xs
xsm
sm
md
lg

“ความจริง” ที่ “ทักษิณ” ยังไม่ตอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ฯ-นักข่าววิทยุฯ สรุปประเด็นข้อสงสัยต่อการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อน หลังจากได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปตอบคำถามสื่อมวลชนก่อนวันเลือกตั้ง 2 เม.ย.นี้

ตามที่ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาให้ข้อมูลและตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ณ อาคารที่ทำการของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 2 เมษายน เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นที่สาธารณชนสงสัย และยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้คลี่คลายไปด้วยสันติ ในระหว่างที่ทางสมาคมทั้งสองกำลังรอคำตอบจากรัฐบาลอยู่นั้น ทางสมาคมนักข่าวฯ ได้ขอให้บรรณาธิการ และนักข่าวอาวุโสจัดทำเอกสารขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเผยแพร่เป็นการให้ความรู้ ปูความเข้าใจและชี้ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงปมเงื่อนของปัญหาที่เกิดขึ้นและช่วยสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หากพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวน้าพรรคไทยรักไทย ชี้แจงข้อกล่าวหาในการซุกหุ้น และการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ในรายการถึงลูกถึงคน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม การชี้แจงที่สนามหลวงและสาบานต่อหน้าวัดพระแก้ว ท่ามกลางชาวบ้านที่ระดมมาให้กำลังใจเรือนแสนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมาแล้ว สาระสำคัญแทบไม่ได้ต่างจากจดหมายเปิดผนึกที่ พ.ต.ท.ทักษิณทำถึงสมาชิกพรรคก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

เมื่อเอาเข้าจริงปรากฏว่า ในคำชี้แจงดังกล่าวกลับมีข้อสงสัยในหลายประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้ตอบหรือเลือกที่จะพูดความจริงเพียงเสี้ยวเดียว โดยเฉพาะกรณีการโอนหุ้นแบบพิสดารพันลึกของครอบครัวและการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ป ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดดิ้งของสิงคโปร์

ปริศนารอดคดีซุกหุ้น

เรื่องแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงนั้น อ้างว่าวันแรกที่ประกาศลงสนามการเมือง ก็ถูกจ้องเล่นงานด้วยเรื่องหุ้น แต่ในที่สุดก็รอดมาได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตนไม่มีเจตนาปกปิดซุกหุ้น ในประเด็นนี้จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในคำพิพากษาและวิธีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะพบว่าเป็นอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวอ้างหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 พิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิดตามมาตรา 295 ด้วยเสียง 8 ต่อ 7 รอดอย่างหวุดหวิด ทว่าในจำนวน 7 เสียงข้างน้อย ลงมติชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจที่จะปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือจงใจซุกหุ้น มีเพียง 4 เสียงเท่านั้นที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่จงใจซุกหุ้น ดังนั้น เสียงจงใจย่อมมากกว่าไม่จงใจคือ 7 ต่อ 4

ในขณะที่ตุลาการอีก 4 เสียง ไม่ได้พิจารณาในข้อเท็จจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจหรือไม่ เพียงแต่อ้างว่ามาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบังคับใช้กับกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้ เนื่องจากพ้นจากกตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

แต่เมื่อนำเสียงที่พิพากษาว่า มิได้จงใจซุกหุ้น 4 เสียง บวกกับอีก 4 เสียงที่อ้างว่า มาตรา 295 บังคับใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ จึงกลายเป็น 8 เสียง

วิธีการตัดสินคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ซุกหุ้นแหกกฎพลังธรรม

ก่อนที่เกิดปัญหาคดีซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ลืมไปหรือไม่ว่าในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ปี 2537 ครอบครัวชินวัตรนำหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) และบริษัท ยูไนเตดคอมมูนิเกชั่น จำกัด (ยูคอม) ไปใส่ไว้ในชื่อคนรับใช้อย่างน้อย 3 คน คือ “บุญชู เหรียญประดับ” “ชัยรัตน์ เชียงพฤกษ์” “ดวงตา วงศ์ภักดี” มูลค่ารวมกันกว่า 11,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ในหุ้นที่ถืออยู่ในชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในขณะนั้น

