xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นปี 47 ยกคลื่นยักษ์"สึนามิ"เหตุการณ์แห่งปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 พิธีกรชูเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นข่าวเด่นที่สุดในรอบปี ฟันธงเลือกตั้งปี 48 ไทยรักไทยจะได้ 300-350 ที่นั่ง เชื่อหากไม่มีพรรคใดมีนโยบายน่าสนใจ ไทยรักไทยเข้าป้ายแน่ ทั้งนี้ยังยกให้คลื่นยักษ์"สึนามิ"เป็นเหตุการณ์แห่งปี ส่วนต่างประเทศให้จับตาสถานการณ์ความรุนแรงช่วงใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีอิรัก


สโรชา – สวัสดีปีใหม่ปี 2548 นะ มาพบกับรายการก่อนจะถึงวันจันทร์นะคะ วันนี้ควรจะถือโอกาสย้อนไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2547 รวมไปถึงมองไปข้างหน้าด้วยปี 2548 โดยเฉพาะช่วงต้นกุมภาพันธ์นี้ ที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ว่าจะเป็นอย่างไร การเมืองในประเทศในประเทศไทยดูเหมือนว่าจะดุเด็ดเผ็ดร้อนขึ้นมาทุกทีๆ ถึงแม้ว่าในช่วงท้ายๆปีปลายๆปีก่อนจะถึงปีใหม่ อาจจะมีข่าวของคลื่นยักษ์ที่ซัดพัดภาคใต้ มาปกคลุมเรื่องราวของการเมืองไปช่วงหนึ่ง แต่ว่าช่วงใกล้ๆเลือกตั้งคงจะมีบรรยากาศการหาเสียงกลับมาเป็นข่าวเป็นคราวกันอีกครั้งหนึ่งค่ะ และหลายต่อหลายเรื่องในต่างประเทศที่ต้องรวบรวมคุยกันในวันนี้ กับเราทั้ง 3 คน คุณสำราญ รอดเพชร, คุณคำนูณ สิทธิสมาน และดิฉันสโรชา พรอุดมศักดิ์ค่ะ

สำราญ , คำนูณ – สวัสดีครับ

สโรชา – แต่ก่อนอื่น วันนี้เราจะมีการแจก VCD ที่รวบรวม 10 ข่าวเด่นในรอบปี 2547 แจกกันทั้งหมด 10 แผ่น คุณผู้ชมสามารถโทรมาได้ที่ 02-7894045

สำราญ – จะมีข่าวสึนามิไหม

สโรชา – คงไม่มีค่ะ เพราะว่าไม่ทัน

สำราญ– คงต้องมีอีกม้วนหนึ่งนะ ตัดต่อจากสารคดีที่เขาเอามาฉายน่ะ

สโรชา – ใช่ ของสำรวจโลก

คำนูณ – เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อปีที่แล้ว

สำราญ – ผมอยากดูพวกกราฟฟิกมากกว่า

สโรชา – กราฟฟิกในตัวสารคดี แต่ตอนนี้มาที่ข่าวที่แต่ละท่านประทับใจมากที่สุด ในรอบปี 2547

สำราญ – ประทับใจของคุณหมายถึงอะไร ผมจะได้ตอบให้ตรงประเด็นเลย

สโรชา – ข่าวไหนที่จดจำได้มากที่สุด และมีความรู้สึกว่าอินกับมันมากที่สุด เอาอย่างนี้ดีกว่า มีไหมข่าวไหนซักข่าวหนึ่ง ที่ฟังแล้วข่าวนี้สะเทือนใจนะ หรือว่าอย่างอื่น

สำราญ – ประทับใจในความหมายนี่ไม่ได้หมายความว่าชอบนะ ผมว่าภาคใต้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สึนามินะ สึนามินี่เรายกไว้ต่างหากนะวันนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทันต่อเนื่องและยาวนานเป็นพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547

คำนูณ – นี่ก็ใกล้จะครบปีอยู่แล้ว

สำราญ – 28 เมษายน 2547 ที่กรือเซะ และก็ 25 ตุลาคม 2547 ที่ตากใบ แล้วก็รอวันที่ 4 มกราคม 2548 จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่

คำนูณ – ความสงบถาวร

สำราญ – หวังว่า

สโรชา – แต่ว่านี่คือ ถึงแม้ว่าจะเกิดสึนามิ ภาคใต้เขาก็ยังยิงกันอยู่ใช่ไหม ดิฉันก็เห็นข่าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

คำนูณ – ไม่มีวัฒนธรรม

สโรชา – คืออะไร

สำราญ – ก็ยิง ตชด.เมื่อวันก่อน

สโรชา – ก็ยังไม่หยุดไม่สิ้น คือจริงๆแล้ว ไม่รู้นะ คือบางครั้งเราก็ได้แต่หวังนะว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ มันจะทำให้คนบางคนสำนึกขึ้นมาได้ ว่าที่ฆ่ากันอยู่ทุกวันนี้ จริงๆแล้วไม่จำเป็นหรอก มันมีภัยอีกเยอะแยะมากมายในชีวิตคนเรา

สำราญ – คิดไป ฝันไป เข้าใจไป คิดเองเออเอง

สโรชา – มันก็มีสิทธิหวังนะ บางครั้งเราก็ คือเหตุการณ์อย่างนี้ มันทำให้ย้อนนึกถึงตัวเราเอง ว่าเราควรจะดีใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ สิ่งที่เราไม่ได้สูญเสียไป ในขณะที่คนอื่นเขาสูญเสีย แต่คนพวกนี้กลับ

สำราญ – เขาไม่ได้มานั่งคิดเหมือนเรา ว่าชีวิตนี้เล็กเหลือเกิน พอเห็นสึนามิกวาดไปเป็นแผงอย่างนั้นใช่ไหมครับ ชีวิตนี่ทำไมมาเบียดเบียนกัน มาทะเลาะกัน

คำนูณ – คุณจะฆ่ากันไปทำไม

สำราญ – เขาไม่ได้คิดอย่างเรา

คำนูณ – สมมุติว่าจะแยกประเทศ แยกแผ่นดิน แยกไปก็เท่านั้น สุดท้ายคลื่นมา โครมเดียวมันก้ตายกันหมด

สโรชา – มันก็ไม่ได้แยกว่าตรงไหนเป็นส่วนไหนของประเทศไหน ไม่แยกทั้งนั้น

คำนูณ – ที่จริงผมออกจะผิดหวังนะ ผมเคยคุยกับคุณสำราญในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ผมบอกขบวนการก่อการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ ไม่มีวัฒนธรรม คือปกติน่าจะหยุดซัก 2-3 วันก็ยังดี เหมือนเป็นการไว้อาลัย

สำราญ – เรียนตรงๆว่าผมไม่ได้ผิดหวัง เพราะผมไม่ได้หวังมาก่อน

คำนูณ – ผมก็ไม่ได้หวังหรอก แต่มีความรู้สึกว่า พี่น้องที่ตายในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงานี่นะ ผมคิดว่าจำนวนไม่น้อยก็เป็นคนไทย-มุสลิม

สำราญ – คือถ้าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อน ยังพอแอบหวังได้ว่า เขามีมารยาท มีวัฒนธรรมอย่างที่คุณคำนูณว่า ที่จะหยุด รู้เหนือรู้ใต้ รู้กาลเทศะหน่อย

คำนูณ – แต่ก็อย่างว่า เราจะไปเรียกร้องให้เขาหยุด คุณสำราญก็ทักผม ผมก็บอกว่า เออจริง คือนาทีนี้เรายังไม่รู้เลยว่าเขาคือขบวนการอะไร คือเขาไม่เคยประกาศตัว ปกติในอดีตนี่ ถึงแม้ว่าจะเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรืออะไรต่อมิอะไรก็ตามแต่ เวลาเขาปฏิบัติการนะ เขาก็จะประกาศตัว

สโรชา – อ้างความรับผิดชอบ

สำราญ – ที่เราฟังมาปีนึงนะ คุณลองสรุปดูนะว่าคืออะไร ที่ก่อความไม่สงบอยู่ทั้งปี

สโรชา – สรุปไม่ได้

คำนูณ – คือถ้าฟังรัฐบาลก็คงจะงงน่ะ

สำราญ – ฟังรัฐบาลก็หลายเวอร์ชัน

คำนูณ– ที่แรกก็ว่าไม่ใช่เรื่องศาสนา ไม่ใช่เรื่องแยกดินแดน เป็นเรื่องอิทธิพล เริ่มต้นจากโจรกระจอกก่อน ต่อมาก็เป็นเรื่องอิทธิพล เรื่องค้ายาเสพติด เรื่องค้ายานี่เราได้ยินตอนกลางปีนะ แล้วก็รู้สึกว่าทางรัฐบาลก็บอกว่า ใกล้แล้ว ใกล้จะถึงตัวแล้ว ก็ได้แค่ใกล้ จากนั้นมาตอนท้ายๆก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดนไป แผน 7 ขั้นนี่ก็ดูเหมือนจะเป็นจริงเป็นจังไป มีการไปฝึกอาวุธ

