ปริญญาตรีสองใบจากสองมหาวิทยาลัยชื่อดังของบ้านเรา ทั้งธรรมศาสตร์และจุฬาฯ รวมทั้งปริญญามหาบัณฑิตจากปักกิ่ง น่าจะทำให้ใครสักคนเอาดีทางด้านวิชาการได้ไม่ยาก แต่ชายหนุ่มคนนี้กลับหลงใหลเส้นทางสายดนตรี ถึงขนาดที่สลัดเสื้อคลุมของอาจารย์เพื่อหันมาก้าวเดินบนถนนเส้นนี้โดยเฉพาะ...
“โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ” คือคนหนุ่มผู้เป็นหัวหน้าวง “ค็อกเทล” วงดนตรีที่ใครหลายคนลงมติความคิดเห็นคล้ายๆ กันว่า เพลงดัง แต่คนไม่ค่อยดัง นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงผู้ฟังในวงกว้าง อาจจะทำหน้าเหรอหรา เมื่อเอ่ยถึงวงดนตรีชื่อนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับใครก็ตามที่เติบโตทันยุคอินดี้เบ่งบาน ย่อมจะเคยผ่านหน้าค่าตาของพวกเขามาบ้างไม่มากก็น้อย
จากกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมสี่ห้าคนที่คิดว่าจะทำเพลงเอา “ขำๆ” ในยุคนั้น วันเวลาหมุนผ่าน “ค็อกเทล” กลายเป็นวงดนตรีอีกวงที่ได้รับการยอมรับในชื่อชั้นและผลงาน เพลงและฝีมือของพวกเขาถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์และงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย กระทั่งล่าสุด บทเพลง “หนังสือรุ่น” ของพวกเขาก็เป็นหนึ่งเพลงประกอบให้กับซีรีส์หลอนๆ เรื่อง “เพื่อนเฮี้ยน...โรงเรียนหลอน”
12 ปีนั้นยาวนานเกินกว่าจะกล่าวให้จบในไม่กี่บรรทัด
หนทางลัดทางเดียว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการนั่งลงสนทนากับเขา
และฟังเรื่องเล่าแห่งความเป็นมาจากปากของเจ้าตัว
แต่ถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนเห็นนามสกุล คงเอะใจ
ว่าเขาข้องเกี่ยวอย่างไร กับพลตำรวจเอก ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ
มันไม่ใช่เรื่องที่จะยกมาอวดอ้างกล่าวโต แต่เราแค่จะแนะนำเท่านั้นแหละว่า
เขาคือลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านนั้น
แต่เป็นลูกของผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรให้ต้องฝ่าฟัน
ก็เหมือนที่คำเขาว่า...ชีวิตนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ทุกชีวิตนั่นล่ะ ไม่ว่าจะชีวิตของคนจนๆ หรือชีวิตของคนมั่งมี...
12 ปีแห่งความฝัน
เพราะมุ่งมั่นจึงสำเร็จ
"พูดถึงก็นานเหมือนกัน 12 ปี คือทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีใครคิดหรอกว่าจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพ เพราะต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสังคมโรงเรียนที่เคร่งครัดเรื่องการเรียน หลายคนก็คร่ำเคร่งกับการเรียน" นักร้องหนุ่มบอกกล่าวเล่าย้อนถึงความหลัง ในวันที่สภาวะเงื่อนไขไม่อำนวยต่อการก่อร่างสร้างตัวในฐานะ 'นักดนตรี'
"คือโรงเรียนเตรียมอุดม เป็นโรงเรียนที่คนเขาไปเรียนหนังสือกัน เมื่อเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างนั้น เราเองก็เลยคิดกันว่าแค่เล่นสนุกๆ กับเพื่อน ทำเพลงขายกัน มีเล่นโชว์งานเล็กๆ เท่านั้น แต่ทว่าเราโชคดี (ยิ้ม) ที่ตอนนั้นกระแสอินดี้มันบูม ตอนปี 40 ถึงปี 45 ที่เราเริ่มทำ มันเลยทำให้วงเล็กๆ วงนักเรียนอย่างเรา มีโอกาสที่จะเติบโต มีโอกาสมีพื้นที่ไปแสดงออก มีวิทยุอย่าง Fat Radio ที่ยอมเปิดเพลงทำเองจากทางบ้าน ต้องบอกว่าเราโชคดีมากที่มาจากซีนช่วงเวลาอย่างนั้น"
เวลาที่เบ่งบานสวยงามด้วยการ 'กระโดด' (แล้วชูมือ) คือสัญลักษณ์ท่าเต้นเพียงท่าเดียวที่ทุกคนพร้อมใจกันบรรเลงใส่จังหวะเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ช่วงเวลาที่ใครๆ ต่างเรียกขานว่ายุค 'อัลเทอร์เนทีฟครองเมือง' ช่วงเวลาที่ค่ายเพลงต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อพร้อมจะอ้าแขนรับศิลปินหน้าใหม่ นั่นคือจุดเริ่มต้นช่วงเวลาที่ 'มิกเซอร์' หลากชนิดถูกเขย่ารวมในขวดอะลูมิเนียมสีเงินจนกลายเป็น 'ค็อกเทล' อย่างที่เราได้ลิ้มชิมรสทุกวันนี้
แต่กระนั้น ความสำเร็จก็เป็นเพียงความสำเร็จส่วนกลุ่มบุคคล เพราะแม้จะโยนใบแจ้งเกิดผ่านการเป็นศิลปินค่ายยักษ์ใหญ่ทางดนตรีอย่างแกรมมี่ ในชายคาจีนี่เร็คคอร์ด ที่การันตีผลงาน ทว่าก็ยังไม่ได้ทำให้ชื่อชั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
"สำหรับเรา จุดเริ่มต้นค็อกเทลเกิดจากตรงนั้น สำหรับเส้นทางสายอินดี้ เราประสบความสำเร็จกับซิงเกิลเพลง 'อาจเพราะ' มากๆ เพราะเป็นเพลงแรกที่เรามียอดวิว 5-6 ล้านในยูทูป มันถือว่ายิ่งใหญ่มากในความรู้สึกของวงอินดี้วงหนึ่งที่ไม่มีสังกัดเลย
"จนพอมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางจีนี่ทำเพลง 'เธอทำให้ฉันเสียใจ' ออกมา มันเป็นเพลงดังก็จริง แต่ว่าเป็นเพลงใครก็ไม่รู้ เขาชอบเพลงนี้ แต่เขาไม่รู้ว่าเพลงใคร แล้วทีนี้พอเพลง 'คุกเข่า' ปุ๊บ มันเปลี่ยนเป็นเพลงนี้วงนี้เขารู้จัก แต่...(ลากเสียง) เขาก็ไม่รู้อีกว่าใครเล่นเพลงนี้" โอม ว่าด้วยสีหน้ากึ่งยิ้มกึ่งครุ่นคิดย้อนถึงวันวานเหตุการณ์อันแสนฉงน ที่เป็นเจ้าของบทเพลงฮิต ไปไหนมาได้ยินยลมีคนร้องตาม แต่เวลาเดินไปไหนมาไหนตามท้องถนนไม่มีใครรู้จักว่าพวกเขาคือใคร
-เพลงดัง แต่คนทำไม่ดัง-
"ตอนนั้นก็กดดันมากครับ" โอมออกตัว ก่อนจะบอกว่าแม้สัญญาที่ทำขึ้นกับค่ายจะไม่ได้คาดคะเนกระแสความดัง และลึกๆ ส่วนตัวก็ต่างยอมรับในข้อนี้ เพราะนอกจากเขาจะมีโปรแกรมที่ต้องเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่ประเทศจีน เขายังคงตั้งมั่นตั้งใจแค่เพียงมาทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ทุกคนชอบ ทำตามโอกาสที่ถูกหยิบยื่นมาอย่างเต็มที่โดยไม่คาดหวังก็เท่านั้น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกไปกับมัน
"เราตั้งใจมาทำกันแค่นั้นจริงๆ เราก็บอกตรงๆ กับทางค่าย ซึ่งทางค่ายเขาก็บอกเหมือนกันว่าที่จะทำคงไม่ได้ทำเพื่อขาย ทำเป็นศิลปะ เราจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แต่อาจจะมีการร่วมงานกันแค่ชุดเดียว ซึ่งเราก็ไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะจริงๆ ตั้งใจมาอย่างนั้น ตั้งใจทำเพลงอย่างที่เราชอบ
"แต่ผมก็พยายามจะเกร็งตัวเอง เพราะผมรู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนในวง คือทุกคนเอาความฝันมาเท แล้วเราในฐานะคนเขียนเพลง ในฐานะที่เราอยู่กับวงมาตั้งแต่เริ่ม เราอาวุโสสุดในวง ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ คือคุณวุฒิไม่ใช่ว่าผมฉลาดกว่านะ แต่หมายถึงชั้นเรียน อายุ ก็เยอะกว่า เราเองในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่ด้วย เราเลยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบกับการที่ทุกคนเชื่อใจเรา ยอมโดนลากตามมา
