“วิษณุ” ควง “ธงทอง” ออกช่อง 11 แจงยิบ “ทักษิณ” นั่งเป็นประธานทำบุญวัดพระแก้วถูกต้องทุกประการ ทั้งเรื่องการแต่งกาย-กรวดน้ำ-การนั่ง แต่ไม่บอกว่ากระชั้นชิดเพราะอะไรถึงเลื่อนไม่ได้ เร่งด่วนขนาดต้องขออนุญาตทางโทรศัพท์ค่อยจะส่งแฟกซ์มาทีหลังก่อนหน้างาน 1 วัน อ้างเพราะองคมนตรีติดภารกิจจึงให้ “ทักษิณ” จึงนั่งเป็นประธานแทน
เมื่อเวลา 20.30 น.วันที่ 18 พ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นแขกรับเชิญในรายการ “กรองสถานการณ์” ทางช่อง 11 ที่มีนายอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นพิธีการดำเนินรายการ ชี้แจงกรณีภาพคาใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานทำบุญประเทศในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2548 ที่ผ่านมา
(เรื่องดังกล่าวนายวิษณุได้แจ้งผู้สื่อข่าวไว้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.ว่าจะมีการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงกลางวันวันที่ 18 พ.ย. อย่างไรก็ตาม นายวิษณุได้ยกเลิกการแถลงข่าวกะทันหัน เปลี่ยนเป็นการมาชี้แจงที่ช่อง 11 แทน)
พิธีกร - ที่มาในการจัดงานนี้
วิษณุ - คือถ้าจะพูดถึงที่มาของงานนี่ มันต้องเริ่มต้นอย่างนี้ครับว่า งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 เม.ย.ปีนี้เองไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ดำริที่จะจัดงานนี้เนี่ยเริ่มมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ต้นปี ซึ่งก็คือปลายอายุของรัฐบาลที่แล้ว เกิดจากดำริของคณะรัฐมนตรีว่าประเทศชาติของเราเนี่ยประสบปัญหามากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหวัดนก โรคซาร์ส สึนามิ รวมทั้งปัญหาความไม่เรียบร้อยในภาคใต้ โดยปกติตามประเพณีทั้งหลายเนี่ยก็ควรจะมีการจัดการทำบุญ ครั้งแรกเนี่ยก็คิดว่าจะทำบุญในทางพระพุทธศาสนาอย่างเดียวแต่ปรากฎว่าทางศาสนาอื่นท่านทราบเข้า ก็อยากจะมาร่วมไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ หรือแม้แต่ศาสนาอิสลาม ท่านก็คิดว่าน่าจะเข้ามามีส่วนร่วม จุดนั้นก็เลยขยายความไปเป็นงานศาสนสัมพันธ์เพื่อสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ แต่ทีนี้ปัญหาก็คือจะจัดงานที่ไหน จัดเมื่อไร จัดอย่างไร แรกเริ่มเดิมทีนั้นในปลายรัฐบาลที่แล้วประมาณเดือน ม.ค. ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายให้ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่าน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานคณะกรรมการการจัดงานนี้ ซึ่งได้มีการประชุมกันไปหลายครั้ง ซึ่งคณะกรรมการก็ได้วางหลักไว้ตั้งแต่ตอนโน้นแล้วว่าการจัดงานจะต้องแบ่งออกเป็นต่างกัน ต่างวาระหลายที่ แม้ว่าจะกำหนดว่าเป็นวันที่ 10 เม.ย. ก็คิดว่าอันดับแรกเนื่องจากพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาของคนหมู่มากที่สุดในประเทศ ก็อยากจะมีพิธีการเฉพาะในส่วนของพระพุทธศาสนาแยกออกมาก่อน ฉะนั้น ก็กะว่าตอนเช้าของวันงานควรจะมีการทำบุญตักบาตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หรือสวนอัมพร เสร็จแล้วตอนบ่ายก็ควรจะย้ายมาจัดงานที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องจากว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติที่นั่น เสร็จต่อจากนั้นตอนบ่ายคล้อยๆ ไปค่อนข้างเย็นก็จะย้ายไปจัดที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นศาสนสัมพันธ์ที่ทุกศาสนาเข้ามาจัดกิจกรรมได้ ครั้งแรกนั้นดำริที่จะจัดที่ท้องสนามหลวง แต่ติดขัดว่าช่วงนั้นใกล้สงกรานต์ กทม.จัดงานเย็นทั่วหล้าอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะจัดได้ จึงย้ายไปจัดงานที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก็ติดอีกว่าวันที่ 10 เม.ย.นั้นงานกาชาดเพิ่งจบรื้อเต็นท์ไม่เสร็จจึงขยับเข้าไปข้างใน คือในบริเวณอาคารใหม่สวนอัมพรแต่ว่าหมายความว่าบริเวณพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ตั้งใจกันมาแต่ต้นว่าจะจัดแน่แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเชิญใครอะไรยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง
พิธีกร - อันนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ พล.อ.ชวลิตยังอยู่เป็นประธาน เพราะตอนนั้นมีคณะกรรมการเตรียมงาน ที่จะจัดงาน มีการประชุมกันหลายครั้งไหมครับ
วิษณุ - แน่นอนครับ ถูกต้องครับ มีการประชุมครับ อันนี้ถ้าดูก็จะเห็นนะครับว่าได้มีการเตรียมการกันและประชุมเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2548 ภาพอาจจะดูไม่ค่อยจะชัดนักนะครับ แต่เป็นรายงานการประชุมชัดเจน และรายงานการประชุมดังกล่าวได้มีการกำหนดไว้ว่าให้ประกอบพิธีส่วนกลางที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้แยกไปจัดต่างๆ ด้วยพร้อมกัน เช่น ที่ขอนแก่น จัดที่วัดหนองแวง 4 ภาค อุบลราชธานีจัดที่วัดมหาวนาราม เชียงใหม่จัดที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ แต่ที่สุราษฎร์ธานีจัดที่วัดธารน้ำไหล นี่คือสิ่งที่กำหนด ทีนี้เมื่อกำหนดอย่างนั้นต่อมาก็มีการเลือกตั้งเปลี่ยนราชการมา ต่อมาท่านนายกฯได้มอบให้รองนายกฯ จาตุรนต์ เป็นประธานสืบต่อไป ซึ่งยังมีมติยืนยันวัตถุประสงค์เดิม พิธีเดิม ชื่อเดิมและรูปแบบการจัดงานอย่างเดิม
พิธีกร - พูดถึงประธานไหม ใครเป็นประธาน เป็นนายกฯรึเปล่า
วิษณุ - มอบรองนายกฯ คนใดคนหนึ่งที่ดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
พิธีกร - มิได้ ประธานที่จะจัดงาน
วิษณุ - ตอนนั้นยังไม่ได้กำหนด เรายังนึกไม่ออกว่าจะจัดในรูปไหนอย่างไร ใกล้กับเวลาสงกรานต์มาก ก่อนหน้านั้นจะมีงานวันจักรี หลังจากนั้นจะมีงานตรุษสงกรานต์ งานนี้ไปโผล่ตรงกลางคือวันที่ 10 ระหว่างวันที่ 6 กับ 13 ก็ทำให้ยังไม่แน่ใจในเรื่องใครเป็นประธานในงาน ในที่สุดต่อมา รองจาตุรนต์ท่านก็ตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ซึ่งผมเป็นประธานในส่วนนั้น เราก็พิจารณากันต่อ ตรงนี้ก็มีการพิจารณาว่า กรรมการนั้นมีผู้แทนทุกฝ่าย ทุกส่วนราชการ ก็เห็นว่าคงจะ ความที่มันรีบจะต้องจัด เพราะกระชั้นเข้ามาแล้ว ตอนนั้น ตอนที่ผมเข้ามาวันที่ 28 มี.ค.2548 อีกประมาณ 12 วันจะถึงเวลาจัดงาน ก็ในที่สุดตัดสินใจว่าคงไม่ต้องไปทูลฯ เชิญพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด เพราะตรวจสอบแล้วว่างานนี้เป็นงานที่ประชาชนจัด เมื่อประชาชนจัดต้องคิดลักษณะการรวมประชาชน
พิธีกร - อ่านจากข่าวหนังสือพิมพ์ บอกว่าการประชุมไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ พล.อ.ชวลิตเป็นประธาน หรือมาสมัยท่านจาตุรนต์เป็นประธาน มีการพูดและสรุปในที่ประชุมว่าน่าจะมีการกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯมาเป็นองค์ประธาน
วิษณุ - ไม่มีการพูดกันไปอย่างนั้น แต่มีการคิดถึงพระบรมวงศ์ พระองค์อื่น
พิธีกร - ในมติที่ประชุม ในเอกสารไม่มี
วิษณุ - ไม่มีเลย และจะเป็นพระบรมวงศ์พระองค์ใดก็ไม่มีการออกพระนามชัดเจน เพราะคิดว่าสุดท้ายแล้วแต่พิจารณาว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน อย่างไร ซึ่งสุดท้ายเลยไม่ได้มีการเจาะจงกันลงไป ทีนี้พอตอนที่ผมเข้ามาปลายเดือน มี.ค.มันกระชั้นและจะไปทูลเชิญอะไรก็คงจะลำบาก และจริงๆ ได้ทราบว่าคงไม่เป็นการสะดวก ในการกราบทูลฯ หรือทูลเชิญฯเจ้านายพระองค์ใด ตรงนี้ อย่างไรมันก็กลับมาสิ่งที่ผมเรียนคุณอดิศักดิ์ตอนต้นว่า มันจะเป็นรวมพลเข้ามา เพราะฉะนั้นต้องคิดอีกทาง ให้เกิดความเรียบร้อย คล่องตัว มาถึงจุดนี้ คิดว่าทำอย่างไรจะให้เกิด 2 อย่างคือความเรียบร้อย คล่องตัว และสามารถสมานฉันท์ได้ คิดถึงกระทั่งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เราคิดถึงแม้กระทั่งบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในวงการต่างๆ เพราะฉะนั้นบัญชีรายชื่อที่ผมเซ็นหนังสือส่งไปและเรียนเชิญให้เข้ามาร่วมงานในวันนั้นที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะมีตั้งแต่ นายกฯ ครม.ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานศาสฎีกา องคมนตรี 4 ท่าน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเรียนเชิญท่านรองฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ท่านอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขาธิการพระราชวัง อะไรต่ออะไร ซึ่งนี่คือหนังสือเชิญที่ออกไป
