หลายคนอาจรู้จัก ชื่อ ‘งามพรรณ เวชชาชีวะ’ ผ่านทางตัวอักษรที่ร้อยเรียงอยู่ในหนังสือเรื่อง “ความสุขของกะทิ” หนังสือซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2549 และถูกตีพิมพ์ซ้ำมาแล้ว 58 ครั้ง หรือกว่า 250,000 เล่ม ในขณะเดียวกัน เรื่องราวในหนังสือ ความสุขของกะทิก็ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่อให้ กะทิ ตา ยาย และพี่ทอง ออกมาโลดแล่นผ่านสายตาผู้ชมจากโลกของถ้อยคำสู่แผ่นฟิล์ม และออกฉายเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา
ในอีกแง่มุมหนึ่ง ชื่อของ “งามพรรณ” ก็ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเธอมีนามสกุลเดียวกับนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล นาม “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อีกทั้งยังเป็นพี่สาวแท้ๆ ของอภิสิทธิ์ ที่ปัจจุบันได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย เสียด้วย จากปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้หลายคนอยากรู้ถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่าง พี่สาว น้องชาย และ ยิ่งอยากทราบว่าเพราะอะไรที่ทำให้ พี่น้องคู่นี้สามารถก้าวยืนบนจุดสูงสุดของอาชีพได้อย่างเต็มภาคภูมิ
นายกฯ กับ ความสุขของกะทิ
งามพรรณ เล่าถึงสาเหตุที่นำภาพยนตร์เรื่องความสุขของกะทิมาฉายในช่วงนี้ก็เพราะว่าในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมจะตรงกับวันเด็ก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เหมาะสมกับเด็กๆ และที่ผ่านมาผู้คนก็มีความเครียดจากการบรรยากาศความขัดแย้งทางเมือง ประกอบกับในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาทุกคนจะลืมเรื่องที่ไม่ดีไปหมด ทางทีมงานจึงตั้งใจที่นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในช่วงนี้เพื่อให้ทุกคนรู้สึกคลายเครียดและเพลิดเพลินไปกับการชมภาพยนตร์ แต่ประเด็นที่ทำให้คนพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้กันมากก็เพราะในวันที่ฉายรอบสื่อมวลชน น้องชาย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) และหลานสาว (น.ส.ปราง เวชชาชีวะ) ได้เดินทางมามาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ซึ่งเธอคิดว่าสาเหตุที่น้องชายและหลานสาวเดินทางมาดูหนังเรื่องนี้ ก็เพราะว่าน้องชายเคยรับปากไว้ตั้งแต่ตอนเป็นฝ่ายค้านแล้วว่าจะมาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนหลานสาวก็เคยบอกไว้ว่า “หากความสุขของกะทิเป็นภาพยนตร์เมื่อไหร่จะมารอคอยชม”
นอกจากนี้เธอยังบอกด้วยว่า ก็ไม่รู้ว่าการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเองจะส่งผลดีต่อหนังหรือไม่ อีกทั้งยังรู้สึกเกรงใจคนสร้างหนัง เนื่องจากกลัวว่าหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชอบรัฐบาลและไม่ชอบนายกรัฐมนตรี จะพาลไม่มาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ไปด้วย
“ครอบครัวของเราจะคอยให้ความสนับสนุนกันอยู่แล้ว แม้ต่างคนต่างทำงานคนละอาชีพ แต่พอมาถึงวันที่เราต้องให้กำลังใจกัน เราก็จะให้กำลังใจกันเต็มที่ นี้ก็ยังพูดติดตลกกับคุณอภิสิทธิ์ก่อนมาอยู่เลยว่า อย่ามาเร็วนะเดี๋ยวคนไปสัมภาษณ์เธอจะไม่มาสัมภาษณ์ฉัน นี่มันเป็นคนละเรื่องกันนะ” งามพรรณเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 7 มกราคม ที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปชมภาพยนตร์เรื่องกะทิ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ความสำเร็จของ 3 พี่น้อง “เวชชาชีวะ”