"โปรเจกต์ค็อกเทลมันเริ่มต้นจากความรู้สึกของผม เพราะผมไปลากทุกคนมา ในใจตอนนั้น ผมบอกว่า "มาอยู่กับฉันๆ" (หัวเราะ) ผมยอมรับว่าช่วงแรกๆ ผมเป็นเผด็จการสูงมากในวง ก่อนที่จะเริ่มคลายสิ่งเหล่านี้ลงไปให้รู้สึกว่าเราเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นมันทำให้ผมติดค้างเพื่อนเยอะ และยิ่งเมื่อเพลงฮิตปุ๊บ บังเอิญเพลงไปถูกใจคนหลายคน ผมทิ้งไปเรียนต่อเมืองนอกทันที มันยิ่งแล้วใหญ่ เราเลยรู้สึกว่ามันต้องมีเพลงสักเพลงหนึ่งที่มันมีคุณค่ามากพอที่มันจะเรียกภาพเหล่านั้น ภาพที่เพื่อนๆ เขาไม่ประสบพบเจออย่างที่เขาควรจะได้พบกลับมา"
เมื่อเริ่มต้นด้วยคำว่า 'มิตรภาพ' แม้เส้นทางจะแปรเปลี่ยนให้ต่างคนต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางทำให้สมาชิกผลัดเวียน แต่เมื่อเป็นผู้เริ่มเขาก็ขอน้อมรับเป็นผู้สานต่อจนจบ สานต่อปณิธานของเพื่อนให้ไปให้ถึง
"เหตุผลที่ทำกันต่อเพราะเป็นเพราะเพื่อน แม้ว่าเชาว์ (ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย) เข้ามาได้ประมาณ 8-9 ปี ฟิลิปส์ (ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์) 3 ปี ปาร์ค (เกริกเกียรติ สว่างวงศ์) 3 ปี เขายังใหม่กันอยู่มากจริงๆ กับวงค็อกเทลจากรุ่นเตรียมอุดมที่เหลือแค่ผมคนเดียว แต่เพราะผมมองว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่คิดจะทำโปรเจกต์ค็อกเทลขึ้นมา แม้ว่าเพื่อนที่ออกจากวงไปแต่ละคนคนเลือกแล้วที่จะเป็นนักเรียนทุน เลือกแล้วที่จะเป็นวิศวกร เลือกแล้วที่จะไปเป็นอย่างอื่นในชีวิต เขาก็ยังบอกให้เราเอาชื่อนี้ไปแล้วทำให้มันไปถึง
"ผมเลยยังรู้สึกว่ามันเริ่มต้นด้วยความคิดเรา เราเป็นคนไปชวนทุกคนมา ผมก็ยังอยากให้มันเป็นอย่างนั้นเสมอไปจนกว่าจะจบ คือถ้าจบก็ต้องจบเพราะเรา เพราะเราเริ่มต้นเรื่องนี้ แม้จริงๆ เราเริ่มต้นอย่างเห็นแก่ตัว เพราะเราอยากทำ เราก็หาใครก็ได้ที่จะมาทำกับเราเพื่อที่ให้ได้ทำ แต่แล้วตอนผมจบลง ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมอยู่คนเดียว เราได้เพื่อนระหว่างทางมาเต็มไปหมดเลย นี่คือสิ่งมหัศจรรย์มากๆ สำหรับดนตรี เพราะแม้กระทั่งว่าเราเริ่มต้นอย่างเห็นแก่ตัว แต่กลับจบลงด้วยการที่มีเพื่อนจำนวนมากที่อยู่กับเรา"
'ค็อกเทล' คือเรื่องราวจากเด็กหลายสายหลากบุคลิกที่มารวมตัวกันกลั่นกลึงชีวิตวัยรุ่นจนเป็นรูปเป็นร่างแบบจับพลัดจับผลูเกิดเป็นเรื่องเป็นราว โอมบอกว่าจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ "คือใครก็ได้รวมตัวกันอยู่ที่นี้และเวลาเขย่าเข้ากันแล้วอยู่กันได้ จริงๆ ค็อกเทลมันเป็นแค่ชื่ออัลบัมด้วยซ้ำ ไม่ใช่ชื่อวง แต่พอคนจำได้ เราก็ต้องเปลี่ยนเอามาเป็นชื่อวงไปด้วย"
"ถ้าถามว่าอะไรที่นำพาเรามาได้ถึงขนาดนี้ตอบยากมาก เพราะว่าเราไม่เคยตั้งใจให้มันมา แต่ว่าพอโอกาสมันเดินเข้าหาเรา มันคือความฝันที่เราอยากทำ มันคือสิ่งที่อยู่ในใจเราว่าอยากลองทำดู แล้วเราก็เลือกที่จะคว้าโอกาสไว้เท่านั้นเอง"
"ค็อกเทลวันที่เดินเข้ามาที่จีนี่ฯ เรามีเพลงครบแล้ว ก่อนหน้าตั้งใจจะทำอัลบัมอินดี้สักชุดหนึ่งเองด้วยซ้ำ แล้วผมจะต้องบินไปเรียนต่อเมืองนอก แต่พอมีโอกาสเข้ามา ผมว่าหลายๆ คนถ้าอยู่จุดนั้นก็น่าจะคิดเหมือนกัน 'What the hell' จะลองทำสักชุดหนึ่งมันจะเป็นอะไรไป ก็ทำดู แล้วมันก็ได้เป็นที่รู้จัก"
"ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การต้อนรับให้ความเอ็นดู ผมโชคดีที่ได้เจอคนเหล่านั้นช่วยส่งเสริมให้เราเติบโตในวงการ เพราะคนเราไม่มีใครสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกคนมีบทบาทที่ต้องเล่น ทุกคนมีหน้าที่มีกลไก เหมือนนาฬิกาตัวหนึ่ง ฟันเฟืองทุกตัวอยู่ในที่ที่สมควรจะอยู่ แล้วมันก็ผลักดันให้กลไกลนี้เดินหน้าเคลื่อนที่อย่างทุกวันนี้"
ทางที่เลือก ฝันที่ใช่
ของนักกฎหมาย อาจารย์ และนักร้อง
แม้จะฟังดูลุ่มๆ ดอนๆ ชวนฉงน เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากโลกของมิตรภาพและการเดินทางของส่วนผสมทางดนตรี กระนั้นก็ดี เชื่อว่าใครหลายคนนอกจากจะยังไม่รู้กันแล้ว หากได้รู้จะยิ่งอึ้งทึ่ง ยิ่งกว่าเรื่องราว 'ความสำเร็จ' หรือ 'การก่อร่างสร้างวง' ขึ้นมาเสียอีก พร้อมกับเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใด วงดนตรีร็อกจึงมีภาพลักษณ์ที่เรียบเนี้ยบผสานลงตัวกับท่วงทำนองนุ่มนิ่มทว่าบาดลึกอย่างที่เราได้ฟังกัน นั่นก็เพราะว่า นอกจากเป็นนักดนตรี อีกด้านหนึ่งของชีวิต ชายหนุ่มคนนี้ยังเคยเป็นทั้งนักกฎหมาย เป็นอาจารย์ผู้ช่วยคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อีกด้วย
"ก็อย่างที่บอกไปครับว่าเราเริ่มต้นจากเล่นๆ ไม่คิดว่ามันจะมาถึงตรงนี้ เราก็แค่มีงานอดิเรกคือดนตรี มันเป็นเรื่องงานอดิเรก มันเป็นเรื่องความรักที่จะทำ แค่รักอย่างเดียวมันก็น่าจะพอที่จะทำ เพราะฉะนั้น เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้
"คือไม่ได้คิดว่าตัวเองร้องเพลงเก่งด้วยถึงมาทำตรงนี้ แต่เราคิดเสมอว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เราไม่มีสิทธิ์จะทำในสิ่งที่รักเพียงเพราะเราไม่เก่ง คือส่วนตัวเป็นคนชอบที่จะเขียน ชอบที่จะร้อง ชอบที่จะเล่น แล้วหลักๆ เราเป็นคนเขียนเพลงให้วง มันเลยทำให้เราอยากทำต่อ คือเรามีเรื่องให้เขียน ก็เลยจะเขียนเพื่อทำเพลงต่อไป" อดีตอาจารย์และนักกฎหมายที่ผันตัวเองเป็นนักดนตรีเผย ก่อนจะร่ายยาวถึงที่มาของการผสานค็อกเทลชีวิตตัวเอง
"อิทธิพลที่ทำให้ผมเป็นทั้งนักดนตรี นักกฎหมาย และอาจารย์ คือคุณตาและคุณแม่ เพราะคุณแม่ผมท่านเป็นศิลปิน เป็นสถาปนิก เป็นนักวาดภาพแล้วก็เป็นอาจารย์ ผมเลยมองเห็นความบาลานซ์ชีวิตของเขาที่สามารถแบ่งแยกได้ แล้วท่านก็เคยบอกกับผมซึ่งมันจริงมาก มันอยู่ในใจเสมอจนผมเป็นอย่างวันนี้คือ "ศิลปะมันอยู่กับเราเสมอ" ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรก็ตาม
"ผมเลยรู้สึกว่าทำไมผมจะต้องเลิกเล่นดนตรี ในเมื่อผมเลือกเรียนนิติศาสตร์ เลือกที่จะเป็นอาจารย์ด้วย แต่ผมก็มีศิลปะในหัวใจได้ คือเราอาจจะเป็นคนที่ฟังเพลง เล่นดนตรีได้เก่งหน่อย แต่งตัวเท่กว่าคนอื่นหรือไม่เหมือนคนอื่น แต่เราก็ยังเป็นนักกฎหมายได้ไม่ใช่หรือ ถ้าถามว่าทำไมถึงมีชีวิตแบบนี้ ก็นั่นแหละ ผมจดจำเรื่องนี้อยู่ในใจเสมอมา"
"คือคนอื่นอาจจะมองต่าง แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น เพราะสิ่งที่ผมเรียนรู้คืออาชีพอาจารย์กับอาชีพนักร้องมีจุดที่เหมือนกัน ในแง่ของการเป็นผู้ถ่ายทอด เป็นผู้นำสาร ไม่ว่าสารนั้นจะเป็นวิชาความรู้หรือเป็นบทเพลง สุดท้ายเราใช้ทักษะความสามารถเดียวกันเพื่อให้ผู้ฟังได้ฟังอย่างชัดแจ้ง ได้อรรถรส และติดตราตรึงใจมากที่สุด
"ชีวิตผมฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันดูน่าหมั่นไส้ แต่ผมโชคดีเยอะจริงๆ ที่สามารถทำได้หลายๆ อย่าง แล้วมันก็สนุกมาเรื่อยๆ เป็นไปตามสเต็ป ไม่รู้สึกว่าต้องอดต้องทน ผมเล่นเพราะผมรัก และบังเอิญมีคนรักในสิ่งที่ผมทำ ผมเลยคิดว่ามันไม่ค้านกัน มันคงเป็นอุปนิสัยสันดานเดิม เพราะเราเติบโตมาอย่างนั้น คือแม้คุณแม่จะเป็นศิลปินแต่ท่านก็ไม่ค่อยคุยเล่น ก็จะคุยแต่เรื่องซีเรียสๆ เรื่องสาระๆ กับคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อก็เป็นตำรวจสายวิชาการ เขาก็คุยกันแต่อย่างนี้ แล้วเราโตมาเราก็เอ็นจอยกับการได้แลกเปลี่ยนทัศนะคติมากๆ"