แม้รัฐธรรมนูญขณะนั้น มิได้กำหนดให้รัฐมนตรีต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ช่วงเวลาดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังธรรมที่มี “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” เป็นหัวหน้าพรรค

พล.ต.จำลอง ประกาศว่า แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน แต่เพื่อความโปร่งใสรัฐมนตรีของพรรคต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยมีการติดแจ้งประกาศไว้ที่พรรค ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องยอมรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวโดยดุษฎี

เป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณแสดงบัญชีว่าตนมีเงินสดและมีหุ้นมูลค่ามหาศาล แต่กลับไม่เคยแจ้งว่ามีหุ้นที่ฝากไว้กับคนรับใช้กว่า 11,000 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นเมินเฉยต่อกฎเกณฑ์ของพรรคพลังธรรมและเป็นดัชนชี้วัดจริยธรรมตั้งแต่เข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกของ พ.ต.ท.ทักษิณว่าอยู่ในระดับใด

แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยบอกว่าหุ้นที่เอาไปฝากไว้ที่คนรับใช้กว่าหมื่นล้านบาท ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไรและเพื่อประโยชน์อะไร

แม้จะเป็นที่รู้กันว่า หุ้นในชื่อคนรับใช้เหล่านี้สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตรได้มากมายมหาศาล โดยไม่มีใครตรวจสอบหรือรู้ได้ในขณะนั้น (ไม่มีใครตรวจสอบได้) แต่ถ้าหุ้นจำนวนดังกล่าวอยู่ในชื่อของคนในครอบครัวชินวัตรโอกาสที่จะนำไปแสวงหาประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำก็ทำได้ยากมากกว่าฝากไว้ในชื่อคนรับใช้ผู้จงรักภักดีและไม่มีใครรู้จัก

สิ่งสำคัญยังกลายเป็นชนวนเหตุให้คุณหญิงพจมาน ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับเป็นเงิน 6.3 ล้านบาทเศษ เมื่อเดือนตุลาคม 2544 ในฐานความผิดที่ว่าไม่รายงานการซื้อขายหุ้นทุกๆ 5% แต่ ก.ล.ต.ได้ละเว้นโทษการใช้ข้อมูลภายในการซื้อขายหุ้น (อินไซด์เทรดดิ้ง) ในช่วงที่มีมีการเพิ่มทุนบริษัท ชินคอร์ป เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2536 ทำให้ครอบครัวชินวัตรซื้อหุ้นเพิ่มทุนผ่านคนรับใช้ในราคาถูกได้ประโยชน์มหาศาล

ข้ออ้างของ ของ ก.ล.ต.คือ เอกสารซื้อหุ้นหายเพราะโบรกเกอร์ถูกปิดไปในช่วงวิกฤติปี 2540

ขายหุ้นให้ลูกชายจริงหรือ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงว่า หลังวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ไม่มีหุ้นในมือแม้แต่หุ้นเดียว เนื่องจากได้มีการโอนหุ้นให้แก่ลูกชาย (นายพานทองแท้ ชินวัตร) หมดแล้ว

แต่ในข้อเท็จจริง สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยปริปากบอกต่อสาธารณชนก็คือ การโอนหุ้นชินคอร์ปจำนวน 103 ล้านหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เป็นการขายหุ้นให้แก่บุคคลทั้งสาม (ในราคาหุ้นละ10บาท จากราคาตลาด150 บาท ทำให้มี “ส่วนต่าง” ราคาหุ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท) โดยไม่มีการจ่ายเงินกันแม้สักสลึงเดียว

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีการซื้อขายหุ้นกันจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาลวง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรค 1)

