xs
xsm
sm
md
lg

สนธิ "เห็นใจนายกฯ" มรสุมรุมเร้าเพราะคนรอบตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สนธิ" ร่ายยาวปัญหาใต้ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนแนะนายกฯ ไม่ควรแทรกแซงปล่อยให้ทหารทำงานเต็มที่ พร้อมกันนี้ยังพูดถึงกรณีเณรแอ บอกเป็นเพราะสังคมอ่อนแอ ชี้รัฐควรสร้างมาตรฐานทางสังคม แถมยังบอกเห็นใจนายกฯ ตอนนี้เจอมรสุมหนักมากมายหลากหลายปัญหารุมเร้า ควรสร้างความเลื่อมศรัทธาให้ตัวเองเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชนกลับคืน

คลิกที่ไอคอน Multimedia ด้านบนเพื่อฟังเสียงการสนทนา


สโรชา - สวัสดีค่ะ คุณผู้ชม ขอต้อนรับเข้าสู่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ อาหารสมองก่อนเข้านอน ในทุกคืนวันศุกร์ค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งค่ะ กับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ดิฉัน สโรชา พรอุดมศักดิ์ วันนี้ที่ 15 ก.ค. 2548 เป็นสัปดาห์ที่เรียกได้ว่า ค่อนข้างคึกคักในแง่ของข่าวสารเพราะว่ามีหลายต่อหลายเรื่องที่ต้องติดตามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคืบหน้าล่าสุดในสถานการณ์ภาคใต้ที่มีการก่อความไม่สงบขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง โดยที่เจ้าหน้าที่เองก็ยอมรับว่าครั้งนี้มีผู้ปฏิบัติการถึง 60 คน ถึงแม้จะมีการจับกุมผู้ต้องหาได้ ก็เรียกได้ว่าคงจะต้องสืบสาวหาความกันต่อไปว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ วันนี้คงต้องคุยกันซักนิดค่ะคุณสนธิค่ะว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา

สนธิ - ไม่เหมือนฮะ แล้วก็เป็นอะไรบางอย่างที่มีนัยสูงมาก ซึ่งจะต้องรวมไปถึงการออกพระราชกำหนดที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในเรื่องของการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งตรงนี้มีนัยที่สูงมาก แล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งผมก็ขี้เกียจเอาเทปม้วนเก่ามาพูด

สโรชา - คือเราเคยคุยกันหลายรอบแล้ว

สนธิ - เราคุยกันตั้งไม่รู้กี่รอบแล้วนะครับ แล้วก็ที่ขมขื่นใจที่สุดก็คือว่า เหมือนกับเห็นว่ามันจะเกิดขึ้น พูดแล้วไม่มีใครเชื่อ นะฮะ แล้วในที่สุดมันก็เกิดขึ้น เราพูดมาตั้งแต่พุทธศักราช 2547 มกราคม นี่ก็ 1 ปีกับ 7 เดือนแล้ว

สโรชา - คิดว่าคงจะต้องติดตามข่าวสารจากเจ้าหน้าที่ต่อไปแล้วกันนะคะว่าจะปฏิบัติการอย่างไรต่อไป อีกข่าวหนึ่งที่ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ ก็คือเรื่องราวของเณรแอ อันนี้ก็เป็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมค่อนข้างกว้างขวาง บ้างก็ เณรแอผิดเต็มประตูเที่ยวไปหลอกลวงหญิงสาวมาแล้วก็ถ่ายวิดีโอเทปไว้ แต่ก็มีบางคนที่คิดว่า เอาก็ให้เขาหลอกเอง หรือรู้ว่าเขาหลอกแต่ว่าเต็มใจให้หลอกไม่ทราบ ดิฉันทำไมเดาออกว่าคุณสนธิจะต้องเห็นด้วยกับประการหลัง

สนธิ - เอาไว้ค่อยพูดดีกว่าคุณสโรชา รู้สึกคุณตั้งใจจะเคี้ยวผมเต็มที่

สโรชา - เปล่าเลย เปล่าเลย

สนธิ - หน้าตาขมึงทึงจ้องผม เห็นผมเข้าข้างเณรแอ ผมไม่ได้เข้าข้างเณรแอ แต่ผมมองว่า เรื่องของเณรแอมันให้ข้อคิดกับสังคมไทยได้หลายข้อคิด ข้อคิดในเรื่องของ นัยของความเชื่อของสังคมไทย และอีกข้อคิดนึงก็คือเรื่องของการใช้มาตรฐานดำเนินการกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม มาตรฐานนั้นไม่เหมือนกัน เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

สโรชา - เดี๋ยวต้องคุยกันยาวนิดนึงนะคะ นอกจากนี้แล้วในช่วงต้นๆ สัปดาห์เราก็ยังได้เห็นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ของรัฐบาล ซึ่งท่านนายกฯ ได้เปิดเผยออกมา ซึ่งก็มีหลายๆ มาตรการทีเดียวก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน ก็คงต้องคุยกันในเรื่องนี้ด้วย แต่ที่แน่ๆ เราก็เรียนถามคุณผู้ชมเช่นเคยค่ะสำหรับคำถามเอสเอ็มเอสในสัปดาห์นี้นะคะ แหวกแนวซักนิดนึงค่ะคุณผู้ชม เราถามคุณผู้ชมว่า ระหว่างเณรแอกับนักการเมืองทุจริต คุณผู้ชมคิดว่าใครเลวกว่ากัน MT 1 ว่าเณรแอร MT 2 นักการเมืองทุจริตค่ะ ส่งมาที่ 4848888 หรือโทรมาก็ได้ค่ะที่ 0-2201-6055-60 ขอบคุณฟรีอินเตอร์เน็ตค่ะที่เอื้อเฟื้อระบบเอสเอ็มเอสให้กับเรา

มีข่าวประชาสัมพันธ์ทิ้งท้ายในช่วงแรกนะคะ จะเกิดขึ้นอีกครั้งนึงค่ะสำหรับอุทยานอนุรักษ์สุขภาพนะคะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 แล้วค่ะ จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 และ 31 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ระหว่างเวลา 08.30 - 19.00 น. ที่อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ คุณผู้ชมสามารถที่จะพบกับการอบรม และการเสวนา สัมมนาในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พลานุภาพดนตรีจีน วิถีสุขภาพดีในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเมดิเคชั่น แอส แมดิซิน ตอนลมหายใจเป็นยา นี่แค่ยกตัวอย่างให้ฟัง แต่ว่ามีไฮไลท์ทั้ง 2 วัน โดยในวันเสาร์ที่ 30 ในระหว่าง 13.00-16.00 น. จะมีการเสวนาธรรมในหัวข้อ "วิเคราะห์สังคมด้วยธรรม" โดยมีหลวงปู่พุทธะอิสระ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล อ.สามารถ มังสังข์ และคุณสำราญ รอดเพชร พูดคุยกัน ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. ในระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. จะมีการเสวนาธรรมในหัวข้อ "การบริหารจิตท่ามกลางวิกฤตของสังคม" โดยพระอาจารย์อำนาจ โอภาโส คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ และ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ สามารถที่จะโทรมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้นะคะที่ 0-2629-2211 ต่อ 1117 1118 และ 1152 พักซักครู่เดี๋ยวกลับมาคุยกันค่ะ
สโรชา - กลับมาสู่เมืองไทยรายสัปดาห์นะคะ สำหรับคุณผู้ชมบางท่านที่ได้อ่านผู้จัดการรายวันเมื่อเช้านี้ก็คงจะได้เห็น หลายๆ ครั้งก็จะมีตัวโฆษณาสำหรับรายการนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นการบอกใบ้เล็กน้อยว่าวันนี้ หรือค่ำคืนนี้จะพูดคุยกันถึงเรื่องอะไร ดิฉันเมื่อเช้านี้ก็ค่อนข้างจะงงพอสมควรว่า จะมีการพูดคุยกันว่า คุณสนธิเห็นใจท่านนายกฯ เรื่องอะไร ทีนี้เราจะคุยกันเรื่องยะลาก่อน ดิฉันขอเป็นน้ำจิ้มเล็กน้อยแล้วกัน