เมื่อถามถึงคำว่า “ความสำเร็จ” งามพรรณ บอกว่า สิ่งที่นำพาทั้ง 3 คนพี่น้อง ตั้งแต่พี่สาวคนโต (ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ) ตนเอง และ น้องชายคนเล็ก มายืนอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพได้น่าจะมาจากการที่ได้เห็นทั้งพ่อ (ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และแม่ (ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ) ทุ่มเททำงานอย่างหนักโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ได้ทำในสิ่งที่รักและชอบ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงาน
“ลูกๆ ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นทั้งพ่อและแม่ทำให้อย่างมีความสุข ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ลูกๆ ได้ซึมซับวิธีคิดในการทำงานแบบนี้มา ส่วนเรื่องของการประสพความสำเร็จในชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่ตามมาทีหลังและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นด้วย และคำว่าการประสบความสำเร็จก็เป็นสิ่งที่สังคมมองมากกว่า
“คือคุณพ่อจะอบรมเลี้ยงดูมาจนมั่นใจแล้วว่าสิ่งที่พวกเราจะทำมันเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างแรกคุณพ่อบอกว่าถ้าไม่ชอบอย่าไปทำ เพราะเวลาที่ทำออกมาแล้ว มันจะไม่ค่อยดี เหมือนกับเราไม่ได้ทุ่มเทเต็มที่ แต่ถ้าเรามีความชอบและรักในสิ่งที่ทำเราก็จะทำเต็มที่และจะทำออกมาได้ดีผลก็ออกมาดี และเมื่อทำได้ดีแล้ว คำว่าประสบความสำเร็จมันก็อาจจะตามมา โดยคุณพ่อจะเป็นคนที่คอยสนับสนุนให้พวกเราทำในสิ่งที่อยากทำ จนพวกเราทั้ง 3 คนล้อคุณพ่อว่า คือผู้สนับสนุนอันดับหนึ่งอย่างเป็นทางการ” งามพรรณกล่าว และว่าพ่อจะคอยคุยให้กำลังใจและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกๆ อยากทำ โดยพ่อมีความเชื่อว่าลูกๆ ทุกคนจะต้องตัดสินใจทุกเรื่องด้วยตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ พี่น้องทั้ง 3 คนที่ถูกเลี้ยงดู-อุ้มชูมาโดย นพ.อรรถสิทธิ์-พญ.สดใส จึงได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำทั้งสิ้น อย่างน้องชายคนเล็ก อภิสิทธิ์ก็เคยบอกไว้ตั้งแต่ไหนแต่ไรว่าไม่อยากเป็นนายแพทย์แต่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี
“ผู้ใหญ่หลายคนในตอนนั้นจะมองว่าเด็กคนนี้มีความทะเยอทะยานสูง แต่เด็กชายอภิสิทธิ์ เมื่อตอนยังเป็นเด็กก็ยังยืนยันความตั้งใจด้วยการเขียนเรียงความส่งครูว่าเขามีความฝันว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีความเชื่อว่าการทำงานให้กับประเทศต้องทำผ่านรัฐสภา อย่างน้อยการได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีสิทธิในการร่างกฎหมายเพื่อพัฒนาประเทศ” งามพรรณกล่าวถึงน้องชาย
ด.ช.มาร์ค ไม่อยากไปเมืองนอก