"ที่สำคัญเราไม่ได้มองว่ามันซีเรียสเกินไป ผมว่ามันสนุก ตอนนั้นจำได้เลยว่าวัยเด็กของเราจะบิดเบี้ยวนิดหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะเราคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันไม่รู้เรื่อง เราไม่ได้มีความสนใจแบบเดียวกับเขา"
"แต่มันก็เป็นสีสันในชีวิต และยิ่งผมเรียนกฎหมาย ยิ่งเรียนเอกปรัชญา ผมว่ามีคนแบบผมถมถืดจะตาย" โอมว่าแซมหัวเราะ ก่อนจะยกยอดบอกให้สังเกตเวลาเล่นคอนเสิร์ตจะสามารถรับรู้ถึงคำ 'ซีเรียส' ที่บอกเล่านี้
"เพราะว่าการถ่ายทอดผลงานมันคือมาจากตัวเรา อะไรที่มันประกอบขึ้นมาเป็นเรา เราก็ถ่ายทอดอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริง ซีเรียสเกินไปมันก็ไม่ดี คือถ้าใครซีเรียสแล้วเอาความรู้สึกนี้มาบั่นทอน หยุดเลยครับ นั่นผิดแล้ว ไม่ควรทำอย่างนั้น ถ้าการคิดมากทำให้คนคนหนึ่งต้องผมร่วง ปล่อยตัวเองโทรม แล้วบอกฉันเป็นคนคิดเยอะ มันไม่น่าภูมิใจความคิดเยอะ มันไม่ควรคิดเยอะจนทำร้ายตัวเอง ไม่ควรเป็นอย่างนั้น
"คือคนสามารถคิดเยอะได้ ถ้าคุณรู้จักบริหารความคิด คือคุณคิดซะว่า เหมือนเราไปออกกำลังกายเราผ่อนคลาย แต่ถ้าเราออกมากไป ร่างกายอ่อนล้าอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเราถูกทำลาย เปรียบเทียบให้เหมือนกัน เราออกกำลังกายให้เรารู้สึกเบิกบาน การคิดคือการออกกำลังกายสมอง ดังนั้น ทำไมคนออกกำลังกายถึงเอนจอยได้ เราก็ต้องออกกำลังกายสมองอย่างนั้น คิดอย่างเป็นระบบ คิดให้มันสนุก ไม่ใช่คิดแล้วทำร้ายตัวเอง"
"อย่างนี้เราแบ่งเวลาในชีวิตเราอย่างไร" เราถามเพื่อความกระจ่างชัด
"ก็พึงระลึกอยู่เสมอว่าเวลาอะไรคือทำอะไร เพราะมันต้องแบ่ง เนื่องจากมันเป็นเงื่อนไขในการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ผมเองก็ล้มเหลวบ่อยครั้ง อย่างคิดว่าเล่นเกมแค่ 3 ชั่วโมง ก็เล่นไป 6 ชั่วโมง หรืออย่างตอนเรียนก็มีเกเรบ้างเหมือนวัยรุ่นทั่วไป คิดว่าประสบการณ์ในห้องเรียนอย่างเดียวมันไม่พอ เราควรออกไปหาโลกภายนอก คนเรียนอย่างเดียวน่าเบื่อจะตาย (ยิ้ม) แต่พอโตๆ มา เริ่มรู้สึกได้ว่าตอนนั้นเด็กๆ มันก็เจ๋งดี ออกไปสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือริสูบบุหรี่ ไปเล่นดนตรีบ้านช่องไม่กลับ ดูเป็นคนกร้านโลก รู้โลกเยอะๆ ผลคือตอนเรียนธรรมศาสตร์ ผมเกือบถูกรีไทร์ เตือน 2 ครั้งแล้ว ครั้งที่ 3 คือไล่ออก"
คิดได้ดังนั้น หลังจากจบออกมาจากรั้วแม่โดม ในฐานะรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่น โอมรู้สึกว่าต้องซ่อมแซมความผิดพลาด ซึ่งนั่นนำมาซึ่งปริญญาตรีใบที่สองเกียรตินิยมอันดับหนึ่งนิติศาสตรบัณฑิต เอกกฎหมายมหาชน จุฬาฯ และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดชีวิตครั้งสำคัญ
"จริงๆ ตอนเรียนปริญญาตรีอีกใบ เราไม่ควรเสียเวลาขนาดนั้นด้วย แต่เพราะเรารู้สึกว่าต้องซ่อมตัวเองที่ไม่จริงจัง เรารู้สึกว่าเราไม่อยากย้อนมองกลับมาแล้วเสียใจ เราเลยเริ่มคิดใหม่ได้ว่า คนเท่คือคนที่ทำได้ทุกอย่างอย่างที่อยากจะทำ เราอยากเท่ เราต้องไม่มีอะไรที่อยู่เหนือเราสักอย่าง เราต้องเป็นนายของเราเอง เราจะเลิกสูบบุหรี่ก็จะต้องเลิก เราจะไม่กินเหล้า เราก็ต้องเลิก ตอนนั้นก็คิดว่าเราเป็นคนขี้เกียจ เราจะเท่ได้ก็ต้องเรียน ต้องสำเร็จทั้งในและนอกห้องเรียน ก็เลยเอาเรียนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม"
และไม่ว่าจะทัวร์คอนเสิร์ตกลางแสงสีมากเพียงใด แต่ทันทีที่ไฟเบื้องหน้าฉากดับลง ในช่วงที่ยังต้องเรียนไปด้วยพร้อมๆ กันนั้น โอมเล่าว่าช่วงเวลานั้น เขายิ่งต้องแบ่งเวลาให้ชัด เตรียมตัวเรียบเรียงความคิดให้เป็นระเบียบล่วงหน้า แม้มันจะกินเวลาและเหนื่อยบ้างก็ตามที แต่เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องทำให้ได้
"คือผมรู้ว่าต้องทัวร์ เราก็รู้ว่ามันต้องลำบาก หากจะเขียนวิทยานิพนธ์ไปด้วย ก็ต้องแบ่งเวลา และเรียบเรียงข้อมูลให้พร้อมล่วงหน้า คือเราทำไว้ให้มันเป็นระบบ เราเสียเวลาในการจัดระบบนานก็จริง แต่ตอนทำเนี่ยมันจะเร็วมาก มันสามารถสืบค้นได้ทันที เหนื่อยตอนแรกแต่มันก็ช่วยได้เยอะ
"ความฝันกับความจริงของผมเลยเดินไปด้วยกันได้ จริงๆ ผมเองไม่ใช่คนที่พูดเรื่องความฝัน เพราะผมได้พ่อได้แม่มาอย่างละครึ่ง เราเองเลยมีจุดที่เราเป็นศิลปินด้วยแล้ว ก็จุดที่เราไม่เป็นจากคุณพ่อที่เป็นคนเคร่งวินัย ตรงไปตรงมา ชัดเจน ผมกับผู้จัดการก็เลยคุยกันอยู่เสมอว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใส่จินตนาการลงไปในเพลงเท่าไหร่ก็ได้ แต่พอขึ้นหรืออยู่บนเวที มันคือชีวิตจริง เรามีคนดูที่เขาคาดหวังกับสิ่งที่เราทำ ฉะนั้น เราต้องร้องเพลงยังไง เราต้องทำอย่างไร เราต้องทำให้เขาสนุกด้วยวิธีไหน
"ผมว่ามันสนุกนะถ้าเราค่อยๆ วางแผนไปให้ถึงฝัน อย่างเรามีฝันเราแล้ว เราจะทำให้มันเป็นจริงด้วยวิธีการใดได้บ้าง (ยิ้ม) อย่างที่เขาบอกว่า ในคืนที่มืดสุด เราไม่เห็นอะไรเลย แต่อย่างน้อยเรามีดาว ดาวไม่ได้หมายความว่าน้ำเน่า ทำนองว่ามันเป็นแสงแห่งความหวัง เปล่า สำหรับผมอันนั้นคือตัวกำหนดทิศที่เราต้องไป แต่จะขับรถไป จะเดินไป จะขึ้นเครื่องบินไป หรือจะคลานไป นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องคิด นั่นคือแผนที่เราต้องวาง คือผมจะไม่สนุกเลย ถ้าเอาแต่ฝันแล้วมัวแต่คิดว่าไม่มีวันเป็นจริง และถ้าฝันมันเป็นจริงได้ทุกเรื่องมันจะสนุกอะไร ฝันบางทีเฟลบ้างพลาดบ้างก็ได้"
"และที่ลืมไม่ได้คือถ้าเราอยากมีความฝัน เราต้องพิจารณาบริบทโดยรอบด้วยว่าเป็นอย่างไร" โอมเน้นย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง เพราะความฝันเป็นสิ่งที่ดีตราบเท่าฝันเรานั้นไม่ทำร้ายใคร
"คือถ้าเราเอาแต่ฝัน ไม่มองความจริง ไม่ได้มองคนรอบข้างที่ต้องมาเหน็ดเหนื่อยไปด้วย ถ้าผมฝันว่าผมอยากเล่นดนตรี ผมอยากจะทุ่มเท แต่ผมลืมเรียนหนังสือ ผมลืมนึกไปว่าเงินค่าเทอม ก็เงินพ่อเงินแม่ ผมลืมนึกไปว่าข้าวที่กินทุกวันก็พ่อแม่ ชายคาที่หัวซุกอยู่ก็พ่อแม่ ถ้าทำอย่างนั้นเมื่อไหร่มันก็เป็นคนเห็นแก่ตัวคนหนึ่งเท่านั้นเอง"
และนอกจากสิ่งที่โอมเน้นย้ำในขณะที่พูดเรื่องความฝันมีไม่น้อยหลายคนที่มองว่า 'เงิน' คือปัจจัยพื้นฐานที่สามารถต่อร่างสร้างฝัน โอมมองเรื่องนี้ว่าทุกคนก็ไม่ต่าง ทุกคนต่างมีสิ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อมันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะรวยหรือจน
"ผมยอมรับครับว่าเรื่องนี้มันจี้ใจดำหลายครั้ง ผมเคยโดนตราหน้าเลยว่าคุณไม่มีวันประสบความสำเร็จหรอก เขามองว่าคนเป็นศิลปินต้องจนมาก่อนถึงจะเข้าถึง ไม่จริง เพราะผมก็มีวิธีที่จะสู้ในแบบของผม ผมอาจจะโชคดีหน่อยตรงที่ไม่ลำบากเรื่องฐานะ แต่ก็ไม่ได้รวยล้นฟ้า ยิ่งผมรู้สึกว่าผมมีเงิน ผมยิ่งรู้สึกว่าผมมีแต้มต่อในการสร้างงานด้วยซ้ำ ก็ต้องใช้แต้มต่อให้คุ้ม ถ้าใช้ไม่คุ้ม มันก็เท่านั้น มันก็ไม่ต่างกับคนอื่น
"คือเราอย่ามานั่งโทษปัจจัยภายนอกเลย เรามีอะไรต้องสู้อย่างหนึ่งเสมอๆ คุณด้อยเรื่องนี้ คุณด้อยเรื่องเงิน คุณก็ต้องแสวงโอกาสด้วยทางอื่น แต่ถ้าคุณมีเงิน แล้วใช้เงินไม่คุ้มก็เหมือนกัน บางคนมีเงินเยอะแยะ แต่ไม่เคยเห็นสร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย มีค่าอะไร
"เพราะฉะนั้น ในเมื่อคุณกำลังบอกว่าคุณจน คุณอย่ามานั่งเสียเวลาวิจารณ์ว่าคนโน้นดีคนนี้ไม่ดีเลย มาคิดดีกว่าว่าคุณจะเอนจอยกับมันได้อย่างไรในสิ่งที่คุณมีอยู่ ทำอย่างไรให้มันได้ผลมากที่สุด ให้มันเป็นไปได้มากที่สุด และอยู่กับมันอย่างมีความสุข"
เห็นความต่างก็เห็นคุณค่า
เห็นธรรมชาติก็เห็นความจริง
"สนใจเรื่องราวแง่คิดนี้มาจากไหน" เราย้อนถามถึงคำพูดเรื่องราวที่ผ่านมา เพราะฟังดูแล้วเหมือนวิธีคิด รวมถึงแง่ชีวิตจะออกดู 'ปลง' ตกในขณะที่อายุอานามเพิ่งจะเลยวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ไม่นานปี
"อาจจะเป็นเพราะตอนบวช ผมรู้สึกว่าผมอยากจะหยิบสิ่งเหล่านี้มาอยู่กับชีวิตเราให้ได้ แต่จริงๆ ผมไม่ได้มองถึงขั้นว่าเป็น 'ธรรมะ' ลึกซึ้ง แต่ผมมองว่าคือธรรมดา ผมไม่ได้เคร่ง ผมไม่ได้อ่านหนังสือธรรมมะเยอะแยะ ผมแค่พยายามมองให้เข้าใจว่าธรรม คือธรรมดา พยายามทำความเข้าใจกับเรื่องรอบๆ ตัว ผมไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้ง
"แต่ว่าในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชน อาชีพผมในเชิงพุทธเขาว่าเป็นอาชีพบาป แต่เราเองก็ต้องพยายามหาทางอยู่กับมัน ทำอย่างไรให้มันรู้สึกว่าเรามีความสุข แล้วเราสามารถสร้างคุณค่าให้ทั้งกับจิตวิญญาณของเราเองและก็คนรอบๆ ข้างได้ด้วย"
"ถามว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น" เจ้าตัวพยักหน้าก่อนจะตอบสั้นๆ ว่า เพราะชีวิตมันสั้น
"ชีวิตมันสั้น (ยิ้ม) แล้วชีวิตคุณมีคุณค่าหรือยัง..." เขาย้อนถาม "นั่นคือคำที่อยู่ในใจผมมากเลย คำที่ครูบาอาจารย์ถามผม ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ เราก็คิดว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เป็นคนที่มีคุณค่า
"ฮึม...คนเก่งหรือ ก็ไม่ใช่ใช่ไหม นั่นก็เพราะการจะเป็นคนที่มีคุณค่า คือการที่เราสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนรอบข้าง นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมพัฒนาพยายาม เผื่อแผ่สิ่งเหล่านั้นที่เรามีให้คนอื่นได้ ผมไม่ได้คิดอะไรไว้ยิ่งใหญ่หรอกครับ ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะนำเสนอหรือสั่งสอน แต่ว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่คนเดียว เราอยู่กันเป็นสังคม ผมก็แค่อยากจะทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะสื่อสารอะไรออกไปบางทีมันจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล แล้วก็ศึกษามัน อย่างในคอนเสิร์ตก็ต้องพยายามหาคำอธิบาย เพลงเราเป็นเพลงรักอกหัก เป็นเพลงตอกย้ำตัวเอง แต่เราก็พยายามจะนำเสนอว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเพียงแค่ชั่วคราว มันเป็นการเรียนรู้ที่จะเจ็บ เพื่อที่จะเข้มแข็ง เพราะคุณจะก้าวข้ามความอ่อนไปได้อย่างไร ในเมื่อคุณยังไม่ยอมรับว่ามีจุดอ่อนตรงไหน คุณปกปิดรอยแผลวันหนึ่งแผล มันจะยิ่งใหญ่ขึ้นเท่านั้น
"คือพยายามให้เห็นทั้งสองด้านของเหรียญ เราเองเป็นมนุษย์ เรียนรู้ที่จะทุกข์ สุข เศร้า ธรรมดา ไม่งั้นสิ่งที่พูดไปมันก็เหมือนกับว่าเรามีแต่อัตตาล้วนๆ คิดแต่ตัวกูของกู ไม่เคยสนใจจะฟังเลย ผมว่าอย่างนั้นอันตราย"
และเมื่อไล่เรียงดูความหมายอัลบัม "The Lords of Misery" ที่เกิดจากการเล่นคำความหมาย เจ้าแห่งทุกข์ ก็คือผู้ที่อยู่เหนือทุกข์ เป็นผู้มีความสุขอย่างแท้จริง
หรือใครจะบอกว่า "...ฉันกำลังขอร้องอ้อนวอนเธออย่าไป ทิ้งตัวลงคุกเข่ากอดขาเธอเอาไว้..." เนื้อร้องของเพลง 'คุกเข่า' ทำให้เสียศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย โอมให้แง่คิดย้ำอีกว่า "ถ้ามันเจอสิ่งที่มันคุ้มกว่ายิ่งกว่า ศักดิ์ศรีมันไม่จำเป็นหรอก อย่างกับพ่อกับแม่ ไม่ต้องมีศักดิ์ศรีไม่ต้องเถียงกันให้ชนะ กับครูบาอาจารย์กับผู้หลักผู้ใหญ่ หรือกับภรรยาตัวเอง ที่เลี้ยงลูกให้ตัวเอง ทำทุกอย่างให้ตัวเอง ไม่รู้จะมีศักดิ์ศรีกันไปทำไม
"ศักดิ์ศรีบางครั้งเกินพอดี ก็กลายเป็นเรื่องโง่ๆ กับคำอ้างของคนบางคนที่เอาไว้อ้างเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่นเท่านั้นเอง แล้วมันมีค่าอะไร เราไม่ได้ปรุงแต่งมันไปเองให้มันมีอยู่เหรอ ผมไม่ได้คิดว่าศักดิ์ศรีมันมีอยู่ขนาดนั้นสำหรับผม ผมว่าบางครั้งคนเราเอาชนะคะคานกัน มันมีแต่จะแตกกันไป บางครั้งไม่ผิดเรายกมือขอโทษ มันยังจะดีซะกว่า ดีกว่าจะต้องมาหักหาญกัน เขาก็มีวลีที่ว่า "ชัยชนะที่มันกองอยู่บนซากศพและคราบเลือด มันไม่มีค่าอะไรเลย"
แดดยามบ่ายคล้อยไล่หลัง น้ำเปล่าในแก้วช่วยบรรเทาความกระหายจากอาการเหนื่อยล้าจากเรื่องราวของชีวิตที่เล่า แต่กระนั้น ดวงหน้าของเขากลับเปี่ยมด้วยประกายรอยยิ้มและความสุขอย่างเห็นได้ชัด
"คือมันมีความหมาย พอเปี่ยมด้วยความหมายแล้วมันมีคุณค่าที่จะทำอยู่ เหนื่อยแต่ก็คุ้ม เพราะชีวิตมันไม่มีอะไรไม่เหนื่อยหรอกครับ มันเหนื่อยกันทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าอาชีพ พอคุณเห็นว่าเป็นนักดนตรี แน่นอนว่าต้องมีชีวิตสวยหรู เงินเยอะ เยอะจริง เยอะกว่าตอนเป็นอาจารย์เกือบๆ 30 เท่าเลย แต่พอมันเป็นอาชีพ มันไม่มีอะไรสวยหรูหรอกครับ มันไม่ได้เหมือนตอนเป็นงานอดิเรก ที่เราจะเล่นๆ เพื่อความสนุกส่วนตัว
"แต่เราต้องแบกความคาดหวัง แบกชีวิตของทีมงาน แบกความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนที่ทุกคนจับตามอง ถึงแม้เราจะไม่สนับสนุนให้เขาฟัง แต่เมื่อเขาบังเอิญฟังเรา เราจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ที่จะต้องเป็นตัวอย่าง ที่จะต้องดำรงตนในฐานะที่เป็นประชาชนและมนุษย์คนหนึ่งที่สร้างประโยชน์ดีๆ ให้กับสังคมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”
ภายใต้เบื้องหน้าในฐานะนักดนตรี เรามองเห็นคนอีกสองคนที่ขนาบทาบร่าง
คนหนึ่งคืออดีตอาจารย์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจรรยาบรรณทางวิชาชีพ 'เรือจ้าง'
ส่วนอีกคนหนึ่งคือนักกฎหมายผู้รับผิดชอบต่อความถูก-ผิดของสังคม แม้กระทั่งความคิดอ่านของตัวเองอย่างซื่อสัตย์
และทั้งสองคนคือฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนกันและกันอย่างลงตัวไม่มีบิดพลิ้ว...