สนธิ - ได้ฮะ คือเรื่องยะลาเป็นเรื่องที่ผมไม่ประหลาดใจที่เกิดขึ้นเพราะว่าการแก้ปัญหาภาคใต้นั้นเป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าไม่ได้วางแผนระยะยาวพอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นทีก็เปลี่ยนนโยบายกันทีนึง เหมือนอย่างที่ผมได้เรียนกับคุณสโรชาและท่านผู้ชมที่บ้านมานานแล้วว่าปัญหาภาคใต้นั้นเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ถ้าคุณสโรชาสังเกตการโจมตีของผู้ที่ก่อความไม่สงบใน จ.ยะลา ครั้งนี้ คุณจะเห็นว่า ลักษณะและวิธีการมันให้นัย 2 - 3 อย่าง นัยอย่างแรกเขาทำได้พร้อมกันทีเดียวหลายจุดแสดงว่าเครือข่ายเขามีมากเหลือเกิน ถึงแม้ว่าพยายามที่จะบอกเหมือนกับที่ท่านนายกฯ เคยพูด หรือแม้กระทั่งท่านพล.ต.อ.ชิดชัย เคยพูด ผู้หลักผู้ใหญ่ทุกคนที่ลงไปสัมผัสทางภาคใต้ไม่รู้กี่คนเคยพูดบอกว่า เรียบร้อย อีก 90 วันจบ 30 วันจบ มันไม่จบซักที มันก็น่าจะเป็นบทเรียนให้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน รวมทั้งท่านนายกฯ ด้วย ให้หยุดพูดเสียทีได้แล้วว่าเรื่องนี้ 30 วันจบ เรื่องภาคใต้มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ มันเป็นเรื่องที่ยาวนาน แล้วมันมีความเป็นสากลค่อยๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันไม่จบง่ายๆ

สโรชา - ที่เคยบอกว่ามีมิติทางวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

สนธิ - ถูกต้อง มิติทางวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ทีนี้คนเราจู่ๆ พอมีเรื่องปั๊บ คนตั้งหลายสิบคนเป็นร้อยคนเข้ามาร่วมขบวนการ ก็แสดงว่า คนพื้นที่เขาไม่เอาเราเลย แน่นนอนที่สุดรูปแบบเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนี้ อันที่สอง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เผายะลาครั้งนี้ การฆ่ารายวันมักจะเป็นลักษณะฆ่าแบบทารุณโหดร้าย ก็คือ ตัดคอชาวบ้าน ยิงชาวบ้าน แต่ครั้งนี้สังเกต เป้าครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่สถานบันเทิงเริงรมย์ ไปที่ร้านอาหาร ไปที่คาราโอเกะ

สโรชา - โรงแรม

สนธิ - โรงแรม แสดงว่าอะไร แสดงว่าผู้ก่อการได้ตั้งเป้าไว้แล้วว่า ต้องการที่จะสร้างพันธมิตรและแนวร่วม สร้างให้มวลชนเข้ามาเห็นด้วย เพราะว่าสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารบันเทิงเริงรมย์นั้นเป็นสิ่งซึ่งพวกมุสลิมจารีตที่เคร่งเขาไม่เห็นด้วย ไม่ได้อยู่ในสังคมมุสลิม เพราะฉะนั้นการไปมุ่งโจมตีเฉพาะเป้าตรงนี้ ถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือโดนใจคนมุสลิมบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มซึ่งเคร่งศาสนา

สโรชา - แต่ว่าทางเจ้าหน้าที่เองก็ออกมาบอกว่า ในการปฏิบัติการครั้งนี้ที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้และสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ ก็มีการให้ความร่วมมือจากคนในพื้นที่เยอะพอสมควร

สนธิ - ถูกต้องฮะ การให้ความร่วมมือนั้นไม่ได้แปลว่าคุณได้มวลชน ถูกมั๊ยละฮะ การให้ความร่วมมือมันแปลได้หลายอย่าง การให้ความร่วมมือก็เพราะว่าคุณได้รับความร่วมมือจากพ่อค้า คุณได้รับความร่วมมือจากคนซึ่งเดินถนน เพราะฉะนั้นแล้วคนซึ่งค้าขายในเมืองปัญหาไม่ค่อยมีพวกนั้นต้องให้ความร่วมมือแน่ แต่ด้านรอบนอกซึ่งเป็นที่ก่อเหตุอะไรพวกนี้มันไม่มีความร่วมมือ

สโรชา - เพราะว่าเหตุเกิดในเขตเมืองพอดี

สนธิ - ทีนี้ที่ผมกังวลก็คือว่า ผมเคยเรียนคุณสโรชาและท่านผู้ชมทางบ้านมาหลายครั้งแล้วว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นฝ่ายตรงกันข้ามจะขุดหลุมพรางกับดักตลอดเวลา เขาจะบีบให้เราในที่สุดจะต้องเกิดภาวการณ์ที่จะต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน และท่านนายกฯ ได้ตัดสินใจไปแล้วก็คือการออกพระราชกำหนด นั่นก็คือการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นเอง แท้ที่จริงก็คือ โอนอำนาจของทหารซึ่งมีกฎอัยการศึกเอามาให้ท่านนายกฯ ความจริงแล้วท่านสามารถจะมอบให้ทหาร สามารถจะประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้ได้ คือมอบอำนาจให้ทหารไปเลย ว่าเอาละสั่งให้ รัฐบาลสั่งให้ทหารประกาศกฎอัยการศึกของทหาร กฎอัยการศึกของทหารก็มีอำนาจเหมือนอย่างที่ท่านนายกฯ มี เป็นเพียงแต่ว่า ตอนที่ออก พ.ร.ก.มาผ่องอำนาจนี้ไปให้ท่านนายกฯ แล้วในอำนาจนี้เปิดไว้กว้างมาก เปิดเอาไว้ว่า ให้เลือกพื้นที่จะประกาศได้ แสดงว่าในอนาคตถ้าเกิดมีม็อบแรงงานขึ้นมาแล้วก็มาเดินขบวนในกรุงเทพมหานครเกิดพลพรรคท่านนายกฯ ไม่พอใจก็ประกาศกฎอัยการศึกจัดการกับม็อบแรงงานได้เช่นกัน

สโรชา - คือสามารถประกาศได้ทุกพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะ 3 จังหวัด

สนธิ - ถูกต้องฮะ อำนาจให้ เป็นเพียงแต่ว่าจะตั้งว่า จะมีคณะรัฐมนตรี จะมีรองนายกฯ มาคอยดูแลว่าจะประกาศได้หรือไม่ ถ้ารองนายกฯ มาดูแลก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ เหมือนกัน ถ้านายกฯ จะประกาศตรงไหนรองนายกฯ ก็ต้องบอกให้ประกาศตรงนั้น เพราะฉะนั้นแล้วตรงนี้ผมเป็นห่วง ผมไม่อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีคนนี้ภาพลักษณ์จะออกไปแบบที่เผด็จการ คือวัตถุประสงค์ตอนนี้ถ้าพูดตามเชิงมวยเรียกว่าบอลเข้าเท้า บอลเข้าเท้าก็ถือโอกาสเลี้ยงแล้วชู้ตเลย

