“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ย้อน “บิ๊กบัง” พูดไม่รับผิดชอบ กล่าวหาพันธมิตรฯ อีรุงตุงนัง แถมยังหันท่องคาถาให้อภัย ล้อเล่นต่อรองค่าตัวกับ “แม้ว” วาจาเชื่อถือไม่ได้ คาดอาจเพราะฮอร์โมนลด ชี้ทางเลือกประธาน คมช.ลงการเมืองต้องรอรัฐบาลใหม่ ย้อนนายกฯ เปรียบ สนช.ยื่นซักฟอกรัฐบาลเป็นไก่ตีกัน แล้วหัวหน้าไก่ทำอะไรบ้าง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย คำนูณ สิทธิสมาน, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย คำนูณ สิทธิสมาน, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 2
สโรชา - สวัสดีค่ะคุณผู้ชม ขอต้อนรับเข้าสู่รายการยามเฝ้าแผ่นดิน วันพุธที่ 29 สิงหาคม 2550 ก่อนอื่นเลยต้องขอแสดงความเสียใจแก่การจากไปของคุณกำแหง ภริตานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคอลัมนิสต์ชื่อดังแห่งเดลินิวส์ เมื่อเช้านี้เองที่ท่านจากไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ก็ได้มีการยืนไว้อาลัยกัน 1 นาที และท่านประธานได้มาแจ้งข่าวให้ท่านสมาชิก สนช. ได้ทราบว่าอาการของท่านกำแหงนั้นเกิดจากโรคประจำตัวคือเบาหวาน ความดันสูง และโรคหัวใจ โดยพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 17.00 น. วันนี้ที่ศาลา 12 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และจะมีพิธีสวดอภิธรรมศพเป็นเวลา 7 วันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปไปถึงวันที่ 4 กันยายน และในวันพุธที่ 5 กันยายนเวลา 17.00 น. จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เรียนให้คุณผู้ชมทราบ และขอแสดงความเสียใจแก่การจากไปครั้งนี้
คำนูณ - ตกใจครับ เพราะเมื่อเช้าวานนี้ยังคุยกับท่านอยู่เลย และพี่กำแหงเรียกกันว่าพี่แหง จะนั่งข้างหน้าผม เยื้องกันนิดหนึ่ง เพราะว่าอักษร ก. นี่ก็มีการพูดคุยกันว่า ก. ไปแล้วหนึ่ง ข. ไม่มี ค. เตรียมตัว ก็ล้อกันเล่น แต่ท่านเสียชีวิตขณะเตรียมตัวจะมาสภา
สโรชา - ทางครอบครัวบอกว่ากำลังแต่งตัว เตรียมตัวที่จะมาประชุมสภา
คำนูณ - เรียกว่าถ้าเป็นนักรบ ก็ตายในสนามรบ ผมขนลุกนะ เป็นการตายอย่างมีเกียรติ
ปานเทพ - ยังห่วงบ้านเมืองอยู่
คำนูณ - มันไม่ใช่บ่อยนักที่ตายแล้ว สภานิติบัญญัติ สมาชิกลุกขึ้นยืนไว้อาลัย 1 นาที แต่ผมยังนะครับ
สโรชา - ยังนะคะ ค. ไม่ใช่อักษรตัวต่อไป วันนี้เกิดคุยกันถึงเรื่องข่าวคราวทางการบ้านการเมือง มีหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะต้องไปอยู่ที่พม่าและอัดอั้นตันใจอยู่หลายวัน ท่านผู้บัญชาการทหารบกจึงกลับมาและปล่อยของอย่างต่อเนื่อง วันสองวันนี้ วันนี้ก็ปล่อยของอีกแล้ว ท่านออกมาพูดในลักษณะที่ว่าตอนนี้ทำงานเหนื่อย ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน แต่ว่าเงินเดือนไม่เยอะ แต่ ณ ขณะนี้ได้รับการทาบทามจากบริษัทเอกชนหลายต่อหลายบริษัททีเดียว ให้ไปนั่งเป็นประธานบริษัท เงินเดือนเริ่มต้นตั้งแต่ 800,000 - 1,500,000 บาทต่อเดือนเลย และท่านก็พูดเปรยๆ ว่าปัจจุบันนี้ทำงานมหาศาลทั้งกลางวันกลางคืน อันนั้นอันนี้ก็ไม่ได้ ไหนจะมีปัญหารับเงินสองทางอีก เรากำลังมองว่าภาคธุรกิจกำลังต้องการให้มาช่วยทำงาน เมื่อถามต่อว่า อย่างนี้แสดงว่าท่านกำลังมองว่าทำงานด้านธุรกิจดีกว่างานการเมืองใช่ไหม ท่านสนธิบอกว่า กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะไปในทิศทางไหนดี แต่ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกเหมือนกัน เรื่องของพันธมิตรที่บอกว่าอาจจะต้องมีการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากว่าพรรคพลังประชาชนกลับมาครองเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาล ท่านก็บอกว่า ความเคลื่อนไหวก็ไม่เป็นไรนะ เราในฐานะกองทัพก็มีจุดยืนของเรา ไม่มีอะไรสำคัญ แต่พูดต่อว่า ต้องอย่าลืมว่าบ้านเมืองมีกฎกติกามารยาท อย่าคิดว่ากติกาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ถูกใจฉัน ฉันไม่ยอม ไม่ใช่ ฉะนั้นถ้าคิดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเป็นหน้าที่ก็หมดปัญหา ถ้าไม่ถูกใจตัวเองจะยึดถือว่าเป็นความถูกต้องคงไม่ได้ จริงๆ แล้วเรามีเสียงของประธาน คมช. ด้วยว่าพูดถึงเรื่องนี้และเรื่องของพันธมิตรด้วย ไปฟังกันค่ะ
(VTR - พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน)
สโรชา - วันนี้ที่พูดเน้นเรื่องของการให้อภัย เน้นเรื่องของการกลับมาประสานกันเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ ท่านพูดต่อว่าที่ท่านไปพม่ามา เขามีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล เรากระพริบตาไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นจะตามไม่ทัน ท่านบอกว่าถ้าเรามัวแต่อิจฉาริษยาทะเลาะกันตลอดเวลาอย่างนี้ อีกหน่อยพอพวกเราโตขึ้น มีลูก ลูกหลานเราจะอยู่ในสภาพอย่างไร ให้นึกถึงความสมัครสมานสามัคคีเป็นสำคัญ ความคิดที่แตกต่างที่หลากหลายไม่เหมือนกัน อย่าทำให้เรื่องนั้นขยายตัว นี่คือสิ่งที่ให้สัมภาษณ์มาในวันนี้ในฐานะ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน
ปานเทพ - สิ่งที่ท่านพูดมีเรื่องที่น่าวิเคราะห์เยอะ หลายประเด็น เอาเป็นว่าประเด็นเรื่อง ผบ.ทบ. คนใหม่ ฟังดูอย่างนี้เหมือนกับว่าคล้ายๆ พล.อ.สนธิ อาจจะไม่ได้มีความคิดเหมือนคนที่เป็นฝ่ายพันธมิตรว่า ผบ.ทบ. คนใหม่ควรจะเป็นใคร เพื่อมาเผชิญหน้ากับวิกฤตของบ้านเมือง ข้อที่สองคือ เท่าที่ดูตอนนี้คือ พล.อ.สนธิ ดูมองพันธมิตรกลายเป็นกลุ่มที่มีปัญหา และสะท้อนปัญหาคล้ายๆ กับว่าปัญหาบ้านเมืองตอนนี้คือความแตกแยก วุ่นวาย ถึงขนาดพูดว่าพันธมิตรเคยอิรุงตุงนังอยู่ไม่ใช่หรอกหรือ ตอนนี้เปลี่ยนทิศทางแล้วใช่หรือไม่ ถามนักข่าวด้วยนะ คือประโยคนี้มันมีความหมายเยอะ คือถ้า พล.อ.สนธิ มีความคิดว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา มีเจตนาถึงการแก้ปัญหาบ้านเมืองถึง 4 ข้อ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการรัฐประหาร ทวนกันอีกครั้งหนึ่ง การแตกแยกในบ้านเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น การแทรกแซงองค์กรอิสระ และการมีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นเหตุผลที่แท้จริงและอยู่ในใจ พล.อ.สนธิ จริงๆ พล.อ.สนธิ ต้องไม่มองพันธมิตรว่าเป็นกลุ่มที่สร้างความอิรุงตุงนังก่อนหน้านี้ นึกออกไหม คือจะต้องมองใหม่ว่าคนที่เขาเคลื่อนไหวพลังบริสุทธิ์ เขาไม่ได้มีความปรารถนาจะเข้าไปสู่อำนาจ เขาไม่ได้มีความหวังที่คิดว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี หรือกลับข้างแทน หรือทำให้วุ่นวายเล่นๆ เฉยๆ ไม่มีประโยชน์อะไร หลายคนเสียสละเงินทอง หลายคนเสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ ทุกๆ อย่าง มันเป็นพลังบริสุทธิ์ การที่ พล.อ.สนธิ ใช้คำว่า "เห็นอิรุงตุงนังก่อนหน้านี้ไม่ใช่หรอกหรือ วันนี้เปลี่ยนทิศทาง" ผมคิดว่าทัศนคติของท่านมองพันธมิตรไม่ค่อยดีในเวลานี้ ผมอยากจะบอกว่าสิ่งที่ใครหลายคนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เขาพยายามระดมความคิดหรือแสดงความเห็นในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา เกือบปีแล้ว เขาถาม คมช. ว่า คมช. ทำหน้าที่ของตัวเองดีแล้วหรือยัง ในฐานะเป็น คมช. ที่ทำการรัฐประหารมา อำนาจอยู่ในมือมอบให้รัฐบาล และตั้งองค์กรออกมามากมาย ทำหน้าที่ได้ครบสมบูรณ์ จนกระทั่งเหตุผลในการรัฐประหารได้ถูกแก้ไขจนยื่นอำนาจเหล่านั้นให้สู่การเลือกตั้ง ตัวเองทำครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือยัง วันนี้กลับกลายเป็นว่า พล.อ.สนธิ มาพูดในลักษณะท่าทีว่าขอให้อภัยต่อกัน มองเป็นเรื่องความแตกแยกวุ่นวาย คือทัศนคติกลับมาเหมือนกับพูดก่อนการรัฐประหารที่ พล.อ.สนธิ พูดอยู่บ่อยๆ
สโรชา - ตอนนั้นยังยืนยันว่าไม่มีปฏิวัตินะ
ปานเทพ - ผมคิดว่ามันเป็นการพูดที่ เราไม่อยากใช้คำว่า ไม่รับผิดชอบต่อการรัฐประหาร ผมอยากจะบอกว่าสิ่งที่ประชาชนเขาคาดหวังคือแก้วิกฤตได้ เขาไม่ต้องการอย่างอื่นเลย เขาอาจจะมาวิพากษ์วิจารณ์ คมช. อย่างตรงไปตรงมาก็เพราะเขาเห็นว่า ถ้า คมช. มองเห็นว่าเเค่เลือกตั้ง จบ รัฐบาลมองว่าเลือกตั้งแล้วจบ อีกหน่อยทุกอย่างก็กลับเหมือนเดิม อำนาจรัฐก็เหมือนเดิม แทรกแซงองค์กรอิสระก็ยังทำได้ คอร์รัปชั่นก็ยังมีต่อไป แถมปิดกั้นสื่อก็มีต่อไป แล้วใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ
สโรชา - วันนี้นักข่าวก็ถามว่า มุมมองเกี่ยวกับการให้อภัยคุณทักษิณ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร พล.อ.สนธิ ย้อนถามนักข่าวว่า ผู้สื่อข่าวนั้นคิดอย่างไร ซึ่งผู้สื่อข่าวคนนั้นก็ตอบว่า ก็ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงและความถูกต้อง พล.อ.สนธิ ก็ตอบกลับมาว่า ใช่แล้ว นั่นคือความถูกต้อง เลยมีคนถามต่อว่า ที่มาปฏิวัติยังไม่ได้ตัดสินใจหรือว่าเขาผิดหรือเขาถูก ถึงได้ปฏิวัติ เลยกลายเป็นปัญหาที่หลายคนตั้งคำถามอยู่ ณ เวลานี้
คำนูณ - ผมว่าเราเสียเวลาไปวิเคราะห์คำพูดของท่านผู้นี้ ไม่มีคุณค่าพอจะวิเคราะห์ อย่างที่ผมพูดเมื่อวานนี้ คือบางครั้งท่านก็ไปตามน้ำ ไปเรื่อย และให้สัมภาษณ์บ่อย มันก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ คือก็เสนอแนะไปเมื่อวานนี้แล้ว ทวนอีกทีก็ได้ อยากได้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คนเดิมกลับมา คนที่พูดน้อย ไม่ต้องพูดบ่อย แต่พูดให้คมเหมือนตอนหลังปฏิวัติใหม่ๆ การพูดออกมาอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าคนที่อิรุงตุงนัง ไม่ใช่พันธมิตรหรอก แต่เป็นตัวท่าน คือท่านเองดูเหมือนจะยังไม่ตกผลึก เกี่ยวกับการเล่นการเมืองหลังเลือกตั้ง อยากก็อยาก และพรรคพวกที่ลงมาทำให้นั้นก็ร่องรอยปรากฏอยู่ทั่วไป อย่าให้ผมต้องพูดเลย แต่ท่านก็ยังคงกั๊กไว้นาทีสุดท้าย ซึ่งก็ยังคาดเดาไม่ถูกว่าจะออกมาในรูปไหน สภาพที่เป็นอย่างนี้ทำให้สมองหรือจิตใจมันไม่ตรงเพียงพอ มันสะท้อนออกมาในคำพูดที่เหมือนจะอึดอัด และที่สำคัญก็คือเรื่องให้อภัย เรื่องปรองดอง มันมีความจำเป็นต้องพูดอย่างนี้ เพราะนักการเมืองสายพันธุ์ที่พรรคพวกของท่านพยายามมาก่อรูปก่อร่างขึ้นมาเพื่อรองรับท่าน ส่วนใหญ่นั้นคือนักการเมืองที่เคยร่วมงานกับคุณทักษิณ ชินวัตร แหล่งทุนนั้นก็พูดกันตรงๆ ว่าเป็นเป้าหมายคืออดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทยที่ไม่ปรากฏตัวมานานแล้ว เพราะว่าพูดกันตรงๆ คนที่มีสตางค์อยู่มีไม่กี่คนหรอก เพราะสตางค์ที่พูดถึง เวลาทำพรรคการเมือง ก็พูดกันเป็นหลักพันล้าน เพราะฉะนั้นเมื่ออาการตกผลึกจริงๆ ร้อยเปอร์เซนต์ในหัวใจ ยังไม่เกิดขึ้น คำพูดที่เกิดขึ้น จะพูดว่ากลับไปกลับมาก็เเรงไป มันจึงไม่ค่อยจะมีทิศทางที่ชัดเจน ไม่แน่ไม่นอนสักอย่าง ผมย้ำอีกครั้งว่าตอนนี้ตัดสินใจให้มันตกผลึกลงไป ถ้าจะลงก็ประกาศมาเลย ถ้าไม่ลงไม่สมัครรับเลือกตั้งก็ประกาศยืนยันมาเลยว่าไม่ต้องห่วงครับ ผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแน่ การเลือกตั้งครั้งที่จะถึง 23 ธันวาคมนี้ แต่ต่อไปข้างหน้าไม่แน่ ก็จบไปในระดับหนึ่ง แต่พอกั๊กๆ แล้วพรรคพวกเครือข่ายทั้งสายโน้นสายนี้ทั้งทางตรงทั้งทางอ้อม พูดตรงๆ เดินกันขวักบนถนนการเมือง อยู่บ้านไหนบ้านใครบ้างรู้หมด เพราะเขาก็พูดกันเปิดเผย เมื่อเป็นอย่างนี้ประกอบกับตัวท่านเองท่านพูดวกไปวนมา ไม่ตอบสักที และตอบเหมือนเล่นคารมเหมือนนักการเมือง ผมว่ามันบั่นทอนภาพของตัวท่าน
