ในยุคที่น้ำมันและแก๊สมีราคาสูงขึ้นจนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้าแล้ว ขณะที่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ชุมชน/หมู่บ้านต่างๆ ต้องปรับตัวในการดำรงชีวิตกันในยามนี้ แต่ที่ชุมชนบ้านด้าย แดนเหนือสุดของสยาม กลับมีความอบอุ่นในการทำมาหากิน โดยสามารถผลิตแก๊สชีวภาพแล้วแบ่งกันใช้ภายในชุมชน
ผลิตแก๊สชีวภาพSML: นำขี้หมูหมักแก๊สหุงข้าว
โครงการ SML ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้แต่ละชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจภายในชุมชนส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่ง ชุมชนบ้านด้าย จ.เชียงรายได้ทำสำเร็จแล้วในขณะนี้ เป็นชุมชนตัวอย่างที่สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาผ่านกรรมวิธีตามธรรมชาติ จนพัฒนาไปสู่แก๊สชีวภาพของชุมชน ชาวบ้านด้ายมีแก๊สสำหรับหุงหาอาหาร และรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพสร้างรายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
แก๊สชีวภาพ ของชาวบ้านด้าย จ.เชียงราย ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเลี้ยงหมู เพราะแก๊สที่จะนำมาใช้ มาจากการนำมูลของหมูมาเทลงในบ่อพักเพื่อทำการหมัก โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มมีแก๊ส และบริเวณบ่อพักมูลหมูก็จะมีการเชื่อมต่อท่อพีวีซีเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อแก๊สไปยังบ้านแต่ละหลังคาเรือนได้ใช้ในการหุงหาอาหาร ซึ่งสามารถช่วยให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อแก๊สหุงต้มมาใช้ในแต่ละเดือนได้เป็นจำนวนมาก
ลดรายจ่าย –มีรายได้เสริม-เพิ่มอบอุ่นในชุมชน
จากการที่ชุมชนบ้านด้ายนำเงินของโครงการSMLมาทำแก๊วชีวภาพ ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นมาทันที โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของชาวบ้านในชุมชนที่เคยได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการซื้อแก๊สมาหุงข้าวทำอาหาร จากที่เคยต้องเสียค่าแก๊สเดือนละกว่า 300 บาท พอมีแก๊สชีวภาพในชุมชนชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายแก๊สเพียงเดือนละ 50 บาทต่อหลังคาเรือนเท่านั้น จากกว่าร้อยหลังคาเรือน ตอนนี้ชาวบ้านด้ายก็มีแก๊สชีวภาพใช้ได้แล้วมากถึง 60 หลังคาเรือนแล้ว
ฉลอง รินนายรักษ์ ประธานโครงการแก๊สชีวภาพ SML ได้กล่าวด้วยว่า “แก๊สชีวภาพ SML นี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านด้ายในการช่วยลดรายจ่ายได้มากเลยทีเดียวครับ เพราะนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ชาวบ้านยังสามารถรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพเพื่อมีรายได้เสริมหลังจากการทำนา และที่สำคัญยังสามารถสร้างความสามัคคีให้กับทุกคนในชุมชน ในการช่วยลดปัญหาขัดแย้งระหว่างเจ้าของโรงหมูและชาวบ้านจากปัญหาที่เกิดจากกลิ่นได้อย่างสิ้นเชิงด้วยครับ เพราะนอกจากเจ้าของโรงหมูจะสามารถเป็นอีกแรงสำคัญในการช่วยชาวบ้านแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านเกิดทัศนคติที่ดีกับโรงเลี้ยงหมูอีกด้วย และในอนาคตผมอยากให้ชาวชุมชนบ้านด้ายเสียเงินค่าแก๊สแค่วันละบาทให้ได้ครับ”