เมื่อไม่มีการจ่ายเงินกันจริง แต่จ่ายกันในรูปของ “ตั๋วเงิน” ที่ออกกันอย่างง่ายๆ กล่าวคือ พานทองแท้ซื้อหุ้นชินคอร์ปไป 73 ล้านหุ้น มูลค่า 730 ล้านบาท แต่ไม่ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าว แต่จ่ายในรูปของตั๋วเงินที่ออกโดยนายพานทองแท้ ทำให้นายพานทองแท้เป็นหนี้คุณหญิงพจมาน และพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่กว่า 730 ล้านบาท (ไม่รวมการขายหุ้นธนาคารทหารไทย ทำให้นายพานทองแท้เป็นหนี้คุณหญิงพจมาน อีกกว่า 4,000 ล้านบาท)

เช่นเดียวกับกรณีของนายบรรณพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ ก็จ่ายเงินในรูปของตั๋วเงินให้แก่คุณหญิงพจมาน และพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ ทำให้เป็นหนี้บุคคลทั้งสองอยู่ 268 ล้านบาท และ 20 ล้านบาทตามลำดับ (ดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พ.ต.ท.ทักษิณที่แสดงต่อ ป.ป.ช.เมื่อ 15 มีนาคม และ 7 พฤศจิกายน 2544)

ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่บุคคลทั้งสามแล้ว ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไม่มีหุ้นชินคอร์ปเหลืออยู่ ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังถือหุ้นชินคอร์ป ผ่านบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนต์ อยู่ 32.9 ล้านหุ้น

หลังจากวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ได้โอนหุ้นบริษัท แอมเพิล ริช (ราคาเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มีทรัพย์สินเป็นหุ้นชินคอร์ปกว่า 329.2 ล้านบาท) ให้นายพานทองแท้

ดังนั้น บุคคลภายนอก แม้แต่ ก.ล.ต.ก็ไม่เคยรู้ก็คือหุ้นชินคอร์ป 32.9 ล้านหุ้น ที่แอมเพิล ริช ถืออยู่ ถูกโอนจาก พ.ต.ท.ทักษิณอย่างเงียบๆ จนกระทั่ง ก.ล.ต.ตรวจพบในปี 2544 จึงได้มีการแจ้งย้อนหลังกลับไป ในลักษณะดังกล่าวจะเป็นเจตนาปกปิดด้วยหรือไม่ ? ทำไม ก.ล.ต.จึงอ้างว่าไม่มีเจตนา และให้ยุติเรื่อง

บทบาท “คนสนิท” พจมาน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงว่า การโอนหุ้นให้ลูกชายเป็นการโอนจริง เพราะลูกชายก็บรรลุนิติภาวะแล้ว อยู่ในวิสัยที่จะรับผิดชอบธุรกิจต่อไปได้หลังจากโอนหุ้นไปแล้ว โดยมีลุง (นายบรรณพจน์) เป็นประธานกรรมการบริษัท ชินคอร์ป เป็นผู้ดูแลและให้คำปรึกษา รวมทั้งการว่าจ้างที่ปรึกษาให้เป็นผู้ดูแลด้วย

แต่จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบปรากฏว่า คนที่เข้าไปจัดการหุ้นทั้งหมดล้วนแต่เป็นลูกน้องคนสนิทของคุณหญิงพจมาน ทั้งสิ้น อย่างน้อย 2 คน

คนแรก คือ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน โดยมีบทบาทตั้งแต่การเอาหุ้นไปใส่ชื่อคนรับใช้ นำเอกสารไปให้คนรับใช้เซ็นในคดี “ซุกหุ้น ภาคคนรับใช้”

นอกจากนั้น นางกาญจนภายังเป็นผู้ที่ติดต่อให้ ายวันชัย หงษ์เหิน เจ้าหน้าที่ห้องค้าหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภัทรธนกิจ เป็นผู้ซื้อขายหุ้นของครอบครัวชินวัตร ในคนรับใช้อีกด้วย

