xs
xsm
sm
md
lg

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526-2537

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของพสกนิกรและได้เสด็จพระราชดำเนินออกตรวจสภาพน้ำท่วม จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2523 และวันที่ 16 ธันวาคม 2523 ได้มีรับสั่งให้หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าฯ เพื่อร่วมปรึกษาและพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้ได้ผลดียิ่งขึ้นและมีพระราชดำริถึงวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านตะวันออก 5 ประการ ดังนี้

1. เร่งระบายน้ำให้ออกสู่ทะเล โดยผ่านแนวคลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

2. กำหนดให้มีเขตพื้นที่สีเขียว (Green Belt) เพื่อป้องกันการขยายตัวของเมืองและเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำได้ด้วย เมื่อมีน้ำหลาก

3. สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตชุมชนกรุงเทพมหานคร

4. สร้างสถานที่กักเก็บน้ำตามจุดต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

5. ขยายทางน้ำหรือเปิดทางน้ำในจุดที่ผ่านทางหลวงหรือทางรถไฟ

หน่วยงานและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแผนงานและโครงการ เพื่อดำเนินการตามพระราชดำริ คือ

- การสร้างคันกั้นน้ำ โดยปรับปรุงแนวถนนเดิม คือ ถนนร่มเกล้าและถนนกิ่งแก้ว และก่อสร้างคันกั้นน้ำเพิ่มเติมช่วงที่ไม่มีถนน เพื่อให้บรรจบเป็นแนวคันกั้นน้ำยาวทั้งสิ้นประมาณ 72 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารบังคับน้ำตามแนวคันกั้นน้ำและปลายคลองติดกับทะเลรวมทั้งสิ้น 43 แห่ง

- กำหนดเขตพื้นที่สีเขียว โดยการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในท้องที่เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการขยายตัวเมืองและเพื่อสามารถแปรสภาพพื้นที่เป็นทางระบายน้ำได้

- ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำเพื่อระบายลงสู่ทะเล รวม 19 คลอง และส่วนที่อยู่ด้านในคันอีก จำนวน 22 คลอง

- การขุดลอกบึงและสถานที่เก็บน้ำโดยดำเนินการขุดบึงรวม 2 แห่ง คือ บึงกุ่ม เขตบึงกุ่มและบึงบ้านม้า เขตสวนหลวง

- ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวงก็ได้มีแผนงานที่จะดำเนินการ รวม 4 แห่ง

ต่อมา อีกเพียง 2 ปี ได้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัยและบริเวณลาดพร้าว และในวันที่ 23 ตุลาคม2525 เวลา 18.45 น. พระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเรือเอกเทียม มกรานนท์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลรายงานผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะบริเวณลาดพร้าวซอยศูนย์วิจัยและห้วยขวาง

เนื่องจากทรงห่วงใยว่าน้ำท่วมในบริเวณดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้วอันอาจจะทำให้เกิดสภาพน้ำเน่าเสียและก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นและพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

- ขุดลอกคลองแสนแสบ ตั้งแต่คลองตันจรดคลองผดุงกรุงเกษม

- ขุดลอกคลองผดุงกรุงเกษมตั้งแต่แยกคลองแสนแสบ จรดสถานีสูบน้ำกรุงเกษมโดยเฉพาะบริเวณใต้สะพานที่ตื้นเขิน

- ปรับปรุงคลองเพื่อผันน้ำจากคลองแสนแสบไปสู่อุโมงค์ระบายน้ำคลองอรชรของโครงการระบายน้ำพระราม 4

- ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำจากคลองแสนแสบที่บริเวณข้างสะพานรถไฟสายมักกะสันคลองเตยและเชื่อมต่อกับอุโมงค์ระบายน้ำของโครงการระบายน้ำพระราม 4

- พิจารณาขุดลอกคลองกะจะและคลองตอนเหนือคลองกะจะและปรับปรุงให้ท่อระบายน้ำออกสู่ทิศตะวันออกและทิศใต้ โดยไม่ต้องระบายลงสู่คลองแสนแสบ

- ทำการถ่ายเทน้ำในคลองใหญ่ต่างๆ ให้มีความสะอาด และสวยงามมากขึ้น

- เร่งรัดการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ ปี 2523 โดยเร็ว

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2538 ได้เกิดน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วม โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร พระองค์จึงมีพระราชดำริให้สูบน้ำผลักดันน้ำเพื่อให้ไปลงทะเลแถบจังหวัดสมุทรปราการและมีพระกระแสรับสั่งถึงเรื่องการรักษาสภาพของบางกระเจ้าจังหวัดสมุทรปราการ

ในปี พ.ศ. 2538 กรุงเทพมหานครได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมดไปสนับสนุนกรมชลประทานระบายน้ำทะเลฝั่งตะวันออกจนหมดแล้ว และจัดซื้อเพิ่มเติมในท้องตลาดไม่ได้ เพราะสินค้าขาดตลาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า ให้ไปหาซื้อที่ประเทศสิงคโปร์แทน โดยมูลนิธิชัยพัฒนาจะให้เงินสำรองจ่ายไปก่อน

