xs
xsm
sm
md
lg

“ขันที” ยุคดิจิตอล ปรากฏการณ์ลูกน้องสะท้อนนาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครที่นิยมชมชอบดูภาพยนตร์จีน อ่านนิยายกำลังภายใน หรือศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์จีนในอดีต คงคุ้นเคยกับบรรดา “ขันที” ที่ปรากฏให้ได้ และคงต้องยอมรับว่า ภาพของขันทีที่สื่อออกมานั้น ส่วนใหญ่มักเป็นด้านที่ไม่ดี เนื่องจากมักอยู่เบื้องหลังการนำเสนอ “ข้อมูลเท็จ” ต่างๆ ให้กับองค์จักรพรรดิในการทำลายขุนนางตงฉิน มีการโกงบ้านกินเมือง กระทั่งก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมามากมาย

เหตุที่ทำเช่นนั้นได้ เพราะขันทีคือผู้ที่ทำงานรับใช้จักรพรรดิในวังต้องห้ามโดยตรง

จากเหตุการณ์ในอดีต เมื่อหันมาพินิจพิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองในยุครัฐบาลปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่า ขันทีกำลังมีบทบาทค่อนข้างมาก โดยออกมาทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์นายกันอย่างไร้สติและไร้เหตุผล เพียงเพื่อหวังที่จะได้ดิบได้ดี ได้ก้าวขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีหรือเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน

กระทั่งกลายเป็นการประจบสอพลอจนเกินงาม

รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปปรากฏการณ์ขันทีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ว่า เป็น “ขันทียุคดิจิตอล” พร้อมทั้งฟันธงตรงไปว่า สิ่งที่บรรดาขันทีทั้งหลายทำนั้นคือ “ภาพสะท้อนตัวตน” ของผู้เป็นนายนั่นเอง

“ผมไม่โทษ นต.ศิธา ทิวารี ผมเห็นใจเขา ผมไม่โทษพ.ต.ท.สำเนียง ลือเจียงคำ คนซึ่งอยากเป็นผู้กำกับจนตัวสั่นอยู่ที่ยโสธร ผมไม่โทษผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ภาค 4 ผมไม่โทษนายตำรวจรุ่น 26 รุ่นเดียวกับนายกฯ ผมไม่โทษนายทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับนายกฯ ผมไม่โทษภูมิธรรม เวชยชัย หมอพรหมินทร์ นายเนวิน ชิดชอบแม้กระทั่ง พลโท ปรีชา วรรณรัตน์ ผมไม่โทษคนพวกนี้ ผมโทษนายกฯ ทักษิณ เพียงคนเดียวเท่านั้นเอง”

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมจำเลยถึงไปตกอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร?

ในกรณีนี้ นายสนธิสรุปว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีของไทยใช้วิธีการบริหารแบบ “ซีอีโอ” คือ คิดคนเดียว สั่งคำเดียว ส่วนคนอื่นที่อยู่รอบข้างมีหน้าที่เอาไปทำตามแล้วทำให้รวดเร็ว ทำให้เข้าตาไม่ต้องออกความเห็น

ด้วยเหตุดังกล่าว ก็เลยเกิดคนรุ่นใหม่ขึ้นมาที่เขาเรียกว่า “ขันทียุคดิจิตอล”ขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ต้องแก้ไขที่ตัวนายกรัฐมนตรีเพียงสถานเดียวเท่านั้น

“คือท่านไม่ฟังใคร เวลาท่านมีอารมณ์ท่านก็ตวาด เฮ้ยทำไมไม่เรียบร้อย ทำไมปล่อยให้คนมาฟังเยอะๆ อย่างนี้ เกิดความคิดกันขึ้นมาทันทีเลย แทนที่จะมีคนไปบอกว่า ท่านครับ คนที่เขามาฟังก็เพราะว่าเราไปปิดกั้นสื่อ เราไม่ยอมที่จะให้สื่อมวลชนออกเขาก็เลยต้องมาจัดสัญจร แล้วถ้ามีคนกล้าพอก็จะถามต่อว่า ท่านครับ คำถามที่เขาถามเรายังไม่ได้ตอบเขาเลยนะเราน่าจะตอบเขาเสียที ถ้ามีคนใกล้ชิดกล้าพูด แต่ว่าไม่มี”

เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น นายสนธิจึงได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จีนมาประกอบ โดยย้อนกลับไปในช่วงของราชวงศ์หมิง

...ก่อนอื่นต้องรับทราบข้อเท็จจริงก่อนว่า ราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ที่ขึ้นครองอำนาจต่อจากราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชาวมองโกลที่ปกครองจีนเมื่อประมาณ 800-900 ปีที่ผ่านมา

บุคคลสำคัญอันเป็นต้นราชวงศ์หมิงก็คือนั้น จักรพรรดิหงอู่ หรือที่มีชื่อว่า จู หยวน จาง

