xs
xsm
sm
md
lg

นศ.วปอ.ชี้ชัด “สื่อเครือมติชน” เสนอข่าวบิดเบือนผลวิจัย ให้ร้าย ASTV

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อ ‘ประชาชาติธุรกิจออนไลน์’ สื่อในเครือมติชน ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของสื่อสาธารณะดิจิตอล ที่มีผลต่อพฤตกรรมการบริโภคข่าวสารด้านเมือง ศึกษาเฉพาะ ASTV ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” อันเป็นผลงานวิจัยของ นายวิทอง ตัณฑกุลนินาท กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ๊กเซลเล้นท์ กราฟฟิค จำกัด นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 21 ประจำปีการศึกษา พ.ศ.2551-2552 และเป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัลชมเชยจาก วปอ.โดยรายงานข่าวของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ว่า เอเอสทีวีได้สร้างความแตกแยกให้สังคมในทุกระดับ และเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงาน หรือกฎหมายใดเข้ามาควบคุม ทำให้เอเอสทีวีมีอำนาจในการปลุกระดมมวลชน สร้างความคิดเห็นและความเชื่อ รวมทั้งการหล่อหลอมพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นไปตาม “ทฤษฎีเข็มฉีดยา” ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว

รายงานข่าวที่ออกมาได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันในแวดวงสื่อสารมวลชน วิชาการ และการเมือง ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร และเหตุใดผลการวิจัยจึงสรุปออกมาเช่นนั้น ขณะที่กลุ่มผู้ชมเอเอสทีวีส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกว่าผลลัพธ์ของการวิจัยดังกล่าว ขัดแย้งกับความเป็นจริง ขัดแย้งกับสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัส และได้รับรู้

ด้วยเหตุนี้ ASTVผู้จัดการ จึงถือโอกาสถามตรงกับเจ้าตัว ผู้ทำงานวิจัย “วิทอง ตัณฑกุลนินาท” เกี่ยวกับความเป็นมาของงานวิจัย และประเด็นปัญหา รวมถึงข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับผลการวิจัยว่าเป็นไปตามที่ปรากฏในข่าวที่นำเสนอโดยประชาชาติธุรกิจออนไลน์หรือไม่...?

เลือกวิจัย ASTV เพราะความนิยมสูงสุด

วิทอง ได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการทำวิจัยเรื่องนี้ ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรรัฐร่วมเอกชน ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในเชิงวิชาการ ซึ่งมีความแตกต่างการวิจัยของเอแบคโพลล์ หรือสวนดุสิตโพล ที่เป็นการสำรวจทัศนะของผู้คนที่มีต่อเรื่องต่างๆ ส่วนเหตุที่เขาเลือกทำวิจัยเรื่องอิทธิพลของเอเอสทีวีที่มีต่อพฤติกรรมของผู้รับข่าวสารด้านการเมือง ก็เพราะเห็นว่าเอเอสทีวีเป็นสื่อแนวใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาเคเบิลทีวีและสื่อดิตอล อีกทั้งยังเป็นสื่อที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง

“ผมเลือกทำวิจัยเรื่องเอเอสทีวี เพราะเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศและทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะเป็นสื่อรูปแบบใหม่ของไทย เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และได้รับความนิยมสูงสุด คนทั่วไปก็อยากรู้ว่าทำไมเอเอสทีวีถึงมีอิทธิพลเช่นนั้น แต่ยังไม่เคยมีใครทำวิจัย หรือทำการศึกษาด้านวิชาการ ผมเลยตัดสินใจทำเรื่องนี้ด้วยพื้นฐานเชิงวิชาการ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดสีใด ไม่ว่าจะเป็น เหลือง แดง น้ำเงิน ผมทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทำด้วยพื้นฐานความเข้าใจจริงๆ ว่า สื่อนี้มีอิทธิพลอย่างไร แรกเริ่มจริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำเฉพาะเอเอสทีวีนะ ผมจะทำวิจัยสื่อดิจิตอล ซึ่งเป็นเคเบิลทีวีทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ 50-60 สถานี แต่เวลามีจำกัด ก็เลยมาดูว่าในบรรดาสื่อดิจิตอลเนี่ยสื่อใดได้รับความสนใจมากที่สุด ก็เลือกสื่อนั้น นั่นก็คือ เอเอสทีวี ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งหัวข้อที่วิจัย ก็คือ อิทธิพลของเอเอสทีวีที่มีต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารด้านการเมือง เพราะเห็นได้ชัดว่าเอเอสทีวีเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก” วิทอง กล่าวชี้แจงถึงจุดประสงค์ของการทำวิจัยชิ้นนี้

