xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ” มือปราบสายล่อฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากข่าวคราวความเป็นไปของบ้านเมืองในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้เห็นได้ชัดว่า อำนาจในการบริหารบ้านเมืองของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้นถูกท้าทายจากข้าราชการประจำอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยข้าราชการประจำในสายความมั่นคง

ที่ปรากฏชัดล่าสุดคือ การงัดข้อต่อกรระหว่าง นายกรัฐมนตรี กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2552 ขณะที่ในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระบุว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอตัวเองว่าจะลาไปต่างประเทศ เพื่อให้คดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล นั้นไม่สะดุดตอ สามารถเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น ในช่วงค่ำวันเดียวกัน ผบ.ตร. กลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้คิดจะลาไปที่ใดทั้งสิ้น พร้อมขู่ว่าการที่ นายกฯ เข้ามาปรับเปลี่ยนโผตำรวจก็อาจจะทำให้ถูกฟ้องร้องได้

ในการคลี่คลายคดีลอบสังหารนายสนธิ ซึ่งมีความอุกอาจยิ่ง เพราะเกิดขึ้นย่านใจกลางมหานคร อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเกี่ยวพันไปยังกลุ่มมือสังหาร คนมีสีทั้งสีเขียวและสีกากี ภายใต้สถานการณ์ร้อนระอุดังกล่าวได้ปรากฏชื่อของนายตำรวจหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกล้าขัดคำสั่ง “ผู้ใหญ่ใน สตช.” ที่ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับคดีนี้ จนเป็นเหตุให้มีหนังสือสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่สุราษฎร์ธานี ทั้งที่เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการไขปริศนาหาตัว ผู้บงการฆ่านายสนธิ แต่ด้วยฝีมือและความเชี่ยวชาญในการแกะรอยคนร้ายจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารของมือปราบพระกาฬผู้นี้ทำให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เขากลับมาทำคดีอีกครั้ง

มือปราบผู้นี้มีนามว่า ... พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ

ตำรวจหนุ่มที่นายกรัฐมนตรีลงทุนงัดข้อกับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดึงตัวกลับมาทำคดีคนนี้เป็นใคร ? ทำไมวงการตำรวจจึงกล่าวขานกันว่าเขาคือ ‘มือปราบไฮเทค’ ? อะไรที่หล่อหลอมให้เขาดำรงตนเป็นตำรวจ “ตงฉิน” เฉกเช่นเดียวกับ “นายพลไม้บรรทัด” พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ หัวหน้าชุดคลี่คลายคดียิงนายสนธิ ?

พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.) แต่ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ และ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 นายตำรวจใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำคดีลอบสังหารนายสนธิ เห็นความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาประยุคใช้ในงานสืบสวนจึงได้ขอตัวมาช่วยทำคดีดังกล่าว

พ.ต.อ.วิวัฒน์ มีชื่อเล่นว่า “ตุ้ม” เป็นชาวกำแพงเพชรแต่กำเนิด หลังจากจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ก็ตัดสินใจเดินในเส้นทางผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 45 หลังจากจบออกออกมารับราชการได้ 5-6 ปี ก็ขออนุญาตนายไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ที่ประเทศอังกฤษ เพราะเห็นว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการบริหารหน่วยราชการ และในระหว่างนั้นเขายังเข้าอบรมในหลักสูตรสกอตแลนด์ยาร์ด ของอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานด้านการสืบสวนสอบสวนอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

