xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหารซีพียืนยันกล้ายางได้คุณภาพ โต้'อุทัย'เดือดร้อนเหตุเสียประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารซีพียืนยันกล้ายางได้คุณภาพ พร้อมโต้ "อุทัย" เดือดร้อนเพราะเสียผลประโยชน์ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรคงไม่อนุญาตให้มีการตรวจรับหากเป็นกล้ายางที่ไม่ได้คุณภาพ ชี้การย่นระยะเวลาการส่งมอบกล้ายางจาก 4 เดือนกลายมาเป็น 3 เดือนไม่มีปัญหา มั่นใจปี 48-49 ส่งกล้ายางทันเวลาที่กำหนด

นายสุเมธ ภิญโญสนิท กรรมการผู้จัดการเขตประเทศไทย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวภายหลังพาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูแปลงกล้ายางในจ.บุรีรัมย์ ว่า เท่าที่มีการตรวจสอบพันธุ์กล้ายางทั้ง 107 แปลง ยืนยันปี 2548 จะสามารถส่งพันธุ์กล้ายางได้ทันเวลาที่กำหนด และขั้นตอนการผลิตทางบริษัทได้จ้างเกษตรกรในพื้นที่ผลิต เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งกล้ายางที่เกษตรกรผลิต เป็นไปตามข้อกำหนดที่บริษัทกำหนดทุกขั้นตอน และบริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่มาคอยควบคุมการผลิตอย่างใกล้ชิด กล้ายางที่บริษัทส่งให้กับทางกรมวิชาการเกษตรมี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ RRIM600 และพันธุ์ RRIT251 โดยพันธุ์กล้ายางทั้งหมดที่ออกจากบริษัท กรมวิชาการเกษตรสามารถตรวจสอบดีเอ็นเอย้อนหลังได้ทั้งหมด

นายสุเมธกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ตัวแทนเกษตรกร ออกมากล่าวหาว่า กล้ายางที่บริษัทส่งให้กรมวิชาการเกษตรเป็นยางสอยนั้น ตนเห็นว่าการออกมาพูดอย่างนี้ คงเกิดจากการเสียผลประโยชน์ และตนไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะกล้ายางทั้งหมดที่ออกจากบริษัทไปถึงมือเกษตรกรที่ผ่านมามีขั้นตอนการตรวจสอบอย่างละเอียดของคณะกรรมการตรวจรับ หากไม่ได้คุณภาพเชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรคงจะไม่อนุญาตให้มีการตรวจรับโดยเด็ดขาด

“กล้ายางที่ผลิตในปี 2547 ที่ไม่สามารถส่งได้ทันตามที่กรมวิชาการกำหนด ขณะนี้บริษัทได้ส่งมอบให้กับเกษตรกรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทต้องเสียค่าปรับที่มีการส่งมอบกล้ายางเกินกำหนดเวลาไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 1.5 ล้านบาท และมั่นใจว่าในปี 2548-2549 บริษัทจะสามารถส่งมอบกล้ายางได้ทันตามเวลาที่กำหนดแน่นอน” นายสุเมธกล่าว

นายสุเมธกล่าวว่า ส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแก้ไขสัญญาในเรื่องเวลาในการส่งมอบกล้ายางจากเดิมให้ระยะเวลา 4 เดือนกลายมาเป็น 3 เดือน บริษัทไม่มีปัญหา และในปี 2548 จะเร่งส่งกล้ายางจำนวน 27 ล้านต้นก่อนเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามที่มีการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบ หากกล้ายางที่บริษัทส่งมอบภายใน 7 ปีไม่ให้น้ำยางนั้น ตนเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของบริษัทที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะบริษัทเป็นเพียงผู้ผลิตเท่านั้น ซึ่งปริมาณน้ำยางที่จะได้ขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกร ว่าจะดูแลมาน้อยแค่ไหน หากดูแลดีคงไม่มีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น