ผลสำรวจความคิดเห็นกรุงเทพโพลล์ ชี้คนไทยพอใจผลงานนักกีฬาไทยในอินชอนเกมส์ มากถึง 93.9% เสียดายฟุตบอลชายพลาดเหรียญทองมากสุด พบมากกว่าครึ่งยังเคืองกรรมการตัดสินเข้าข้างเกาหลีใต้เจ้าภาพจนน่าเกลียด แต่เชื่อมั่นฝีมือนักกีฬาไทยดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่มีปัญหาขาดงบประมาณ และปัญหาภายในสมาคมกีฬาต่างๆ
วันนี้ (4 ต.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ “ผลงานทีมนักกีฬาไทย ในการสู้ศึกอินชอนเกมส์” ซึ่งประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันหลายประเภท ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 19 ก.ย. ถึง 4 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,213 คน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.4 ได้ติดตามชมถ่ายทอดสดกีฬาเอเชียนเกมส์ รองลงมาร้อยละ 18.9 ไม่ได้ชมถ่ายทอดสดแต่ติดตามผลการแข่งขันจากช่องทางต่างๆ ขณะที่ร้อยละ 21.8 ไม่ได้ติดตามการแข่งขัน
โดยกีฬาที่คนไทยคอยลุ้นผลและส่งกำลังใจเชียร์ให้มากที่สุด คือ กีฬาฟุตบอลชาย คิดเป็น ร้อยละ 38.8 รองลงมาคือ วอลเล่ย์บอลหญิง คิดเป็นร้อยละ 37.8 และตะกร้อ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ส่วนกีฬาที่โชว์ผลงานได้ประทับใจคนไทยมากที่สุดคือ วอลเล่ย์บอลหญิง คิดเป็นร้อยละ 34.2 รองลงมาคือฟุตบอลชาย คิดเป็นร้อยละ 28.3 และตะกร้อ คิดเป็นร้อยละ 16.4
สำหรับกีฬาที่คนไทยรู้สึกเสียดายที่พลาดเหรียญทองมากที่สุด คือ ฟุตบอลชาย คิดเป็นร้อยละ 57.6 รองลงมาคือ วอลเลย์บอลหญิง คิดเป็นร้อยละ 31.9 และแบดมินตัน คิดเป็นร้อยละ 5.9 เมื่อถามถึงความพึงพอใจในภาพรวมของผลงานทีมนักกีฬาไทยที่ไปแข่งขันกีฬาที่อินชอนเกมส์ พบว่า คนไทยมากถึงร้อยละ 93.9 มีความพึงพอใจ และมีเพียงร้อยละ 4.9 เท่านั้นที่ไม่พึงพอใจ ที่เหลือร้อยละ 1.2 ไม่แน่ใจ
ส่วนประเด็นการทำหน้าที่ในภาพรวมของกรรมการผู้ตัดสิน ในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.9 เห็นว่ามีการตัดสินเข้าข้างประเทศเจ้าภาพจนน่าเกลียด รองลงมาร้อยละ 30.2 เห็นว่าตัดสินเข้าข้างเจ้าภาพแต่พอรับได้ และมีเพียงร้อยละ 6.9 เท่านั้น ที่เห็นว่าเป็นกลางไปตามเกม ที่เหลือร้อยละ 4.0 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ คนไทยมากถึงร้อยละ 84.6 ยังเห็นว่าฝีมือและมาตรฐานของนักกีฬาไทยในปัจจุบันดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 8.9 เห็นว่าฝีมือและมาตรฐานเท่าเดิม และร้อยละ 4.4 เห็นว่าแย่กว่าเดิม ที่เหลือร้อยละ 2.1 ไม่แน่ใจ
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝีมือหรือมาตรฐานของนักกีฬาไทยหลายๆ ประเภท ผลงานไม่เข้าเป้า พลาดโอกาสได้เหรียญรางวัลตามที่คาดไว้ ร้อยละ 57.8 เห็นว่าเกิดจากขาดงบประมาณในการพัฒนากีฬา เช่น จ้างโค้ช สนามซ้อม อุปกรณ์กีฬาที่ทันสมัย รองลงมาร้อยละ 46.0 เกิดจากปัญหาภายในของสมาคมกีฬาต่างๆ เช่น การคอร์รัปชัน เด็กเส้น และร้อยละ 36.3 เท่ากัน ที่เห็นว่าเกิดจากขาดแคลนหรือขาดการสร้างนักกีฬารุ่นใหม่มาเสริมทัพ และ ขาดวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ดีเพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬา