พระราชดำรัส
ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (นายอักขราทร จุฬารัตน) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันอังคาร ที่ 25 เมษายน 2549
(อย่างไม่เป็นทางการ)
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก่คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ที่ได้ปฏิญาณนั้นมีความสำคัญมาก เพราะว่ากว้างขวาง หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก. ซึ่งเกรงว่าท่านอาจจะนึกว่าหน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก
ในเวลานี้ อาจจะไม่ควรจะพูด แต่อย่างเมื่อเช้านี้เอง ได้ยินเขาพูดเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนน ได้แต้มไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาเลือกตั้งอยู่คนเดียวซึ่งมีความสำคัญ. เพราะว่าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาคนเดียว ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบสมบูรณ์.ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับท่านหรือเปล่า. แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยดำเนินการไม่ได้. แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณเมื่อตะกี้นี้ ก็เป็นหมัน. ถึงบอกว่าจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้. ท่านก็เลยทำงานไม่ได้. และถ้าท่านทำงานไม่ได้ ก็มีทางหนึ่งท่านอาจจะต้องลาออก เพราะไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา. ที่มีอยู่ต้องหาทางแก้ไขได้ เขาอาจจะบอกว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เรื่องของตัว. ศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ. ร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง. เลยขอร้องว่าท่านอย่าไปทอดทิ้งความปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการผ่านออกไปได้
แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะ ที่บอกว่ามีการยุบสภาและต้อง ต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่. ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย. ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข. แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร. ซึ่งท่านจะมี จะมีสิทธิที่จะบอกว่า อะไรที่ควร. ที่ไม่ควร ไม่ได้ว่าบอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้. คือการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียวคนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป ทั่ว. แต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้. ไม่ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย. เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็พูดกันเองว่าท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี. ตรงนี้ขอฝาก อย่างดีที่สุดถ้าเกิดท่านจะทำได้. ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้. ตะกี้ที่ปฏิญาณไปดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ.
ฉะนั้นก็ตั้งแต่ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่ ที่นบพิตำ กรณีที่จังหวัด อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. อันนั้นไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีอีกหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะ ที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง. ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่า เกี่ยวข้องอย่างไร ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่. แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านก็ลาออกดีกว่า. ท่านผู้ที่เป็นผู้ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้. หรือมิฉะนั้นก็ต้องไปปรึกษากับท่านผู้พิพากษาที่จะเข้ามาต่อมา. ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน. ก็ปรึกษากัน 4 คน ก็ท่านปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่าน ก็เป็นจำนวนหลายคนที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความและ มีหน้าที่ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป. ฉะนั้นก็ขอฝาก คุณอักขราทร ก็ต้องไปพูดกับสมาชิกอื่นๆ ด้วย ก็จะขอบใจมาก.
เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย. มีของเรามีศาลหลายชนิด มากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้. นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้. แล้วก็ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำตามมาตรา 7 มาตรา 7 ของ รัฐธรรมนูญ. ซึ่งขอยืนยัน ยืนยันว่า มาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่. มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง. ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่. ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่. ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย.
เขาอ้างถึงเมื่อครั้งก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์. ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์. ตอนนั้นมีสภา สภามีอยู่ ประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ แล้วก็รองประธานสภาทำหน้าที่ แล้วมีนายก ที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น. ไม่ ไม่ได้หมายความว่าที่ทำครั้งนั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่. ตอนนั้นเขาไม่ใช่นายกพระราชทาน. นายกพระราชทานหมายความว่าตั้งนายกโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย. ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์. เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับตั้งเป็นนายก เป็นนายกที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ นายทวี แรงขำ. ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย. ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็ทราบมี มีกฎเกณฑ์ที่รองรับ แล้วก็งานอื่นๆ ก็มี. แม้จะที่เรียกว่าสภาสนามม้า ก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนอง. นายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับสนองพระบรมราชโองการ. ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้อง ตามครรลองของรัฐธรรมนูญ. แต่ครั้งนี้ก็เขาจะให้ทำอะไรผิด ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด.
ฉะนั้นก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งที่เป็นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองได้. ขอขอบใจท่าน.
พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา (นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันอังคาร ที่ 25 เมษายน 2549
(อย่างไม่เป็นทางการ)
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก่คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา
ถ้าจะปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เมื่อตะกี้พูดกับผู้พิพากษาศาลปกครองก็ต้องขอให้ เดี๋ยวไป ไปปรึกษากับท่าน. เพราะว่าสำคัญที่ผู้พิพากษาทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา เพราะประธานศาลฎีกาเป็นโดยเฉพาะ. ในปัจจุบันนี้มีปัญหาด้านกฎหมายที่สำคัญมาก คือว่าถ้าไม่ได้ปฏิบัติ จะปฏิบัติตามที่ท่านได้ปฏิญาณว่าจะทำให้ประเทศชาติปกครองได้โดยแบบประชาธิปไตย. คือ เวลานี้ มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง. แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย. ฉะนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากัน ผู้ที่มีหน้าที่ในทางศาลปกครอง ในทางศาลอย่างที่มาเมื่อตะกี้ เพื่อที่จะเป็นครบ เป็นสิ่งที่ครบ. แต่ก่อนนี้มี มีอย่างเดียวมีศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา ศาลแพ่ง เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างอันนับไม่ถูก. ก็เมื่อมีก็ต้องให้ไปดำเนินการด้วยดี. ดังนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่นๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้. อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกพระราชทาน เพราะขอนายกพระราชทาน ไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย.
ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย. ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด. มันอ้างไม่ได้. มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากจะได้นายกพระราชทานเป็นต้น. จะขอนายกพระราชทานไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษพูด แบบมั่ว แบบไม่มี ไม่มีเหตุมีผล. สำคัญอยู่ที่ท่านที่เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา มีสมองที่ ที่แจ่มใส สามารถ ควรที่จะสามารถที่จะไปคิดวิธีที่จะปฏิบัติ. คือ ปกครองต้องมี ต้องมีสภา สภาที่ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วน เขาว่าไม่ได้. แต่ก็เขา แต่อาจจะหาวิธีที่จะ ที่จะตั้งสภาที่ไม่ครบถ้วน และทำงาน ทำงานได้. ก็รู้สึกว่ามั่วอย่างที่ว่า. ต้องขอโทษอีกทีนะ ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบ แบบว่าทำปัดๆ ไป ให้เสร็จๆ ไป. ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ ไม่ ไม่มีหน้าที่ที่จะไปมั่ว.ก็เลยขอร้องฝ่ายศาลให้คิดช่วยกันคิด.
เดี๋ยวนี้ประชาชน ประชาชนทั่วไปเขาหวังในศาล โดยเฉพาะศาลฎีกา. ศาลอื่นๆ เขายังบอกว่าศาล ขึ้นชื่อว่าเป็นศาล ดี ยังมีความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุมีผล และมีความรู้ เพราะท่านได้เรียนรู้กฎหมายมา และพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะต้องศึกษาดี ๆ ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นได้. ถ้าไม่ทำตามหลักกฎหมาย หลักของการปกครองที่ถูกต้อง ประเทศชาติไปไม่รอด. อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่มี ไม่มีสมาชิกสภาถึง 500 คน ทำงานไม่ได้. ก็ต้องพิจารณาดูว่า จะทำยังไงสำหรับให้ทำงานได้.
จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน. เขาอาจจะว่ารัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธย. จริง แต่ลงพระปรมาภิไธยก็เดือดร้อน แต่ว่า ในมาตรา 7 นั้น ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์สั่งได้. ไม่มี ลองไปดู มาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีการบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้. แล้วก็ขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย. พระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่าง. อย่างที่เขาขอบอกว่าให้มี ให้พระราชทานนายกพระราชทาน ไม่เคย ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกแบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการอย่างที่ถูกต้องทุกครั้ง. มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เนี่ยทำตามใจชอบ. ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ. ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ. ถ้าทำไปตามใจชอบ ก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมไปนานแล้ว. แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ. แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็จะต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ว่าทำตามใจชอบ. ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ. ต้องวันนี้น่ะอยู่ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็น เป็นสำคัญที่จะบอกได้. ศาลอื่น ๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไร ไม่มีข้อที่จะอ้างได้มากกว่าศาลฎีกา เพราะว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะมีสิทธิที่จะพูด ที่จะตัดสิน.
ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้ไปพิจารณาดู กลับไปพิจารณา ไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร ต้องรีบทำ ไม่อย่างงั้นบ้านเมืองจะต้องล่มจม. พอดีตะกี้ดู ดูทีวี มีเรือหลายหมื่นตันโดนพายุ จมลงไป 4,000 เมตรในทะเล. เขายังต้องดูว่าเรือนั้นลงไปอย่างไร. เมืองไทยจะจมลงไปลึกกว่า 4,000 เมตร แล้วก็กู้ไม่ได้ กู้ไม่ขึ้น. ฉะนั้นท่านเองก็จะเท่ากับจมลงไป. ประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็จะ จะจมลงไปด้วยในมหาสมุทร. เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุด ที่สุดในโลก. ฉะนั้นท่านก็มีหน้าที่ ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่จะเขาเรียกว่ากู้ชาตินั้นแหละ. เอะอะอะไรก็กู้ชาติ กู้ชาติ กู้ชาตินั่นน่ะ. เดี๋ยวนี้มันยังไม่ได้จม ทำไมคิดถึงจะที่ไปกู้ชาติ. แต่ว่าป้องกันไม่ให้จมลงไป แล้วเราจะต้องกู้ชาติจริงๆ แต่ถ้าจมลงไปแล้วกู้ชาติไม่ได้ จมไปแล้ว. ฉะนั้นก็ไปพิจารณา ดูดีๆ ว่าควรจะทำอะไร ถ้าทำได้ ปรึกษาหารือกันได้จริงๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลกจะอนุโมทนา. อาจจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทยยังมี เรียกว่ายังมีน้ำยา และเป็นคนที่มีความรู้ และตั้งใจที่จะกู้ชาติจริงๆ ถ้าถึงเวลา.
ก็ขอขอบใจท่านที่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่. แล้วก็ทำหน้าที่ดีๆ อย่างนี้ บ้านเมืองก็รอดพ้น ไม่ต้องกลัว. ขอขอบใจที่ท่านพยายามปฏิบัติโดยดี แล้วประชาชนจะอนุโมทนา. ขอบใจแทนประชาชนทั่วทั้งประเทศที่มีผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้มแข็ง ขอบใจ. ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงานด้วยดี มีพลานามัยแข็งแรง ต่อสู้ ต่อสู้นะ ต่อสู้เพื่อความดี ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในประเทศ ขอขอบใจ.
หมายเหตุ - พระราชดำรัส เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้ โดย กองข่าว สำนักราชเลขาธิการ