หลังจากเรียนจบจากต่างประเทศเขาได้ทำงานด้านวิเทศน์สัมพันธ์ตำรวจต่างประเทศ มีหน้าที่ในการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การติดตามจับกุมคนร้าย จากนั้นก็ย้ายไปเป็นตำรวจทางหลวงอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะถูกดึงตัวมาประจำที่กองบังคับการปราบปราม ซึ่งเป็นช่วงที่นายตำรวจหนุ่มมีโอกาสได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความสามารถในการแกะรอยโทรศัพท์มือถือซึ่งนำไปสู่การคลี่คลายคดีและจับกุมคนร้ายได้ในที่สุด ซึ่งทักษะเฉพาะตัวดังกล่าวทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ให้ทำคดีสำคัญต่างๆ ตั้งแต่ครั้งที่ พล.ต.ต.วินัยยังเป็นผู้บังคับการกองปราบปราม กระทั่ง พ.ต.ต.วินัยย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ก็ยังขอตัวเขาไปช่วยราชการที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลด้วย และล่าสุด พ.ต.อ.วิวัฒน์ นั่งในตำแหน่งผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ประจำการอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

“จริงๆ แล้วงานปราบปรามเป็นงานที่ผมชอบที่สุดนะ คือในปี 2537 ตั้งแต่ยังเป็นรองสารวัตรอยู่ ผมได้ไปทำคดี 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์ ผมเป็นพนักงานสอบสวนที่ตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นการฆาตกรรม ไม่ใช่อุบัติเหตุรถชนอย่างที่สรุปไว้ตอนแรก เนื่องจากผมเจอกองเลือดบริเวณเบาะด้านหลังรถ คือพอยกเบาะรถขึ้นมาเราเห็นกองเลือดอยู่ ทั้งที่ในขณะพบศพผู้ตายทั้ง 2 คนนั่งอยู่ที่เบาะด้านหน้า ผมจึงยืนยันว่าผู้ตายน่าจะถูกทำร้ายก่อน จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายศพไปไว้ที่เบาะด้านหน้ารถเพื่ออำพลางคดี ตอนนั้นนายก็เลยเรียกให้ไปทำคดีนี้ที่กองปราบปราม ทำให้ผมประทับใจงานปราบปรามมาตั้งแต่นั้น ตอนหลังก็มีโอกาสได้มาทำงานด้านนี้เต็มตัว และได้นำความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในการคลี่คลายคดีด้วย” พ.ต.อ.วิวัฒน์ พูดถึงจุดเริ่มที่ทำให้เขาสนใจและทุ่มเทให้กับการทำงานด้านการปราบปราม

เทคโนโลยีกับคดีสืบสวน

สำหรับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ใช้ในการไขคดีต่างๆมานับครั้งไม่ถ้วนนั้น ผู้กำกับหนุ่มบอกว่า ทักษะดังกล่าวล้วนเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆ

“ คือผมสนใจด้านคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ผมเป็นสมาชิกชมรมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ คือด้วยเนื้องานเนี่ยผมมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารเพราะรูปแบบของการก่ออาชญากรรมในปัจจุบันมันเปลี่ยนไป จริงๆ แล้วความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ของผมก็อยู่แค่ระดับปานกลางเท่านั้นนะ แต่อยู่ที่ความสนใจและความตั้งใจมากกว่า ที่ผ่านมาผมไม่ได้ไปเรียนเพิ่มเติมอะไรเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรอก แต่ใช้วิธีศึกษาด้วยตัวเอง ผมว่าถ้าเราตั้งใจใครๆ ก็ทำได้ ก็ศึกษาจากตำราบ้าง จากลูกน้องบ้าง ไม่ใช่ว่าผมจะเก่ง บางทีลูกน้องเก่งกว่าผมอีก เราทำงานโดยรับฟังความเห็นจากคนอื่นด้วยแล้วเอามาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน เทคโนโลยีมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้าเราหมั่นศึกษาอยู่ตลอดเราก็จะตามทันคนร้าย เพราะคนร้ายเขาก็จะพัฒนาวิธีการอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน

ผมว่าแนวความคิดในการสืบสวนสอบสวนนั้นต้องใช้แนวทางของทั้งนักสืบรุ่นเก่าและนักสืบรุ่นใหม่มาผสมผสานกัน คือใช้ทั้งประสบการณ์ในการสืบสวนสอบสวนและความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ผมเองเติบโตมาโดยได้รับการถ่ายถอดความรู้จากทั้งนักสืบรุนเก่าและรุ่นใหม่ การนำสิ่งเหล่านี้มาประกอบกันทำให้เรามองภาพทั้งหมดออก ที่สำคัญตำรวจที่จะทำงานสืบสวนได้ดีนั้นจะต้องผ่านงานด้านการสอบสวนมาก่อน ซึ่งจะทำให้มองภาพของการสืบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างชัดเจน สามารถนำจิ๊กซอว์แต่ละตัวมาต่อกันได้ และนำไปสู่การจับกุมคนร้ายได้เร็วขึ้น” พ.ต.อ.วิวัฒน์ กล่าวถึงการคลี่คลายคดีที่ต้องอาศัยระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ไม่อยาก ‘จับแพะ’

มือปราบไฮเทคยังบอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่เขาระมัดระวังอย่างมากในการทำคดีต่างๆที่ผ่านมานั้นคือการหาข้อมูลและพยานหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการจับผิดตัว เพราะเขาไม่ต้องการสร้างผลงานด้วยการ‘จับแพะ’

“กระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลขึ้นสู่อัยการเพื่อส่งฟ้องศาล ให้ศาลพิพากษา ดังนั้นเราจะเชี่ยวชาญด้านการจับกุมอย่างเดียวไม่ได้ จับแล้วก็ต้องมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้ผู้ต้องหาได้รับการลงโทษด้วย การจะจับกุมผู้ต้องหาต้องมีความแม่นยำในเรื่องของพยานหลักฐาน โดยต้องใช้ทั้งหลักนิติวิทยาศาสตร์ ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย คือการจะจับผู้ต้องหา หลักฐานต้องมากกว่า 70% ขึ้นไป เพราะเราไม่ต้องการให้มีแพะเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม

หลายๆ คดีก็ต้องมองภาพเหมือนกับการต่อจิกซอว์ และถ้ามีจิ๊กซอว์สักตัวหนึ่งที่มันต่อกันไม่สนิทก็แสดงว่ามันไม่ใช่แล้ว เราต้องคิดกลับไปกลับมาจนสุดท้ายมันลงตัวก็แสดงว่าใช่ ก็เหมือนการเมือง การเมืองก็จะมีจิ๊กซอว์ มีเหตุการณ์บ้านเมือง มีความเป็นมาเป็นไป ถ้าเรามองออกเราก็จะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ เราต้องมองภาพทั้งหมดว่าใคร ทำอะไร ตรงไหน อย่างไร มันจะต่อเป็นจิ๊กซอว์ ว่า ... เอ ... คนนี้ทำอย่างนี้มันมีเหตุผลเพียงพอไหม ” พ.ต.ท.วิวัฒน์ กล่าวยิ้มๆ

“กูเกิล เอิร์ธ–มือถือ” กุญแจไขคดีฆ่าแหม่มอังกฤษ

กล่าวได้ว่านายตำรวจผู้นี้ได้สร้างผลงานการไขคดีสำคัญต่างๆไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีฆาตกรรมสองแม่ลูกตระกูล‘ศรีธนะขันธ์’ (คดีฆาตกรรมอำพลาง นางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขันธ์ ภรรยาและบุตรชายของเจ้าของร้านเพชรชื่อดัง ซึ่งสุดท้ายสามารถจับกุม พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ผู้รับผิดชอบคดดีเพชรซาอุ ซึ่งเป็นผู้จ้างวานฆ่าเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง และถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ) คดียิงถล่ม ส.ส.กอบกุล (นางกอบกุล นพอมรบดี อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามประกบยิงเสียชีวิตขณะขับรถกลับบ้าน เมื่อเดือน พ.ค.2549 ) คดีนางสายกิ่ง กาเบต์ (หญิงสาวที่ถูกแก๊งคาร์แคร์ลวงไปฆ่า เพื่อชิงรถยนต์และปลอมเอกสารเพื่อเบิกถอนเงินในบัญชีของผู้ตาย) คดีแฮกเกอร์ เจาะรหัสบัตรเติมเงิน (คดีที่ นายทวีทรัพย์ ลลิตศศิวิมล แฮกเกอร์ชาวไทย เจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆเพื่อแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ในบัตรเติมเงิน แล้วนำหมายเลขบัตรเติมเงินดังกล่าวมาขายผ่านอินเทอร์เนต)