ปานเทพ - ขออนุญาตนิดหนึ่ง มีนักข่าวถาม พล.อ.สนธิ ว่า ถ้าคุณทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เชิญไปเป็นที่ปรึกษาสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ สนใจหรือไม่ ท่านก็ตอบว่า ต้องต่อรองราคากันก่อน
สโรชา - หัวเราะเชิงขำๆ
คำนูณ - พูดอย่างนี้ผมไม่สนุกด้วยนะ แปลว่าถ้าได้แพง ก็ไปสิ
ปานเทพ - พูดอย่างนี้ไม่ดีหรอก มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ล้อเล่นกันได้ สนุกกันได้ สังคมไทยเขาไม่สนุกด้วย บ้านเมืองเกิดวิกฤตที่ผ่านมาจนเกิดการรัฐประหาร เขาหวังว่าจะแก้วิกฤต ไม่ใช่ว่าจะจับมือกันและเกิดวิกฤตต่อไป แต่น่าเสียใจเหมือนกันตรงที่ว่าไม่รู้ท่านเป็นอะไร อย่างที่คุณคำนูณบอก ตอนต้นๆ ท่านดูเฉียบคม ท่านพูดน้อย พูดน้ำหนักเยอะ วันนี้ท่านพูดดูแกว่งมาก แม้กระทั่งประโยคว่า ท่านเชื่อเรื่องกติกามารยาทว่าเป็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ วันนี้ไม่ใช่เรื่องถูกใจหรือไม่ถูกใจ ไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพ ท่านมาจากการรัฐประหาร การเลือก ผบ.ทบ. เป็นเรื่องของการแก้วิกฤตบ้านเมืองว่าใครจะนั่งตำแหน่งความมั่นคงที่จะแก้วิกฤตได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพ ผมสงสัยว่าท่านเป็นอะไร ทำไมท่านเปลี่ยนไปเยอะในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา บางท่านก็บอกว่า พล.อ.สนธิ อาจจะกำลังจะเกษียณก็ได้ ท่านเลยคิดหนักหลายด้านว่าจะยืนอยู่ตรงไหน บางคนก็บอกว่าหรือว่าท่านไม่สบาย ผมไปเปิดดูว่า คือตอนนี้ท่านอายุจะ 60 แล้ว มีคนสงสัยว่าหรือเป็นปัญหาเรื่องฮอร์โมนเพศชาย เขาบอกว่า ฮอร์โมนเพศชายจะเริ่มลดลงเมื่ออายุ 30 และค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องธรรมชาติครับ ผู้ชายส่วนใหญ่ยังสามารถ ทันทีที่มีฮอร์โมน 40 ปีจะลดลงไปเรื่อยๆ ปีละ 1 เปอร์เซนต์ 20 ปีผ่านไปอายุ 60 ก็เหลือเพียงแค่ 80 เปอร์เซนต์ สามารถสร้างฮอร์โมนได้จนถึงอายุ 70 แต่ก็มีบางส่วนที่ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ ฮอร์โมนที่ว่านี้ชื่อ ฮอร์โมนเทสโตรสเตอโรน มีความหมายว่าถ้ามันน้อยกว่าปกติแล้ว อาจทำให้หนวดเคราหยุดการเจริญ อ้วนหรือไขมันเพิ่ม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ร้อนตามตัว ชีพจรเต้นเร็ว อารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย ความจำลดลง ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ ตื่นตระหนกง่าย ความมั่นใจตัวเองลดลง วิตกกังวล และอื่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หย่อนสมรรถนะทางเพศ เป็นโรคกระดูกพรุน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งแก้ไขได้
สโรชา - ฉีดฮอร์โมน
ปานเทพ - ก็ได้ ตรวจดูน้ำหนัก กินอาหารให้ถูกต้อง ออกกำลังกาย มีอารมณ์ที่แจ่มใส แก้ได้ครับ ไม่อย่างนั้นกลัวท่านจะมองโลกในแง่ร้ายไปหมดว่าพันธมิตรก็เป็นศัตรูไปด้วย
คำนูณ - ขอโทษท่านผู้ฟังด้วยนะ ผู้ฟังเราวัยนี้ทั้งนั้นนะ
ปานเทพ - มันเป็นเรื่องธรรมชาติครับ
สโรชา - ถ้าเป็นเมืองนอก เขาจะมีการเตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าแล้ว สำหรับสุภาพบุรุษ บางครั้งเคยอ่านเคสสตั้ดดี้ด้วยซ้ำไปว่า เป็นหมออยู่ดีๆ วันหนึ่งนึกอยากจะเป็นทนายความ ลาออกจากหมอ ขอภรรยาบอกว่าจะไปเรียนทนายความแล้วนะ
คำนูณ - ผมถามเรื่องหนึ่ง ณ วันนี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังคงเป็นประธาน คมช. อยู่ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอยู่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติจะยังคงอยู่จนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่ง ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 298 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ผมถามว่า ถ้าท่านจะเล่นการเมือง เพราะท่านยังไม่เคยบอกว่าจะไม่เล่น เพียงแต่บอกว่ายังไม่ตัดสินใจ ถ้าท่านจะเล่นการเมือง ท่านจะทำอย่างไร
สโรชา - ต้องลาออกก่อน
คำนูณ - ท่านจะต้องกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ปานเทพ - จึงจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไปลงสมัครรับเลือกตั้งได้
คำนูณ - แล้วถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ท่านเป็นผู้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจ ด้วยอุดมการณ์อันสูงส่งขึ้นมา และบัดนี้แม้ว่าภารกิจกำลังจะหมดไป แต่มันยังไม่หมดเสียทีเดียว ภารกิจของท่านจะหมดก็ต่อเมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 298 วรรค 2 สำหรับผมเห็นได้ทางเดียวว่าถ้าท่านลาออกจากตำแหน่งประธาน คมช. แปลว่าท่านละทิ้งภารกิจ และถ้าเพียงแต่ท่านจะไม่ลาออก แต่หลังเกษียณนั้นท่านจะมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลชุดนี้ มันก็ยิ่งอิหลักอิเหลื่อกันไปใหญ่ เพราะว่าโดยปกติแล้ว คมช. ดูแลความมั่นคงอยู่แล้ว และอันที่จริง คมช. นั้นตามรัฐธรรมนูญ 2549 ที่เพิ่งหมดลงไปนั้นก็มีอำนาจที่จะปลดนายกรัฐมนตรีได้อยู่แล้วโดยตัวประธาน คมช. และรัฐธรรมนูญใหม่นั้นก็ไม่ได้พูดไว้ว่าอำนาจนั้นยังอยู่หรือไม่อยู่ พูดแต่เพียงว่าให้ คมช. ยังอยู่ต่อไป และถ้าท่านลาออกจาก คมช. แล้วจะอย่างไร ผมว่าที่จริงท่านไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องอยู่ในตำแหน่งประธาน คมช. ต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ แล้วหลังจากนั้นถ้าจะตัดสินใจเล่นการเมืองก็ค่อยว่ากัน
สโรชา - หมายความว่ารัฐบาลใหม่ปรับ ครม. ครั้งแรกถึงจะเข้ามาได้
ปานเทพ -ถ้าไม่มีทางเลือก แล้วทำไมต้องมามัวกั๊กอยู่ว่า จะเล่นหรือไม่เล่น ถึงเวลาแล้วค่อยว่ากัน คือไม่มีความจำเป็นถ้าไม่มีทางเลือกใช่ไหมคุณคำนูณ
คำนูณ - ครับ
สโรชา - ถ้าถึงเวลาจริงๆ อาจจะยังไม่ได้ศึกษากฎเกณฑ์กติกาต่างๆ