สำหรับวิธีวิจัยนั้น วิทอง แจกแจงว่า ได้มีการแบ่งการทำวิจัยออกเป็น 2 ส่วน คือ เชิงลึก และเชิงปริมาณ โดยในส่วนของการทำวิจัยเชิงลึก วิทอง ได้สัมภาษณ์บุคคลชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสื่อสารมวลชน จำนวน 20 คน ส่วนการทำวิจัยเชิงปริมาณ นั้น วิทอง ได้ว่าจ้างบริษัทวิจัยมืออาชีพในการออกแบบสอบถามและทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 100 ตัวอย่าง โดยสำรวจเฉพาะผู้ที่ดูเอเอสทีวีเท่านั้น โดยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างตามพื้นที่ คือ กรุงเทพฯชั้นใน กรุงเทพฯชั้นกลาง และกรุงเทพฯชั้นนอก นอกจากนี้ ยังแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามระดับการศึกษา คือ ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี อีกทั้งมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามระยะเวลาในการรับชมเอเอสทีวีอีกด้วย

“ในส่วนของการวิจัยเชิงลึก ผมสัมภาษณ์บุคคลระดับหัวกะทิ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง เช่น ตัวแทนพรรคการเมือง สมาชิกวุฒิสภา ศาลปกครอง ด้านสังคม เช่น ตำรวจ ทหาร สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จิตแพทย์ ด้านเศรษฐกิจ ก็มีตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐ และด้านสื่อ เช่น เอเอสทีวี สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กรมประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) โดยเป็นการสัมภาษณ์เชิงเปิด แบบอัตนัย

ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณนั้นเนื่องจากผมมีเวลาจำกัด ผมก็ไปดูว่าการวิจัยแบบไหนที่พอทำได้ในเชิงวิชาการและใช้เวลาน้อย ก็เลยเลือกการทำวิจัยที่มีความเชื่อมั่น 90% จากระดับความเชื่อมั่นที่มีอยู่ 2 ระดับ คือ 90% และ 95% โดยใช้ตัวอย่าง 100 ตัวอย่าง เพราะระดับความเชื่อมั่น 95 ต้องใช้ตัวอย่างถึง 500 ตัวอย่าง ซึ่งไม่น่าจะทำได้ทัน โดยผมศึกษาประชากรเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และเลือกสัมภาษณ์เฉพาะคนที่ดูเอเอสทีวีเท่านั้น ซึ่งการสัมภาษณ์เชิงปริมาณนั้น ผมให้บริษัททำวิจัยมืออาชีพเป็นคนทำวิจัยให้ เจ้าหน้าที่ทำวิจัยจบปริญญาโททุกคน เพราะผมต้องการให้ผลวิจัยที่ออกมามีความน่าเชื่อถือจริงๆ” วิทองอธิบายถึงวิธีการทำวิจัยของเขา พร้อมระบุว่า เพื่องานวิจัยชิ้นนี้ตนเองได้ทุ่มเงินส่วนตัวนับแสนบาท

ยืนยันไม่ได้ทำให้แตกแยก

ประเด็นที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณาอย่างกว้างขวาง ก็คือ กรณีที่ประชาชาติธุรกิจออนไลน์พาดหัวตัวโตในข่าวงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ผลวิจัยระบุว่า เอเอสทีวีสร้างความแตกแยกให้สังคม และมีอำนาจในการปลุกตาม “ทฤษฎีเข็มฉีดยา” ซึ่ง วิทอง ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวว่า

“งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้สรุปอย่างนั้น และถ้าอ่านจากบทสรุปที่อยู่ในหน้าแรกของงานวิจัยเลย จะเห็นว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ... ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมและทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่รับชมข่าวสารด้านการเมืองจากเอเอสทีวี ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ระยะเวลาการรับชมสื่อเอเอสทีวี ไม่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติที่เกิดขึ้นหลังการรับชม ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีเข็มฉีดยา เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างยังใช้วิจารณญาณในการรับชม และรับชมสื่อจากหลายช่องทาง แต่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติที่เกิดขึ้น ได้แก่ ระดับการศึกษา นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาจากภาพรวมของผลกระทบอันเกิดจากการนำเสนอข่าวสารด้านการเมืองของเอเอสทีวี พบว่า ผลในเชิงบวก คือ ทำให้ประชาชนมีช่องทางการรับข่าวสารด้านการเมืองในเชิงลึก อันเป็นช่องทางหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น