สโรชา – ซึ่งก็กลายเป็นประเด็นใหญ่โตขึ้นมา

คำนูณ – แล้วก็ชั่วข้ามคืนก็ทั้ง 2 ครั้ง ครั้งนึงกลายเป็นนักศึกษาอาร์แบค รัตนบัณฑิตไปรับน้อง อีกครั้งนึงตอนช่วงปลายปีก็กลายเป็นกีฬาสี โรงเรียนในปัตตานี

สำราญ – คือสุดท้าย ถ้าพูดให้เป็นหลักเป็นฐาน สุดท้ายท่านนายกฯของเราก็ได้กลับไปสู่ฐานข่าวของทางการนั่นแหละ ผมเชื่อว่าที่ท่านพูดหลังสุดก็คือ กลับไปสู่ฐานข่าวเดิมของทางการ ทหาร ตำรวจ ไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียว ทหารเขาก็ยอมรับว่า 1 ก็คือมีฐานก็คือ การก่อการร้ายแยกดินแดนอะไรอย่างนี้นะ ส่งคนไปเรียนที่อินโดนีเซีย รวมทั้งตะวันออกกลางบางประเทศ ไปฝึกที่เพื่อนบ้านทำนองนี้ จากที่นายกฯไม่เคย เมื่อก่อนให้น้ำหนักเป็นเรื่องของลงขันของพ่อค้า อิทธิพล ยาเสพติด แต่ตอนหลังน้ำหนักจะเอนไปที่การแบ่งแยกดินแดน

คำนูณ – แล้วมีการสนับสนุนจากภายนอก ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็คือไม่พูดตรงไปตรงมา

สำราญ– นี่คือน้ำหนักของนายกฯที่มาตอนท้าย น้ำหนักนี้ก็คือกลับไปสู่ฐานข่าวเดิมของทางการ ซึ่งเขามีอยู่แล้ว แล้วกระแสหลักคือเขาเชื่ออย่างนี้ ซึ่งจริงไม่จริงเราก็ไม่ทราบ

คำนูณ – ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ในบางมิติ ในบางมุม ต้องพูดว่ามันน่าจะซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก เพราะว่าสาเหตุที่ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดนี่ เขาต้องไปเรียนต่างประเทศ มันก็มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของมันอยู่ แล้วการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศจากตะวันออกกลาง ยอมรับว่ามันมีและมีมากด้วย แต่ว่าเราจะไปอนุมาน หรือไม่กล่าวทั้งหมด หรือไปเหมาโหลไม่ได้ ว่านั่นเป็นเมืองที่ใช้การก่อร้าย

สำราญ – จะพูดอย่างเป็นธรรมก็คือ รัฐบาลเขาก็ไม่ได้เหมาโหลนะ เขาหมายถึงบางคน บางพวก

คำนูณ – แต่มันไม่ชัดไง และที่สำคัญก็คือ กระแสที่เกิดความเชื่อในประชาชนทั่วไป มันก็จะกลายนำไปสู่การมองชาวไทยมุสลิมด้วยสายตาที่ตั้งคำถาม การมองการไปเรียนต่อในประเทศที่นับถืออิสลามด้วยกัน ด้วยสายตาที่ตั้งคำถาม การมองการช่วยเหลือจากประเทศอิสลามต่างๆด้วยสายตาที่ตั้งคำถามและหวาดระแวง อันนี้มันก็จะมีแต่ทำให้ความเข้าใจระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ที่อยู่ในประเทศเดียวกัน แผ่นดินเดียวกัน มันยิ่งห่างกันออกไป

สโรชา – ก็คิดว่า หวังว่าปีนี้จะซาไหม ปี 2548 นี่

สำราญ – ไม่ซา

สโรชา – แล้วมันจะมีจุดจบเหรอคะ คือสมมุติว่าเขามี 7 ขั้น สมมุติว่ามันคือของจริง ตามขั้นที่ 7 แล้ว มันจะต้องจบภายในต้นเดือนมกราคมนี้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นนี่ถ้าเกิดว่ามันไม่จบ มีทางการได้ออกหมายจับ ได้จับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น 1 ในกระบวนการนี้ จุดจบมันจะอยู่ตรงไหน

สำราญ– นี่คือบอกว่าถ้ามันจริงใช่ไหม แล้วถ้าไม่จริงล่ะ แล้วตอนนี้มันดูแนวโน้มว่าถ้าจะไม่จริงมากกว่า

คำนูณ– คือถามเราว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีจริงไหม เราตอบได้ว่ามีจริง ถามว่ากระบวนการมุสลิมจารีตนิยมมีจริงไหม เราตอบได้ว่ามีจริง เราก็ออกจะสงสัยในแผนการที่ทางหน่วยข่าวของทางทหาร ตำรวจ สืบมาเป็นขั้นๆ อย่างละเอียดยิบ ว่ามันจริงแท้แน่นอน หรือว่ามันอะไรกันแน่ เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่างดูออกจะผิดวิสัยเกินไปซักนิดนึงนะครับ

สำราญ – มาถึงแผน 7 ขั้นนี่มันก็ไม่ชัด

สโรชา – ว่าใช่จริง

สำราญ – แล้วแนวโน้มจะไม่เป็นจริงเสียด้วยซ้ำไป

คำนูณ – ตั้งไว้คนนั้นจะเป็นนายกฯ คนนั้นจะเป็น ผบ.สูงสุด

สโรชา – เขาตั้งไว้หมดแล้วนะ ครม.ของเขา

สำราญ – เมื่อไม่กี่วันก่อน ก่อนสิ้นปี อย่างกำนันโต๊ะเด็ง กำนันที่โดนจับข้อหาประชุมแยกดินแดน กบฏภายในราชอาณาจักร ปล้นปืน คุณอนุพงศ์จำได้ไหมครับ ก็เป็นไงวันก่อน ขึ้นศาลแกก็กลับคำแล้ว บอกว่าตำรวจบีบมา เห็นไหม เหมือนหนังคนละม้วนเลย อะไรทำนองนี้ แล้วอีกหลายเรื่องก็จะเป็นอย่างนี้ ที่พูดเดี๋ยวหาว่าจะไปซ้ำเติมเจ้าหน้าที่ เขาทำกันเกือบตาย บางทีเราเห็นใจนะ ผมไปเจอผู้การสุราษฎร์ ที่ย้ายมาจากนราธิวาส เขาก็เล่าให้ฟัง คือด้านหนึ่งก็น่าจะเห็นใจเจ้าหน้าที่ แต่ว่านั่นแหละ

สโรชา – แต่ว่าในอีกด้านหนึ่งก็อดจะถามคำถามไม่ได้ ว่ามันไปถูกทางหรือเปล่า

สำราญ – แต่บางทีเราก็เห็นใจเขา เห็นใจในเชิงว่าเขาต้องไปทำตามนโยบายที่ถูกต้องหรือไม่ ทำนองนี้ ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ ผมคิดว่ารัฐบาลต้องมาตั้งสติ ตั้งลำตั้งหลักกันให้ดี ในปีใหม่

สโรชา – คุณคำนูณล่ะคะ ที่ประทับใจที่สุด ในรอบปี ยังเห็นด้วยความเป็นภาคใต้หรือคะ

สำราญ – เป็นคำตอบอยู่ในตัว ว่าร่วมด้วยช่วยพูด แสดงว่ายกให้เป็นเอกฉันท์

คำนูณ – คือมันเป็นข่าวที่มีหลายมิติ มันไม่ใช่ข่าวอาชญากรรมอย่างเดียว มันไม่ใช่ข่าวการเมืองอย่างเดียว แต่มันเป็นข่าวที่ผสมผสานกันระหว่างการเมืองและอาชญากรรม และก็มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ภูมิหลังทางวัฒนธรรม การที่จะทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือการที่จะวิเคราะห์ข่าวนี้ได้ดี มันก็จะมีพื้นฐานหลายๆด้านผสมผสานกันไป แล้วในชีวิตคนทำข่าวเองของผม หรือผมว่าแม้แต่คุณสำราญ ตั้งแต่เราทำข่าวชิ้นแรกๆ ก็ข่าวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็น 1 ในจำนวนข่าวที่เราสัมผัสมาโดยตลอด อย่างผมนี่ประท้วงใหญ่ในปัตตานีปี 2518 ก็ลงไปทำ ก็เห็นความน่ากลัวของปัญหา ของสภาพปัญหา แต่ว่าคือ 1 ในคนข่าวการเมืองยุคโน้น ความรู้ในเรื่องปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องรู้ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องทหารใช่ไหม เพราะยุคก่อนการปฏิวัติ การรัฐประหาร การแบ่งทหารเป็นรุ่นๆ เป็นก๊ก เป็นพวกนี่มันมีหลายอย่าง แต่เดี่ยวนี้ความสำคัญทางการทหารรู้สึกว่ามันจะลดลงไป