และคดีหนึ่งซึ่งได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือ “คดีฆ่าข่มขืนแหม่มชาวอังกฤษ” ซึ่ง พ.ต.อ.วิวัฒน์ สามารถจับกุมคนร้ายได้โดยใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ที่สำคัญยังเป็นคดีที่สร้างความฮือฮาด้วยการนำเทคโนโลยีจีพีเอส (ระบบหาพิกัดของผู้ใช้โทรศัพท์) และ กูเกิล เอิร์ธ (การใช้ซอฟท์แวร์ดูภาพถ่ายทางอากาศพร้อมทั้งแผนที่ เส้นทาง และผังเมืองของพื้นที่ต่างๆ) มาใช้การคลี่คลายคดีอีกด้วย

“คดีนี้ผมไม่ได้ทำคนเดียวนะ หลายหน่วยช่วยกันทำ โดยเราสืบจากการนำโทรศัพท์ของผู้ตายและกูเกิล เอิร์ธมาใช้ในการหาค้นคำตอบหลายๆอย่าง ตั้งแต่จุดเกิดเหตุ สิ่งที่เกิดขึ้นขณะเกิดเหตุ ไปจนถึงขอบเขตพื้นที่ที่น่าจะพบตัวคนร้าย คือเดิมเพียงแต่พบผู้ตาย (น.ส.แคทเธอรีน อลิซาเบธ ฮอร์ตัน นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ) เสียชีวิตอยู่ริมชายหาดแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย แต่ยังไม่ทราบจุดเกิดเหตุ เนื่องจากจุดที่พบศพไม่น่าจะเป็นจุดที่ผู้ตายจะเข้าไปเองหรือนำศพมาทิ้งไว้เพราะไม่มีถนนที่จะเข้าไปได้ หลังจากทราบว่ามีผู้นำโทรศัพท์มือถือที่เก็บได้มาให้พนักงานของบัดดี้ผับ ริมหาดละไม ซึ่งห่างจากจุดที่พบศพ 7-8 กิโลเมตร และเป็นบริเวณที่มีคนพบเห็นผู้ตายก่อนที่จะเสียชีวิต เราจึงนำโทรศัพท์มาตรวจสอบโดยประสานกับบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทำให้ทราบว่าเป็นโทรศัพท์ของผู้ตาย เราจึงใช้ระบบจีพีเอสหาพิกัดที่ผู้ตายอยู่ขณะที่ใช้โทรศัพท์ครั้งสุดท้าย ประกอบกับใช้กูเกิล เอิร์ธในการดูขอบเขตพื้นที่ที่น่าจะเป็นจุดเกิดเหตุ

จากการตรวจสอบพบว่าผู้ตายใช้โทรศัพท์ครั้งสุดท้ายประมาณ 10 นาที และจากการสอบถามมีผู้ยืนยันว่าเห็นผู้ตายคุยโทรศัพท์และเดินออกไปริมชายหาด (หาดละไม) เราจึงลองเดินนับก้าวจากจุดที่มีคนเห็นผู้ตายไปประมาณ 10 นาที ปรากฏว่าเป็นจุดที่ตรงกับที่มีผู้พบโทรศัพท์ตกอยู่ จึงเชื่อว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดเกิดเหตุ แต่หลังจากเสียชีวิตน้ำทะเลได้พัดศพผู้ตายไปเกยตื้นที่ชายหาดอีกด้านนหนึ่ง และจากการสอบถามไปยังมารดาผู้ตายซึ่งเป็นคนที่คุยโทรศัพท์กับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ข้อมูลว่าขณะพูดคุยกันมารดาของผู้ตายได้ยินเสียงสุนัขเห่า และผู้ตายส่งเสียงร้องขึ้นก่อนที่สายจะหลุดไป เราจึงคาดว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นก่อนที่สายจะหลุด