จริงๆ แล้วผลวิจัยของผมมีทั้งผลกระทบในเชิงบวกและผลกระทบในเชิงลบ แต่นี่ นสพ.ประชาชาติ เอาเชิงลบมาอย่างเดียว อย่างผลกระทบในเชิงลบนั้น ผลวิจัยบอกว่า...มองในเชิงลบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งต่อสังคมในลักษณะที่สร้างความแตกแยก แต่ประชาชาติเขียนว่าก่อให้เกิดความแตกแยก ... อ้าว! คนละเรื่องหรือเปล่า และผมไม่ได้เขียนคำว่าร้ายแรงที่สุดเลย ผมเขียนว่า ผลกระทบในเชิงลบมีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมในลักษณะของการสร้างความแตกแยกต่อครอบครัว สังคม และประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น คือ แค่มีแนวโน้ม แต่ยังไม่เกิด คือ ไม่ได้หมายความว่า เอเอสทีวีทำให้เกิดความแตกแยก”
วิทอง กล่าวชี้แจงถึงความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในการนำเสนอข่าวของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

ชี้ชัดเป็นช่องทางช่วยตรวจสอบรัฐ

ขณะดียวกัน ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผลวิจัยชี้ชัดว่าเหตุผลหลักที่กลุ่มตัวอย่างเลือกรับชมข่าวสารด้านการเมืองจากเอเอสทีวี เนื่องจากกลุ่มผู้สำรวจส่วนใหญ่ ร้อยละ 59 เห็นว่า เอเอสทีวีเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่ถูกควบคุมและแทรกแซง โดยหน่วยงานภาครัฐ รองลงมา ร้อยละ 47 เห็นว่า สื่อเอเอสทีวีเป็นช่องทางหนึ่งในการตรวจสอบรัฐ ขณะที่ ร้อยละ 45 ดูเอเอสทีวีเพราะต้องการติดตามรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ร้อยละ 41 ดูเอเอสทีวีเพราะรู้สึกว่าสื่ออื่นๆ นำเสนอข่าวไม่เป็นกลางและไม่น่าเชื่อถือ

นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่า เอเอสทีวีเป็นสื่อที่มีอิสระในการนำเสนอข่าวที่เป็นกลาง ตรงไปตรงมา และมีความน่าเชื่อถือในการนำเสนอมากกว่าฟรีทีวีทั่วไปอย่าง ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ TPBS, เอเอสทีวีเป็นองค์กรผู้นำเสนอข่าวสารที่มีความอิสระ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด, การนำเสนอข่าวสารด้านการเมืองของเอเอสทีวี ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองใหม่ที่มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ดีกว่าเดิม ทว่า ข้อมูลเชิงบวกต่อ ASTV ที่สรุปได้จากผลการวิจัยเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกนำเสนอบนหน้าข่าวของประชาชาติธุรกิจออนไลน์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผลดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคส่วนหนึ่งกำลังแสวงหาสื่อใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความอิสระในการนำเสนอข่าวสารโดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ อีกทั้งยังมีความต้องการสื่อที่สามารถเป็นตัวแทนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวของเขาได้

อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยชี้ว่า นอกจากจะดูข่าวสารด้านการเมืองจากเอเอสทีวีแล้ว กลุ่มตัวอย่างยังรับข่าวสารด้านการเมืองจากสื่ออื่นๆ ด้วย โดยสื่อที่รับชมมากที่สุด ร้อยละ 70 ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี โดยเฉพาะรายการคุยคุ้ยข่าว และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยเฉพาะรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ขณะที่สื่อซึ่งกลุ่มตัวอย่างติดตามข่าวสารด้านการเมืองในอันดับรองลงมา ได้แก่ หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ตามด้วยสื่อวิทยุ โดยเฉพาะสถานีวิทยุชุมชน FM 97.75

ชี้ “สื่อเครือมติชน” บิดเบือนเลือกลงแค่บางตอน

วิทอง แสดงความเห็นด้วยว่า สาเหตุที่ผลงานวิจัยของเขาที่ลงใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์เหมือนจะสรุปว่า เอเอสทีวีเป็นสื่อที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และเป็นไปในลักษณะปลุกระดมมวลชน ตาม “ทฤษฎีเข็มฉีดยา” ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อโดยการให้ข้อมูลซ้ำๆ และอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาวนั้น เป็นเพราะนสพ.ประชาชาติธุรกิจ หยิบเอาข้อความในบทนำและข้อมูลเพียงบางช่วงบางตอนมาตีพิมพ์ อีกทั้งยังมีการเรียบเรียงถ้อยคำใหม่ จึงทำให้บทสรุปที่ออกมาผิดเพี้ยนไป