ปานเทพ - ผมว่าเขารู้อยู่แล้วล่ะ ไม่มีทางหรอกที่จะไม่รู้
สโรชา - ไม่แน่ ด้วยความเข้าใจเดิมตั้งแต่ในช่วงเวลาที่เราติดตามขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีใครทราบว่าตกลง คมช. จะหมดวาระไปเมื่อมีการเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งแต่ก่อนจะได้รัฐบาล จะยังมีอยู่หรือเปล่า ก็ไม่มีใครทราบ
ปานเทพ - และที่มาของประธาน คมช. จะมาอย่างไร คนใหม่ ไม่มีเขียนไว้ใช่ไหมว่าใครจะเป็นประธาน คมช. คนใหม่ ใครจะเลือกครับ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ทั้งสิ้น คือกำลังจะบอกว่ามันจะเป็นปัญหาเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศแล้ว กฎเกณฑ์ไม่ได้บอกเลยว่าถ้าประธาน คมช. ลาออก หรือกราบบังคมทูลลาออกแล้ว ประธาน คมช. คนใหม่จะกำเนิดขึ้นมาอย่างไร
สโรชา - แสดงว่าท่านก็อยู่ในตำแหน่งนี้ไปเรื่อยๆ
ปานเทพ - จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และมอบหมายภารกิจ เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของ คมช. ที่จริงท่านไม่มีทางเลือกตั้งนานแล้ว
สโรชา - แล้วจะมานั่งถกเถียงกันอยู่ทำไม
ปานเทพ - เพียงแต่ว่าท่านสร้างสถานการณ์ สร้างความคลุมเครือ จนกระทั่งทำให้เกิดความอึดอัดและเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อฝ่ายทหารโดยไม่จำเป็นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าถามว่าท่านเลือกอะไรได้ระหว่างจะลงการเมืองหรือจะไปทำธุรกิจ ท่านเลือกทำธุรกิจได้ ถ้าจะทำการเมืองก็ทำได้หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว แล้วค่อยว่ากัน
สโรชา - จริงๆ อยากจะคุยเรื่องของพรรคชาติไทย เรื่องของคุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ออกมาพูดวันนี้ทำให้หลายคนงงไปตามๆ กัน ด้วยวาจาหรือถ้อยคำที่อ่านได้ว่า จะไม่ร่วมหัวจมท้ายกับอดีตพรรคฝ่ายค้านแล้วหรือ แต่ว่าจริงๆ แล้วคือเบรกนี้เราเหลือเวลาไม่เยอะ เลยอยากจะชวนคุยเรื่องอื่นก่อน เดี๋ยวเรื่องคุณสมศักดิ์กับพรรคชาติไทยไว้ค่อยว่ากันทีหลัง เพราะวันนี้บรรดานิสิตนักศึกษาเขาก็ไปกันที่หน้ารัฐสภา ไปชุมนุมประท้วงคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนอกระบบ จนกระทั่งวันนี้ได้ชุมนุมประท้วงกันประมาณ 200 คน ทางด้านตำรวจก็ไปขอความร่วมมือเนื่องจากว่าได้ปิดเส้นทางการจราจร ทำให้รถติดขัดมาก ก็พยายามเข้าไปเจรจาโดย สน.ดุสิต เจรจากับนักศึกษาว่าขอให้เปิดถนนเพราะการจราจรติด แต่นักศึกษาไม่ยอม จนกระทั่งตำรวจเข้าไปสลายการปิดกั้นถนน เกิดการปะทะกันเล็กน้อย และมีการจับแกนนำนักศึกษาที่มาประท้วงด้วย ในที่สุดแล้วก็สลายการชุมนุมไปและระบายการจราจร นี่คือสิ่งที่ตำรวจบอกมาว่าเขามีความจำเป็นต้องระบายการจราจรที่มีการติดขัดมากในช่วงของถนนสายอู่ใน หน้ารัฐสภาและถนนราชวิถีด้วย นี่เป็นภาพที่เขาเข้าไปสลายการชุมนุมเมื่อกลางวันวันนี้
ปานเทพ - เรื่องนี้มีการถกเถียงกันมานาน จริงๆ นิสิตนักศึกษาหลายคนไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และขั้นตอนของ สนช. ได้ผ่านไปแล้วใช่ไหมครับคุณคำนูณ
คำนูณ - ผ่านไปฉบับหนึ่งแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดล และวันนี้ผ่านฉบับที่สอง เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ปานเทพ - ออกนอกระบบอีก ความกังวลของนักศึกษาส่วนใหญ่คงจะกังวลหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในอนาคต หรือความขัดแย้ง อย่างไรก็แล้วแต่ผมอยากจะพูดนิดเดียวก็คือว่า ถ้าลักษณะของการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบอหิงสา สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองจะต้องมีความระมัดระวังคือการแสดงท่าทีที่ใช้กำลัง ผมจำภาพที่เพิ่งมีคดีเร็วๆ นี้ ฤทธิรงค์ เทพจันดา ที่ไปล็อกคอของคุณลุงฤทธิรงค์เหมือนกัน ภาพคล้ายๆ อย่างนี้มองว่าต้องระมัดระวังให้ดี ไม่อย่างนั้นแล้วแทนที่จะทำให้เกิดความสงบหรือการเคลื่อนไหวอย่างสงบเพื่อความเชื่อของแต่ละฝ่าย มันจะกลายเป็นการกระทำที่ขยายผลได้มากทีเดียว
คำนูณ - ไม่ดีครับที่เห็นภาพนี้ คือตอนที่เกิดเหตุนั้นผมก็อยู่ข้างใน แต่ผมไม่ได้ร่วมประชุมสภาใหญ่ในช่วงเวลานั้น เพราะไปประชุมกรรมาธิการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อันที่จริงจำนวนนักศึกษาที่มานั้นมีจำนวนไม่มากนัก เพียงแต่ว่าเขาใช้ยุทธวิธีการปิดถนน ตำรวจก็ผมไม่ทราบว่าก่อนจะตัดสินใจนั้นได้หารือกันถึงผลดีผลเสียหรือไม่อย่างไร เพราะว่าถนนที่เห็นก็รถติดอยู่แล้ว ถ้าปิดถนนหน้ารัฐสภาก็ต้องถือว่าถ้าเอากันจริงๆ แล้วรถไม่ถึงกับเยอะมาก เพราะฉะนั้นการตัดสินใจสลายการชุมนุมนั้นต้องทบทวนให้ดีก่อนจะตัดสินใจอย่างนี้ เพราะภาพที่ออกมานั้นไม่ดี และอีกประการหนึ่งคือผมคิดว่าทาง สนช. นั้นควรจะต้องทบทวนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับที่เหลือๆ ที่กำลังจะเข้าคิวพิจารณากันต่อไป เพราะในตอนต้นนั้นที่เข้ามาวาระที่ 1 นั้น บอกตามตรงผมก็เป็นคนหนึ่งที่คัดค้าน อภิปรายคัดค้าน แต่ก็ต้องบอกตามตรงอีกเช่นกันว่าอภิปรายอย่างไรก็แพ้ เพราะว่าพูดตรงๆ คือคณาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายท่านที่เราเคารพนับถือ ท่านก็เห็นข้อดีและชี้แจงข้อดีของการออกนอกระบบ เราก็ชี้ให้เห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใยของนักศึกษาของประชาคมมหาวิทยาลัย อย่างน้อยที่สุดใน 2 - 3 ประเด็น ประเด็นหนึ่งก็คอืเมื่อออกนอกระบบแล้วค่าเล่าเรียนจะเเพงขึ้นหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งคือบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญก็คือว่ามหาวิทยาลัยที่สัมผัสกับท้องถิ่นนั้นจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรให้ประชาคมท้องถิ่นนั้นเขามีส่วนร่วมในการบริหารหรือในการให้ความคิดความเห็น มีการชะงักกันไปนานพอสมควร