จากการตรวจสอบทำให้ทราบว่าสุนัขบริเวณนั้นจะไม่เห่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่และไม่เห่าฝรั่งเพราะฝรั่งชอบให้อาหารพวกมัน ดังนั้นสุนัขคงไม่ได้เห่าผู้ตาย แต่น่าจะเห่าคนร้ายซึ่งน่าจะเป็นคนนอกพื้นที่ แต่เมื่อสอบถามดูแล้วกลับไม่มีใครเห็นว่ามีคนนอกพื้นที่เข้ามาในบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลานั้นเลย และเมื่อดูจากกูเกิล เอิร์ธก็พบว่าพื้นที่รอบจุดเกิดเหตุนั้นครึ่งหนึ่งเป็นชายหาดละไมและอีกครึ่งหนึ่งเป็นทะเล เราจึงเริ่มพุ่งเป้าไปที่เรือประมงซึ่งลอยลำอยู่กลางทะเลบริเวณนั้น ซึ่งหลังจากสอบปากคำลูกเรือที่ลอยลำอยู่ในช่วงเกิดเหตุเราก็ได้ตัวคนร้าย ซึ่งนอกจากบาดแผลตามร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเล็บข่วนแล้วยังพบว่าดีเอ็นเอของคนร้ายยังตรงกับดีเอ็นเอที่ได้จากเชื้ออสุจิที่พบในช่องคลอดผู้ตายด้วย เราจึงสามารถปิดคดีนี้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นคดีหนึ่งที่ผมและเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีทุกคนภาคภูมิใจ” พ.ต.อ.วิวัฒน์ ย้อนความถึงการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยคลี่คลายคดี

พิษเทคโนโลยี VoIP นำจับคนร้ายถึงเมืองจีน

อีกคดีหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของมือปราบผู้นี้ และยังเป็นคดีที่สร้างชื่อในระดับสากลก็คือคดีแก๊งต้มตุ๋นชาวจีน ซึ่งจัดเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท โดยหลังจากที่กองบังคับการปราบปรามได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่าถูกแก๊งมิจฉาชีพโทรศัพท์มาหลอกให้กดโอนเงินผ่านเอทีเอ็มโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น หลอกว่าได้รับรางวัลจากผู้ผลิตสินค้าต่างๆ สรรพากรให้คืนเงินภาษี ธนาคารแจ้งว่าบัตรเครดิตถูกมิจฉาชีพนำไปใช้ มือปราบไฮเทคอย่าง พ.ต.อ.วิวัฒน์ จึงได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ให้เข้าทำคดีนี้ทันที

“หลังจากได้รับมอบหมาย ผมก็ขอให้มีการประชุมร่วมระหว่างทีมสืบสวนกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง คือตอนนั้นธนาคารทุกธนาคารเดือดร้อนเพราะลูกค้าไปร้องเรียนว่ามีการหลอกให้โอนเงินผ่านธนาคาร แต่ทางธนาคารก็ช่วยอะไรไม่ได้ รวมถึงประชุมกับทรูคอร์เปอร์เรชั่นในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ใช้ระบบ VoIP หรือ Voice Over Internet Protocol (การโทรศัพท์ผ่านเครือข่าย หรือที่เรียกว่า VoIP นั้น เป็นระบบโทรศัพท์ที่ใช้สำหรับเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์) ซึ่งเป็นระบบที่แก๊งมิจฉาชีพดังกล่าวใช้ โดยเขาสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกำหนดหมายเลขต้นทางซึ่งจะปรากฏบนหน้าจอมือถือของเหยื่อ อย่างเช่นหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02 ซึ่งเป็นหมายเลขของเบอร์โทรศัพท์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งที่จริงๆแล้วผู้โทร.อยู่ในต่างประเทศ

