พรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค ปัดข้อเสนอพรรคไทยรักไทย ที่เสนอให้ทำสัญญาประชาคมแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมลงมติคว่ำบาตรการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านแถลง
วันนี้ (27 ก.พ.) ในที่สุดมีรายงานล่าสุดเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา (17.50 น.) ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค อันประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้มีมติร่วมกันแล้วว่าจะไม่ไปร่วมประชุมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในเวลา 18.00 น.ที่อาคารวุฒิสภา ขณะเดียวกันจะไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
ในการแถลงที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ได้แถลงร่วมกันที่รัฐสภา ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านดังกล่าวเห็นร่วมกันว่าข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย เป็นเพียงเกมถ่วงเวลา และไม่จริงใจต่อการปฏิรูปเพื่อผ่าทางการตันทางการเมือง (รายละเอียดคำแถลงของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะรายงานให้ทราบต่อไป)
ก่อนหน้านี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทันทีหลังจากเสร็จสิ้นคำแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการลงสัตยาบันแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่เสนอให้ทุกพรรคทำสัญญาประชาคมแก้ไขรัฐธรรมนูญในระหว่างการเลือกตั้ง จากนั้นค่อยมาตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางชุดหนึ่งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายสุเทพย้ำว่ารับไม่ได้กับท่าทีของพรรคไทยรักไทยในลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์จะมีการหารือกันในกลุ่มแกนนำพรรคอีกครั้ง ในเวลา 17.00 น. ที่รัฐสภาว่าจะไปประชุมร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองตามที่พรรคไทยรักไทย เสนอในเวลา 18.00 น.หรือไม่
ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศที่พรรคประชาธิปัตย์ตลอดช่วงวันที่ผ่านมา มีแกนนำและอดีต ส.ส.ทยอยเข้ามาที่พรรคกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมือง และรอดูท่าทีจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่า จะตอบรับต่อข้อเสนอที่ให้มีการลงนามสัตยาบันแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวระบุว่า อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งไม่พอใจท่าทีของหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ที่ไม่มีความชัดเจนการลงผู้ลงสมัคร แต่กลับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแทน โดยมีสมาชิกจำนวน 40 คน ตบเท้าเข้าพบนายสุเทพ และขอให้ชี้แจงต่อกระแสข่าวการพบกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับนายสุเทพ เช่น นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ได้ถามนายสุเทพว่าได้เข้าพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จริงหรือไม่ ขณะที่นายสุเทพก็ไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธ
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่สมาชิกพรรคคลางแคลงใจ เนื่องจากในที่ประชุม ส.ส.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ลงคะแนนให้คว่ำบาตรเลือกตั้ง แต่พอถึงวันอาทิตย์กลับมีท่าทีเปลี่ยนไป อีกทั้งนายสุเทพเองก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ จึงเกรงว่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของพรรคหรือไม่ โดยเฉพาะข่าวการเสนอเงินใช้ในการเลือกตั้ง ผลประโยชน์บางอย่างตอบแทนอีกด้วย
โดยทางพรรคเปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองฉบับฝ่ายค้านตามข้อเสนอของ “อมร จันทรสมบูรณ์” กำหนดให้โปรดเกล้าฯ กรรมการพิเศษ 7 คน เป็นคนกลางยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมืองทั้งระบบก่อนส่งให้ทำประชามติ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลา 18 เดือน
พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยระบุว่าเป็นแนวคิดของนายอมร จันทรสมบูรณ์ นักวิชาการ ทั้งนี้ ในเนื้อหาสาระของร่างดังกล่าวได้มีการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นอีก 1 หมวด คือ หมวดที่ 13 เรียกว่า หมวด “การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง” โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 313 แบ่งเป็นอนุมาตราตั้งแต่ 313/1 จนถึง 313/21 โดยกำหนดให้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ จะต้องมีการตั้ง “คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยสรุป ดังนี้
มาตรา 313/1 กำหนดให้มี “คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ซึ่งมาจากการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จำนวน 7 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ 5 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นผู้ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี 2 คน, ประธานวุฒิสภาถวายชื่อตามคำแนะนำของ ส.ว.1 คน และประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 คน โดยคนหนึ่งมาจากคำแนะนำของ ส.ส.พรรครัฐบาล และอีกคนหนึ่งมาจากคำแนะนำของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ประเภทที่ 2 กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมืองที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน โดยมาจากประธานองคมนตรีถวายชื่อ
คณะกรรมการจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารประกอบ (ร่างแรก) ให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้ง ซึ่งเอกสารประกอบจะต้องมีประเด็นเกี่ยวกับการคาดหมายถึงความสำเร็จ หรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่ด้วย และยังกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมกรพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ
และเมื่อยกร่างฯ (ร่างแรก) เสร็จแล้วให้ส่งร่างไปให้ ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็น โดยทำบันทึกความเห็นแยกของ ส.ว.1 ฉบับ ส่วนของ ส.ส.แบ่งออกเป็น 2 ฉบับ โดยฝ่ายรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 1 ฉบับ ซึ่งจะต้องแสดงเหตุผล ระบุถึงอุปสรรค และเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
จากนั้นจัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมทั้งนำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของ ส.ส.และ ส.ว.เสนอต่อสาธารณะด้วย โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบการทำประชาพิจารณ์ หรือรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
เมื่อ ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะแล้ว รวมทั้งได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกรางรัฐธรรมนูญ “ยกร่าง” รัฐธรรมนูญ “สำหรับลงประชามติ” (ร่างที่ 2 - ฉบับแก้ไขปรับปรุง) โดยจะต้องระบุด้วยว่าจะมีการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มีการ “ลงประชามติ” โดยต้องทำให้เสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะจาก ส.ส.และ ส.ว.ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติ “ให้ความเห็นชอบ” ในร่างรัฐธรรมนูญภายใน 18 เดือน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ (ที่แก้ไขมาตรา 313 นี้) บังคับใช้ และก่อนจะขอประชามติต้องมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบอย่างน้อย 30 วัน
การออกเสียงประชามติ ต้องมีผู้ออกเสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าร่างฯ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ถ้าเสียงข้างมากในการลงประชามติไม่เห็นชอบ ก็ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบ ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลฯ
หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้
โดยในระหว่างนั้น (หลังรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว) ต้องมีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ช้ากว่า 60 วัน (นับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ) เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ให้ความเห็น และให้ข้อเสนอแนะภายใน 60 วัน และต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ร่างกฎหมายประกอบรัฐรรมนูญ ให้ตราเป็น “พระราชกฤษฎีกา” โดยประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว 90 วัน ให้สมาชิกภาพของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สิ้นสุดลง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
นอกจากนี้ ในมาตรา 313/2 ยังห้ามมิให้บุคคลที่เป็น “กรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ลงสมัครเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และข้าราชการการเมือง ภายใน 3 ปี นับแต่พ้นตำแหน่ง