สำราญ – เดี๋ยวนี้ไม่ยาก แต่เมื่อก่อนเจาะข่าวทหารยากมาก

คำนูณ – เมื่อก่อนนี่ใครเป็นคีย์ทางด้านข่าวทหารนี่ถือว่าเจ๋ง

สำราญ – ผมนี่ไปแอบล้วงโผบ่อย

คำนูณ – แต่ถ้าล้วงมาดีเกินไป จากนั้นก็เลิกอาชีพนักข่าวไปเลย เพราะว่าข่าวดันออกมาไม่ตรง เสียคนไปเลย

สำราญ – สังคมก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่ว่าทหารก็ยังทรงความสำคัญในบางมิติของสังคม

สโรชา – สมัยนี้ใครที่ไปล้วงครม.มาได้ถือว่าไม่เลว

สำราญ – ถ้าเมื่อก่อน ต้องดูที่ว่าใครดูทหาร

คำนูณ – แต่เดี๋ยวนี้ต้องดูที่โทรคมนาคม ใครดูไอที และคมนาคม

สโรชา – เดี่ยวนี้เป็นเงินเป็นทองไปหมด เดี๋ยวเราต้องพักกันซักครู่หนึ่ง วันนี้สบายๆ เดี๋ยวกลับมาคุยกันต่อค่ะ

*****************************************************

สโรชา – กลับมาถึงช่วงที่ 2 ของรายการก่อนจะถึงวันจันทร์นะคะ เราไปคุยกันต่อถึงเรื่องการเมืองซักนิดนึงดีกว่า เพราะว่าก็ใกล้จะเลือกตั้งแล้ว เดี่ยวปีหน้าต้นๆเดือนเราก็จะถึงวันเลือกตั้งกันแล้ว วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งน่าจะเป็นยังไง ตอนนี้ยังคงไทยรักไทยนอนมานะ คุณ 2 คนฟันธงมาเลยดีกว่า

คำนูณ – คือไทยรักไทยชนะแน่ แต่ประเด็นที่เถียงกันอยู่ก็คือว่า ชนะเท่าไหร่ ชนะถล่มทลายเกิน 350 เสียง หรือว่าชนะแบบหวุดหวิดแบบ 250 บวกลบ คุณสำราญเขาเอาทางเกิน 300-350 ประมาณนั้น

สำราญ – ผมเกิน 250 แล้วที่คุณคำนูณพูดมานี่ ถือว่าฟันธงหรือยัง

คำนูณ – ผมไม่ฟันหรอก ผมไม่เคยจัดรายการฟันธง

สำราญ – ก็ลองดูสิ โน้มเอียงไปทางไหนล่ะ

คำนูณ – โน้มเอียงนี่ไทยรักไทยชนะอยู่แล้ว 250 ผมว่าเกิน

สำราญ – ผมก็เห็นด้วยว่าเกิน 250 นี่เห็นตรงกันนะ

คำนูณ– ถ้าถามผมวันนี้นะว่า จะไปถึง 350 หรือไม่ ผมว่าไม่เกิน

สำราญ – ผมก็ว่าไม่เกิน

สโรชา – มันจะเกินไม่ได้หรอกมั้ง 350 นี่

คำนูณ – ก็เกินได้

สโรชา – น้อย ดิฉันว่าเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เอาอย่างนี้ดีกว่า อยู่ระหว่าง 300 -350 หรือเปล่า เกิน 300 ไหม เกิน 250 นี่ แล้วเดี่ยวหลังเลือกตั้งเรามานั่งคุยกันอีกรอบหนึ่ง

สำราญ – คือสถานการณ์มันอาจจะเปลี่ยนไปเรื่อย แต่ถ้านิ่งอยู่ ณ นาทีแบบนี้นะ ผมดูนาทีนี้มันมีโอกาสนะ

สโรชา – มีโอกาสเกิน 300

สำราญ – อาจจะเกินไปซักเสียงหนึ่ง ทำนองนี้ หรือเกินซัก 10 เสียง

คำนูณ – ผมยังเห็นไปในทางที่เรียกว่าเกิน และก็อาจจะไปถึงขั้นแตะ 350 ด้วยซ้ำ ใกล้ๆเลย ถ้าสถานการณ์เป็นอยู่อย่างนี้ เพราะว่า แม้ว่าคนอาจจะไม่นิยมพรรคไทยรักไทย แบบชนิดถล่มทลายเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ว่าคนไม่ค่อยมีทางเลือก เพราะว่าการเสนอตัวของพรรคคู่แข่งถ้าเรามองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นขั้วตรงข้ามนี่ ประชาธิปัตย์ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย คือผมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์นี่เข้ามาต่อสู้ในบริบทของพรรคไทยรักไทย ก็คือไทยรักไทยบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ประชาธิปัตย์บอกว่าของผมรักษาฟรี ไทยรักไทยบอกว่าการศึกษาฟรีเท่านั้นเท่านี้ปี ประชาธิปัตย์บอกว่าเรื่องนี้ผมคิดมาก่อน

สโรชา – 12 ปีแรกฟรีหมด

คำนูณ – ก็คืออันนี้เป็นสิ่งที่ผมเสียดาย คือผมอยากให้ประชาธิปัตย์นั้น เป็นลักษณะของประชาธิปัตย์ปีก่อน 2544 ก่อนจะเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย มีความเป็นคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ มีความเป็นคุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ มีความเป็นตัวแทนของพรรคที่ยึดนโยบายเสรีนิยม ยึดการตลาด ไม่ใช่มาต่อสู้ในบริบทของพรรคที่เอาสิ่งที่เรียกว่าประชานิยมมาผสมผสาน เอื้ออาทรต่างๆ เมื่อประชาธิปัตย์เข้ามาต่อสู้ในบริบทนี้ มหาชนที่เกิดใหม่ก็ต่อสู้ในบริบทใกล้เคียงกัน ก็แสดงว่าทั้งประชาธิปัตย์และมหาชน ประเมินแล้วว่า ประชาชนในชนบทที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เขาจะลงคะแนนเลือกตั้ง ว่าถึงอย่างไรเขาก็พอใจในนโยบายทำนองนี้ ก็เลยต้องลงมาสู้กัน เพียงแต่ว่ามีวิธีพูดที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ว่าถ้าลงมาสู้แบบนี้ ผมเห็นว่าในเชิงนโยบายมันแพ้ตั้งแต่ต้น ก็คือสู้เจ้าตำรับเขาไม่ได้ แล้วเจ้าตำรับเขาถนัดเรื่องพวกนี้ เขาก็สามารถจะพลิกแพลง มีวิธีคิด มีโครงการอะไรได้ตลอดเลย ใหม่ๆไปได้สารพัด แค่เขาพูดว่า 4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง แต่ว่าประชาธิปัตย์ใช้ 4 นาทีลอก ผมว่ามันเจ็บปวดนะครับ อีกประการหนึ่งก็คือ ประชาธิปัตย์ถ้าเป็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นหัวหน้าพรรคไปเลย ดีไม่ดีนั่นเรื่องหนึ่ง แต่มันเป็นจุดขายที่มีความแตกต่างอยู่นะครับ แต่พอเป็นคุณบัญญัตินี่มันครึ่งๆกลางๆ ก้ำกึ่งๆ ในกรุงเทพฯนี่คุณอภิสิทธิ์อาจจะไปดึงเอาคนที่เป็นผู้ลากมากดีเข้ามาสมัคร แต่พอไปประกอบกับหัวหน้าพรรคที่เป็นมันก็เหมือนเป็นคุณชวน 2 น่ะนะ