ปานเทพ - ผมจำได้ว่า คุณวิจิตร ออกมาพูดว่าเลื่อนไปก่อนไม่มีกำหนด
คำนูณ - หลายเดือน และเป็นที่ตกลงกันว่าถึงแม้ว่าจะผ่านวาระที่ 1 ไปแล้ว เสียงคัดค้านนั้นจะลงมติอย่างไรก็แพ้ ก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน และแก้ไขเพื่อให้นักศึกษาที่เขามีความเป็นห่วงเป็นใยนั้นได้หมดความกังวล โดยเฉพาะอย่างเรื่องค่าเล่าเรียนที่เขาเป็นห่วงว่าจะแพงขึ้น ได้มีการแก้ไข มีการเพิ่มเติมความมั่นใจขึ้นมาในหลายบทหลายมาตรา แต่ว่าถึงอย่างไรสมาชิกที่มีความเห็นคัดค้าน หรือมีความเห็นไม่ถึงกับคัดค้านแต่เป็นห่วงเป็นใย อย่าพูดว่าคาดคั้นเลย ได้ขอความมั่นใจจากทางรัฐบาล พูดกันเป็นการภายในว่าก่อนจะนำกลับเข้ามาในสภา ได้โปรดกรุณากลับไปทำความเข้าใจในแต่ละมหาวิทยาลัย
ปานเทพ - ให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน
คำนูณ - อย่าให้เกิดภาพที่มีการประท้วง มีการต่อต้านมากอย่างที่เห็น ก็รับปากกันอย่างดี แต่พอมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าภาพที่ปรากฏขึ้นหน้าสภาวันนี้ ในขณะที่พิจารณา สมาชิกสภามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นฉบับต่อไปผมเชื่อว่าจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างยิ่ง และในฉบับที่ผ่านไปแล้วก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของนักศึกษาของผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าท่านเห็นว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ ท่านก็ต้องใช้กระบวนการที่มีอยู่เท่าที่จะทำได้ ทุกช่องทางเท่าที่จะทำได้
ปานเทพ - เพราะในกระบวนการที่ผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีอื่นไม่ได้ใช่ไหม นอกจากทางกฎหมาย
คำนูณ - ก็ต้องเป็นเรื่องการต่อสู้ทางกฎหมาย ท่านจะมีช่องทางอย่างไรก็ทำไป เพราะว่าพูดตรงๆ ว่าทำอย่างไรก็แพ้
ปานเทพ - เสียงใน สนช. ตอนนี้
สโรชา - เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ กลับมาเรามาคุยกันต่อเรื่องการเมืองสักเล็กน้อย การประกาศของพรรคชาติไทย อ้างความสมานฉันท์ที่พร้อมจะร่วมงานกับทุกกลุ่ม ทุกก้อน ทุกพรรค เดี๋ยวกลับมาคุยกันเรื่องนี้ค่ะ สักครู่เดียว
(เบรก)
***ยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2
สโรชา - กลับเข้าสู่รายการยามเฝ้าแผ่นดินนะคะ วันนี้คุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กล่าวถึงทิศทางของการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มหรือพรรคต่างๆ หลังการเลือกตั้ง ขออ่านยาวสักนิดหนึ่ง จะได้เข้าใจครบถ้วนสิ่งที่คุณสมศักดิ์ได้แถลงในวันนี้ คุณสมศักดิ์บอกว่า ขณะนี้ทุกคนควรจะลืมเรื่องราวในอดีตและมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง รอการตัดสินใจของประชาชน ถ้าหากมาประกาศแบ่งขั้วชัดเจน ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้ ผมอยากให้ทุกคนลืมอดีต ถ้าเราเริ่มต้นบนความร้าวฉาน มันก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะสิ่งที่ประกาศตอนนี้จะทำให้เกิดปัญหาไม่จบ การที่บอกว่าไม่สามารถทำงานกับคนนั้นคนนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่ในที่สุดก็ต้องไปเจอกันในสภา เนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องทำงานร่วมกัน พรรคชาติไทยยืนยันมาตลอด เราไม่เคยประกาศ และเราจะไม่ประกาศว่าเอาขั้วนั้น ไม่เอาขั้วนี้ เราพร้อมจะทำงานกับทุกกลุ่มการเมือง ถ้าผลการเลือกตั้งออกมา เพราะนั่นคือเสียงของประชาชน กล่าวต่อว่า สิ่งที่พรรคประกาศต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการเป็นตัวเสียบกับความสมานฉันท์ว่าอย่างไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน ตอนนี้ถ้ามัวประกาศว่าเอาคนนั้น คนนี้ หลังเลือกตั้งจะเกิดการแบ่งแยกของประชาชนอีก พรรคชาติไทยยืนยันว่าเราไม่เกี่ยง จะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล
ปานเทพ - พูดอย่างนี้ก็ทำให้หลายคนที่เขาเชียร์พรรคชาติไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะฝ่ายพันธมิตร
คำนูณ -พูดอย่างนี้ต้องฟ้องท่านหัวหน้าบรรหาร ถ้าท่านดูอยู่
ปานเทพ - ผมเข้าใจ คล้ายๆ กับว่าไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองในอนาคต และมีความรู้สึกว่าการพูดลอยๆ ไว้ไปข้างไหนก็ได้ ทำให้คนคิดว่าพรรคชาติไทยตกลงแล้วมีจุดยืนของตัวเองอย่างไร กับเรื่องราวความผิดปกติ การทุจริตคอร์รัปชั่น จนเกิดเป็นวิกฤตของบ้านเมืองขนาดไหน ผมว่าตรงนี้คนจะรู้สึกมากเลย
สโรชา - ตกลงที่คุณคำนูณแซวว่าต้องไปฟ้องท่านบรรหาร แสดงว่าเขายังไม่ได้คุยกันก่อนจะมาประกาศอย่างนี้หรือคะ คาดว่าทิศทางพรรคจะไปอย่างไร
คำนูณ - ผมไม่ทราบ คือในระยะหลัง ท่านบรรหาร ศิลปอาชา สิ่งที่ท่านพูดออกมา ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงนัก แต่มันสะท้อนคล้ายๆ กับว่าท่านแยกแยะความถูกความผิด คืออยากจะพูดว่าอย่างไรก็จินตนาการไม่ออกว่าหลังเลือกตั้งจากคำพูดที่ท่านบรรหารแสดงออกมาตลอด ท่านจะไปรวมกับพรรคพลังประชาชนหรือไม่ เพื่อความสามัคคี ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ท่านจะไม่ได้บอกว่าท่านไม่เอาขั้วนั้น เอาขั้วนี้ ท่านไม่ได้พูดอย่างนั้นแต่ทีท่าการให้ความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมือง การพูดถึงคุณทักษิณ ชินวัตร การพูดถึงวิกฤต มันแสดงออกมาในรูปนั้น แต่พอคุณสมศักดิ์พูดออกมาในวันนี้ คุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล มันเป็นคำพูดที่ไม่ค่อยต่างกับคนอื่นๆ ที่ขอประทานโทษ เป็นคำพูดโหลๆ เป็นคำพูดดาดๆ ที่ปรากฏอยู่โดยทั่วไปของคนที่คิดว่าพูดออกมาแล้วมันดูดี