xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้เกิด “สุญญากาศทางการเมือง” พระราชอำนาจมาตรา 7 เป็นทางเลือกสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ที่ 3 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 มี.ค.นี้อย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับการปฏิเสธจากพรรคไทยรักไทย ในการลงสัตยาบันร่วมกันเพื่อการปฏิรูปการเมือง อาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา เห็นว่า ในเบื้องต้นท่าทีดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะพรรคการเมืองในระบบมองเห็นความจำเป็นถึงการปฏิรูปการเมือง หากไร้ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว การคว่ำบาตรที่ตามมาก็จะไร้ความหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีท่าทีชัดเจนต่อการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เขายังมองว่าการคว่ำบาตรจะไร้ความหมายหากพรรคฝ่ายค้านไม่ออกมาร่วมมือกับประชาชนที่ท้องสนามหลวง เพื่อล้มระบอบทักษิณและเดินหน้าการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่แอบอยู่ในซอกหลืบ

“ในเมื่อไม่มีสภา เพราะเขาล้มสภาของพวกคุณไปแล้ว จะปล่อยให้ประชาชนต่อสู้เพียงลำพัง อดตาหลับขับตานอนอยู่ได้อย่างไร พรรคฝ่ายค้านต้องแสดงสปิริตในข้อนี้”

อาจารย์เจริญ มองว่า ต่อจากนี้สภาวะทางการเมืองจะเข้าสู่ “สุญญากาศทางการเมือง” กล่าวคือเมื่อไม่มีสภา เกิดวิกฤตภาวะผู้นำ ประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องให้ลาออกเพราะไม่มีความชอบธรรม ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ส่วนผู้จัดการเลือกตั้งก็ขาดความชอบธรรมหรือไม่ก็ทำหน้าที่ต่อไปไม่ได้

“สิ่งเหล่านี้ จะเห็นเพียงช่องทางเดียวเท่านั้นคือช่องทางการใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ถ้าจะให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยสันติก็เป็นทางเลือกที่สังคมต้องเลือกทางสุดท้าย”

ทั้งนี้ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

เขากล่าวต่อว่า กรณีการใช้มาตราดังกล่าวไม่ใช่เป็นแนวทางการคืนพระราชอำนาจดังที่หลายคนเข้าใจ หากแต่อำนาจในส่วนนี้ระบุชัดอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่ใช่การคืนแต่ประการใด นอกจากนี้ เขายังเสนอให้ประชาชนคว่ำบาตรการเลือกตั้งโดยการกาช่องบัตรในช่องไม่เลือก เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไม่ต้องการรัฐบาลผูกขาดอำนาจในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น