พิธีกร - ตามนี้ทั้งหมดเลยเหรอครับ
วิษณุ - ตามนี้ทั้งหมด มีอยู่ในนี้บัญชีรายชื่อและส่งออกไปทั้งหมด ซึ่งแต่ละท่านก็ตอบกลับมาว่าท่านไม่สามารถมาได้ บางท่านบอกมาได้แต่ขอไปตอนเย็น เช่น ประธานรัฐสภา ท่านขอไปสวนอัมพร อย่างองคมนตรี 4 ท่าน คงไม่จำเป็นต้องเอ่ยนาม เพราะเราได้ส่งเรียนเชิญไปและท่านก็ตอบทั้ง 4 ท่าน
พิธีกร - แต่ในนี้ไม่มีชื่อองคมนตรี
วิษณุ - มันมีเป็นมติต่างหากว่า โควตา พูดง่ายๆ คือ 4 คนและ 4 คนนี้ควรเป็นใคร เราคิดว่าต้องไปทาบทามว่าท่านใดจะมาบ้าง ซึ่งปรากฏว่าได้ทาบทามและท่านตอบกลับมาในที่สุดว่า ท่านไม่สามารถจะมาได้ ติดภารกิจ และมีอยู่องคมนตรีท่านหนึ่ง ที่ท่านตอนแรกมีความเป็นไปได้ที่จะไปร่วมงานที่สวนอัมพร แต่ท่านติดที่วัดพระแก้ว เพราะตอนบ่ายท่านติด แต่ต่อมาท่านก็ติดภารกิจ สุดท้ายก็ไม่มี ที่สวนอัมพรก็ไม่มี ก็ต้องเปลี่ยนเป็นคนอื่น นี่คือเรื่องที่มาของการที่ สุดท้ายนายกฯก็เป็นประธาน แต่เดี๋ยวตรงนี้เป็นจุดสำคัญว่าตอนนายกฯ เป็นประธานนั้นได้ประกาศบอกกับใครที่ไหนอย่างไรหรือไม่ สุดท้ายก็ต้องจัดแล้วหล่ะ ในวันอาทิตย์ที่ 10 เม.ย.2548 แต่ก่อนถึงวันนั้น เพื่อให้ทุกอย่างเข้าตามตรอกออกตามประตู เราคิดว่าแน่นอน เรื่องที่จะกราบบังคมทูลฯขอพระบรมราชานุญาตนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือต้องให้คณะสงฆ์ท่านทราบด้วย จึงมีการนำเรื่องนี้เข้ามหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. เมื่อท่านทราบ ท่านก็อนุโมทนา แล้วก็ติแล้วก็ชมแล้วก็ขอให้เติมอะไรลงไปบางอย่าง ก็เป็นอันว่าทางฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายในวัง ก็ได้มีการแจ้งทั้งหมดที่จะดำเนินการในส่วนนี้ ทีนี้คำว่าในวัง และแจ้งและขออนุญาตเนี่ยแปลว่าอะไรมันมีความหมายพิเศษต่อไปถ้าหากคุณอดิศักดิ์จะถาม
อดิศักดิ์ - ขั้นตอนเป็นอย่างไรครับ ที่ท่านเล่ามาทั้งหมดเนี่ยมันเป็นขั้นตอนการประชุมกัน เตรียมความพร้อมจะเชิญใครไม่เชิญใคร แต่ว่ามาถึงจุดสำคัญที่จะใช้สถานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอุโบสถเนี่ยนะครับ มีขั้นตอนอย่างไรนั่นคือประเด็น
วิษณุ - คือจุดเริ่มต้นว่าเมื่อคณะกรรมการทุกชุดเห็นพ้องต้องกันว่าให้ใช้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยเฉพาะพระอุโบสถ หลักก็เป็นอันที่ทราบแล้วล่ะครับว่าต้องขอพระบรมราชานุญาตในชั้นการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 28 มี.ค.นั้นเนี่ย คณะกรรมการที่มีตัวแทนหน่วยงานหลายหน่วยที่เขามีความรู้มีความชำนาญ ก็บอกว่าต้องขอจากสำนักพระราชวัง โปรดเข้าใจก่อนว่ามันมีหน่วยงานในวังอยู่ 2 หน่วย ที่มีเลขาธิการสำนักพระราชวังชื่อว่า คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย และอีกหน่วยหนึ่งก็คือสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งมีตัวราชเลขาธิการชื่อว่า ท่านอาสา สารสิน เป็น 2 กรม 2 หน่วย ครั้งแรกก็บอกว่าต้องขอที่สำนักพระราชวังเพราะมันต้องผ่านงานต่างๆ และเกี่ยวข้องกับพิธีรีตอง ผมก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 มี.ค. 2548 ไปถึงเลขาธิการพระราชวังเพื่อที่จะขออนุญาต 3 อย่างคือ 1.ขออนุญาตใช้พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อที่จะใช้เป็นที่ประกอบพิธี 2.เนื่องจากว่าจะมีประชาชนต่างศาสนาเข้ามาร่วมงานด้วยและท่านก็อาจจะมีความขัดข้องในการเข้าร่วมพิธีในพระอุโบสถแต่เนื่องจากในนั้นมีปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งปีหนึ่งเปิดอยู่ไม่กี่ครั้ง
ธงทอง- ครับผม ก็มีวันจักรี วันสงกรานต์ วันฉัตรมงคล วันปิยมหาราช และวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
วิษณุ - เท่านั้น ปีหนึ่งเปิดอยู่ 3-4 วัน ก็คิดว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสพิเศษควรจะขอพระบรมราชานุญาตเปิดปราสาทพระเทพบิดรให้ประชาชนทุกศาสนาเข้าไปถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้านที่นั้นด้วย ซึ่งเขาไม่มีความรังเกียจรังงอนในเรื่องนี้ ก็ขอพระบรมราชานุญาตในข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ก็คือ พิธีนี้ควรจะมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ช่อง 11 นี่ล่ะครับ ก็ขอพระบรมราชานุญาตถ่ายทอดช่อง 11 ซึ่งแปลว่าจะต้องมีการตั้งกล้องและติดตั้งอะไรต่อมิอะไรมากมาย 3 ข้อ ขอไปที่ท่านเลขาธิการพระราชวัง
อดิศักดิ์ - วันที่เท่าไหร่
วิษณุ - ย้ำว่า วันที่ 30 มี.ค.2548
อดิศักดิ์ - เต็มฉบับ ฉบับแรกเลย
วิษณุ - ครับ แล้วหนังสือนี้ก็ลงท้ายว่า จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาหากจำเป็นต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตพระการใด ได้โปรดดำเนินการและแจ้งให้ทราบด้วย เพราะเราก็ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ และหวังว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากท่านด้วยดี นี่คือหนังสือและก็ลงท้าย ผมก็เซ็นไป
อดิศักดิ์ - ผมขอดูนิดนึงได้ไหมครับ
วิษณุ - เชิญครับ
อดิศักดิ์ - เพราะมันมีประเด็นอีกนิดนึง ก็คือมีการพูดถึงการจัดงานว่าจะเชิญใคร ไม่เชิญใครด้วยนะครับ
อันนี้บอกมีนายกฯ คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ไม่มีองคมนตรี
วิษณุ - ในนี้มีมะ ใช่ไหมฮะ
พิธีกร - ไม่มีฮะ ฉบับแรกไม่มี
วิษณุ - ตอนนั้นเข้าใจว่ายังไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนเชิญ
พิธีกร - ก็เลยเป็นที่มาว่าส่งจดหมายฉบับนี้ไปแล้วเงียบเลยเพราะไม่มีองคมนตรี
วิษณุ - คนอาจจะไปคิดอย่างนั้น แต่ความจริงมันมีที่มาต่อไป ซึ่งเดี๋ยวผมจะเรียน เพราะเรื่องนี้มันต่อกันยาวอีกนะ ก็ปรากฏว่าเงียบ ซึ่งคำถามก็มีว่าทำไมเงียบ ผมก็ไม่ทราบตอนนั้นว่าเงียบ เพราะผมไม่ได้ลงไปดูในรายละเอียดและแล้วแต่ ต่อไปคงต้องโยนกลับไปที่ ผอ.สำนักมหาเถรสมาคมว่า ทำไมเงียบ หลังจากเงียบทำไรต่อ ต่อจากนั้นผมไม่ได้ทำแล้ว
พิธีกร - ของท่านส่งจดหมายไป เพราะท่านลงนาม 30 มี.ค.ฉบับแรก ส่งไปที่สำนักพระราชวังแล้วเงียบ และไปทางท่านจุฬารัตน์ได้ไง เชิญครับ คุณจุฬารัตน์ ไปที่ท่านได้ไง
จุฬารัตน์ - ต้องขอกราบเรียนว่าหลังจากที่ท่านรองนายกฯ วิษณุ ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 ไปที่เลขาพระราชวัง เพื่อขอบรมราชานุญาตอย่างที่ท่านได้กล่าวไปแล้ว ในฐานะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขานุการในการประสานดำเนินการทั้งหมดไม่ว่าจะเรื่องการเชิญ หรือออกเอกสารทั้งหมด ก็ได้เรียนประสานไปทางสำนักพระราชวังเพื่อขอทราบว่าที่ท่านรองนายกฯได้ทำหนังสือแจ้งไป ยังไม่ตอบกลับมาก็ได้ติดตามเรื่องมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 8 เวลาเย็น ก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังว่า การที่จะขอใช้วัดพระแก้ว ขออนุญาตใช้ ขอให้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ
พิธีกร - ไม่ใช่สำนักพระราชวัง
จุฬารัตน์ - ค่ะ เพราะฉะนั้นเราก็ทำหนังสือในฐานะที่เป็นฝ่ายเลขา และระยะเวลาสั้นมาก
พิธีกร - เพราะวันที่ 8 ได้รับแจ้ง งานจะมีวันที่ 10
จุฬารัตน์ - ใช่ค่ะ และทางสำนักพระราชวังบอกว่าต้องทำหนังสือให้ถึงภายในวันนี้ จะมืดจะค่ำยังไงก็จะรอ อันนี้เราก็ทำหนังสือไปที่ราชเลขา
พิธีกร - ไม่ใช่สำนักพระราชวังแหละ ต้องทำไปที่ราชเลขา
จุฬารัตน์ - ค่ะ เราก็ทำหนังสือและไปส่งที่ราชเลขา โดยเจ้าหน้าที่กรุณารอจนถึงค่ำ และยังได้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ของเราที่ส่งเรื่องว่าจะนำความกราบบังคมทูล เพื่อขอพระบรมราชานุญาตเลย เนื่องจากระยะเวลาใกล้แล้ว หลังจากนั้น เราก็วันรุ่งขึ้นดิฉันได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ก่อน จาก ผอ.กองพระราชพิธีสำนักราชเลขาว่า..