"เพราะว่าเราอยากจะยืนยันในความคิดของเราว่า สุดท้ายแล้ว เราสามารถเป็นได้ทุกอย่างเท่าที่ใจเราอยากจะเป็น เพียงเพราะคุณอดทนมากพอและพยายามพอแค่นั้นเอง"
"ชีวิตจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ วงดนตรีจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ สำหรับผมวันนี้ ถ้าไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ผมไม่เรียกว่าความสำเร็จ แต่ถ้าตราบใดที่มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ผมว่าโคตรสำเร็จเลย ไม่ว่ามันจะมีเงินทองมากมายหรือไม่ก็ตาม ขอให้มันมีความสุขกับสิ่งที่ทำก็พอ"
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์
“โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ” คือคนหนุ่มผู้เป็นหัวหน้าวง “ค็อกเทล” วงดนตรีที่ใครหลายคนลงมติความคิดเห็นคล้ายๆ กันว่า เพลงดัง แต่คนไม่ค่อยดัง นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงผู้ฟังในวงกว้าง อาจจะทำหน้าเหรอหรา เมื่อเอ่ยถึงวงดนตรีชื่อนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับใครก็ตามที่เติบโตทันยุคอินดี้เบ่งบาน ย่อมจะเคยผ่านหน้าค่าตาของพวกเขามาบ้างไม่มากก็น้อย
จากกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมสี่ห้าคนที่คิดว่าจะทำเพลงเอา “ขำๆ” ในยุคนั้น วันเวลาหมุนผ่าน “ค็อกเทล” กลายเป็นวงดนตรีอีกวงที่ได้รับการยอมรับในชื่อชั้นและผลงาน เพลงและฝีมือของพวกเขาถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์และงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย กระทั่งล่าสุด บทเพลง “หนังสือรุ่น” ของพวกเขาก็เป็นหนึ่งเพลงประกอบให้กับซีรีส์หลอนๆ เรื่อง “เพื่อนเฮี้ยน...โรงเรียนหลอน”
12 ปีนั้นยาวนานเกินกว่าจะกล่าวให้จบในไม่กี่บรรทัด
หนทางลัดทางเดียว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการนั่งลงสนทนากับเขา
และฟังเรื่องเล่าแห่งความเป็นมาจากปากของเจ้าตัว
แต่ถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายคนเห็นนามสกุล คงเอะใจ
ว่าเขาข้องเกี่ยวอย่างไร กับพลตำรวจเอก ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ
มันไม่ใช่เรื่องที่จะยกมาอวดอ้างกล่าวโต แต่เราแค่จะแนะนำเท่านั้นแหละว่า
เขาคือลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านนั้น
แต่เป็นลูกของผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรให้ต้องฝ่าฟัน
ก็เหมือนที่คำเขาว่า...ชีวิตนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ทุกชีวิตนั่นล่ะ ไม่ว่าจะชีวิตของคนจนๆ หรือชีวิตของคนมั่งมี...
12 ปีแห่งความฝัน
เพราะมุ่งมั่นจึงสำเร็จ
"พูดถึงก็นานเหมือนกัน 12 ปี คือทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มีใครคิดหรอกว่าจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพ เพราะต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสังคมโรงเรียนที่เคร่งครัดเรื่องการเรียน หลายคนก็คร่ำเคร่งกับการเรียน" นักร้องหนุ่มบอกกล่าวเล่าย้อนถึงความหลัง ในวันที่สภาวะเงื่อนไขไม่อำนวยต่อการก่อร่างสร้างตัวในฐานะ 'นักดนตรี'
"คือโรงเรียนเตรียมอุดม เป็นโรงเรียนที่คนเขาไปเรียนหนังสือกัน เมื่อเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างนั้น เราเองก็เลยคิดกันว่าแค่เล่นสนุกๆ กับเพื่อน ทำเพลงขายกัน มีเล่นโชว์งานเล็กๆ เท่านั้น แต่ทว่าเราโชคดี (ยิ้ม) ที่ตอนนั้นกระแสอินดี้มันบูม ตอนปี 40 ถึงปี 45 ที่เราเริ่มทำ มันเลยทำให้วงเล็กๆ วงนักเรียนอย่างเรา มีโอกาสที่จะเติบโต มีโอกาสมีพื้นที่ไปแสดงออก มีวิทยุอย่าง Fat Radio ที่ยอมเปิดเพลงทำเองจากทางบ้าน ต้องบอกว่าเราโชคดีมากที่มาจากซีนช่วงเวลาอย่างนั้น"
เวลาที่เบ่งบานสวยงามด้วยการ 'กระโดด' (แล้วชูมือ) คือสัญลักษณ์ท่าเต้นเพียงท่าเดียวที่ทุกคนพร้อมใจกันบรรเลงใส่จังหวะเพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ช่วงเวลาที่ใครๆ ต่างเรียกขานว่ายุค 'อัลเทอร์เนทีฟครองเมือง' ช่วงเวลาที่ค่ายเพลงต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อพร้อมจะอ้าแขนรับศิลปินหน้าใหม่ นั่นคือจุดเริ่มต้นช่วงเวลาที่ 'มิกเซอร์' หลากชนิดถูกเขย่ารวมในขวดอะลูมิเนียมสีเงินจนกลายเป็น 'ค็อกเทล' อย่างที่เราได้ลิ้มชิมรสทุกวันนี้
แต่กระนั้น ความสำเร็จก็เป็นเพียงความสำเร็จส่วนกลุ่มบุคคล เพราะแม้จะโยนใบแจ้งเกิดผ่านการเป็นศิลปินค่ายยักษ์ใหญ่ทางดนตรีอย่างแกรมมี่ ในชายคาจีนี่เร็คคอร์ด ที่การันตีผลงาน ทว่าก็ยังไม่ได้ทำให้ชื่อชั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
"สำหรับเรา จุดเริ่มต้นค็อกเทลเกิดจากตรงนั้น สำหรับเส้นทางสายอินดี้ เราประสบความสำเร็จกับซิงเกิลเพลง 'อาจเพราะ' มากๆ เพราะเป็นเพลงแรกที่เรามียอดวิว 5-6 ล้านในยูทูป มันถือว่ายิ่งใหญ่มากในความรู้สึกของวงอินดี้วงหนึ่งที่ไม่มีสังกัดเลย
"จนพอมีโอกาสได้ร่วมงานกับทางจีนี่ทำเพลง 'เธอทำให้ฉันเสียใจ' ออกมา มันเป็นเพลงดังก็จริง แต่ว่าเป็นเพลงใครก็ไม่รู้ เขาชอบเพลงนี้ แต่เขาไม่รู้ว่าเพลงใคร แล้วทีนี้พอเพลง 'คุกเข่า' ปุ๊บ มันเปลี่ยนเป็นเพลงนี้วงนี้เขารู้จัก แต่...(ลากเสียง) เขาก็ไม่รู้อีกว่าใครเล่นเพลงนี้" โอม ว่าด้วยสีหน้ากึ่งยิ้มกึ่งครุ่นคิดย้อนถึงวันวานเหตุการณ์อันแสนฉงน ที่เป็นเจ้าของบทเพลงฮิต ไปไหนมาได้ยินยลมีคนร้องตาม แต่เวลาเดินไปไหนมาไหนตามท้องถนนไม่มีใครรู้จักว่าพวกเขาคือใคร
-เพลงดัง แต่คนทำไม่ดัง-
"ตอนนั้นก็กดดันมากครับ" โอมออกตัว ก่อนจะบอกว่าแม้สัญญาที่ทำขึ้นกับค่ายจะไม่ได้คาดคะเนกระแสความดัง และลึกๆ ส่วนตัวก็ต่างยอมรับในข้อนี้ เพราะนอกจากเขาจะมีโปรแกรมที่ต้องเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่ประเทศจีน เขายังคงตั้งมั่นตั้งใจแค่เพียงมาทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ทุกคนชอบ ทำตามโอกาสที่ถูกหยิบยื่นมาอย่างเต็มที่โดยไม่คาดหวังก็เท่านั้น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกไปกับมัน
"เราตั้งใจมาทำกันแค่นั้นจริงๆ เราก็บอกตรงๆ กับทางค่าย ซึ่งทางค่ายเขาก็บอกเหมือนกันว่าที่จะทำคงไม่ได้ทำเพื่อขาย ทำเป็นศิลปะ เราจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แต่อาจจะมีการร่วมงานกันแค่ชุดเดียว ซึ่งเราก็ไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะจริงๆ ตั้งใจมาอย่างนั้น ตั้งใจทำเพลงอย่างที่เราชอบ
"แต่ผมก็พยายามจะเกร็งตัวเอง เพราะผมรู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนในวง คือทุกคนเอาความฝันมาเท แล้วเราในฐานะคนเขียนเพลง ในฐานะที่เราอยู่กับวงมาตั้งแต่เริ่ม เราอาวุโสสุดในวง ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ คือคุณวุฒิไม่ใช่ว่าผมฉลาดกว่านะ แต่หมายถึงชั้นเรียน อายุ ก็เยอะกว่า เราเองในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่ด้วย เราเลยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบกับการที่ทุกคนเชื่อใจเรา ยอมโดนลากตามมา