สโรชา - ถ้ามองในมุมกลับล่ะคะคุณสนธิ ว่าตอนนั้นในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึกในภาคใต้และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรถึงอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ท่ามกลางภาวะที่อาจจะไม่มีความเข้าใจมากพอระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในพื้นที่เอง ตรงนี้ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในทางกลับเหมือนกันว่าให้อำนาจทหารกับตำรวจมากจนเกินไปรึเปล่า นี่เป็นทางแก้รึเปล่าว่าเอากลับมาที่รัฐบาลแล้วกัน

สนธิ - คงไม่ใช่หรอกครับ คือยังไม่ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกเต็มตัวให้ทหารได้ทำงานเต็มที่ ทุกวันนี้เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงนะฮะ เราไม่ได้ให้อำนาจทหารทำงานอย่างเต็มที่ แล้วที่น่าเสียดายคือ บางครั้งเราคิดที่จะให้อำนาจหรือว่าให้แล้วแต่ว่าหลายๆ ครั้ง ตัวท่านนายกฯ เองก็ลงเข้าไปเปลี่ยนแปลงสั่งแก้ไข สั่งตรงโน้นตรงนี้ เพราะฉะนั้นแล้วคนที่ทำงานอยู่ไม่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง อันนี้ผมเป็นห่วง ผมต้องกราบเรียนท่านนายกฯ ด้วยความสัตย์จริง ท่านจะโกรธก็ต้องยอมให้โกรธงานนี้ ว่าส่วนหนึ่งก็เพราะว่าท่านเข้าไปยุ่งกับเขามากจนเกินไป ผมเคยเรียนแล้วไม่ใช่หรอ ผมบอกว่าถ้าท่านนายกฯตัดสินใจให้เขาทำมอบทิ้งไปเลย อย่าไปยุ่งกับเขา พอท่านยุ่งปั๊บคนทุกคน หลายคนก็วิ่งเข้ามาหาท่านใช่มั๊ยฮะ คุณสโรชา คุณไปดูนะฮะตั้งแต่ต้น ตั้งแต่มกราคม 2547 จนกระทั่งถึงตอนนี้ ท่านนายกฯ ท่านเปลี่ยนคนไปกี่คนแล้วแทบจะนับไม่ถ้วน

สโรชา - หลายท่านค่ะ

สนธิ - หลายท่านเลยนะฮะ เพราะฉะนั้นแล้วนี่คือปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ซึ่งผมรู้ว่าฝ่ายผู้ที่ปฏิบัติงานฝ่ายทหารเขาอึดอัดใจเขาพูดไม่ออก เขาพูดไม่ออกจริง

สโรชา - แต่ถ้าเกิดให้อำนาจขาดกับทหารเลยจะเกรงมั๊ยค่ะว่าทางภาคประชาชนอาจจะไม่ยอมรับก็ได้

สนธิ - ผมคิดว่า ผมอยากจะมองทหารในแง่ดี ผมอยากจะมองว่าทหารเองเขาก็มีหน่วยจิตวิทยา ทหารไม่ใช่คนโง่ ทหารเขารบทางใต้มานานแล้ว แล้วทหารยุคนี้ ทหารยุคใหม่เขาเป็นคนมีสติปัญญาและมีความคิด เขารู้เขาวิเคราะห์สถานการณ์ได้ด้วยเหตุด้วยผล แล้วการข่าวเขาเมื่อให้เขาพัฒนาแล้วก็ย่อมไปได้ เพราะฉะนั้นแล้วถ้ามอบเขาไปสิ่งนึงที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า มันจะต้องไปกระทบกระเทือนของคนที่มีอำนาจเก่าอย่างแน่นอนที่สุด ทีนี้คนมีอำนาจเก่าจะมีสายสัมพันธ์ไปกระทบกระเทือนกับเส้นสายของตำรวจมั่ง ไปกระทบกระเทือนเส้นสายนักการเมืองท้องถิ่นมั่ง ไปกระทบกระเทือนกับเส้นสายของคนซึ่งมีเส้นสายอยู่ในรัฐบาลมั่ง ตรงนี้ต่างหากที่กลับจะทำให้ทหารทำงานไม่สะดวกเพราะว่าคนพวกนี้จะวิ่งขึ้นไปข้างบน ก็จะมาร้อง ก็จะมาฟ้องกันตลอดเวลาว่าทหารโง่ ทหารทำไม่เป็น ผมคิดว่าถ้าให้โอกาสเขาทำ เรายังไม่เคยให้โอกาสเขาทำจริงๆ เลยนะฮะ

สโรชา - เต็มที่หรอคะ

สนธิ - เต็มที่ซิฮะ เราไม่เคยให้เขาทำอย่างเต็มที่ กรณีตากใบ กรณีกรือเซะ ก็เป็นอีกกรณีนึงซึ่งชี้ให้เห็นว่าหลายๆ ฝ่ายเข้าไปแทรกแซงมากจนเกินไปจนกระทั่งเกิดเรื่องพวกนี้ขึ้นมา คือผมมองอย่างนี้ กองทัพภาคที่ 4 จะดีจะชั่วยังไง เป็นเจ้าของพื้นที่เขารู้จักพื้นที่ เขาทำงานมานานแล้ว สมัยก่อน คุณสโรชา ที่ยังมี ศอ.บต.อยู่ยังที่ตำรวจ ไม่ใช่ยุคที่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ได้แนะนำให้คืนอำนาจให้ตำรวจซะ สมัยนั้นเขายังใช้ทหารอยู่ ทหารปฏิบัติการได้ดีพอสมควร ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงเหมือนสมัยนี้ และสามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้ระดับดีพอสมควรที่ไม่ทำให้มันลุกลามขยายตัวไป พอมาช่วงหลังแล้วความสับสนในเรื่องผู้ที่อยู่ ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชา แล้วการแทรกแซงจากรัฐบาลในส่วนกลางเข้ามาตลอดเวลา คุณสโรชาเราทำอะไรเป็นโจ๊กไปหมด จำได้มั๊ยฮะเราส่ง ส.ส.พรรคไทยรักไทย ลงพื้นที่ บอกให้ไปสัมผัส แล้วกลับมาวันนี้เป็นยังไง ผมอยากจะถามคนที่ไปซิว่าวันนี้จะเอาหน้าไว้ที่ไหน เราส่งรัฐมนตรีเนวินลงไป ทำการเพาะเลี้ยง การเกษตรกรรมให้เขาเกิดอะไรขึ้นตอนนี้พังทลายไปหมดไม่มี ก็คือเราไปลูบหน้าปะจมูก ผมถึงบอกว่าถอยมาเถอะแล้วมอบนโยบายให้กองทัพภาคที่ 4 ไป ให้งบประมาณซึ่งเป็นงบจริงๆ ที่เขาเบิกได้ไม่ใช่งบให้ไปแล้วแล้วยังเบิกไม่ได้ ทุกวันนี้เงินทองที่เขาควรจะได้ยังตกเบิกอยู่ ยังเบิกไม่ได้อยู่อีกมากเพราะว่างบประมาณยังไปไม่ถึงจะด้วยเหตุผลใดผมก็ไม่รู้ ต้องชี้ให้เห็น เพราะฉะนั้นปัญหานี้จริงๆ แล้วผมกลับคิดว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทางการบริหารจริงๆ จริงๆ ฮะ

