สวทช. ร่วมกับกองทัพเรือ จับมือพัฒนาคุณภาพและกระบวนการทดสอบยางชิ้นส่วนเรือ เกี่ยวกับการซ่อมและสร้างเรือ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและยกระดับสู่มาตรฐานสากล
วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.ท.มานิตย์ สูนนาดำ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ และนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และกระบวนการทดสอบ เพื่อพัฒนาสูตรเคมีและปรับปรุงกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในการซ่อมและสร้างเรือ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยางโอริงที่ใช้อุดรอยรั่ว และยางแท่นเครื่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพให้เทียบเคียงกับของนำเข้าและได้มาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.
ด้านนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ และกระบวนการทดสอบ ระหว่าง สวทช.กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และกรมอู่ทหารเรือ ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ พัฒนาศักยภาพการวิจัย เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตภัณฑ์ยาง ที่ใช้ภายในกองทัพเรือจำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยางโอริงและยางแท่นเครื่อง รวมถึงมุ่งเน้นทำโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์และกระบวนการทดสอบ เกี่ยวกับการซ่อมและสร้างเรือเช่น การพัฒนาคุณภาพใบพัดยาง และยางกันกระแทกท่าเรือ เพื่อลดการพึ่งพาและการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของ มอก.และยังเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการซ่อมแซม
ด้านพลเรือโท มานิตย์ สูนนาดำ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือที่ใช้ศักยภาพการผลิต ที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ตามมาตรฐานสากล ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้ในยามเหตุการณ์ไม่ปกติ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันวิจัยพัฒนาคุณภาพใบพัดยางและยางกันกระแทกท่าเรือรูปตัวดี ตามมาตรฐาน มอก.ได้สำเร็จ มีราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์นำเข้าถึง 5 เท่า โดยโรงงานยางของกรมอู่ทหารเรือได้นำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ไปใช้ในการผลิตยางกันกระแทกท่าเรือฯ ตั้งแต่ปี 2554 มีปริมาณการผลิตแล้ว 50 ชิ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 1 ล้านบาท