"โปรเจกต์ค็อกเทลมันเริ่มต้นจากความรู้สึกของผม เพราะผมไปลากทุกคนมา ในใจตอนนั้น ผมบอกว่า "มาอยู่กับฉันๆ" (หัวเราะ) ผมยอมรับว่าช่วงแรกๆ ผมเป็นเผด็จการสูงมากในวง ก่อนที่จะเริ่มคลายสิ่งเหล่านี้ลงไปให้รู้สึกว่าเราเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นมันทำให้ผมติดค้างเพื่อนเยอะ และยิ่งเมื่อเพลงฮิตปุ๊บ บังเอิญเพลงไปถูกใจคนหลายคน ผมทิ้งไปเรียนต่อเมืองนอกทันที มันยิ่งแล้วใหญ่ เราเลยรู้สึกว่ามันต้องมีเพลงสักเพลงหนึ่งที่มันมีคุณค่ามากพอที่มันจะเรียกภาพเหล่านั้น ภาพที่เพื่อนๆ เขาไม่ประสบพบเจออย่างที่เขาควรจะได้พบกลับมา"
เมื่อเริ่มต้นด้วยคำว่า 'มิตรภาพ' แม้เส้นทางจะแปรเปลี่ยนให้ต่างคนต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางทำให้สมาชิกผลัดเวียน แต่เมื่อเป็นผู้เริ่มเขาก็ขอน้อมรับเป็นผู้สานต่อจนจบ สานต่อปณิธานของเพื่อนให้ไปให้ถึง
"เหตุผลที่ทำกันต่อเพราะเป็นเพราะเพื่อน แม้ว่าเชาว์ (ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย) เข้ามาได้ประมาณ 8-9 ปี ฟิลิปส์ (ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์) 3 ปี ปาร์ค (เกริกเกียรติ สว่างวงศ์) 3 ปี เขายังใหม่กันอยู่มากจริงๆ กับวงค็อกเทลจากรุ่นเตรียมอุดมที่เหลือแค่ผมคนเดียว แต่เพราะผมมองว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่คิดจะทำโปรเจกต์ค็อกเทลขึ้นมา แม้ว่าเพื่อนที่ออกจากวงไปแต่ละคนคนเลือกแล้วที่จะเป็นนักเรียนทุน เลือกแล้วที่จะเป็นวิศวกร เลือกแล้วที่จะไปเป็นอย่างอื่นในชีวิต เขาก็ยังบอกให้เราเอาชื่อนี้ไปแล้วทำให้มันไปถึง
"ผมเลยยังรู้สึกว่ามันเริ่มต้นด้วยความคิดเรา เราเป็นคนไปชวนทุกคนมา ผมก็ยังอยากให้มันเป็นอย่างนั้นเสมอไปจนกว่าจะจบ คือถ้าจบก็ต้องจบเพราะเรา เพราะเราเริ่มต้นเรื่องนี้ แม้จริงๆ เราเริ่มต้นอย่างเห็นแก่ตัว เพราะเราอยากทำ เราก็หาใครก็ได้ที่จะมาทำกับเราเพื่อที่ให้ได้ทำ แต่แล้วตอนผมจบลง ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมอยู่คนเดียว เราได้เพื่อนระหว่างทางมาเต็มไปหมดเลย นี่คือสิ่งมหัศจรรย์มากๆ สำหรับดนตรี เพราะแม้กระทั่งว่าเราเริ่มต้นอย่างเห็นแก่ตัว แต่กลับจบลงด้วยการที่มีเพื่อนจำนวนมากที่อยู่กับเรา"
'ค็อกเทล' คือเรื่องราวจากเด็กหลายสายหลากบุคลิกที่มารวมตัวกันกลั่นกลึงชีวิตวัยรุ่นจนเป็นรูปเป็นร่างแบบจับพลัดจับผลูเกิดเป็นเรื่องเป็นราว โอมบอกว่าจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ "คือใครก็ได้รวมตัวกันอยู่ที่นี้และเวลาเขย่าเข้ากันแล้วอยู่กันได้ จริงๆ ค็อกเทลมันเป็นแค่ชื่ออัลบัมด้วยซ้ำ ไม่ใช่ชื่อวง แต่พอคนจำได้ เราก็ต้องเปลี่ยนเอามาเป็นชื่อวงไปด้วย"
"ถ้าถามว่าอะไรที่นำพาเรามาได้ถึงขนาดนี้ตอบยากมาก เพราะว่าเราไม่เคยตั้งใจให้มันมา แต่ว่าพอโอกาสมันเดินเข้าหาเรา มันคือความฝันที่เราอยากทำ มันคือสิ่งที่อยู่ในใจเราว่าอยากลองทำดู แล้วเราก็เลือกที่จะคว้าโอกาสไว้เท่านั้นเอง"
"ค็อกเทลวันที่เดินเข้ามาที่จีนี่ฯ เรามีเพลงครบแล้ว ก่อนหน้าตั้งใจจะทำอัลบัมอินดี้สักชุดหนึ่งเองด้วยซ้ำ แล้วผมจะต้องบินไปเรียนต่อเมืองนอก แต่พอมีโอกาสเข้ามา ผมว่าหลายๆ คนถ้าอยู่จุดนั้นก็น่าจะคิดเหมือนกัน 'What the hell' จะลองทำสักชุดหนึ่งมันจะเป็นอะไรไป ก็ทำดู แล้วมันก็ได้เป็นที่รู้จัก"
"ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้การต้อนรับให้ความเอ็นดู ผมโชคดีที่ได้เจอคนเหล่านั้นช่วยส่งเสริมให้เราเติบโตในวงการ เพราะคนเราไม่มีใครสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ทุกคนมีบทบาทที่ต้องเล่น ทุกคนมีหน้าที่มีกลไก เหมือนนาฬิกาตัวหนึ่ง ฟันเฟืองทุกตัวอยู่ในที่ที่สมควรจะอยู่ แล้วมันก็ผลักดันให้กลไกลนี้เดินหน้าเคลื่อนที่อย่างทุกวันนี้"
ทางที่เลือก ฝันที่ใช่
ของนักกฎหมาย อาจารย์ และนักร้อง
แม้จะฟังดูลุ่มๆ ดอนๆ ชวนฉงน เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากโลกของมิตรภาพและการเดินทางของส่วนผสมทางดนตรี กระนั้นก็ดี เชื่อว่าใครหลายคนนอกจากจะยังไม่รู้กันแล้ว หากได้รู้จะยิ่งอึ้งทึ่ง ยิ่งกว่าเรื่องราว 'ความสำเร็จ' หรือ 'การก่อร่างสร้างวง' ขึ้นมาเสียอีก พร้อมกับเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใด วงดนตรีร็อกจึงมีภาพลักษณ์ที่เรียบเนี้ยบผสานลงตัวกับท่วงทำนองนุ่มนิ่มทว่าบาดลึกอย่างที่เราได้ฟังกัน นั่นก็เพราะว่า นอกจากเป็นนักดนตรี อีกด้านหนึ่งของชีวิต ชายหนุ่มคนนี้ยังเคยเป็นทั้งนักกฎหมาย เป็นอาจารย์ผู้ช่วยคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อีกด้วย
"ก็อย่างที่บอกไปครับว่าเราเริ่มต้นจากเล่นๆ ไม่คิดว่ามันจะมาถึงตรงนี้ เราก็แค่มีงานอดิเรกคือดนตรี มันเป็นเรื่องงานอดิเรก มันเป็นเรื่องความรักที่จะทำ แค่รักอย่างเดียวมันก็น่าจะพอที่จะทำ เพราะฉะนั้น เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้
"คือไม่ได้คิดว่าตัวเองร้องเพลงเก่งด้วยถึงมาทำตรงนี้ แต่เราคิดเสมอว่าตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เราไม่มีสิทธิ์จะทำในสิ่งที่รักเพียงเพราะเราไม่เก่ง คือส่วนตัวเป็นคนชอบที่จะเขียน ชอบที่จะร้อง ชอบที่จะเล่น แล้วหลักๆ เราเป็นคนเขียนเพลงให้วง มันเลยทำให้เราอยากทำต่อ คือเรามีเรื่องให้เขียน ก็เลยจะเขียนเพื่อทำเพลงต่อไป" อดีตอาจารย์และนักกฎหมายที่ผันตัวเองเป็นนักดนตรีเผย ก่อนจะร่ายยาวถึงที่มาของการผสานค็อกเทลชีวิตตัวเอง
"อิทธิพลที่ทำให้ผมเป็นทั้งนักดนตรี นักกฎหมาย และอาจารย์ คือคุณตาและคุณแม่ เพราะคุณแม่ผมท่านเป็นศิลปิน เป็นสถาปนิก เป็นนักวาดภาพแล้วก็เป็นอาจารย์ ผมเลยมองเห็นความบาลานซ์ชีวิตของเขาที่สามารถแบ่งแยกได้ แล้วท่านก็เคยบอกกับผมซึ่งมันจริงมาก มันอยู่ในใจเสมอจนผมเป็นอย่างวันนี้คือ "ศิลปะมันอยู่กับเราเสมอ" ไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรก็ตาม
"ผมเลยรู้สึกว่าทำไมผมจะต้องเลิกเล่นดนตรี ในเมื่อผมเลือกเรียนนิติศาสตร์ เลือกที่จะเป็นอาจารย์ด้วย แต่ผมก็มีศิลปะในหัวใจได้ คือเราอาจจะเป็นคนที่ฟังเพลง เล่นดนตรีได้เก่งหน่อย แต่งตัวเท่กว่าคนอื่นหรือไม่เหมือนคนอื่น แต่เราก็ยังเป็นนักกฎหมายได้ไม่ใช่หรือ ถ้าถามว่าทำไมถึงมีชีวิตแบบนี้ ก็นั่นแหละ ผมจดจำเรื่องนี้อยู่ในใจเสมอมา"
"คือคนอื่นอาจจะมองต่าง แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น เพราะสิ่งที่ผมเรียนรู้คืออาชีพอาจารย์กับอาชีพนักร้องมีจุดที่เหมือนกัน ในแง่ของการเป็นผู้ถ่ายทอด เป็นผู้นำสาร ไม่ว่าสารนั้นจะเป็นวิชาความรู้หรือเป็นบทเพลง สุดท้ายเราใช้ทักษะความสามารถเดียวกันเพื่อให้ผู้ฟังได้ฟังอย่างชัดแจ้ง ได้อรรถรส และติดตราตรึงใจมากที่สุด
"ชีวิตผมฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่ามันดูน่าหมั่นไส้ แต่ผมโชคดีเยอะจริงๆ ที่สามารถทำได้หลายๆ อย่าง แล้วมันก็สนุกมาเรื่อยๆ เป็นไปตามสเต็ป ไม่รู้สึกว่าต้องอดต้องทน ผมเล่นเพราะผมรัก และบังเอิญมีคนรักในสิ่งที่ผมทำ ผมเลยคิดว่ามันไม่ค้านกัน มันคงเป็นอุปนิสัยสันดานเดิม เพราะเราเติบโตมาอย่างนั้น คือแม้คุณแม่จะเป็นศิลปินแต่ท่านก็ไม่ค่อยคุยเล่น ก็จะคุยแต่เรื่องซีเรียสๆ เรื่องสาระๆ กับคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อก็เป็นตำรวจสายวิชาการ เขาก็คุยกันแต่อย่างนี้ แล้วเราโตมาเราก็เอ็นจอยกับการได้แลกเปลี่ยนทัศนะคติมากๆ"