วิษณุ - สำนักพระราชวัง กองพระราชพิธีต้องสำนักพระราชวัง
จุฬารัตน์ - ค่ะ สำนักพระราชวังว่าขณะนี้มีพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ดำเนินการไปได้เลย
พิธีกร - ทำไมไม่ใช่สำนักพระราชเลขาแจ้งกลับละครับ กลับไปเป็นสำนักพระราชวังเหมือนเดิม
จุฬารัตน์ - สำนักราชเลขา ค่ะ แต่ ..
วิษณุ - ผมเข้าใจว่าเป็นกองการในพระองค์
พิธีกร - กองการในพระองค์ สำนักราชเลขานะฮะ เพราะตอนแรกแจ้งไปทางสำนักราชเลขา เขาแจ้งกลับมาในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 9
จุฬารัตน์ - แจ้งกลับทางโทรศัพท์นะค่ะ พร้อมแจ้งโทรสารด้วย และหลังจากนั้นบอกว่าดำเนินการไปได้เลยไม่มีปัญหา แจ้งว่าได้มีพระบรมราชานุญาตเรียบร้อยแล้ว แต่ว่ามีหนังสือไหมฮะ
พิธีกร - มีหนังสือไหมฮะ
จุฬารัตน์ - มีค่ะ หมายถึงแจ้งทางวาจาก่อน ทางโทรศัพท์ในวันที่ 9 วันรุ่งขึ้นน่ะนะคะ หลังจากนั้นก็แฟกซ์เอกสารมาบอกว่าหนังสือจะตามมา แต่ว่าบอกไม่มีปัญหาเรื่องนี้สามารถดำเนินการได้เลยนะคะ เพราะเราได้ติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอด
อดิศักดิ์ - จากนั้นดำเนินการอย่างไรต่อครับ
-ญ- ก็เรื่องนี้สู่กระบวนการที่จะถึงเวลาจัดงาน เพราะว่าในช่วงนั้นเราก็ไปอยู่กันที่สวนอัมพร ทั้งวัดพระแก้วก็เป็นการจัดงานเพราะเราเป็นฝ่ายเตรียมการด้วยก็ต้องไปดูสถานที่นะคะ
อดิศักดิ์ - ซึ่งวัดพระแก้วเนี่ยใครจะต้องมาเป็นคนจัดการ
-ญ-ทางสำนักพระราชวังค่ะ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง
อดิศักดิ์ - คือเขาก็ต้องประสานกันเองด้วยใช่ไหมครับแล้วก็มาดำเนินการที่พระอุโบสถให้ด้วย แต่ก่อนจะไปกันต่อ ผมขอถามนิดนึงครับก่อนจะเลยกันไป ท่าน อ.ธงทอง เรื่องนี้เรื่องการใช้พระอุโบสถโดยเฉพาะวันอย่างนี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเนี่ย งานอย่างนี้เข้าไปจัดกันได้หรือครับในพระอุโบสถ
ธงทอง - อยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า สำหรับวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก็เป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมความเคารพและนับถือของพวกเราชาวไทยทั้งหมดเนี่ย โดยปกติประเพณีนี่แน่นอนว่ามีงานพระราชพิธี งานบำเพ็ญพระราชกุศลหลายอย่างหลายประการ หลายพิธีที่มีระเบียบปฏิบัติประจำที่จัดอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนะครับ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วก็อยากจะเรียนว่ามีประเพณี หรือมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ได้ทำสม่ำเสมอกันมาก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือว่าไม่ว่าจะเป็นคณะบุคคลหรือคณะจัดงานที่จะจัดกิจกรรมหรือจะจัดงานที่คิดว่ามีความเหมาะมีความควร แล้วก็ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสมอมาในหลายวาระโอกาสปีละหลายครั้ง ผมเท่าที่จะนึกออกก็คือว่ากระทรวงสาธารณสุขจัดสร้างพระพุทธรูปประจำกระทรวงอย่างนี้ก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นงานของกระทรวงของสาธารณสุข ไม่มีเจ้านายเสด็จ ในพระอุโบสถ
อดิศักดิ์ - ในรูปแบบเดียวกันที่คนสามัญ ที่ไม่มีเชื้อเจ้านี่
ธงทอง - ถูกต้องครับผม ก็มีอาจจะเป็นพระสงฆ์องค์เจ้ามาเป็นประธานแต่ไม่ใช่เจ้านายไม่ใช่สมเด็จพระบรมวงศ์ แม้กระทั่งผู้ที่เป็นประธานในพิธี เป็นบุคคลธรรมดาสามัญไม่ได้เป็น
อดิศักดิ์ - องคมนตรี
ธงทอง - ไม่ใช่องคมนตรีครับผม คุณสวัสดิ์ โชติพานิช ที่เคยเป็นประธาน กกต. เคยเป็นอดีตประธานศาลฎีกาเคยขอพระบรมราชานุญาตจัดพิธีมังคลาภิเษกเหรียญพระบรมรูปก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นข่าวออกทีวี เพราะว่าผู้เป็นประธานก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสาธารณะก็คืองานซึ่งจัดกันเป็นประจำ มีเป็นประจำ แต่ประเด็นสำคัญก็คือ 1.ต้องได้รับพระบรมราชานุญาต 2.มีแบบธรรมเนียมว่าจะต้องมีความเหมาะความควรที่จะไปจัดงานที่นั้นได้
อดิศักดิ์ - คือหมายความว่าอุโบสถวัดพระแก้วนี่ ไม่ใช่เฉพาะงานพระราชพิธีเท่านั้น คนธรรมดาทั่วไปเข้าไปนั่งเป็นประธานในพิธีได้แต่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาต
ธงทอง - ใช่ ถูกต้อง
วิษณุ - ผมขอเวลาคุณอดิศักดิ์ สักนิดนะครับว่า มันต้องย้อนกลับไปตรงที่ ท่าน ผอ.จุฬารัตน์ บุญยากร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มีหนังสือต่อจากผม ผมมีวันที่ 30 มี.ค. ของท่าน 8 เม.ย. ฉบับที่ 2 ไปถึงราชเลขาธิการ เพื่อขออนุญาตอย่างเดียวกันคือ 3 อย่าง ขอใช้พระอุโบสถ ขอเปิดประสาทพระเทพบิดร ให้คนถวายสักการะ และขอให้ถ่ายทอด จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและโปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
พิธีกร - อันนี้ ทางจุฬารัตน์เซ็นเอง
วิษณุ - นี่ต้องถามอีกว่าทำไม คำตอบ คุณจุฬารัตน์ ผอ.ซี 9 คำตอบอยู่ตรงนี้เองว่าได้รับโทรศัพท์ในตอนเย็นของวันศุกร์ที่ 8 เม.ย.ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ที่หัวหิน กำลังจะขึ้นเฝ้าฯ ถ้าหากจะจัดงานวันที่ 10 มะรืนนี้ มัวแต่อะไรกันอยู่ก็จะไม่ทัน ขอความกรุณาออกหนังสือเร็วที่สุด ถึงสำนักราชเลขา เอาตัวจริงทิ้งไว้ที่สำนักราชเลขา แต่กรุณาแฟกซ์หนังสือสำเนานั้นมายังหัวหิน เพื่อที่จะเชิญขึ้นขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตในค่ำวันนั้น ซึ่งคุณจุฬารัตน์ก็ต้องเซ็นเอง เพราะแกตามใครไม่เจอแล้ว ตามผมไม่เจอ ไม่มีใครอยู่ตรงนั้น เพราะไม่มีใครรู้ว่าเกิดเหตุนี้ขึ้น คุณจุฬารัตน์ก็เซ็นและเอาตัวจริงไปมอบให้สำนักราชเลขากรุงเทพมหานครในวังหลวง และแฟกซ์อันนี้ไปหัวหิน ทางสำนักราชเลขาก็กรุณาอย่างยิ่งนำขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุรีพระบาท ต่อจากนั้น วันเสาร์ที่ 9 เม.ย.ก็มีโทรศัพท์แจ้งกลับมาที่คุณ จุฬารัตน์ว่า บัดนี้ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลแล้วมีพระบรมราชานุญาตให้ จัดได้ และมีการแฟกซ์สำเนาหนังสือราชานุญาตที่ยังไม่ได้ลงนามมาให้เห็นแล้วมีหนังสือแต่ยังไม่ได้ออกที่ เพราะมันวันเสาร์ อาทิตย์ เหตุที่ยังไม่ออกที่เพราะวันนี้มันมาจากหัวหิน ก็ต้องตรวจสอบกับทางกรุงเทพฯ อีกว่าลงที่อะไร เหตุยังไม่ได้มีการลงนาม เพราะท่านราชเลขาไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะลงนามได้ขณะนั้น เข้าใจว่าท่านไม่ได้ไปหัวหิน แต่ตรงนี้จะส่งตัวจริงตามมาให้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเรียนว่า มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิดปกติประการใด สำหรับระบบราชการที่เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน
พิธีกร - จริงๆ เท่าที่ฟังท่านรองฯ ตัวจริงสงสัยไปได้เอาหลังงานแล้วใช่ไหม