สโรชา - ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงบ่อย ให้อำนาจใครก็ให้ไปเลย

สนธิ - ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงบ่อย แล้วท่าน พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ด้วยความเคารพในตัวท่าน ท่านไม่ได้อยู่สายความมั่นคงมาเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านไม่เข้าใจเหตุการณ์ทางภาคใต้ ท่านก็รับฟังรายงานจากข้างล่างขึ้นมา เพราะฉะนั้นแล้วบางครั้งท่านก็เข้าใจของท่านไปอย่างนึงแต่ข้อเท็จจริงก็เป็นอีกอย่างนึง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ผมเป็นเพียงแต่เสียดายเวลาที่ผ่านไป 1 ปีกับอีก 7 เดือน เหมือนกับที่ประชาชนตั้งคำถามถาม แล้วผมก็ตั้งคำถามถาม เกิดขึ้นมาตั้งแต่มกราคา 2547 จนวันนี้ 1 ปีกับอีก 7 เดือน ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนทำ มันต้องผิดปกติที่ใดที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างการบริหารต้องผิดปกติอย่างแน่นอนที่สุด

สโรชา - มีข้อมูลบอกว่า การปฏิบัติการครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ได้รับการปลูกฝังจริงๆ กับอีกส่วนหนึ่งที่ว่าจ้างมา คุณสนธิมองเรื่องนี้ยังไงคะ

สนธิ - มียังไงก็ตามมันมีทั้งนั้น มันมีมากกว่านั้น เผลอๆ อาจจะมีฝ่ายสากลเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ มันมีทั้งนั้น แต่ผมกำลังบอกว่า จะมีอะไรก็ตามทางฝ่ายเรา โครงสร้างการบริหารเราต้องชัด เราต้องให้อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวท่านนายกรัฐมนตรีต้องถอยออกมาแล้ว ท่านเข้าไปยุ่งไม่ได้เพราะวันนี้ผมเคยเรียนแล้วนะ ผมเคยเล่าให้ฟังแล้วนะว่า ตอนนี้ถึงตัวท่านแล้ว เมื่อถึงตัวท่านแล้วท่านก็แก้ด้วยการออก พ.ร.ก. เมื่อออก พ.ร.ก.แล้วคราวนี้ก็สงครามลูกเดียวแล้วนะ เมื่อออก พ.ร.ก.ปั๊บแล้วถ้าท่านนายกฯ ควบคุมสติท่านไม่ได้ ถ้าเกิดอะไร ถ้าเกิดมีระเบิดยั่วยุอารมณ์คนอีกซัก 2-3 แห่ง อีก 2-3 ครั้ง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ท่านเกิดสั่งบอกให้ปราบหนักเลย ใครมีทีท่าอะไรเรียกให้หยุดไม่หยุดยิงทิ้งไปเลย คราวนี้ยุ่งแล้ว ผมกลัวตรงนี้เองเท่านั้นละฮะ

สโรชา - เดี๋ยวเราจะพักกันซักครู่นะคะ กลับมาเดี๋ยวมาคุยกันถึงเรื่องของเณรแอ เรื่องของกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการพูดคุยกันในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงข้อที่ว่าเห็นใจท่านนายกฯ นั้นเห็นใจอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร เดี๋ยวกลับมาคุยกันค่ะ
สโรชา - กลับมาสู่เมืองไทยรายสัปดาห์นะคะ ไปคุยกันถึงเรื่องราวของเณรแอซักนิดนึง คุณผู้ชมโทรเข้ามาบอกว่า ไม่ควรเรียกว่าเณรแอแล้วนะ ควรจะเรียกว่าอดีตเณรแอ ก็ขอประทานโทษด้วยติดปากไปนิดนึง

สนธิ - ติดปาก เอาสั้นๆ เณรแอก็แล้วกันนะฮะ เป็นที่เข้าใจกันนะฮะ

สโรชา - ว่าดิฉันเดาทางถูก

สนธิ - คุณสโรชาจะเดาว่ายังไง

สโรชา - ดิฉันเดาว่าคุณสนธิ ทำนองว่า ก็รู้อยู่แล้วว่าเขาหลอกก็ยังอุตส่าไปหาเขาจนเป็นเรื่องจนได้

สนธิ - มันเป็นความอ่อนแอของสังคมไทย อ่อนแอตรงไหน อ่อนแอตรงที่ว่าต้องไปหาจอมขมังเวท หรือว่าผู้ซึ่งมาหลอกลวงเพื่อที่จะมาลงเสน่ห์ยาแฝดเพื่อให้สามีรัก หรือเพื่อให้สามีไม่ต้องไปมีเมียน้อย หรือเพื่อให้สามีหรือว่าแฟนนั้นอยู่กับตัวเองตลอดไป แสดงว่าคนที่ไปเช่นนั้นไม่เข้าใจความรักที่แท้จริง นั่นข้อที่ 1 ก็เลยตกเป็นเหยื่อของคนซึ่งฉกฉวยโอกาสกับความอ่อนแอทางจิตใจของตัวเอง ถามว่า นายแอ เณรแอ หรือนายแอผิดมั๊ย เขาไม่ผิดเพียงแต่เขาไม่ได้ประกอบสัมมาอาชีวะ

สโรชา - ไม่ผิดเหรอคะ

สนธิ - จะไปผิดได้ยังไงก็คุณอยากจะให้สามีคุณรักคุณมากคุณก็เสาะแสวงหาไปเขา บอกเณรแอช่วยทำพิธีให้หน่อย ช่วยสักยันต์

สโรชา - หลอกลวงนะ

สนธิ - เอาอย่างนี้ดีกว่า จะหลอกลวงหรือไม่หลอกลวงถ้าเขาบอกว่าเขาทำให้แต่ว่าได้หรือไม่ได้คุณก็ว่าไปอีกที แต่ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วมันน่าจะดี คุณพอใจรึเปล่าล่ะ คุณต้องตอบก่อน

สโรชา - ในแง่ของคนที่ไปหา

สนธิ - ถ้าคุณไม่พอใจแล้วคุณจะไปทำไมตั้งแต่แรก

สโรชา - ก็จริง

สนธิ - ใช่มั๊ยตั้งแต่แรก สิ่งที่ผมพยายามจะพูดว่า เพียงแต่ว่าเณรแอคนนี้ นายแอคนนี้ไม่ได้ประกอบสัมมาอาชีวะ ถามว่าหมอนี่ไปปล้นสะดมใครมั๊ย ไม่ได้ปล้น ถามว่าหมอนี่ไปโกงชาติบ้านเมืองมั๊ย ไม่ได้โกง ก็คือฉกฉวยเอาความอ่อนแอของสังคมผู้หญิงซึ่งมีความหวาดระแวงและไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองแล้วเอาประโยชน์ ทีนี้คนก็บอกว่า แล้วการที่เขาต้องมาร่วมเพศด้วย ก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ พูดบอกว่า เอาถ้าจะต้องให้มีอะไรให้มันศักดิ์สิทธิ์ ขลังขึ้นก็ต้องมาร่วมเพศด้วย ถามว่าหลอกลวงรึเปล่า ตอบไม่ได้ พิสูจน์ยาก เพราะว่าเป็นความยินยอม เพราะว่าถ้าหากผู้หญิงคนนั้นไม่ยอมให้ทำเขาก็ไม่ทำ ถูกมั๊ยละฮะ ในเมื่อตัวเองต้องการให้ตัวเองขลังมากๆ ก็คือว่าผัวติดหนึบเลย เอาละไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วก็ยอม ทีนี้ผมมีข้อคิดฝากไว้นิดนึง บางครั้งผมคิดว่า มาตรฐานของรัฐที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ มาตรฐานไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ปปง.ไปยึดทรัพย์เณรแอ ปปง.ไปยึดทรัพย์มาเฟียโบ๊เบ๊ ก็คือเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล อย่างกรณีกำนันเป๊าะ ผมไม่เห็น ปปง.ไปยึดทรัพย์เลย กำนันเป๊าะก็เข้าข่ายผู้มีอิทธิพลเหมือนกัน กำนันเซี๊ยะก็โดนยึดทรัพย์แต่กำนันเป๊าะไม่โดน หรือว่านักการเมืองที่มีลักษณะเข้าข่ายทุจริต ปปง.ก็ไม่ไปทำ หรือว่าประเทศนี้ ปปง.มีเอาไว้เฉพาะยึดทรัพย์พวกเณรแอกับพวกมาเฟียโบ๊เบ๊