พี่สาวนายกฯ เล่าถึง ที่มาที่ไปของการที่น้องชายไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมอีตัน ในประเทศอังกฤษด้วยว่า ถือเป็นความตั้งใจของผู้เป็นพ่อที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้กับลูก เนื่องจาก นพ.อรรถสิทธิ์คิดว่า การที่ได้ไปเรียนที่ต่างประเทศตั้งแต่เด็กๆ จะทำให้ได้ลูกเปรียบเรื่องภาษา ซึ่งการที่จะได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนอีตันนั้น ถือเป็นเรื่องยากมาก แต่น้องชายก็สามารถสอบเข้าไปเรียนต่อได้และที่ผ่านมา แม้อภิสิทธิ์จะไม่ชอบการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่เขาก็สามารถพิสูจน์ตัวเองเขาสามารถทำได้
“จำได้สมัยนั้น คุณพ่อจะซื้อเอนไซโคลพีเดีย (สารานุกรม) ให้ 1 ชุด เวลาได้มาก็จะได้มาเป็นตู้ที่เต็มไปด้วยหนังสือขอบทอง ซึ่งถือว่าเป็นของรักของพวกเรา และถ้าวันไหนมาร์คเค้าไม่อยากทำอะไร เขาจะบอกพ่อว่าเดี๋ยวจะเอาเอนไซโคลพีเดียไปเผา และถ้าพ่อพูดเรื่องไปเรียนเมืองนอก เขาจะบอกเลยว่าไม่ไปๆ และถ้าพ่อพูดเรื่องนี้อีก เขาก็ขู่ว่าจะเอาเอนไซโคลพีเดียไปเผาไฟจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ล้อกันถึงทุกวันนี้ไม่รู้เขาจะจำได้รึเปล่า แต่ก็เข้าใจเขาว่าตอนนั้นเขายังเป็นเด็กและอยากอยู่กับพ่อและแม่” พี่สาวนายกฯ เล่าถึงความหลังก่อนที่น้องชายจะไปเรียนยังต่างประเทศ ซึ่งเธอก็ยอมรับเลยว่าบิดาเป็นคนใจเด็ดมากที่ยอมส่งลูกไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนแม่ก็นอนร้องไห้ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่
งามพรรณ เล่าต่อว่าอาจจะด้วยความรู้สึกที่ต้องอยู่ไกลบ้านนานๆ ทำให้ น้องอภิสิทธิ์ ถึงกับลั่นวาจาไว้ตั้งแต่ก่อนแต่งงานว่าจะไม่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็กเป็นอันเด็ดขาด โดยให้เหตุผลว่ารู้และเข้าใจถึงความลำบากจากการที่ต้องไปเรียนต่างประเทศคนเดียวตั้งแต่ตอนเป็นเด็กว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเธอก็เข้าใจความรู้สึกนั้น เพราะถือเป็นเรื่องยากมากที่เด็กอายุ 11 ขวบ จะเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศคนเดียวและโดยส่วนตัวเธอก็รู้สึกสงสารน้องชายทุกครั้งที่เขาต้องบินกลับไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ
วัยเด็กของนายกฯ ในสายตาพี่สาว
ส่วนวิธีติดต่อกันน้องชายในตอนนั้นเธอเล่าว่า สมัยนั้นเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยเท่ากับสมัยนี้ โดยน้องชายจะเขียนจดหมายกลับมาเมืองไทยทุกสัปดาห์และเขาจะส่งจดหมายให้เธอกับพ่อคนละ 1 ฉบับ เนื่องจากทางโรงเรียนอีตันมีชั่วโมงเรียนที่ให้นักเรียนเขียนจดหมายกลับบ้านทุกสัปดาห์ แต่มีข้อแม้ว่าต้องนำจดหมายเหล่านั้นมาให้ครูตรวจด้วย ซึ่งวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้หน้ากระดาษเต็มไวๆ ก็คือน้องชายจะเขียนรายงานเพลงฮิตติดชาร์ตท็อปเท็นประจำสัปดาห์ที่เกาะอังกฤษทั้ง 10 เพลง แล้วตบแท้ประโยคสั้นๆ ว่า “หนาวมากเลยนะ” หรือ “ตอนนี้ตาเป็นสี่เหลี่ยมแล้ว” พร้อมกับวาดรูปมาให้ดู ซึ่งในตอนนั้นเธอคิดว่าน้องชายคงจะใส่แว่นสายตา แต่เมื่อไปถามผู้เป็นพ่อ พ่อกลับบอกว่าไม่ใช่ ที่เขาเขียนว่าตาเป็นสี่เหลี่ยมก็เพราะว่าน้องชายดูทีวีเยอะ พลันที่พูดจบประโยคเธอก็หัวเราะชุดใหญ่ เมื่อย้อนนึกถึงจดหมายจากโรงเรียนอีตันและอารมณ์ขันของน้องชายในครั้งนั้น