นางกาญจนภา หงษ์เหิน ให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีใจความสรุปว่า ในช่วงปี 2535 บงล.ภัทรธนกิจ มีนโยบายให้ฝ่ายค้าหลักทรัพย์หาลูกค้าใหม่ เพื่อเป็นผลงานประกอบการพิจารณาเลื่อนชั้นและเลื่อนตำแหน่ง ในฐานะที่ตนทำงานส่วนตัวช่วยคุณหญิงพจมานมาเป็นเวลาหลายปี และคุณหญิงพจมานก็มีความเมตตาต่อตนโดยให้ความช่วยเหลือสม่ำเสมอ จึงขอให้คุณหญิงพจมานช่วยเป็นส่วนตัว โดยให้ช่วยเหลือนายวันชัย สามีที่ทำงานอยู่ บงล.ภัทรฯ ในการหาลูกค้าใหม่ โดยขอให้คุณหญิงเข้าไปเป็นลูกค้าซื้อขายหุ้นเงินสดเพื่อเป็นผลงานให้กับสามี

เช่นเดียวกันการนำหุ้นชินคอร์ปกว่า 1,400 ล้านหุ้นของครอบครัวชินวัตร ขายต่อให้เทมาเส็ก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 และบริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่พานทองแท้ และพิณทองทา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ปรากฏว่าในแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการซื้อขายหุ้นที่ต้องแจ้งต่อ ก.ล.ต.(แบบ 246-2) เขียนชัดเจนว่าบุคคลที่ติดต่อได้คือ นางกาญจนาภา

หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า นางกาญจนภาเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการจัดการหุ้นให้แก่นายพานทอง น.ส.พิณทองทา นายบรรณพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ ถามว่าใครคือผู้บงการหรืออยู่เบื้องหลังนางกาญจนภา

คนถัดมาคือ นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ มีบทบาทในการจัดการภาษีให้กับคุณหญิงพจมาน โดยเฉพาะกรณีที่คุณหญิงโอนหุ้นให้กับคนรับใช้มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท หลังจากกรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบในปี 2544

คุณหญิงพจมานได้มอบอำนาจให้นางสาวปราณีผู้นี้เป็นตัวแทนไปติดต่อจัดการในเดือน พฤษภาคม 2544 ปรากฎเป็นหลักฐานในหนังสือของกรมสรรพากร ที่ทำโต้ตอบกับนางสาวปราณีไว้อย่างชัดเจน

ผลงานของนางสาวปราณี อีกกรณีหนึ่งก็คือ ก่อนที่บริษัท แอมเพิล ริช จะขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1บาท ให้แก่นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ปรากฏว่าในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 น.ส.ปราณีในฐานะตัวแทนของบริษัทแอมเพิล ริชได้ทำหนงสือหารือสรรพากรว่า การที่แอมเพิล ริช จะขายหุ้นชินคอร์ปให้กับพานทองแท้และพิณทองทาหุ้นละ 1 บาท ต้องเสียภาษีหรือไม่

หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า นงสาวปราณีเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการจัดการด้านภาษีหุ้นให้แก่คุณหญิงพจมาน นายพานทอง น.ส.พิณทองทา และบริษัท แอมเพิล ริช มาตลอด ถามว่า ใครคือผู้บงการหรืออยู่เบื้องหลัง น.ส.ปราณี

พ.ต.ท.ทักษิณอ้างในรายการถึงลูกถึงคนว่า ลุง (นายบรรณพจน์) เป็นที่ปรึกษาในการดูแลเรื่องหุ้นให้แก่ลูกๆ แต่จากข้อเท็จจริงยังพบว่า นอกจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่นายบรรณพจน์จ่ายในรูปของตั๋วเงินให้แก่คุณหญิงพจมานแล้ว ในการซื้อหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซท จำกัดของครอบครัวชินวัตร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 และ 27 เมษายน 2543 2543 ของนายบรรณพจน์ และนางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยาอีกเกือบ 20 ล้านหุ้น นายบรรพจน์และภรรยาก็มิได้จ่ายเงินสักสลึกเดียว แต่จ่ายในรูปของตั๋วเงินให้แก่คูหญิงพจมาน ทำให้สองสามีภรรยาเป็นหนี้คุณหญิงพจมานจากการซื้อหุ้นรวม 659.3 ล้านบาท

จากข้อเท็จจริงและพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นได้หรือไม่ว่านายพานทองแท้ นางสาวพิณทองทา นายบรรพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ อาจมีสถานะไม่แตกต่างจากคนรับใช้ที่เป็นเพียง “นอมินี” ให้แก่คุณหญิงพจมาน และพ.ต.ท.ทักษิณ