สโรชา – คือไม่เห็นความแตกต่างระหว่างยุคคุณชวนกับคุณบัญญัติ ถูกไหมคะ

คำนูณ – มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกว่า ไทยรักไทยก็เหิมเกริมเกินไป ไม่อยากจะให้มีอำนาจมากนัก แต่หันไปพอจะไปกาให้ประชาธิปัตย์แล้ว อันนี้ไม่ไหวน่ะ อันนี้จากจุดนี้ที่ผมมองว่า ไทยรักไทยน่าจะยังชนะมากอยู่ แต่จะมากเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ก็พูดกันให้สนุกน่ะได้ แต่จริงๆแล้วเราไม่รู้ แต่ว่าถ้ามันเกิดมีเหตุการณ์อะไรที่เหนือความคาดหมายขึ้นมา สถานการณ์มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไป สิ่งทีเรียกว่ามันจะเหนือความหมายอย่าคิดว่าไม่มี มันก็มีขึ้นมา สึนามินี่มันก็เหนือความคาดหมาย เหตุการณ์ภาคใต้เมื่อ 4 มกราคมปีที่แล้ว มันก็เหนือความคาดหมาย 28 เมษายนก็เหนือความคาดหมาย 25 ตุลาคมก็เหนือความคาดหมาย อันนี้เรายังไม่แน่ว่ามันจะมีอะไรเหนือความคาดหมายอีกหรือเปล่า

สโรชา – คือเราคุยกัน ณ วันนี้ ว่าสถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้ว เรามีความรู้สึกว่า น่าจะมาเกิน 300 ถ้าให้เลือกตั้งวันนี้

คำนูณ – แต่ประเด็นมันไม่น่าสนใจเท่ากับว่าหลังเลือกตั้ง

สำราญ – คือถ้าถึงแม้เหลืออีกเดือนนึงนะ ถึงแม้ว่าเลือกตั้งวันที่ 6 ก็เถอะ แต่ถ้าสถานการณ์ยังราบเรียบไม่มีเหตุที่คุณคำนูณว่า เหตุที่มันแรงมาก เหตุที่คาดไม่ถึงน่ะ ไทยรักไทยก็ยังลอยแบบตัวเลขยังชนะค่อนข้างมากแบบนี้

คำนูณ– คือพูดไปแล้วก็คือ มันก็เหมือนกับที่คุณสนธิพูดในเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางช่อง 9 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ว่าประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่ว่า ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเท่าไหร่ กี่เสียง มากน้อยเท่าไหร่ นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง แต่ว่าประเด็นสำคัญคือ เขาชนะเท่าไหร่เขาก็จัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้วล่ะ ท่านนายกฯทักษิณก็เป็นนายกฯต่ออยู่แล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจมันอยู่ที่ว่า หลังจากนั้นมากกว่า จะมีอะไรพลิกผันหรือเปล่า ได้มากได้น้อยแตกต่างกันอย่างไร แล้วจะตัด ครม.แบบไหน ครม.แบบนั้นจะมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

สโรชา– มันจะได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน

สำราญ – มันก็ขึ้นอยู่ว่า ได้รับเสียงมากจนท่วมท้นก็จัดง่าย ดูเหมือนยากนะแต่ว่าง่าย แต่ถ้าดูต้องไปอาศัยจมูกชาวบ้านด้วยนะ คุณบรรหารต้องมานะ ถ้าได้เสียงปริ่มๆ 250 หน่อยๆอย่างนี้นะ 270 นี่ยุ่งแล้ว ถึงแม้จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ว่า 270 เสียงมันก็ไปยืมพรรคชาติไทยมาร่วม แล้วในพรรคในมุ้งต่างๆนะ ที่เราเคยพูดกันมาบ้างแล้ว มุ้งโน้นมุ้งนี้นะ มันก็จะมีการเฮี้ยวกัน ก่อตัวสึนามิขึ้นมาก็ได้

สโรชา – พูดถึงมุ้งต่างๆ เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ดิฉันถามคุณสนธิเกี่ยวกับเรื่องชื่อของวังต่างๆ ทีนี้ท่านตอบมาว่าวังพญานาค กับวังพญาเย็น แต่ว่าวังน้ำเย็นกับวังบัวบานตกลงชื่อมาจากไหนคะ

คำนูณ – วังน้ำเย็นก็อยู่แถวสระแก้ว ปราจีนบุรี มันก็เป็นชื่อพื้นที่ ของคุณเสนาะ เทียนทอง

สำราญ – ทีนี้พอสระบุรีเลี้ยวขวานี่ เทือกเขาพญาเย็น นั่นก็คือดงพญาเย็น

สโรชา – จริงๆแล้วก็คือทุกๆวังจะมีภูมิลำเนาอยู่ตรงนั้น

คำนูณ – คือสื่อมวลชนเขาก็จะตั้งไง คืออย่างวังพญานาค ความจริงมันไม่มีหรอก แต่ว่าคุณพินิจ จารุสมบัติฐานอยู่แถวหนองคาย ริมน้ำโขง

สำราญ – คุณพินิจเคยเป็น ส.ส. หนองคาย

คำนูณ– ริมน้ำโขงมันก็มีงานบั้งไฟพญานาคอะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นประเพณีเด่นของที่นั่น เขาก็เลยตั้งว่าวังพญานาค ทีนี้เมือตั้งวังพญานาคแล้ว เอาทีแรกวังน้ำเย็นก่อน ทีนี้กลุ่มที่จะขึ้นมาทานวังน้ำเย็นนี่ เป็นภาคเหนือของคุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์นี่ สื่อมวลชนเขาก็เลยตั้งว่าวังบัวบาน อยู่ที่เชียงใหม่ คราวนี้เมื่อวังบัวบาน มีวังพญานาค แล้วคุณสุวัจน์เข้ามา จะเป็นวังคุณสุวัจน์มันก็ไม่เพราะ ก็เลยไปเลือกเอาชื่อพื้นที่แถวนั้นมา ก็เลยเรียกว่าวังพญาเย็น ทีนี้พอวังบัวบานเขาจะแยกเป็นสอง

สโรชา – ค่ะ ดังแล้วแยกวง

คำนูณ – เขาก็เลยคิดขึ้นมาว่า อย่างคุณสมศักดิ์นี่ สุโขทัยนี่แม่น้ำยมไหลผ่าน และที่เชียงใหม่นี่แม่น้ำปิง ก็เลยเป็นวังน้ำยม วังน้ำปิงอะไรอย่างนี้ แต่ทำไมไม่มีวังทรายทอง เพราะว่ามีคุณพจมานอยู่ นางเอกบ้านทรายทอง

สโรชา– แต่วันนั้นคุณสนธิวาดภาพได้อย่างจั๋งหนับเลย ว่าใครอยู่ในบ้าน ใครเกาะรั้วบ้าน ก็ได้ฟังไปแล้ว แต่ว่าพูดถึงเรื่องนี้ถ้าไม่พูดถึง กทม.ไม่ได้ กทม.ตกลงยังไง 37 เขตนี่ใครเป็นของใคร ประชาธิปัตย์ยังคงก้าวอยู่ไหม หรือจะเพิ่มขึ้น น้อยลง หรือว่ายังไง

สำราญ– ผมว่าอาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้นะ เรามองอุณหภูมิวันนี้นะ แต่ผมยังมั่นใจว่าไทยรักไทยชนะ

สโรชา – เป็นส่วนใหญ่ของ กทม.