"ที่สำคัญเราไม่ได้มองว่ามันซีเรียสเกินไป ผมว่ามันสนุก ตอนนั้นจำได้เลยว่าวัยเด็กของเราจะบิดเบี้ยวนิดหนึ่ง (หัวเราะ) เพราะเราคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันไม่รู้เรื่อง เราไม่ได้มีความสนใจแบบเดียวกับเขา"
"แต่มันก็เป็นสีสันในชีวิต และยิ่งผมเรียนกฎหมาย ยิ่งเรียนเอกปรัชญา ผมว่ามีคนแบบผมถมถืดจะตาย" โอมว่าแซมหัวเราะ ก่อนจะยกยอดบอกให้สังเกตเวลาเล่นคอนเสิร์ตจะสามารถรับรู้ถึงคำ 'ซีเรียส' ที่บอกเล่านี้
"เพราะว่าการถ่ายทอดผลงานมันคือมาจากตัวเรา อะไรที่มันประกอบขึ้นมาเป็นเรา เราก็ถ่ายทอดอย่างนั้น แต่เอาเข้าจริง ซีเรียสเกินไปมันก็ไม่ดี คือถ้าใครซีเรียสแล้วเอาความรู้สึกนี้มาบั่นทอน หยุดเลยครับ นั่นผิดแล้ว ไม่ควรทำอย่างนั้น ถ้าการคิดมากทำให้คนคนหนึ่งต้องผมร่วง ปล่อยตัวเองโทรม แล้วบอกฉันเป็นคนคิดเยอะ มันไม่น่าภูมิใจความคิดเยอะ มันไม่ควรคิดเยอะจนทำร้ายตัวเอง ไม่ควรเป็นอย่างนั้น
"คือคนสามารถคิดเยอะได้ ถ้าคุณรู้จักบริหารความคิด คือคุณคิดซะว่า เหมือนเราไปออกกำลังกายเราผ่อนคลาย แต่ถ้าเราออกมากไป ร่างกายอ่อนล้าอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเราถูกทำลาย เปรียบเทียบให้เหมือนกัน เราออกกำลังกายให้เรารู้สึกเบิกบาน การคิดคือการออกกำลังกายสมอง ดังนั้น ทำไมคนออกกำลังกายถึงเอนจอยได้ เราก็ต้องออกกำลังกายสมองอย่างนั้น คิดอย่างเป็นระบบ คิดให้มันสนุก ไม่ใช่คิดแล้วทำร้ายตัวเอง"
"อย่างนี้เราแบ่งเวลาในชีวิตเราอย่างไร" เราถามเพื่อความกระจ่างชัด
"ก็พึงระลึกอยู่เสมอว่าเวลาอะไรคือทำอะไร เพราะมันต้องแบ่ง เนื่องจากมันเป็นเงื่อนไขในการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ ผมเองก็ล้มเหลวบ่อยครั้ง อย่างคิดว่าเล่นเกมแค่ 3 ชั่วโมง ก็เล่นไป 6 ชั่วโมง หรืออย่างตอนเรียนก็มีเกเรบ้างเหมือนวัยรุ่นทั่วไป คิดว่าประสบการณ์ในห้องเรียนอย่างเดียวมันไม่พอ เราควรออกไปหาโลกภายนอก คนเรียนอย่างเดียวน่าเบื่อจะตาย (ยิ้ม) แต่พอโตๆ มา เริ่มรู้สึกได้ว่าตอนนั้นเด็กๆ มันก็เจ๋งดี ออกไปสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือริสูบบุหรี่ ไปเล่นดนตรีบ้านช่องไม่กลับ ดูเป็นคนกร้านโลก รู้โลกเยอะๆ ผลคือตอนเรียนธรรมศาสตร์ ผมเกือบถูกรีไทร์ เตือน 2 ครั้งแล้ว ครั้งที่ 3 คือไล่ออก"
คิดได้ดังนั้น หลังจากจบออกมาจากรั้วแม่โดม ในฐานะรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่น โอมรู้สึกว่าต้องซ่อมแซมความผิดพลาด ซึ่งนั่นนำมาซึ่งปริญญาตรีใบที่สองเกียรตินิยมอันดับหนึ่งนิติศาสตรบัณฑิต เอกกฎหมายมหาชน จุฬาฯ และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดชีวิตครั้งสำคัญ
"จริงๆ ตอนเรียนปริญญาตรีอีกใบ เราไม่ควรเสียเวลาขนาดนั้นด้วย แต่เพราะเรารู้สึกว่าต้องซ่อมตัวเองที่ไม่จริงจัง เรารู้สึกว่าเราไม่อยากย้อนมองกลับมาแล้วเสียใจ เราเลยเริ่มคิดใหม่ได้ว่า คนเท่คือคนที่ทำได้ทุกอย่างอย่างที่อยากจะทำ เราอยากเท่ เราต้องไม่มีอะไรที่อยู่เหนือเราสักอย่าง เราต้องเป็นนายของเราเอง เราจะเลิกสูบบุหรี่ก็จะต้องเลิก เราจะไม่กินเหล้า เราก็ต้องเลิก ตอนนั้นก็คิดว่าเราเป็นคนขี้เกียจ เราจะเท่ได้ก็ต้องเรียน ต้องสำเร็จทั้งในและนอกห้องเรียน ก็เลยเอาเรียนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม"
และไม่ว่าจะทัวร์คอนเสิร์ตกลางแสงสีมากเพียงใด แต่ทันทีที่ไฟเบื้องหน้าฉากดับลง ในช่วงที่ยังต้องเรียนไปด้วยพร้อมๆ กันนั้น โอมเล่าว่าช่วงเวลานั้น เขายิ่งต้องแบ่งเวลาให้ชัด เตรียมตัวเรียบเรียงความคิดให้เป็นระเบียบล่วงหน้า แม้มันจะกินเวลาและเหนื่อยบ้างก็ตามที แต่เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องทำให้ได้
"คือผมรู้ว่าต้องทัวร์ เราก็รู้ว่ามันต้องลำบาก หากจะเขียนวิทยานิพนธ์ไปด้วย ก็ต้องแบ่งเวลา และเรียบเรียงข้อมูลให้พร้อมล่วงหน้า คือเราทำไว้ให้มันเป็นระบบ เราเสียเวลาในการจัดระบบนานก็จริง แต่ตอนทำเนี่ยมันจะเร็วมาก มันสามารถสืบค้นได้ทันที เหนื่อยตอนแรกแต่มันก็ช่วยได้เยอะ
"ความฝันกับความจริงของผมเลยเดินไปด้วยกันได้ จริงๆ ผมเองไม่ใช่คนที่พูดเรื่องความฝัน เพราะผมได้พ่อได้แม่มาอย่างละครึ่ง เราเองเลยมีจุดที่เราเป็นศิลปินด้วยแล้ว ก็จุดที่เราไม่เป็นจากคุณพ่อที่เป็นคนเคร่งวินัย ตรงไปตรงมา ชัดเจน ผมกับผู้จัดการก็เลยคุยกันอยู่เสมอว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใส่จินตนาการลงไปในเพลงเท่าไหร่ก็ได้ แต่พอขึ้นหรืออยู่บนเวที มันคือชีวิตจริง เรามีคนดูที่เขาคาดหวังกับสิ่งที่เราทำ ฉะนั้น เราต้องร้องเพลงยังไง เราต้องทำอย่างไร เราต้องทำให้เขาสนุกด้วยวิธีไหน
"ผมว่ามันสนุกนะถ้าเราค่อยๆ วางแผนไปให้ถึงฝัน อย่างเรามีฝันเราแล้ว เราจะทำให้มันเป็นจริงด้วยวิธีการใดได้บ้าง (ยิ้ม) อย่างที่เขาบอกว่า ในคืนที่มืดสุด เราไม่เห็นอะไรเลย แต่อย่างน้อยเรามีดาว ดาวไม่ได้หมายความว่าน้ำเน่า ทำนองว่ามันเป็นแสงแห่งความหวัง เปล่า สำหรับผมอันนั้นคือตัวกำหนดทิศที่เราต้องไป แต่จะขับรถไป จะเดินไป จะขึ้นเครื่องบินไป หรือจะคลานไป นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องคิด นั่นคือแผนที่เราต้องวาง คือผมจะไม่สนุกเลย ถ้าเอาแต่ฝันแล้วมัวแต่คิดว่าไม่มีวันเป็นจริง และถ้าฝันมันเป็นจริงได้ทุกเรื่องมันจะสนุกอะไร ฝันบางทีเฟลบ้างพลาดบ้างก็ได้"
"และที่ลืมไม่ได้คือถ้าเราอยากมีความฝัน เราต้องพิจารณาบริบทโดยรอบด้วยว่าเป็นอย่างไร" โอมเน้นย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง เพราะความฝันเป็นสิ่งที่ดีตราบเท่าฝันเรานั้นไม่ทำร้ายใคร
"คือถ้าเราเอาแต่ฝัน ไม่มองความจริง ไม่ได้มองคนรอบข้างที่ต้องมาเหน็ดเหนื่อยไปด้วย ถ้าผมฝันว่าผมอยากเล่นดนตรี ผมอยากจะทุ่มเท แต่ผมลืมเรียนหนังสือ ผมลืมนึกไปว่าเงินค่าเทอม ก็เงินพ่อเงินแม่ ผมลืมนึกไปว่าข้าวที่กินทุกวันก็พ่อแม่ ชายคาที่หัวซุกอยู่ก็พ่อแม่ ถ้าทำอย่างนั้นเมื่อไหร่มันก็เป็นคนเห็นแก่ตัวคนหนึ่งเท่านั้นเอง"
และนอกจากสิ่งที่โอมเน้นย้ำในขณะที่พูดเรื่องความฝันมีไม่น้อยหลายคนที่มองว่า 'เงิน' คือปัจจัยพื้นฐานที่สามารถต่อร่างสร้างฝัน โอมมองเรื่องนี้ว่าทุกคนก็ไม่ต่าง ทุกคนต่างมีสิ่งที่ต้องต่อสู้เพื่อมันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะรวยหรือจน
"ผมยอมรับครับว่าเรื่องนี้มันจี้ใจดำหลายครั้ง ผมเคยโดนตราหน้าเลยว่าคุณไม่มีวันประสบความสำเร็จหรอก เขามองว่าคนเป็นศิลปินต้องจนมาก่อนถึงจะเข้าถึง ไม่จริง เพราะผมก็มีวิธีที่จะสู้ในแบบของผม ผมอาจจะโชคดีหน่อยตรงที่ไม่ลำบากเรื่องฐานะ แต่ก็ไม่ได้รวยล้นฟ้า ยิ่งผมรู้สึกว่าผมมีเงิน ผมยิ่งรู้สึกว่าผมมีแต้มต่อในการสร้างงานด้วยซ้ำ ก็ต้องใช้แต้มต่อให้คุ้ม ถ้าใช้ไม่คุ้ม มันก็เท่านั้น มันก็ไม่ต่างกับคนอื่น