ผิดกกฎหมาย-ติ๊กผิดซ้ำซาก

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังยืนยันว่าการโอนและขายหุ้นชินคอร์ปได้ทำถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใส แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้แถลงว่า นายพานทองแท้ ได้กระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ถูกปรับเป็นเงิน 5.9 ล้านบาท เช่นเดียวกับคุณหญิงพจมาน ที่เคยถูกปรับจำนวน 6.3 ล้านบาท

นอกจากทำผิดกฎหมายแล้ว ยังพบว่า ในแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้น (แบบ246-2) ต่อ ก.ล.ต.ของครอบครัวชินวัตร และผู้เกี่ยวข้อง มีการ “กาเครื่องหมายผิด” หรือ ติ๊กผิด มาตั้งแต่ปี 2542–2549 กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นชินคอร์ปจำนวน 32.92 ล้านหุ้นให้แก่ บริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนท์ โดยระบุ “ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ในราคา 10 บาท แต่จากข้อเท็จจริงพบว่าเป็นการซื้อขายนอกตลอด

ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ป 103 ล้านหุ้น ให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 กว่า 100 ล้านหุ้น รวมถึงกรณีที่บริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท/หุ้น ให้แก่นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 ก็อ้างว่า ที่ระบุว่าเป็นการ “ซื้อ/ขายผ่าน ตลาดหลักทรัพย์” ทั้งๆ ที่เป็นการซื้อขายกันนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ธนาคารยูบีเอสซึ่งอ้างว่าเป็นธนาคารระดับโลกยังอ้างว่ารายงานผิดโดยแจ้งว่าได้ซื้อหุ้นชินคอร์ป 10 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 176 บาท จากแอมเพิล ริช เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 แต่ความจริงเป็นการนำไปฝากไว้เฉยๆ

พฤกติกรรมดังกล่าวทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นการจงใจแจ้งเท็จซ้ำซากหรือได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่ว่าจ้างรายใด ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังทำให้เห็นว่า ครอบครัวชินวัตรกระทำผิดกฎหมายอย่างซ้ำซาก และโยนบาปให้ “ไอ้ติ๊ก” มาตลอด โดยที่ ก.ล.ต.ได้แต่ทำตาปริบๆ

ทำไมจึงหลีกเลี่ยงมาตรา 209

ในรายการถึงลูกถึงคน พิธีกรถามว่า ถ้าย้อนกลับไปได้จะโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นิติบุคคลที่จัดการหลักทรัพย์ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 ที่ห้าม) แทนที่จะโอนให้ลูกหรือไม่ พันตำรวจโททักษิณ แสดงอาการอึกอักก่อนที่จะตอบว่า ขณะนั้นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวยังไม่มี จึงต้องโอนให้ ลูกชาย ซึ่งขณะนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว เพื่อจะได้แบ่งให้กับน้องๆ เป็นมรดกต่อไป

คำตอบของ พ.ต.ท.ทักษิณจึงเป็นการบิดเบือนอย่างชัดเจน!

เพราะพระราชบัญญัติจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 และได้ประกาศลงในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2543

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปจำนวน 103 หุ้น ให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้วเกือบ 2เดือน

แม้ว่าในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จนกว่าจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ยังมีเวลาอีก 30 วันในการแจ้งต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีเวลาในการโอนอีก 90 วัน รวมแล้วมีเวลาในการโอนหลังจากเข้ารับตำแหน่งถึง 120 วัน

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เลือกที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่เลือกวิธีการที่จะทำเป็น “ขาย” ให้ลูกและญาติพี่น้องแทนในราคาต่ำกว่าตลาด โดยไม่ต้องเสียภาษีตามการตีความของกรมสรรพากรซึ่งการตีความดังกล่าวเป็นการทำลายกลไกตรวจสอบของรัฐธรรมนูญตามมาตรา 209 อย่างสิ้นเชิง