“ทุกครั้งที่เขากลับมาอยู่เมืองไทย เรา 2 คนพี่น้องก็จะสนิทกันมากเพราะอยู่ที่เมืองไทยเขาไม่ค่อยมีเพื่อน ซึ่งตอนที่เขาบินกลับไปเรียนต่อ บางครั้งตัวเองก็นอนร้องไห้คิดถึงและสงสารเค้าเพราะรู้ว่าเขาต้องไปลำบาก ซึ่งตรงนี้พ่อก็เข้าใจและอนุญาตให้เขากลับบ้านได้บ่อยๆ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปกลับ แต่พ่อก็ยังยืนยันที่จะให้เขากลับมา เนื่องจากคิดว่าไม่มีวิธีไหนที่จะเหมือนกับให้เขาได้อ่านภาษาไทย พูดภาษาไทยได้และได้รู้จักคนไทยได้ดีเท่ากับให้เขากลับมาเมืองไทย”
ส่วนวีรกรรมสมัยที่น้องชายเรียนอยู่ที่โรงเรียนอีตัน พี่สาวนายกฯ จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งน้องชายเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยแล้วเหลือคิ้วเพียงข้างเดียว จนทั้งครอบครัวก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเธอเองได้แอบกระซิบถามน้องชายว่าไปทำอะไรมา โดยน้องชายก็ให้เหตุผลของการที่คิ้วเหลือข้างเดียวว่าเป็นเพราะว่าเล่นกับเพื่อน แต่เล่นอีท่าไหนไม่รู้กลับมาเหลือคิ้วอยู่ข้างเดียว แต่สุดท้ายทั้งครอบครัวก็เข้าใจว่าสาเหตุที่คิ้วของนายกรัฐมนตรีหายไป คงเกิดจากการเล่นกับเพื่อนตามประสาเด็กผู้ชายจริงๆ
สำหรับกิจกรรมที่เธอจะทำร่วมกับน้องชายทุกครั้งที่เขากลับมาจากลอนดอน คือการฟังเพลงร่วมกัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นคนชอบฟังเพลงและทุกครั้งที่เขากลับมาเมืองไทยก็จะต้องหิ้วแผ่นเสียงและม้วนเทปกลับมาด้วย โดยเขาจะทำหน้าที่เป็นดีเจส่วนตัวของเธอ ซึ่งเธอจะเป็นผู้เลือกเพลงและน้องชายจะทำหน้าที่เปิดเพลง ส่วนกิจกรรมที่ครอบครัวจะทำร่วมกันระหว่างที่น้องชายกลับมาเมืองไทย คือการไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด โดยพ่อและแม่จะพา 3 คนพี่น้องเดินทางไปพักผ่อนยังบังกะโลส่วนตัวที่หัวหิน แต่ก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ 3-4 อาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากน้องชายต้องบินกลับไปเรียนต่อ
เมื่อน้องชายเป็นนายกฯ
เมื่ออภิสิทธิ์เรียนจบจากอังกฤษ และก้าวเดินเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองแทบจะทันที พี่สาว นายกฯ เจ้าของรางวัลซีไรต์ก็เล่าว่า เธอเป็นทั้งกำลังใจและกำลังกายให้กับน้องชายเสมอ โดยตอนที่น้องชายลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เธอแทบจะปิดสำนักพิมพ์เพื่อไปช่วยหาเสียง และพออภิสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เธอก็รู้สึกดีใจจนอยากจะร้องไห้ เพราะรู้ว่าอาชีพนี้เป็นสิ่งที่เขาอยากทำ และแม้หลายคนปรามาสไว้ว่าอภิสิทธิ์ จะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากในตอนนั้นอายุยังน้อยและถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ด้วยความเป็นพี่เป็นน้องและมีความผูกพันกันมานาน ทำให้เธอมั่นใจว่าน้องชายจะต้องทำได้อย่างแน่นอน
“ตอนเด็กๆ พวกเราพี่น้องจะโตกันมาเหมือนเพื่อน เพราะว่าตัวเองอายุห่างจากพี่สาวแค่ 1 ปี และห่างจากน้องชายแค่ปีกว่าๆ เพราะฉะนั้นตอนที่จำความได้ก็ไม่เคยรู้สึกว่าอยู่ดีๆ ก็มีน้องขึ้นมาได้ คือพอตัวเองโตขึ้นมาก็มีน้องแล้วและในความรู้สึกก็เหมือนกับว่าเรารู้จักเขามากเท่าที่เขารู้จักเรามากเหมือนกัน” พี่สาวนายกฯ เล่าถึงความหลังเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก
เมื่อถามถึงการที่น้องชายวัย 44 ปี ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองสูงที่สุดเท่าที่นักการเมืองคนหนึ่งจะเป็นได้ งามพรรณก็เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า บริเวณทั้งนอกบ้านและในบ้านที่เธอพักอาศัยมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวหายไปบ้าง แต่เธอก็เข้าใจในจุดนี้และพร้อมที่จะเสียสละ เพราะเข้าใจว่าความเสียสละเล็กๆ น้อยๆ ของเธอเป็นเพียงจุดนิดเดียว ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการเสียสละของน้องชาย
ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เธอก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย โดยะแม้ว่าจะมีคนส่วนมากรู้สึกยินดีกับการที่เธอได้เป็นพี่สาวนายกฯ แต่เธอกลับไม่ได้คิดว่าตัวเองพี่สาวนายกฯ ซึ่งตรงจุดนี้งามพรรณให้เหตุผลว่า เธอเป็นพี่สาวคนชื่ออภิสิทธิ์มาตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว และก็ทำใจยอมรับได้กับคำว่า “พี่สาวนายกฯ” แต่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นในแง่ความหรูหรา เพราะเข้าใจว่าสักพักสิ่งเหล่านี้ก็จะผ่านไป สำคัญที่ว่าสุดท้ายแล้วนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะฝากอะไรไว้ให้กับประเทศชาติบ้าง ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง
“มองว่าน้องชายทำงานการเมืองมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เป็น ส.ส. จนกระทั่งมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าฝ่ายค้าน ซึ่งคนก็บอกว่าโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีเหลืออีกแค่ก้าวเดียว แต่มันก็เป็นก้าวที่นานมากพอถึงจังหวะหนึ่งจะได้เป็นรัฐบาล มันก็ไม่ได้มาอย่างที่ทุกคนคิดว่าจะมา ซึ่งก็มีเสียงต่อต้านว่ายังไม่ใช่อย่างนั้นและก็เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะคิดแบบนั้นได้ แต่สำหรับคุณอภิสิทธิ์คำว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ตำแหน่งของเขา เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ขั้นตอนของการทำงาน” พี่สาวนายกฯ กล่าว
ฟันธง “มาร์ค” หล่อไม่เท่า “ไอติม”
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว งามพรรณเล่าว่าตามปกติครอบครัวมักนัดเจอกันในวันเสาร์และอาทิตย์ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เจอน้องชายเลย เข้าใจว่าเขาคงยุ่งมาก ส่วนการนัดรวมญาติของตระกูลเวชชาชีวะนั้น จะนัดเจอกันทุกเดือนเมษายนของทุกปี โดยเธอและน้องชายถือเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูลเวชาชาชีวะ และถือเป็นรุ่นเดียวกับ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนการพบเจอหน้ากันกับญาติพี่น้องก็จะเป็นการพูดคุยกันตามปกติ และไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรก ซึ่งลูกหลานตระกูลเวชชาชีวะนั้นก็มีมากจนต้องทำแผนภูมิตระกูล เพื่อที่จะได้เอาไว้ดูว่าใครเป็นใคร