"คือเราอย่ามานั่งโทษปัจจัยภายนอกเลย เรามีอะไรต้องสู้อย่างหนึ่งเสมอๆ คุณด้อยเรื่องนี้ คุณด้อยเรื่องเงิน คุณก็ต้องแสวงโอกาสด้วยทางอื่น แต่ถ้าคุณมีเงิน แล้วใช้เงินไม่คุ้มก็เหมือนกัน บางคนมีเงินเยอะแยะ แต่ไม่เคยเห็นสร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย มีค่าอะไร
"เพราะฉะนั้น ในเมื่อคุณกำลังบอกว่าคุณจน คุณอย่ามานั่งเสียเวลาวิจารณ์ว่าคนโน้นดีคนนี้ไม่ดีเลย มาคิดดีกว่าว่าคุณจะเอนจอยกับมันได้อย่างไรในสิ่งที่คุณมีอยู่ ทำอย่างไรให้มันได้ผลมากที่สุด ให้มันเป็นไปได้มากที่สุด และอยู่กับมันอย่างมีความสุข"
เห็นความต่างก็เห็นคุณค่า
เห็นธรรมชาติก็เห็นความจริง
"สนใจเรื่องราวแง่คิดนี้มาจากไหน" เราย้อนถามถึงคำพูดเรื่องราวที่ผ่านมา เพราะฟังดูแล้วเหมือนวิธีคิด รวมถึงแง่ชีวิตจะออกดู 'ปลง' ตกในขณะที่อายุอานามเพิ่งจะเลยวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ไม่นานปี
"อาจจะเป็นเพราะตอนบวช ผมรู้สึกว่าผมอยากจะหยิบสิ่งเหล่านี้มาอยู่กับชีวิตเราให้ได้ แต่จริงๆ ผมไม่ได้มองถึงขั้นว่าเป็น 'ธรรมะ' ลึกซึ้ง แต่ผมมองว่าคือธรรมดา ผมไม่ได้เคร่ง ผมไม่ได้อ่านหนังสือธรรมมะเยอะแยะ ผมแค่พยายามมองให้เข้าใจว่าธรรม คือธรรมดา พยายามทำความเข้าใจกับเรื่องรอบๆ ตัว ผมไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้ง
"แต่ว่าในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชน อาชีพผมในเชิงพุทธเขาว่าเป็นอาชีพบาป แต่เราเองก็ต้องพยายามหาทางอยู่กับมัน ทำอย่างไรให้มันรู้สึกว่าเรามีความสุข แล้วเราสามารถสร้างคุณค่าให้ทั้งกับจิตวิญญาณของเราเองและก็คนรอบๆ ข้างได้ด้วย"
"ถามว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น" เจ้าตัวพยักหน้าก่อนจะตอบสั้นๆ ว่า เพราะชีวิตมันสั้น
"ชีวิตมันสั้น (ยิ้ม) แล้วชีวิตคุณมีคุณค่าหรือยัง..." เขาย้อนถาม "นั่นคือคำที่อยู่ในใจผมมากเลย คำที่ครูบาอาจารย์ถามผม ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ เราก็คิดว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เป็นคนที่มีคุณค่า
"ฮึม...คนเก่งหรือ ก็ไม่ใช่ใช่ไหม นั่นก็เพราะการจะเป็นคนที่มีคุณค่า คือการที่เราสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนรอบข้าง นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมพัฒนาพยายาม เผื่อแผ่สิ่งเหล่านั้นที่เรามีให้คนอื่นได้ ผมไม่ได้คิดอะไรไว้ยิ่งใหญ่หรอกครับ ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะนำเสนอหรือสั่งสอน แต่ว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่คนเดียว เราอยู่กันเป็นสังคม ผมก็แค่อยากจะทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะสื่อสารอะไรออกไปบางทีมันจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล แล้วก็ศึกษามัน อย่างในคอนเสิร์ตก็ต้องพยายามหาคำอธิบาย เพลงเราเป็นเพลงรักอกหัก เป็นเพลงตอกย้ำตัวเอง แต่เราก็พยายามจะนำเสนอว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเพียงแค่ชั่วคราว มันเป็นการเรียนรู้ที่จะเจ็บ เพื่อที่จะเข้มแข็ง เพราะคุณจะก้าวข้ามความอ่อนไปได้อย่างไร ในเมื่อคุณยังไม่ยอมรับว่ามีจุดอ่อนตรงไหน คุณปกปิดรอยแผลวันหนึ่งแผล มันจะยิ่งใหญ่ขึ้นเท่านั้น
"คือพยายามให้เห็นทั้งสองด้านของเหรียญ เราเองเป็นมนุษย์ เรียนรู้ที่จะทุกข์ สุข เศร้า ธรรมดา ไม่งั้นสิ่งที่พูดไปมันก็เหมือนกับว่าเรามีแต่อัตตาล้วนๆ คิดแต่ตัวกูของกู ไม่เคยสนใจจะฟังเลย ผมว่าอย่างนั้นอันตราย"
และเมื่อไล่เรียงดูความหมายอัลบัม "The Lords of Misery" ที่เกิดจากการเล่นคำความหมาย เจ้าแห่งทุกข์ ก็คือผู้ที่อยู่เหนือทุกข์ เป็นผู้มีความสุขอย่างแท้จริง
หรือใครจะบอกว่า "...ฉันกำลังขอร้องอ้อนวอนเธออย่าไป ทิ้งตัวลงคุกเข่ากอดขาเธอเอาไว้..." เนื้อร้องของเพลง 'คุกเข่า' ทำให้เสียศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย โอมให้แง่คิดย้ำอีกว่า "ถ้ามันเจอสิ่งที่มันคุ้มกว่ายิ่งกว่า ศักดิ์ศรีมันไม่จำเป็นหรอก อย่างกับพ่อกับแม่ ไม่ต้องมีศักดิ์ศรีไม่ต้องเถียงกันให้ชนะ กับครูบาอาจารย์กับผู้หลักผู้ใหญ่ หรือกับภรรยาตัวเอง ที่เลี้ยงลูกให้ตัวเอง ทำทุกอย่างให้ตัวเอง ไม่รู้จะมีศักดิ์ศรีกันไปทำไม
"ศักดิ์ศรีบางครั้งเกินพอดี ก็กลายเป็นเรื่องโง่ๆ กับคำอ้างของคนบางคนที่เอาไว้อ้างเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่นเท่านั้นเอง แล้วมันมีค่าอะไร เราไม่ได้ปรุงแต่งมันไปเองให้มันมีอยู่เหรอ ผมไม่ได้คิดว่าศักดิ์ศรีมันมีอยู่ขนาดนั้นสำหรับผม ผมว่าบางครั้งคนเราเอาชนะคะคานกัน มันมีแต่จะแตกกันไป บางครั้งไม่ผิดเรายกมือขอโทษ มันยังจะดีซะกว่า ดีกว่าจะต้องมาหักหาญกัน เขาก็มีวลีที่ว่า "ชัยชนะที่มันกองอยู่บนซากศพและคราบเลือด มันไม่มีค่าอะไรเลย"
แดดยามบ่ายคล้อยไล่หลัง น้ำเปล่าในแก้วช่วยบรรเทาความกระหายจากอาการเหนื่อยล้าจากเรื่องราวของชีวิตที่เล่า แต่กระนั้น ดวงหน้าของเขากลับเปี่ยมด้วยประกายรอยยิ้มและความสุขอย่างเห็นได้ชัด
"คือมันมีความหมาย พอเปี่ยมด้วยความหมายแล้วมันมีคุณค่าที่จะทำอยู่ เหนื่อยแต่ก็คุ้ม เพราะชีวิตมันไม่มีอะไรไม่เหนื่อยหรอกครับ มันเหนื่อยกันทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าอาชีพ พอคุณเห็นว่าเป็นนักดนตรี แน่นอนว่าต้องมีชีวิตสวยหรู เงินเยอะ เยอะจริง เยอะกว่าตอนเป็นอาจารย์เกือบๆ 30 เท่าเลย แต่พอมันเป็นอาชีพ มันไม่มีอะไรสวยหรูหรอกครับ มันไม่ได้เหมือนตอนเป็นงานอดิเรก ที่เราจะเล่นๆ เพื่อความสนุกส่วนตัว
"แต่เราต้องแบกความคาดหวัง แบกชีวิตของทีมงาน แบกความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนที่ทุกคนจับตามอง ถึงแม้เราจะไม่สนับสนุนให้เขาฟัง แต่เมื่อเขาบังเอิญฟังเรา เราจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ที่จะต้องเป็นตัวอย่าง ที่จะต้องดำรงตนในฐานะที่เป็นประชาชนและมนุษย์คนหนึ่งที่สร้างประโยชน์ดีๆ ให้กับสังคมให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”
ภายใต้เบื้องหน้าในฐานะนักดนตรี เรามองเห็นคนอีกสองคนที่ขนาบทาบร่าง
คนหนึ่งคืออดีตอาจารย์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยจรรยาบรรณทางวิชาชีพ 'เรือจ้าง'
ส่วนอีกคนหนึ่งคือนักกฎหมายผู้รับผิดชอบต่อความถูก-ผิดของสังคม แม้กระทั่งความคิดอ่านของตัวเองอย่างซื่อสัตย์
และทั้งสองคนคือฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนกันและกันอย่างลงตัวไม่มีบิดพลิ้ว...
"เพราะว่าเราอยากจะยืนยันในความคิดของเราว่า สุดท้ายแล้ว เราสามารถเป็นได้ทุกอย่างเท่าที่ใจเราอยากจะเป็น เพียงเพราะคุณอดทนมากพอและพยายามพอแค่นั้นเอง"
"ชีวิตจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ วงดนตรีจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ สำหรับผมวันนี้ ถ้าไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ผมไม่เรียกว่าความสำเร็จ แต่ถ้าตราบใดที่มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ ผมว่าโคตรสำเร็จเลย ไม่ว่ามันจะมีเงินทองมากมายหรือไม่ก็ตาม ขอให้มันมีความสุขกับสิ่งที่ทำก็พอ"
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์