วิษณุ - ใช่ครับ จันทร์ที่ 11 ได้ ทีนี้ปัญหาว่าแล้วสำนักพุทธก็ดี อะไรก็ดี รู้ได้ไงต้องมีพระบรมราชานุญาตจริง ต้องเชื่อใจกันลักษณะนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ที่โทรศัพท์ติดต่อแจ้ง อยู่ในฐานะเชื่อถือได้ ข้อสำคัญผมต้องเรียนต่อว่า การที่จะนำขึ้นกราบบังคมทูลนั้น แม้จะอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการ แต่พอถึงเวลาจะเปิดพระอุโบสถ เปิดพระเทพบิดร อำนวยความสะดวกเป็นเรื่องสำนักพระราชวังอยู่ดี เป็นความกรุณาอย่างใหญ่หลวงของสำนักราชเลขาธิการว่า ณ วันเสาร์ที่ 9 เม.ย.เมื่อแจ้งมาที่ท่าน ผอ.จุฬารัตน์ว่าได้มีพระบรมราชานุญาตแล้ว ดำเนินการได้ เดี๋ยวไม่ทันถ้ามัวแต่รอหนังสืออยู่ ทางสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือที่ รล 0003.3/5519 5518 คืออันที่มาถึงคุณจุฬารัตน์ 5519 ลงวันที่ 10 เม.ย.เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้สถานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทพระเทพบิดรและถ่ายทอดสด เรียนเลขาธิการพระราชวัง ไปถึงสำนักพระราชวังเพื่อให้โปรดเอื้อเฟื้อ 3 ข้อนี้ ที่ขอพระราชทาน เพราะได้รับพระบรมราชนุญาตแล้ว ตรงนี้ สำนักราชเลขาต้องมีหนังสือไปถึงสำนักพระราชวัง ไม่งั้นสำนักพระราชวังเค้าไม่มาเชื่อคุณจุฬารัตน์หรอก
พิธีกร - เอางี้ดีกว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่มีพระบรมราชานุญาตวันที่เท่าไร แม้หนังสือจะยังไม่มา
วิษณุ - ผมไม่รู้ 8 หรือ 9 ไม่ทราบ
พิธีกร - แต่ว่าก่อนงานนะฮะ
วิษณุ - แน่นอน
พิธีกร - แล้วมันเป็นเรื่องการเดินหนังสือ เท่าที่ฟัง เพราะมันมีฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 อันนี้แหละครับ คงเป็นฉบับเนี้ยะ และเป็นท่านรองราชเลขาธิการเซ็น แต่ตรงลายเซ็นท่าน ดันเขียนวันที่ไว้ด้วย คือวันที่ 11 เม.ย.ก็เลยทำให้สับสนว่าหัวกระดาษในวันที่ 10 ตีตรงที่ท่านลงนาม ท่านเขียนกำกับว่าวันที่ 11 เหมือนมาอนุญาตหลังงาน เลยสับสนพอสมควร
วิษณุ - เป็นการขออนุญาตก่อนงาน เพราะลองคิดโดยสามัญสำนึก รัฐบาลไม่มีกุญแจไขอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรอก ถ้าหากไม่มีพระบรมราชานุญาตใครจะไปไขพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใครจะไปเปิดปราสาทพระเทพบิดร ใครจะจัดที่นั่งตั้งเก้าอี้ ใครจะจัดแท่นบูชาพระ ใครจะให้สามารถไปทำพิธี ใครจะจัดที่จอดรถให้ ซึ่งทั้งหมดนั้นสำนักพระราชวังเอื้อเฟื้อจัดให้ทั้งหมด เพราะได้รับสัญญาณจากสำนักราชเลขา ไม่ใช่จากคุณจุฬารัตน์ว่ามีพระบรมราชานุญาต แล้วในฐานะที่ผมเคยเป็นเลขาธิการรัฐมนตรี ตรงนี้ต้องยกให้เป็นความดีของสำนักราชเลขาธิการว่า ตั้งแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แปรพระราชทานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวลหัวหินนั้น การติดต่อต่างๆ อาจลำบาก เดินทางไป 3 ชั่วโมง กลับ 3 ชั่วโมง เราใช้โทรสารในการติดต่อ ถ้าได้แน่ใจว่าทุกอย่างถูกต้องเรียบร้อย บัญชีโยกย้ายทหารที่อ่านกันแต่ละปี เนี่ย ซึ่งนี่คือสิ่งที่เคยปฏิบัติทันทีที่มีพระบรมราชานุญาตหรือลงพระปรมาภิไธยพระราชทานว่าให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณเรียบร้อย แต่กว่าหนังสือนั้นจะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ มาลงทะเบียนแล้วก็ออกเลขมาได้นั้น ตรงนี้คงไม่มีใครสามารถรอไปได้เพราะมันอีกหลายวัน จึงในที่สุดจึงได้ประกาศคืนวันนั้น และอีก 2-3 วันหนังสือก็จะมาถึงเป็นปกติประเพณีที่สำนักราชเลขาธิการเดินงานให้อย่างรวดเร็ว แล้วก็มีการตกลงและทำความเข้าใจ
อดิศักดิ์ - แล้วประเด็นที่ท่านไปเซ็นกำกับวันที่ 11 นี่
วิษณุ - ผมก็เข้าใจว่าเพราะเรื่องจริงก็คือหนังสือตัวจริงนี่มาวันที่ 11 จริงๆ ท่านลงวันที่10 นะ แต่ท่านลงชื่อกำกับและก็ลงว่า 11 นี่ผมไม่ทราบว่ามันเป็นเรื่องอะไรของท่านผมก็ไม่ทราบ เว้นแต่จะมีใครสงสัยว่าฉบับนี้ปลอม หรือมีใครสงสัยว่าออกย้อนหลังวันที่ 10 ตอนสวดมนต์เมื่อสักครู่ในวิดีโอนั่นสงสัยยังไม่อนุญาต ก็ถ้าไม่ได้อนุญาตจะไปจัดกันได้อย่างไร จะไปนั่งสวดกันได้อย่างไร
อดิศักดิ์ - อันนี้ส่งไปที่ไหนส่งที่คุณจุฬารัตน์หรือเปล่า
วิษณุ - นี่ นี่ อันนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการตอบสนองหนังสือคุณจุฬารัตน์เลยนะครับ เรียนคุณจุฬารัตน์ บุญยากร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ไม่ได้มาเรียนผมอะไรเลย แล้วก็ตรงนี้อีกที่มีคนไปจับผิด หนังสือคุณจุฬารัตน์นั้นออกไปถึงเป็นที่ พส.0006/274 แต่เวลาที่สำนักราชเลขาธิการตอบมานั้น เรียนนางจุฬารัตน์ อ้างถึงหนังสือสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ที่พส.0006/238 สงสัยไหมครับ ก็คำตอบคือว่าเมื่อทางนี้แฟกซ์ไปที่หัวหิน ลายที่แฟกซ์พิมพ์ออกมาไม่ชัดท่านไม่ได้เห็นตัวจริงนี่ครับเพราะตัวจริงอยู่ที่กรุงเทพฯ ทุกอย่างโต้ตอบจากหัวหินมาที่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเมื่ออ่านแฟกซ์ไม่ออกท่านก็เดาว่ามันคงเป็น 238 มั๊ง ก็เลยเป็น 0006/238 คุณจุฬารัตน์ไม่เคยออกหนังสือ / 238ไปเลยทั้งสิ้น และก็มีด้วยว่า /238 ที่จริงเป็นเรื่องอะไรมันมีของมันอีกฉบับหนึ่ง นี่ก็คือเป็นเรื่องจริงที่มันยันกันอยู่ไม่มีอะไรผิดปกติ ณ ส่วนนี้ ถ้าจะสงสัยก็มานั่งสงสัยว่าหนังสือนี้คุณจุฬารัตน์ทำเอง สงสัยว่าออกย้อนหลังในขณะที่วันที่ 10 ยังไม่มีพระบรมราชานุญาต ซึ่งผมก็เรียนแล้วว่าทุกอย่างมีการติดต่อ ผมมีตัวอย่างให้คุณอดิศักดิ์ นี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังพูดเลยนะ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.นี่มีการใช้พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกแล้ว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ทำไม่ได้เกี่ยวเลยนะ และไม่ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จ ไม่มีใครเสด็จพระราชดำเนิน จัดกันเองร่วมกับพุทธศาสนิกชนแล้วงานนี้จัดวันที่ 8 ส.ค.ปรากฎว่าหนังสือเนี่ยมีข้อความเหมือนกับที่ตอบไปยังคุณจุฬารัตน์ ครั้งนั้นเลยว่า ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาต หนังสือนี้ออกวันที่ 8 ส.ค. งานจัดวันที่ 8 ส.ค.ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็ต้องมาสงสัยว่า เอจัดได้อย่างไร ถ้าจะเอาเวลาก็ตอบว่าขณะที่วันที่ 8 ส.ค.ที่เขาสวดมนต์กันที่วัดพระแก้วนั้นหนังสือนี้ก็ยังมาไม่ถึงด้วย เพราะฉะนั้นต้องเรียนว่าระบบราชการการประสานกันอย่างนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา
อดิศักดิ์ - ก็เป็นเรื่องที่หนังสือตามมา ทำนองนั้นใช่ไหมครับ เออที่ท่านเซ็นกำกับวันที่ 11 นี่ก็อาจจะเซ็นตามความจริง
วิษณุ - ก็แน่นอน และเป็นความจริงเราไม่ปฏิเสธเลย เพราะจริงๆ แล้วคุณจุฬารัตน์ก็ได้ วันที่ 11 วันจันทร์ 9 โมงเช้าแกมาทำงานก็เห็นแล้ว ทีนี้ ถาม อ.ธงทองบอกว่า แล้ววัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นวัดในพระมหาราชวัง คนธรรมดาสามัญไปจัดงานจัดการได้หรือ ผมอยากย้ำตรงนี้ว่า แน่นอน ปกติต้องเป็นที่สำหรับจัดงานพระราชพิธี แต่เรื่องที่จะมีบุคคลอื่นไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานนั้นมีอยู่เสมอ ปีหนึ่งหลายครั้ง โดยไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่มีองคมนตรี ไม่มีเจ้านายเสด็จ เมื่อกี้ อ.ธงทองได้พูด ผมอยากให้เป็นทะเบียนไว้ตรงนี้ซักนิดย้อนไป 3-4 ปี เก่ากว่านี้ก็มี แต่อย่าไปนึกมันเลย 20 ก.พ.2542 พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ไปประกอบพิธี ทำเหรียญเบญจมหามงคล วันที่ 27 มิ.ย.2543 กระทรวงสาธารณสุขได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระประจำกระทรวง วันที่ 14 ธ.ค.2545 นายสวัสดิ์ โชติพานิช ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดงานบังคลาภิเษก พระบรมรูป ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์องคมนตรีไปในงานเป็นประธานทั้งสิ้น จัดกันเอง ทีนี้ คำถาม อะ เชิญฮะ ผมไม่ควรถาม