สำราญ – ดูตอนนี้นะ แต่ว่าเขาต้องสูญเสียไปหลายพื้นที่

สโรชา – แสดงว่าก็จะไม่ได้เท่าเดิมแล้ว

สำราญ – คืออารมณ์คนกรุงก็ไม่ชอบไทยรักไทย

สโรชา – จริงๆอารมณ์คนกรุงต้องไปดูเอาวันที่ 4-5 มกราคมเลยนะ

สำราญ – ต้องดูกันนาทีสุดท้ายแหละ สัปดาห์สุดท้าย

สโรชา– คือบางท่านถ้าดูจากผู้ว่าฯกทม.เป็นตัววัด คือไปเลือกเอาในคูหาเลยนะ เอาล่ะ บางคนจะหลับตาจิ้ม หรือว่าเอาล่ะไม่ชอบไทยรักไทย คือไปตัดสินใจกันในนั้นเลย

สำราญ – ใช่เราก็คิดอย่างนั้น โหรก็คิดอย่างนั้น โหรบอกคนจะเข้าคูหาด้วยความลังเลใจ ในวันที่ 6 นะ วัดจากความรู้สึกเราแหละ

สโรชา – คือความรู้สึกเรากับคนหลายๆคนที่เราพูดคุยด้วย ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอยู่ดีในที่สุด ณ เวลานี้

คำนูณ – คือโดยพื้นฐานนี่ ผมเป็นคนฟันธงไม่ค่อยเก่ง และก็เป็นคนที่เรียกว่า ทำข่าวมานี่ประเภทแบบลงละเอียดเรื่องการเลือกตั้งเป็นรายเขต รายคนอะไรอย่างนี้ จะไม่ค่อยมีความชำนาญพอ

สโรชา – คือจะดูภาพใหญ่ใช่ไหมคะ

คำนูณ– ถ้าให้มองภาพรวมใหญ่ จะสนใจไปทางนั้นมากกว่า แต่ว่าในการเลือกตั้งนี้ มันต้องดูละเอียดลงไป แต่ละเขต แต่ละคน ใครแข่งกับใคร โดยเฉพาะอย่างต่างจังหวัดนี่สนุกมากอะไรอย่างนี้ แต่เท่าที่ดูในกรุงเทพฯนี่ ผมมีหลักอยู่นิดนึงว่า โอกาสที่จะเกิดแลนด์สไลด์แบบใครกวาดหมด เหลือไว้ให้อีกพรรคหนึ่งไม่ถึง 5 เขตนี่นะ ผมคิดว่ายากพอสมควร จะต้องกระแสต้องแรงจริงๆ ผมมีหลักอยู่แต่เพียงว่า เพราะว่ามันเป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว เป็นเขตเล็กทำให้คะแนนที่จะชนะ 30000 ก็ได้เป็น ส.ส. แล้ว แล้วชนะกันก็มักจะชนะกันหวุดหวิดแหละ บางเขตชนะกันหลัก 10 ด้วยซ้ำไป หลักร้อยนี่ถือว่าเยอะแล้ว หลักพันนี่ถือว่าขาดเลย เพราะฉะนั้นเขตเล็กนี่มันมีคะแนนความนิยมของผู้สมัครในเชิงส่วนตัวเข้ามาปะปนด้วยเยอะ แล้วคือถ้ากระแสเกลียดพรรคใดพรรคหนึ่งมันไม่แรงจริงๆ โอกาสที่จะแลนด์สไลด์มันจะยาก ผมยังเชื่ออย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นมันก็คงจะคละเคล้ากันไป

สำราญ – มันยังไม่มีกระแสถึงขั้นที่ว่าแลนด์สไลด์อย่างที่คุณคำนูณว่า คือตอนนี้ชนชั้นกลางนะ เราดูแค่ชนชั้นกลางก็พอจะรู้แล้ว คือถึงแม้ว่ามีคำถามเยอะกับพรรคไทยรักไทย กับท่านนายกฯอะไรก็ตาม นี่พูดกันตรงๆนะ แต่ว่ามันยังก้ำกึ่งอย่างคุณสโรชาว่า คือ ลังเล

คำนูณ – คู่แข่งมันไม่เด่นไง

สำราญ – ยังลังเล แล้วเมื่อคำนึงด้วยประการทั้งปวง ก็ยกให้อีกทีน่ะ อะไรอย่างนี้นะ ในขณะที่อีกซีกหนึ่ง ประชาธิปัตย์ก็ดี มหาชนก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาธิปัตย์ลึกๆพยายามชู ขอ 200+1 อภิปรายนายกฯหน่อย ต้อง 200 เสียงอัพขึ้นไป

คำนูณ – คือเราจะไปเอาเหตุการณ์ในอดีตมาวัดไม่ได้

สำราญ – เขาก็พยายามชูตรงนี้ ในเรื่องของการตรวจสอบถ่วงดุลนี่ แต่คนก็ผมว่ายังไม่เท่าไหร่ ไทยรักไทยเขาก็ตีตกในแผนของฝ่ายตรงข้าม พรรคตรงข้ามนะ เดี๋ยวถ้าทุกคนคิดอย่างนี้หมด เดี๋ยวไปเลือกทางเขาเข้ามาเป็นรัฐบาลนะ พรรคการเมืองเขาก็รู้ทันกัน เขาก็ดักหน้าดักหลังหมดในการหาเสียงในภาคสนามน่ะ ดังนั้นยุทธศาสตร์ 200+1 นี่ มันก็ไม่มีผลเท่าไหร่

คำนูณ – คือคนกรุงเทพฯ บางทีแบบจะก่อให้เกิดการเลือกชนิดแลนด์สไลด์ อย่างจะไปนับเอาช่วง 6 ตุลาคม 2519 มาไม่ได้ ช่วงนั้นบ้านเมืองมันแบ่งเป็นซ้ายกับขวา แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกมองว่า ให้โอกาสฝ่ายซ้ายเข้ามาทำงานในช่วงนั้น ที่เหลือคุณถนัด คอมันตร์คนเดียวนะครับ แต่ว่า มันไม่ได้ แต่ว่าในช่วงที่เกิดกระแสใหญ่นี่มันเป็นการเลือกตั้งแบบชนิดรวมเขตไงครับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มันก็เลยทำให้เกิดกระแสประเภท ตอนสมัยคุณจำลองมานะ สมัยคุณจำลองครั้งที่สองกับคุณพิจิตรอะไรอย่างนี้ มีทั้งกระแสนิยมคุณจำลองครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งกระแสกลัวคุณจำลองกลับมา คนจะโทรศัพท์ไปบอกกลับมาด่วน เดี่ยวมันมาอีก อะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้ามันไม่เกิดกระแสอย่างนั้น โอกาสที่จะชนะกันขาดไปเลยยาก

สำราญ – ตอนนี้ยังไม่มี แล้วโดยดูเหมือนว่า อีกเดือนนึงนะ มันไม่น่าจะทัน

สโรชา – ก็ยังดูไม่ออก

สำราญ– คืออย่างลืมว่าครึ่งเดือนจากนี้ไปนะ มันยังอยู่ที่อันดามันนะ คุณสโรชา นั่นแหละซ่อม 4 เดือนซ่อม ซ่อมอันดามัน

สโรชา– 4 เดือนซ่อมทันเหรอ

สำราญ – หมายถึงความสนใจด้านหนึ่งของรัฐบาล ท่ามกลางวิกฤติของประเทศ มันก็กลายเป็นคุณในเชิงกลทางการเมือง ได้เปรียบ เพราะเขาได้ทำงานเต็มที่ ในนามชองรัฐบาลนะ แล้วเราไปว่าเขาไม่ได้ นาทีแบบนี้นะ คนที่มาว่าก็ถือว่าจิตใจคับแคบอย่างเดียว

คำนูณ – คือกระแสที่มีเหตุใหญ่ๆเกิดขึ้น แล้วเกิดการรัฐบาลเป็นแกนนำในการรวบรวมพลังสามัคคีของประชาชนนี่ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ กระแสใหญ่เรื่องการพับนกเพื่อสันติภาพอย่างไรอย่างนี้ ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ก็โดนด่า

สโรชา – ในเรื่องแบบนี้นี่สวนกระแสไม่ได้เลย

คำนูณ – รัฐบาลก็ลงไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติอะไรอย่างนี้ ใครบอกรัฐบาลหาเสียงนี่โดนด่าเปิดเปิงไปหมด

สำราญ – เพราะว่าที่ 6 มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมานะ ตอนนั้นคือคน ส.ส.ต้องระมัดระวังแล้ว คือแทบไม่ได้เลยว่างั้นเถอะ

สโรชา – ก็นี่ไง กกต.เขาบอกว่า ระวัง โดยเฉพาะเรื่องการบริจาคของช่วยเหลือไปภาคใต้ ให้ระวังให้ดี

สำราญ – ก็หมายความว่าจากนี้ไป เอาชัดๆเลยหลังวันที่ 6 เลยนะ พอพระราชกฤษฎีกาประกาศนี่ ก็ต่อไปต้องไปในนามรัฐบาลหมด คุณเนวินไปตรวจในนามรัฐมนตรีเกษตร ว่าไม่ได้ คือไม่ทำก็ไม่ได้

สโรชา – ไม่ทำก็ถือว่าละเลยหน้าที่ใช่ไหมคะ ประชาชนก็ว่าอยู่ดี

สำราญ – แล้วจริงๆปัญหามันก็สาหัสจริงๆ

สโรชา – คือจริงๆตอนนี้ดิฉันเชื่อว่า หลายท่านเองก็ไม่ได้นึกไปถึงประเด็นนั้นด้วยซ้ำไป