เพราะว่าที่พูดออกมานั้นโดยอัตถะ โดยพยัญชนะ มันไม่ผิดหรอก มีใครบ้างที่ไม่อยากเห็นความสมัครสมานสามัคคีในบ้านเมือง แต่ว่าความสมัครสมานสามัคคีนั้นมันจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานอะไร ถ้าเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ว่าที่แล้วมาก็แล้วกันไป ไม่ต้องไปค้นหาความผิดความถูกหรอก เรากลับมารักกัน มาเริ่มต้นกันใหม่ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ทัศนะอย่างพวกเราแน่นอน ทัศนะอย่างพวกเราก็คือว่าที่ผ่านมาผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ถูกก็ต้องว่าไปตามถูก อะไรที่เป็นสาเหตุแห่งวิกฤตก็ต้องแก้ไขกันไป และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ถ้าการแก้ไขนั้นจำเป็นต้องกระทบกระเทือนถึงคนบางคน ถึงคนบางกลุ่ม ก็ต้องว่ากันไปตามอาญาบ้านเมือง และบัดนี้นั้นกระบวนการต่างๆ กระบวนการยุติธรรมก็เคลื่อนไปข้างหน้ามากกว่าที่จะมาพูดด้วยคำพูดดาดๆ ที่คิดอย่างไรมันก็ถูก อีกต่อไป ถามว่าถ้าจะสมัครสมานสามัคคีนี่ทำอย่างไรครับ ยกเลิกการทำงานของ คตส. ทั้งหมดอย่างนั้นหรือ คดีความที่เดินหน้าไปแล้วนั้นออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกันทั้งหมดหรือ
ปานเทพ - หรือจับมือกันทำมาหากินอย่างที่เป็นในอดีต อย่างนั้นหรือ
คำนูณ - ถ้าใครที่มักจะพูดด้วยคำพูดที่ดูดี คำพูดที่ดูง่ายๆ ดูตลาดๆ ชนิดที่เรียกว่าพูดเมื่อไรก็ถูกเมื่อนั้น ลองเสนอรูปธรรมออกมาดู ท่านกล้าเสนอไหม ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทุกคน ทุกฝ่าย กลับมาร่วมมือกันใหม่ ผมก็จะพิจารณาดูว่าผมจะเห็นด้วยกับท่านหรือไม่ จะบอกอย่างไรล่ะ วันนี้คุณทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกหมายจับแล้ว
ปานเทพ - พร้อมจะจับมือได้อย่างนั้นหรือ
คำนูณ - ไม่เลือกกลุ่มกัน
ปานเทพ - รวมได้ทุกกลุ่ม จับได้ทุกกลุ่ม
คำนูณ - และหมายจับนั้นจะมีอีกคดีๆ ไปเรื่อยๆ แต่ละคดีที่จะเดินหน้าต่อไป คตส. จะมีอายุถึง 30 มิถุนายน แล้วอย่างไร การตั้งกรรมการสอบสวนคดีฆ่าตัดตอนก็เดินหน้าไป รัฐบาลก็ตั้งเอง และอย่างไรครับ ที่พูดนี่หมายถึงว่าเหมือนนักการเมืองเหล่านี้สักแต่พูด พูดง่ายๆ และทำให้พวกเราดูเหมือนเป็นคนที่กระหายเลือด อยากให้มีเรื่อง อยากจะมีความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่
ปานเทพ - ผมจำได้ว่าคุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นคนยอมรับเหตุผล 4 ข้อที่มีการรัฐประหารอย่างชัดเจน และออกหน้ารับ คมช. ในการรัฐประหารทั้งหมด ทั้ง 4 ข้อ และถ้าเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เหมือนกับ คมช. นะ และพร้อมจะจับมือกับคนที่ได้ชื่อว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง ได้ชื่อว่ามีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคชาติไทยจะจับมือกับคนอย่างนี้ได้หรือ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรจะมาประกาศว่าที่ผ่านมาต่อต้านกับระบอบทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่ชั่วช้าอย่างนั้น อย่างนั้นก็บอกเลยว่าเป็นพรรคที่ไม่มีจุดยืนอะไรทั้งสิ้น จับมือกับใครก็ได้ จับมือกับคนขี้โกงก็ได้ ขอให้เป็นรัฐบาล
สโรชา - ในฐานะของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่ง ก็ต้องถามว่าแล้วอุดมการณ์พรรคคุณอยู่ตรงไหน พรรคของคุณคือตัวแทนของอะไร ไม่ใช่ว่าจะไปจับมือกับใครก็ย่อมได้ แล้วไม่ประกาศจุดยืนอะไรทั้งสิ้นเลย นี่ไม่น่าจะใช่ชาติไทย
ปานเทพ - คุณแอ้มรู้ไหมว่าหลายเดือนที่ผ่านมาผมมีความอึดอัดเรื่องหนึ่ง คือผมเห็นทุกพรรคการเมืองยกมือกันหมดว่าพร้อมจะเลือกตั้ง ทุกคนอยากเลือกตั้ง อยากมี ส.ส. ไม่มีแม้แต่พรรคเดียวที่ออกมาบอกว่าเลื่อนเลือกตั้งไปก่อนดีไหม ในเมื่อประเทศไทยยังไม่มีใครแก้วิกฤตได้เลย ทั้งการปฏิรูปสื่อที่แท้จริง ปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง ผมยอมเลื่อนก็ได้แต่ขอให้ทำสิ่งดังต่อไปนี้ในช่วงเวลาที่เหลือ ไม่มีแม้แต่พรรคการเมืองเดียว ทุกคนกระหายกับการเลือกตั้ง ทุกคนอยากเป็น ส.ส. อยากเป็นรัฐบาล อยากเป็นรัฐมนตรี กระหายเข้าไปสู่อำนาจโดยไม่สนใจว่าประชาชนเขาจะรู้สึกอย่างไร
สโรชา - ในฐานะประชาชน น่าคิดค่ะ ว่าตกลงสรุปแล้วปฏิวัติมาได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า
ปานเทพ - หวังนิดเดียวว่าเป็นความคิดของคุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คนเดียว และยังหวังว่าคุณบรรหาร ศิลปอาชา ไม่ได้คิดอย่างนี้ ยังหวังไว้
คำนูณ - พรุ่งนี้ผมอาจจะมีคำตอบ เพราะนั่งประชุมห้องอนุกรรมาธิการ นั่งติดกับคุณกัญจนา ศิลปอาชา
สโรชา - ฝากถามด้วยแล้วกัน พูดถึงเรื่องการเลือกตั้ง วันนี้ก็ฮือฮากันพอสมควรสำหรับการเคลื่อนไหวจากสหภาพยุโรป หรืออียู ที่จะเข้ามาชวนประเทศไทยเซ็นต์ "เอ็ม โอ ยู" คือบันทึกความเข้าใจ ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เลยตั้งคำถามกันกลับว่าถ้าเกิดจะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เหตุไฉนจึงต้องมีการเซ็นต์เอ็มโอยู ทำไม คุณจะเข้ามาในฐานะอะไรกันแน่ นี่คือคำถามที่ทั้ง กกต. ทั้งรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณนิตย์ พิบูลสงคราม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่ไม่เห็นด้วยที่จะเซ็นต์เอ็มโอยู
คำนูณ - เขาดูถูกเหยียดหยามประเทศไทย เป็นประเทศเผด็จการ บ้านป่าเมืองเถื่อน มีจัดการเลือกตั้ง จะบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือ ขอเข้ามาดูหน่อย พูดง่ายๆ คือเขาไม่ไว้ใจประเทศไทย เซ็นต์เอ็มโอยูเพื่อจะเข้ามามีอำนาจ จะไปไหน จะทำอะไรได้ตามต้องการ ซึ่งท่าทีแบบนี้ต้องด่ามัน คือเราเป็นประเทศเอกราช มีอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน คงเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ใครมาทำเช่นนั้น ผมเห็นว่าไม่ว่าเรื่องอื่นจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้บุคลากรในภาครัฐก็ให้ความเห็นได้ตรงกันเหมือนกันหมด
