xs
xsm
sm
md
lg

เตือนความทรงจำ ครบ 1 ปี หัวโจกนปก. นำ 'ม็อบถ่อย' บุกบ้านป๋า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หัวโจกนปก. ที่เป็นแกนนำในการก่อเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550
ผู้จัดการออนไลน์ – ย้อนรอย ครบรอบ 1 ปี ม็อบ นปก.บุกก่อจลาจลหน้าบ้านประธานองคมนตรี ทำร้ายตำรวจบาดเจ็บมากกว่า 200 นาย ทำลายสาธารณะสมบัติเสียหายจำนวนมาก ทว่าหัวโจกกลับได้ดีกันทุกคน ขณะที่คดียังคงถูก “ดอง” อยู่ในชั้นอัยการเป็นเวลากว่า 10 เดือนแล้ว

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2551 อาจไม่นับได้ว่าเป็นวันสำคัญอะไร ทว่าจะมีใครจำได้หรือไม่ว่า หนึ่งปีเต็มก่อนหน้านั้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ได้มีกลุ่มอันธพาลที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก่อเหตุจลาจลขึ้นบริเวณหน้าบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ารชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.ที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 จนนำไปสู่ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการชุมนุมที่ได้สร้างพฤติการณ์เพื่อหวังยั่วยุเจ้าหน้าที่ให้ใช้ความรุนแรง โดยมีภาพข่าวเป็นหลักฐานที่ยืนยันการกระทำได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่มม็อบ นปก.ได้เปิดฉากใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ตามโจทย์ที่ได้วางไว้ หลังจากเคลื่อนพลจากสนามหลวง สู่บ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อขับไล่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

เหตุการณ์และพฤติกรรมที่นำไปสู่ความรุนแรง เริ่มจาก....

11.49 น.เริ่มมีการตั้งเวทีปราศรัย ที่สนามหลวง ผู้ฟังประมาณ 500 คน

13.43 น.กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มตั้งขบวนบริเวณ ถ.ราชดำเนินนอก ฝั่งศาลฎีกา ผู้ชุมนุมประมาณ 6,000 คน โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ยุทธวิธีดาวกระจายไปรวมตามสถานที่ต่างๆ บริเวณโดยรอบแยกสี่เสาเทเวศร์อีกส่วนหนึ่ง

13.58 น.เริ่มเดินจากสนามหลวงโดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10,000 คน

14.48 น.หัวขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมถึงบริเวณแนวสกัดกั้น แยกมัฆวาน ผู้ชุมนุมรวมประมาณ 15,000 คนใช้รถเครื่องขยายเสียงและกำลังผู้ชนผลักดันฝ่าแนวสกัดกั้นของตำรวจ ทั้งยังมีการใช้แผงเหล็กซึ่งตั้งวางอยู่ขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาประมาณ 4 นาที จึงสามารถผ่านแนวสกัดกั้นไปได้

14.56 น.หัวขบวนถึงแนวสกัดกั้น แยกสวนมิสกวัน กลุ่มผู้ชุมนุมใช้วิธีการเดิม ใช้เวลาประมาณ 6 นาที จึงสามารถผ่านแนวสกัดกั้นไปได้

15.15 น.หัวขบวนถึงแนวสกัดกั้น แยกพล. 1 รอ.ใช้วิธีการเดิม และใช้เวลาประมาณ 2 นาที จึงสามารถผ่านแนวสกัดกั้นไปได้

15.52 น.หัวขบวนถึงแยกสี่เสาเทเวศร์ เริ่มมีการปราศรัยโดยกลุ่มผู้ชุมนุมเหลือประมาณ 10,000 คน

20.58 น.กลุ่มผู้ชุมนุมเหลือประมาณ 1,000 คน กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มปฏิบัติการตามแผนการสลายการชุมนุม ครั้งที่ 1 และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีก รวม 3 ครั้ง ปรากฏว่ายังไม่สำเร็จ จนกระทั่งในครั้งที่ 4 เวลาประมาณ 23.10 น. ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาราชการแทน ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำ ตร.ปฏิบัติหน้าที่ รอง ผบ.ตร. ฝ่ายดูแลด้านความมั่นคง ได้เดินทางมาอำนวยการและควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเองทำให้สามารถสลายกลุ่มผู้ชุมนุมได้สำเร็จ โดยนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือกลับไปจัดกิจกรรมต่อที่สนามหลวง

00.29 น.กลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือถึงสนามหลวง โดยมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 2,000 คน และแกนนำบางส่วน ใช้เวลาปราศรัยไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 05.00 น. จึงยุติการปราศรัย กลุ่มผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ และในระหว่างการปราศรัย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศว่ามีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 41 คน โดย 39 คน ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ส่วนอีก 2 คน ยังอยู่ที่โรงพยาบาล

ต่อมาเมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 23 ก.ค.2550 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์และสรุปผลการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา โดยมีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาราชการแทนผบ.ตร.เป็นประธานการประชุม โดยสรุปความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์การชุมนุม เบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บประมาณ 204 นาย โดยส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บในช่วงระหว่างเวลาประมาณ 20.00 น.-23.10 น.ที่บริเวณแยกสี่เสาเทเวศร์ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้ก้อนหิน ขวดแก้ว แผงเหล็ก ก้านร่ม และไม้ ปาเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดถึงมีการใช้รถยนต์ขับพุ่งชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บและมีทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

