“อานนท์” เตือนคน กทม.ชั้นในต้องเตรียมพร้อม มีโอกาสน้ำรั่วซึมตามร่องระบายน้ำ และอาจเลวร้ายถึงขั้นพนังแตก ชี้หลัง 31 ต.ค. น้ำทะเลจะลดต่อเนื่อง ช่วยลดความเสี่ยงลงได้ จับตาน้ำหนุนสูงอีกครั้ง 10 พ.ย. แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้
วานนี้ (29 ต.ค.) นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ภาพรวมของมวลน้ำในประเทศขณะนี้ มีจำนวน 1.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ที่ไหลบ่ามาตั้งแต่ตอนเหนือลงมา แต่มวลน้ำที่อยู่โดยรอบกรุงเทพฯ ประมาณ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตรเศษ อย่างไรก็ตามมวลน้ำทางเหนือ ยังไหลมาเติมในกรุงเทพวันละ 200-300 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ส่วนที่มาเติมและที่ระบายออกทะเล อยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน แต่ช่วงนี้น้ำขึ้น น้ำทะลเหนุนทำให้การระบายน้ำออกทะเลทำได้ยาก น้ำที่เติมเข้ามาก็ยังเท่าเดิม จึงทำให้มีน้ำท่วมกทม.อยู่ในขณะนี้
“ศักยภาพระบายน้ำออกแต่ละทาง จัดการได้ประมาณ 70% และค้างอีก 30% หรือมีน้ำ สะสมวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำเพิ่มโดยเฉลี่ย 5 เซนติเมตรต่อวัน แต่ถึงจุดหนึ่งจะหยุด ระดับน้ำฝั่งธนบุรี จะเป็นอย่างนี้ 3-4 สัปดาห์”
นายอานนท์กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำ เมื่อพ้นวันจันทร์ที่ 31 ต.ค.ไปแล้ว น้ำทะเลจะลดต่อเนื่อง 7-8 วัน ทำให้การระบายน้ำออกได้เร็วกว่าที่เติม ความเสี่ยงต่อการแตกรั่วของพนังกั้นน้ำจะลดลง และเป็นโอกาสในการซ่อมแซม แต่ว่าวันที่ 10 พ.ย.ช่วงก่อนลอยกระทง น้ำทะเลจะหนุนอีกครั้ง แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งนี้ เพราะน้ำระบายออกไปบ้างแล้ว ทั้งนี้พื้นที่เตือนเฝ้าระวัง คือ กรุงเทพฯ ชั้นใน ที่ขณะนี้ยังแห้งอยู่ ยังไม่ท่วมในขณะนี้ แต่ต้องเตรียมพร้อม เพราะอาจจะมีน้ำรั่วซึมตามร่องระบายน้ำ และหากในกรณีเลวร้ายมีการแตกของพนัง น้ำก็จะทะลักเข้ามาเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะภายใน 12 ชั่วโมง ดังนั้นประชาชนในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน ต้องเตรียมโยกย้ายและอพยพในทันที
“น้ำจะลดได้ก็ 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ ขึ้นกับพื้นที่อยุธยา สัปดาห์แรกของ พ.ย.ก็น่าจะเข้าฟื้นฟูได้ ส่วนกรุงเทพฯ ก็ต้องรอ 3-4 สัปดาห์”