ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะบริหารกรุงเทพฯ และสื่อมวลชน ลงเรือเพื่อตรวจความเรียบร้อย และความมั่นคงแข็งแรงของโป๊ะ และ ท่าเทียบเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงโดยจุดเริ่มต้น ณ ท่าเรือกองการท่องเที่ยว ไปยังท่าเรือในเขตรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครอีก 7 แห่ง
วันนี้ (30 ต.ค. 57) เมื่อเวลา 10.30 น. รายงานข่าวแจ้งว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสัญญา ชีนิมิตร ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชน ลงเรือเพื่อตรวจความเรียบร้อยและความมั่นคงแข็งแรงของโป๊ะและท่าเทียบเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยจุดเริ่มต้น ณ ท่าเรือกองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ไปยังท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ท่าเรือวัดอรุณราชวราราม ท่าเรือวังหลัง ท่าเรือสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี ท่าเรือพระอาทิตย์ สวนสันติชัยปราการ และท่าเรือสะพานพระราม 8 จากนั้น ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2557 บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญที่กทม. จัดสืบทอดมาเป็นเวลานาน เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงามของชาวไทยให้ดำรงอยู่สืบไป อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนและของโลกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2556 ที่ผ่านมา ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือในการใช้กระทง ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย จำนวนกว่า 8 แสนใบ และกระทงจากโฟมกว่า 1 แสนใบ ซึ่งในปีนี้ กทม. ยังคงรณรงค์ต่อเนื่องโดยขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเช่นเดียวกัน เพื่อไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการความปลอดภัย กทม. ได้ตรวจสอบโป๊ะและท่าเทียบเรือทุกแห่งให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งติดป้ายจำกัดน้ำหนักการขึ้นโป๊ะท่าเรือในระดับปลอดภัยไว้ไม่เกินโป๊ะและท่าเรือละ 60 คน แม้จะตรวจสอบแล้วสามารถรับน้ำหนักได้จริงถึง 80 คน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย อีกทั้งยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และ อปพร. พร้อมชูชีพและห่วงยาง ดูแลความปลอดภัยของประชาชนทุกโป๊ะและท่าเรือ
พร้อมกันนี้ กทม. ขอให้ประชาชนสนุกสนานกับงานเทศกาลลอยกระทงแบบมีความรับผิดชอบ ไม่ดื่มสุราแล้วขับรถ รวมทั้งไม่เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายห้ามการปล่อยโคมลอยที่ชัดเจน และที่ผ่านมายังไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง แต่เพื่อความไม่ประมาท กทม. จึงขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันและดูแลไม่มีการจำหน่ายและเล่นดอกไม้เพลิง รวมถึงปล่อยโคมลอย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในเทศกาลสำคัญนี้ สั่ง 21 ท่าเรือชำรุด ติดป้ายชัดเจนห้ามใช้เด็ดขาด
สำหรับโป๊ะและท่าเรือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 283 ท่า อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน 262 ท่า และไม่พร้อมใช้งานจำนวน 21 ท่า ซึ่ง กทม. ได้ปิดป้ายประกาศห้ามใช้โป๊ะและท่าเทียบเรือดังกล่าวแล้ว รวมถึงใช้เชือกหรือแผงเหล็กกั้นเขตเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ นอกจากนี้ยังได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย และสมาชิก อปพร. พร้อมเสื้อชูชีพและห่วงยางดูแลความปลอดภัยของประชาชนทุกท่าเรืออย่างใกล้ชิด
สำหรับท่าเรือที่ต้องปรับปรุงซ่อมแซมและห้ามใช้ จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย โป๊ะและท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือสวัสดิ์ ถ.ทรงสวัสดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ ท่าเรือวัดแจงร้อน 1 เขตราษฎร์บูรณะ ท่าเรือวัดอรุณฯ 2 เขตบางกอกใหญ่ และท่าเรือหวั่งหลี เขตคลองสาน ในส่วนของคลองสายต่างๆ 17 แห่ง ได้แก่ เขตจอมทอง ท่าเรือท่าคลองหอนาฬิกาดาวคะนอง เขตตลิ่งชัน ท่าเรือวัดไก่เตี้ย และท่าเรือวัดตลิ่งชัน เขตบางขุนเทียน ท่าเรือวัดลูกวัว ท่าเรือวัดประชาบำรุง ท่าเรือเฉลิมชัยพัฒนา ท่าเรือวัดหัวกระบือ ท่าเรือวัดหลวงพ่อเต่า ท่าเรือวัดเลา และท่าเรือวัดแสมดำ เขตคันนายาว ท่าเรือท่าคลองระหัส และเขตบางกอกใหญ่ ท่าเรือบริเวณหน้าวัดโมลีโลกยาราม ท่าเรือสมชาย ท่าเรือสะพานเจริญพาศน์ ท่าเรือรัชดาภิเษก ท่าเรือวัดเครือวัลย์ 1 และท่าเรือวัดเครือวัลย์ 2