วันที่ 31 พ.ค. ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกองทุนรักษาระดับเงินตรา ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 ฟ้อง นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นจำเลยฐานละเมิดเรียกค่าเสียหาย 186,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ปรากฏว่าศาลสืบพยานโจทก์ 12 ปาก ส่งเอกสาร 166 ฉบับ ฝ่ายจำเลยนำสืบ 10 ปากส่งเอกสาร 112 ฉบับ จึงมีคำพิพากษา ทั้งนี้ ฝ่ายนายเริงชัยไม่มาศาลแต่ส่งนายนพดล หลาวทอง ทนายความมาแทน ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงมีพนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่งเป็นทนายความให้
ศาลพิพากษาใจความว่า โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างปลายปี พ.ศ. 2539 ถึง 2540 เริ่มเกิดวิกฤติค่าเงินบาท จำเลยเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีจัดคณะกรรมการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนรักษาระดับเงินตราต่างประเทศ ให้มีหน้าที่วิเคราะห์สั่งการใช้อำนาจในการแทรกแซงค่าเงินบาทไม่ให้ตกต่ำเพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่จำเลยได้ประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวัง โดยกลับสั่งการให้มีการแทรกแซงค่าเงินบาท ผิดพลาดจนรัฐบาลต้องสูญเสียเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้เป็นกองทุนสำรอง ทำให้รัฐบาลเสียหายเป็นเงิน 186,000 ล้านบาท
ศาลรับฟ้องพยานหลักฐานโจทก์จำเลยหักล้างกันแล้วพิเคราะห์ว่า ประเด็นที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจในการฟ้องคดีจำเลยเมื่อเห็นว่าทำไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดความเสียหายโจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ที่จำเลยอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมต้องยกฟ้อง ศาลเห็นว่า โจทก์มีการบรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าจำเลยทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินทุนสำรอง เป็นเหตุให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในฐานะการเงินของประเทศ และโจทก์เสียหายเป็นเงิน 185,900 ล้านบาทเศษ
คดีจำต้องพิจารณาว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ เห็นว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเห็นว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบตะกร้าเงิน ไม่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจ ต่อมาค่าเงินบาทแข็งตัวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โจทก์ในคดีนี้จึงเริ่มมีนโยบายแทรกแซงค่าเงินบาท ด้วยวิธีใช้เงินดอลลาร์ที่เป็นทุนสำรอง เพื่อปกป้องค่าเงินบาทจากนักเก็งกำไรที่ทุ่มขายเงินบาท
โจทก์ทั้งสองจึงมีนโยบายทำธุรกรรมเพื่อปรับสภาพคล่องค่าเงินบาท ด้วยวิธีการแทรกแซงค่าเงินบาท หรือเรียกกันว่า “สวอปค่าเงินบาท” โดยช่วงนั้น รมว.คลังโดยคำแนะนำของ ธปท. ได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ปรากฏว่าค่าเงินบาทได้ตกต่ำลงเรื่อย
ทั้งนี้ โจทก์นำนายอำนวย วีรวรรณ อดีต รมว.คลัง และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เบิกความว่า ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และหากจำเลยเสนอแนะตามขั้นตอนแนะนำ รมว.คลังเพื่อประกาศใช้ระบบอัตราแลกเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่ง รมว.คลังก็จะได้ทำตามที่จำเลยแนะนำ แต่จำเลยกลับไม่ตอบสนอง อ้างว่า ธปท.ไม่พร้อมจึงไม่มีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน จำเลยอ้างว่ามีความกังวลเรื่องภาระหนี้สินต่างประเทศ จนไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้นโยบายอย่างไร จนต่อมารองผู้ว่าการฯ ธปท.ได้เรียกประชุมผู้บริหาร ธปท. เมีความเห็นกันว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแล้ว และควรใช้ระบบลอยตัวเงินบาท จากนั้นได้รายงานผลให้จำเลยทราบมติที่ประชุม
จำเลยเป็นผู้มีความรู้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจทางการเงินของประเทศ ทั้งที่เป็นความลับและไม่ลับ มากกว่าผู้ใด จำเลยจึงต้องเป็นหลักในการกำกับนโยบายการเงินการคลัง ให้นโยบายในฐานะเป็นผู้ว่าการ ธปท. และจำเลยต้องรู้ดีว่าทุนสำรองของประเทศมีความสำคัญกับเสถียรภาพเงินบาทอย่างไร ต้องใช้เงินทุนสำรองอย่างไร เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยตัวเลข และสถานการณ์ต่างๆ ให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยกลับไปใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินบาทเฉพาะหน้าแทน จนทุนสำรองมีค่าติดลบ ทำให้รัฐมีหน้าที่ต้องคืนเงินดอลลาร์จากตลาดเงินไปให้คู่สัญญา จนส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินที่ใใช้คืนและต้องขาดทุนเป็นเงินถึง 185,900 ล้านบาทเศษ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ที่ 2 ไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมค่าเงินบาทเช่นโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่เป็นผู้เสียหายคดีนี้ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 185,953,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.41 แต่ดอกเบี้ยไม่ให้เรียกเงิน 62 ล้านบาท ให้ใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ 5 แสนบาท
คำพิพากษาคดี “เริงชัย” ชดใช้แบงก์ชาติ 1.8 แสนล้าน
ศาลปกครองชี้"เริงชัย"ฟ้องธปท.เรียก 200 ล.ผิดศาลหรือไม่ บ่ายนี้
สั่งพักคดี"เริงชัย"ฟ้อง ธปท.ฐานละเมิดเรียก 200 ล้าน
เริงชัยยันกลางศาลทำถูกต้องคดีสวอปเงิน
อดีตผู้ว่าฯธปท."เริงชัย"เบิกความนัดสุดท้าย คดีสวอปค่าเงินบาท
เลื่อนสืบคดี ธปท.ฟ้อง"เริงชัย"