พิธีกร - เอาเป็นว่าเรื่องขั้นตอน ที่ท่านชี้แจงตามนี้ ส่งหนังสือแบบนี้ กลับวันนี้ งานจัดไปแล้ว และส่วนหนังสือตามมาทีหลังแต่มีพระบรมราชานุญาตก่อนงานแล้ว นี่คือประเด็น ประเด็นที่นายกฯ เป็นประธานมีการแจ้งไหม
วิษณุ - อันนี้ดีมาก เมื่อสักครู่ผมหยิบฉบับหนึ่งให้คุณอดิศักดิ์ดู
พิธีกร - ฉบับนั้นไม่ได้แจ้งองคมนตรีด้วย
วิษณุ - เอาละฮะ ไม่เป็นไร คุณจุฬารัตน์เซ็นไปถึงราชเลขา ฉบับที่แฟกซ์ไปแฟกซ์มานี่แหละ ขอบรมราชานุญาตนี่แหละ และในนี้ก็จะบอกมีองคมนตรี มีนายกฯ และวันนี้ มีคนมาจับผิด องคมนตรีไม่มี กรุณาสังเกตว่าเรื่องอะไร เรียนใคร สิ่งที่ส่งมาด้วยร่างกำหนดการ 1 ฉบับ กำหนดการได้ส่งไปนะ ทีนี้ต่อไปนี้ คือกำหนดการ 1 ฉบับในกำหนดนี้ได้บอกเอาไว้ว่า ถ้าคุณอดิศักดิ์จะกรุณาดูแผ่นใหญ่หน่อย ในกำหนดการซึ่งส่งไปที่สำนักราชเลขาธิการ เอาละครับ ท่านดูตรงนี้ 14.45-15.00 น. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน พร้อมกันที่พระอุโบสถ เวลา 15.00-16.00 น. กรรมการมหาเถรสมาคม 21 รูปนั่งยังอาสนะ ต่อไปนี้นายกฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ที่จริงงานนี้ไม่เคยมีใครบอกเลยว่านายกฯ เป็นประธาน แต่นายกฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนา อาราธนาศีลคือ ผอ.จะกระทำเองใช่ไหม ประธานสงฆ์ให้ศีลคือเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดสระเกษ เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บทที่มหาเถรสมาคมกำหนด ต่อจากนั้นเจริญจิตภาวนา นายกฯ คณะรัฐมนตรีถวาย ทั้งหมดนี่ก็ว่าไปเรื่อย ก็พิธีก็มีอย่างนี้ นายกฯก็ทำตามนี้ทุกอย่าง
พิธีกร - แต่ว่าประเด็นองคมนตรีเป็นประเด็นไหม
วิษณุ - ประเด็นคือเราเรียนเชิญ แต่ท่านตอบว่าไม่สามารถจะมาได้
พิธีกร - แต่จดหมายวันที่ 8 คุณจุฬารัตน์เขียนไปมีองคมนตรีด้วย แต่ฉบับแรกท่านเขียนไปไม่มีองคมนตรี
วิษณุ - ผมจำไม่ได้ว่าเกิดจากเพราะอะไร
พิธีกร - ตรงนั้นเป็นประเด็นไหม
วิษณุ - แต่ว่ากำหนดนี้เราก็ส่งไปด้วย ไปสำนัก...
พิธีกร - เพราะฉะนั้นสำนักพระราชวังก็จะเห็นอยู่แล้วว่าไม่มีองคมนตรีในกำหนดการอยู่แล้ว
วิษณุ - ใช่ ในกำหนดการไม่มี
พิธีกร - เอาหละ อันนี้ได้รับการชี้แจงลักษณะอย่างนี้ ทีนี้มาอีกประเด็น เรื่องการเข้าไปใช้พระอุโบสถ โดยเฉพาะวัดสำคัญของชาติ เรื่องของความเหมาะสม จุดที่นั่งก่อน ผมขอตรงนี้ก่อนและถ้าจะมีภาพด้วยก็จะดีเลย จุดที่ท่านนายกรัฐมนตรีนั่งเนี่ย เป็นจุดที่ล่อแหลมไม๊ครับท่าน อ.ธงทอง หลายคนบอกว่าน่าจะเป็นจุดที่อยู่ใกล้เคียงกันหรือเปล่า กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ธงทอง - ผมขออนุญาตดูผังสองผังที่ผมถืออยู่ในมือนี้นะครับ ผังซ้ายเป็นผังแบบปฏิบัติในกรณีที่เป็นการเสด็จพระราชดำเนินนะครับ จะพบว่ามีการทอดพระราชอาสน์อยู่เบื้องหน้า นี่เป็นพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนะครับ ทางด้านซ้ายมือมีพระพุทธรูปองค์สำคัญคือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขวามือเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นะครับ เออทางด้านแนวเดียวที่ตรงกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเนี่ย เป็นตำแหน่งที่ทอดพระราชอาสน์เป็นประจำ ก็คือที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นะครับ แล้วก็สำหรับผู้ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทนั้น ก็มีเก้าอี้ที่หันหน้าเข้าสู่ที่เฝ้าที่ประทับนะครับ ถ้าเป็นกรณีสมเด็จพระบรมฯ หรือผู้แทนพระองค์ก็มักจะทอดเก้าอี้ที่เยื้องลงมาด้านหลังตรงนี้
อดิศักดิ์ - อย่างนี้ได้ไหมครับ ง่ายๆ เลยคือพระแก้วมรกตอยู่ด้านบน ของภาพ
ธงทอง - โดยสรุปก็คือแนวที่มีการทอดพระราชอาสน์ปกตินั้นคือแนวที่ตรงกันกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อธิบายกันอย่างนี้ก็ต้องให้ดูรูปด้วย นี่คือพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครับผม เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์ใหญ่ จะพบว่าพระราชอาสน์ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นะครับอยู่แนวเสมอหน้ากับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
อดิศักดิ์ - ถ้าจะดูชัดๆ อ.ธงทองใช้ปากกาชี้ได้ไหมจะได้เห็นได้ชัด
ธงทอง - นี่คือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชอาสน์อยู่เสมอแนวกัน ถ้าดูจากแผนที่นี่ก็ผมทำเป็นผังมา คือเสมอแนวกับพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้นหน้าพระราชอาสน์พรมพระราชอาสน์เรียงไปสุดแนวอยู่ที่ขอบ
อดิศักดิ์ - เพราะฉะนั้นเวลาพระราชอาสน์อยู่ตรงนั้นเนี่ย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือยังไง เวลาประทับอยู่นี่จะต้อง
ธงทอง - หันพระพักตร์ไปทางอาสน์สงฆ์ แล้วพระแก้วมรกตอยู่เบื้องซ้าย ขวาคือหมู่ข้าราชการและผู้ที่เฝ้าฯ
อดิศักดิ์ - หมู่ข้าราชการนี่หันไปด้านไหนครับ
ธงทอง- หันหน้าไปทางที่ประทับ คือหันหน้าไปทางพระแก้ว อันนี้คือกรณีเสด็จ
อดิศักดิ์ - ผมดูในภาพนายกฯ ก็นั่งอย่างนั้นแหละ
ธงทอง - ไม่ใช่ ในระเบียบปฏิบัติประจำ ถ้าไม่ใช่กรณีเสด็จพระราชดำเนินนะครับ ไม่มีเจ้านาย เขาก็จะจัดเก้าอี้อีกแบบนึงเลย จัดเก้าอี้แบบนึงก็คืออาสน์สงฆ์อยู่ด้านนี้ เก้าอี้ของคนทั้งหลายมาชิดริมฝาผนังหันหน้าเข้าอาสน์สงฆ์หมดไม่มีใครหันหน้าเข้าวัดพระแก้วเลย ทุกคนหันซ้ายเข้าพระแก้วหมด
อดิศักดิ์ - นายกฯ ไงครับ นายกฯ หันแล้วพระแก้วก็อยู่ด้านซ้ายเหมือนกัน
ธงทอง - ก็ถูก ก็เหมือนข้าราชการทั้งหมด
อดิศักดิ์ -แต่จะต้องไปทางเดียวกันทั้งหมด
ธงทอง - ไปทางเดียวกันหมดคือไปทางพระสงฆ์ และตำแหน่งที่เก้าอี้นายกฯ เนี่ย ไม่ใช่แนวหน้าพระพุทธเลิศหล้าฯ ครับผม อยู่กลางแถวและก็ไม่ทับที่พระราชอาสน์
วิษณุ - ขออนุญาตแทรกอย่างนี้นะครับ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันดับแรกเวลาก้าวขึ้นบันไดไปเนี่ย ประตูเข้าพระอุโบสถจะมี 3 ประตู ซ้าย ขวา และกลาง ตรงกลางนั้นสงวนไว้สำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ชาวบ้านอื่นขึ้นด้ายซ้ายด้านขวา ท่านนายกฯวันนั้นขึ้นด้านซ้าย เพราะไม่ให้ขึ้นด้านกลางเด็ดขาด เมื่อเข้าไปถึงพระอุโบสถยืนหันหน้าเข้าหาพระแก้วมรกตนี่ ไม่ว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ อาสนะสงฆ์จะตั้งทางขวามือจะตั้งชิดฝาผนังพระอุโบสถ ส่วนที่ประทับจะอยู่ด้านซ้าย หน้าต่างในพระอุโบสถจะมีทั้งหมด 5 ช่อง เริ่มจากช่องแรกใกล้ประตูทางเข้า ทีนี้ตรงพระแก้วมรกตนั้นจะมีพระพุทธรูปยืนอยู่ 2 องค์ ถ้าเราหันหน้าเข้าหาพระแก้วฯ ทางขวาเป็นพระพุทธรูปยืนชื่อว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทางซ้ายเป็นพระพุทธรูปยืนชื่อว่าพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประทับในเวลาเสด็จพระราชดำเนินนั้น เจ้าหน้าที่จะตั้งพระเก้าอี้หรือครอบพระราชอาสน์ไว้ ตรงช่องหน้าต่างช่องที่ 4