คำนูณ – คือพรรคประชาธิปัตย์นี่ตอนนี้วางตัวลำบาก อย่างคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์นี่ เจ้าของพื้นที่ที่พังงา พอแกออกมาพูดในทำนองตอนนั้นนะ ตอนเกิดเหตุคล้ายๆติติงการทำงานของรัฐบาล ผมว่าคนไม่ค่อยพอใจแกหรอก คล้ายๆว่าไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเล่นการเมือง

สโรชา – คือมันเหมือนแบ่งกันชัดๆระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน มันไม่ควรจะมีการแบ่งแยก คือมันถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน

สำราญ – คือต่อให้สมมุตินะ สมมุติว่าเรื่องของสึนามินี่ กรมอุตุฯบกพร่อง กระทรวงไอซีทีบกพร่องนะในการเลือกภัย คุณก็ยังมานั่งแฉโพยไม่ได้นะ บกพร่องยังไง มานั่งโซ้ยกันหน้าจอทีวีไม่ได้นะ

สโรชา – อันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณหลายเดือนข้างหน้า หลังจากที่ตรงนี้ซาแล้ว โอเคยอดเยอะ ผู้เสียชีวิตอะไรอย่างนี้ ไหนมาว่ากันซิ เกิดอะไรขึ้น

สำราญ – แต่นาทีนี้ จะช่วยชีวิตยังไง ยุติกลิ่นที่เหม็นคลุ้งอยู่ที่ริมทะเลได้อย่างไรมากกว่า

สโรชา – เดี๋ยวเราจะพักกันซักครู่หนึ่ง ไปชมข่าวต้นชั่วโมง กลับมาเดี๋ยวมาคุยกันต่อค่ะ


******************************************************


สโรชา – กลับมาช่วงสุดท้ายนะคะ ของก่อนจะถึงวันจันทร์ค่ะ คุยกันเรื่องภาคใต้มาแล้ว เรื่องการเมืองก็คุยไปแล้ว คุยเรื่องของสึนามินิดนึงจะดีไหม พูดถึงการรายงานข่าวเหตุการณ์ครั้งนี้ในบ้านเรา

คำนูณ – ด่าทีวี

สโรชา – คือพูดถึงก็ต้องยอมรับ หลายๆท่านคงจะเห็นด้วยในบางประการว่า ทีวีบ้านเราบางช่องนี่ ในขณะที่ช่องอื่นเขามีรายการพิเศษรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้เรา มีทีวีบางช่องก็ยังยืนยันที่จะเป็นบันเทิง

คำนูณ – เขาแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกก็คือเกิดแผ่นดินไหวใหม่ๆ ที่มีโอกาสจะเตือนภัยได้ในระยะเวลาก่อน 10 นาฬิกา ความจริงคลื่นมันถึงฝั่งภูเก็ตประมาณเกือบๆ 10 นาฬิกานะ

สโรชา – เกือบ 2 ชั่วโมงเลยค่ะ

คำนูณ – เพราะฉะนั้นนี่ ณ วินาทีที่เกิดแผ่นดินไหวเวลาประมาณ 8 นาฬิกา ซึ่งแต่ในกรุงเทพฯก็สัมผัสได้นี่ แล้วข่าวก็บอกแล้วว่าเกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่ในทะเลนอกเกาะสุมาตรานี่ มันน่าจะมีผู้รู้ที่บอกได้ว่า ควรจะระมัดระวังคลื่นยักษ์ แล้วมันน่าที่จะใช้สื่อโทรทัศน์ให้เป็นประโยชน์ในการเตือนภัย จริงอยู่มันห้ามคลื่นไม่ได้ แต่มันสามารถที่จะทำให้คนไม่ลงทะเล หรือขึ้นจากชายฝั่งไปอยู่ที่สูงได้

สโรชา – คือลดจำนวนยอดผู้เสียชีวิต

คำนูณ – เพราะคราวนี้มันไม่ใช่พายุ เราก็เห็นจากภาพแล้วล่ะ มันเป็นคลื่นที่มาโครม ถ้าเผื่อคุณไม่อยู่ตรงชายหาด เดินลึกเข้ามา หรือว่าขึ้นที่สูงไป หรือบนตึกที่แข็งแรงนะ ไม่ใช่แบบว่าเรือนไม้หรือบังกะโลอะไรนี่ โอกาสรอดชีวิตนี่มันก็สูง อันนี้สื่อทุกสื่อเสมอกัน ก็คือไม่มีใครจัดรายการพิเศษ ไม่มีตัววิ่ง แต่หลังจากนั้นช่วงบ่ายๆเย็นๆ ก็จะมีสื่อบางสื่อที่เริ่มปรับตัวตั้งขบวนได้ นี่เราพูดถึงฟรีทีวีก่อนแล้วกัน ไม่เอา 11 News 1 เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็คะแนนนี่จะไปอยู่ที่ช่อง 11 , ไอทีวี และช่อง 9 แล้วระยะหลังไอทีวีจะโดดเด่นมาก

สโรชา – คือในช่วงเย็นวันนั้น วันที่ 26 ไล่ไปถึงเช้าวันจันทร์ และก็ค่ำวันจันทร์ แล้วก็ยืนยันมาถึงวันอังคาร ก็มีบางช่องอย่างเช่นไอทีวี อย่างเช่นช่อง 9 นะคะ ในบางช่วงเวลาเขาก็ยังมีรายงานพิเศษอยู่ แม้กระทั่งช่อง 3 ที่ดูเหมือนว่า โดยส่วนมากเขาจะไม่ค่อยเน้นเรื่องข่าวซักเท่าไหร่นะ ก็ยังมีรายการพิเศษในบางช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นช่วงข่าวของเขาที่จะรายงานเรื่องนี้ แล้วก็จะมีการรายงานอย่างฉับไว คือพูดง่ายว่าสดตรงนั้นเลย ไม่ต้องเตรียมกันล่วงหน้า แต่ก็ยังมีบางช่องที่ยืนยันที่จะไม่ละ ฉันจะขายบันเทิงอย่างเดียว

คำนูณ – ช่อง 7 กับช่อง 5 ถูกชยันโตมาก

สโรชา – ช่อง 5 นี่ยังมีบ้าง

คำนูณ – ช่อง 7 นี่แชมป์

สำราญ – ช่อง 7 นี่หนักสุด แชมป์ถูกด่า

คำนูณ – โดยเฉพาะเราจะเห็นอารมณ์อย่างนี้ในเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น pantip โดยเฉพาะเว็บผู้จัดการ เว็บนี่ล่มเลยนะครับ คือคนเข้ามาถล่มทลายมาก สูงสุดนี่ถึง 8 หมื่น ปกติต่อวันเขาแค่ 5-6 หมื่น เว็บข่าวจนกระทั่งเขาต้องเพิ่มเซิร์ฟเวอร์ แสดงว่าคนนี่กระหายข่าวสาร ใคร่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความคืบหน้าเป็นอย่างไร ข่าวที่เขียนเรื่องนี้แต่ละข่าวนี่คนเข้ามามหาศาล และก็พอมีคนเสนอบทความเรื่องทีวีไป ก็ผู้คนจะเข้ามาเป็นประวัติการณ์ แล้วก็ 80% นี่ด่าช่อง 7

สโรชา – คือไปโดนใจว่า ทำไมเกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว ถึงไม่เห็นความสำคัญ ไม่ให้ความสำคัญ ยังคงยึดเรตติ้งอยู่ เชื่อว่าคนอยากจะดูละคร ดูเกมโชว์เสียมาก โดยที่ไม่สนใจว่าใครจะเป็นจะตายอยู่ที่ไหนก็ไม่สนแล้ว

สำราญ – แต่เสียดายที่สุด คือตอน 8 โมง – 10 โมงนี่

คำนูณ – มันเซฟชีวิตคนได้ ผมว่าเป็นร้อยคนนะ

สำราญ – พูดไปแล้วมันก็เอาคืนไม่ได้นะ แต่ว่าถือว่าเป็นบทเรียนไว้ดีที่สุด

คำนูณ – คือเราทำรายการอยู่ เรารู้น่ะใช่ไหมคุณสำราญ ว่ามันมีคนที่รู้ แล้วคนที่รู้เขาก็บอกว่า เขาก็ได้พยายามที่จะขอร้องแล้ว ให้ทางโทรทัศน์นี่ช่วยบอกกล่าว

