เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโคภ โดยนำผลการสำรวจปริมาณคาเฟอีนในชาเขียวแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ 2548 พร้อมส่งชาเขียวพร้อมดื่ม 43 ตัวอย่างให้สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดลทำการวิเคราะห์หาปริมาณคาเฟอีนทั้งหมด นำเปรียบเทียบกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสมอยู่โดยธรรมชาติและเติมเข้าไป พบว่า ชาเขียวพร้อมดื่มมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าคาเฟอีนในเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ รวมทั้งในเครื่องดื่มชาเขียวบางสูตรที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง ทำให้ปริมาณน้ำตาลต่อขวดมีปริมาณที่สูงมาก
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือ ฉลากสินค้า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 277 ซึ่งออกมาตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2546 ได้กำหนดให้ชาพร้อมดื่มต้องแสดงปริมาณคาเฟอีนหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิกรัม ด้วยอักษรสีเข้มเส้นทึบขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ที่อ่านได้ชัดเจนอยู่ในกรอบพื้นที่สีขาว บริเวณเดียวกับชื่ออาหารหรือชื่อสินค้า แต่พบว่า เครื่องดื่มที่มีการแสดงฉลากในตำแหน่งที่ถูกต้อง มียี่ห้อเดียวคือ ยี่ห้อซัมเมอร์ นอกจากนั้นไม่มียี่ห้อใดเลยที่แสดงตำแหน่งถูกต้อง แถมบางยี่ห้อไม่มีการแสดงปริมาณคาเฟอีนด้วย
สำหรับข้อมูลการวิเคราะห์ วิจัยที่ได้ จะส่งต่อให้คณะกรรมการอาหารและนา(อย.) เพื่อตรวจสอบและบังคับใช้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายระบุต่อไป
ขณะที่ อย.ออกมารับลูก โดย "ศ.น.พ.สุชัย" สั่งกำชับสำนักงาน อย. กวดขันเครื่องดื่มชาเขียวให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เข้มตรวจปริมาณกาเฟอีนและฉลาก ย้ำเครื่องดื่มมีกาเฟอีนมากไม่มีอันตรายสูง แค่ตาแข็ง นอนไม่หลับ เด็กมีอาการกระสับกระส่ายได้ แต่ในเชิงวิชาการตนจะดำเนินการอย่างรอบคอบ แต่กฎหมายกำหนดไว้เท่าใดต้องบังคับใช้ให้ตรงตามมาตรฐาน ส่วนอย.ออกเตือนเจ้าของสินค้าอย่าเกาะกระแสสร้างสุขภาพโดยการอ้างสรรพคุณให้ชาเขียวเลิศเลอ ทั้งที่ไม่มีการทดลองทางคลินิคว่ามีสรรพคุณดีจริง