับทางโรงภาพยนตร์น่ะครับ ส่วนละครโทรทัศน์นี่ ก็ทำทุกอย่างให้สมจริง ถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับภาพยนตร์ แต่ว่าใกล้เคียง ถึงแม้ว่าบางทีทุนทรัพย์มันน้อย เราก็ต้องทำ แต่ว่าทำให้มีคุณภาพ บางทีขาดทุนหรือเจ็บตัว เราก็ต้องทำ เพื่อประชาชน ให้สมจริงทุกอย่าง

แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีคนวิจารณ์งานบ้างว่า เชยบ้าง โดยส่วนตัวคิดเห็นยังไงบ้าง

เรื่องคนคิดว่าเชย ผมไม่ทราบ แต่เราจะทำแบบคลาสสิก ดูแบบง่ายๆ ไม่โลดโผน คือมาตรฐาน เป็นลายเซ็นของเราที่จะต้องสร้าง ให้คนดูดูแล้วสบายใจ มุมไม่โลดโผนเท่าไหร่นัก ผมดูหนังฝรั่งเค้าก็ไม่โลดโผนนะ ดูแบบสบายๆ คือให้มองว่าเป็นอีกทางเลือกให้เขาดีกว่า ถ้าเค้าสนใจ ซึ่งถ้าเค้าวิจารณ์มา แสดงว่าเค้าสนใจงานเรา (หัวเราะ)

ส่วนคำวิพากษ์วิจารณ์ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่บางทีก็วิจารณ์ถูกผิดกันไป มันมีหลายอย่าง แต่บางทีเราก็ฟังกันไป เราก็ต้องเข้าใจ แล้วเราก็แก้ไขผลงาน ถึงเวลานี้เราก็ต้องแก้ไขอยู่ มันไม่ได้สมบูรณ์แบบตลอดนะ เพราะศาสตร์นี้มันไปได้เรื่อยๆ เสมอ ไอ้คำที่เขาชมมาว่าเราเป็นเจ้าพ่อหนังบู๊บ้าง หรืออะไรบ้าง คือต่อให้ยกย่องเรามายังไง เราก็ยังเหมือนเดิม

อย่างฉากปิ้งไก่ หรือ ชอบเอาทีมงานมาเล่นบ้างละครับ ตรงนี้คิดยังไง

เวลาคนเดินป่า เขาจะหาอะไรกินละ นอกจากไก่ป่า แล้วจะให้ไปจับไส้เดือนกินเหรอ (หัวเราะ) หาน้ำกินบ้าง คือเน้นความสมจริง เพราะเข้าป่าจะให้ไปกินอะไร และเรื่องเอาทีมงานมาเล่น มันก็เป็นปัญหาเบื้องต้นทั่วไป อย่างนัดผู้แสดงมาไม่ครบ สมมุตินัดผู้ร้ายเอา 10 คน มันมา 7 คนให้ทำไง เราจะงดก็ไม่ได้ ผู้แสดงครบ มีทีมงานอยู่ ก็เอาทีมงานมาเล่น เล่นได้ก็เอา คือไม่ได้กะดันหรอกครับ แต่ก็อยากให้เค้ามีงานทำเพิ่ม ได้ตงได้ตังค์ กันไป แต่บางคนก็มีแวว ก็ให้เล่นเรื่องต่อๆ ไป ซึ่งเค้าก็ยังเป็นทีมงานเราอยู่

ไม่รู้สึกโกรธเหรอครับ ที่เขาล้อมา

ผมทำงานมา 64 ปี แล้ว ใครจะวิจารณ์ก็วิจารณ์ไป หนังเราเรตติ้งดีละกัน (หัวเราะ) นั่นคือบทวิจารณ์ ประชาชนเค้าชอบความสนุก การดำเนินเรื่องทันใจ มีอะไรแปลกๆ สนุกๆ บ้าง แค่นี้แหละ ก็เป็นสิทธิที่จะวิจารณ์ต่างๆ ได้ ต่างคนต่างไอเดีย ซึ่งแม้แต่ฉากเล็กๆ ฉากผ่าน ผมว่าสำคัญนะ เพื่อความสมจริง ส่วนนักแสดงก็ต้องแข็งแรงเพื่อเป็นไปตามคาแรคเตอร์ที่เหมาะสม

หรืออย่าง การปฏิเสธวิวัฒนาการเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบพวก ซีจี อันนี้คือความตั้งใจหรือเปล่า

ถ้าเรื่องไหนจำเป็นเราก็ต้องมี และต้องมีให้ดีด้วย ให้สมจริง แต่ก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเราก็ชอบเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เราก็ต้องเอามาใช้ให้ถูกต้องนะครับ อันนี้เราจำเป็นที่จะต้องใช้ ถ้าของจริงก็ใช้จริงไปเลย ถ้าไม่ได้อาจจะเอามาเสริม เพื่อให้ได้สมจริง คือคำนึงถึงคนดูเป็นหลัก