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมต่างให้ความสนใจในครอบครัวเวชชาชีวะ คือการที่ “น้องไอติม” หรือ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายนายกฯ ซึ่งกำลังศึกษาต่อยังโรงเรียนมัธยมอีตัน ได้เดินทางไปดูงานกับน้าชายที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง 2 น้าหลานมีความคล้ายคลึงกันมากในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องหน้าตาและการศึกษา โดยจุดนี้ งามพรรณให้ความเห็นว่า การที่ทั้ง 2 คน เรียนที่โรงเรียนอีตันเหมือนกันก็เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมบางอย่างเพื่ออนาคต แต่ถ้าถามว่า “น้องมาร์ค” กับ “น้องไอติม” หน้าตาหล่อเหมือนกันไหม เธอตอบว่าไม่เหมือนเพราะตอนที่น้องชายอายุเท่าหลานชาย “หน้าจะกลมมากและไม่มีความหล่อเลย”
ข้อดี-ข้อเสียของ “น้องมาร์ค”
ในสายตาของพี่สาวซึ่งมองน้องชายที่กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในตอนนี้ งามพรรณคิดว่าข้อดีของ น้องชายคือเป็นคนที่มีความอดทนสูง
“การทำงานบนเวทีการเมือง แม้ชีวิตความเป็นส่วนตัวก็จะหายไปและในแวดวงการเมืองเขาจะแทบเรียกใครว่าเป็นเพื่อนไม่ได้เลย แต่เขาก็สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งในบางครั้งเวลาที่เขาผ่านรายการโทรทัศน์และการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็อดสงสัยได้ว่าทำไมเขาถึงได้ใจเย็นมาก แม้ในบางครั้งจะมีคำถามที่ต้องตอบโต้กันด้วยคำพูดแรงๆ แต่ก็เห็นเขานั่งยิ้มและหัวเราะได้ ขณะที่เราเองรู้สึกโมโหแทนเขา” งามพรรณกล่าว และว่าเมื่อเธอมีโอกาสได้ถามน้องชายว่าทำไมถึงใจเย็นขนาดนั้น เขาก็ให้เหตุผลว่าที่ทนได้เพราะสิ่งที่เป็นอยู่นั้นคือการทำงาน ซึ่งเขาคิดไว้อยู่แล้วว่าการทำงานจะต้องเจอแบบนี้
อย่างไรก็ดีแม้สื่อจะให้ฉายาน้องชายว่า “หล่อใหญ่” แต่พี่สาวนายกฯ กลับยืนยันว่าในสมัยที่น้องชายยังเป็นวัยรุ่นจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมาปรึกษาปัญหาเรื่องหัวใจเลยสักครั้ง และเรื่องของความเจ้าชู้ก็ไม่เคยมีให้เห็น เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นคนรักเดียวใจเดียวและรักครอบครัวมาก ซึ่งไม่ว่าน้องชายจะทำงานยุ่งแค่ไหน แต่ใน 24 ชั่วโมง ก็จะต้องหาเวลาว่างเพื่ออยู่กับลูกๆ และครอบครัวเสมอ
แฉน้องชาย “จอมขี้เหนียว”
ส่วนข้อเสียของนายกรัฐมนตรีนั้นเธอคิดว่า เขาเป็นคนขี้เหนียว ไม่ค่อยใช้เงินซื้อสิ่งของ โดยอาจเป็นเพราะติดนิสัยตั้งแต่ตอนอยู่โรงเรียนประจำเพราะการอยู่โรงเรียนประจำไม่ต้องใช้เงินสด
พี่สาวนายกฯ ยังเล่าต่ออีกว่า เมื่อน้องชายลงสมัครเลือกตั้งใหม่ๆ เธอเองต้องพาเขาไปตัดเสื้อและกางเกง จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัวไปนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ยอมซื้อของเองและยังยืนยันที่จะใช้โทรศัพท์รุ่นที่โบราณมากจนเวลานำไปซ่อมไม่มีอะไหล่เปลี่ยน เดือดร้อนไปถึงภรรยา (ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ) ที่ทนไม่ไหวต้องพาไปซื้อเครื่องใหม่ เพราะน้องชายจะไม่ซื้อของอะไรเลยถ้าไม่มีคนซื้อให้
“ทุกคนสบายใจได้เลย เพราะการที่คุณอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะไม่มีปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะเขาไม่ชอบใช้เงิน ซึ่งครั้งล่าสุดที่เจอกันเห็นเขาไปกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ก็ยังรู้สึกขำเพราะไม่คิดว่าน้องชายจะใช้บัตรเอทีเอ็มเป็น ก็ยังถามเขาอยู่เลยว่าเดี๋ยวนี้ใช้บัตรเอทีเอ็มเป็นแล้วรึ เพราะปกติทางภรรยาของคุณมาร์คจะเตรียมค่าใช้จ่ายประจำวันไว้ให้” และพี่สาวนายกฯ หัวเราะ และ เล่าแบบติดตลกถึงความมัธยัสถ์ของน้องชาย