“ผลงานวิจัยที่ประชาชาติลงนั้น ผมไม่ได้เป็นคนให้ไปนะ คือ นักข่าวประชาชาติ เขามาขอเหมือนกัน แต่ผมบอกไปว่ายังให้ไม่ได้ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ผมส่งเข้าประกวดกับทางวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และได้รับรางวัลชมเชย จึงถือเป็นลิขสิทธิ์ของ วปอ.ผมจะให้ได้ก็ต่อเมื่อทาง วปอ.อนุญาตแล้ว ดังนั้น ก็ต้องไปขอกับทาง วปอ.ก่อน ซึ่งเท่าที่ทราบตอนลงในประชาชาติออนไลน์ เขาก็ไม่ได้ขอ วปอ.นะ เขาเพิ่งทำเรื่องขอไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง แล้วตอนนั้นนักข่าวประชาชาติ ก็มาขอสัมภาษณ์ผมเหมือนกัน แต่ผมไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะว่าต้องรอ วปอ.อนุญาตก่อน

เพราะฉะนั้น ยืนยันได้ว่า ข้อมูลเหล่านี้มันไม่ได้มาจากผม ตอนเขาลงเนี่ยผมก็ไม่รู้ว่าเขาเอาข้อมูลมาจากไหน ผมเพิ่งเชิญนักข่าวประชาชาติมาสัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลังจากที่เขาลงข่าวไปแล้ว ให้เขามาดูงานวิจัยเต็มๆ ของผม ผมเชื่อว่า ตอนที่เขาลงข่าวเขาก็น่าจะมีงานวิจัยฉบับเต็มของผมนะ แต่ไม่ได้ลงทั้งหมด คือ เขาลงไม่ครบ เขาอาจจะสรุปเอาเอง และมีการรีไรต์ข้อมูล ซึ่งอาจทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป คือ ประชาชาติลงข้อมูลไม่ครบ เลยทำให้คนอ่านตีความหมายคลาดเคลื่อน” วิทอง กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการนำเสนอข่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า

บทสรุปที่ตนได้เขียนเอาไว้ในหน้าแรกนั้น ประชาชาติกลับไม่ได้เอาไปเขียนลงในข่าว โดยบทสรุปที่ถือว่าเป็นเนื้อใหญ่ใจความที่สำคัญที่สุดของงานวิจัย ระบุว่า “จากผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างที่รับชมข่าวสารด้านการเมืองจากเอเอสทีวียังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ”

“คนละเรื่องไหมครับ?” วิทอง กล่าวพร้อมน้ำเสียงแสดงความสงสัย พร้อมกล่าวต่อว่า ผลวิจัยยังชี้ด้วยว่า ทัศนคติที่เกิดขึ้นหลังจากรับชมไม่ได้เป็นไปตาม “ทฤษฎีเข็มฉีดยา” เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างใช้วิจารณญาณในการรับชม รับสื่อจากหลายช่องทาง แต่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติที่เกิดขึ้นได้แก่ระดับการศึกษา

ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ วิทอง กล่าวยืนยันด้วยว่า ภาพรวมของผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เอเอสทีวี เป็นสื่อที่ดี และงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากมีการนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ เพื่อหาช่องทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอข่าวของเอเอสทีวีต่อไป

“ผมว่างานวิจัยชิ้นนี้ เอเอสทีวีได้ประโยชน์นะ เพราะผลวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า คุณทำหน้าที่ได้ดีมาก ส่วนใหญ่ดี แต่ข้อเสียก็ต้องมี เพราะไม่มีอะไรที่ไม่มีข้อเสีย แต่ว่าบวกมากกว่าลบ” วิทอง กล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - กิตติ บุปผชาติ

วิทอง ตัณฑกุลนินาท เจ้าของงานวิจัย

กราฟแสดงเหตุผลในการเลือกรับข่าวสารผ่าน ASTV จากผลงานวิจัยของ วิทอง ตัณฑกุลนินาท


ห้องส่งเอเอสทีวี
หนังสือ ‘ASTV ขบถสื่อโทรทัศน์ไทย’ เรียบเรียงโดย สุวิชชา เพียราษฎร์
ชาร์ตแสดงเหตุผลในการเลือกรับชมข่าวสารผ่านเอเอสทีวี ที่พันธมิตรฯจัดทำ และนำมาลงใน astv-club.hi5.com
กำลังโหลดความคิดเห็น