สโรชา - ในสิ่งที่มันสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันผิดจริงเห็นอย่างชัดเจน แล้วก็ปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว

สนธิ - เอาละ ผมรู้จักกำนันเป๊าะดี แต่วันนี้ผมวางตัวเป็นกลาง กำนันเป๊าะโดนคดีอยู่ในศาลตั้งหลายคดี แล้วก็โดนตำรวจเข้าไปจับกรณีข้อหาจ้างวานฆ่า อันนี้เห็นชัดรึยังฮะ

สโรชา - ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าตกลงยังไง ยังไม่ถึงที่สุด

สนธิ - ยังไม่ถึงที่สุด แล้วเณรแอถึงที่สุดรึยัง

สโรชา - ยังเป็นคดีอยู่

สนธิ - เห็นมั๊ย เห็นรึยัง มาเฟียโบ๊เบ๊ยังเป็นคดีอยู่รึเปล่า

สโรชา - ยังเป็นคดีอยู่ค่ะ

สนธิ - ที่ผมต้องการจะพูดวันนี้ ด้วยความเคารพทุกท่าน ผมต้องการให้มาตรฐานสังคมตรงไปตรงมาจะได้มั๊ย คือผมไม่สนใจ จะไปยึดทรัพย์ฝ่ายกำนันเซี๊ยะ จะไปยึดทรัพย์กำนันเป๊าะ จะไปยึดทรัพย์เณรแอ จะไปยึดทรัพย์ ทำให้เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่สังคมต้องการมากที่สุด คุณสโรชาวันนี้สังคมต้องการความยุติธรรมบนมาตรฐานเดียวกัน บนพื้นฐานเดียวกัน ผมเคยเรียนคุณมาตั้งหลายครั้งแล้วว่าในการทำงานนั้นเมื่อเรามีอำนาจ เราใช้อำนาจเราไปรังแกฝ่ายตรงกันข้ามพอวันข้างหน้าเราลงจากอำนาจใครก็ตามฝ่ายตรงกันข้ามเกิดขึ้นมามีอำนาจอีกเขาก็ใช้อำนาจนั้นมารังแกคนที่ไปรังแกเขา มันเป็นวงจรอุบาทว์ไม่สิ้นสุด สังคมไทยจะไม่มีวันก้าวเข้าสู่สังคมแห่งอารยธรรมได้ มันก็ยังคงจะชั่วร้ายแล้วก็เลวทรามต่ำช้าอย่างนี้ต่อไป ผมถึงไม่อยากให้เป็นอย่างนี้คุณสโรชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราชอบพูดว่า เอามีกติกานิ ใช่มั๊ยฮะ กติกาอยู่ที่ไหนกติกา ผู้มีอำนาจจะใช้เมื่อกติกามีประโยชน์กับตัวเอง แต่เมื่อกติกานั้นไม่เป็นประโยชน์กับตัวเองผู้มีอำนาจก็ไม่ใช้ นี้ไปๆ มาๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าผมไปเอาคำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาพูด ซึ่งจริงๆ ท่านก็พูดอย่างนั้นจริงๆ

สโรชา - ไม่ได้บิดเบือนนะ

สนธิ -ไม่ได้บิดเบือน อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะฉะนั้นผมจะฝากให้สังคมไทยและท่านผู้ชมทางบ้านลองคิดคำพูดผมดูซิฮะ มาตรฐานสังคมถ้าเราใช้เท่าเทียมกันหมดไม่มีการแบ่งว่าใครเป็นใครแล้วผมคิดว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

สโรชา - มีอีกเรื่องนึงค่ะคุณสนธิ เรื่องราวของคาร์ปาร์ค อันนี้เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสนามบินสุวรรณภูมิ

สนธิ - เรื่องนี้ผมมีความคิดอย่างนี้ คือมีกรณีคนๆ นึงชื่อนายรัฐพลมาอ้างว่า ระบุชื่อเลยว่า คุณเยาวเรศ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านนายกฯ รับปากว่าจะดำเนินการให้นายคนนี้ได้สัมปทานมาแล้วก็มีการจ่ายเงินจ่ายทอง มีการจ่าย 23 ล้าน เป็นค่าพาไปพบ แล้วก็รับปากมีการทำสัญญาว่า 300 ล้าน เรื่องนี้ผมไม่อยากเชื่อว่าจริง ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นการทำร้ายทำลายชื่อเสียงของคุณเยาวเรศ ชินวัตร และบรรดาพี่น้องตระกูลชินวัตรทั้งหลาย ผมอยากให้ทั้งคุณเยาวภา

สโรชา - ทำไมเชื่อว่าเป็นเรื่องเท็จล่ะคะ

สนธิ - ผมคิดว่ามันไม่น่าเป็นไปได้ แล้วผมก็ไม่อยากให้เขานั่งเฉยๆ ผมอยากให้ทั้งคุณเยาวภา คุณเยาวเรศ คุณพายัพ หรือแม้กระทั่งท่านนายกฯ ตั้งทนายแล้วฟ้องนายรัฐพลข้อหาหมิ่นประมาททำให้ตระกูลชินวัตรเสื่อมเสียชื่อเสียง จะได้ทำความจริงให้ปรากฏซะที มันจะดีกว่า เพราะว่าการซึ่งเมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นแล้วทุกคนรู้กันหมดในสังคม แล้วไม่พูดอะไรกันเลยแม้แต่นิดเดียว ผมไม่ชอบตรงนี้ ผมไม่ชอบนะฮะ ถ้ามันไม่จริงฟ้องหมิ่นประมาทไปเลย แล้วผมอยากให้ดำเนินคดีถึงที่สุด ไม่ได้ครับเรื่องนี้เป็นเรื่องเสื่อมเสียชื่อเสียง ต้องทำไม่ทำไม่ได้

สโรชา - พูดถึงในลักษณะทำไมเป็นแบบนี้อะไรประมาณนี้ คือค่อนข้างตกใจมีเรื่องเช่นนี้ด้วยหรอ

สนธิ - เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก

สโรชา - ใช่ค่ะ

สนธิ - ที่รุนแรงที่สุดถึงกับเอ่ยชื่อกันเสร็จเรียบร้อยเลย คุณอลงกรณ์ พลบุตร

สโรชา - มีเอกสาร

สนธิ - ต้องฟ้องคุณอลงกรณ์ด้วย คุณอลงกรณ์เอามาแฉต้องฟ้องคุณอลงกรณ์ด้วยว่าไม่จริง หรือยังไงก็ต้องว่ากันเพราะเสื่อมเสียชื่อเสียง ปล่อยไว้เฉยๆ ไม่ได้เรื่องพวกนี้