สโรชา - ต้องเป็นหนึ่งเดียวนะ คิดว่าคงจะมีการประสานงานไปยังอียูว่าตกลงที่ว่าเอ็มโอยูนี้คืออะไรกันแน่ เพราะว่าเราไม่เซ็นต์แน่ๆ ถ้าคุณจะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของเรา ในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น คุณก็เข้ามาตามปกติ
คำนูณ - ผมว่าไล่ไปเลยดีกว่า
สโรชา - อย่าให้เข้าหรือ ถ้าไปบอกเขาว่าอย่าให้เข้า จะยิ่งไปกันใหญ่
คำนูณ - ถ้าจะเข้ามา ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย คุณแอ้มคุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ไม่ใช่อยากจะไปดูในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคุณจะเข้าไปได้ ประเทศไทยคุณจะเดินเข้าไปดูได้ไหม ไม่ได้ คุณต้องเป็นอาสาสมัครหรือตัวแทนของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในเขตนั้น เข้าไปตรวจดู และคุณก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ แล้วมันเป็นใคร
สโรชา - แล้วถ้าเข้ามาสังเกตแค่อยู่ข้างนอก
ปานเทพ - ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ผ่านประชามติแล้ว ไม่ได้เป็นชาติของชาวต่างประเทศ ชาวสหภาพยุโรปว่าเขาต้องมาเห็นพ้องต้องกันหรือไม่เห็นพ้องต้องกัน ลงประชามติเเล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เขาเห็นแล้วว่าเดินหน้าตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กฎหมายลูกก็เป็นกฎหมายที่ประกอบรัฐธรรมนูญหลัก เพราะฉะนั้นแล้วนี่เป็นเรื่องของคนไทย เป็นเรื่องของคนไทยโดยแท้ ถ้าจะมาสังเกตการณ์ก็เข้ามาตามปกติ
คำนูณ - เขาจะเข้ามาดูอะไรก็ดูในฐานะประชาชนคนหนึ่ง นักท่องเที่ยวคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศคนหนึ่ง
สโรชา - ไม่ใช่เข้ามาควบคุม
คำนูณ - ถ้าจะเข้ามาดูเป็นพิเศษ ก็ประสานงานติดต่อกับ กกต. กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายไทย มากกว่านี้ก็อย่ามาเลย
สโรชา - เห็นด้วย
ปานเทพ - พูดถึงท่าที วันนี้รัฐบาลก็มีท่าทีออกไปใช่ไหม ท่านสุรยุทธ์ จุลานนท์ คุณนิตย์ พิบูลสงคราม ก็ออกมาประสานเสียงในทำนองเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับการที่เข้ามาแล้วต้องเซ็นต์บันทึกความเข้าใจ โดยเฉพาะเนื้อหาอาจจะหมิ่นเหม่ต่อการเข้าไปสู่การควบคุมการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป
คำนูณ - เรื่องนี้มันสำคัญมาก ท่าทีของคนไทยที่มีต่อความต้องการของต่างชาติหรือความเห็นของต่างชาติ ผมเคยรู้สึกไม่พอใจมากอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฉบับที่ชนะเข้าไป พิจารณานัดแรกหรือนัดที่สองก็จะมีตัวแทนของหอการค้าต่างชาติเข้ามาให้ความเห็น นี่มันสภาไทยหรือ กรรมาธิการไทย และเราไม่มีสติปัญญาพิจารณาได้เองหรือ ต้องให้เขามาบรรยายอย่างนั้นอย่างนี้ คือบางทีมันต้องมีกรอบ มีความพอดี รับฟังได้ แต่ต้องมีรูปแบบที่เหมาะสม คือเขาแสดงความประสงค์จะเข้ามาสังเกตการณ์การประชุมเลย สิ่งที่กรรมาธิการเขาจะให้ได้คือคุณเข้ามาชี้แจง เสร็จแล้วก็กลับไป
ปานเทพ - พูดถึงท่าทีรัฐบาลแล้วทำให้นึกถึงข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็พูดถึงสิ่งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้เกี่ยวข้องกับถ้อยคำว่า "ไก่จิกตีกัน" และอธิบายว่า พล.อ.สุรยุทธ์ หยิบยกประเด็นที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เพราะมีข่าวว่าจะมีการซักฟอกรัฐมนตรีบางคน ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลต้องพร้อมรับฟังและชี้แจง อย่างไรก็ดี พล.อ.สุรยุทธ์ เห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องสร้างสรรค์ร่วมกันอีกมากที่ควรจะคิดร่วมกันทำ ทั้งรัฐบาลและบุคคลภายนอก ทั้งนี้การที่จะค้นหาอะไรไม่ดี อย่างไร เช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การซักฟอกต่างๆ ถ้ามีเหตุผลก็ยินดีรับฟังและชี้แจงไป แต่หากไม่มีเหตุผล อาจจะบาดเจ็บด้วยกันทั้งคู่เหมือนกับไก่ที่ถูกขังในกรง และรอเอาไปฆ่า
คำนูณ - นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ใช้คำพูดแล้วฟังดูดี คำนี้ "ไก่ตรุษจีน" ก็ดี "ไก่ในเข่ง" ก็ดี เป็นคำที่มีคนพูด มีคนเปรียบเปรยกันมามาก เพราะคำว่า "ไก่ในเข่ง" หมอประเวศ วะสี เคยพูดและท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาพรนั้นเคยพูดในลักษณะที่ว่า ประเทศมันเหมือนอยู่บนหนทางวิบัติ และไปสู่หุบเหวแน่ เหมือนรถที่กำลังจะตกเหว คนในรถแทนที่จะช่วยกันกู้รถ กลับตบตีกัน เหมือนกันไก่ในเข่ง ไม่ใช่ไก่ในเล้านะ ไก่ในเข่งคือไก่ตรุษจีนที่เขาจับใส่ๆ และกำลังจะเอาไปฆ่า แทนที่จะช่วยกันพยายามจะบินหนีออกจากเข่ง กลับจิกตีกันเอง และสุดท้ายก็ตายกันหมด ฟังแล้วดูดี แต่ไม่เห็นท่านนายกรัฐมนตรีบอกเลยว่าตลอดเวลาเกือบปีที่ผ่านมา ถ้าท่านรู้สึกถึงสภาพของสังคมไทยเป็นแบบนี้แล้ว ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าไก่ ท่านมีความคิดบ้างไหมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อจะทำลายเข่งอันนั้น เพื่อจะนำพาไก่ทุกตัวที่อยู่ในเข่งนั้นบินหนีออกมาจากเข่ง ท่านก็ไม่ได้ทำอะไรเลย และปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าท่านใช้เวลาอันมีค่า และการยึดอำนาจที่ลงทุนด้วยตนทุนมหาศาลของประเทศ ไปโดยเปล่าปราศจากประโยชน์ เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปี ทั้งท่านกับ คมช. โดยรวมกัน ใครจะผิดมากผิดน้อยอย่างไรก็ว่ากัน แต่ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก เพราะฉะนั้นคำพูดที่พูดเหมือนดูดี และพูดเหมือนกับว่าไม่มีเหตุผล ยื่นญัตติขออภิปรายไม่มีเหตุไม่มีผล ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผลเขาจะขออภิปรายได้อย่างไร นี่คือผมคิดว่านอกจากพูดอย่างนี้แล้วมันต้องมีวิธีการด้วย อันนี้สำคัญมาก ผมคงไม่ใช่ไก่ในเข่ง และผมเชื่อว่า สนช. หลายคนก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นไก่ในเข่ง ถึงแม้จะเป็นสมาชิกสภาไก่ตั้ง แต่สิ่งที่ทำอยู่ทุกนาทีสำหรับพวกเราถ้าจะเป็นไก่ ก็อยากจะบอกว่าเป็น "ไก่นเรศวร" ไก่เหลืองหางขาว ไก่พันธุ์พิษณุโลก ไก่ชนที่พนันเอาบ้านเอาเมืองกันก็ได้ คงไม่ต้องเล่าประวัติความเป็นมาให้มากความ
