xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึก “สนธิ” ยื่น ผบ.สส.ปกป้องเขตแดนทางทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่แสดงเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปตกลงกับนายฮุนเซน และทำให้ใทยต้องแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเกาะกูดให้กัมพูชา
จดหมายเปิดผนึก




บ้านพระอาทิตย์
102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

14 กันยายน 2549

คลิกที่นี่ เพื่อฟังการแถลงข่าวจาก สนธิ ลิ้มทองกุล

เรื่อง เรียกร้องขอให้ให้ทหารหาญของชาติ แสดงจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ชาติ จากกรณีการเร่งรัดแบ่งเขตแดนทางทะเล ไทย-กัมพูชา

เรียน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด – ผ่านไปยังพี่น้องทหารหาญในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกท่าน

ตามที่ได้เป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปแล้วว่า การเดินทางไปเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมานนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเร่งเจรจาปัญหาการปักปันเขตแดนทางบก และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล โดยมุ่งหวังจะเร่งให้เกิดการเปิดสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน

ราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาและกำหนดพิกัดเขตแดน ตลอดแนวพรมแดน 798 กิโลเมตร ทั้ง 73 หลักเขต ที่ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน 2543) แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเขตแดนทางทะเลกลับมีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากกว่า สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2515 ที่ราชอาณาจักรกัมพูชาประกาศเขตทางทะเลฝ่ายเดียว โดยวัดจากหลักเขตที่ 73 บ้านหาดเล็ก อำเภอหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นแนวเส้นตรงพาดผ่านเกาะกูด และวกลงใต้ลากยาวขนานกับชายฝั่งอ่าวไทยจนถึงบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ต่อมาเมื่อปี 2516 ราชอาณาจักรไทยได้ประกาศเขตทางทะเล ที่มีเขตแดนเป็นคนละเส้นกับที่ราชอาณาจักรกัมพูชาได้ประกาศไว้ ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลอย่างเป็นทางการมาแล้ว 3 ครั้ง คือ เมื่อเดือนธันวาคม 2516 เดือนเมษายน 2538 และเดือนกรกฎาคม 2538 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

พื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา อันเป็นปมปัญหาให้ต้องเจรจากันดังกล่าวนี้มีพื้นที่ประมาณ 25,789 ตารางกิโลเมตร เป็นที่รับรู้กันทั่วว่าเป็นแหล่งที่คาดว่าจะมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแหล่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี มีความพยายามจะเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลดังกล่าวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการเตรียมการจะหาประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรดังกล่าวพร้อมกันไป ดังจะเห็นได้จากข่าวที่นายโมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ และสโมสรฟุตบอลฟูแลม ในประเทศอังกฤษ เดินทางมาประเทศไทยในฐานะแขกส่วนตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2543 ในชั้นแรกก็อ้างว่าเพื่อสังเกตการณ์พัฒนาการฟุตบอลไทย โดยได้ร่วมมือกับโครงการของพรรคไทยรักไทยส่งนักฟุตบอลเยาวชนไปฝึกที่อังกฤษ แต่ในชั้นต่อมาก็มีข่าวว่านายโมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด มีความสนใจที่จะร่วมลงทุนในกิจการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันในอ่าวไทย และเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ด้วย

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ด้วยการมีบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ยังผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ เดือนธันวาคม 2544 นับจากนั้นมา การเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล ไทย-กัมพูชาได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดจากผู้ที่รักชาติรักแผ่นดิน เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนของตนเอง โดยเฉพาะฝ่ายไทย ยืนยันที่จะดำรงสิทธิและอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด ซึ่งมีหลักฐานที่พิสูจน์ชัดทั้งทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางวัฒนธรรมว่า ดินแดนตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ จนทำให้ต้องมีการกันพื้นที่ในการเจรจาออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป เป็นจุดที่ยากจะเจรจาลงตัว
2. ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ทับซ้อน ที่กำหนดให้มีการพัฒนาร่วม

คณะทำงานฝ่ายต่างๆ อาทิ คณะนายทหารกรมแผนที่ทหาร นายทหารจากกองทัพเรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ และข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ พยายามดำเนินการเจรจาปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความยากลำบาก และด้วยเจตจำนงที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างเต็มที่

จนกระทั่ง การเดินทางไปราชอาณาจักรกัมพูชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ได้มีกระบวนการเร่งรัดให้การเจรจาปักปันเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพียงเพื่อหวังให้มีการเจรจาเปิดสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA เป็นหลัก การเร่งรัดที่มีเป้าหมายดั่งว่านั้น ทำให้คณะทำงานฝ่ายไทยที่พยายามจะกันประเด็นละเอียดอ่อนที่ยังตกลงไม่ได้ออกมาก่อนในหลายประเด็น จำเป็นต้องรื้อเรื่องดังกล่าวกลับมาเร่งเจรจา เพื่อให้ได้ข้อตกลงกับราชอาณาจักรกัมพูชาตามที่รัฐบาลกำหนด