สโรชา - เป็นเรื่องคลางแคลงใจ

สนธิ - เป็นเรื่องที่คลางแคลงใจมาก ไม่ควรที่จะทำเช่นนี้ต่อไปเรื่องนี้ ด้วยเหตุอันนี้ผมเห็นใจท่านนายกฯ วันนี้มรสุมทุกอย่างรุมเร้าเข้ามา

สโรชา - ดวงไม่ดี

สนธิ - เรื่องดวงเดี๋ยวจะพูดกันตอนท้าย เรื่องดวงเดี๋ยวพูดกันตอนท้าย ปัญหาภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจขาลง ปัญหาเรื่องข้อกล่าวหาของคุณรัฐพลที่มีต่อคุณเยาวเรศ ปัญหาเรื่องคุณสุริยะซึ่งก็อ้ำอึ้งอยู่ทั้งๆ ที่ก็บอกว่าได้เคลียร์ให้เรียบร้อยแล้วโดยให้ ส.ส.ตัวเอง 367 ยกมือให้ แล้วเมื่อยกมือให้คุณสุริยะแล้วก็แสดงว่า 367 เสียงเชื่อว่าคุณสุริยะถูกต้อง การปรับ ครม.ครั้งนี้คุณสุริยะก็สมควรนั่งคมนาคมต่อไป

สโรชา - แว่วๆ ว่าไม่ใช่

สนธิ - ถ้าไม่ใช่ เหตุผลก็คือย้ายทำไม แล้ว 367 เสียงที่ยกมือให้ยกไปเพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์

สโรชา - สรุปแล้วมีหลายเรื่องที่รุมเร้าท่านนายกฯ อยู่

สนธิ - รุมเร้าท่านนายกอยู่มาก ผมถึงบอกว่าเรื่องนี้น่าเห็นใจ เพราะจริงๆ แล้วผมอยากให้นายกฯ คนเก่าของผม สมัยที่เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองปี 2 ปีแรกกลับมาเป็นคนเดิมอีกครั้งนึง เพราะสมัยนั้นเขาเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ สมัยนั้นเขาเป็นคนซึ่งสร้างความโปร่งใสได้มากๆ เพิ่งมาช่วงหลังๆ นี้ท่านตัดสินใจอะไรออกไปท่านใช้แนวโน้มทางการเมืองตัดสินใจมากจนเกินไป เหมือนกรณีปัญหาขาดแคลนน้ำทางภาคตะวันออก ถ้าท่านนายกฯ ปล่อยให้นักอุตสาหกรรมเขาแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ให้อำนาจเขาทำ สนับสนุนเขา ปัญหาเขาจัดการได้เอง แต่ดันไปให้นักการเมือง นักการเมืองที่มีเชื้อแขกไปจัดการ ก็จะมีการวางท่อ กั๊กกันไปกั๊กกันมาก็เพราะว่าต้องการที่จะกินค่าคอมมิสชั่น เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีนักการเมืองที่มีเชื้อแขกเยอะ เข้าใจมั๊ยฮะ งานก็เลยจะไม่เดิน ก็จะมีอุปสรรค คุณงงใช่มั๊ยฮะ

สโรชา - งงค่ะงง

สนธิ - เชื้อ ‘แขกดอย’ ครับ นะฮะ เพราะฉะนั้นแล้วนะฮะ

สโรชา - ดีค่ะที่ชี้แจง หลายๆ ท่านอาจจะเข้าใจผิดได้นะคุณสนธิ คุณสนธิพูดสั้นๆ ไม่ได้เลยนะ แขกดอยคืออะไรคุณผู้ชมไปผวนเองดิฉันขอไม่ชี้แจง

สนธิ - ผมไม่ได้พูดคำผวน ก็คือ คุณต้องเข้าใจนะฮะ อย่างนี้เห็นได้ง่ายๆ เลย ปัญหาน้ำภาคตะวันออก นักอุตสาหกรรมจะตายกันอยู่แล้ว ให้เขาแก้เขารู้เรื่องดี แต่ดันไปโดยให้ทางการเมืองแก้ ทางการเมืองก็ดูว่าใครควรจะได้สัมปทาน ใครจะวางท่อ มันกลับเข้าไปอีหลอบเดิมเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ กว่าจะแก้ปัญหาได้ แล้วแก้ปัญหาในต้นทุนที่แพงกว่าเก่า นี่ผมยกตัวอย่างให้ฟัง ผมว่าถึงเห็นใจท่านนายกฯ มาก ผมเห็นใจในเรื่องนี้ น่าสงสารท่าน ท่านบางครั้งท่านจำเป็นจะต้องลงไปดูเรื่องพวกนี้ แต่ว่าเผอิญช่วงหลังคนก็เลยดูดวงท่าน บอกว่าดวงท่านตอนนี้พระเสาร์เขาอังคารยก คือผมไม่รู้เรื่องนี้ แต่ผมมีความรู้อยู่อย่างนึงว่าดวงชะตาไม่สำคัญเท่าการกระทำของเรา มีคนถามว่า นักการเมืองที่ดีนั้นจะต้องมีหลักอะไรบ้าง ก็สรุปออกมาว่า นักการเมืองที่ดีจะต้องมีหลัก คือ 1 จะต้องมีความฉลาด เพราะถ้าไม่ฉลาดแล้วมาบริหารประเทศไม่ได้ อันที่ 2 ต้องมีหิริโอตัปปะ ต้องมีความละอายในชั่วกลัวในบาป อันนี้ต้องมี อันที่ 3 ต้องมีความเมตตา เมตตาธรรมต้องมี อันที่ 4 ต้องเป็นคนที่ให้อภัยคนได้ 3-4 ข้อนี้คือนักการเมืองที่ควรจะมี ไม่มีไม่ได้ ผมก็เลยมองกลับไป ท่านนายกฯ ท่านเป็นคนฉลาด ท่านทำอย่างไรที่ท่านจะทำให้รอบตัวท่านมีหิริโอตัปปะ

สโรชา - คนรอบๆ ตัว

สนธิ - ทั้งรอบตัวและตัวท่านด้วย ก็หมายความว่าท่านจะทำอะไรท่านทำด้วยความซื่อตรง คนรอบท่านก็ต้องทำด้วยความซื่อตรง ไม่ว่าจะเป็นน้องท่านหรือไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ท่านต้องแยกออกให้หมด ท่านต้องบอกเสมอ ท่านต้องทำตามที่ท่านพูดตลอดเวลาว่านี่คือของส่วนรวม นี่คือของส่วนตัวเอามาปนกันไม่ได้ เมื่อนั้นถ้าท่านทำตรงนี้ได้ ท่านพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็น ท่านบอกให้คนไทยเชื่อท่าน คนไทยพร้อมจะเชื่อท่าน พร้อมที่จะยากลำบากไปกับท่านเพียงแต่ท่านต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าท่านทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคนรอบตัวท่านทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ท่านเสียสละให้สังคมไทยจริงๆ เมื่อท่านทำเช่นนี้ได้แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่จะตามมา คุณสโรชา ก็คือว่า เมื่อประเทศชาติมีวิกฤตท่านลุกขึ้นมาแล้วท่านก็บอกว่า พ่อแม่พี่น้องประชาชนขณะนี้เรามีวิกฤต ภาวะเศรษฐกิจกำลังผันผวนขอให้ร่วมอดทนแล้วเชื่อในตัวผม เมื่อใดก็ตามถ้าท่านทำให้คนเลื่อมใสได้เมื่อนั้นคนก็มีศรัทธากับท่าน เมื่อคืนมีศรัทธากับท่านท่านขอให้เขาลำบากด้วยเขาก็พร้อมจะลำบากด้วย ถึงอาจจะมีเสียงบ่นบ้างแต่เขาจะบอกว่าเรามีนายกฯ ที่ซื่อสัตย์สุจริต เรามีนายกฯ ที่ตั้งใจทำงาน เรามีนายกฯ ที่เห็นแก่ชาติ ไม่ได้เห็นแก่ส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ญาติพี่น้อง ไม่ได้เห็นแก่ลูกเมีย และไม่ได้เห็นแก่พวกพ้อง เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อท่านขอให้เราลำบากเราก็จะพร้อมที่จะลำบาก ตรงนี้ท่านต้องกลับไปถามตัวเองว่าท่านทำได้รึเปล่า ถ้าท่านทำได้เรื่องดวงไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่มีความหมาย จะเป็น 5 พระเสาร์ลงมาทับท่าน หรือว่าดาวอังคารมากระแทกท่านก็ไม่มีความหมาย