ธงทอง - ช่องที่ 4 นับจากพระทวารด้านหน้า
อดิศักดิ์ - ต้องตรงนั้นเสมอ
วิษณุ - อาจจะเหลื่อมหน่อยก็ แต่ 4-5 ล่ะ เพื่อให้ใกล้กับพระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้มากที่สุด เพื่อจะได้เหลือที่ให้คนเฝ้าฯ แล้วก็จะทรงหันพระพักตร์ไปทางอาสนะสงฆ์ ส่วนใครก็ตามที่ไปเฝ้าฯ องคมนตรี อะไรขึ้นมาทั้งหมด ลงมาทั้งหมด ก็จะนั่งหันหน้าเข้าหาพระแก้วมรกต ไม่หันหน้าไปทางอาสนะสงฆ์ ด้วยเหตุถือว่ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทฯ จะมาตั้งนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อเป็น คณะกรรมการอะไรอย่างนี้ด้วยไม่ได้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทุกคนเป็นกรรมการร่วมกัน จัดงานร่วมกัน อาสนะสงฆ์ยังจะจัดอยู่ทางขวามืออย่างเดิม ที่นั่งของผู้ที่มาร่วมงานอยู่ทางซ้ายอย่างเดิม แล้วจะจัดกี่แถวก็แล้วแต่จำนวนแขกที่มา ทุกคนต้องหันหน้าไปยังอาสนะสงฆ์ ที่นั่งประธานนั้น ถ้าสมมุติจะมี ก็จะตั้งอยู่ที่
ธงทอง - หน้าหมู่
วิษณุ - หน้าหมู่คณะทั้งหมด
ธงทอง - หน้าหมู่ของคณะที่มาทำงานนี่ล่ะ ผู้มาร่วมงาน
วิษณุ - ซึ่งเป็นประมานหน้าต่างบานที่
ธงทอง - บานที่ 3
วิษณุ - บานที่ 3
ธงทอง - จับภาพอีกทีได้ไหมฮะ เอาเป็นว่าวันนั้นนายกฯ นั่งตรงไหน
วิษณุ - หน้าต่างบานที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่ทอดพระราชอาสน์ ซึ่งตรงกับหน้าต่างบานที่ 4 ต่อ 5
อดิศักดิ์ - ไม่ได้มีการไปนั่งทับบริเวณที่ตั้งพระราชอาสน์ด้วย
วิษณุ - ไม่มีเลย เด็ดขาด
อดิศักดิ์ - เพราะปกติจะบอกอย่างนี้ แม้ว่าเวลาที่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินก็ตาม พระราชอาสน์จะวางอยู่แล้วมีผ้าเยียรบับทับอยู่
ธงทอง/วิษณุ - ไม่ใช่ ไม่จริงเลยครับ ไม่มี
ธงทอง - พระราชอาสน์นี่จะทอดแต่เฉพาะเวลาที่จะมีพระราชพิธีเท่านั้น
วิษณุ - เช่นพระราชพิธีมีเย็น ก็อาจจะทอดเช้า
ธงทอง - ใช่ เมื่อเช้าผมเพิ่งไปวัดพระแก้วมาหยกๆ นี่ไม่มีพระราชอาสน์นะครับ พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงเสร็จไปเมื่อ 2 วันก่อน เขาก็เก็บไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะวัดพระแก้วนี่ถ้าใครไปทุกวันๆ ผมไปไหว้พระอยู่เสมอ ไม่มีพระราชอาสน์ทอดอยู่เป็นประจำนะครับ ถ้าจะเสด็จพระราชดำเนินเขาจึงทอด เรื่องที่นั่งผมพูดให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งครับว่า ตำแหน่งที่เป็นที่วางเก้าอี้นายกฯ กับตำแหน่งที่ทอดพระราชอาสน์นั้น เป็นคนละตำแหน่งกันแน่ๆ คนละแนว คนละช่องหน้าต่าง คนละบริเวณ
อดิศักดิ์ - ไม่ทับแน่ๆ นะฮะ ต้องปูผ้าแดงด้วยหรือฮะ
ธงทอง - เรืองของพระราชอาสน์นะครับ ผ้าปูนะครับ การปูไม่ได้ปูผ้าแดงเฉยๆ ไม่ได้ปูพรมเฉยๆ เป็นพระราชอาสน์นั้นเขาปูผ้าเยียรบับ หรือปูพระสุจหนี่ นะครับ การที่มีพรมแดงไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้านายเท่านั้นครับ พระก็นั่งพรมแดงได้
วิษณุ - กระทรวงสาธารณสุขไปปลุกเสกพระ โดยมีคุณสุจริต ศรีประพันธ์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นประธานฝ่ายฆราวาส
อดิศักดิ์ - ซึ่งพรมแดงอย่างนี้ก็ไม่ใช่พิเศษอะไร
ธงทอง - ไม่ใช่พิเศษอะไรครับ พรมแดงนี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือตำแหน่งที่นั่งผู้ที่เป็นประธาน และผู้เป็นหัวหน้าคณะของหมู่ที่มาทำพิธีเท่านั้น นะครับ ถ้าเป็นพระราชอาสน์นั้นเขามีระเบียบปฏิบัติ มีการปูพระสุจหนี่ สำหรับเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์
พิธีกร - นายกฯ ใส่รองเท้า
ธงทอง - เรื่องรองเท้า
วิษณุ - พูดร้องเท้าก็พูดเสื้อซะด้วย
ธงทอง - เอารองเท้าก่อนได้ไหม เดี๋ยวค่อยย้อนกลับเสื้อ เรื่องรองเท้าผมขออนุญาตเอาหนังสือคร่ำคราผมมาอ่านเล่มหนึ่งแล้วกัน หนังสือเรื่อง สมเด็จพระศรีสวรินทิรา ผู้เขียนชื่อ คุณสมภพ จันทรประภา ท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ท่านเขียนโดยได้รับความกรุณา เมตตา บอกเล่ามาจากหม่อมพี่หญิงอปภัสราพา เทวกุล และเป็นข้าหลวงผู้ใหญ่ในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพรรวษาเอยิกาเจ้า หรือถ้าพูดภาษาพื้นๆ ให้เราเข้าใจกันง่าย เป็นข้าหลวง เป็นญาติพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็แล้วกัน เล่าถึงพระอัธยาศัยที่ทรงอบรมสั่งสอนบรรดาข้างหลวงทั้งหลาย พูดอย่างนี้ครับเคล็ดอีกอย่างหนึ่งที่ทรงปฏิบัติในการแต่งพระองค์ และทรงสั่งสอนเด็ก คือรองพระบาท หลักมีว่า ถ้าจะต้องเข้าไปในสถานที่อันพึงเคารพ เช่น พระที่นั่ง โบสถ์ ถ้าไม่ทรงถุงพระบาทแล้วจะถอดรองพระบาทออกเสด็จขึ้นไปยังสถานที่นั้นๆ โดยพระบาทเปล่า แต่ถ้าทรงถุงพระบาทแล้วจะไม่ทรงถอดเลย
พิธีกร - หมายความว่าถ้าใส่ถุงเท้า
ธงทอง - ถ้าใส่ถุงเท้าก็จะใส่รองเท้า เพราะถือว่าถุงเท้า รองเท้าที่แต่งครบชุดเป็นความสุภาพ
วิษณุ - เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบ
ธงทอง - เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายถูกแบบแผน ถูกประเพณี แต่ถ้าหากว่าไม่มีถุงเท้า
พิธีกร - เป็นรองเท้าแตะ
ธงทอง - หรือรองเท้าอื่นใดก็แล้วแต่ถอดรองเท้า
พิธีกร - ต้องถอดรองเท้า แล้วการจัดงานทุกทีใส่ไม่ใส่
ธงทอง - ใส่ครับผม เจ้าหน้าที่ที่คลานเข่ายังใส่ เจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังเองก็ใส่รองเท้า นี่คือคติซึ่งท่านสั่งสอนกันมา เรื่องเสื้อ ถ้าเป็นงานพระราชพิธีอย่างที่ว่า ว่าโบสถ์วัดพระแก้วมีงานพระราชพิธีอยู่เป็นประจำ สม่ำเสมอ ถามว่าแต่งกายอะไรถ้าเป็นพระราชพิธี ก็สุดแต่หมายกำหนดการ หรือกำหนดการนั้นจะกำหนด เป็นต้นว่า แต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติขาว ถ้าเป็นงานที่เจ้านายเสด็จ แต่ถ้าไม่ใช่งานที่เจ้านายเสด็จ อย่างเช่น งานของกระทรวงสาธารณสุข มีแบบปฏิบัติที่สำนักพระราชวังได้แนะนำ ได้ชี้แจงสำหรับคนที่ได้รับพระบรมราชานุญาตทั้งหลายสม่ำเสมอว่า ให้แต่งสากลนิยม หรือชุดพระราชทาน หรือชุดสุภาพ
พิธีกร - ไม่จำเป็น
ธงทอง - ไม่จำเป็นต้องแต่งขาว และไม่ควร และไม่มีเหตุจะแต่งปกติขาวด้วยครับเพราะเจ้านายไม่เสด็จ
วิษณุ - คือถ้าแต่งปกติขาวก็ต้องมีคำถามใหญ่โตมโหฬารตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น
พิธีกร - หมายความว่า แม้จะเข้าไปในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปกติขาว
ธงทอง - ถูกต้องครับผม ถ้าเป็นงานหลวง งานพระราชพิธี ถ้าเขาให้แต่งปกติขาวก็ต้องแต่ง
พิธีกร - ที่มีเสด็จด้วยเราต้องแต่ง
ธงทอง - ถูก ที่มีหมายให้แต่งก็แต่ง
พิธีกร - แล้วการแต่งกายใครเป็นคนกำหนดแต่ละครั้ง แต่ละครั้ง
วิษณุ - สำนักพระราชวัง
