xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มประชาธิปไตยฯ” เช็ดถูอนุสาวรีย์ ค้านนายกฯ มาตรา 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มประชาธิปไตยประชาชน เช็ดถูอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แสดงการคัดค้านนายกฯ ตามมาตรา 7 ระบุทำประชาธิปไตยถอยหลัง กระทบการเคลื่อนไหวระยะยาว อ้างแม้จะเป็นแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย แต่ความชอบธรรมไม่ได้วัดที่จำนวน พร้อมวอนพันธมิตร ทบทวนแนวทาง “ไม่ชนะไม่เลิก” หวั่นนำสู่ความรุนแรง


เมื่อ 18.30 น.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาธิปไตยประชาชน ประมาณ 20 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยได้ทำการขัดถูอนุสาวรีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเพื่อขอนายกฯพระราชทาน ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เรียกร้องอยู่ในขณะนี้

พร้อมกันนี้ ทางกลุ่มฯได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อแสดงจุดยืนดังกล่าว พร้อมระบุถึงเหตุผลว่าแนวทางการขอนายกฯ พระราชทานเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจเป็นของประชาชนในระยะยาว และดูเหมือนจะเป็นการละทิ้งเจตนารมณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา ถึงแม้ผู้นำการเคลื่อนไหวจะเห็นว่าข้อเรียนร้องนี้จะสามารถระดมพลังสนับสนุนได้มากขึ้นก็ตาม แต่ความชอบธรรมทางการเมืองไม่ได้วัดกันแค่จำนวน เพราะยังมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย

ข้อเรียกร้องดังกล่าวของพันธมิตรจะเป็นการลดทอนพลังของฝ่ายพันธมิตรเอง ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้พันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่มาจากภาค “ประชาชน” ซึ่งเคยประกาศไม่เห็นด้วยกับการขอนายกพระราชทาน ทบทวนมติดังกล่าวโดยทันที

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการต่อสู้ของประชาชน แม้ว่าทางพันธมิตรจะยืนยันหลักการนี้มาตลอด แต่ก็ควรระวังความรุนแรงอาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ภายใต้คำประกาศไม่ชนะไม่เลิก ทำให้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น ทางกลุ่มจึงเรียกร้องขอวิงวอนให้พันธมิตรทบทวนวิธีการ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะมีความเสี่ยงต่อความรุนแรงในทุกวิถีทาง

ทางกลุ่มฯ ยังระบุอีกว่า มิได้หวังที่จะกดดันหรือบั่นทอน “พวกเดียวกัน” แต่อย่างใด หากแต่หวังจะเป็นการช่วยคิดและให้กำลังใจเพื่อนมิตรที่มาจากภาคประชาชน

ทั้งนี้ กลุ่มประชาธิปไตยประชาชน เกิดจากการรวมตัวกันของอดีตนักกิจกรรม และนักพัฒนาเอกชน

แถลงการณ์กลุ่มประชาธิปไตยประชาชน
“หยุดระบอบทักษิณ นายกฯต้องมาจากประชาชน”
“ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด คัดค้านนายกฯพระราชทาน”


ในที่สุดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6/2549 เพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี และเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549

เราในนามกลุ่มประชาธิปไตยประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักศึกษา เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน อดีตนักกิจกรรม และนักพัฒนาเอกชน เห็นว่า

1. เรายังคงยืนยันการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและขอให้ยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมดในทันที

เรายังเห็นด้วยกับข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ให้รัฐบาลในอนาคตยุติการเจรจาทวิภาคีทางการค้ากับต่างประเทศ(FTA) ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นำสัมปทานและกิจการโทรคมนาคมคืนจากกลุ่มทุนต่างชาติ ยกเลิกทบทวนการดำเนินการทางทหารที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในภูมิภาค จัดการกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง การซื้อขายหุ้นและสัมปทานที่ไม่โปร่งใส

โดยข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาโดยเบื้องต้น เพราะรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากตัวบุคคล แต่เกิดจาก “ระบอบทักษิณ” ที่ประกอบด้วยระบบอำนาจนิยมในทางการเมืองและระบบเสรีนิยมใหม่ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งพร้อมที่จะสร้าง “คนอย่างคุณทักษิณ” ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเสมอ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

2. เราขอยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้จะต้องเป็นไปอย่างไร้ความรุนแรง เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือสร้างกิจกรรมที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ

3. ที่สำคัญ เราขอยืนยันจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี เพราะชัยชนะที่แท้นั้นมิใช่เพียงการที่นายกฯ ชื่อทักษิณออกไปเท่านั้น แต่ชัยชนะที่แท้คือการสร้างมาตรฐานใหม่ของการเมืองไทย นั่นคือการสร้างประชาธิปไตยโดยประชาชน การทำลายกติการ่วมของสังคมอย่างรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะไม่สามารถกดดันนายกฯ ทักษิณให้ออกไปได้นั้น ถือเป็นการไม่เคารพกติกา และตัดตอนการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เราขอยืนยันว่า การพิจารณากฎหมายจะต้องพิจารณาทั้งฉบับ การบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 201 วรรค 2 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในปัจจุบันไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติตามมาตราดังกล่าว ฉะนั้นการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในขณะนี้จึงเท่ากับเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 201 อย่างชัดเจน และนั่นหมายถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญ

เราขอให้สังคมไทยพึงระลึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต่อสู้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และการต่อสู้ผลักดันของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อปฏิรูปการเมืองภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เพื่อเรียกร้องให้มี “นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง”

5. เราเห็นว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน นี้ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม เราขอเรียกร้องให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแสดงพลังไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยการกาช่องงดออกสียง เพื่อยืนยันการแสดงอำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อปฏิเสธ พ.ต.ท.ทักษิณ และเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนในขณะเดียวกัน

6. ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้วปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกลับมาเป็นนายกได้อีก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นมลทินในข้อกล่าวหาต่างๆ แต่อย่างใด นั่นหมายความว่าการขับไล่นายกฯ ก็จะต้องมีอยู่ต่อไป ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามหลักการของการไม่ใช้ความรุนแรงและภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประชาชน

7. ปัจจุบันกระแสหลักของการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีอยู่เพียงสองขั้วคือ ฝ่ายหนุนทักษิณและเรียกร้องการเลือกตั้ง และฝ่ายขับไล่นายกฯทักษิณแต่เรียกร้องนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่มีคนอีกจำนวนมากที่มีจุดยืนต่างออกไปคือ “ไม่ต้องการระบอบทักษิณและไม่ต้องการนายกฯพระราชทาน ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยประชาชน” แต่ไม่มีพื้นที่ที่มากพอในที่ชุมนุมทั้งสองฝ่าย

ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ปกป้องประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มุ่งยึดหลักการและคำนึงถึงพัฒนาการของการเมืองของประชาชน เราจึงขอเรียกร้องให้ประชาชนหรือกลุ่มประชาชนต่างๆ ที่ต้องการ “หยุดระบอบทักษิณด้วยพลังประชาชน ไม่เอานายกฯ พระราชทาน” ออกมาแสดงจุดยืนตนเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ไม่ร่วมขบวนแสดงตนขอนายกฯพระราชทาน รวมกลุ่มแสดงตนประกาศไม่เอานายกฯพระราชทาน ใส่สัญลักษณ์สีเขียว ป้ายผ้าสีเขียวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ไม่เอานายกฯพระราชทาน ฯลฯ เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ของประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่ทางการเมืองทางเลือกที่ไปพ้นจากสองขั้วที่มีอยู่

อธิปไตยต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
กลุ่มประชาธิปไตยประชาชน
24 มีนาคม 2549

กำลังโหลดความคิดเห็น