สนธิบอกว่า เมื่อจูหยวนจางสามารถโค่นล้มมองโกลออกไปเป็นสำเร็จแล้ว ก็มีคำสั่งให้จัดสร้างแผ่นโลหะสูง 3 ฟุต ตั้งไว้ พร้อมทั้งมีอักษรจารึกว่า ห้ามขันทียุ่งเกี่ยวกับกิจการการปกครองบ้านเมือง

ทว่า พระบรมราชโองการของจูหยวนจางก็สัมฤทธิ์ผลเพียงแต่รัชกาลของพระองค์เองเท่านั้น เพราะว่าจักรพรรดิองค์ต่อๆ มาก็ยังคงปล่อยให้ขันทีเข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย และในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.2187 ประมาณ 400 ปีที่แล้ว ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉิงจง ปรากฏว่าราชวงศ์หมิงก็มีอันต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องสูญเสียแผ่นดินให้กับราชวงศ์ชิง

จักรพรรดิเฉิงจงก็ไปแขวนคอตายบนศาลาพักร้อนบนภูเขาตรงข้ามพระราชวังต้องห้าม และก่อนสวรรคตก็มีพระราชดำรัสออกมาว่า “เหล่าเสนาบดีหลอกลวงเรา เรามีแต่ความอัปยศอดสูเมื่อต้องไปพบหน้าบรรพบุรุษ”

จากเหตุการณ์แรก ก็ตามติดมาด้วยเหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินจีนเช่นกันในสมัยราชวงศ์ถึง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อยากจะให้นายกรัฐมนตรีของไทยรับรู้เอาไว้เช่นกัน

ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ คงรับรู้กันดีว่าราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์ที่เฟื่องฟูที่สุด

สำหรับความน่าสนใจของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงของ “จักรพรรดิหลี่ ซื่อ หมิน” เมื่อพระองค์ได้ตั้งขุนนางพิเศษขึ้นมา 1 ตำแหน่ง โดยให้ชื่อว่า “ขุนนางทัดทาน” โดยขุนนางทัดทานผู้นี้มีหน้าที่พิเศษคือ สามารถออกความคิดเห็นหรือคัดค้านแนวนโยบายหรือแนวคิดของจักรพรรดิได้ทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าเรื่องไหนไม่เข้าท่าเข้าทางโดยไม่มีความผิดแต่ประการใด

นี่คือ ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการตระหนักใน “อำนาจ” ของจักรพรรดิหลี่ซื่อหมินว่า หากตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว คิดคนเดียว โดยไม่ฟังความคิดเห็นของใคร จะนำมาซึ่งความฉิบหายและความหายนะให้แก่บ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีตัวอย่างที่เป็นบทเรียนของการลุ่มหลงและการใช้อำนาจในจีนอย่างเดียวเท่านั้น ในประเทศไทยก็เคยมีประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้เช่นกัน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

กล่าวคือ มีขุนนางผู้หนึ่งเขียนหนังสือมาตำหนิติเตียนพระองค์ท่าน บรรดาพวกขุนพลอยพยักก็ไปกราบทูลพระองค์ท่านว่า ไอ้พวกนี้ต้องตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร แต่พระองค์ท่านกลับไม่คิดเช่นนั้น พร้อมทั้งมีรับสั่งด้วยว่า “คนที่เขียนตำหนิติเตียนฉันเป็นคนดี”

“ที่ผมเล่ามาทั้งหมด อยากจะบอกว่า จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์การล่มสลายของผู้นำทุกยุคทุกสมัย ล่มสลายเพราะว่าผู้นำนั้นหูหนวก การที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ไม่ได้แปลว่าเป็นคนหูดี คนหูดีคือคนซึ่งได้ยินเสียงประชาชนเดือดร้อน แล้วไม่มีคนมาแจ้งให้ทราบ แต่รู้ได้ด้วยตัวเอง นั่นคือคนหูดี ถ้าท่านนายกฯ เป็นคนฟังคน แล้วท่านนายกฯเป็นคนเปิดกว้าง ไม่มีวาระซ่อนเร้น ถ้าทำเพื่อชาติเพื่อบ้านเมือง ปัญหาวันนี้ไม่มีหรอก

แต่ความจริงไม่ใช่ ท่านนายกฯ คิดคนเดียว สั่งคนเดียว คนอื่นมีหน้าที่เอาไปทำตามแล้วทำให้รวดเร็ว ทำให้เข้าตาไม่ต้องออกความเห็น ก็เลยเกิดคนรุ่นใหม่ขึ้นมาที่เขาเรียกว่า ขันทียุคดิจิตอล เกิดขันทียุคดิจิตอลขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ต้องแก้ไขที่ตัวท่าน”
นายสนธิสรุปทิ้งท้าย
       
       



กำลังโหลดความคิดเห็น