เราก็ขอให้ทรูบีบสัญญาณลงมาให้เหลือช่องเดียว ทำให้เรารู้ว่าสัญญาณโทรศัพท์ที่โทร.มาหลอกให้ชาวบ้านโอนเงินนั้นมาจากฮ่องกง บางครั้งก็เป็นสัญญาณที่มาจากรัสเซียโดยส่งผ่านมาเก๊า ประเทศจีน จนกระทั่งได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าสัญญาณที่โทร.มานั้นมาจากจุดส่งเพียง 2 จุดท่านั้นคือ มณฑลเหอหนาน กับ ซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง คือแก๊งนี้ไปตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศเพื่อป้องกันการจับกุมของตำรวจไทย เนื่องจากไทยกับจีนไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีฉ้อโกง อีกทั้งการที่ตำรวจไทยจะเข้าไปติดตามคนร้ายก็เป็นเรื่องยากเพราะนายทุนใหญ่ของแก๊งนี้เป็นชาวจีน ไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเขาใช้วิธีจ้างคนไทยให้ไปเป็นพนักงานประจำคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองจีน แล้วโทร.มาหลอกคนไทย ดังนั้นพยานหลักฐานที่จะนำคนเหล่านี้มาดำเนินคดีก็น้อยมาก และที่สำคัญพวกนี้จะย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ตำรวจตามตัวได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีคำสั่งให้ผมและทีมงานเดินทางไปติดตามคดีที่ประเทศจีน เราไปอยู่ที่เหอหนาน ซัวเถา จูไห่ และกวางตุ้ง ใช้เวลาอยู่ถึง 2 เดือนจึงสามารถจับกุมแก๊งนี้ได้ คือครั้งแรกค่อนข้างยาก เพราะตำรวจจีนเขาคิดว่าไม่น่ามีแก๊งมิจฉาชีพแบบนี้ในบ้านเขา แต่หลังจากที่เราให้ข้อมูลไปและทำการสืบสวนร่วมกันเขาก็พบว่ามีจริง ตอนนั้นเราได้รับความร่วมมือจากผู้บัญชาการมณฑลกวางตุ้งและบริษัทมือถือของประเทศจีน เขาสามารถเช็คได้ว่าผู้ใช้โทรศัพท์เหล่านี้อยู่ตรงไหน แต่ตอนแรกคนร้ายไหวตัวทันจึงหนีไปได้ จนกระทั่งสุดท้ายเราไปจับได้ที่ซัวเถา ได้ผู้ต้องหาประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งมีทั้งคนจีน ไต้หวัน มาเลเซีย และคนไทย