ต่อมา พล.อ. ม.ร.ว. วิชัย ชยางกูร ราชองครักษ์เป็นผู้ประสานงานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเงินจากมูลนิธิชัยพัฒนาสำรองจ่ายในการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถสูบน้ำได้วินาทีละ 3 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 10 เครื่อง หากสามารถซื้อได้จะขอความร่วมมือไปยังกองทัพอากาศนำเครื่องบินไปขนมา และให้กรมชลประทานนำไปติดตั้งตามคลองด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งระบายน้ำลงทะเล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงปัญหาน้ำท่วมด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครมากรับสั่งให้ทหารราชองครักษ์หมั่นออกไปตรวจสอบการระบายน้ำในช่วงดึกตลอดเวลาและทรงกำชับว่า ในช่วงน้ำลง แม้ระดับน้ำจะลด เพียง 1-2 เซนติเมตร หากระบายน้ำออกได้ก็ให้เปิดประตูระบายน้ำให้ ไหลออกเอง เพราะจะช่วยระบายน้ำได้มากขึ้นจากเดิมที่ใช้เฉพาะเครื่องสูบน้ำเท่านั้น กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาวตามแนวพระราชดำริในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม คือ

-โครงการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบบริเวณคลองบางกะปิในเขตห้วยขวางโดยเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากสภาพคลองแสนแสบในช่วงตั้งแต่คลองบางกะปิจนถึงคลองตัน ตลิ่งมีระดับต่ำมากหากก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบ ณ บริเวณคลองบางกะปิแล้วจะสามารถระบายน้ำจากคลองบางกะปิลงสู่คลองแสนแสบได้อย่างเต็มที่ตลอดเวลาซึ่งจะทำให้ สภาพน้ำท่วมขังบริเวณศูนย์วิจัยลาดพร้าวและบางกะปิลดลงได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำคลองแสนแสบดังกล่าวนั้น ให้กรุงเทพมหานคร กองกำลังรักษาพระนคร และกรมชลประทานร่วมกันดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

-โครงการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง บริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการปรับปรุงคลองธรรมชาติสายต่างๆ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของถนนสายบางกะปิ – บางนา เช่น คลองหนองบอน คลองสาหร่าย คลองชวดลากข้าวและคลองลาดกระบังโดยการกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และให้พิจารณาปรับปรุงท่อลอดถนน ตลอดจนร่องน้ำใต้สะพาน คลองธรรมชาติสายต่างๆ ตามทางหลวงสายบางนา – ตราด เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้โดยสะดวก

หากท่อลอดถนนแห่งใดน้ำไหลช้าก็ให้พิจารณาใช้เครื่องยนต์ติดใบพัดแบบเรือหางยาวผลักดันน้ำผ่านท่อลอดต่างๆ ดังกล่าวเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ในปริมาณเพิ่มขึ้น โดยออกแบบให้ใบพัดมีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม สามารถผลักดันน้ำผ่านท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผันน้ำทุ่งจากพื้นที่เพาะปลูกรอบนอกไม่ให้ไหลเข้ามาเสริมในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นให้พิจารณาหาทางระบายน้ำออกจากทุ่งพระโขนงลงสู่คลองบางอ้อ และคลองบางจากอย่างเต็มที่โดยดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางท่อลอดถนนสุขุมวิทของคลองบางอ้อและท่อลอดถนนทางด่วนของคลองบางจาก ตลอดจนใช้เครื่องสูบน้ำช่วยเพื่อระบายน้ำออกจากทุ่งพระโขนงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทางหนึ่งด้วย

-โครงการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง บริเวณย่านพระโขนง-บางนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ทำนบทั้ง 3 แห่งเพิ่มขึ้นให้เต็มที่และทำการขุดลอกขยายคลองเจ็ก คลองบางจาก คลองบางอ้อน้อยและคลองบางอ้อใหญ่ ตั้งแต่ทำนบของคลองต่างๆ ดังกล่าวนี้ขึ้นไปจนจรดถนนสุขุมวิท ตลอดจนการปรับรุงท่อลอดถนนสุขุมวิทและท่อลอดทางด่วนพิเศษที่จะระบายน้ำลงสู่คลองต่างๆ ให้น้ำไหลผ่านท่อลอดได้โดยสะดวก และรวดเร็วด้วย เพื่อให้สามารถชักน้ำจากพื้นที่บริเวณที่มีสภาพน้ำท่วมขังย่านพระโขนง บางนาลงสู่คลองต่างๆดังกล่าว แล้วระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มที่ต่อไป