คำว่า “ห่วงใย” จากพี่ถึงน้อง
หลังจากที่ อภิสิทธิ์ได้เข้าไปบริหารประเทศไทยอย่างเต็มตัวในฐานะนายกรัฐมนตรี งามพรรณก็ได้เฝ้ายืนอยู่ห่างๆ และในขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นห่วงน้องชาย เช่นเดียวกับที่หลายๆ คนเป็นห่วง พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) เดินทางไปปิดล้อมรัฐสภา ในวันที่ 29-30 ธ.ค. 2551 เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบาย โดยในเหตุการณ์ดังกล่าว เธอเองก็รู้สึกเป็นห่วงน้องชายจนต้องโทรศัพท์เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยให้นายกรัฐมนตรี เพราะเกรงว่านายกฯ จะตัดสินใจเดินทางเข้าไปในรัฐสภา แต่เมื่อทราบว่าคณะรัฐมนตรีไม่ได้เดินทางเข้าไปในรัฐสภาก็รู้สึกโล่งใจ
“มีคนเป็นห่วงคุณมาร์คเยอะ ไม่ใช่มีแค่คุณยายเนียมคนเดียวที่ถอดแหวนให้เขา บางคนก็เอาพระมาให้ บางคนก็ถอดสร้อยที่แขวนพระมาให้เขาใส่และบอกว่าต้องใส่เดี๋ยวนี้เลย แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คุณมาร์คจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นทางที่เขาเลือกเอง” พี่สาวนายกฯ เล่าด้วยสีหน้ากังวลเล็กน้อยก่อนจะส่งยิ้มจางๆ ด้วยความเชื่อมั่นที่มีต่อน้องชาย
“งามพรรณ” มองการเมือง
เมื่อถามถึงปัญหาการเมือง นักเขียนรางวัลซีไรต์กล่าวว่า ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้คือการที่คนไทยไม่สามารถยอมรับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งในความเป็นจริงแม้จะมีความคิดต่างกัน แต่ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ และถ้าภาคเศรษฐกิจอยากให้แนวโน้มของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็ควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานก่อน เพราะตอนนี้ปัญหาพิษเศรษฐกิจตกต่ำกำลังเล่นคนทั้งโลกอยู่ และรัฐบาลก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที
“จริงๆ แล้ว ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ตนเชื่อว่าสังคมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือที่เรารียกกันว่าสังคมในอุดมคติ คือทุกคนต้องรู้จักเสียสละ รู้จักให้ คือไม่ต้องคิดว่าเพื่อตัวเอง แต่คิดว่าทำเพื่อลูกเพื่อหลานและเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต”
ในตอนท้าย งามพรรณกล่าวถึงความภูมิใจที่มีในตัวน้องชาย โดยเธอกล่าวปนกับรอยยิ้มว่า
“รู้สึกภูมิใจในตัวน้องชายคนนี้ก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียอีก เพราะไม่ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งอะไร ก็เชื่อมั่นว่าเขาทำเพื่อประเทศชาติ และคนไทยก็สามารถอุ่นใจได้ ที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เพราะไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขาจะได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และตัวเขาเองก็ก้าวตามจังหวะและเตรียมความพร้อมในการลงเล่นการเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งนั่นก็บอกได้ว่าความมุ่งมั่นและตั้งใจของนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้เป็นอย่างดี”