คดีนี้ถือว่าเป็นการบุกเบิกความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในการขจัดเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และจากที่ได้พูดคุยกันทำให้ทราบว่าทีมของเราเป็นตำรวจต่างชาติประเทศเดียวที่เข้าไปจับกุมผู้กระทำความผิดชาวจีนถึงในประเทศของเขา อีกทั้งนับว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของตำรวจไทยที่เดินทางไปจับกุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ต่างประเทศด้วย คือแม้แต่ในยุโรปการที่ตำรวจประเทศหนึ่งจะเข้าไปจับกุมผู้ร้ายคดีอาชญากรรมข้ามชาติในอีกประเทศหนึ่งก็ยังไม่เคยมีนะ ส่วนใหญ่จะเป็นคดีฆาตกรรม” พ.ต.อ.วิวัฒน์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ยึดมั่นคำปฏิญาณ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บุคลิกอันอ่อนน้อมและค่อนข้างถ่อมตัวนั้น นายตำรวจผู้นี้กลับกล้าที่จะแข็งขืนกับคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม และ ยืนยันว่าจะยึดมั่นในความเป็นตำรวจตงฉิน ชนิด “ยอมหักไม่ยอมงอ” ที่ดำเนินมาตลอด 18 ปี ของชีวิตราชการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกบ่มเพาะมาจากครอบครัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต และ คุณปู่ “กลั่น คำชำนาญ” ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่กล่าวขานของข้าราชการในทำเนียบรัฐบาลในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต พ.ต.อ.วิวัฒน์ บอกว่าเสียงสะท้อนเหล่านี้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ทุกคนในครอบครัวยิ่งกว่าลาภยศหรือทรัพย์สินเงินทอง เขาจึงมุ่งมั่นที่ทำงานเพื่อประชาชนตามที่ได้ปฏิญาณตนต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ผมมองว่าเกิดมาชีวิตหนึ่ง ผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมมีหน้าที่ในการรักษากฎหมาย ดำรงอยู่ในความยุติธรรม เมื่ออยู่ในชั้นเรียนเราท่องอุดมคติของตำรวจมาตลอดคือ ‘เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อปวงชน ดำรงตนในความยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต’ วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันตำรวจก็จะมีพิธีปฏิญาณตนต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วผมจำได้ติดตาตอนเรียนจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจผมได้รับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับฟังพระราชโอวาทของพระองค์ท่านว่าให้เป็นตำรวจที่ดี อยู่ในหลักการและดำรงความยุติธรรม ซึ่งผมน้อมใส่เกล้าและนำมาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ส่วนที่บางคนมองว่าการทำคดีใหญ่มักมีความเสี่ยงสูงนั้นผมมองว่าก็เป็นเรื่องปกติ แต่ผมยึดหลักว่าผมทำตามหน้าที่ ผมไม่ยุ่งกับการเมือง ผมทำคดีไปตามข้อเท็จจริง บางเรื่องเราไม่รู้หรอกว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง และพอเราสืบสวนเสร็จก็มอบข้อมูลที่เรารวบรวมได้ให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการต่อ เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะไปรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหา สุดท้ายคดีจะเป็นอย่างไรผมก็ไม่รู้ ผมถือว่าผมทำตามหน้าที่เท่านั้น” พ.ต.อ.วิวัฒน์ กล่าวตบท้ายถึงปรัชญาในการทำงานด้วยแววตาอันมุ่งมั่น

* * * * * * * * * * * *

เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ
พ.ต.อ.วิวัฒน์ สมัยยังเป็นนักเรียนนายร้อย
การหาวิถีกระสุนในคดียิงถล่ม ส.ส.กอบกุล
เจ้าหน้าที่ตำรวจนำผู้ต้องหาในคดีฆ่า ส.ส.กอบกุล ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ
อีกอิริยาบถของผู้กำกับวิวิฒน์
พ.ต.อ.วิวัฒน์เมื่อครั้งบินด่วนลงไปทำคดีฆ่าแหม่มแคทเธอรีนที่สมุย
ทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจค้นสำนักงานที่แก๊งต้มตุ๋นชาวจีนใช้เป็นคอลเซ็นเตอร์
ผู้กำกับ‘ตุ้ม’ขณะรวบรวมหลักฐานหลังเข้าจับกุมคนร้ายในคดีแก๊งต้มตุ๋นชาวจีน
โฉมหน้าผู้ต้องหาชาวจีนที่คาดว่าน่าจะเป็นตัวการใหญ่ในแก๊งต้มตุ๋น
ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ
ผู้กำกับวิวัฒน์ ขณะเข้าจับกุม นายทวีทรัพย์ ลลิตศศิวิมล แฮกเกอร์ผู้ก่อคดีเจาะรหัสบัตรเติมเงิน

กำลังโหลดความคิดเห็น