ธงทอง - ถ้าหากเป็นงานพระราชพิธีสำนักพระราชวังเป็นคนกำหนด แต่ถ้าหากเป็นงานที่ผู้อื่นได้รับก็สุดแท้แต่เจ้าภาพเป็นคนกำหนดตามคำแนะนำของสำนักพระราชวัง
พิธีกร - ซึ่งไม่จำเป็นต้องปกติขาว
ธงทอง - ถูกต้องครับ สำนักพระราชวังต้องมีแนวปฏิบัติที่จะแนะนำว่า คุณเลือกเอาแล้วกัน แต่งสากลนิยมก็ได้ แต่งชุดพระราชทานก็ได้ แต่งชุดสุภาพก็ได้ สิ่งที่วันนั้นทุกท่านแต่งอยู่ ที่เราเรียกว่า เสื้อผ้าไทย หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งถือว่าเป็นชุดสุภาพ สุภาพขนาดไหน ขนาดที่กำหนดให้แต่งอย่างนี้เข้าไปประชุมสภาก็ได้ กำหนดให้แต่งอย่างนี้ไปราชการ ไปประชุมคณะรัฐมนตรี ไปในภาระสำคัญ งานพิธีระหว่างประเทศ งานเลี้ยงรับรอง อะไรต่ออะไรก็ไปด้วยกันได้ทั้งนั้น ถามว่าสุภาพไหมก็สุภาพ และเป็นแนวปฏิบัติของสำนักพระราชวัง
พิธีกร - ซึ่งไม่ได้ขัดอะไรกับสำนักพระราชวัง
ธงทอง - ถ้าแต่งปกติขาวสิประหลาดเพราะไม่มีเจ้านายเสด็จ แล้วเรื่องอะไรจะลุกขึ้นไปแต่งปกติขาว
พิธีกร - กรวดน้ำเหมือนเจ้านาย
วิษณุ - เดี๋ยวจะข้ามเรื่องเสื้อผ้าไปต้องขออนุญาตนิดหนึ่งต้องขออนุญาตเรียนคุณอดิศักดิ์ก่อน คือบังเอิญ ไม่ใช่บังเอิญล่ะ ตั้งใจล่ะ คือในวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน ที่จัดงาน ก่อนหน้าจะถึงวันนั้นคณะกรรมการก็เถียงกันมาก่อนแล้วเรื่องการแต่งกาย ในที่สุดก็ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ในคณะกรรมการเองซึ่งมีหลายฝ่ายว่า คงจะต้องให้แต่งชุดพระราชทาน และก็เป็นผ้าไทย แต่ขอให้สีอ่อนหรือสีสุภาพ เหตุผลข้อที่ 1 ก็เพราะว่า ครม.ทั้งหมดมีภารกิจตอนเช้า 7 โมง ไปทำบุญตักบาตรทั้งชุดนั้น ที่สวนอัมพร แล้วพอเที่ยงหรือบ่ายก็จะมาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ว่าก่อนจะเที่ยงนั้นจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่บางคนต้องแยกย้ายไปทำบุญตามวัดวาอารามต่างๆ ผมไปวัดนครปฐม วัดปฐมเจดีย์ คือมีภารกิจกันไปนะฮะ บ่ายก็มาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสร็จปั๊บ เย็นก็จะไปที่สวนอัมพรซึ่งจะมีพิธีสมานฉันท์หลายศาสนาสวดมนต์พร้อมกัน ก็ไปมันชุดนี้เลยตั้งแต่เช้าจนเย็น นั่นข้อที่ 1 ข้อที่ 2 เราก็คิดว่างานนี้เป็นงานที่มีชื่ออย่างที่คุณอดิศักดิ์พูดว่าเป็นงานศาสนสัมพันธ์เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เราเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าไปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นพันคน แล้วทุกคนก็แต่งกายตามสะดวกแต่ขอให้สุภาพ แล้วก็คิดว่ากันถ้า ครม.ไปแต่งชุดสากล ซึ่งปกติขาวน่ะเป็นอันไม่แต่งแล้ว แต่ถ้าแต่งชุดสากลก็จะมีการแยกเป็นราษฎรชั้น 1 ชั้น 2 ไม่มีบรรยากาศของความสมานฉันท์ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของความมีสมานฉันท์ก็คือแต่งกายให้เป็นสุภาพ ผ้าไทย แล้วก็ชุดพระราชทาน นี่คือที่มาของสิ่งทั้งหมด และสำนักพระราชวังก็บอกว่าไม่ขัดต่อระเบียบใดๆ ไม่ว่าแขนสั้น แขนยาว และคำว่าสุภาพถ้าออกไปทางสีโทนอ่อนหน่อยก็จะดี คำแนะนำมีอย่างเดียวเท่านั้น
อดิศักดิ์ - ก็คือทำไปตามระเบียบปฏิบัติอยู่แล้วถ้าพูดง่ายๆ นะฮะ
ธงทอง - เรื่องกรวดน้ำเลยนะฮะ ขออนุญาตมาพูดถึงเรื่องกรวดน้ำในเวลาที่เสร็จพิธีบำเพ็ญกุศลในทางฝ่ายพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นปกติประเพณีที่พระสงฆ์จะอนุโมทนา ผู้ที่มาร่วมพิธีก็ร่วมกรวดน้ำ เป็นเจ้านายก็ใช้ราชาศัพท์ว่าทรงหลั่งทักษิโณทก รูปเหตุการณ์ในวันนั้นก็คงเป็นภาพนี้ เป็นท่านนายกฯ นั่งอยู่แล้วก็มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังมาคุกเข่าอยู่เบื้องหน้าของท่านนายกรัฐมนตรี ระเบียบปฏิบัติอย่างนี้เป็นระเบียบซึ่งปฏิบัติประจำสำหรับผู้ที่เป็นประธานในพิธีซึ่งไม่ใช่เจ้านาย
นี่ก็เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังคุกเข่าอยู่ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติที่ไหนก็แล้วแต่มีภารกิจหน้าที่ความจำเป็นจะต้องไป เขาคุกเข่าเสมอล่ะ ถ้าเป็นสามัญชน ไม่ใช่เจ้านาย นี่งานที่จุฬาฯ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยจุฬาฯ อาจารย์บุญรอด สำนักพระราชวังนี่ ตอพระมหามงกุฎนี่ เขาไปปฏิบัติที่จุฬาฯ เขาถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาหลายรัชกาลแล้ว ช่วงเวลาไปทำบุญที่จุฬาฯ
ถ้าเป็นเจ้านายเขาหมอบครับ หมอบกับคุกเข่าไม่เหมือนกันนะครับ
วิษณุ - หมอบแล้วก็ตะแคง เอียงเอาข้อศอกข้างหนึ่งยันพื้นไว้
ธงทอง - ใช่ หมอบลงศอก แล้วก็ชูขันขึ้นรับน้ำที่ทรงหลั่งทักษิโณทก มือเดียวนะครับ คุกเข่ากับหมอบน่ะไม่เหมือนกัน
ยังมีอีก เรื่องธรรมเนียมเมืองไทยเรานะครับ ถ้าว่ากันตามคตินี่ ข้าวของเครื่องใช้ ตั้งแต่โบราณแล้ว มีกฎมณเฑียรบาลด้วยซ้ำไป เขาก็มีกติกาเป็นลำดับชั้นไปว่าใครที่จะใช้ของชนิดใดอย่างไรบ้าง นะครับ อันนี้ในกรณี รูปคุณพลอยไพลิน ในพระอุโบสถ วัดพระแก้วเหมือนกัน คุณพลอยไม่ใช่เจ้า คุณพลอยเป็นบุคคลที่เป็นสามัญชน จึงไม่ได้หมอบ
พิธีกร - จึงไม่ได้หมอบ เพราะฉะนั้นทางเจ้าหน้าที่เขาจะรู้เอง
ธงทอง - ระเบียบเขา เขารู้เองว่าเขาต้องทำอะไร เราไม่อยากพูดถึงวัสดุด้วย คนเขาบอกว่า สงสัยไปขโมยพระเต้าเจ้านายมาหลั่งเอง วัสดุที่ใช้กฎมณเ.ฑียรบาลตั้งแต่โบราณแล้วธรรมเนียมปฏิบัติเขาก็ว่าต่างๆ กันนะ ถ้าเป็นเจ้านายตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระบรมวงศ์เจ้าฟ้าขึ้นไป ทองคำลงยา ไปถึงพระเจ้าอยู่หัวไปถึงอะไรต่ออะไร ทองคำลงยาราชาวดี นี่เป็นพระเต้าทักษิโณทกของพระเจ้าอยู่หัว
วิษณุ - นี่คือที่กรวดน้ำเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวฯ
ธงทอง - ถ้าลดหลั่นลงมาจะเป็นพระเต้าทองลายสลัก เป็นพระเต้าทองเกลี้ยง เป็นอะไรก็แล้วแต่ พอมาถึงกรณีนายกรัฐมนตรีสงสัยจะใบเดียวกับ อ.บุญรอด นี่แหละ ประมาณนี้ คือเป็นเงินกะไหล่ คือ ถ้าเราดูไกลๆ เรารู้สึกว่า คล้ายกัน แต่มันไม่เหมือน จะว่าเหมือนไม่ได้เพราะว่ามันมีลำดับชั้นมีประเพณี เจ้าหน้าที่สำนักราชวังเขามีหน้าที่ต้องหยิบของให้ถูกมา เมื่อเช้าผมไปพบเจ้าหน้าที่สำนักราชวัง ไปขอคำยืนยัน ไปคุยกับผู้ปฏิบัติ เขาบอกว่า อาจารย์ผมทำเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กจนแก่แล้วจะทำให้ผิดมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าให้ทำคนอื่น ให้ชาวบ้านมาทำเทียมเจ้านายมันเป็นไปไม่ได้
พิธีกร - จริงๆ เขาให้หมดเวลาแล้วแต่ขออีกนิดหนึ่ง รู้สึกตอนกราบ ท่านนายกฯ ไปกราบตรงพระแท่นทรงกราบหรือเปล่า
ธงทอง - ตำแหน่งที่วางที่กราบนั้นเป็นตำแหน่งซึ่งใกล้เคียงกัน แต่วัสดุที่ใช้เหมือนกับเรื่องที่กรวดน้ำแหละครับ คือถามว่ากรวดน้ำไหมก็กรวด ถามว่ากราบไหมก็กราบ เพราะเหตุว่าตำแหน่งที่วางที่กราบนั้นมันไม่มีทางเลี่ยงไปที่อื่นได้มันต้องวางกลาง
พิธีกร - ต่อหน้าพระแก้ว