สโรชา - ไม่กระทบอะไร

สนธิ - เพราะประชาชนจะยืนอยู่กับท่าน จะให้กำลังใจท่าน แต่ถ้าศรัทธาตรงนี้ไม่มี เหตุผลที่ศรัทธาไม่มีเพราะว่าความเลื่อมใสไม่มี ความเลื่อมใสไม่มีก็เพราะว่าท่านยังไม่สามารถจะแก้ข้อข้องใจของประชาชนในเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 เดือนนี้ให้เห็นเด่นชัด ไม่ใช่แก้ด้วยการยกมือ 367 เสียง ตรงนี้ต่างหาก ผมถึงบอกว่าผมอยากได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนเก่าของผมเมื่อปีแรกที่ท่านเข้ามาเป็นนายกฯ กลับคืนมา ไม่รู้ตัวตนที่แท้จริงของท่านเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วท่านหายไปไหน วันนี้ตัวท่านไม่ใช่คนเก่าแล้วแต่ท่านยังแก้ไขได้ ประชาชนพร้อมที่จะยืนข้างท่าน ผมก็พร้อมจะยืนข้างท่านแล้วก็เดินไป

สโรชา - เดี๋ยวเราจะพักกันซักครู่ค่ะคุณผู้ชม กลับมาเดี๋ยวไปดูผลโพล แล้วช่วงสุดท้ายเดี๋ยวคุยกันต่อหลังชมข่าวต้นชั่วโมง ซักครู่เดียวค่ะ
สโรชา - กลับมาช่วงสุดท้ายของเมืองไทยรายสัปดาห์นะคะ ไปดูผลโพลกันซักนิดนึงบค่ะวันนี้เราเรียนถามคุณผู้ชมค่ะว่า ระหว่างเณรแอหรือว่าอดีตเณรแอกับนักการเมืองทุจริตคุณผู้ชมคิดว่าใครเลวกว่ากัน คุณผู้ชมตอบเรากลับมาว่า คิดว่า เณรแอเลวกว่า 3 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ แต่นักการเมืองทุจริต ประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ ต้องยอมรับว่าผิดคาดพอสมควรตอนแรกนึกว่าจะสูสี

สนธิ - ผมว่าไม่ผิดคาดครับ หลายท่านให้เหตุผล อย่างเช่น บางท่านให้เหตุผลซึ่งก็ขำดีครับ ทุจริตด้วยกันทั้งคู่แต่นักการเมืองเลวกว่าเพราะโกงประชาชนทั้งชาติ, เณรแอเลวกว่าเพราะว่ายังไงนักการเมืองก็ทุจริตอยู่แล้ว

สโรชา - เป็นเรื่องปกติหรอคะ เดี๋ยวไปคุยกันเรื่องสุดท้ายมีเวลาประมาณ 8-9 นาที คุณสนธิคะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ท่านนายกฯ ได้แถลง มีทั้งขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งให้เงินผู้สูงอายุ ทั้งการกระตุ้นภาคเอกชนให้เพิ่มขั้นต่ำเงินเดือนขึ้นมาเป็นอย่างน้อย 7,000 บาท โดยที่ภาครัฐจะมีมาตรการลดภาษีให้ อะไรประมาณนั้น สัมมนากันมากขึ้น เทรนด์กันมากขึ้น หลายๆ ชนิดเลย

สนธิ - ต้องแบ่งออกเป็น 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ปรัชญาก่อน ท่านนายกฯ บอกว่า ปรัชญา ท่านบอกว่าให้เชื่อระบบทุนนิยม ผมต้องขออนุญาตไม่เห็นด้วยกับท่าน คือช่วงหลังนี่ผมไม่เห็นด้วยกับท่านหลายเรื่องเหลือเกินจนกระทั่งคนไปมองว่าผมไม่ชอบท่าน แล้วก็เป็นผลให้บรรดาพวกที่เป็นคนที่รอบตัวท่านพากันหงุดหงิดในตัวผม ถึงกับมีการมอบหมายให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติส่งคนมาตามผม

สโรชา - ถึงขั้นนั้นเลยหรอคะ

สนธิ - มีครับ แล้วก็มีหน่วยราชการบางหน่วยส่งมาตามผม อย่าไปเสียเวลาเลย เสียภาษีอากรประชาชนนะฮะไปตามพวกชาวใต้ดีกว่า พวกมุสลิมที่มีปัญหาดีกว่า คือเวลาคนมันมีอำนาจ ผมอยากจะพูดเรื่องเศรษฐกิจทีหลัง เอาสั้นๆ ตรงนี้นิดนึง ผมผ่านกระบวนการอำนาจมาเยอะมาก แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ทุกทีพอถึงจุดๆ นึงพอมีอำนาจแล้วใครติไม่ได้เลยต้องเป็นศัตรูหมด คือตัวเองต้องถูกตลอดเวลา ทีนี้ความที่ผมรู้จักท่านนายกฯ มานาน ท่านอาจจะไม่ชอบขี้หน้าผม ตอนนี้ที่บ้านท่านไม่ชอบ หรือว่าคนใกล้ชิดท่านไม่ชอบไม่เป็นไร เอาไว้วันนึงถ้าท่านลงจากเก้าอี้แล้วท่านมองย้อนหลังท่านจะบอกเออไอ้สนธินี่มันจริงใจโว้ย มันกล้าพูดความจริงกับเรา คือผมมามองว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจริงๆ แล้วมันไม่ได้เลว

สโรชา - ไม่เห็นด้วยกับทุนนิยม

สนธิ - ผมไม่เห็นด้วยก็เพราะว่าท่านไปเชื่อว่าทุนนิยมมันจะทำให้ประเทศไปรอด แต่ทุกวันนี้โลกที่เกิดวิกฤตขึ้นมาเกิดเพราะทุนนิยม หมดเลยฮะทั้งอเมริกา ทั้งอังกฤษ ทั่วโลกเลยเกิดเพราะทุนนิยม