หลีกเลี่ยงการเสียภาษี

พันตำรวจโททักษิณอ้างว่าการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ เป็นการโอนแบบ “พ่อให้ลูก” ซึ่งกฎหมายให้ทำได้โดยธรรมจรรยา ซึ่งกฎหมายยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการโอน

แต่จากข้อเท็จจริง พ.ต.ท.ทักษิณ “ขาย” หุ้นให้กับพานทองแท้ ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดถึงหุ้นละ 140 บาท ซึ่งบรรดานักวิชาการด้านกฎหมายภาษีเห็นว่า ต้องเสียภาษี “ส่วนต่าง” ราคาดังกล่าวหลายพันล้านบาท

นอกจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังอ้างว่า การขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรให้แก่ บริษัท เทมาเส็กเป็นการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 187 กำหนดไว้ว่าเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์หรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นภาษี

ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการพูดตัดตอนเฉพาะช่วงตอนจบที่การขายหุ้นมูลค่า 73,00 ล้านบาท ให้แก่บริษัทเทมาเส็กเท่านั้น แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงกระบวนการขายหุ้นซึ่งไม่น่าจะชอบมาตั้งแต่ต้น และเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนโดยมีกรมสรรพากรเปลี่ยนคำวินิจฉัยไปมาเพื่อสนองผู้มีอำนาจ

การขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวมี 2 ช่วง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในกลุ่มนักวิชาการว่ากรมสรรพากรใช้ดุลพินิจและอำนาจโดยมิชอบ เป็นการทำลายระบบภาษีของประเทศอย่างรุนแรง

กรณีแรก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ และนางยิ่งลักษณ์ เมื่อ 1 กันยาน 2543 ในราคา 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาท ทำให้เกิด "ส่วนต่าง" กว่าหมื่นล้านบาท ถ้าคิดภาษีเต็มจำนวน จะมีมูลค่ามหาศาลกว่า 7 พันล้านบาท หากเก็บจนถึงวันนี้ก็ทะลุเป็นหมื่นล้านบาท

กรณีที่สอง คือบริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท ให้กับพานทองแท้ และพิณทองทา ขณะที่ราคาตลาดกว่า 40 บาท ลูกของพันตำรวจโททักษิณได้กำไร "ส่วนต่าง" กว่า 15,000 ล้านบาท

เพื่อให้ครอบครัวชินวัตรไม่ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" เป็นเงินนับหมื่นล้านบาท กรมสรรพากรได้เปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยกลับไปกลับมา ถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นช่วงที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปลายปี 2543 นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลัง) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ตอบ ป.ป.ช.ชัดเจนว่า "ส่วนต่าง" ของราคาหุ้นที่ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาด เข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

ครั้งที่สอง เมื่อพรรคไทยรักไทยขึ้นครองอำนาจ มีการเปลี่ยนแนวคำวินิจฉัยว่าผู้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ไม่ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ราคาหุ้น เนื่องจากยังไม่มีเงินได้เกินกว่าเงินลงทุนเงิน จนกว่าจะขายหุ้นจำนวนดังกล่าวในราคาสูงกว่าที่ซื้อมาและมีกำไร

กระทั่งเกิดกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด ในราคาต่ำกว่าตลาดจากบิดาตนเอง ปรากฏว่าเมื่อมีการยื่นแบบเงินได้บุคคลธรรมดาภาษี กรมสรรพากรได้คิดเป็นภาษีจาก "ส่วนต่าง" ราคาหุ้นที่นายเรืองไกรได้รับ

เมื่อนายเรืองไกร อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ยืนยันความถูกต้องในการคำนวณภาษีดังกล่าว แต่ในเวลาต่อมานายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อ้างว่าเป็นการเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จึงได้สั่งให้รีบคืนเงินที่เก็บภาษีคืนให้แก่นายเรืองไกร โดยอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับการขายหุ้นของว่า นายเรืองไกรยังไม่มีเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน

ครั้งที่สาม เมื่อ 29 ธันวาคม 2548 สรรพากร มีหนังสือถึงนายเรืองไกรฉบับหนึ่ง อ้างเหตุผลว่าการซื้อสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นไปตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 453 เป็นเรื่องการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย "ส่วนต่าง" ของราคาซื้อกับราคาตลาด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

แนวคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าว นักวิชาการด้านกฎหมายภาษีเห็นว่า จะทำให้เกิดการเลียนแบบเพื่อเลี่ยงภาษีอย่างมหศาล เป็นการทำลายระบบภาษีของประเทศ (ดูบทความของธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหนังสือ อัครดีลชินคอร์ป 7 หมื่นล้าน ซุกหุ้น "โคตรานุวัตน์")

จากการตรวจสอบพบว่า แนวคำวินิจฉัยครั้งที่สามนั้น กรมสรรพากรได้ตอบข้อหารือแก่บริษัท แอมเพิล ริช ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2548 ทำให้เห็นชัดว่าการหยิบยกมาตอบนายเรืองไกรอีกครั้งหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท ให้แก่นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท แอมเพิล ริช ด้วย

กรณีข้อกล่าวหาเรื่องหลีกเลี่ยงภาษีนี้ยังไม่รวมกรณีคุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปในนามดวงตา วงศ์ภักดี ให้แก่ นายบรรณพจน์ 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยยอมเสียค่าโบรกเกอร์ 7.38 ล้านบาท แต่เป็นเงินที่คุณหญิงพจมานจ่ายแทนนายบรรณพจน์ ในลักษณะ "อัฐยายซื้อขนมยาย"

แต่เมื่อถูกจับได้ก็อ้างว่า เป็นการยกหุ้นให้โดยเสน่หาและอุปการะโดยธรรมจรรยาซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพากรเชื่อด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดี

ตั้งบริษัท บนเกาะบริติชเวอร์จิ้น รักชาติหรือไม่

พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า การตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น (BVI) ซึ่งได้รับฉายาว่าสวรรค์ของนักเลี่ยงภาษี เป็นเรื่องปกติทางธุรกิจ มีบริษัทไทยหลายบริษัทก็ไปเปิดบริษัทที่เกาะดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2545 พ.ต.ท.ทักษิณปาฐกถาในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์ใหม่ของเศรษฐกิจโลก" ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า

"...วันนี้เราต้องสามัคคีกัน อย่าขัดแย้งกันให้มาก เอาประเทศเป็นหลักโดยประชาชนควรจะมีความรักชาติ เมื่อวานผมได้ดูข่าวจากซีเอ็นเอ็น ทราบว่า ขณะนี้สภาของสหรัฐฯ กำลังแก้ไขกฎหมายใหม่ เพราะบริษัทต่างๆ แม้มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ แต่ไปจดทะเบียนในประเทศอื่นๆ เช่น ในปานามาหรือบริติชเวอร์จิ้น ไอส์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่รักชาติ เพราะถือว่า เป็นการเลี่ยงภาษีซึ่งเห็นได้ว่า แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสูงยังมีการดำเนินการเช่นนี้ ก็อยากฝากให้คนไทยและบริษัทต่างมีความรักชาติด้วย..."

เมื่อพิธีกรในรายการถึงลูกถึงคน ได้ถามประเด็นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับแสดงท่าทีอึกอักแล้วตอบว่า “ผมไม่แน่ใจว่า ผมพูดขนาดนั้นเลยเหรอ ผมว่า ผมไม่ได้พูดขนาดนั้นหรอก…”

จากคำพูดดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้บิดเบือนคำพูดที่คนเองได้พูดไว้ถึง 2 ครั้ง

หนีตอบวินมาร์คสุดชีวิต

ประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณหลีกเลี่ยงที่จะตอบมากที่สุดแบบสุดชีวิต คือ กรณีบริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ด ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจนมานโอนหุ้น 5 บริษัทของตนเองให้แก่บริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 เป็นมูลค่าเกือบ 1,500 ล้านบาท

บริษัททั้ง 5 ประกอบด้วย บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ บริษัท เอสซี ออฟฟิช ปาร์ค บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ บริษัท เอสซีเค เอสเตท และบริษัท พีที คอร์ปอเรชั่น

