สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับเครือข่าย 32 องค์กร ยื่นหนังสือสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันการอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี หนุนสังคมไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ หลังรัฐบาลไฟเขียวประกาศบูรณาการคุณภาพการศึกษาทุกระดับชั้น พร้อมเปิดตัวโปสเตอร์รณรงค์วันหนังสือเด็กแห่งชาติ และวันหนังสือเด็กนานาชาติ ฝีมือศิลปินแห่งชาติ “อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต” จำนวน 10, 000 แผ่นสำหรับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นโรงเรียนปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน
วันนี้ (21 เมษายน 2551) นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (ส.พ.จ.ท.) เปิดเผยว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และตัวแทนคณะทำงานเครือข่าย 32 องค์กร ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเอกสารประกอบการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) ระเบียบวาระแห่งชาติ : การอ่านหนังสือ เพื่อให้พิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดให้การอ่านหนังสือเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านของชาติ เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องแบบองค์รวม ที่จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง
โดยสาระสำคัญของเอกสารประกอบการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) ระเบียบวาระแห่งชาติ : การอ่านหนังสือนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือจนเกิดเป็นวัฒนธรรมการอ่านหนังสือในสังคมไทย โดยที่ผ่านมาจะพบว่า ประเทศไทยยังมีการพัฒนาการด้านการอ่านที่ล่าช้า แม้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีการดำเนินงานในการสนับสนุนอยู่ไม่น้อย แต่ยังไม่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้ตามเป้าหมาย เพราะยังมีอุปสรรค และขาดปัจจัยสนับสนุนหลายประการ รวมถึงการกำหนดนโยบายเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงาน
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้แถลงนโยบาย 8 ประการ ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยข้อ 2.1.1 นั้นได้กำหนดนโยบายให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนไทย อย่างมีบูรณาการและสอดคล้องกันตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา และสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการสนับสนุนให้การอ่านหนังสือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติตามแนวนโยบายดังกล่าว
ส่งผลให้คณะทำงานเครือข่าย 32 องค์กร ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น ต่างตระหนักถึงแนวนโยบายของรัฐบาล และพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือในการดำเนินการให้การอ่านหนังสือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ
นางริสรวล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะทำงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะทำงานเครือข่าย 32 องค์กรได้ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์การอ่าน ไว้ 3 แนวทาง ประกอบไปด้วย ยุทธศาสตร์การกระจายหนังสือให้เข้าถึงเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านในครอบครัว ชุมชน ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และครูได้มีหนังสือที่เหมาะสมอย่างอย่างสม่ำเสมอ
ยุทธศาสตร์ส่งเสริมหนังสือที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม การสนับสนุนให้ผลิตหนังสือดี มีคุณภาพ ในราคาที่ถูก รวมไปถึงการส่งเสริมนักเขียน นักวาดภาพประกอบ การคัดสรรหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน และยุทธศาสตร์ปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อที่เป็นภัยและเป็นอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการควบคุมหนังสือและสื่อที่เป็นภัยต่อเด็ก เยาวชน และกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสื่อมีจรรยาบรรณและระมัดระวังในการเผยแพร่มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาคณะทำงานเครือข่าย 32 องค์กร มีการจัดทำโครงการ กิจกรรมเพื่อส่งเสริมตามยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องตลอดมา และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังนั้นการที่รัฐบาทกำหนดให้การอ่านหนังสือเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ ออกมาจะช่วยทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน และนำพาไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ตามมา
นางริสรวล ยังกล่าวอีกว่าในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทุกปี กำหนดให้เป็น “วันหนังสือเด็กแห่งชาติ” และเป็นวันหนังสือเด็กสากลนั้นในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประเทศอุปถัมภ์ในการจัดทำวันหนังสือเด็กนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ในประเทศต่างๆจำนวนกว่า 70 ประเทศ ที่เป็นองค์กรสมาชิก IBBY (International Board on Book for Young People) และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสนันสนุบให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ตลอดจนครูตระหนักถึงการส่งเสริมการอ่าน