ธงทอง - ต้องกลางพระแก้ว จะไปวางเอี้ยวซ้ายเอี้ยวขวาไม่ได้ แต่ที่กราบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นพึ่งทราบหรอครับว่า พระแท่นทรงกราบในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นั้นมีฉำหรับพิเศษเลย ชื่อเครื่องนมัสการทองใหญ่ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีที่อื่นเครื่องนี้ไม่ไปนะครับ ไปพระนั่งอัมรินทร์ฯ เครื่องนี้ก็ไม่ไป จะมีเครื่องนมัสการพานทองคำลงยาพานทอง 2 ชั้น เครื่องนมัสการทองลงยาเฉยๆ เครื่องนมัสการทองทิศมี 500 มีหลายแบบเอาว่าอย่างนั้นไม่ถึง 500 หรอก แต่จะบอกว่า ถ้าอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นเขาต้องทอดเครื่องนมัสการอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นของท่านโดยเฉพาะ ไม่เหมือนกับของท่านนายกรัฐมนตรี บรรดาผ้าคลุมขนาดของพระเขนยมันจะไม่เหมือนกัน
พิธีกร - พิเศษเลย เฉพาะเลย
ธงทอง - พิเศษเลย ปูผ้าเยียรบับ คุมสุติบับแล้วก็ปูพรนะสุจหนีรอง ของท่านนายกรัฐมนตรีวันนี้เป็นที่กราบปกติที่สำนักพระราชวังจัดให้เวลาสามัญชนทั้งหลายเป็นประธานในพิธีอื่นใดก็แล้วแต่ แล้วก็คลุมแพรสีฟ้าปกติ
วิษณุ - รัฐบาลคงจะผิดใหญ่ผิดโต ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือต่อไปนี้ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ คุณอดิศักดิ์ช่วยกรุณาเช็คไปว่าผมได้ดัดแปลงอะไรไปหรือไม่ประการใด พี่น้องประชาชนครับ ตั้งแต่ที่เกิดเรื่องมานั้น มีข่าวมานั้น ยังความไม่สบายอกไม่สบายใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดต้องถือหลักอย่างนี้ครับ คนเราถ้าไม่รู้มันก็ไม่รู้ แล้วถ้าเอาอารมณ์หรือความคิดตัวเองเข้าจัดแล้วสิ่งที่ตัวเองรู้มันไม่เหมือนกับสิ่งที่ตัวเองคิด มันก็ต้องนึกว่าผิด ผมเองอะไรที่ผมได้ทำ อะไรที่ผมได้จัด ผมรู้ ผมยืนยันว่า ไม่ผิด แต่บางเรื่องคนอื่นเขาจัดให้เราไปทำเราก็นึกว่ามันถูกแล้ววันหนึ่งพอมีคนบอกว่าผิด ผมนอนไม่หลับมาหลายวัน หรือเราทำผิดจริง
อดิศักดิ์ - เดี๋ยว อันนี้คือที่ท่านรองฯ ใส่มือผมมานี่ คือผมก็เพิ่งเห็นนะฮะ จากสำนักพระราชวัง พระบรมมหาราชวัง เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในงานพิธีที่จัด ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดา เรียน ท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วก็บอกถึงว่าได้มีการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใครบ้างเข้าได้เข้าไปจัดงานในวัดพระแก้วมาแล้ว นี่เขาแจ้งท่านมาเมื่อวันที่ 16
วิษณุ - ใช่ครับๆ
อดิศักดิ์ - คือเมื่อวันก่อน วานซืน
วิษณุ - ทีนี้ผมจะข้ามไปล่ะ จะงานการอะไรที่เขาบอกว่าเคยมีชาวบ้านชาวช่องไปจัดในโบสถ์วัดพระแก้ว เอาล่ะ เราไม่พูดถึง ผมอยากให้คุณอดิศักดิ์ช่วยดูในหน้าต่อไป แล้วผมขออนุญาตอ่านเลยก็แล้วกันนะครับว่า สำนักพระราชวังมีระเบียบที่ถือปฏิบัติ ว่า เมื่อส่วนราชการหรือคณะบุคคลมีความประสงค์จะขอใช้พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อประกอบพิธีต่างๆ ต้องทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว สำนักราชเลขาธิการจะทำหนังสือแจ้งผู้ขอพระบรมราชานุญาต ก็คุณจุฬารัตน์นี่ล่ะ และแจ้งสำนักพระราชวังทราบ เพื่อจะได้เตรียมที่ ทีนี้ลองดูหน้าต่อไปนะครับ การจัดที่นั่งของประธานในพระอุโบสถ จัดเป็น 3 แบบ ดังนี้
1.ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธี การตั้งพระราชอาสน์ที่ประทับจะตั้งโดยหันพระพักตร์ไปยังอาสนะสงฆ์ ส่วนเก้าอี้ของข้าราชการและผู้มาเฝ้าฯ จะหันหน้าเข้าสู่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เพราะถือว่าข้าราชการและผู้มีเกียรตินั้นมาเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
2. ในกรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์ พระราชวงศ์ องคมนตรี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ต้องตั้งพระราชอาสน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นประธาน ตั้งพระเก้าอี้ หรือเก้าอี้ผู้แทนพระองค์ ทางเบื้องขวา และต่ำกว่าพระราชอาสน์ โดยหันหน้าไปทางอาสนะสงฆ์ ส่วนเก้าอี้ของข้าราชการและผู้มีเกียรติ จะตั้งหันเข้าสู่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เพราะถือว่าข้าราชการและผู้มีเกียรตินั้น มาเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์
3. ในกรณีที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หน่วยราชการหรือบุคคล ใช้พระอุโบสถ โดยเชิญผู้มีเกียรติหรือเจ้าของงานเป็นประธาน การตั้งเก้าอี้ของประธานจะตั้งหันหน้าไปยังอาสนะสงฆ์ ส่วนเก้าอี้ของผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน จะตั้งด้านหลังของเก้าอี้ผู้เป็นประธาน และหันหน้าไปยังอาสนะสงฆ์เช่นเดียวกับประธาน
การแต่งกายในพิธี ถ้าเป็นการเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ สำนักพระราชวังกำหนดการแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ เครื่องแบบครึ่งยศ หรือเครื่องแบบปกติขาว แล้วแต่กรณี ส่วนที่เป็นพิธีของหน่วยราชการและบุคคล กำหนดการแต่งกายเป็นชุดสากลนิยม ชุดพระราชทาน หรือชุดสุภาพ การปฏิบัติของผู้เป็นประธาน เช่น กรวดน้ำ ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง แนะนำและเชิญประธานไปปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ได้ปฏิบัติกันสืบมาจึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง
อดิศักดิ์ - อันนี้หมายความว่ามันยุ่งกันนักใช่ไหมฮะ เลยต้องแจ้งแล้วก็กรุณาไปออกหนังสือเวียนด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ
วิษณุ - ก็คงจะยุ่งกันจริงๆ นะฮะ แล้วบัดนี้ก็ได้เวียนไปทุกส่วนราชการให้ทราบถือเป็นพิธีปฏิบัติของประเทศไทย แล้วก็ระเบียบประเพณีนี้ไม่ใช่เพิ่งมากำหนดวันนี้เพื่อเอาใจใคร เป็นไปตามประเพณีที่อาจารย์ธงทองได้อธิบายมา มีแบบแผนมาตั้งแต่โบราณ
อดิศักดิ์ - เวลาหมดครับ คำถามจากผู้ชมมีเข้ามามาก แต่เวลาหมด ก็ได้รับการชี้แจงเท่าที่เวลามีอยู่ตรงนี้ จริงๆ อยากฝากอะไรถึงคุณสนธิไหมฮะ
วิษณุ - ไม่มีอะไรฮะ เพราะว่าผมถือว่าผมทำความเข้าใจกับประชาชน แล้วผมยังยืนยันในประโยคที่ว่า คนเรา ถ้าไม่รู้ ก็ต้องไม่รู้ และก็ต้องพูดไปตามที่ไม่รู้ ก็เป็นหน้าที่ของใครที่รู้มาทำให้คนรู้ และผมเชื่อว่าวันนี้คงจะเกิดความกระจ่างแจ้ง ไม่แต่เพียงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน มันเป็นอย่างไร ผมว่า ถ้าหากว่าฟังดีๆ ก็คงจะทราบขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยที่มีมาช้านานว่าเขาปฏิบัติกันมาอย่างมีระเบียบแบบแผน บางทีถ้าเราไม่รู้เราแยกไม่ออกเลย ว่าเวลากรวดน้ำ ระหว่างการคลานเข้าไปแล้วก็การที่เจ้าหน้าที่เขาลงศอก ลงเข่า หรือกรณีที่เขาเข้าไปคำนับแล้วก็ลงนั่งคุกเข่าแล้วก็ส่งสองมือหรือมือเดียว มันมีความต่างกันอย่างไรในการปฏิบัติ การปูพรมกับการปูพระสุจหนี่ต่างกันอย่างไร การตั้งเก้าอี้ตรงหน้าพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ช่องหน้าต่างช่องที่ 4 กับการตั้งเก้าอี้ที่ช่องหน้าต่างช่องที่ 3 ต่างกันอย่างไร การเข้าประตูพระอุโบสถวัดพระแก้ว ระหว่างเข้าประตูซ้ายกับประตูขวา หรือประตูกลางนั้น เขาแยกอย่างไร
อดิศักดิ์ - ฮะ ผมก็เพิ่งรู้วันนี้ วันนี้ขอบพระคุณฮะทั้งสามท่านครับ สวัสดีครับ