สำราญ– คือผู้ใหญ่บางท่านที่เราสัมภาษณ์นี่นะ เอ่ยนามท่านคงไม่ดี ท่านก็บอกว่าได้ไปขอร้องทีวีบางช่องประมาณซัก 2 ช่อง ขอเป็นตัววิ่งนะ เกิดแผ่นดินไหวที่ตรงนี้ตรงโน้น ให้อย่างนั้นอย่างนี้ ตอนประมาณซัก 9 โมงนะ

คำนูณ – 9โมงครึ่ง บอกว่าให้ระวังคลื่นยักษ์ ให้ระวังคลื่นขนาดใหญ่ พูดกันตรงๆ

สำราญ – ไปขอตัววิ่งไม่ได้ แล้วสุดท้ายท่านก็คงถูกตำหนิเหมือนกัน นายกฯเขาสั่งให้ออกไปชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจหน่อย ท่านก็ต้องเดินสายชี้แจง พูดแค่นี้ก็อาจจะเดาถูก

คำนูณ – คือเหลือแต่ชื่อที่ไม่บอก ทุกคนเขารู้หมดแล้ว

สโรชา – มันน่าเสียดายใช่ แต่ว่าขณะเดียวกันเราก็ต้องเห็นใจ คือจริงๆจะไปโทษคือกรมอุตุฯจะเป็นใครก็แล้วแต่เสียทีเดียวก็คงไม่เชิงมั้ง

คำนูณ – มันก็ต้องโทษ กรมอุตุฯนี่หนัก

สำราญ – โดนหนักเหมือนกัน กรมอุตุฯนี่

สโรชา– แต่คือเราไม่เชี่ยวชาญทางด้านนี้จริงๆนะ ทางด้านแผ่นดินไหว เรื่องคลื่นนี่ คือมันจะพูดได้อย่างหนึ่งว่า ไม่เคยมีการเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นคงไม่มีการคาดการณ์

สำราญ – ผมว่าเราไม่ซีเรียสกับมันมากกว่า

คำนูณ – ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ คือสังคมเองก็บางทีนอกจากจะด่าทีวีแล้วก็ต้องด่าตัวเราเองด้วย พวกเรา 3 คนด้วย เราก็ไม่ได้คิดว่า ก่อนหน้านี้ชีวิตเรารู้จักสึนามิมาก่อน เราก็ไม่รู้

สโรชา – คือมันก็พูดลำบากนะ มันหลายฝ่าย ก็คงต้องปฏิรูปกระบวนการทั้งหมดเลยมั้ง

คำนูณ – แต่คนที่เป็นข้าราชการ คนที่เป็นผู้บริหารอะไรอย่างนี้ เมื่ออยู่ในจุดใดแล้วของพรรค์นี้เขาก็เรียกว่าความรับผิดชอบน่ะ เมื่อมันเกิดเหตุขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะเป็นเหตุที่เรียดว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือว่าไม่ใช่ความผิดของเขาโดยตรง แต่ความรับผิดชอบมันต้องมี แล้วผมคิดว่าเราในฐานะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน การวิพากษ์วิจารณ์ก็จำเป็นต้องมี เพราะว่ามันก็จะได้เป็นบทเรียนและหาทางแก้ไขในโอกาสต่อไป คือไม่ใช่ว่าใครเตือนอะไรถึงสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วสังคมก็ไม่เชื่อคนเหล่านั้นเลย อันที่จริงรายการเรา หรือว่าในเครือข่ายของไทยเดย์ดอทคอม คุณสนธินี่จะเตือนสิ่งแปลกๆใหม่ๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาบ่อยนะ แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะหัวเราะนะ

สำราญ – เรื่องภัยธรรมชาตินี่มันมีอีกเยอะนะ มีอีกหลายประเด็น ผมว่าก็ต้องได้เวลาที่จะไปลองกันดูนะ ที่เขาเตือนต่อไปจะเกิดอย่างนั้น น้ำจะท่วมมหาสมุทร แผนที่ก็จะเปลี่ยนไป มันก็ต้องมาศึกษาหาองค์ความรู้เอาไว้

คำนูณ – หรือแม้กระทั่งเรื่องไข้หวัดนี่นะ ที่องค์การอนามัยโลกเขาเตือน ที่คนจะตายเป็น 10 ล้านคนทั่วโลกอะไรนี่ คนส่วนใหญ่จะหัวเราะนะ ไม่จริงหรอก เพ้อเจ้อหรือเปล่า

สโรชา – นึกไม่ถึงไง คนเรามักจะคิดว่า ยังไงก็คงไม่เป็นตัวฉันหรือว่าคนรอบๆตัวฉัน

สำราญ– แม้กระทั่งตัวเรา เมื่อก่อนถ้าใครมาเตือนอย่างนี้ เผลอๆหมอนี่สติเสียหรือเปล่าใช่ไหม พอเราโตขึ้น แก่ขึ้นนะ ต้องรอให้แก่เสียก่อนถึงจะให้ความสำคัญเรื่องแบบนี้

สโรชา – ก็ส่งแรงใจไปแล้วกันนะคะ สำหรับผู้ที่ประสบภัย และก็ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตทั้งหมด จริงๆแล้วรายการเรายังไม่ได้ร่วมไว้อาลัย

สำราญ – ก็ในนามสถานีเขาไว้อาลัยไปแล้ว จัดรายการแต่งชุดดำกันมาหลายวันแล้ว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ด้วยใจจริงนะ

สโรชา – เดี๋ยวคงต้องไปเรื่องต่างประเทศกันบ้าง

คำนูณ – เอาเรื่องคลื่นนี่แหละ แต่ว่าในที่ต่างประเทศ ไม่น่าเชื่อนะ มันไม่ใช่แค่รอบมหาสมุทรอินเดียนะ มันข้ามฝั่งไปโซมาเลียตายตั้งเป็นร้อย

สโรชา – ไม่น่าเชื่อจริงๆ คือมันเป็นเรื่องที่เราเห็นในหนัง เราดูแล้วก็คือ ผู้ผลิตนี่เขาคิดได้เนอะ ว่าทำไมถึงได้สรรหาเรื่องราวต่างๆ ที่จะมาเกิดขึ้นในหนัง ภาพยนตร์อย่างนี้ แต่พอมาเจอเรื่องจริง ซึ่งนอกเหนือจะโดนไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไล่ไปถึงอินเดีย ศรีลังกา คือรอบมหาสมุทรอินเดียเลย

คำนูณ – ทีแรกเขาบอกว่าไม่น่าจะไปถึง เพราะว่ามันน่าจะไปติดแหลมกู๊ดโฮป ปรากฏว่ามันไปถึง

สโรชา – ซึ่งแปลกมาก แต่ว่าของเรายังดี เพราะอ่าวไทยเราติดทั้งภาคใต้ของไทย ทั้งมาเลเซีย ทั้งอินโดนีเซียกั้นอยู่รอบๆเลย เพราะฉะนั้นอ่าวไทยเขาบอกว่าคงจะไม่กระทบ และคงจะไม่มีวันเกิด คือไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แต่ที่แน่ๆคือต่างประเทศนี่เขาก็รายงานกันตลอดเวลาเลยนะคะ CNN , BBC เขาก็เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คือรายงานมาก่อนบ้านเราเสียอีก

คำนูณ – อันนี้เป็นเรื่องที่คนหลายคน เขาเจ็บปวดกับทีวีไทย เขาบอกว่าวันนั้นในช่วงเช้าถึงบ่ายวันนั้น เขาต้องติดตามสถานการณ์จาก CNN หรือ BBC ที่พูดถึงบ้านเรา

สโรชา – ก็เลยเป็นภาพสะท้อนให้เห็นละกัน ว่าคือยังไง คือดิฉันจะได้ยินเสียงบ่นบ่อยมาก เรื่องราวของความรุนแรงที่ขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ภาพโป๊ที่ไม่เหมาะสม ที่ขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือว่าอยู่ในเว็บไซต์ หรือในโทรทัศน์ ภาพนางเอก-พระเอกเข้าฉากเลิฟซีน อะไรประมาณนี้ ซึ่งดิฉันก็จะตอบอยู่เสมอในฐานะสื่อว่า คุณไม่ชอบ คุณก็อย่าบริโภค ในเมื่อหลายๆคนไม่ชอบ หยุดบริโภค ผู้ผลิตเขาก็เลิกเอง หนังสือพิมพ์ฉบับไหนขึ้นปกดาวโป๊อยู่เรื่อยๆ หรือว่าบางครั้งเกินเหตุเกินไป ไม่จำเป็น ก็ไปเลิกซื้อเสีย คือในที่สุดมันก็คงจะเลิกกันไปเอง คราวนี้เนี่ย มันก็คงจะสะท้อนมาถึงเหตุการณ์นี้เหมือนกันว่า ถ้าคุณไม่ต้องการบันเทิง คุณไม่ต้องการละครน้ำเน่า คุณไม่ต้องการเกมโชว์ในวาระที่ไม่สมควรจะเป็น ก็ควรจะส่งสัญญาณไปถึงผู้ผลิต ดิฉันว่าเขาคงจะไม่กระไรเสีย กับการที่เขาคิดว่า เขาตอบสนองความต้องการของประชาชนจำนวนหนึ่ง