สโรชา - บริโภคกันมากเกินไป

สนธิ - บริโภคกันมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ผมถึงบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เราเป็นอัจฉริยะบุคคลของโลก พระองค์ท่านทรงสอนให้ใช้เศรษฐกิจพอเพียง พระองค์ท่านไม่ได้บอกว่าให้เราพอเพียงเท่านั้นแล้วจบ พระองค์ท่านบอกว่าเอามาผสมผสานกันได้ ให้รู้จักพอ ให้รู้จักใช้สำคัญมาก พระองค์ท่านสอนให้รู้จักพอ คำว่ารู้จักพอมีนัยสูงมาก รู้จักพอในเชิงที่บริโภคใช้เงินใช้ทอง รู้จักพอในการใช้อำนาจ รู้จักพอในการคอร์รัปชั่น นัยพระองค์ท่านลึกซึ้งมากตรงนี้ ทีนี้ท่านนายกฯ บอกว่า จริงๆ กลับมาเรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่ได้เลวร้ายมากมายนัก

สโรชา - คือไม่ใช่ขาลง ไม่ได้ลงเหว

สนธิ - คือไม่ได้ลง ถือว่ายังพอใช้ได้อยู่เพราะว่าปริมาณการผลิตตอนนี้ เขาเรียกว่า โปรดักชั่น คาปาสตี้ มีอยู่ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ยังถือว่าโอเคอยู่ ปัญหาคือการบริหารการจัดการ แล้วการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้น น้ำมันเป็นตัวหลักจริงผมไม่เถียง

สโรชา - ศรัทธาในอะไร ศรัทธาในเศรษฐกิจ

สนธิ - ศรัทธาในตัวผู้นำ

สโรชา - ศรัทธาในการบริหาร

สนธิ - ในการบริหาร น้ำมันเป็นตัวหลักจริง แต่ว่าคุณสโรชาน้ำมันที่ขึ้นมา 20 กว่าบาทยังถูกกว่าน้ำมันในยุโรป น้ำมันในยุโรป 1 ลิตรประมาณเกือบ 60 บาท ทีนี้เราจะไปขึ้นเขาอย่างนั้นเพื่อกันไม่ให้คนไปใช้น้ำมันเยอะก็ไม่ได้ เพราะว่าน้ำมันมีผลกับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การแก้ควรจะแก้ไปที่หลักปรัชญาให้มากขึ้น ท่านนายกฯ บอกว่า เศรษฐกิจไทยของเราเหมือนเบาหวานต้องเอาน้ำเข้าไปเยอะๆ ผมบอกไม่ใช่ ตอนนี้เราไม่ได้เป็นเบาหวาน เราเป็นโรคตับทรุด ก็เพราะว่าเราบริโภคมากจนเกินไป

สโรชา - กลั่นกรองไม่ทัน

สนธิ - กลั่นกรองไม่ทัน เพราะว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้คนใช้เงิน ใช้เงิน ใช้เงิน ใช้เงิน ผมถึงไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับการเน้นให้คนไปใช้เงิน ใช้เงิน ใช้เงิน ผมกลับเห็นว่าน่าจะเริ่มกลับมาสู่การประหยัด แต่ทีนี้ปรัชญาคนละปรัชญา ที่ปรึกษาท่านนายกฯ ก็คงจะมีความรู้สึกว่า ถ้าเศรษฐกิจมันสโลว์ดาวน์ หรือช้าลง ต้องกระตุ้นใช้ ผมก็ถามว่า ถ้าน้ำมันมันบาร์เรลละ 55 เหรียญ คุณบอกว่าต้องเอาเงินเพิ่มอีก 5 เปอรเซ็นต์ แล้วถ้าสิ้นปีมันขึ้นอีกเป็น 60 หรือ 72 เหรียญ คุณมิต้องจ่ายเงินอีกหรอ มันไม่จบไม่สิ้น

สโรชา - คือมันหาที่จบไม่ได้

สนธิ - หาที่จบไม่ได้

สโรชา - มันก็ต้องกระตุ้นกันต่อไปเรื่อยๆ

สนธิ - ถูกต้อง วิธีการคือต้องให้มีการลดค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่สุดโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ที่ท่านคิดจะทำขึ้นปีนี้ ที่รัฐบาลจะทำ ผมกราบเลยให้เลื่อนไปปีหน้า เพราะของพวกนี้มันมีอิมพอร์ตคอนเทน มันต้องสั่งของเข้ามาแล้วเงินบาทแบบนี้ พลังงานแบบนี้ มันเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

สโรชา - แต่มันไม่ได้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มันไม่ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐมากขึ้นหรอคะ

สนธิ - น้อยฮะถ้าเทียบ เศรษฐกิจที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือเศรษฐกิจเรียลเซ็กเตอร์ ธุรกิจระดับเล็ก ระดับกลาง

สโรชา - ที่อธิบายครั้งก่อน

สนธิ - ที่ครั้งก่อนนะ แล้วคุณไปให้สิทธิพิเศษของคนที่ส่งคนไปอบรมแล้วเพื่อหักภาษีได้ บริษัทไหนส่งไปได้มั่งล่ะ ก็มีซี.พี. มีเอไอเอส มีดีแทค มีปูนซิเมนต์ไทย แล้วบรรดาบริษัทเล็กๆ ซึ่งเป็นรากฐานที่แท้จริงเอสเอ็มอีส่งไปได้ยังไง เขาไม่ต้องการตรงนี้ เขาต้องการสินเชื่อเข้ามาเพื่อขยายงานของเขา เพื่อจ้างงานเพิ่ม แต่วันนี้แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้เขา เพราะฉะนั้นแล้วการซึ่งท่านเอาเงินไปให้เขา ให้คนมันก็กลับไปสู่จุดเดิมก็คือไฟไหม้ฟาง คุณสโรชาถือฟางมา 1 เส้น แล้วคุณจุดไฟเผาวืดเดียวก็หมดแล้ว มันไม่มีความหมาย มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว

สโรชา - คุณสนธิหมายความว่าต้องกลับไปกระตุ้นเรียลเซ็กเตอร์ที่ว่านี้

สนธิ - ต้องกลับไปกระตุ้นเรียลเซ็กเตอร์ ถ้าจะกระตุ้นจริงต้องกระตุ้นตรงนั้น

สโรชา - แต่ไม่ใช่ว่าไปให้เงินประชาชน

สนธิ - ไม่ใช่ คือการขึ้นให้ 5 เปอร์เซ็นต์ คุณขึ้นให้ข้าราชการ

สโรชา - เขาจะขึ้นอยู่แล้วเดือนตุลาคม

สนธิ - คุณขึ้นให้ข้าราชการ 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วชาวบ้านที่ไม่ใช่ข้าราชการอีก 60 กว่าล้านคนจะทำยังไง เห็นรึยัง

สโรชา - ก็นี่ยังกระตุ้นภาคเอกชน

สนธิ - นั่นหละคือตัวจริงที่จะทำให้เกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุดท่านจะต้องตัดสินใจกันให้แน่ ถ้าท่านยังใช้นโยบายการเงินแบบนี้อยู่ ท่านยังใช้นโยบายการเงินก็คือว่า ไม่ให้มีการขยายตัว ไม่มีการปล่อยสินเชื่อ นโยบายการคลังซึ่งจ่ายเงิน แจกออกไปเรื่อยๆ ผมยังไม่เห็น คือผมไม่อยากทำนายตอนจบของหนังเรื่องนี้เพราะมันน่ากลัวเหลือเกิน

สโรชา - หมดเวลาจริงๆ แล้วค่ะคุณผู้ชมสำหรับเมืองไทยรายสัปดาห์ กลับมาพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะสำหรับวันศุกร์นี้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ดิฉันสโรชา พรอุดมศักดิ์ ลาคุณผู้ชมไปเพียงเท่านี้ค่ะ สวัสดีค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น