มองทั้งวงการหนังและละครไทย ถือว่าพัฒนาขึ้นเยอะไหม

มาก เพราะว่ามีคู่แข่งเยอะ ก่อนที่ผมจะไปสร้างละครให้ช่อง 7 คือก็มีการทำละครแอ็คชั่นแต่ไม่มีคนดู แต่พอทำละครเรื่องแรก “ระย้า” เน้นความยิ่งใหญ่ คราวนี้คนก็ตามกันมา ทำหนังบู๊กันเยอะ อย่าง “อังกอร์” เรตติ้งสูง มีความรัก และกราฟฟิกเข้ามาช่วย ก็ทำให้ผู้สร้างเค้ากล้าและมีคู่แข่ง แล้วก็ทีวีไทยก็เจริญขึ้นเยอะ การลงทุนสูง มีการแข่งขันกัน ก็ดีครับ

ก็รู้สึกอะไรดีๆ กับวงการภาพยนตร์ไทย หนังไทยได้สู่ตลาดโลก เราก็ยินดีด้วย การสร้างอะไรก็แล้วแต่ ทั้งการสร้างโรงภาพยนตร์ หรือว่า การสร้างอะไรก็ดี ถ้ามีคู่แข่ง ผมว่าดีที่สุด ซึ่งถ้าเราทำสบายๆ มันไม่เจริญและพัฒนาเท่าไหร่ ถ้ามีคู่แข่งทุกคนก็มีไอเดียว่า จะพัฒนายังไงให้ดี เพราะฉะนั้นคือมีคู่แข่งดีที่สุด คือมาแข่งกัน แต่เราจะก้าวไปด้วยกัน คือยังเป็นเพื่อนกันได้อยู่

ทราบมาว่า จะกลับมาทำภาพยนตร์อีกครั้ง ในรอบ 20 ปี เพราะ

เรามันเลือดภาพยนตร์ คือมันเป็นสายเลือด ตลอดเวลาที่เราทำละครโทรทัศน์ เราก็นึกถึงหนังตลอด ซึ่งถ้าบ้านเมืองปกติ เราก็จะกลับมาทำภาพยนตร์ให้ผู้ชมได้ชมต่อ ก็คือเรื่อง ‘อังกอร์’ คือคอนเซปต์อาจจะเหมือนเดิม แต่ว่า เนื้อเรื่องอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ให้ซ้ำกับละคร มันจะดูยิ่งใหญ่ ดูสมจริงอะไรมาก ก็กำลังเตรียมงาน แล้วก็ปรับปรุงเรื่องบทภาพยนตร์ให้ทันสมัย ว่าผู้ชมต้องการเสพอะไร (หัวเราะ)

อันนี้สำคัญ เป็นจิตวิทยา เพราะตั้งแต่แรกแล้ว ไอ้เรื่องสร้างเรื่องอะไร เราก็ต้องคิดว่าเรื่องนี้มีคอนเซปต์อะไรที่ประชาชนต้องการ มีสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้ชมไป การลงทุนมากแค่ไหน มันต้องสมน้ำสมเนื้อ ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้ คิดว่าต้องลงทุนมากกว่าเรื่องที่ผ่านๆ มา ก็ต้องเอาไปใช้ไปขายเมืองนอก เพราะชื่อก็ได้เปรียบอยู่แล้ว ชื่ออังกอร์ ทั่วโลกรู้จักว่าหมายถึง นครวัด นครธม มันได้เปรียบมาก ผมจึงตั้งใจจะทำเรื่องนี้ ออกสู่ตลาดโลก

ดูท่าทางทำงานเยอะพอสมควร แต่ยังดูแข็งแรงอยู่เลย ไม่ทราบว่ามีวิธีดูแลสุขภาพยังไงครับ

ก็พักผ่อนให้เป็นเวลา เล่นกอล์ฟ ออกกำลังกาย ทานอาหารให้เป็นเวลา แต่ส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยได้พักผ่อน พอว่างเมื่อไหร่ก็เข้าห้องตัดต่อทำงาน แล้วก็ศึกษา ดูหนังฝรั่งมากๆ บางทีก็ได้ไอเดียจากเขาว่า เขาเจริญก้าวหน้าไปถึงขั้นไหน เราต้องตามให้ทัน ผมคิดว่า ตราบใดที่ประชาชนยังนิยม ก็คงคิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ

คิดว่าการกำกับของเรา ถือว่าอยากจะให้คนดูจดจำในลายเซ็นของเรามั้ยครับ

คนดูจะจดจำหรืออะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่ไอเดียเราว่าจะทำฉากนั้นๆ ให้คนดูประทับใจยังไง อย่างฉากที่คนดูพูดกันมาก คือ “ตัดเหลี่ยมเพชร” (พ.ศ. 2518) ที่เอา คริส มิตชั่นมาเล่นกับกรุง ศรีวิไล เป็นฉากที่รถไฟชนกัน, ฉากที่คริสขับรถจิ๊บ แล้วชนเครื่องบินขาดสองท่อนแล้วระเบิด หรือ ฉากที่คริสขี่มอเตอร์ไซต์จากภูเขาลงไปที่รถไฟ ทุกฉากมันเป็นความเสี่ยง มันยากที่จะทำ การลงทุนสูง ก็แล้วแต่คนดูจะวิจารณ์ เราก็ทำดีที่สุดแล้ว เพื่อประชาชน เขาจะว่าก็ว่าไป แล้วแต่ไอเดียใคร แต่เรานึกถึงคนดูเป็นหลัก เขาดูที่ผลงาน



ทอง (พ.ศ. 2516) ภาพยนตร์สร้างชื่อของ ฉลอง ภักดีวิจิตร
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น