สำราญ – ธรรมชาติผู้คนมักจะแพ้อำนาจใฝ่ต่ำนะ

คำนูณ – ธรรมชาติของน้ำจะไหลลงต่ำ เพราะฉะนั้นนี่ทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้ คือถ้าเอาเสียงข้างมากเข้าว่านะ ข่าวที่คนชอบดู กับข่าวที่คนควรดู ทีวีเขาก็เลือกข่าวที่คนชอบดู เหมือนหนังไทยน่ะ เราไปถามผู้สร้างหนังไทยเขาก็บอกว่า ก็คนดูชอบดูหนังผี

สำราญ – คือสุดท้ายผมดู ผมเข้าใจปรัชญาเสรีที่คุณสโรชาว่ามานะ คล้ายๆประชาชนเป็นคนกำหนด ผู้บริโภคเป็นคนกำหนดอย่างนี้นะ แต่ผมว่าในหลายเรื่องนี่ เรื่องในเชิงของศีลธรรมจรรยา คุณธรรมนี่ รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง

สโรชา – ถ้าเผื่อว่าเขาไปแทรกแซงก็ไปว่าเขาอีก

คำนูณ – เรื่องดีๆรัฐบาลไม่เคยแทรกไง มักจะไปแทรกในเรื่องการเมือง ขอประทานโทษไม่ใช่รัฐบาลนี่นะ ไม่ใช่รัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว ทุกรัฐบาลนั่นแหละ แต่พูดเรื่องการเมืองคมๆนี่โดนแล้ว

สำราญ – คือลองไปแทรกแซงให้จริงจังสินะ เช่นต่อไปนี้ทีวีต้องเป็นอย่างนี้นะ แล้วต้องเฮี้ยบกับมัน พวกนี้ก็กลัวรัฐบาลอยู่แล้ว เชื่อเถอะว่าได้ใจประชาชน

คำนูณ – ก็มีแล้วไง มติครม.ตั้งแต่ปี 2546 น่ะ

สำราญ – คำว่าแทรกแซงนี่ต้องไปเอาจริงเอาจังกับมันด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่ามีมติ อันนี้เพียงแต่ย้อนมติที่คุณสโรชาว่ามา คือมันเกิดได้จริงก็ดี

สโรชา – ตราบใดที่สังคมในคนหมู่มาก นิยมที่จะบริโภคสิ่งเหล่านั้นอยู่ มันก็ช่วยไม่ได้กับการที่จะไปโทษใคร ก็คุณต้องการ คนหมู่มากต้องการ ผู้ผลิตเขาก็ต้องเอาใจมันเป็นธรรมชาติ

สำราญ – สังคมเดี๋ยวนี้มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ หนังสือโป๊ วีซีดีโป๊ถึงขายดี

สโรชา – ส่วนตัวแล้วไม่กระไรกับการที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซง แต่คิดว่าคงมีคนกลุ่มใหญ่ที่คิดว่า มันเรื่องอะไรของคุณ ฉันจะบริโภคของฉันแบบนี้ แล้วจะตอบยังไงต่อไป ก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดไป

สำราญ – รัฐบาลตัดสินใจทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น มีทั้งคนด่าและคนชม ทีนี้คุณอยากให้เขาด้าเขาชมแบบไหน ถูกไหมครับ

สโรชา – ไปต่างประเทศซักนิดนึงนะคะ ก่อนที่จะหมดเวลา แน่นอนเด่นสุด คงจะไม่พ้นเรื่องของอิรัก ซึ่งดิฉันดูเหตุการณ์ภาคใต้แล้ว มีบุคคลๆหนึ่งซึ่งอาจจะเสียใจน้อยกว่าคนอื่น คือไม่ได้บอกว่าไม่เสียใจ แต่ว่าเสียใจน้อยกว่าคนอื่น เพราะว่ามันสามารถดึงความสนใจจากอิรัก ซึ่งตายกันทุกวันเป็นจำนวนมากๆ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มกราคมนี้ ก็คงจะไม่พ้นประธานาธิบดีบุช ซึ่งก็ส่งสาส์นแสดงความเสียใจมาที่ภูมิภาคเอเชีย แต่ว่าก็คงจะสังเกตเห็นได้ว่า สื่อทั่วโลกก็มุ่งเน้นมาสนใจที่เหตุการณ์ภาคใต้บ้านเรา หรือว่าในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย มากกว่าที่จะไปสนใจว่า อิรักเขาตายกันไปเท่าไหร่แล้ว แล้วคือคาดการณ์แล้วคิดว่าคงจะไม่ผิด ว่ายิ่งจะถึงวันเลือกตั้ง 30 มกราคมเมื่อไหร่ ความรุนแรงก็จะทวีมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ข่าวตรงนั้นก็จะเงียบหายไป คงมาดังอีกทีหนึ่งตอนใกล้เลือกตั้ง ก็เป็นภาพซึ่งเราก็เห็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งดูเหมือนว่ารุนแรงเป็นระยะๆ บางวันจะมีตายเป็น 10 ศพ บางวันก็จะตายเป็นหมู่มาก เป็นคาร์บอมบ์ เป็นระเบิดพลีชีพที่เราเคยคุยกันมา นอกเหนือจากนี้ ก็เป็นเรื่องราวการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่ในที่สุดบุชก็ได้กลับมาเป็นสมัยที่ 2 แต่ว่าเสียงที่กังวลกันมากก็คือว่า ในปี 2548 ความรุนแรงหรือว่ามาตรการทางด้านการต่างประเทศของบุชมันจะยิ่งเตลิดเปิดเปิงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ได้รัฐมนตรีต่างประเทศใหม่ที่เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับบุชไปหมด มันจะทำให้เกิดอะไรกับภูมิภาคตะวันออกกลาง กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา จะมีการแทรกแซงมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกัน แต่ตอนนี้คงต้องให้กล่าวอวยพรซักนิดหนึ่ง

คำนูณ – ก็ขอให้ท่านผู้ชมมีความสุขนะครับ มีความสุขตามอัพภาพ สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกอันสับสนวุ่นวายนี้ ด้วยจิตที่สงบและก็เป็นปกตินะครับ สั้นๆ

สำราญ – ก็คล้ายๆกันนะครับ ก็ดูจากสึนามิจะเห็นว่าเรานี่เล็กมาก โลกยังเป็นแค่ขยะของธรรมชาติ แล้วเรานี่แค่เศษผงของธรรมชาติ

คำนูณ – อย่าไปเครียดอะไรมาก บอกท่านผู้ชมทุกท่าน

สำราญ – ก็สบายๆ ปีใหม่ก็มีสติ สัมปชัญญะ แล้วก็จะมีสตางค์หรือไม่มีก็แล้วแต่ ก็อยู่ได้ อยู่กันแบบสบายๆ

คำนูณ – แต่ที่สำคัญก็คือ อย่าลืมดู 11 News 1

สำราญ – แล้วก็ทางรายการก็คือจะได้พัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น อันนี้แถม ก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขนะครับ

สโรชา – ก็คงจะเช่นกันนะคะ ขอให้ทุกๆท่านมีความสุข สุขภาพใจและสุขภาพกายแข็งแรงนะคะ ตลอดปี 2548 อย่างที่คุณคำนูณและคุณสำราญว่าแหละค่ะ หลายๆเหตุการณ์ตลอดปีที่ผ่านมานี้ คงจะแสดงให้เราเห็นว่า เราไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจงมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ คงจะเป็นการดีที่สุดแล้ว คงจะหมดเวลาเพียงเท่านี้นะคะ เดี๋ยวพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า กลับมาเราทั้ง 3 คนยังคงอยู่ตรงนี้ กับรายการก่อนจะถึงวันจันทร์ มาประมวลภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ รวมไปถึงการคาดการณ์ถึงสัปดาห์ต่อๆไปด้วยนะคะ ขอบพระคุณทุกๆท่านที่ติดตามมาตลอด เราหวังว่าจะติดตามต่อไป สวัสดีค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น