นอกจากนี้ในส่วนของคดี ขณะนี้ พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี รองผบช.น.และ พล.ต.ต.จุติ ธรรมมโนวานิช รองผบช.น.ได้ประชุมทีมพนักงานสอบสวนและเร่งรัดสอบปากคำพยานแวดล้อม รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบการขออนุมัติศาลออกหมายจับแกนนำ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

หนึ่งปีผ่านไปแกนนำยังลอยนวล อัยการดองคดี

หลังเหตุการณ์ ในวันที่ 26 ก.ค. ได้มีการจับกุม แกนนำ นปก.จำนวน 9 คน ประกอบด้วย 1.นายวีระ มุกสิกพงศ์ 2.นายจตุพร พรหมพันธ์ 3.นายจักรภพ เพ็ญแข 4.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 5.นพ.เหวง โตจิราการ 6.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย 7.พ.อ.อภิวัน วิริยะชัย 8.นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และ 9.นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ภายหลังจากที่กลุ่ม 9 แกนนำ นปก. เดินทางมายังศาลอาญาเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวน ตามที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาสั่งการหรือยั่วยุปลุกระดมให้กลุ่มบุคคลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 9 คน พร้อมสอบคำให้การ โดยผู้ต้องหาทั้ง 9 ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาพร้อมยื่นคำร้องขออนุญาตฝากขังต่อศาลทันที

ทว่า การฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 9 คนก็ดำเนินไปได้ไม่นาน ศาลก็ทยอยอนุญาตให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมดออกมา ส่วนการดำเนินคดีนั้นก็มีการดำเนินการไปตามกระบวนการ โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 คดีได้ขึ้นสู่ชั้นอัยการแล้ว ทว่าเมื่อพรรคพลังประชาชนในระบอบทักษิณ กลับขึ้นมาเรืองอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 คดีก็ยังคงค้างอยู่ที่อัยการ

ขณะที่ผู้ต้องหาเกือบทุกคนกลับได้รับบำเหน็จจากการจลาจลครั้งดังกล่าว เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจตุพร พรหมพันธ์ได้เป็น ส.ส.ระบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน พ.อ.อภิวัน วิริยะชัย ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ส่วนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย แม้หลังเหตุการณ์ 22 ก.ค. 2550 จะถูก สนช.ถอดถอนจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ล่าสุดรัฐบาลนอมินีของนายสมัคร สุนทรเวชก็ปูนบำเหน็จให้นายจรัลดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน “เอสเอ็มแอล” แทน

ล่าสุดผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวจำนวน 4 คน ประกอบไปด้วย นายวีระ-ณัฐวุฒิ-จตุพร-จักรภพ ได้กลับมารวมตัวกันเพื่อจัดรายการโทรทัศน์ในนาม “พีทีวี” อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2551 โดยในวันนั้นทั้งหมดกล่าวยืนยันว่าคดีบุกบ้านประธานองคมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 นั้นได้พ้นมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปอยู่ในชั้นอัยการเรียบร้อยแล้ว

ถามว่า ณ วันนี้ในวันที่เหตุการณ์ผ่านมาครบหนึ่งปีเต็ม ส่วนคดีก็ถึงมืออัยการนับเป็นเวลากว่า 10 เดือนแล้ว พวกท่านทำอะไรกันอยู่? ความยุติธรรมของบ้านนี้เมืองนี้อยู่ที่ไหน?

ชมวีดิโอคลิปเหตุการณ์วันที่ 22 ก.ค. 2550 จาก ASTV



ประมวลเหตุการณ์"ไข่แม้วป่วนบ้านสี่เสา"


           ประมวลเหตุการณ์ ชุดที่ 2 (56K) |(256K)

           “ซากความเสียหายฝีมือม็อบ”(56K) |(256K)

           "ไข่แม้ว"ยั่วยุปลุกม็อบประทะเจ้าหน้าที่ (56K) |(256K)

           “นพรุจ”ซิ่งรถ!ชนตำรวจ (56K) |(256K)
นายณัฐวุฒิ และ นายจตุพร ในวันที่ 22 ก.ค. 2550 ขณะที่บัญชาการม็อบถ่อยบุกบ้านประธานองคมนตรี
นายนพรุจ ที่ขับรถพุ่งเข้าชนตำรวจจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
นปก.โยนรั้วใส่ตำรวจที่เข้าไปตั้งหลักในสโมสร ทบ.
ทุบกระจกรถตำรวจ

ทำลายกระจกร้านสโมสรแม่บ้าน ทบ. จนแตกละเอียด
ความเถื่อนของม็อบที่ขว้างปาก้อนอิฐก้อนหินที่แงะออกมาจากทางเท้าริมถนน
จสต.ประเสริฐ แท่นกระโทกได้รับบาดเจ็บดั้งจมูกหักจากเหตุการณ์ดังกล่าวรับค่าทำขวัญ จาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ในขณะนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น