เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงอำนาจเผด็จการ ที่สืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่นำไปสู่การนองเลือดบนท้องถนน และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทยตามมา
เหตุการณ์ครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้น มาจากการรัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ซึ่งคณะ รสช. ได้อ้างถึงปัญหาการคอร์รัปชั่น ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเหตุผลในการกระทำรัฐประหาร รวมทั้งข้ออ้างที่ว่า รัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร. หลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 20 คน เพื่อทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีข้อถกเถียงสำคัญ คือประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นการเปิดทางให้ ผู้นำ รสช. เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้นำคนสำคัญของคณะ รสช. ได้รับปากว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หลังจากนั้น จึงมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2535 โดยพรรคที่ได้จำนวนผู้แทนมากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม (79 คน) ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีการเตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในฐานะหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด และติดบัญชีดำห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ
ในที่สุด จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้ เพราะเท่ากับว่า พล.อ.สุจินดา กลับคำพูดไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นที่มาของวลีที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ"
การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้าน ของประชาชน เริ่มจากการอดอาหารประท้วงของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และต่อมาพล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น ได้ออกมาเป็นผู้นำการชุมนุม และนำไปสู่การปราบปรามประชาชนในช่วงวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 ในที่สุด
หลังจากนั้น วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า ณ พระราชวังสวนจิตรลดา และทรงมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสอง หันหน้าเข้าหากัน อย่าเผชิญหน้ากัน และช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ
หลังจากนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนฯ ขณะนั้นคือนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน
อ่านรายละเอียด เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