xs
xsm
sm
md
lg

คูปองทีวีดิจิตอลส่งกลิ่น ส่อเอื้อกล่องดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล
ASTVผู้จัดการรายวัน – แฉกระบวนการแจกคูปองทีวีดิจิตอล ส่งกลิ่นทั้งมูลค่าที่สูงเกินจำเป็น และเงื่อนไขนำไปแลกซื้อ ส่อผิดเจตนารมณ์ เพราะเป็นช่องทางเอื้อประโยชน์กล่องทีวีดาวเทียมแทน ชี้มูลค่าคูปอง 1,200 บาท ทำเงินสะพัดหลายพันล้านบาททั้งส่วนต่างจากกล่องทีวีดิจิตอลที่รวมทุกอย่างไม่น่าเกิน 1 พันบาท และกลุ่มทุนทีวีดาวเทียมที่หวังกระจายกล่องเข้าบ้านประชาชนจำนวนมาก หวังใช้เงินรัฐต่อยอดไปเปย์ทีวี

แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิตอลกล่าวว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน กำลังจะทำลายอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลด้วยมือตัวเอง เพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางกลุ่ม ผ่านกระบวนการแจกคูปองมูลค่า 1,200 บาท ให้ 22 ล้านครัวเรือน เพื่อนำไปแลกซื้ออุปกรณ์ที่ไม่จำกัดเฉพาะกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลเท่านั้น แต่สามารถนำไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม หรือนำไปเป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องทีวีที่สามารถรับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ โดย พ.อ.นที กล่าวก่อนหน้านี้ว่าการแจกคูปองก็เหมือนการแจกเงินสดให้ประชาชน สามารถนำไปซื้ออะไรก็ได้ ไม่ว่ากล่องทีวีดิจิตอล กล่องทีวีดาวเทียม หรือนำไปเป็นส่วนลดเครื่องทีวี พร้อมย้ำว่าเป็นกระบวนการโปร่งใสที่ตรวจสอบได้

แต่คำว่าโปร่งใสในความหมาย พ.อ.นที คือการกำหนดกระบวนการวิธีการที่หมกเม็ด แยบยล ส่อในทางเอื้อประโยชน์เอกชนบางกลุ่ม และบิดเบือนเจตนารมณ์แท้จริงที่จะสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิตอล แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามวิธีการที่ฉ้อฉลที่ผ่านการอนุมัติก็จะถือว่าโปร่งใส

ดีแต่ว่าคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ไม่หลงกล และตีตกข้อเสนอของ กสท. โดยคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้ กสทช. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมาในการพิจารณาเรื่องมูลค่า และหลักเกณฑ์การแจกคูปองเงินเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์การรับชมทีวีดิจิตอล ได้มีมติตีกลับเรื่องที่ กสท. เสนอมา เนื่องจากเห็นว่ามูลค่าคูปองจำนวนครัวเรือนละ 1,200 บาท ทำให้ต้องใช้งบประมาณโดยรวมราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับรายรับจากค่าประมูลทีวีดิจิตอลที่นำไปอุดหนุนเป็นค่าคูปอง ซึ่งในงวดแรก กทปส. ได้รับมาราว 12,000 ล้านบาทเท่านั้น

กทปส. ยังท้วงติงในประเด็นอื่นๆ อีก อาทิ วิธีการส่งมอบคูปองให้ถึงมือประชาชน ซึ่ง กสท. ได้เสนอมาเป็นวิธีการให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นผู้จัดส่งถึงบ้านเรือนประชาชนคนไทยทั้ง 22 ล้านครัวเรือน และให้ผู้จำหน่ายอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลสามารถนำคูปองดังกล่าวไปขึ้นเงินผ่านธนาคารกรุงไทย ซึ่งในหลักเกณฑ์การจัดส่ง และจัดทำคูปองเพื่อขึ้นเงินกับธนาคารไม่ได้พูดถึงแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ส่วน

เอื้อประโยชน์ทีวีดาวเทียม

แหล่งข่าวระบุว่ามูลค่าคูปองที่ กสท. เสนอให้แจก 1,200 บาทนั้น สูงเกินจริง และเป็นราคาเข้าใกล้กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมที่ปัจจุบันมีขายในท้องตลาดที่ราคาประมาณ 1,400-1,600 บาทเกินไป เพราะหากพิจารณาจากมูลค่าคูปองที่จะแจกตอนแรกเพียง 690 บาท โดยเป็นราคาเฉพาะกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลเท่านั้น แต่หากรวมเสาอากาศซึ่งปัจจุบันราคาแค่ 100 กว่าบาท หรือไม่เกิน 200 บาท ทำให้เห็นได้ชัดว่ามูลค่าคูปองอยู่ในระดับไม่เกิน 800-900 บาทเท่านั้น และเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในส่วนของช่องทางจำหน่ายที่นำกล่องไปวาง ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น หรือโมเดิร์นเทรด อย่างบิ๊กซี หรือโลตัส อาจทำให้มูลค่าคูปองเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง แต่มั่นใจได้ว่าไม่เกิน 1,000 บาทแน่นอน

“จากคูปองที่ไม่ควรเกิน 1 พันบาท แต่ กสท. กลับเสนอถึง 1,200 บาท แจก 22 ล้านครัวเรือน ส่วนต่างที่เกินมาอย่างน้อย 4 พันล้านบาท เข้ากระเป๋าใคร พร้อมเงื่อนไขที่เปิดให้ซื้ออะไรก็ได้ ลองคิดดูว่าใครจะได้ประโยชน์จากเงื่อนไขนี้”