ตลอดจน ให้พิจารณาปรับปรุงและขุดลอกขยายคูข้างถนนสรรพาวุธด้านทิศเหนือเพื่อชักน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณสี่แยกบางนาให้ไหลผ่านท่อลอดถนนสรรพาวุธลงสู่คลองบางนาและไหลผ่านท่อลอดถนนทางรถไฟสายเก่าตั้งแต่สี่แยกบางนาในจนจรดคลองพระโขนงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่บรรจบกับซอย 50 ของถนนสุขุมวิทซึ่งมีระดับต่ำมากและล้นคันกั้นน้ำด้านทิศใต้ของคลองพระโขนงตั้งแต่ถนนทางรถไฟสายเก่าจนจรดประตูน้ำพระโขนงเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นคันกั้นน้ำเข้าไปสู่เขตชุมชนย่านพระโขนง – บางนา

-โครงการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมในเขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม และเขตบางขุนเทียน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการปรับปรุงขุดลอกขยายคลองสายต่างๆ เช่นคลองพระยาราชมนตรี คลองศิริธร คลองหมื่นแช่ม คลองรางขี้เหล็ก คลองตาปลั่ง และให้ พิจารณาใช้เครื่องผลักดันน้ำที่ท่อลอดถนนและท่อลอดทางรถไฟข้างคลองสายต่างๆตลอดจนที่ประตูระบายน้ำปลายคลองพระยาราชมนตรีที่แคบและน้ำไหลช้า ทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น และสามารถระบายน้ำได้มากขึ้น

นอกจากนั้นให้พิจารณาขุดทางระบายน้ำเพิ่มที่ประตูระบายน้ำปลายคลองพระยาราชมนตรี เพื่อให้น้ำจากคลองพระยาราชมนตรีระบายลงสู่คลองสนามชัยได้เพิ่มขึ้นด้วย

-โครงการแก้มลิง

1. โครงการแก้มลิงตะวันตก

เมื่อวันที่ 5, 9, 12 และ 24 กุมภาพันธ์ 2539 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำริแก่นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เร่งศึกษา และพิจารณาดำเนินการ โครงการแก้มลิงตะวันตก"คลองมหาชัย – สนามชัย"

เนื่องจากเป็นแหล่งรับน้ำใกล้ บริเวณที่น้ำท่วมขังในเขตจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยบรรเทา ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก ลักษณะของโครงการประกอบด้วยประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่างๆ พร้อมสร้างสถานีสูบน้ำและขุดลอกคลอง ทั้งนี้เพื่อรวบรวมน้ำ รับและดึงน้ำ ที่ท่วมขังพื้นที่ทางตอนบนมาเก็บไว้พร้อมกับระบายออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะขึ้นลงของน้ำทะเลโดยอาศัย แรงโน้มถ่วงของโลก และการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกัน

กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายให้ทำการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำที่บริเวณคลองขุนราชพินิจ และคลองลูกวัวดังนี้

1. ก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองขุนราชพินิจ ขนาดบาน กว้าง 6.00 เมตร จำนวน 3 ช่องพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ม3/วินาที จำนวน 5 เครื่อง

2. ก่อสร้างประตูเรือสัญจรคลองลูกวัวเก่า ขนาดบานกว้าง 3.00 เมตร 1 ช่อง 2 แห่ง

3. ก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองลูกวัว ขนาดบานกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 2 ช่อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ม3/วินาที จำนวน 1 เครื่อง

4. ก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองแยกคลองเชิงตาแพ ขนาดบานกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 1ช่อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ม3/วินาที จำนวน 1 เครื่อง

(ใช้งบประมาณ 46 ล้านบาท เริ่มดำเนินการ 20 กรกฎาคม 2539 แล้วเสร็จ 15 กันยายน 2539)

นอกจากการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำตามโครงการเร่งด่วนดังกล่าว กรุงเทพมหานครกำลังจัดทำ Master Plan ของโครงการแก้มลิงในพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพมหานครด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

2. โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออก

กรุงเทพมหานคร ได้ทำการศึกษาและวาง Master Plan ของโครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีเป้าหมายให้สามารถเก็บน้ำได้รวมประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้วดังนี้

2.1 ได้มีการก่อสร้าง บึงรับน้ำ 6 บึง เพื่อใช้เป็น แก้มลิง โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2542 คือ บึงพังพวย บึงทรงกระเทียม บึงพิบูลย์วัฒนา บึงกุ่ม บึงพล ม2 และบึงหนองบอน ซึ่งจะรับน้ำได้ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.2 อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาพื้นที่รับน้ำเพิ่มอีก 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสำรวจพบว่าที่ดินมีลักษณะเป็นบึงอยู่แล้ว จำนวน 14 แห่ง แต่เป็นที่ดินของเอกชน จึงจะใช้วิธีดำเนินการตามลำดับดังนี้

1. ขอใช้ที่ดิน

2. ขอซื้อหรือเช่า

3. การเวนคืน

4. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำ "แก้มลิง" เอกชน

ข้อมูล : http://www.bma.go.th/html/page60.html
กำลังโหลดความคิดเห็น