สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ “ภาพข่าวกับความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ไทย” หนึ่งในวิทยากรเผย ห่วงผู้อ่านตีความภาพข่าวทำให้เข้าใจผิด แนะควรอ่านเนื้อหาควบคู่ไปด้วย
วันนี้ (26 ก.ค.) ที่ห้องประชุมเอื้องหลวง ชั้น 2 สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนราชสีมา สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการประจำปีการศึกษา 2556 หัวข้อ “ภาพข่าวกับความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ไทย” โดยมี รศ.ดร.กฤษณ์ ทองเลิศ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธาน พร้อมด้วย นายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางด้านภาพถ่ายเชิงวารสารศาสตร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตภาพข่าวหนังสือพิมพ์ และผู้บริโภคข่าวร่วมระดมสมองกับนักศึกษา
ในช่วงสรุปของการสัมมนา นายอนุชิต กุลวานิช บรรณาธิการข่าวกีฬา หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หนึ่งในคณะวิทยากร กล่าวว่า ความจำเป็นของการมีภาพข่าวหนังสือพิมพ์ เปรียบได้กับเวลาที่เรารับประทานข้าวแล้วก็ต้องมีกับข้าว ซึ่งเจตนาของช่างภาพต้องการจะสื่อถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปเอง แต่สิ่งที่พบก็คือการตีความจากผู้อ่าน อีกประการคือความผิดพลาดในบางประเด็น สื่อแต่ละสื่อมีจุดขายไม่เหมือนกัน การคัดเลือกภาพแตกต่างกันไป ซึ่งอาจต้องรัดกุมขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวไปพร้อมกับภาพ แทนที่จะตีความจากภาพเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นอาจผิดความตั้งใจที่ช่างภาพหนังสือพิมพ์ต้องการจะสื่อ
ด้านตัวแทนนักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวสรุปผลจากการระดมสมอง ระบุว่า ในอนาคตหนังสือพิมพ์ยังคงจะมีอยู่ต่อไป เพราะมีความรู้สึกในการบริโภคที่แตกต่างจากสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ที่หนังสือพิมพ์สามารถอธิบายได้มากกว่า นอกจากนี้การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ หากไม่นับในเชิงธุรกิจ ก็ถือเป็นการรีมายด์ว่าหนังสือพิมพ์ยังคงมีแบรนด์นี้อยู่ เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ เอเอสทีวีผู้จัดการ ฯลฯ ขณะที่หนังสือพิมพ์ยังเป็นการอำนวยความสะดวกในบางจุดที่ข่าวเข้าไม่ถึง เช่น ล็อบบี้โรงแรม ร้านเสริมสวย ร้านกาแฟ และยังมีหมวดข่าวให้เลือกบริโภคได้ตามความสะดวกอีกด้วย