ปานเทพ - ไม่ใช่ไก่ใส่เกียร์ว่าง
สโรชา - ว่ากันไปตามนั้น แต่ที่แน่ๆ ท่านนายกรัฐมนตรีล่าสุดออกมาบอกว่าพร้อม ถ้าจะให้ชี้แจงต่อสภาก็พร้อม เพราะว่าตัวเองยืนอยู่บนความจริง ไม่มีอะไรแอบเเฝง ปกปิดซ่อนเร้น และต่อด้วยว่า คณะรัฐมนตรีก็ทำเหมือนผม เมื่อผมเป็นหัวหน้ารัฐบาลบอกอย่างนี้แล้ว คณะรัฐมนตรีไม่ทำ ผมก็คงไม่ให้อยู่ร่วมด้วย
คำนูณ - พูดแค่นี้ก็จบ
ปานเทพ - ก็เป็นคำเท่ๆ อีกชุดหนึ่ง
สโรชา - ฟังแล้วก็เป็นคำที่ฟังดูดีอีกชุดหนึ่ง ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดการใช่ไหมว่าจะเข้าชื่อกันหรือไม่อย่างไร
คำนูณ - ที่จริงก็เป็นเพียงการหารือ การแสดงความเห็นของสมาชิกบางท่าน คุณไพศาล พืชมงคล คุณประพันธ์ คูณมี พอมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็พลิกดูและให้ความเห็นกัน และค่อยค้นพบทีละนิดทีละหน่อยว่าอันนี้ทำได้ ทำไม่ได้ โดยสรุปคือไม่ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญที่ไหนตีความหรอก มันชัดเจนอยู่ว่าเข้าชื่อกันได้ ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพียงแต่ว่าการลงมตินั้นจะไม่มีผลทำให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ก็มีอยู่เท่านั้น ส่วนหนึ่งเลยเห็นว่าในเมื่อมันไม่มีผล จะไปเปิดทำไม อีกส่วนหนึ่งก็บอกว่า มีผลสิ ผลที่ได้พูด ได้ซักถาม
ปานเทพ - ได้แสดงความเห็นให้ประชาชนรู้
สโรชา - หรือแม้กระทั่งให้เขามาชี้แจง
คำนูณ - ได้ให้โอกาสรัฐบาลมาชี้แจง สมาชิกบางส่วนก็บอกว่ามันเป็นการใช้สิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าจะเอาแบบนั้นก็ใช้สิทธิในฐานะ ส.ว. ขอเปิดอภิปรายโดยไม่มีการลงมติ จะดีไหม อันนี้ก็พูดกันไป เพียงแต่ว่ายังไม่มีการสรุปหรือว่าหารือกันว่าที่สุดแล้วจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาก็ทำไปครั้งหนึ่งกรณีค่าเงินบาทท จะมีการทำอีกหรือไม่ก็ต้องรอเวลาให้สถานการณ์คลี่คลายไป แต่ผมเชื่อว่า พอพูดว่า "ไก่ในเข่ง" คนอยากทำคงมีมากขึ้น เพราะประโยคนี้ เขาจะได้ให้เห็นฤทธิ์ว่าไก่นเรศวรจะเอาบ้านเอาเมืองกันสักหน่อยได้ไหม
สโรชา - วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน เรียกสั้นๆ ว่า คตน. ประชุมกันนัดแรกในวันนี้ ประชุมกัน 13 คน มากันพร้อมหน้า และมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 6 ชุด โดย 2 ใน 6 มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบผู้รับผิดชอบเชิงนโยบาย มีคุณจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน อีกชุดหนึ่งเป็นคณะอนุกรรมการศึกษาและวิจัยมาตรการทำความเข้าใจต่อนานาชาติ มี อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิก เป็นประธาน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น จะมีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 กันยายน และจากนั้นไปจะประชุมกันเดือนละ 2 ครั้งคือเสาร์เว้นเสาร์ เพื่อจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ที่จะนำเสนอรัฐบาล
ปานเทพ - เรื่องการฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด ถ้าใครจำได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้มีกระแสพระราชดำรัส ถึงคุณทักษิณและถึงรัฐบาล ให้ช่วยกันตรวจสอบตั้งคณะกรรมการตรวจสอบดูว่า จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น จะได้บอกกับประชาคมโลก จำได้ไหม หลายปีแล้ว ไม่มีรายงานออกมาเลยว่าเป็นอย่างไร และไม่มีความชัดเจนว่าตกลงแล้วมีฆ่ากันเองกี่คน มีการฆ่าผิดตัวกี่คน เขาเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ไม่มีใครพิสูจน์ออกมาเลย นี่ก็หลายปีแล้ว อย่างน้อยการเริ่มต้นที่อาจจะดูช้าไปสักหน่อย ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ดี บางส่วนก็สามารถหาชมได้ที่รายการ ASTV ทำเป็นสารคดีหลายตอนแล้ว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันนำเสนอข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น มีคนทุกข์ทรมานจากการฆ่าผิดตัว หรือใส่ความทำให้เขาคิดว่าเป็นคนค้ายาเสพติด ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำ มีคนเดือดร้อนไม่น้อยในกรณีเหล่านี้ ก็ดีครับ ทำให้เกิดความชัดเจนครับ
สโรชา - มีคุณผู้ชมจากทางบ้านบอกว่าตอนนี้ที่อีสานเกิดนอมินีทักษิณขึ้นมาเยอะแยะมากมาย รวมถึงนอมินีตัวจริงด้วย จากกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ดบอกว่าก่อนที่สุนัขจะถูกจับเข้าขังกรง มันจะดุมาก แต่พออยู่ในกรงแล้วมันจะสงบเงียบ อยากให้นักการเมืองทั้งหลายได้ดูเอาไว้ มีคนถามจาก กทม. ว่าวันศุกร์นี้จะมีคุณสนธิหรือเปล่า มีนะคะ ยืนยันว่าอย่างที่สัญญากันไว้เราจะนำเทปที่ไปปราศรัยที่สหรัฐอเมริกามาฝากกัน วันศุกร์เวลา 20.30 น. จะได้พบกับคุณสนธิ ส่วนตัวจริงเสียงจริงจะกลับมาวันที่ 7 กันยายน คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น หมดเวลาแล้วสำหรับยามเฝ้าแผ่นดินในวันนี้ กลับมาพบกับพวกเราทั้งสามคนได้กันใหม่ในวันพรุ่งนี้ สวัสดีค่ะ / สวัสดีครับ