ผมทราบมาว่า นายทหารหาญของกองทัพไทยที่ได้รับการปลูกฝังให้พิทักษ์ผืนแผ่นดินและน้ำทุกๆ ตารางนิ้วหลายคน มีความกังวลใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่า หากราชอาณาจักรไทย “ยอมรับ” เขตแนวพื้นที่พัฒนาร่วมใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เพื่อเร่งเปิดสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ก็เท่ากับเป็นการ “ยอมรับโดยปริยาย” ในเส้นแบ่งเขตแดนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ซึ่งจะทำให้การเจรจาเรื่องเขตแดนช่วงดังกล่าวมีความยากลำบากขึ้นหลายเท่า หรืออาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือการเร่งรัดให้ราชอาณาจักรไทยยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ราชอาณาจักรกัมพูชาขีดทาบทับเกาะกูดในการเจรจารอบต่อๆ ไปนั่นเอง

ในอดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ผู้ทรงเป็นพระบิดาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เคยทรงตรอมพระทัยเศร้าโศกอย่างยิ่งยวดในครั้งที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับมหาอำนาจ เมื่อ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ถึงขนาดที่ทรงพระประชวรหนัก ไม่เสวยพระโอสถ ไม่โปรดให้บุคคลใกล้ชิดเฝ้า จนเป็นที่ปริวิตกแก่บรรดาเจ้านายและข้าราชการบริพารที่เฝ้าดูพระอาการของท่านอยู่ ทรงพระราชนิพนธ์โคลง-ฉันท์ “ลาสวรรคต” พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์สองสามพระองค์ โดยทรงเปรียบสถานการณ์เหมือนกับครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียให้พม่า ทรงเปรียบพระองค์เหมือนกับขุนหลวง 2 พระองค์ คือ ขุนหลวงหาวัด และขุนหลวงเอกทัศน์ ที่เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สามารถรักษาบ้านเมืองได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นยังตราตรึงเป็นที่ประจักษ์ในจิตใจของทหารหาญแห่งกองทัพไทยทุกผู้ทุกเหล่า

กระนั้น ก็ยังคงมีเหตุการณ์ให้ราชอาณาจักรไทยมีอันต้องเสียดินแดนอีกครั้งหนึ่งจนได้ โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 อันเนื่องมาจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้พิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหาร พื้นที่ประมาณ 150 ไร่ เป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา ยังความเจ็บปวดช้ำให้กับชนชาวไทยที่ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้คณะทนายความไปสู้คดีสำคัญแทนคนไทยทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี การเสียดินแดนครั้งสำคัญ 2 ครั้งที่ยกตัวอย่างมาก็เป็นไปด้วยเหตุสุดวิสัย ครั้งแรกเป็นไปด้วยความจำเป็นเพื่อรักษาเอกราชของราชอาณาจักรไทยโดยรวมไว้ เสมือนเป็นการจำใจตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ในครั้งต่อมา เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิคเรื่องการทำแผนที่ เพราะฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำแผนที่ไว้ และรัฐบาลรวมทั้งประชาชนชาวไทยทั้งมวลได้ร่วมกันต่อสู้ตามกฎกติการะหว่างประเทศอย่างถึงที่สุดแล้ว

กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การเสียดินแดนครั้งสำคัญ 2 ครั้งที่ยกตัวอย่างมา และครั้งอื่นๆ ล้วนถือเป็นความเจ็บช้ำที่เกิดจากคนภายนอก หรือมหาอำนาจต่างชาติ หยิบยื่นให้กับประชาชนชาวไทย

แต่ในครั้งล่าสุดที่กำลังจะเป็นปัญหาอยู่นี้ หากว่าราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนเหนือเกาะกูด และในผืนน้ำของอ่าวไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว โดยเกิดจากวาระซ่อนเร้นของกลุ่มผลประโยชน์ที่ครองอำนาจรัฐอยู่ด้วยความฉ้อฉล จะต้องถือว่าราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนอีกครั้งหนึ่งโดยน้ำมือของคนในชาติโดยแท้ ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะเจ็บช้ำยิ่งกว่ากรณี ร.ศ.112 และคดีเขาพระวิหารอีกสักกี่ทบเท่า!

โดยฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชนที่ร่วมติดตามรับชมรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” กระผมขอเรียกร้องมายังพี่น้องทหารหาญทุกหมู่เหล่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ผืนแผ่นดินทุกตารางนิ้วของราชอาณาจักรไทย ได้ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ และป้องกันการเจรจาแบ่งปันเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด หากมีเหตุผิดปกติอันเกิดจากกลุ่มอำนาจอาธรรม์เร่งรัดให้คณะทำงานฝ่ายไทยยินยอมตามข้อเสนอใดๆ ที่ไม่ยินยอมมาก่อน ขอให้พี่น้องทหารหาญทุกหมู่เหล่าช่วยกันแก้ปัญไขหาดังกล่าวนี้ในทุกวิถีทางอย่างสุดความสามารถ เพื่อมิให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิให้พระองค์ต้องทรงโศกเศร้าพระทัย ซ้ำรอยสมเด็จพระเมื่อครั้งราชอาณาจักรสยามประเทศเสียดินแดน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และร่วมใจกันดำเนินการปกป้องมาตุภูมิ เพื่อถวายเป็นราชพลีแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อลูกหลานไทยในภายภาคหน้าสืบไป


ขอแสดงความนับถือ

(นายสนธิ ลิ้มทองกุล)
ผู้ดำเนินรายการ
เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร

กำลังโหลดความคิดเห็น