หลังปรากฏเป็นข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่าบริษัท วินมาร์ค เป็นของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ต้องการซื้อหุ้น 5 บริษัทดังกล่าวที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยต้องการผลประโยชน์จากการหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ คนที่ยืนยันอีกคนก็คือ สุรเธียร จักธรานนท์ กรรมการผู้อำนวยการเอสซี แอสเสท ของครอบครัวชินวัตร

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังทำหนังสือชี้แจงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.). ในคดีซุกหุ้นในยืนยันว่าบริษัท วินมาร์ค เป็นของนักลงทุนต่างประเทศ

ทว่าในข้อเท็จจริงกลับมีการค้นพบว่า บริษัท วินมาร์ค ลิมิเต็ด มีที่ตั้งที่เดียวกับบริษัท แอมเพิล ริช คือ P.O.BOX 3151, Road Town, Tortola บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น

หลักฐานดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า บริษัท แอมเพิล ริช และบริษัท วินมาร์ค มีเจ้าของเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่ บริษัท วินมาร์ค ก็ต้องเป็นของครอบครัวชินวัตรเช่นกัน

ถ้ามิใช่ เหตุใดนักลงทุนต่างประเทศรายนี้จึงมีใจตรงกับครอบครัวชินวัตรโดยบังเอิญที่มีที่ตั้งของบริษัทอยู่ที่เดียวกับบริษัท แอมเพิล ริช

ต่อบริษัท วินมาร์ค ซึ่งถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น (เปลี่ยนชื่อจากบริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้) กว่า 61 ล้านหุ้น ได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่ กองทุน แวลู แอสเสท ฟันด์ ที่จัดตั้งในประเทศมาเลเซีย เมื่อสิงหาคม 2546 ก่อนนำบริษัท เอสซีแอสเซท เข้ามายื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในไม่กี่วัน

มีปรากฎหลักฐานว่า การเพิ่มทุนบริษัท จาก 1,850 ล้านบาท เป็น 25,000 ล้านบาทหรืออีก 710 ล้านบาท กองทุนแวลู แอสเสท กลับสละสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดให้แก่นางสาวพิณทองทาและนงสาวแพทองธาร ทำให้กองทุนแวลู แอสเซท ขาดผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้นที่จะขายให่แก่ประชาชนทั่วไปหุ้นละ 5 บาทเป็นกว่า 100 ล้านบาท

ต่อมาก่อนที่จะมีการยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหุ้น 5 วัน กองทุนแวลู แอสเสท ได้โอนหุ้นกว่า 61 ล้านหุ้นให้แก่กองทุนออฟชอว์ ฟันด์อิงค์ และโอเวอร์ซี ฟันดอิงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกับกองทุน แวลู แอสเสท ฟันด์ เช่นกัน คือเกาะบาบัวในมาเลเซีย

จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า กองทุนทั้ง 2 เป็นของครอบครัวชินวัตร การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลในการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของบริษัท เอสซี แอสเซท ต่อ ก.ล.ต.ในวันที่ 5 กันยายน เป็นการแจ้งข้อมูลเท็จหรือไม่ เพราะเป็นการปกปิดข้อมูลของผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เพราะในการยื่นไฟลิ่ง บริษัทแจ้งว่า ครอบครัวชินวัตร แจ้งว่าถือหุ้นเพียง 60% มิได้พูดถึง 2 กองทุนดังกล่าวที่ถือหุ้นอยู่ 20% ซึ่งเท่ากับว่า ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นอยู่เกือบ 80%

หาก ก.ล.ต.มีความกล้าหาญที่จะพิสูจน์ว่ากองทุนดังกล่าวเป็นของครอบครัวชินวัตรจริง และตรวจสอบได้ว่ามีการแจ้งเท็จในการยื่นไฟลิ่งก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่า ของหุ้นที่นำเสนอขายต่อประชาชน อาจทำให้ถูกปรับเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท

สิ่งสำคัญ อาจทำให้ได้เป็นคำตอบว่อาจมีการซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล กองทุนที่ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเซท เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่จับได้เท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็น “ความจริง” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังไม่ได้ตอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น