แปรรูปไข่เค็มรายได้งาม : ผลิตผลแก๊สชีวภาพSML
มาที่ผลิตผลหลักที่แก๊สชีวภาพเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต นั่นก็คือ “ไข่เค็ม” ถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อของชาวบ้านด้าย จ.เชียงราย ซึ่งชาวบ้านนิยมเลี้ยงเป็ดกันมากทำให้หาวัตถุดิบได้ง่ายในชุมชนบ้านด้าย โดยมี นางตุมมา ทายะนา ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปอาหาร ที่จะมาบอกเล่าถึงกรรมวิธีในการทำไข่เค็ม และประโยชน์ที่ได้จากแก๊สชีวภาพ
“ในการทำไข่เค็มแก๊สถือเป็นส่วนสำคัญในการนึ่งไข่ แต่พอมีแก๊สชีวภาพเข้ามาก็สามารถช่วยลดรายจ่ายให้กับพวกเราได้มาก จากที่เมื่อก่อนต้องเสียเงินซื้อแก๊สถังละ 320 บาท ใช้ได้แค่ 4 วัน แต่พอมีแก๊สชีวภาพก็จ่ายเพียงเดือนละ 50 บาททำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงได้มากเลยค่ะ”
มาที่กรรมวิธีในการทำไข่เค็มให้อร่อยของชาวบ้านด้าย โดยเริ่มจากหาซื้อไข่เป็ดจากชาวบ้านในราคาใบละ 2.50 บาท ซึ่งมีรสชาติอร่อยเพราะเราเลี้ยงแบบธรรมชาติ แล้วก็นำไข่เป็ดที่ได้มาล้างให้สะอาด ต่อด้วยการนำดินจอมปลวกมาทุบให้ละเอียดแล้วผสมกับเกลือ ในอัตราส่วน 2 : 1 (ดิน 2 ส่วนผสมเกลือ 1 ส่วน) แล้วนำน้ำใส่เพื่อให้เหนียวพอประมาณ แล้วนำไข่ที่ล้างไว้อย่างสะอาดลงไปชุบกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ แล้วนำมาคลุกต่อด้วยขี้เถ้าและแกลบดำ
ต่อด้วยการนำไข่ที่ผ่านกระบวนการแล้วมาเก็บไว้ในภาชนะปิดฝาเพื่อกันไม่ให้แห้ง แล้วรอเวลาให้กลายเป็นไข่เค็ม สำหรับคนต้องการไข่ยำ ก็เก็บไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนคนต้องการไข่เค็มก็เก็บไว้ประมาณ 20 วัน แต่ถ้ายังเค็มไม่พอก็ยังไม่ต่อล้างที่เคลือบไว้ออกก็จะเค็มขึ้นเรื่อย ๆ พอเค็มได้ที่แล้วก็นำไข่มาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งแล้วมาถึงกระบวนการสุดท้าย คือการนึ่ง โดยใช้ไฟอ่อน จากแก๊สชีวภาพประมาณ 20 นาทีก็จะสุก และนำมาจำหน่ายได้
“กลุ่มไข่เค็มของชุมชนบ้านด้ายนั้น ก็จะรวมกลุ่มกันวันละ 3 ชั่วโมง ประมาณ 4-5 คน ก็สามารถทำไข่เค็มได้วันละ 1,200 ฟอง เดือนนึงก็จะสามารถทำไข่เค็มได้ประมาณ 30,000 ฟอง และเมื่อทำเสร็จแล้วก็จะนำมาขายให้ชาวบ้านในราคาย่อมเยาว์ และก็จะมีแม่ค้าจากจังหวัดใกล้เคียงมารับไปขายด้วย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มไข่เค็มได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวค่ะ” นางตุมมากล่าวอย่างภูมิใจ
ในปี 2551 นี้ ชาวบ้านในชุมชนบ้านด้ายได้ร่วมกันกว่า100คนเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการและทำประชาคมเพื่อเสนอโครงการ “แก๊สชีวภาพSML” เพื่อนำเงินมาต่อยอดขยายให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน และกระจายสู่ชุมชนโดยรอบอีกด้วย นับเป็นชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอีกชุมชนหนึ่ง