หากแจกคูปอง 1,200 บาทให้เลือกซื้ออะไรก็ได้ เท่ากับคนกำกับดูแลเรื่องนี้ได้ประโยชน์ 2 ทาง ด้านแรกได้ประโยชน์จากกล่องทีวีดิจิตอล ที่ต้นทุนกล่องพร้อมเสาสัญญาณต่ำกว่า 1,200 บาทมาก หากคิดต้นทุนที่ 1,000 บาท เท่ากับมีเงินเหลือหมุนเวียนแบ่งจ่ายกันกล่องละอย่างน้อย 200 บาททันที ด้านที่สองผลประโยชน์ที่จะเกิดกับกลุ่มทุนด้านทีวีดาวเทียม ที่ต้องพยายามเร่งให้กล่องดาวเทียมกระจายเข้าบ้านเรือนประชาชนจำนวนมาก ราคาที่ใกล้เคียงกับมูลค่าคูปองย่อมจูงใจผู้บริโภคส่วนหนึ่งให้แลกเป็นกล่องดาวเทียมแทน จากแรงจูงใจเรื่องคอนเทนต์ สาระ และรายการต่างๆ รวมทั้งเนื้อหาในลักษณะการเป็นเปย์ทีวี ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายดำเนินการอยู่อย่างแกรมมี่ ซีทีเอช หรือ พีเอสไอ ซึ่งสามารถรับชมทีวีดิจิตอลยกเว้น 7 ช่องเอชดีได้ด้วย ตามกฎมัสต์แคร์รี่ของ กสทช. เอง ซึ่งความพยามของทุนกลุ่มนี้ อาจเป็นที่มาของมูลค่าคูปองที่เพิ่มจาก 690 บาท เป็น 1,200 บาท และการเปิดเงื่อนไขอิสระในการใช้คูปองเลือกซื้ออะไรก็ได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กสท. กำลังทำลายอีโคซิสเตมส์ในวงการทีวีดิจิตอล เพราะ 1. การแจกคูปองเพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้บริโภคในช่วงการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีจากอนาล็อกเป็นดิจิตอลนั้น งบประมาณที่ใช้นำมาจากเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล แต่การกำหนดมูลค่าคูปองที่สูงและสามารถนำไปแลกซื้อกล่องทีวีดาวเทียมได้ จึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่ต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมหาศาล

2. ทีวีดิจิตอลคือทีวีภาคพื้นดินที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการติดตั้งโครงข่าย ดังนั้น หากไม่สนับสนุนให้เกิดการกระจายเครื่องรับให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและจริงจัง การลงทุนในโครงข่ายดังกล่าวก็จะไม่เกิดความคุ้มค่าและไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐในการสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ

3. กสทช.ได้กำหนดมาตรฐานอย่างเข้มข้นในการรับรองกล่องทีวีดิจิตอลทั้งคุณภาพการผลิต คุณลักษณะพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้พิการ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการกำหนดมาตรฐานบริการหลังการขายและรับประกันสินค้าถึง 3 ปี ในขณะที่กล่องดาวเทียมไม่ได้ถุกกำหนดให้ต้องอยู่ในกรอบมาตรฐานดังกล่าว ดังนั้นหากจะอนุญาตให้นำคูปปองไปใช้แลกกล่องทีวีดาวเทียม กล่องดังกล่าวควรจะต้องอยู่ในกรอบมาตรฐานเดียวกัน จึงจะเป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างแม้จริงและ 4. กล่องทีวีดาวเทียมไม่สามารถรับชมสัญญาณช่องรายการทีวีชุมชขหรือทีวีสาธารณะได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า เงื่อนไขและมูลค่าคูปองตามแผนที่ กสท. เสนอมา เป็นตัวบ่อนทำลายทีวีดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ เพราะเมื่อกล่องดาวเทียมมีจำนวนมากขึ้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของกล่องดาวเทียมที่มีใบอนุญาตทีวีดิจิตอลด้วย จะต้องเสียค่าเช่าโครงข่าย (MUX) รวมทั้งเป็นการต่อยอด เปิดช่องให้ให้เกิดเปย์ทีวี และเมื่อมีกล่องดาวเทียมจำนวนมากแล้ว ผู้ประกอบการนั้นๆ อาจทิ้งใบอนุญาตทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินของ กสท. ไปเพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 4% ของรายได้ในแต่ละปีไปก็ได้

“เรียกได้ว่ากำลังยืมมือ กสท. ใช้เงินรัฐมาต่อยอดทีวีดาวเทียมไปสู่เปย์ทีวีเต็มรูปแบบ ทั้งๆ ที่ทีวีดิจิตอลเป็นทีวีภาคพื้นดิน ใช้เสาอากาศก้างปลา หนวดกุ้งเท่านั้น และผู้ประกอบการด้านกล่องทีวีดิจิตอลมีจำนวนมาก ย่อมแข่งขันกันรุนแรง ไม่จำเป็นต้องตั้งมูลค่าคูปองสูง แต่กลับเปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ค้ากล่องดาวเทียมที่มีรายใหญ่แค่ 2-3 รายเท่านั้น'

สำหรับขั้นตอนต่อไป บอร์ด กสท. ของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ จะพิจารณาในเรื่องมูลค่าคูปอง และหลักเกณฑ์การแจกคูปองเงินอีกครั้งในวันที่ 17 เม.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งต้องดูว่าท้ายสุดแล้ว พ.อ.นที จะเข้าใจซึ้งถึงเจตนารมณ์การสนับสนุนทีวีดิจิตอลสำหรับภาคประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น